ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: taworn09220 ที่ 28-09-2006, 12:05



หัวข้อ: เสรีภาพสื่อมวลชนในสถานการณ์ยึดอำนาจ
เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 28-09-2006, 12:05
เสรีภาพสื่อมวลชนในสถานการณ์ยึดอำนาจ


อภิชาต ศักดิเศรษฐ์

การเข้ายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) แม้จะมีการใช้อำนาจควบคุมกลไกรัฐอย่างเบ็ดเสร็จในหลายด้านก็ตาม แต่ดูเหมือนคปค.จะระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการใช้อำนาจไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนในสังคม

โดยเฉพาะกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ดูเหมือนว่าจะเข้าไปแตะน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการยึดอำนาจครั้งก่อนๆในอดีต

ไม่เห็นการปิดหนังสือพิมพ์ ไม่มีการเซ็นเซอร์ข่าว ไม่มีการจับกุมคุมขังคนในแวดวงสื่อมวลชน

จริงอยู่อาจจะเห็นภาพทหารถือปืนบุกเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ ในคืนวันก่อรัฐประหาร นั่นก็เป็นเพียงความจำเป็นในระยะเริ่มต้นที่สถานการณ์ยังฉุกเฉิน และไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่หลังจากนั้นเมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย สื่อมวลชนก็สามารถทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปได้อย่างปกติ และค่อนข้างอิสระ

เป็นอิสระ ภายใต้กรอบแห่ง “การควบคุมตัวเอง” เป็นด้านหลัก โดยมีเสียงเตือนแบบนิ่มๆจากโฆษกคปค.ให้สื่อระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษา การให้ดูแลเรื่องการสื่อสารที่อาจจะทำให้เกิดความแตกแยก และเข้าใจผิด หรือไม่เสนอข่าวลือ เป็นต้น

มีการเชิญผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลาง และในระดับพื้นที่ มาพูดคุยทำความเข้าใจอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งสื่อมวลชนก็ดูจะสนองตอบด้วยดี ด้วยการใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ นำเสนอเนื้อหาสาระที่มีทั้งหนุนเชียร์ และหยิกแกมหยอกไปบ้าง ไม่เป็นปัญหากับฝ่ายผู้กุมอำนาจ

หลายคนบอกว่า ถ้ายังรักษาบรรยากาศและความสัมพันธ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ เสรีภาพสื่อมวลชนก็คงจะไม่สะดุด

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสภาพความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับ คปค.เช่นนี้ จะราบรื่นตลอดไป เหตุผลก็คือ

ประการแรก, บทบาทความเป็นสื่อมวลชน (แท้) คือการตรวจสอบอำนาจรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ ในอนาคตการวิพากษ์วิจารณ์ต่อคปค.และการใช้อำนาจของคปค.เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนจะหลีกเลี่ยงไม่แตะต้องคงไม่ได้

ไม่วันใดก็วันหนึ่งการกระทบกระทั่งต้องเกิดขึ้น

เพราะการทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล สภาพเช่นนี้ถ้าสื่อวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ก็ง่ายเหลือเกินที่จะทำให้ผู้มีอำนาจหงุดหงิด รำคาญใจ

ที่กล่าวเช่นนี้ก็ด้วยความเป็นห่วง เพราะไม่ว่ายุคสมัยใด ผู้กุมอำนาจรัฐ ไม่เคยให้การยอมรับอย่างดุษณีต่อบทบาท และหน้าที่ที่แท้จริงของสื่อมวลชน

สื่อจึงมักตกเป็นแพะรับบาปอยู่ในแทบทุกสถานการณ์

ประการที่สอง, ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า การวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนนั้น เกิดขึ้นจากทั้งการทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา และทั้งที่เกิดจากการทำหน้าที่อย่างมีอคติแฝงเร้น

ไม่มีใครรู้ว่าการทำหน้าที่อย่างมีอคติแฝงเร้น ของสื่อบางกลุ่มจะปรากฎออกมาเมื่อใด

มีรายงานข่าวชิ้นเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์รายวัน หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ เพียง 3 วัน ระบุว่า ได้มีคำสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนหลายสิบแห่งในพื้นที่ ภาคเหนือและภาคอีสาน

ดูเหมือนนี่จะเป็นครั้งแรก ที่สื่อระดับชุมชนได้รับผลกระทบโดยตรงถึงขึ้นปิดสถานี

จะด้วยเหตุผลใดก็ไม่แจ้งชัด เข้าใจเอาเองว่า ฝ่ายทหารคงไม่ค่อยสบายใจกับบทบาทในอดีตของวิทยุชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือหลายสิบแห่ง ที่เคยแสดงตนเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลเก่าอย่างเปิดเผยโจ๋งครึ่ม และเกรงว่าปล่อยไว้อาจจะเป็นปฏิปักษ์เปล่าๆ

บางคนบอกว่า ก็ดีแล้ว เครือข่ายระบอบทักษิณจะได้ถูกกำจัดไปให้พ้นๆเสียที เพราะเครือข่าย “สื่อเทียม” เหล่านี้นี่แหละที่คอยค้ำบัลลังก์ของเหล่าอธรรมในอดีต ดูอย่างทีวีผ่านดาวเทียมบางช่อง ที่ลงทุนลงเงินไปมหาศาล เพื่อหวังจะเป็น “หอกทมิฬ” ไว้ทิ่มแทงกลับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือสถานีวิทยุชุมชน 89.75 ที่ได้รับการอุ้มชูจากกลไกรัฐ จัดคลื่นใสชัดแจ๋วไม่มีเสียงรบกวนไว้ให้เครือข่ายทักษิณได้โจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะ

ในบรรดาสื่อเหล่านั้น รายใดที่รู้ตัวว่า เคยถลำลึกเข้าไปรับใช้ระบอบทักษิณ ก็จะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” หนักหน่อย พลิกพลิ้วด้วยสำนวนโวหาร กลับหลังหันเอาตัวรอดไปก่อน ส่วนบางรายที่สุดกู่ไปแล้วก็ต้องหลบฉาก ยุติบทบาทตัวเองไปก็ไม่น้อย

แต่วันหนึ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย คนเหล่านั้นจะปรากฏตัวขึ้นอีก

ประการที่สาม, ในท่ามกลางความคาดหวังของสังคมที่ต้องการจะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในทุกด้าน ถ้ายิ่งเนิ่นช้า หรือกลไกของคปค.ไม่อาจสนองตอบทางความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมได้แล้ว แรงกดดันจากประชาชนจะทับทวีขึ้น การแสดงออกก็จะหลากหลายรูปแบบขึ้นเรื่อยๆ

สื่อจะนำเสนอปรากฏการณ์เหล่านั้นด้วยท่าทีอย่างไร

วันนี้ด้วยการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของกระทรวงไอซีที ตามคำสั่งคปค. ทำให้ช่องทางระบายความคิดเสรีของคนในสังคมถูกปิดกั้นลงอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางที่ผ่านทางสื่อวิทยุ รายการประเภทโฟนอิน, ผ่านการแสดงความเห็นทาง เอสเอ็มเอส , กระดานข่าวในอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า สื่อแบบมีส่วนร่วมข้างต้นนี้ คือ สื่อทางเลือกที่มีบทบาทสูงและเป็นที่ต้องการของคนในสังคม

การควบคุมแบบนี้จะยืดยาวไปสักแค่ไหน แล้วผลจะเป็นอย่างไร?

ในท่ามกลางความกังวลข้างต้น ข้อเรียกร้องของสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน 3 แห่ง ที่นำเสนอเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นทางออกที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย

1.ในระยะเร่งด่วน คณะปฏิรูปฯ ควรประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนและไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง พร้อมทั้งให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องครบถ้วนและรอบด้าน

2.การร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ควรมีบทบัญญัติที่จะให้การคุ้มครองและรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน โดยให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะในมาตรา 39 และ 41 พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสาระสำคัญครอบคลุมหลักการดังกล่าวด้วยเช่นกัน ตลอดจนเร่งผลักดันให้กระบวนการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์เกิดขึ้นโดยเร็ว
  3.ระหว่างที่สถานการณ์ทางเมืองยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขอให้คณะปฏิรูฯ ได้ยึดมั่นหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 ในมาตรา 40 ที่ระบุว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” โดยไม่ควรปล่อยให้มีการฉวยโอกาสกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานคลี่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จนกว่าจะมีกลไกสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อย่างแท้จริง
  4.ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนทุกคนตระหนักดีว่า จะต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นสำคัญ แต่ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อทุกแขนง ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการปฏิบัติงาน เพื่อจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ตลอดจนทำงานด้วยความรับผิดชอบและยึดมั่นหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยเคร่งครัด

ข้อเสนอที่มีเหตุผล และตรงไปตรงมาเช่นนี้ สมควรอย่างยิ่งที่คปค.ต้องรีบขานรับ และผลักดันให้เป็นจริง.

(หมายเหตุ - ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 6 ฉบับวันอังคารที่ 26 กันยายน 2549)
 



หัวข้อ: Re: เสรีภาพสื่อมวลชนในสถานการณ์ยึดอำนาจ
เริ่มหัวข้อโดย: Cherub Rock ที่ 28-09-2006, 13:26
ช่วงนี้บรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัย
เพราะสื่อเพิ่งฟัดกะหน้าเหลี่ยมแบบมาราธอน

คงอยากคลายเครียดซะบ้าง

อีกอย่าง คปค. ก็ยังมีท่าทีที่ดี
แต่เมื่อไหรทำท่าจะเกาะอำนาจไม่ยอมปล่อย

สื่อคงต้องเริ่มจริงจังขึ้น
 :slime_agreed: