ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => ห้องสาธารณะ => ข้อความที่เริ่มโดย: เอจร้า ที่ 05-10-2008, 23:23



หัวข้อ: GAT-PAT นักเรียนชั้นม.5 มีความคิดเห็นอย่างไร..
เริ่มหัวข้อโดย: เอจร้า ที่ 05-10-2008, 23:23
15  กันยายน  2551

เรียน  เพื่อนนักเรียนร่วมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

เรื่อง  ขอความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงการสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในปี  2553

                ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา  ทางสทศ.  (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ)  ได้มีการออกประกาศเกี่ยวกับการจัดสอบแอดมิชชั่นระบบใหม่ที่ยกเลิกการสอบระบบเดิมเป็นการใช้  GAT-PAT  แทนซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้มีการประกาศเป็นที่แน่ชัด  ต่อมาในช่วงต้นเดือนเมษายน  2551  ทปอ.  (ที่ประชุมอธิการบดี)  ได้มีการจัดประชุมหารือเกี่ยวกับการสอบระบบนี้อีกครั้งหนึ่งและในการประชุมครั้งนั้นก็ได้มีข้อสรุปออกมาในหนังสือพิมพ์  (ถ้าสนใจสามารถลองหาดูได้จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐช่วงต้น ๆ ของเดือนเมษายน 2551)  ว่าในการสอบระบบใหม่จะแบ่งการสอบออกเป็น  2  รายวิชาด้วยกันคือ 

                1.  GAT (General  Aptitude  Test)  วัดความรู้ทั่วไปในทางคำนวณ  ประมวลผล  แยกแยะวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคณิตศาสตร์และการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

            2.  PAT  (Professional  Aptitude  Test)  วัดความรู้เฉพาะทางในวิชาชีพที่ต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย  แบ่งออกเป็น  7  ประเภทได้แก่

                                2.1)  PAT 1  ความถนัดทางคณิตศาสตร์

                                2.2)  PAT 2  ความถนัดทางวิทยาศาสตร์  (รวมฟิสิกส์  เคมี  ชีววิทยาเป็นตัวเดียวกัน)

                                2.3)  PAT 3  ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์

                                2.4)  PAT 4  ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์

                                2.5)  PAT 5  ความถนัดทางครู

                                2.6)  PAT 6  ความถนัดทางศิลปะ

                                2.7)  PAT 7  ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ  (ภาษาที่ 3)  ประกอบด้วย  6  ภาษา



                                                1.  ภาษาฝรั่งเศส

                                                2.  ภาษาเยอรมัน

                                                3.  ภาษาญี่ปุ่น

                                                4.  ภาษาจีน

                                                5.  ภาษาบาลี

                                                6.  ภาษาอาหรับ   



         

                โดยจากการประกาศครั้งแรกของทาง ทปอ. ตามระยะเวลาดังกล่าวในการสอบเข้าบางคณะยังคงมีการแบ่งแยกสายตามปกติและสาเหตุที่  PAT  มีทั้งสิ้น  7  ประเภทก็เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกว่าจะเข้าเรียนต่อในคณะใด ๆ  และให้การสอบนั้นเป็นไปในวันเดียวกันเพื่อกันไม่ให้นักเรียนเลือกลงทีละมาก ๆ

                ต่อมาประมาณช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  ทางโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้เรียนเชิญ  ศ.ดร.  อุทุมพร  จามรมาน  ผอ.สทศ.  มาบรรยายพิเศษให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  เกี่ยวกับการสอบแอดมิชชั่นระบบใหม่  โดยที่ในการบรรยายครั้งได้มีนักเรียนบางคนสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการสอบ  คำถามที่ถามคือ

                1.  ถ้าตั้งใจจะเข้าคณะที่ต่างกันก็จำเป็นต้องสอบใน  PAT  ที่ต่างกันแต่ตามประกาศบางวิชาสอบวันเดียวกัน จะควรทำอย่างไร

                2.  นักเรียนสายวิทย์-คณิต  บางคนเรียนภาษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากภายในโรงเรียน  มีความต้องการสอบใน  PAT 7  ซึ่งเป็นของนักเรียนสายศิลป์จะสามารถสอบได้หรือไม่

                ซึ่งคำถามทั้งสองได้รับคำตอบที่บอกปัดความรับผิดชอบ  จนกระทั่งนักเรียนหลายคนได้ขึ้นแสดงความเห็นจนกระทั่งผอ.สทศ.  รับปากว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมทปอ. ครั้งต่อไปจึงเกิดความสงบ

 

                เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านทางสทศ.  ได้เปิดลิงค์ในเว็ปไซต์ (http://www.niets.or.th) เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นม.5  หรือเทียบเท่าเข้าทำการสมัครสอบฯ  โดยไม่กำหนดสายการเรียน  แต่ทำการเก็บเงินค่าสมัครวิชาละ  200  บาท  และยังให้ทำการสมัครได้ทางเวปไซต์เท่านั้น

                ทางคณะกรรมการนักเรียนม.5  โรงเรียนเทพศิรินทร์เล็งเห็นว่าการกระทำของสทศ.  ในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลและยังเอารัดเอาเปรียบนักเรียนเป็นอย่างมาก  จึงคิดหาทางออกด้วยการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงศึกษาธิการและสทศ.  โดยได้ชี้แจงเหตุผลเป็นข้อ ๆ  จากปัญหาของระบบแอดมิชชั่นใหม่ดังนี้

                1.  ตามปกติในการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเช้ามหาวิทยาลัยจะต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้า  3  ปีเพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้ทัน  แต่ในครั้งนี้มีการประกาศล่วงหน้าเพียง  1 ปีเท่านั้น  ทำให้นักเรียนหลายคนยังสับสนและไม่พร้อมในการสอบ

                2.  เนื่องจากการเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายครั้ง  ทำให้หลาย ๆ มหาวิทยาลัยเริ่มเกิดความไม่ไว้ใจในคะแนนที่ได้จากการสอบส่วนกลาง  จึงมีการเสนอนโยบายออกมาว่า  อาจจะไม่รับพิจารณาคะแนนที่ได้จากการสอบส่วนกลางเพื่อสมัครเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาอีกต่อไป 

                3.  การสมัครสอบในครั้งนี้เป็นไปด้วยการขาดการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบของนักเรียน  หลายคนยังไม่ทราบถึงการสมัครสอบจนกระทั่งเพื่อนนักเรียนด้วยกันได้มาชี้แจง  ทั้งยังกำหนดให้ทำการสมัครเฉพาะวันที่ 1  กันยายน – 31 ตุลาคม  2551  และต้องทำการสมัครครั้งเดียวลงสอบ 3 ครั้งทำให้นักเรียนหลาย ๆ คนไม่สามารถตั้งตัวได้ทัน

                4.  การสมัครสอบให้เป็นโดยทางอินเตอร์เน็ตเพียงทางเดียว  ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อนักเรียนหลายคนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่บ้านจำเป็นต้องใช้บริการคอมพิวเตอร์ตามร้านเพื่อให้สามารถสมัครสอบได้  ซึ่งเป็นการอยุติธรรมและสอนให้เยาวชนใช้เงินสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

                5.  เนื่องจากการสมัครสอบผ่านทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น  ทำให้นักเรียนหลายคนที่อยู่ในชนบทห่างไกลจากตัวเมืองต้องเสียทรัพย์โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อให้ตนสามารถสมัครสอบได้

                6.  ค่าสมัครสอบวิชาละ  200  บาทต่อรายวิชาซึ่งสำหรับบางคนที่ยังไม่แน่ใจว่าอยากเรียนต่อในคณะไหน ย่อมเลือกที่จะสอบหมดทุกวิชาทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงสุดถึง  4,800  บาทและต่ำสุดเป็นเงิน  300  บาท  (ในกรณีไม่รวม  PAT  แต่ถ้ารวมแล้วจะเป็นต่ำสุด  600  บาท)  ซึ่งเมื่อลองคำนวณกับจำนวนนักเรียนที่ทำการสมัครนับแสนคนแล้วจะได้เงินจำนวนมาก จนก่อให้เกิดความสงสัยว่าจะนำเงินจำนวนไปใช้ในทางทุจริตหรือไม่

                7.  สืบเนื่องจากข้อ  6  ในฐานที่เป็นนักเรียนอยู่ย่อมมีความจำกัดในเรื่องของกำลังทรัพย์แม้ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษาก็ตามเงินจำนวนเกือบ  5000  บาทสำหรับเด็กนักเรียนก็นับว่ามีมูลค่ามากแล้ว  แต่ถ้าคิดไปถึงนักเรียนที่ทางบ้านมีฐานะยากจนการใช้จ่ายเงินจำนวนมากโดยไม่จำเป็นย่อมก่อให้เกิดความยากลำบากขึ้นอย่างแน่นอน

                8.  ในประกาศบนเว็ปของสทศ.  ได้แจ้งไว้ว่า  เมื่อได้ทำการสมัครแล้ว  ไม่ว่าจะเกิดกรณีใด ๆ ขึ้นก็ตามจะไม่มีการคืนเงินค่าสมัครเป็นอันขาด  แม้จะเป็นการสมัครใหม่เพื่อแก้ไขที่ลงวิชาผิดไปก็ต้องจ่ายค่าสมัครใหม่โดยไม่คืนเงินค่าสมัครที่ผิดไป           

                9.  อัตราส่วนของการสอบที่กำหนดมาว่าแต่ละคณะใช้  GAT-PAT  ปริมาณเท่าไรนั้น  เป็นเพียงการคาดคะเนของทางสทศ. เท่านั้น  ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่กำหนดออกมาอย่างแน่นอนว่าแต่ละคณะจะใช้อัตราส่วนปริมาณเท่าใด

            10.  สทศ.  กล่าวว่า  การที่ให้นักเรียนม.ปลาย  สอบระบบแอดมิชชั่นใหม่นี้เพื่อเป็นการสอนให้เด็กไทยรู้จักการคิดและวางแผนการศึกษาต่ออย่างเป็นระบบและแน่วแน่  ไม่ใช่ให้เป็นคนที่หวังเหวี่ยงแหในการสอบเหมือนที่แล้วมา

            จากเหตุผลดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ทางคณะกรรมการนักเรียนชั้นม.5  ปีการศึกษา  2551  โรงเรียนเทพศิรินทร์จึงไม่อาจทนนิ่งเฉยให้สิทธิและเสรีภาพในการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต้องพังทลายลง  จึงได้ร่างหนังสือเพื่อทำการร้องเรียนและขอให้มีการทบทวนใหม่

                และด้วยเล็งเห็นว่านักเรียนมัธยมศึกษาปีที่  5  ทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงนับจึงได้ส่งจดหมายฉบับนี้มาให้  เพื่อขอความร่วมมือ  ร่วมแรง  ร่วมใจกันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน  ผนึกเป็นกำลังเสียงของเยาวชนเพื่อผลักดันให้การศึกษาไทยไม่ถอยหลังลงคลองไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อเป็นการแสดงให้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยได้ตาสว่างขึ้นมาบ้างว่า  “เยาวชนไทย  ไม่ได้นิ่งดูดายต่อเหตุการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ”  ตามอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนได้คิดและเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ในสังคมตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนที่มีต่อสังคมมากขึ้น  และกระตุ้นให้นักวิชาการได้ตื่นจากภวังค์และหันมาใส่ใจการศึกษามากกว่านี้ก่อนที่จะทำให้ระบบการศึกษาของไทยต้องถึงคราววิบัติอย่างแท้จริงจากความมืดบอดทางความคิดของตน

                หากเพื่อนนักเรียนม.5  คนใดที่ได้รับจดหมายนี้โปรดเผยแพร่ต่อ ๆ กันในโรงเรียนของตนเพื่อรวบรวมเสียงเยาวชนให้มาร่วมกันแสดงความเห็น  โดยที่ทางคณะกรรมการนักเรียนม.5  โรงเรียนเทพศิรินทร์ จะจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างทุกโรงเรียนที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องนี้ในวันเสาร์ที่  27  กันยายน  2551  ทั้งนี้เวลาและสถานที่จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง  เพราะเท่าที่ทราบมาช่วง  2  สัปดาห์นี้จะเป็นการสอบปลายภาคเรียนที่  1  ของทุกโรงเรียนดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเพื่อน ๆ มากนักจึงขอให้ช่วยกระจายข่าวนี้โดยเร็วที่สุด

                                                                                                                ด้วยความรักและความห่วงใย

                                                                                                                   คณะกรรมการนักเรียนม.5 

                                                                                                      ปีการศึกษา  2551  โรงเรียนเทพศิรินทร์

 
*หมายเหตุ*  หากเห็นด้วยกับการร้องเรียนนี้หรือมีข้อสงสัยใด ๆ  ติดต่อได้ที่  คณะกรรมการนักเรียนม.5 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ระดับ. 5 :
โจนัส (โจ) 081-4452726 eldar123@hotmail.com      ร.ร.เทพศิรินทร์      กรุงเทพฯ
ปฏิพล (ไอซ์)087-1069069  pa_ti_ice@hotmail.com        ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย  นครราชสีมา
ปรินทร์ (เอ) 089-9496989 parin_96gradio@hotmail.com   ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย  นครราชสีมา

 (ทุกข้อสงสัยถ้าผู้ใหญ่ จะช่วยตอบจะขอบคุณมาก. . .เพราะมีความรู้สึกว่าระบบการสอบเข้าระดับอุดมศึกษา
 เด็กไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะสอบบระบบไหนเลย ...
คนเลือกระบบไม่ได้สอบ  คนสอบไม่มีสิทธิ์เลือก!!)