ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: taworn09220 ที่ 29-09-2006, 21:52



หัวข้อ: คปค.ลงมติ"สุรยุทธ์"นายกฯ รื้อร่างรัฐธรรมนูญร่างทรง
เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 29-09-2006, 21:52
คปค.ลงมติ"สุรยุทธ์"นายกฯ รื้อร่างรัฐธรรมนูญร่างทรง
 
โดย ผู้จัดการรายวัน 29 กันยายน 2549 00:08 น.
 
 
 
รื้อร่าง รธน.ร่างทรง หมกเม็ดสืบทอดอำนาจและรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในระบอบทักษิณเต็มพิกัดภายใต้พันธะสัญญาเอฟทีเอ คณาจารย์มหา'ลัย เสนอร่างคู่ขนานฉบับมีชัย ด้านสภาทนายฯ – เอ็นจีโอ – สื่อ ร่วมเสนอหลักเกณฑ์ร่างรธน. ขณะที่โผนายกฯ ได้ข้อสรุป คปค.ลงมติ"สุรยุทธ์"นายกฯ เหตุบ้านเมืองยังไม่สงบ ด้าน บก.ทบ.ระทึกกล่องของขวัญถึง "สนธิ"
       
       เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (28ก.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก มีการประชุมคณะปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค. เป็นประธาน มี พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ประธานคณะที่ปรึกษา คปค. พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รอง หัวหน้า คปค. และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คปค. เข้าร่วม
       
       ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก ตัวแทนอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จำนวน 5 คน นำโดยนายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เดินทางเข้าพบ คปค. เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
       
       นายบรรเจิด สิงคเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณาจารย์ฯ เปิดเผยว่า ได้เข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค. และคณะ พร้อม นายมีชัย ฤชุพันธ์ หัวหน้าชุดร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเสนอแนวคิดในการเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากเดิมสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน เลือกกันเองให้เหลือ 25 คน แต่เราได้เสนอให้แบ่งแยกสัดส่วน 25 คนตรงนี้ใหม่ เป็นสองส่วน
       
       โดยส่วนที่ 1 จำนวน 15 คน ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนเลือก และ ส่วนที่ 2 จำนวน 10 คน ให้เลือกผุ้แทนความคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น ด้านรับศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจโดยอาจเลือกจากที่ปรึกษา 4 ชุด ของคปค. หรือ บุคคลภายนอกก็ได้ ซึ่งการเลือกโดยแบ่งเป็นสองส่วนเช่นนี้ก็ยังเป็นการเลือกจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดิม และ รวมกับตัวแทนอีก 10 คนที่ คปค .เลือกมาก็จะครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ จำนวน 35 คน
       
       "ถ้าเป็นแบบเดิม เกรงว่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาครอบงำการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการเสนอบางมาตราเพื่อตอบสนองกลุ่มของตัวเอง ทั้งนี้ นายมีชัย ได้ยอมรับแนวคิดและเสนอให้จัดทำเป็นระเบียบฯ แต่พวกเราคัดค้านเพราะเกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว นายมีชัย จึงรับปากและรับไปบรรจุขั้นตอนดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว การที่กลุ่มอาจารย์ต้องบอกกล่าวในเรื่องนี้ ก็เพราะมีบทเรียนในอดีตที่พบว่านายมีชัย เขียนกฎหมายมาหลายเรื่องทำให้เกิดความคลางแคลงใจ กฎหมายหลายๆ ฉบับที่เป็นนโยบายในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ เขาก็เป็นคนร่าง จึงเกรงว่าการเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกครอบงำไปด้วย" นายบรรเจิด กล่าว
       
       นายบรรเจิด กล่าวว่า เราต้องการวางโครงสร้างประเทศ ไม่ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ต้องได้คนที่มองปัญหาของประเทศทะลุ โดยพื้นฐานของการมีส่วนร่วม แม้การตั้งสภาสนามม้าจะได้ในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่ในด้านทางด้านความคิด จะเกิดความแตกกระจาย และก็ง่ายต่อการครอบงำ โดยเฉพาะแนวคิดที่รับทราบมาในการเลือก จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็เห็นว่าจะเละไปใหญ่ ก็ควรใช้เครือข่ายผสมกันระหว่าง อปท. กับ สมัชชาจังหวัด ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ได้ทำไว้แล้ว
       
       อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ผู้นี้ บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่า รธน.ใหม่ น่าจะยึด รธน. ปี 40 เป็นพื้นฐาน หากไปดูแล้วจะเห็นว่าจะมีปัญหาหมวด 6 ภาคการเมือง เช่น การปลอดล็อค 90 วัน การควบคุมการตรวจสอบการทำงานของพรรคการเมือง รวมถึงเรื่อง สว. ควรจะดูว่ามีหรือไม่มี องค์กรอิสระ เช่น กกต.ควรจะมีหรือไม่ ควรเปลี่ยนแปลงเป็นศาลเลือกตั้งหรือไม่ เป็นต้น
       
       **เสนอร่าง รธน.ใหม่คู่ขนานฉบับมีชัย
       
       ทางด้านนายเจริญ คัมภีรภาพ หนึ่งในคณาจารย์ที่เข้าพบ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ได้ให้ข้อมูลต่อ คปค. ว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนกับโรดแมปหรือการกำหนดทิศทางของประเทศชาติว่าจะเดินไปทางไหน เพราะการกำหนดทิศทางของชาติต้องมาดูโจทย์ปัญหาใหญ่ว่าประเทศไทยจะอยู่อย่างไรในโลกโลกาภิวัฒน์ที่ไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุน จะปกป้องประเทศชาติอย่างไร ประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างถ้วนหน้าอย่างไร เป็นการมองอย่างรอบด้านก่อนที่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญออกมา
       
       ซึ่งเรื่องนี้คณาจารย์ที่เข้าพบ บอกกับทาง คปค.ว่า ต่อหน้านายมีชัย ว่า ทีมของนายมีชัย ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้จะดูแต่เทคนิคทางกฎหมาย และยังซุกซ่อนจุดมุ่งหมายในการรักษาประโยชน์ของกลุ่มทุนโดยเฉพาะกลุ่มทุนในระบอบทักษิณ ที่ได้ประโยชน์จากข้อผูกพันระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นด้านหลัก ดังคำประกาศของ คปค. ฉบับที่ 9 และ ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวในส่วนของคำปรารภ และมาตรา 3
       
       นายเจริญ กล่าวต่อว่า ในการเข้าพบครั้งนี้ กลุ่มคณาจารย์ ยังได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่เข้าไปโดยมีทั้งหมด 70 มาตรา ให้ คปค. พิจารณา โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ต้องตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศชาติข้างต้นว่าจะเดินไปในทิศทางไหน ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับประโยชน์ และมีสิทธิเสรีภาพตามหลักสากล
       
       ส่วนกระบวนการจัดทำนั้น นายเจริญ กล่าวว่า ได้เสนอ คปค.ว่า จะต้องไม่เดินในแนวทางจากระดับบนลงล่างเหมือนอย่างที่ทีมงานนายมีชัย กำหนดว่าจะมีการจัดทำร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญออกมาเสร็จแล้วไปรับฟังความเห็นจากสมัชชาประชาชน แต่ ควรต้องทำแบบระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน คือ ต้องไปฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่ามีปัญหาอะไร จะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศกันอย่างไร จากนั้นถึงลงมือร่างรัฐธรรมนูญ
       
       นอกจากนั้น การเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยในการจัดทำร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อตามให้ทันการวางเส้นสนกลในและการใช้อำนาจรัฐที่จะทำให้การใช้รัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ และรู้ว่าสถานะของประเทศควรวางอยู่ตรงจุดไหนในสังคมโลก
       
       “คงจะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ทีมงานนายมีชัย จัดทำขึ้น และทาง คปค. ฝากว่าขอให้ช่วย คปค. ด้วย วันนี้ คปค. ขอเอาร่างไปศึกษา” นายเจริญ กล่าว
       
       **คำประกาศ ฉ. 9 และร่าง รธน.ม.3 หมกเม็ด
       
       สำหรับคำปรารภ ร่างรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2549 ที่ทีมงานของนายมีชัย จัดทำ ระบุว่า “.... เพื่อฟื้นฟูความรู้รักสามัคคี ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ พันธกรณีตามสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ ....ฯ”
       
       ส่วนมาตรา 3 ระบุว่า “ด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีสาระว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและ ตามพันธกรณีของระหว่างประเทศย่อมได้รับการคุ้มครอง”
       
       สำหรับประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 9 เรื่อง นโยบายต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549ระบุว่า “.....คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะยึดมั่นในหลักกฎบัตรสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ของชาติจะรักษาไว้ ซึ่งสิทธิ และจะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศ ภายใต้หลักเกณฑ์แห่งความเสมอภาคโดยเคร่งครัด...
       
       **สภาทนายฯเสนอเกณฑ์ร่างรธน.ใหม่
       
       ในวันเดียวกันนี้ ที่สภาทนายความ นายสมัคร เชาวภานันท์ อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความ นายดนัย อนันตโย อุปนายกฝ่ายกิจการ พิเศษ นายชอบ ดงเพชร กรรมการฝ่ายบริหารฯ ภาค 2 ร่วมแถลงข่าวข้อเสนอหลักเกณฑ์ และกรอบโครงสร้างการบริหารประเทศ และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเสนอ ต่อคณะปฏิรูปฯ ประกอบด้วย
       
       1.ให้ใช้หลักกติกาสากล และกฎหมายให้มีความใกล้เคียงกับมาตรฐานกฎบัตรของสหประชาชาติ การบริหารประเทศ 2.ส่งเสริมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทั้ง 30 ข้อ 3.ต้องให้การเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคล 4.ให้หลักประกันในความมีอิสระในการแสดงออกทางความคิดเห็น โดยปราศจากการถูกแทรกแซง การแจกจ่ายข่าวสารทางสื่อมวลย่อมสามารถปฏิบัติได้โดยปกติ
       
       5.ธรรมนูญชั่วคราวจะต้องยอมรับกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ให้รัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ดำเนินการ 6.ให้รัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้สัตยาบัน รับรองสนธิสัญญาว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่นของสหประชาชาติ
       
       7.ให้หน่วยงานการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราตรวจสอบการโอนย้ายเงินที่ผิดปกติจากธุรกิจโดยทั่วไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเงินเข้าออกประเทศไทยตามกฎหมายจากแหล่งเงินประเภทกองทุนจากต่างประเทศ (Trust fund) ที่เข้ามาทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
       
       **เครือข่ายองค์กรเอกชนยื่น 9 ข้อเสนอ
       
       ด้านเครือข่ายองค์กรเอกชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อเสนอแนะ เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
       
       1.ควรเปิดเผยและเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวต่อสาธารณชน เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ได้เสนอข้อคิดเห็นภายในระยะเวลาที่เหมาะสม 2.ควรมีการจัดตั้งกลไกที่ประกอบด้วยตัวแทนองค์กร หรือสถาบันอิสระที่เป็นที่ยอมรับ ของประชาชน เพื่อทำหน้าที่ในการสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 2,000 คนก่อนที่ประธานมนตรีความมั่นคงจะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง
       
       3.ควรให้สมัชชาแห่งชาติเลือกกันเองให้เหลือ 100 คน เพื่อเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะให้คณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้คัดเลือกเสียเอง เพราะอาจจะเป็นข้อครหาได้ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้พยายามสืบทอดอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
       
       4.คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรยึดหลักรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540เป็นหลัก ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 5.การแต่งตั้งคณะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรจะเป็นการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแทนการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่งคงแห่งชาติ
       
       6.คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรเปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรภาคประชาสังคมนำเสนอกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญ
       
       7.สภาร่างรัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน 8.ควรห้ามคณะมนตรีความมั่นคง สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีภายในเวลา 2 ปี
       
       9.ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด หรือประชาชนลงมติไม่เห็นด้วยควรนำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาพิจารณาปรับปรุงเพื่อประกาศใช้ต่อไป
       
       **องค์กรสื่อขอความชัดเจน ม.3
       
       นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แถลงข่าวร่วมกับสมาคมสื่อต่างๆ ถึงผลการประชุมหารือ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน ในธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ของคณะปฏิรูปฯว่า ในฐานะองค์กรสื่อ ถือว่าเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีส่วนประคับประคองสังคมให้เกิดสันติสุข ตลอดเวลา ในครั้งนี้จึงคิดว่าควรจะต้องแสดงบทบาทอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชน ที่ควรมีการระบุให้ชัดเจน ในธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่กำลังจะประกาศ
       
       นายภัทร คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า ในมาตรา 3 ของธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่เขียนไว้ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร คงเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ไม่มีเนื้อหาสาระแสดงถึงความเปิดกว้างถึงแนวทางที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา ในมาตรา 39, 40, 41 เราเห็นว่า น่าจะนำเอาหลักการในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาใช้บังคับ และเน้นให้มีความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้อีก
       
       **ได้ชื่อนายกฯ แล้วรอ“สนธิ”แถลง
       
       ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ รองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณานายกรัฐมนตรีของคปค. ว่า ที่ประชุมคณะปฏิรูปการปกครองฯได้ข้อสรุปแล้ว และเห็นชอบตรงกัน ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชน
       
       ส่วนจะประกาศรายชื่อได้เมื่อไหร่นั้นอยู่ที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม คปค.ให้เป็นผู้ชี้แจงรายชื่อนายกรัฐมนตรี เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือนหรือทหาร พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ ชี้ไปทางพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ รอง เสธ.ทหาร พร้อมบอกว่า ที่แน่ๆไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหาร เมื่อถามย้ำว่าแต่งเครื่องแบบสีเขียวหรือสีขาวหรือไม่ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ กล่าวว่า ตนบอกไม่ได้เพราะเป็นสัญญาสุภาพบุรุษ
       
       **โพลชี้"ศุภชัย-สุรยุทธ์"เหมาะนายกฯ
       
       กรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง"นายกฯคนใหม่ในสายตาประชาชน"ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย.ที่ผ่านมา จากประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,163 คน ปรากฏว่า ผู้ที่เหมาะสมจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ได้แก่ 1.นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ร้อยละ 34.7 2 .พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ร้อยละ28.0 3.นายอักขราทร จุฬารัตน ร้อยละ 15.3 4.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ร้อยละ 9.9
       
       สำหรับคุณสมบัติสำคัญที่สุดของนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น ร้อยละ 49.5 เห็นว่า ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ร้อยละ 13.7ว่าต้องมีความสามารถด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ร้อยละ 11.0 เห็นว่าต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ร้อยละ 10.1 สามารถประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายได้ ร้อยละ 7.1 มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ร้อยละ 4.7 มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาต่างประเทศ ร้อยละ 1.9 มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย ร้อยละ 2.0 มีความจริงใจกับประชาชน มีคุณธรรมจริยธรรม ตั้งใจรับใช้ประเทศชาติ
       
       ส่วนเรื่องที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการโดยเร่งด่วนเป็นอันดับแรก คือ แก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ร้อยละ 24.8 ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 21.8 สร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ ร้อยละ 13.9 แก้ปัญหาหนี้สินและความยากจนร้อยละ 12.8 แก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ร้อยละ 11.4 กระตุ้นเรื่องเศรษฐกิจการค้าและการลทุน ร้อยละ 8.8 ดูแลแก้ปัญหาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ร้อยละ 3.5
       
       ส่วนความเชื่อมั่นว่า คปค. จะถอยออกมาหลังครบกำหนด 2 สัปดาห์ ในวันพุธที่ 4 ต.ต.ตามที่ประกาศไว้ ปรากฏว่า เชื่อ ร้อยละ 50.8 ไม่เชื่อ ร้อยละ 15.0 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 34.2
       
       **ชู"ประเวศ-วิชัย"รมว.สาธารณสุข
       
       เช้าวานนี้ ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มายื่นหนังสือถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ เพื่อเสนอรายชื่อผู้สมควรเป็น รมว.สาธารณสุข คนใหม่ ให้พิจารณา 2 คน คือ นพ.ประเวศ วะสี และนพ.วิชัย โชควิวัฒน โดยให้เหตุผลว่าทั้ง 2 คนเป็นคนดี มีคุณธรรม มีความสามารถ และเป็นกลาง เข้าใจปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์ และคนไข้มาตลอด
       
       ตัวแทนเครือข่ายฯยังขอให้คณะปฏิรูปฯ ช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับความเสียหาย ใน 4 ประเด็น คือ ขอให้มีการแก้ไขกฎหมาย ให้ผู้ป่วยมีสิทธิขอถ่ายสำเนาเวชระเบียนเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยต้องมีการเพิ่มบทลงโทษทางอาญาสำหรับการแก้ไข ทำลาย หรือซ่อนเร้นเวชระเบียน ขอให้มีการตั้งองค์กรกลางที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์และคนไข้ และนำระบบอนุญาโตตุลาการมาใช้ เพื่อพิจารณาค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม ขอให้ตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายของผู้ป่วย และขอให้นำโครงการ Patient For Patient Safety ขององค์การอนามัยโลกมาใช้ เพื่อนำความผิดพลาดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากองค์กรที่เป็นกลาง ไปทำสถิติเพื่อเป็นบทเรียนสอนแพทย์ และให้ความรู้แก่ประชาชน
       
       **หมอเกษมเผยไม่มีใครทาบนั่ง รมว.ศธ
       
       ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่ต้องการให้ นพ.เกษมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า ยังไม่ทราบกระแสข่าวใดๆ ทั้งนั้น เพราะเพิ่งกลับจากการตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเป็นเรื่องไกลตัวตนคงตอบอะไรไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการทาบทาบจาก คปค.
       
       ต่อข้อถามว่า หากได้รับการทาบทามจะรับตำแหน่งหรือไม่ นพ.เกษม กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ไว้ให้ใกล้ตัวก่อนแล้วจะคิดอีกครั้ง ตอนนี้ยังไม่ได้คิดและรู้สึกว่ายังไกลตัว
       
       **ถวายพระราชสมัญญานามในหลวง
       
       พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ โฆษกคณะปฏิรูปฯ แถลงว่า ที่ประชุมคณะปฏิรูปฯ ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอว่า ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์สืบทอด ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยในด้านต่างๆ โดยที่ประชุมคปค.รับทราบตามมติครม.เดิมถวายพระราชสมัญญานาม "องค์เอกอัจฉริยะอุปถัมภกมรดกไทย" รวมทั้งให้กระทรวงวัฒนธรรม ทำหนังสือร่างกราบบังคมทูล และการจัดทำหนังสือ"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการอนุรักษ์มรดกไทย"เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 5 ธ.ค.49 สำหรับงบประมาณในการจัดทำหนังสือให้ประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป
       
       **"อัมมาร"ขอดูช่วยอะไร คปค.ได้บ้าง
       
       ด้าน ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ คปค. แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาว่า พล.อ.สนธิ หัวหน้าคปค.ติดต่อมาหลังการประกาศแต่งตั้ง ซึ่งตนขอดูก่อนว่าจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง เพราะมีวาระเพียง 2 สัปดาห์ ดังนั้นถือว่าตนเป็นเพียงที่ปรึกษา คปค. เท่านั้น เมื่อมีครม.ชุดใหม่ ครม.คงจะพิจารณาเอาคนที่เก่งๆ มาบริหาร ถึงตอนนั้นคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีที่ปรึกษาแล้ว
       
       “ ผมไม่อยากให้รัฐบาล 1 ปี ริเริ่มอะไรใหม่ๆ แต่อยากให้เอานโยบายเก่ามาทบทวน อันไหนควรก็ทำต่อ เช่น โครงการ 30 บาท อันไหนที่ชัดเจนว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร ก็อย่าล้มล้าง เพราะเป็นนโยบายที่มาจากคะแนนเสียงของประชาชน ควรปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาจัดการ”ดร.อัมมารกล่าว
       
       **FTAวอชท์แถลง FTA ใต้เงา คปค.วันนี้
       
       นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอวอชท์) กล่าวว่า ในวันนี้ (29 ก.ย.) กลุ่มเอฟทีเอวอชท์ จะแถลงข่าวเวลา 11.00 น.ที่สมาคมนักข่าวฯ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญคือ ไม่ควรเร่งรีบทำเอฟทีเอ โดยคณะรัฐบาลใหม่ชั่วคราวควรทำเพียงเรื่องเร่งด่วนเท่านั้นไม่ควรเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอซึ่งเป็นข้อผูกพันระยะยาวของประเทศ ซึ่งต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับถาวร รอกฎหมายที่จะต้องออกมารองรับ ที่สำคัญกระบวนการจัดทำเอฟทีเอต้องผ่านรัฐสภา เนื่องจากที่ผ่านมาการทำข้อตกลงเอฟทีเอของรัฐบาลชุดเก่ามีปัญหาอย่างมากเพราะไม่ได้วางกรอบกติกาเอาไว้ให้ชัด รัฐบาลซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์จึงใช้วิธีเซ็นข้อตกลงไปโดยไม่สนใจผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม
       
       นายวิฑูรย์ กล่าว และแสดงความกังวลต่อรายชื่อคณะที่ปรึกษาด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจ ที่มีชื่อนายนิตย์ พิบูลย์สงคราม อดีตหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ , นายพิศาล มาณวพัฒน์ และนายเกริกไกร จิระแพทย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ช่วยผลักดันเอฟทีเอในสมัยรัฐบาลทักษิณ
       
       **คปค.ลงมติ"สุรยุทธ์"นายกฯ
       
       มีรายงานว่าในการประชุม คปค.วานนี้ (28 ก.ย.) ที่ประชุมได้สรุปชัดเจนแล้วว่าจะทาบทาม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี มาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่สงบ กลุ่มผู้สนับสนุนยังคงเคลื่อนไหวใต้น้ำอยู่อย่างกว้างขวาง จึงต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มีความถนัดด้านความมั่นคงมาบริหารประเทศ เพื่อนำภารกิจในการปฎิรูปการเมืองให้บรรลุเป้าหมาย ส่วนปัญหาเศรษฐกิจแม้จะมีความสำคัญแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยความมั่นคงเป็นหลักด้วย อย่างไรก็ตาม งานด้านเศรษฐกิจ คปค.จะทาบทาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ
       
       **บก.ทบ.ระทึกกล่องของขวัญ"สนธิ"
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าค่ำวันเดียวกันเกิดเหตุระทึกขวัญที่ กองบัญชาการทหารบก (บก.ทบ.) ซึ่งใช้เป็นสำนักงาน คปค. ได้มีผู้หญิงขับรถเบนซ์นำกล่องพัสดุมามอบให้สารวัตรทหารที่รักษาการอยู่หน้า บก.ทบ.บอกว่า "ฝากมอบให้กับ ผบ.ทบ" พร้อมกับแนบนามบัตรและเบอร์โทรศัพท์ หน้ากล่องระบุข้อความว่า "ด้วยรักและปราถนาดี" แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเห็นว่าผิดสังเกตุจึงนำกล่องดังกล่าวมาทำลายด้วยปืนฉีดน้ำแรงสูงหน้าสนามหญ้าฯ บก.ทบ. ปรากฏว่าภายในมีกรอบรูปสแตนเลส โดยมีรูปถ่าย พร้อมทั้งมีหนังสือ "รู้ทันโรคผู้สูงอายุ” อีกหนึ่งเล่มอยู่ภายในพร้อมจดหมายแนบอยู่อีกหนึ่งฉบับ