ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: เล่าปี๋ ที่ 06-10-2008, 10:16



หัวข้อ: รัฐบาลละลาย3หมื่นล.รับจำนำข้าว เอาใจชาวนาหรือใครกันแน่???
เริ่มหัวข้อโดย: เล่าปี๋ ที่ 06-10-2008, 10:16
เขาจำนำข้าวกันมานานแล้ว ครับ ท่าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01eco01061051&sectionid=0103&day=2008-10-06

(http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2008/10/eco01061051p1.jpg)หมายเหตุ - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง "มติชน" เห็นว่ามีสาระสำคัญควรนำเสนอ


วันนี้ผมขอยกเรื่องซึ่งรัฐบาลก่อนได้ทำความเสียหายเป็นตัวเงิน และในที่สุดต้องตั้งงบประมาณมาชดเชยซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและแก้ไขไม่ได้แล้ว และเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้เตรียมการที่จะทำในปริมาณที่มากกว่าและมองเห็นได้ชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นตัวเงินอีกเป็นจำนวนสูงมากทีเดียว ไม่ใช่เป็นพันล้าน แต่เป็นจำนวนถึงหลายหมื่นล้านบาท ด้วยความหวังว่าเมื่อเขียนเรื่องนี้ออกไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันหยุดยั้ง และผู้อ่านที่เป็นห่วงบ้านเมืองจะได้ช่วยกันปลุกสำนึกความรับผิดชอบจนรัฐบาลนี้เลิกราโครงการนี้



เรื่องนี้ก็คือเรื่องการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก การรับจำนำข้าวนั้นตามปกติจะทำเฉพาะในช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งมีปริมาณข้าวล้นตลาดมาก การรับจำนำในช่วงนั้นจะช่วยดึงอุปทาน (Supply) ข้าวออกจากตลาด ทำให้ราคาข้าวไม่ลดต่ำเกินไป และหลังจากนั้นเมื่อแรงซื้อเพิ่มขึ้นตามความต้องการในประเทศและเพื่อการส่งออก ราคาตลาดของข้าวก็จะทยอยเพิ่มขึ้น และผู้จำนำข้าวก็สามารถไถ่ถอนจำนำมาขายในตลาดด้วยราคาที่สูงขึ้น ได้กำไรมากขึ้น



โดยปกติการรับจำนำในช่วงที่ข้าวนาปีออกสู่ตลาดตอนปลายปี จะทำเป็นจำนวนสูงนับ 2-3 ล้านตัน ส่วนในระยะที่ข้าวนาปรังออกสู่ตลาด จะทำในจำนวนที่น้อยกว่ามาก คือเป็นจำนวนแสน แต่ไม่ถึงล้านตัน แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลดำเนินการรับจำนำข้าวในช่วงที่ข้าวนาปรังออกสู่ตลาดสูงถึง 3.5 ล้านตัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราคาในตลาดสูงอยู่แล้ว กล่าวคือ ราคาตลาดของข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม (ซึ่งมีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง) สูงถึง 13,297 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาตลาดในเดือนเดียวกันของปี 2550 (6,230 บาท/ตัน) ถึง 110% ในสถานการณ์ที่ราคาตลาดสูงเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่จะรับจำนำข้าวนาปรัง ซึ่งจำนวนที่เก็บเกี่ยวไม่มากมายเช่นข้าวนาปี และมีความต้องการเพื่อส่งออกรออยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ยังอนุมัติให้ดำเนินการทั้งๆ ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคัดค้าน



ที่น่าสงสัยมากในการดำเนินการครั้งนี้ ก็คือ ตามปกติในการรับจำนำข้าวนั้น กระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องดำเนินการร่วมกัน แต่ในครั้งนี้อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบให้ ธ.ก.ส.ทำแต่เพียงผู้เดียว เป็นที่กังขาของผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังกำหนดราคารับจำนำสูงมากเป็นประวัติการณ์ คือ รับจำนำข้าวเปลือกเจ้าสูงถึง 14,000 บาท/ตัน ในขณะที่ราคารับจำนำข้าวนาปีเมื่อต้นฤดู (ปลายปี 2550) เพียง 6,600 บาท/ตัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการดึงให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าในตลาดสูงอยู่ที่ 14,000 บาท/ตันต่อไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เนื่องจากราคาข้าวในตลาดนั้นผูกพันอยู่กับราคาส่งออก ราคาข้าวเปลือกเจ้า 14,000 บาท/ตันนี้ เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วต้นทุนจะสูงกว่าราคาในตลาดโลกไม่สามารถส่งออกได้ และก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ราคาตลาดของข้าวเปลือกเจ้าได้ลดลงจากเฉลี่ย 13,297 บาท/ตัน ในเดือนพฤษภาคมเหลือเพียง 12,088 บาท/ตัน ในเดือนสิงหาคม และมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีกตามราคาของตลาดโลก ซึ่งรู้กันอยู่ว่าปริมาณข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวสิ้นปีนี้จะออกมามากกว่าปกติ อันเป็นการสนองตอบต่อราคาที่สูงที่ผ่านมาในปีนี้ ปริมาณข้าวนาปีทั่วโลกที่จะออกมามาก ย่อมจะกดให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงไปจากราคาปัจจุบันซึ่งยังนับว่าสูงกว่าปกติอยู่พอควร



เป็นธรรมดาที่การกำหนดราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดย่อมดึงดูดให้มีคนนำข้าวมาจำนำกันอย่างเต็มที่จนถึง 3.5 ล้านตันข้าวเปลือกตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ราคาจำนำที่สูงดังกล่าวทำให้ผู้ที่นำข้าวมาจำนำแล้วไม่ยอมไถ่ถอนคืนและทิ้งให้เป็นของรัฐทั้งหมด ข้าวทั้ง 3.5 ล้านตันยังอยู่ที่ ธ.ก.ส. ถ้าจะขายออกตามราคาตลาดในวันนี้ (11,800-11,900 บาท/ตัน) ก็จะขาดทุนทันทีอย่างน้อย 7,350 ล้านบาท แต่การขายข้าวจำนวนมากขนาด 3.5 ล้านตัน ต้องใช้เวลาพอควร ถ้าเร่งขายออกเร็วก็จะกดราคาตลาดให้ต่ำลงอย่างรวดเร็ว ข้าวนาปีก็กำลังจะออกมา ซึ่งจะทำให้ราคาตลาดลดลงอยู่แล้ว เป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า การขายข้าว 3.5 ล้านตัน คงจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทในที่สุด



เป็นความบกพร่องของอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยแท้ ที่ไม่ยอมฟังคำทัดทานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ถ้าจะพูดไป ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับจำนำข้าวนาปรังดังอธิบายแล้วข้างต้น เห็นได้ไม่ยากว่าการรับจำนำในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกนั้นไม่สามารถรักษาให้ราคาตลาดยังสูงอยู่ในระดับนั้นต่อไปได้ และเห็นได้ไม่ยากว่าทำแล้วจะขาดทุนอย่างแน่นอน ซึ่งในที่สุดก็จะต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้ ทั้งสองท่านนั้นฉลาดเฉลียวน่าจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อธิบายได้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว แต่ทำไมจึงตัดสินใจทำ



มีวาระซ่อนเร้นใดอยู่หรือ?

ผลขาดทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาตลาด ย่อมหมายถึงมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่าที่ควรจะเป็นไปตามราคาตลาด (ซึ่งสูงอยู่แล้ว) เป็นจำนวนมาก ผลประโยชน์นี้ตกเป็นของชาวนาผู้เป็นเจ้าของข้าวดั้งเดิมเท่านั้นหรือ? หรือว่าพ่อค้าและโรงสีแบ่งประโยชน์ไปด้วยในฐานะเป็นตัวกลางที่นำข้าวมาจำนำ ในฐานะผู้ที่เอื้อเฟื้อโกดังในการรับจำนำหรือในฐานะที่ซื้อข้าวมาจากชาวนาในราคาตลาดแล้วนำมาจำนำต่อ? นอกจากนี้ พ่อค้าและโรงสีเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองและต้องดูแลความสัมพันธ์เหล่านั้นเพื่อได้ประโยชน์ดังกล่าวด้วยหรือไม่?


เป็นคำถามที่ผมฝากให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดต่อ



ที่เขียนมาข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่ได้ทำไปแล้วป้องกันอะไรไม่ได้อีกแล้ว ผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นเมื่อขายในที่สุดกว่า 10,000 ล้านบาทนั้น ผู้ที่ตัดสินใจทั้งสองท่านก็คงไม่ยอมรับผิดชอบ เป็นกรรมของประเทศชาติจริงๆ แต่ยังมีแผนการรับจำนำข้าวอีก 2 โครงการที่รัฐบาลปัจจุบันตั้งใจทำเพิ่มเติม โครงการแรกเป็นข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ขยายการรับจำนำข้าวนาปรังจาก 3.5 ล้านตัน เป็น 4.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่สุด เพราะข้าวนาปรังนั้นออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ขณะนี้เกือบครบ 5 เดือน ไม่น่าจะมีข้าวนาปรังเหลืออยู่ในมือชาวนาแล้ว นอกจากจำนวนที่เก็บไว้บริโภค ข้าวนาปรังดังกล่าวน่าจะได้เปลี่ยนมือไปอยู่ที่พ่อค้าและโรงสีหมดแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดราคารับจำนำไว้ที่ 14,000 บาท/ตัน ทั้งที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดปัจจุบันไม่เกิน 12,000 บาท/เกวียน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พ่อค้าและโรงสีซึ่งซื้อข้าวมาแล้วจากชาวนา สามารถนำข้าวมาจำนำกับ ธ.ก.ส. ได้กำไรง่ายๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย 2,000 บาท/ตัน



เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการอนุมัติขยายการรับจำนำครั้งนี้อย่างรีบร้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นำเสนอ ครม.ในวันที่ 16 กันยายน ซึ่งเป็นการประชุมที่มีรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุม และขณะนี้ได้มีการรับจำนำข้าวนาปรังเพิ่มเติมจากเป้าเดิม 3.5 ล้านตัน ขึ้นมาอีกหลายแสนตันแล้ว ในที่สุดก็คงจะรับจำนำครบ 4.5 ล้านตันจนได้ ข้าว 1 ล้านตันส่วนเพิ่มนี้รับจำนำสูงกว่าราคาตลาดวันเดียวกันถึงเกวียนละกว่า 2,000 บาท ถ้าขายออกทันทีก็จะขาดทุนอย่างน้อย 2,000 ล้านบาท แต่กว่าจะขายออกราคาคงจะลดต่ำลงไปอีกตามสภาวะของตลาดโลกและตลาดในประเทศซึ่งรู้กันอยู่แล้ว และน่าจะขาดทุนอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท จึงมีคำถามเช่นเดียวกันว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรักษาการนายกรัฐมนตรีซึ่งอนุมัติในเรื่องนี้จะรับผิดชอบกับผลการขาดทุนครั้งนี้หรือไม่ เพราะเป็นการกระทำที่เห็นได้ชัดว่าจะขาดทุนอย่างแน่นอน ส่วนผลประโยชน์จะตกถึงมือใครบ้างนอกจากพ่อค้าและโรงสีนั้น เป็นสิ่งที่คาดเดากันได้ไม่ยาก



อีกโครงการหนึ่งที่เตรียมจะทำซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่ทำมาแล้วและจะก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินในจำนวนที่สูงกว่ามากก็คือ การรับจำนำข้าวนาปีที่จะออกมาตอนปลายปี โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ตั้งเป้าให้รับจำนำถึง 8 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดที่เคยทำมา และกำหนดราคารับจำนำไว้สูงกว่าตลาดคือ 14,000 บาท/ตันเช่นกัน สำหรับข้าวเปลือกเจ้า (และ 16,000 บาท/ตัน สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งจะขอไม่พูดถึงในการอธิบายเรื่องผลขาดทุนในที่นี้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับราคาข้าวเปลือกเจ้าในลักษณะเดียวกัน) ทั้งๆ ที่คาดเดาได้ว่าราคาตลาดสำหรับข้าวเปลือกเจ้าในช่วงนั้นคงจะอยู่ที่ 10,000-11,000 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าที่เคยเป็นมาทุกปี และเป็นราคาที่ชาวนาได้กำไรอยู่แล้ว ผมเห็นด้วยว่าควรเข้ารับจำนำบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกดราคาลงไปต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน แต่การที่จะกำหนดให้รับจำนำสูงถึง 14,000 บาท/ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นเฉพาะผู้ที่นำข้าวมาจำนำ 8 ล้านตันเท่านั้น ข้าวนาปีที่ออกมามีกว่า 21 ล้านตัน ข้าวเปลือกส่วนที่เหลืออาจจะต้องขายต่ำกว่า 10,000 บาท/ตันก็เป็นได้ เพราะเมื่อพ่อค้ารู้ว่ามีข้าวจำนวนมากถึง 8 ล้านตัน อยู่ในมือหน่วยงานของรัฐ ข้อมูลดังกล่าวจะกดราคาข้าวในตลาดไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ และอาจจะลดลงไปอีกด้วย ที่แน่ชัดก็คือ หน่วยงานของรัฐที่รับข้าวจำนวน 8 ล้านตันนี้ไว้ เมื่อขายข้าวออกไปจะขาดทุนถึง 24,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งต้องตั้งงบประมาณนำภาษีของประชาชนมาชดใช้ในที่สุด




