ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: นทร์ ที่ 04-07-2006, 10:05



หัวข้อ: ในหลวง ศาล กับอำนาจอธิปไตย
เริ่มหัวข้อโดย: นทร์ ที่ 04-07-2006, 10:05
หน้าที่หลักของระบบการเมืองในทุกสังคมทุกสมัย ได้แก่ การกำหนดข้อบัญญัติ การนำข้อบัญญัติไปปฏิบัติ และการตีความในข้อบัญญัติ เพื่อแก้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

หน้าที่เหล่านี้อาจจะอยู่ในตัวบุคคล องค์กร หรือสถาบันเดียวกัน แต่ก็อาจมีการแบ่งงานกันทำได้ อยู่ที่ระดับการพัฒนาของแต่ละสังคม เช่น สมัยพ่อขุนรามคำแหง กับสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การเป็นผู้มีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ อยู่ในคนเดียวกัน

ข้อบัญญัติของสังคม ณ ที่นี้ เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา รวมทั้งระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง นโยบาย หรือการตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ของทางราชการ ตามอำนาจหน้าที่ของสถาบันทั้งสามข้างต้น

กล่าวคือ

เมื่อสังคมพัฒนามากขึ้นๆ ก็จะมีการแบ่งงานกันทำ โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้กำหนดข้อบัญญัติ ฝ่ายบริหารเป็นผู้นำข้อบัญญัติไปปฏิบัติ ฝ่ายตุลาการเป็นผู้ตีความในข้อบัญญัติ โดยที่แต่ละสถาบันมีอำนาจหน้าที่หลักดังกล่าวนี้ แต่ก็อาจทำหน้าที่ของสถาบันอื่นเป็นหน้าที่รองของตนได้ เช่น พระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นมา คำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นข้อบัญญัติของสังคมไป หรือการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการโดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เป็นต้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 3 กำหนดว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ศาลจึงเป็นสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศสถาบันหนึ่ง ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 252

กฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาย่อมไม่อาจใช้ได้ในทุกๆ สถานการณ์ ศาลจึงมีบทบาทในการกำหนดข้อบัญญัติและการนำข้อบัญญัติไปปฏิบัติของสถาบันอื่นๆ มากขึ้น ด้วยการปรับปรุงและให้ความหมายใหม่ๆ แก่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีความสลับซับซ้อน ในแง่ของการใช้อำนาจอธิปไตย นอกเหนือจากการพิจารณาพิพากษาในคดีปกติธรรมดา โดยที่ศาลมีอำนาจตัดสินว่า การกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือองค์กรอื่นๆ เป็นโมฆะได้

ในสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบข้อบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ว่าขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่

อำนาจของศาลในการตรวจสอบการกระทำของทั้งสองสถาบันนั้นเรียกว่า อำนาจตรวจสอบของศาล

เช่น ใน ค.ศ.1803 ศาลสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายฉบับหนึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องรักษากฎหมายดังกล่าว กฎหมายใดที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ศาลจะต้องประกาศว่าเป็นโมฆะ และการกระทำของฝ่ายบริหารก็ถือหลักเดียวกันนี้ คำประกาศของศาลสูงสุดถือเป็นที่สุด มีผลผูกพันกับศาลและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น

นับแต่ ค.ศ.1890 จนถึงยุคการปฏิรูปเศรษฐกิจของรูสเวลท์ ศาลพยายามจำกัดอำนาจรัฐในการควบคุมเศรษฐกิจ จนเกือบจะกลายเป็นผู้ตรากฎหมายเสียเอง

แต่ใน ค.ศ.1937 ศาลได้ตัดสินยืนตามกฎหมายให้สิทธิกรรมกรโรงงานรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อต่อรองร่วมกันได้ โดยตีความรัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อกฎหมายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ การผลิตทางการเกษตร และสวัสดิการสังคม ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ได้วิวัฒนาการเรื่อยมา ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจรัฐ อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กับสิทธิส่วนบุคคล เป็นหลัก ตามกระบวนการยุติธรรม

ที่ถือว่ากฎหมายจะต้องมีสาระที่ยุติธรรม มีเหตุผล และเป็นธรรม

ในกรณีของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตที่อำนาจอธิปไตยอีกสองฝ่ายมีปัญหา จึงเหลือเพียงอำนาจตุลาการที่จะช่วยแก้วิกฤตได้

กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจทำหน้าที่ได้ เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ในขณะเดียวกัน สมาชิกวุฒิสภาก็หมดวาระลง

ส่วนฝ่ายบริหารก็มีสถานภาพเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งสืบเนื่องมาจากมีการมองกันว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมและจริยธรรม มีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว มีการแทรกแซงองค์กรต่างๆ จนมีความพิการเกิดขึ้น เกิดการต่อต้านและการไม่ยอมรับกันขึ้นมา รวมทั้งเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างคนไทยในทุกหมู่เหล่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นำความเสียหายไปสู่วิกฤตต่างๆ ของประเทศ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

เมื่อเป็นเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือเตือน ฝ่ายตุลาการหรือศาลให้เป็นหลักในการใช้อำนาจอธิปไตยที่เหลืออยู่โดยสมบูรณ์ แก้ไขวิกฤตครั้งนี้ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ความสงบสุข และผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน

ก่อนหน้านี้ วงการต่างๆ มองกันว่าประเทศไทยเข้าสู่ทางตันในทุกทาง จนหาทางแก้ไขไม่ได้ ไม่ว่าจากการริเริ่มของสถาบันหรือองค์กรใดๆ

จนถึงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2549 ได้มีกระแสพระราชดำรัสให้สถาบันตุลาการทั้งสาม ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลปกครอง กับศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแก้ไขวิกฤตดังกล่าว เช่น การเลือกตั้งที่มีพรรคเดียว เบอร์เดียวนั้น ไม่อาจทำได้ในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ โดยไม่เคยมีใครคิดถึงทางออกดังกล่าวมาก่อนเลย

ทุกคนรู้สึกโล่งใจขึ้นทันที


หัวข้อ: Re: ในหลวง ศาล กับอำนาจอธิปไตย
เริ่มหัวข้อโดย: นทร์ ที่ 04-07-2006, 10:05
แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่ทรงสั่งสมพระบารมีและประสบการณ์มายาวนาน ทรงอยู่เหนือการเมือง โดยไม่ลงมายุ่งกับการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่ทรงฝักใฝ่กับฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤต ถ้าฝ่ายหนึ่งพอใจ อีกฝ่ายย่อมไม่พอใจ

ที่สำคัญก็คือ การทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะได้รับการกราบบังคมทูลข้อราชการ และให้คำแนะนำปรึกษาตักเตือนรัฐบาล

นับแต่ขึ้นครองราชย์ ทรงรับภาระเหล่านั้นไว้โดยไม่อาจผ่องถ่ายให้แก่ผู้ใดได้ ตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ต่างจากรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านพ้นไป โดยไม่ต้องรับผิดชอบภาระใดๆ อีกต่อไป อีกทั้งไม่มีความต่อเนื่องด้วย จึงทรงมีประสบการณ์เหนือกว่าผู้ใด

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ รวมทั้งการที่ทรงตั้งมั่นอยู่กับหลักการปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ตั้งแต่ครองราชย์มาจนถึงปัจจุบัน จึงไม่มีอะไรที่ทรงพลาดเลย ไม่ว่ากิจกรรมใด หรือขณะใด แม้แต่พระราชดำรัสแต่ละอย่าง ก็เหมือนกับคำพระไปหมด

ศาลสถิตยุติธรรมของไทย ย่อมเป็นที่พึ่งของสังคมเสมอมา เพราะพิพากษาในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ทำให้ต้องทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ และระมัดระวัง รวมทั้งปลอดจากการเมืองด้วย อีกสองศาลก็คงเช่นเดียวกัน

เท่าที่ผ่านมา ศาลของไทยมีบทบาทในเชิงรับ ตามแต่จะมีคดีเข้ามา แต่เพื่อแก้วิกฤตของชาติ คงจะต้องปรับมาเป็นเชิงรุก และมีการกระทำที่เป็นระบบมากขึ้น ดังที่มีการตกลงร่วมกันของทั้งสามศาล ที่จะตัดสินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามขอบเขตแห่งอำนาจของแต่ละศาล เป็นต้น

ความเป็นอิสระ ไม่ลำเอียง ปราศจากอคติ ไม่เข้าข้างฝ่ายใด กับความยุติธรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับศาล ในการตรวจสอบการกำหนดข้อบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติ กับการนำข้อบัญญัติไปปฏิบัติของฝ่ายบริหาร และองค์กรอื่นๆ ในการแก้วิกฤต ศาลจะรับพิจารณาเฉพาะคดีหรือข้อพิพาทที่นำไปสู่ศาล ระหว่างคู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย ที่มีสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ หนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว โดยยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทั้งๆ ที่ผลของการตัดสินจะก่อให้เกิดความพอใจ หรือไม่พอใจ ต่อบุคคลหรือกลุ่มคนมากน้อยเพียงใดก็ตาม

เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าชาติบ้านเมืองหรือสังคมส่วนรวมอยู่ไม่ได้ ศาลและทุกภาคส่วนก็อยู่ไม่ได้ ด้วย

หน้า 6<

มติชน