ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => ชายคาพักใจ => ข้อความที่เริ่มโดย: ผู้ทำลาย ที่ 12-07-2006, 12:00



หัวข้อ: ประชากรไทยเพิ่ม3แสน-หลังปี65คาดเพิ่มต่ำกว่าศูนย์คนชราล้นประเทศ
เริ่มหัวข้อโดย: ผู้ทำลาย ที่ 12-07-2006, 12:00
ประชากรไทยเพิ่ม3แสน-หลังปี65คาดเพิ่มต่ำกว่าศูนย์คนชราล้นประเทศ  
 
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2549 10:33 น.  

 
 
              สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยในรอบปีที่ผ่านมาประชากรไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 300,000 คน และยังมองว่าจะถึงจุดอิ่มตัวที่ 65 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2565 หลังจากนั้น เป็นไปได้ว่าอัตราเพิ่มจะติดลบคือต่ำกว่าศูนย์บ้างเล็กน้อย ทำให้จำนวนประชากรแต่ละปีลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็ก

 
              บทความเรื่อง “ประชากรไทยในอนาคต” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ. ปราโมทย์ ประสาทกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเผยแพร่ในการประชุมวิชาการ “ประชากรและสังคม 2549” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งกล่าวถึงภาพของประชากรไทยในอนาคตว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ลักษณะประชากรไทยในอนาคตได้จากการฉายภาพประชากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า จนถึงปี พ.ศ. 2578
       
       ทั้งนี้ บทความฯ ระบุว่าเมื่อกลางปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีประชากร 62.2 ล้านคน หนึ่งปีถัดไปประมาณได้ว่าประชากรไทย ณ กลางปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 62.5 ล้านคน เท่ากับว่า 1 ปี มีคนเพิ่มขึ้น 300,000 คนเศษ คิดเป็นอัตราเพิ่มประชากรร้อยละ 0.6 ต่อปี การเพิ่มของประชากรไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต แต่เป็นการเพิ่มที่ช้าลง แต่ละปีอัตราเพิ่มประชากรค่อย ๆ ลดลง และในปี พ.ศ. 2565 จะเป็นปีที่ประชากรไทยถึงจุดอิ่มตัว อัตราเกิดจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราตาย ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรใกล้เคียงกับศูนย์ จำนวนเกิดในแต่ละปีพอ ๆ กับจำนวนตาย จึงคาดว่าประชากรไทยจะถึงจุดอิ่มตัวที่จำนวนประมาณ 65 ล้านคน ในราวปี พ.ศ. 2565 หลังจากนั้น เป็นไปได้ว่าอัตราเพิ่มประชากรจะติดลบคือต่ำกว่าศูนย์บ้างเล็กน้อย ทำให้จำนวนประชากรแต่ละปีลดลง
       
       ในขณะที่จำนวนประชากรไทยกำลังเพิ่มช้าลงนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรอย่างใหญ่หลวง เมื่ออัตราเกิดลดต่ำลงอย่างมากและผู้คนมีอายุยืนยาวนั้น สังคมไทยจึงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน เมื่อถึงเวลานั้นประชากรสูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็กเสียอีก
       
       บทความฯ ยังระบุด้วยว่าสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ลักษณะการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรวัยต่าง ๆ เปลี่ยนไป เดิมมีประชากรวัยเด็กที่ต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานมากกว่าผู้สูงอายุ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานมากกว่าเด็ก อัตราส่วนระหว่างประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุจะลดลงจนเหลือเพียง 2 ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในอีก 30 ปีข้างหน้า
       
       ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงประชากรไทยในอนาคตได้ก่อให้เกิดนัยเชิงนโยบายหลายประการ ได้แก่ การที่เด็กเกิดใหม่แต่ละปีมีแนวโน้มลดน้อยลงในอนาคตจะทำให้รัฐไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณและสามารถมุ่งเน้นที่คุณภาพของเด็กเกิดใหม่ โดยเฉพาะงานอนามัยแม่และเด็กได้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับประชากรเด็ก ประชากรในวัยศึกษาเล่าเรียนมีแนวโน้มลดลง รัฐจะสามารถเน้นคุณภาพของการศึกษาได้ดีขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในอนาคต แต่ความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจมีเพิ่มขึ้น “การนำเข้า” แรงงานจากต่างประเทศอาจเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น การจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน เมื่อสังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ มาตรการและโครงการที่จะเป็นสวัสดิการให้ประชากรสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป หรือเรื่องสุขภาพอนามัย ควรที่จะได้เริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และจะต้องพัฒนาไปให้ทันกับการเพิ่มอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุในอนาคต
 
 


หัวข้อ: Re: ประชากรไทยเพิ่ม3แสน-หลังปี65คาดเพิ่มต่ำกว่าศูนย์คนชราล้นประเทศ
เริ่มหัวข้อโดย: ยามเฝ้าแผ่นดิน ที่ 09-10-2006, 15:18
คนแก่ที่ญี่ปุ่นอายุยืนเป็นร้อยปีแน่ะ อายุเฉลี่ยของคนไทยส่วนใหญ่ยังค่อนข้างต่ำ อาจจะเป็นเพราะการแพทย์ของเรายังไม่ทันสมัย