เป็นที่โจษจันกันในวงการข้าวต่างจังหวัดแล้วว่า พ่อค้าข้าวและโรงสีเริ่มเจรจาซื้อข้าวจากชาวนาไว้ก่อนที่ข้าวนาปีจะออกในราคาตลาดปัจจุบัน ซึ่งชาวนาพอใจและมีกำไร เพื่อเตรียมไว้สำหรับนำมาจำนำในราคา 14,000 บาท/ตัน ได้กำไรอย่างสบายๆ อย่างน้อย 2,000 บาท/ตัน ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการรับจำนำ 8 ล้านตันครั้งนี้มากมายเหลือเกิน จะตกถึงมือใครบ้างสุดที่จะเดา แต่เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย เพราะราคาตลาดก็สูงอยู่แล้ว ที่แน่ชัดก็คือ หน่วยงานของรัฐจะขาดทุนสูงมากอย่างน้อยอีก 24,000 ล้านบาท



เรื่องนี้อนุมัติโดย กขช.แล้ว แต่ยังปฏิบัติไม่ได้จนกว่า ครม.จะอนุมัติ ผมหวังว่ารองนายกรัฐมนตรีที่คุมด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นนักวิชาการและเข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว น่าจะคัดค้านโครงการที่จะเกิดความเสียหายทางการเงินเช่นนี้ เพราะถ้าโครงการที่เห็นได้ชัดขนาดนี้ ครม.ยังผ่านไปได้ ความเชื่อถือในตัวท่านทั้งสองจะหมดไปทันที



ท้ายที่สุดผมอยากถามศาลปกครองหรือผู้ทรงคุณวุฒิในด้านกฎหมายว่า ในกรณีที่นักการเมืองดำเนินการหรือตัดสินใจในเรื่องที่เห็นได้ชัดตั้งแต่แรกว่าจะเกิดความเสียหาย จนในที่สุดก็มีความเสียหายเป็นตัวเงินเกิดขึ้นจริงนั้น เรามีหนทางที่จะดำเนินการให้นักการเมืองผู้นั้นรับผิดชอบในลักษณะใดได้บ้าง และเอาผิดได้หรือไม่ ไม่ว่าเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา ใครรู้ช่วยบอกผมที เพื่อจะเอาไว้ใช้ป้องกันความเสียหายของบ้านเมืองต่อไป



หัวข้อ: Re: รัฐบาลละลาย3หมื่นล.รับจำนำข้าว เอาใจชาวนาหรือใครกันแน่???
เริ่มหัวข้อโดย: chaturant ที่ 06-10-2008, 11:21
เดลินิวส์ วันนี้ ให้ขึ้น สกู๊ป หน้า 2 เลย รัฐบาลมันไม่ได้โง่หรอกครับ แต่มันหวังผลเลือกตั้งที่กำลังจะถึง แล้ว เป็นได้ไม่กี่เดือน ต้องรีบ แด๊ก ครับ


หัวข้อ: Re: รัฐบาลละลาย3หมื่นล.รับจำนำข้าว เอาใจชาวนาหรือใครกันแน่???
เริ่มหัวข้อโดย: THE THIRD WAY ที่ 06-10-2008, 11:45
อ่านในเดลินิวส์ตอนเช้าแล้ว
สะอื้นฮัก


หัวข้อ: Re: รัฐบาลละลาย3หมื่นล.รับจำนำข้าว เอาใจชาวนาหรือใครกันแน่???
เริ่มหัวข้อโดย: ลูกนนทรี ที่ 06-10-2008, 12:13
ข้าวมันเน่าช้ากว่าลำไยมั้งครับ เลยรีบเอาใจใครบางคน :slime_smile2: