ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: mini ที่ 29-07-2006, 17:01



หัวข้อ: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: mini ที่ 29-07-2006, 17:01
ก่อนอื่น ผมขออ้างอิงถึงกระทู้นี้ครับ
http://forum.serithai.net/index.php?topic=4871.0

ผมคิดว่า เราอาจจะมีความเข้าใจในการใช้คำๆนี้ไม่ตรงกัน ดังนี้ครับ

คำว่า "อมาตยาธิปไตย" น่าจะมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า "Bureaucratic Polity"
คำว่า "Bureaucratic" หมายถึง เกี่ยวกับระบบราชการ, เกี่ยวกับข้าราชการและกฎระเบียบต่างๆ
อ้างอิงจากนี้ครับ http://encarta.msn.com/dictionary_/bureaucracy.html

ดังนั้น ในความคิดของผม ระบอบทักษิณนี่แหละครับ
การบริหารแบบ CEO ก็ดี การสั่งงานเป็นขั้นลำดับลงเบื้องล่างก็ดี
การมีส่วนร่วมในระดับประชาชนที่ต่ำก็ดี

โดยสรุปแล้ว การทำงานแบบทักษิณนี่แหละครับ ในความคิดผม
ที่แสดงให้เห็นถึงระบบ อมาตยาธิปไตย ที่รัฐเป็นผู้ออกกฎระเบียบ ควบคุมวิธีชีวิตของผู้คน
ปล่อยให้พลเมืองจริงๆ มีส่วนร่วมน้อยมาก

สุดท้าย ผมอยากให้ลองอ่านที่นี่ดูครับ คิดว่า น่าจะทำให้หาบทสรุปของคำนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQ5ODI4MDc0OQ==&srcday=MjAwNi8wNy8yOA==&search=no
ของ อ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ผ่านมาครับ

ผมเพิ่งได้อ่านเมื่อวานก่อนที่ได้จะได้เห็นกระทู้ข้างต้น ด้วยความสงสัย จึงขอตั้งกระทู้นี้ขึ้นมานะครับ


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: morning star ที่ 29-07-2006, 18:04
ให้ผมมองตามความหมายของฝรั่งเค้าคงหมายถึงพวกผู้มีอิทธิพลในสังคม..อย่างเมื่อก่อน ทหารบ้านเราชอบเข้ามาเล่นการเมือง อีกทั้ง ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มีที่มาจากขุนนางและเจ้าขุนมูลนายเองเป็นผู้มีบทบาทในการเมืองไทย...

อมาตยาธิปไตย(หรืออธิปไตยของขุนนาง) น่าจะแปลให้เข้าใจง่าย ๆ ไ้ด้ว่า ... อธิปไตยเป็นของผู้มีอิทธิพล (อิทธิพลด้านสังคม ด้านการทหาร ด้านการเศรษฐกิจ เป็นต้น)

ปัจจุบันเห็นได้ว่า แม้ผู้มีบทบาททางการเมืองจะเป็นผู้มีอิทธิพลดังว่า แต่ก็ต้องอาศัยประชาชนอยู่ดีในการเข้ามามีอำนาจ (เป็นผลพวงจากระบอบทักษิณที่สร้างข้อดีอันนี้ขึ้นมา แม้การอาศัยประชาชน จะเป็นไปในทางปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการครอบงำสื่อโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลสูงต่อคนชนบท)

เมื่อมองว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เราคงเห็นคราบ อมาตยาธิปไตยจางลง และเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการต้องอิงกับประชาชน...


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: นู๋เจ๋ง ที่ 29-07-2006, 18:42
ระบอบไหนก็ได้ ถ้าผู้ปกครองเป็นคนดี


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: mini ที่ 29-07-2006, 20:00
ให้ผมมองตามความหมายของฝรั่งเค้าคงหมายถึงพวกผู้มีอิทธิพลในสังคม..อย่างเมื่อก่อน ทหารบ้านเราชอบเข้ามาเล่นการเมือง อีกทั้ง ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มีที่มาจากขุนนางและเจ้าขุนมูลนายเองเป็นผู้มีบทบาทในการเมืองไทย...

อมาตยาธิปไตย(หรืออธิปไตยของขุนนาง) น่าจะแปลให้เข้าใจง่าย ๆ  ได้ว่า ... อธิปไตยเป็นของผู้มีอิทธิพล (อิทธิพลด้านสังคม ด้านการทหาร ด้านการเศรษฐกิจ เป็นต้น)

ปัจจุบันเห็นได้ว่า แม้ผู้มีบทบาททางการเมืองจะเป็นผู้มีอิทธิพลดังว่า แต่ก็ต้องอาศัยประชาชนอยู่ดีในการเข้ามามีอำนาจ (เป็นผลพวงจากระบอบทักษิณที่สร้างข้อดีอันนี้ขึ้นมา แม้การอาศัยประชาชน จะเป็นไปในทางปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการครอบงำสื่อโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลสูงต่อคนชนบท)

เมื่อมองว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เราคงเห็นคราบ อมาตยาธิปไตยจางลง และเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการต้องอิงกับประชาชน...

นี่แหละคือจุดที่ผมกับคุณเข้าใจไม่ตรงกันครับ
เพราะผมคิดว่า "อมาตยาธิปไตย" มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการปกครองครับ
ตราบเท่าที่ ระบบการปกครอง เป็นแบบพีระมิด เราก็ต้องมียอดพีระมิดอยู่ตลอดเวลา
และยอดพีระมิดนั้น จะไม่มีอำนาจได้อย่างไรหล่ะครับ
ถึงตอนแรกจะไม่มี แต่พอขึ้นถึงยอดแล้ว อำนาจและอิทธิพลก็จะตามมา
ทำให้ปัญหานี้ไม่สิ้นสุด ซึ่งตรงจุดนี้ ผมคิดว่าเป็นปัญหาทางโครงสร้าง

และอีกส่วนหนึ่ง ที่บอกว่า "ต้องอาศัยประชาชนอยู่ดีในการเข้ามามีอำนาจ"
ตรงจุดนี้แหละครับ ที่มองอีกแง่หนึ่ง ทำให้ประชาชน รู้สึกแต่ว่า
การมีส่วนร่วมในการปกครอง คือการออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น
เรามีโอกาสออกเสียงเลือกตั้งกันมาหลายสิบปีแล้วนี่ครับ
ทำไมอมาตยาธิปไตยยังไม่จางลงอย่างที่ควรจะเป็นหล่ะครับ

ก็เพราะว่าจริงๆแล้ว การมีส่วนร่วมในการปกครอง ของพลเมือง มีมากกว่านั้นครับ
โดยเฉพาะ ถ้าโครงสร้างการบริหารเปลี่ยนไป ให้พลเมือง เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
ไม่ใช่ เรามีส่วนร่วม 4 ปีครั้ง พอเลือกไป รัฐบาลจะออกนโยบายอย่างไรก็ตามใจ อ้าปากพูดอะไรไม่ได้อีกเลย

ระบอบไหนก็ได้ ถ้าผู้ปกครองเป็นคนดี

ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยแน่นอนครับ
ก็เพราะว่า เรามัวแต่คิด และหวังว่าจะได้คนดีเข้ามา เป็นอัศวินม้าขาว
(เมื่อไม่กี่ปีก่อน เราเพิ่งมีอัศวินควายดำมาเองนะครับ)
ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เราสนใจแต่ตัวบุคคล

ไม่แปลกหรอกครับ ที่ถ้าถามเรื่องการเมืองกับใครอีกหลายคน ไม่ว่าจะคนชนบท รากหญ้า แทกซี่
เค้าจะต้องถามกลับมาว่า "ถ้าไม่เอาทักษิณ แล้วจะเอาใครเป็นนายก มีใครดีกว่าทักษิณอีก"
(เค้าคิดว่าทักษิณเป็นคนดีนี่ครับ อย่างน้อยก็ช่วยอะไรหลายอย่างที่รัฐบาลอื่นๆไม่ได้ช่วย)

แต่เราไม่เคยเชื่อมั่นในระบบ ไม่คิดจะร่วมมือ ช่วยกันสร้างระบบให้ดี ระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ต้องรอให้ต้องคนดีเท่านั้นที่เข้ามา แล้วประเทศถึงจะดีขึ้น

ผมเชื่อว่า ระบบที่ดีนั้น ถึงจะได้คนไม่ดีเข้ามา
ก็มีโอกาสน้อย ที่จะทำอะไรไม่ดี เพราะทุกอย่าง ถูกวางเอาไว้ จนยากที่จะทำไม่ดีแล้วรอดตัวไปได้
แล้วนั่น ก็อาจจะทำให้คนไม่ดี ที่คิดจะเข้ามาทำอะไรไม่ดี ท้อใจไปเอง ถอดใจไปทำอย่างอื่นดีกว่า


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: morning star ที่ 29-07-2006, 22:44
อมาตยาธิปไตย..ถ้าคุณหมายถึงระบบ มันก็จะหมายถึง ความไม่สมบูรณ์ของระบบที่ไม่สามารถสรรหาคนดีเข้ามาได้ เพียงเปิดช่องทางให้ผู้มีอิทธิพลในสังคมกับข้าราชการนายทุนได้เข้ามาแสวงหาประโยชน์...แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ระบบหรอกครับ คุณ see_you ยืนยันได้ :mrgreen:

ปัญหาของเมืองไทยมันอยู่ที่ตัวบุคคลครับ..แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบเพียงใดก็แก้ปัญหาไม่ได้ถ้านักกินเมืองยังขยันหาช่องว่างทางกฏหมายมาเอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2475 จะเห็นได้ว่าช่วงแรก ๆ นั้นมีลูกท่านหลานเธอกับกลุ่มอำนาจทางการทหารร่วมกันยื่นขอเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อรัชกาลที่เจ็ด ซึ่งทำได้สำเร็จ....หลังจากนั้นเป็นต้นมาอีกหลายปี ก็มีเพียงกลุ่มคนชั้นเหล่านี้เท่านั้นที่เข้ามามีบทบาท และเริ่มเปลี่ยนเป็นกลุ่มอำนาจทางการทหารที่เข้ามามีบทบาทสูงสุดในรอบหลาย ๆ ปีจนเหมือนจะมาสิ้นสุดเมื่อปี 2535..หรือพฤษภาทมิฬนี่เอง(ดีใจมั้ยล่ะครับที่ทหารเราเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาดแล้ว) นักการเมืองเมื่อหลาย ๆ ปีที่แล้วล้วนแต่เป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแทบทั้งสิ้น(ปัจจุบันยังเห็นได้ชัดเจนอยู่) กลุ่มคนเหล่านั้นเคยสนับสนุน และ ผลักดันผู้นำทางทหาร หรือฝักใฝ่ฝ่ายทหาร ให้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง..สมัยนั้นกลุ่มนักธุรกิจทีต้องการจะทำธุรกิจในเมืองไทยหากอยากได้รับผลประโยชน์ต้องให้ประโยชน์ตอบแทนแก่กลุ่มคน หรือผู้นำทางทหารเหล่าันั้น..เป็นอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งพฤษภาทมิฬ

เป็นการปฏิเสธทหารอย่างสิ้นเชิงต่อการเมืองของเมืองไทย..และเปิดทางให้กลุ่มทุนก้าวเข้ามาอยู่ข้างหน้าวงการเมืองอย่างเต็มภาคภูมิ...คงไม่ต้องยกตัวอย่าง

..นี่เป็นที่มาของคำว่า อมาตยาธิปไตยที่ฝรั่งตั้งสมญาให้

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ละเอียดถี่ยิบที่สุด หวังจะมาปิดช่องว่าการหากินของนักการเมืองในอดีต..แต่รัฐธรรมนูญกลับเปิดช่องให้กับการใช้ไปในทางเอื้อประโยชน์กับตนเอง..อำนาจของวุฒิสภาที่จะใช้กลั่นกรองและคัดเลือกผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ กลับถูกฝ่ายรัฐพยายามส่งคนเข้าไปนั่งในวุฒิสภาเพื่อสรรหา องค์กรอิสระ สร้างความได้เปรียบให้กับตนเองในการเลือกตั้ง โดยประชาชนก็ไม่ได้คิดถึงการคัดเลือกบุคคลเข้าไปนั่งในวุฒิสภาว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์ต่างจากการเลือก สส ตรงไหน..จำเป็นอย่างไรที่จะต้องเลือกคนที่เป็นกลางจริง ๆ

ผมถือว่านี่เป็นก้าวต่อมาในการพัฒนาประชาธิปไตยไทย..หาก ทรท จะต้องหายไปจากการเมือง สิ่งที่เราได้รับจากวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นการพิสูจน์การก้าวไปข้างหน้าก้าวสำคัญ..ทุนนิยมเลวร้ายยังไม่หายไปไหน นักการเมืองน้ำเน่าผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นยังอยู่..แต่จะเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ของมันไป..เราก็ต้องไหวตัวและรอรับมือการเปลี่ยนรูปแบบนั้นด้วย และโดยเฉพาะสร้างภูมิคุ้มกัน (เช่นที่ท่านอดีตนายกฯอานันท์ ริเิริ่มก่อตั้งไอทีวีให้เป็นสถานีเสรีปราศจากอำนาจใด ๆ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนโดยเป็นทางเลือกไม่มอมเมาอีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบรัฐ และนักการเมืองได้อีกทาง แต่กลับโดนนายทุนยึดไปอย่างน่าเสียดาย)

อย่าคิดว่าเราจะถอยไปไหน...เรายังเดินหน้าไปอยู่เรื่อย ๆ ..อย่าทิ้งอดีตเพียงเพราะมันเลวร้าย  เพราะไม่มีใครก้าวต่อไปข้างหน้าโดยไม่เคยทบทวนอดีตของตัวเองและเรียนรู้จากมัน


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 30-07-2006, 01:59
ผมเชื่อว่า ระบบที่ดีนั้น ถึงจะได้คนไม่ดีเข้ามา ก็มีโอกาสน้อย ที่จะทำอะไรไม่ดี
เพราะทุกอย่าง ถูกวางเอาไว้ จนยากที่จะทำไม่ดีแล้วรอดตัวไปได้

แล้วนั่น ก็อาจจะทำให้คนไม่ดี ที่คิดจะเข้ามาทำอะไรไม่ดี ท้อใจไปเอง ถอดใจไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพยายามสร้างระบบใหม่ๆ ขึ้นหลายตัว
เช่น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ให้มีเลือกตั้ง สว. ให้มี กกต. , ปปช. , กทช. ฯลฯ
ก็เพื่อควบคุมการทำงานของนักการเมือง แต่ทุกระบบก็โดนแทรกแซง
(เช่นแขวน คญ.จารุวรรณ ที่ไปพบการล็อกสเป็คท่อสายไฟสุวรรณภูมิ)
ไม่รวมการยุบพรรคอื่นเข้ากับตัวจนฝ่ายค้านไม่มีเสียงพอเปิดอภิปรายฯ
(ขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเรื่องนี้เป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ)
บวกกับออกกฎหมายให้อำนาจตัวเองเข้าไปอีก จนองค์กรควบคุมต่างๆ
พากันเดี้ยงไปหมด ไม่รู้จะบอกว่าผิดกฎหมายยังไง..
---

ในความเห็นของผมปัญหาของไทยเราไม่ใช่แค่เพียง "ระบบ" ที่มีปัญหา
แต่มันเกิดจาก "พื้นฐานวัฒธรรมไทย" ที่เป็นแบบอุปถัมภ์-อำนาจนิยม

คนไทยไม่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ตัวเองที่จะแก้ปัญหาสังคม ไม่รู้สึกว่าต้อง-
คิดสร้างระบบอะไรมาแก้ปัญหา แต่หวังว่า "ผู้นำ" จะเป็นผู้แก้ปัญหาให้
คำว่า อมาตยาธิปไตย หรือขุนนางเป็นใหญ่ก็สะท้อนพื้นฐานวัฒนธรรมนี้
ว่าเรื่องบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องของประชาชนแต่เป็นของขุนนางเท่านั้น
อย่าลืมว่าตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองคนที่ทำก็แค่อดีตขุนนางไม่กี่คน
อุตส่าห์ไปเลือกตั้งก็ทำหน้าที่กับบ้านเมืองในฐานะประชาชนสมบูรณ์แล้ว
ส่วนผู้ได้อำนาจจะไปทำดีชั่วอย่างไร .. รออีก 4 ปีค่อยเจอกันใหม่!!!

ในเมื่อทั้งหมดที่จะทำคือเลือกตั้งก็เลยมุ่งเน้นหา "คนดี" ให้มาเป็นผู้นำ
ในการลงมือแก้ไขปัญหา ซึ่งแนวคิดนี้ก็ไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว

            แต่มีปัญหาเพิ่มมาอีกเรื่อง..ใครล่ะคือคนดี?  

เกณฑ์การตัดสินในสายตาชาวบ้านว่านักการเมืองคนไหนเป็น "คนดี"
ห่างไกลกับเกณฑ์ของนักวิชาการ และชนชั้นกลางเป็นคนละเรื่องเลย
ต่อให้โกงบ้างแต่ถ้าอยู่แล้วชาวบ้านได้ผลประโยชน์ชาวบ้านก็โอเค!!!

ปัญหาของไทยที่ชัดเจนคือ มีคนจนมากกว่าชนชั้นกลางมากเกินไป

ทักษิณแค่สร้างภาพให้ดูเหมือนเป็นคนดีเบอร์ 1 ในสายตาชาวบ้าน
ไม่ต้องสนใจกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ ก็ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกตลอดกาล
มองข้ามภูมิปัญญาของสมาชิกในสังคมไปเลย ก็ทุกคนมีแค่ 1 เสียง
ปราชญ์ 1 เสียง คนโง่ 1 เสียง เห็นแก่ตัวก็ 1 เสียง รักชาติก็ 1 เสียง

ที่สำคัญเสียงข้างมากคือผู้ชนะ ส่วนเสียงข้างน้อยมีสิทธิเป็นศูนย์!!!
น่าจะเพิ่มเรื่อง "ทำประชาธิปไตยให้เป็นเพียงสัญลักษณ์" อีกข้อหา


---
ปัญหาอีกอย่างของเราตอนนี้คือพรรคการเมืองอื่นๆ นอกจาก ทรท.
ก็ไม่สามารถเสนอตัวเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากับประชาชนได้เหมือนกัน

ทำให้ความจริงแล้วประชาชนไม่ได้มั่นใจในพรรคอื่นๆ มากกว่า ทรท.
แต่มองว่าอยู่ในระดับเดียวกันในด้านความไม่โปร่งใส แถมยังด้อยกว่า
ในด้านความสามารถอีกต่างหาก ถึงได้ถูกตอกทุกวันด้วยคำถามเดิม
ว่า "ไม่เอาทักษิณและจะเอาใคร" (ยอมรับว่าตอนนี้ ปชป. พยายาม
เสนอวิสัยทัศน์เป็นทางเลือกมากขึ้น แต่ผมว่าก็ยังไม่โดดเด่นเข้าตา)

ต่อให้ฝ่ายต้านทักษิณแก้ทัศนะคติชาวบ้านได้ว่าทักษิณไม่ได้ดีจริง
นอกจากเป็นคนขี้โกงแล้ว ยังขี้โม้ไม่เก่งจริงอย่างที่ชอบคุยทางวิทยุ

..แต่ฝ่ายต่อต้านทักษิณก็ไม่มีทางเลือกอื่นไปเสนอกับชาวบ้านอยู่ดี..


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: mini ที่ 30-07-2006, 23:44
โดยประชาชนก็ไม่ได้คิดถึงการคัดเลือกบุคคลเข้าไปนั่งในวุฒิสภาว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์ต่างจากการเลือก สส ตรงไหน..จำเป็นอย่างไรที่จะต้องเลือกคนที่เป็นกลางจริง ๆ

เห็นด้วยครับ นี่คือปัญหาที่ เราไม่เคยคิดอย่างจริงจังที่จะสร้างระบบ และติดกับตัวบุคคล
ซึ่งทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะวัฒนธรรมไทย
(อาจจะต้องมีใครตั้งกระทู้แยกมาอีกว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย มีอะไรบ้าง ดีแหละไม่ดีตรงไหนอย่างไร)

[ในความเห็นของผมปัญหาของไทยเราไม่ใช่แค่เพียง "ระบบ" ที่มีปัญหา
แต่มันเกิดจาก "พื้นฐานวัฒธรรมไทย" ที่เป็นแบบอุปถัมภ์-อำนาจนิยม

ใช่แล้วครับ ที่ผมบอกว่า เราไม่เคยคิดจะสร้างระบบ หรือไม่เชื่อถือในระบบ
มัวแต่สนใจแต่ตัวบุคคล หวังว่าจะมีคนดีเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

ผมไม่ได้หมายความว่า ระบบของเรามีปัญหา
แต่ผมหมายความว่าพื้นฐานทางวัฒนธรรมมีปัญหา อย่างที่คุณพูดถึงนี่แหละครับ

และเนื่องจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมของเราเป็นแบบนี้
จึงทำให้เราสนใจแต่ตัวบุคคล มากกว่าสนใจที่จะสร้างระบบที่รองรับการเติบโตในอนาคตได้

---------------------------------
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ต้องยอมรับว่า
เราคิดกันดีแล้ว พยายามกันหลายๆอย่าง
เสียแต่บางอย่างก็มีช่องโหว่ หรือมีปัญหาที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นมากมาย
ซึ่งนั่น สำหรับผม ก็คือว่า เรายังสร้างระบบ (รัฐธรรมนูญ) ที่ดีกว่านี้ได้อีกครับ
อย่างน้อย ก็ค่อยๆแก้ไขข้อบกพร่องกันไป
---------------------------------

กล่าวโดยสรุปของผม
1 ระบอบทักษิณเป็นรูปแบบหนึ่ง ของ "อมาตยาธิปไตย" เปลี่ยนรูปแบบจาก ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และทหาร มาเป็นกลุ่มทุ่น แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม
2 "อมาตยาธิปไตย" เกิดขึ้นมาจาก วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย
3 ปัญหาของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย คือปัญหาเร่งด่วนปัญหาหนึ่ง ที่จะต้องมาหาข้อสรุปและแก้ไขกัน
---------------------------------

เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เชิญเสนอความคิดเห็นมาต่อได้เลยครับ

และขอบคุณทุกท่าน ที่หลงเข้ามาในนี้ และพยายามอ่านนะครับ


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Yodyood ที่ 30-07-2006, 23:55
ถ้ามองตามที่คุณ  mini และ  jerasak ได้พูดคุยกัน

ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของประชาธิปไตย คือการเพิ่มปริมาณของคนชั้นกลาง
(ลดจำนวนผู้ยากจนโดยยกรัดับเขาขึ้นมา ส่วนคนรวยจะทำไงกะมันดีอ่า???? ปล.ถ้ารวยแบบไม่โกงผมก็โอนะ)
ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วปัญหาอื่นๆก็น่าจะหมดไป

ท่านอื่นๆคิดว่ายังไงบ้างครับ?


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: 500 ที่ 31-07-2006, 00:02
พัฒนาการทางการเมืองในคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบอบศักดินา ซึ่งตกทอดมาจากสมัยอยุธยา กับพัฒนาการของชาวนาชาวไร่บุกเบิกกลุ่มใหม่ ระบอบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นมาช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 มีรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ที่ระบบเศรษฐกิจ ที่มีชาวนาชาวไร่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจข้าวที่สำคัญ

       พัฒนาการทางการเมืองในคริสตศตวรรษที่ 20 เกี่ยวโยงกับการเจริญเติบโตของสังคมเมืองมากกว่า การปฏิวัติ 2475 ที่โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีผู้นำขบวนการที่มาจากกลุ่มพันธมิตรระหว่างผู้ฝักใฝ่ชาตินิยมในเมือง ที่มีภูมิหลังเป็นข้าราชการและนักธุรกิจ ตลอดทศวรรษ 2520 กลุ่มดังกล่าวพัฒนาเป็ฯ "อมาตยาธิปไตย" (Bureaucratic polity) นำโดยทหาร ซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ จากทศวรรษ 2520 พลังที่เป็นพันธมิตรระหว่างธุรกิจและคนชั้นกลางกลุ่มใหม่ (คนงานปกขาวภาคเอกชน) ช่วยกันผลักดันให้ทหารลดบทบาทในการเมือง และก่อตั้งสถาบันการเมืองไทย ในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย เข้าทดแทนระบอบอมาตยาธิปไตย

       แต่พลังทางสังคมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังต้องแสวงหาแนวทาง ที่จะบริหารจัดการสร้างความสัมพันธ์กับสังคมชนบท ซึ่งยังคงประกอบด้วยประชากรกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ ประเด็นนี้ ชี้ว่าประเทศไทยแตกต่างจากเอเชียนิกส์ เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเป็นอย่างมาก ใน 2 ประเทศนี้ พัฒนาการระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และการเป็นอุตสาหกรรม ได้ทำให้ชาวนาชาวไร่ลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ โดยกลายเป็นคนงานโรงงาน หรือเป็นคนชั้นกลางใหม่ในเมืองภายในระยะเวลาประมาณ 20 ปี คือช่วงที่เป็นอุตสาหกรรม


เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (รางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยม ประจำปี 2540)
หัวหน้าคณะวิจัย : ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ผู้ร่วมวิจัย : ดร.คริสโตเฟอร์ จอห์น เบเคอร์


หัวข้อ: Re: "อมาตยาธิปไตย" คืออะไรกันแน่ครับ
เริ่มหัวข้อโดย: mini ที่ 31-07-2006, 18:24
ถ้ามองตามที่คุณ  mini และ  jerasak ได้พูดคุยกัน

ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของประชาธิปไตย คือการเพิ่มปริมาณของคนชั้นกลาง
(ลดจำนวนผู้ยากจนโดยยกรัดับเขาขึ้นมา ส่วนคนรวยจะทำไงกะมันดีอ่า???? ปล.ถ้ารวยแบบไม่โกงผมก็โอนะ)
ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วปัญหาอื่นๆก็น่าจะหมดไป

ท่านอื่นๆคิดว่ายังไงบ้างครับ?

หามิได้ครับ สำหรับผม จุดมุ่งหมายสูงสุดของประชาธิปไตย มิได้หมายถึงการเพิ่มปริมาณของคนชั้นกลาง ครับ
เพราะผมเป็นพวก "Social Liberalism" ครับ (ไม่ใช่ Classical Liberalism หรือ Neoliberalism นะครับ)
ดังนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญคือ ต้องปกป้องความเสรีและโอกาสของพลเมืองครับ (Individual Freedom as a Central Objective)
โดยมีประชาธิปไตยเป็นเครื่องมีในการบรรลุวัตถุประสงค์ครับ

จริงๆคำถามนี้ น่าสนใจมากนะครับ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกันแน่นอน คิดว่าเอาไปตั้งเป็นหัวข้อใหม่ที่น่าสนใจได้เลยทีเดียว

เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (รางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยม ประจำปี 2540)
หัวหน้าคณะวิจัย : ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ผู้ร่วมวิจัย : ดร.คริสโตเฟอร์ จอห์น เบเคอร์

จะเห็นว่า ผลงานนี้เกิดก่อนทักษิณเข้ามามีอำนาจครับ
อย่างที่ผมบอก ว่าตัวโครงสร้างยังเหมือนเดิม (ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่รอบนอก)
แต่เปลี่ยนจากทหารเป็นกลุ่มทุน

หรือคุณว่าอย่างไรหล่ะครับ