ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: cameronDZ ที่ 20-09-2008, 16:35



หัวข้อ: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: cameronDZ ที่ 20-09-2008, 16:35
เมื่อสักครู่นี้ ผมเปิดรายการเวทีสาธารณะของ TPBS ทิ้งไว้
นอนดูแบบสลึมสลือ หลับ ๆ ตื่น ๆ

แต่แล้วก็ต้องสะดุ้งพรวด ตาตื่น สมองถูกกระตุกวาบ
ด้วยคำพูด คำเดียวของ ผู้ร่วมรายการท่านหนึ่ง

คนผู้นั้น คือ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์

คนที่ผมเคยยกย่องให้เป็น ปราชญ์ - มหาปราชญ์ ของเมืองไทย
แต่หลัง ๆ ผมชักเอือมแก ที่ไปแสดงทัศนะในทางที่ตัวเองไม่ถนัดคือ การเมือง
ทำให้ อาจารย์แกเสียศูนย์ เสียคนเคารพเชื่อถือไปเยอะ

แต่เมื่อกี้ อ.นิธิ แกปล่อยคำพูด ที่แหลมคม ตบหน้าคนไทย สังคมไทย
ที่ยังหลงโง่งม เข้าใจผิด หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ บริบทที่เปลี่ยนไปแล้วของคนไทย สังคมไทย

อ.นิธิ บอกว่า
"ชาวนาไทยในความหมาย คนปลูกข้าวกินเอง ไม่มีแล้ว มีแต่เกษตรกรที่ปลูกข้าวขาย"

อันดับแรกที่ผมคิด ก็คือ
อ.นิธิของผม คืนฟอร์มแล้ว นี่สิ คำพูดแบบนี้สิ ที่อยากได้ยิน

อันดับต่อมา
ผมคิดว่า ผู้ร่วมรายการอีกคน ที่กระทำตนเป็นทั้งอาจารย์มหาลัย ทั้งNGOผู้รักและเข้าใจ เห็นใจหัวอกคนจน
ควรจะมุดแผ่นดินหนี หรือเดินไปผูกคอตาย ในทันทีนั้นเลย
NGO หากินกับคนจน หรือทำให้เขาเชื่อว่าเขาจน มันไม่ได้ต่างกับพวกนักการเมือง ที่สรรเสริญชื่นชม พ่อแม่พี่น้องชาวไร่ชาวนา ผู้ยากจนของไอ้กระพ้มเลย

คำพูดคำเดียวของ อ.นิธิ ตอบโจทย์ทุกอย่างของสังคมไทยได้หมด

- คนจน ชนชั้นรากหญ้า หรือคำหรู ๆ อันชวนน่าสงสาร ประมาณนี้ เป็นเพียง "วาทกรรม" หรือ "หุ่นขี้ผึ้ง" ที่ไม่มีอยู่จริงแล้วในประเทศไทย แต่มันยังเสือกมีอยู่ปลอม
- เช่นกัน นักการเมือง นักมนุษยธรรม นักเพื่อชีวิตโรแมนติก องค์กรพัฒนาเอกชน ก็ควรเลิกหากินกับ "วาทกรรม" น้ำเน่าคำนี้ได้แล้ว พอเสียที
- เช่นกัน ไอ้ตัวคนที่มันใส่เสื้อคลุม "คนจน" เรียกคะแนนความสงสารไม่หยุดหย่อน ทั้งที่รู้ตัวดีแล้วว่า มันก็เป็น "คน" ธรรมดา ประกอบอาชีพอย่างหนึ่งในสังคม ก็ควรหยุดเล่นละครบทนี้ได้แล้ว การประกอบธุรกิจทำไร่ ทำนา ปลูกพืชผัก มันก็ไม่ได้ต่างกับ อาชีพอื่นในสังคมไทย ไม่ว่าจะคนทำขนมปัง ขายก๋วยเตี๋ยว เล่นหุ้น ทำงานบริษัท รับราชการ

จบห้วน ๆ แบบนี้แหละ
อยากให้ท่านอืนมาช่วย ต่อยอด ประเด็นนี้
กันตามอัธยาศัย


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 20-09-2008, 16:45
ข้อสรุปที่ว่า "ชาวนาไทยในความหมาย คนปลูกข้าวกินเอง ไม่มีแล้ว มีแต่เกษตรกรที่ปลูกข้าวขาย"

รวมทั้งโครงสร้างสังคมไทยปัจจุบันในสายตา อ.นิธิ น่าจะมีรายละเอียดอยู่ในบทความขนาดยาว 4 ตอน
ของ อ.นิธิ ที่ลงในมติชนนะครับ
ขออนุญาตนำมาลงประกอบในกระทู้คุณ cameronDZ ก็แล้วกัน  :slime_smile:

...

หมายเหตุ : เพื่อให้การนำเสนอมีสีสัน ผมจึงเลือกเน้นสีในข้อความที่พิจารณาเห็นว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ
                 การเน้นสีต่างๆ จึงเป็นฝีมือตามความเห็นของผมเอง ไม่เกี่ยวกับ อ.นิธิ นะครับ


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 20-09-2008, 16:47
การปรับระบบการเมือง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11125 มติชนรายวัน
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01250851&sectionid=0130&day=2008-08-25

อาจารย์เกษียร เตชะพีระ กล่าวไว้ในมติชนว่า เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจขึ้น ระบบการเมืองก็ต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ท่านกล่าวถึงการปรับตัวของระบบการเมืองไทยนับตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นำมาซึ่งการปฏิวัติ 2475 ไล่มาเรื่อยจนถึง 14 ตุลาคม และปัจจุบัน

ระหว่างที่ระบบการเมืองยังปรับตัวไม่ได้ ย่อมเกิดความตึงเครียด ขัดแย้งกัน ปะทะกัน หาทางออกไม่เจอ ทุกอย่างชะงักงันไปหมด จนกว่าระบบการเมืองจะสามารถปรับตัว (โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง) รองรับลักษณะใหม่ทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้วได้

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เกษียรทุกประการ แต่ท่านไม่ได้บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแก่สังคมไทยในช่วงท้ายนี้คืออะไร ผมจึงพยายามหาและสร้างคำอธิบายขึ้นดังนี้

ผมคิดว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ชนบทไทยประสบความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรรมเพื่อยังชีพซึ่งเคยเป็นสัดส่วนที่สำคัญในรายได้ของประชาชนเริ่มพังสลายลง เศรษฐกิจตลาดรุกเข้าไปในชีวิตของผู้คนมากขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมและธุรกิจก็รุกเข้าไปสู่ชนบทมากขึ้น เพื่อใช้ทั้งทรัพยากรและกำลังแรงงาน การผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองในไร่นาขนาดเล็กทำได้ยากขึ้น ที่หันมาสู่การผลิตป้อนตลาดยิ่งประสบการขาดทุน จนในที่สุดต้องหยุดผลิต

ในสภาพเช่นนี้เกิดอะไรขึ้นแก่ประชาชนในชนบท ส่วนหนึ่งหันเข้าหางานอื่นที่มีลักษณะประจำมากขึ้นในเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะลูกหลานของชาวนารวยที่ได้รับการศึกษา และครอบครัวมีสายสัมพันธ์กว้างขวางนอกหมู่บ้าน เช่นเป็นนายหน้าของบริษัทปุ๋ย, บริษัทรับซื้อพืชผลการเกษตร, ทำงานประจำในเมือง, เป็นผู้รับเหมารายย่อย, เป็นนายหน้าแรงงาน ฯลฯ เป็นต้น คนเหล่านี้หรือครอบครัวของคนเหล่านี้ อาจมีทุนมากพอที่จะอยู่ในการเกษตรต่อไป โดยรวบรวมที่ดินให้กว้างใหญ่ขึ้นพอสำหรับการใช้หรือจ้างวานเครื่องจักร และผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น

อีกส่วนหนึ่งที่พอมีทุนอยู่บ้างก็ "ซื้องานให้ตนเอง" ด้วยการลงทุนเป็นนักธุรกิจรายย่อย เช่นรับทำผมแต่งหน้า, ขายของชำ, ขายก๋วยเตี๋ยว, เข้าเมืองเป็นซาเล้ง, ขายล็อตเตอรี่, ทำรถกับข้าวตามซอย ฯลฯ

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ขายแรงงาน

ส่วนที่เหลือคือคนจนที่ไปไหนไม่รอด ยังตกค้างในชนบท มีงานทำเป็นฤดูกาลในภาคเกษตรหรือภาคอื่น ฉะนั้นรายได้จึงยิ่งต่ำ ซ้ำต้องมีชีวิตในชนบทซึ่งความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (แลกเปลี่ยนบนมาตรฐานของคุณค่าด้วย) ได้กลายเป็นความสัมพันธ์เชิงตลาด (แลกเปลี่ยนบนมาตรฐานของมูลค่าล้วนๆ) มากขึ้น ผมควรกล่าวด้วยว่า คนเหล่านี้หลุดลอยไปจากรัฐด้วย กล่าวคือรัฐเองก็เข้าไม่ถึง ในขณะที่นโยบายสาธารณะตั้งแต่ระดับตำบลขึ้นมาถึงรัฐก็ไม่ได้ผนวกเอาคนกลุ่มนี้ไว้

หากมองในแง่สังคม ชนบทไทยมีคนอยู่สองจำพวก คือคนชั้นกลางและคนจน (ไม่นับที่รวยเป็นล้านซึ่งก็มีเพิ่มขึ้นด้วย)

ผมขออนุญาตนิยาม "คนชั้นกลาง" ตามนาย Abhijit V.Banerjee และนางสาว Esther Duflo ("What is middle class about the middle classes around the world?" Journal of Economic Perspectives, 010, 012, 132) ว่าคือคนที่ใช้จ่ายวันละ 68-136 บาท ขึ้นไป นี่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างสุด และแน่นอนคนจนคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 34 บาท

เพราะมีกำลังจะใช้จ่ายได้ในจำนวนดังกล่าว จึงทำให้คนชั้นกลางในชนบทมีความคาดหวังในชีวิตคล้ายกับคนชั้นกลางในเมือง (ซึ่งจำนวนมากมีกำลังใช้จ่ายได้สูงกว่านั้นมาก) เช่นลงทุนด้านการศึกษาแก่บุตรหลานเป็นสัดส่วนสูงของรายได้, ลงทุนกับการรักษาพยาบาลสูง, เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับคนจนในชนบท แม้ว่าแตกต่างจากคนจน ก็ประสบปัญหาบางอย่างคล้ายกัน เช่นแม้ว่าเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากกว่าคนจน แต่ก็ไม่มากพอสำหรับการขยายธุรกิจ, สาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ, จำนวนมากไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน และแม้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ก็มักทำงานที่ให้รายได้ไม่มากพอจะบรรลุความคาดหวังในชีวิตได้อย่างมั่นคง เช่นกำลังที่จะส่งลูกหลานให้ได้เรียนสูงๆ ในขณะที่วิถีและลีลาชีวิตถูกอิทธิพลของคนชั้นกลางในเมืองครอบงำ ซึ่งต้องการค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และด้วยเหตุดังนั้น สัดส่วนของรายจ่ายเพื่ออาหารจึงยังสูงอยู่คล้ายคนจน

คนชั้นกลางระดับล่างสุดกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชนบทไทย ส่วนใหญ่มีรายได้จากงานจ้างและธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ แม้มีรายได้มากกว่าคนจน แต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเกี่ยวโยงกันกับนโยบายของรัฐบาล มากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติและความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ในขณะเดียวกัน วิถีชีวิตของคนชั้นกลางทำให้ได้รับข่าวสารข้อมูลมากขึ้น

ชนบทไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วนี้ ไม่มีเครื่องมือทางการเมืองที่จะเข้าไปกำหนดนโยบายสาธารณะใดๆ เขาไม่มีพรรคการเมือง, ไม่มีสื่อ, ไม่มีพื้นที่ในหมู่บ้านตำบลสำหรับการแสดงออกทางการเมือง, ฯลฯ จึงเป็นธรรมดาที่ยังต้องเกาะอยู่กับกลไกทางการเมืองแบบเดิม คือเครือข่ายหัวคะแนน (แม้กระนั้น ผมก็เชื่อว่าเนื้อหาความสัมพันธ์กับหัวคะแนนน่าจะเปลี่ยนไป น่าเสียดายที่ไม่มีการศึกษาเรื่องนี้จริงจัง) หรือการประท้วงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ส่วนคนจนที่เรียกว่า "จนดักดาน" ในหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพอใจจะอยู่ในอุปถัมภ์ของเครือข่ายหัวคะแนน แต่เพราะอยู่ใกล้ชิดกับคนชั้นกลาง ย่อมรับเอาความคาดหวังทางการเมืองของคนชั้นกลางมาไว้เป็นของตนบ้าง บางอย่างของความคาดหวังนั้นก็เป็นประโยชน์กับตนด้วย เช่นการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น หรือสาธารณูปโภคที่อาจใช้ประโยชน์ได้บ้าง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในชนบทในสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ระบบการเมืองที่ทอดทิ้งคนชนบทเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนชนบทมีสำนึกทางการเมืองระดับชาติ ซึ่งแปลว่าต้องการนโยบายสาธารณะที่ตอบรับผลประโยชน์ของตน (อย่างฉลาดหรืออย่างไม่ฉลาด เป็นหน้าที่ของพระเจ้าจะตัดสิน)

และนโยบายของพรรคไทยรักไทยเข้ามาในจังหวะนี้พอดี

ว่าที่จริงแล้ว นโยบายของ ทรท.ซึ่งกระทบต่อชนบท เช่นกองทุนหมู่บ้าน, กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา, ส่งเด็กแต่ละอำเภอไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยเงินจากหวยบนดิน, หรือแม้แต่บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ล้วนตอบสนองต่อคนชั้นกลางระดับล่างสุดในชนบททั้งสิ้น ส่วนคนจนประเภท "ดักดาน" นั้น มีเหตุหลายประการที่ทำให้เข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็เข้าไม่ถึงอย่างเต็มที่ คนจนประเภทนี้จะได้ประโยชน์จากนโยบายสาธารณะก็ต่อเมื่อนโยบายนั้นมุ่งเปิดทรัพยากรการผลิตในท้องถิ่นให้แก่เขา แต่นโยบายของ ทรท.ไม่ได้แตะส่วนนี้เลย ซ้ำยังอาจทำตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีปากมูล, กรณีจะนะ, หรือแผนการที่จะทำโฉนดทะเล

แต่คนจนประเภทนี้มีน้อยกว่า ส่วนใหญ่ไม่มีสำนึกทางการเมืองระดับชาติ และถึงอย่างไรก็ต้องอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของหัวคะแนนอยู่แล้ว

ผมคิดว่า ความนิยมอย่างท่วมท้นที่พรรค ทรท.ได้รับจากชนบทไทย เกิดขึ้นจากนโยบายเหล่านี้ ข้อนี้ใครๆ ก็รู้และพูดกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามักไม่ค่อยแยกแยะชนบทไทยว่า ที่จริงแล้วมีคนหลายชั้นอยู่ที่นั่น มีผลประโยชน์ทางสังคม-เศรษฐกิจที่สลับซับซ้อน เพราะชนบทไทยไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ผันแปรไปจากมโนภาพที่คนชั้นกลางในเมืองเคยมีไปโดยสิ้นเชิงแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น แทนที่เราจะพูดถึงชนบท เราพูดถึงส่วนภูมิภาคของไทยแทน จะยิ่งพบความสลับซับซ้อนไปกว่านั้นเสียอีก เพราะมีคนชั้นกลางที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เกินวันละ 136 บาทเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งในส่วนที่เป็นเมืองและส่วนที่เป็นชนบท (มากหรือน้อยก็ตาม) ตัวเลขของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบคนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา 13 ประเทศทั่วโลก (ที่อ้างข้างต้น) ประมาณกำลังการบริโภคของคนชั้นกลางกลุ่มนี้ต่อวันที่ 204-340 บาท นโยบายสาธารณะที่คนกลุ่มนี้ต้องการอาจไม่ตรงกับคนชั้นกลางระดับล่างสุดที่กล่าวแล้ว และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ได้นิยมชมชอบพรรค ทรท.อย่างเหนียวแน่นนัก อาจแปรเปลี่ยนความนิยมไปได้ตามข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ เช่นจำนวนมากในปัจจุบันรับ ASTV และรวมกลุ่มกันเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ฐานเสียงที่แน่นหนาของพรรค ทรท.คือ คนชั้นกลางระดับล่างสุด ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนชั้นอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทรท. (หรือพรรคอื่นที่เข้ามาผลักดันนโยบายแทน) จึงมีโอกาสชนะการเลือกตั้งเสมอ ชนบทจึงส่ง ส.ส.จำนวนมากที่สุดเข้ามาเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ส่งส.ส.จากหลายพรรคเป็นเบี้ยหัวแตกอย่างที่เคยเป็นมา สภาพเช่นนี้ทำให้อำนาจในการควบคุมการเมืองของคนชั้นกลางตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมือง หมดไปโดยปริยายที่เคยล้มรัฐบาลได้ตามใจ ก็ไม่อาจทำได้อีกต่อไป

ผมคิดว่าจำเป็นต้องขยายความเรื่องคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน และอำนาจทางการเมืองซึ่งเคยมีแต่หายไปนี้ไว้ด้วย แต่เนื่องจากเนื้อที่ของผมหมดลงแล้ว จึงขออภัยอย่างสูงที่ต้องเก็บเรื่องนี้ไว้คุยต่อในตอนต่อไป



หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 20-09-2008, 16:49
การปรับระบบการเมือง (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11132 มติชนรายวัน
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01010951&sectionid=0130&day=2008-09-01

ครั้งที่แล้วผมพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในชนบทไทยที่ผ่านมาในรอบ 3 ทศวรรษ ซึ่งทำให้ประชากรส่วนใหญ่กลายเป็นคนชั้นกลาง แม้เป็นคนชั้นกลางระดับล่างสุดก็ตาม คนเหล่านี้บวกกับคนจนคือผู้ที่เลือกพรรค ทรท.เพราะนโยบายของพรรค และยังภักดีต่อคุณทักษิณ ชินวัตร อย่างเหนียวแน่นสืบมา

คราวนี้ผมขอนำเสนอความเปลี่ยนแปลงในเขตเมือง หรือกลุ่มคนชั้นกลางซึ่งมีความสามารถจะบริโภคเกินวันละ 136 บาทขึ้นไป

ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้อยู่ในเมือง แม้ว่าในเมืองก็มีคนชั้นกลางระดับล่าง (บริโภคได้ไม่เกินวันละ 68-136 บาท) และคนจน (รายได้ไม่เกิน 34 บาทต่อวัน) อยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่คนชั้นกลางระดับล่างและคนจนในเขตเมือง ขาดการจัดตั้งที่จะทำให้สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ จึงทำให้เสียงทางการเมืองของเขาไม่ค่อยมีความหมายมากนัก ยกเว้นมีกรณีหรือเหตุการณ์พิเศษบางครั้งเท่านั้น

เขตเมืองในประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทศวรรษท้ายนี้ ในปัจจุบัน ประชากรไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง (ไม่ว่าจะนิยามอย่างไร) นอกจากนี้ คนชั้นกลาง (ในทุกระดับรายได้และรายจ่าย)ก็เพิ่มขึ้นในเขตเมืองของไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติในการพัฒนาและการขยายตัวของเมือง

คนชั้นกลางในเขตเมืองคือ ผู้ที่ได้รับผลโดยตรงจากการขยายตัวของประชาธิปไตย นับจาก 14 ตุลาคม เป็นต้นมา ในขณะเดียวกันก็ได้รับข่าวสารข้อมูลเพิ่มขึ้นพร้อมกันไปกับการขยายตัวด้านการศึกษา เป็นลูกค้าสำคัญของสื่อระดับชาติ จึงเป็นธรรมดาที่คนชั้นกลางเหล่านี้ตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าคนกลุ่มอื่นใด มีสำนึกถึงความเชื่อมโยงในระดับสากล หรือที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์มาก จึงชื่นชมมาตรฐานแบบฝรั่งทั้งในทางสังคมและการเมืองมากตามไปด้วย มองพี่น้องในชนบทว่ายากจนไร้การศึกษา จึงสมควรแก่นโยบายสาธารณะประเภทสาธารณกุศล คือช่วยเขาหรือช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ แต่การที่จะให้คนในชนบทลุกขึ้นมาใช้สิทธิทางการเมือง เพื่อร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยนั้น อยู่นอกเหนือมโนภาพของคนชั้นกลางในเขตเมือง

แม้มีพรรคการเมืองที่เกาะความนิยมของคนกลุ่มนี้อยู่บ้าง แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ปลอดจากเครือข่ายหัวคะแนนโดยสิ้นเชิง จึงไม่อาจดำเนินนโยบายรองรับความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้เต็มร้อย

อย่างไรก็ตาม คนชั้นกลางในเขตเมืองสามารถสร้างแรงกดดันทางการเมืองได้สูง จึงมิได้เป็นผู้ล้มรัฐบาลอย่างเดียว ที่จริงแล้วคนชั้นกลางในเขตเมืองเป็นผู้ตั้งรัฐบาลด้วย โดยอาศัยเครื่องมือที่ส่งมาจากต่างจังหวัด นั่นก็คือ ส.ส.ซึ่งสังกัดหลายพรรคเป็นลักษณะเบี้ยหัวแตก รัฐบาลมาจากการรวมตัวกันจัดตั้งของหลายพรรคการเมือง ฉะนั้น แม้ว่าคนชั้นกลางในเขตเมืองไม่สามารถเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะนั่นเป็นผลจากคะแนนเสียงจากชนบท แต่คนชั้นกลางในเขตเมืองสามารถกำหนดว่าใครควรเป็นรัฐมนตรีได้บ้างระดับหนึ่ง รวมทั้งกำหนดขอบเขตการกระทำและนโยบายของนายกฯ ได้ในระดับสูง

ในระบบการเมืองแบบเดิมนั้น คนชั้นกลางในเขตเมืองกดดันมิให้นายกฯ ซึ่งไม่ได้มาจากคะแนนเสียงเลือกตั้งของตน ไม่กล้าตั้งยี้เป็นรัฐมนตรี หรือไม่กล้าให้ยี้บางคนคุมกระทรวงใหญ่เช่นมหาดไทย ในขณะเดียวกันก็ระแวดระวังว่ากระทรวงสำคัญ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจต้องมีคนที่มีฝีมือตามมาตรฐานของคนชั้นกลางในเขตเมืองเป็นผู้ดูแล

และอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว หากไม่พอใจก็ยังรวมพลังกันกดดันจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้

การที่คุณทักษิณ ชินวัตร และพรรค ทรท.เข้ามาตอบสนองความคาดหวังและความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท (เพื่อประโยชน์ของคนเหล่านั้น หรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคุณทักษิณและพรรคก็ตาม) ทำให้พรรค ทรท.ได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นมาตั้งแต่แรก แม้ยังไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ก็ทำลายอำนาจต่อรองทางการเมืองของพรรคอื่นลงจนหมดสิ้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทำลายอำนาจการตั้งและล้มรัฐบาลของคนชั้นกลางในเขตเมืองลงไปจนสิ้นเชิง

คุณทักษิณตั้งยี้เป็นรัฐมนตรีได้ตามใจชอบ เพราะใครคือยี้ คุณทักษิณเป็นคนชี้เพียงผู้เดียว ยี้ของคุณทักษิณกับยี้ของคนชั้นกลางในเขตเมืองจึงไม่ตรงกันอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านี้ คุณทักษิณยังสามารถแต่งตั้งคนของคุณทักษิณเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งตามรัฐธรรมนูญเช่น กกต.หรือที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเช่น ก.ล.ต.ก็ได้อีกด้วย ยังไม่นับการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ฟังเสียงของคนชั้นกลางในเขตเมืองน้อยลง

พันธมิตรของคุณทักษิณในเขตเมืองมีอยู่กลุ่มเดียว คือคนชั้นกลางระดับบนสุด-นักธุรกิจ, อุตสาหกร, นักลงทุน-แต่ความเป็นพันธมิตรนี้ก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งก็แตกออกมา กลายเป็นผู้สนับสนุนปรปักษ์ของคุณทักษิณ ทั้งสนับสนุนในที่ลับและที่แจ้ง จะอธิบายความแตกร้าวนี้จากแง่มุมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ได้ แต่ในที่นี้ผมอยากชี้ไว้ด้วยว่าคนเหล่านี้เคยใช้อำนาจเงินของตัวในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้มาก แต่ภายใต้คุณทักษิณกำหนดได้น้อยลง และในบางกรณีอาจต้องเป็นผู้รอรับผลประโยชน์ตามมีตามเกิดจากนโยบายที่คุณทักษิณและพรรคพวกกำหนดขึ้นเอง

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจของไทยในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ระบบการเมืองที่เคยอำนวยเสถียรภาพระดับหนึ่งไม่สามารถทำงานอย่างเดิมต่อไปได้แล้ว แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งผมถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในรอบศตวรรษของไทย ก็ไม่อาจเข้ามารองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เพียงพอ ประเทศไทยจึงเข้ามาอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง นั่นก็คือระบบการเมืองต้องปรับตัวให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจนี้ได้ จนอำนวยเสถียรภาพในระดับหนึ่งให้แก่การเมืองไทย... ผู้คนต้องคาดหวังได้ว่า พรุ่งนี้จะเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้นทางการเมือง เขาควรลงทุนในธุรกิจของเขาหรือไม่ ตลอดจนซื้อน้ำปลาตุนไว้กี่ขวดดี

เสถียรภาพทางการเมืองที่ระบบการเมืองแบบเดิมเคยอำนวยให้ได้นั้น สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็ตรงกับที่นักวิชาการเรียกว่า? วัฏจักรแห่งความชั่วร้ายทางการเมือง นั่นคือเลือกตั้งใหญ่ ฟอร์มรัฐบาลหลายพรรคที่อยู่ภายใต้การกำกับของคนชั้นกลางในเขตเมือง รัฐบาลนั้นเสื่อมความนิยมลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เปลี่ยนรัฐบาลด้วยการชุมนุมขับไล่บนท้องถนนและสื่อหรือทหารยึดอำนาจ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่...

แม้ดูจากตัวรัฐบาลอาจมองไม่เห็นเสถียรภาพ แต่หากมองจากแง่ความสามารถในการคาดการณ์ทางการเมือง ก็จะพบว่า ทุกคนพอจะคาดได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากการเปลี่ยนรัฐบาล พร้อมจะลงทุนก็ลงทุนต่อไป เคยซื้อน้ำปลากี่ขวดก็ซื้อเท่านั้นต่อไป

เสถียรภาพทางการเมืองอย่างนี้แหละครับที่สูญสิ้นไป เมื่อสังคม-เศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนไปแล้ว

บัดนี้ เรากำลังเผชิญกับความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท (และในเมืองด้วย) และความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเขตเมือง ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร และทั้งสองฝ่ายต่างมีสำนึกถึงความจำเป็นในวิถีชีวิตที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ (ชาวนาใช้ควายตัวเก่าในการไถนา แต่แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวต้องใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวและกระดูกหมูในการเคี่ยวน้ำซุป ความผันผวนของราคาวัตถุดิบมาจากนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับข้าวและหมู) ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุระบบการเมือง ที่เปิดให้การมีส่วนร่วมของตนเป็นไปได้ในระดับที่ต่างฝ่ายต่างพอใจ (แม้อาจไม่เท่าเทียมกัน) การเมืองไทยก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกอย่างที่เราเผชิญอยู่เวลานี้

(ประชาธิปไตยแบบ 70/30 คือการรักษาอำนาจถ่วงดุลของคนชั้นกลางในเขตเมือง ในขณะที่ข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารว่าไม่ชอบธรรม, ไม่เที่ยงธรรม, หรือมีที่มาผิดกฎหมาย, และยืนยันในสิทธิเลือกตั้งที่เท่าเทียม ฯลฯ คือความพยายามแทรกเข้ามาในการกำหนดนโยบายสาธารณะของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท)

และหากปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงปะทะกัน (ในที่ลับหรือที่แจ้งก็ตาม) เลือดจะท่วมท้องช้าง และร้ายไปกว่านั้นก็คือ เลือดที่ท่วมท้องช้างจะไม่นำเราไปสู่อะไรสักอย่างเดียว นอกจากความสูญเสีย

ระบบการเมืองจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้?

ผมควรบอกเสียแต่ต้นว่า ผมตอบไม่ได้ แต่อยากเตือนอะไรไว้สองอย่าง

1/ การปรับตัวของระบบการเมืองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากความคิดของนักปราชญ์เท่ากับการคลี่คลายของสถานการณ์ไปตามครรลองของมัน กว่าจะลงตัวได้ ซึ่งหมายถึงหลากหลายกลุ่มในสังคมยอมรับ แต่กว่าจะลงตัวได้นั้น บางครั้งก็ต้องผ่านการนองเลือด, การยึดอำนาจ, การชะงักงันเป็นเวลานานๆ, การวุ่นวายทางการเมือง, การตกลงประนีประนอม (ซึ่งไม่มีใครได้อะไรเต็มร้อย ทำใจไว้ด้วยว่า win-win situation ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในสถานการณ์เช่นนี้) เราได้แต่พยายามช่วยกันไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นในกระบวนการปรับตัวเท่านั้น

2/ การปรับตัวของระบบการเมืองใช้เวลานานกว่าจะลงตัว และอำนวยเสถียรภาพทางการเมืองได้ หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่า นับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 ความไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เริ่มคุกรุ่นขึ้นแล้ว แต่กว่าจะเกิดปฏิวัติ 2475 ก็ต้องใช้เวลากว่าสองทศวรรษ แม้เมื่อเกิดการปฏิวัติแล้ว การเมืองก็ยังไม่ "นิ่ง" จนสืบมาอีกหลายปีทีเดียว

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่นโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำมาก็ไม่ก่อให้เกิดการปรับระบบการเมืองจนถึง 14 ตุลาคม 2516 และหลังจากนั้นก็ยังเกิดการนองเลือดและขัดแย้งกันสืบมาจนถึงกลางทศวรรษที่ 2520 ระบบการเมืองไทยจึงปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงให้ลงตัวได้ในระดับหนึ่ง (ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่พรรคการเมืองตั้งรัฐบาลที่ต้องมีนายกฯ ซึ่งกองทัพสนับสนุน) ใช้เวลาร่วม 20 ปี

การปรับตัวของระบบการเมืองในครั้งนี้ คงไม่เร็วไปกว่านั้น

แม้ว่าเราอาจทำอะไรไม่ได้มากในกระบวนการปรับตัวของระบบการเมือง แต่เราพอทำอะไรได้บ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงความเลวร้ายของกระบวนการปรับตัว เช่นการปะทะกันจนนองเลือดเป็นต้น และในส่วนนี้แหละครับที่ผมมีข้อเสนอว่า สังคมไทยควรร่วมมือกันทำอะไรได้บ้าง

แต่พื้นที่ของผมหมดไปอีกแล้ว จึงขออภัยที่ต้องนำเสนอในครั้งต่อไป รวมทั้งขออภัย บ.ก.ด้วยที่กำลังทำให้มติชนกลายเป็นสกุลไทยไป


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 20-09-2008, 16:51
การปรับระบบการเมือง (3)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11139 มติชนรายวัน
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01080951&sectionid=0130&day=2008-09-08


ครั้งที่แล้ว ผมพูดถึงการเติบโตของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง ปัญหาทางการเมืองของพวกเขาก็คือ อำนาจที่เคยมีในการควบคุมการเมืองระดับชาติได้หมดไปโดยสิ้นเชิง (เหลือเท่ากับคนในชนบท) เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรค ทรท.ได้คะแนนเสียงท่วมท้น เพราะตอบรับความเปลี่ยนแปลงในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่างไปแล้ว

ระบอบรัฐธรรมนูญ (ที่เริ่มด้วยรัฐธรรมนูญ 2540) ซึ่งพวกเขามีส่วนในการผลักดันอย่างแข็งขัน กลับดึงเอาอำนาจทางการเมืองที่พวกเขาเคยมีไปจากเขาเสีย เบื้องหน้าคือความไม่แน่นอนในนโยบายสาธารณะต่างๆ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเขาอีกแล้ว แม้แต่โกงกินอย่างโจ่งแจ้ง (คนชั้นกลางในเขตเมืองไม่ได้รังเกียจการคอร์รัปชั่น แต่รังเกียจความโจ่งแจ้ง เพราะเท่ากับท้าทายอำนาจของพวกเขาโดยตรง) เสียงก่นด่าของเขาก็ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลอีกต่อไป ตราบเท่าที่รัฐบาลนั้นยังสามารถรักษาเสียงของชนบทไว้ได้

ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจความว้าวุ่นใจของคนชั้นกลางในเขตเมืองปัจจุบันให้ดี มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีความเห็นใจเหลือสำหรับข้อเรียกร้องและการสร้างสายสัมพันธ์ทางการเมืองของเขาในช่วงนี้

พวกเขากลายเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่ายที่มีผลประโยชน์เหนียวแน่นอยู่ในระบบการเมืองแบบเดิม กับทหารซึ่งพวกเขาเคยลุกขึ้นมาสู้เพื่อลดอำนาจของกองทัพในการเมืองลงมาแล้ว กับฝ่ายจารีตนิยมซึ่งเขาเคยแอบซุบซิบเสียดสีมาก่อน กับฝ่ายตุลาการ กับนายทุนนักธุรกิจบางกลุ่ม หรือแม้แต่กับระบบราชการซึ่งพวกเขาเคยเห็นว่าไร้สมรรถภาพและได้แต่เป็นเครื่องมือของนักการเมือง

ในด้านอุดมการณ์ เขาไม่ต้องการ (หรือบางคนอ้างว่า "ยัง" ไม่ต้องการ) ให้ประชาธิปไตยไทยขยายตัวมากไปกว่านี้ พวกเขาไม่ไว้ใจกระบวนการของประชาธิปไตย หวาดระแวงว่ากระบวนการนั้นย่อมทำลายสถานะของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "ปฏิรูปการเมือง" กลายเป็นคำขวัญและคำปลุกใจของพวกเขา แต่ก็ไม่มีข้อเสนอใดๆ นอกจาก "การเมืองใหม่" ซึ่งผู้นำพันธมิตรเป็นผู้เสนอ พวกเขาหยาบหยามความเสมอภาคทางการเมืองอย่างออกหน้า

ผมมองทั้งหมดเหล่านี้ว่ามาจากความสับสนว้าวุ่นใจอย่างหนัก เพราะโดยธรรมชาติของคนชั้นกลางแล้ว ยากที่เขาจะเป็นพันธมิตรที่ถาวรกับกองทัพ หรือฝ่ายจารีตนิยมซึ่งส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความไม่เสมอภาคตลอดมา ซ้ำเก็บเกี่ยวในลักษณะที่กระทบต่อพวกเขาด้วย (เช่น ถูกไล่ที่สร้างศูนย์การค้า) ในขณะเดียวกันพวกเขาก็อยากเห็นการพัฒนาทุนนิยมไทยให้มีความเป็นธรรมและโปร่งใสมากขึ้น ... ในโลกที่ไร้ความเสมอภาค พวกเขาไม่ได้อยู่ข้างบน

นอกจากนี้ พวกเขายังสำนึกถึงความผูกพันระหว่างสังคมไทยและสังคมโลก การเผชิญหน้าทางการเมืองที่ต้องกินเวลานานๆ เช่นนี้ ย่อมกระทบต่อการท่องเที่ยว, หรือแม้แต่การพึ่งพาตลาด, ทุน และเทคโนโลยีจากต่างชาติในระยะยาวอย่างแน่นอน และทั้งหมดเหล่านั้นคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพวกเขา

อารมณ์ของคนชั้นกลางในเขตเมืองที่เราเห็นจึงเป็นสภาวะชั่วคราว การเรียกร้องทางการเมืองที่สุดโต่งเช่นนั้น ขัดกับธรรมชาติของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสงบไปเองเมื่อเวลาผ่านไป เพราะระบบการเมืองที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นมาก่อน อันจะทำให้การแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท และคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเขตเมือง เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายได้

ในท่ามกลางความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม-เศรษฐกิจเช่นนี้ คู่ขัดแย้งไม่ได้มีเพียงพันธมิตร กับ นปช.หรือพรรค พปช. นี่เป็นเพียงผิวนอกของปรากฏการณ์เท่านั้น (น่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็น "นอมินี" ของอะไรอื่นที่เป็นความคาดหวังของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งหลากหลายมากทั้งคู่-ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ตราบเท่าที่ระบบการเมืองยังไม่ปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ ความขัดแย้งถึงขั้นบาดหมางจนนำไปสู่ความรุนแรงย่อมเกิดขึ้นได้

และดังที่กล่าวแล้ว ผมไม่คิดว่าเราสามารถเสนอการปรับระบบการเมืองให้เป็นอย่างไรได้โดยอัตโนมัติ เพราะการปรับระบบการเมืองของทุกสังคมย่อมเกิดขึ้นจากปัจจัยที่สลับซับซ้อน ต้องอาศัยการต่อสู้, ต่อรอง, รณรงค์, ประท้วง, ขัดขืน (อย่างอารยะหรือไม่ก็ตาม), ปราบปราม, และอาจเป็นความรุนแรง ของกลุ่มต่างๆ จำนวนมากในสังคม กลุ่มนั้นได้นิด กลุ่มนี้เสียหน่อย แต่ไม่มีกลุ่มใดได้เต็มตามความคาดหวังหรือความอยาก สถานะเดิมของระบบเปลี่ยนไป จนกว่าระบบการเมืองที่เหมาะสมจะบังเกิดขึ้น การเมืองจึงจะเริ่ม "นิ่ง" ในกติกาใหม่ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ว่าอย่างเต็มใจหรือจนใจ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราทำอะไรไม่ได้เสียเลย อย่างน้อยผมคิดว่าเราน่าจะสามารถช่วยกันป้องปรามการใช้ความรุนแรงได้ และแม้ว่าสังคมไทยอาจแตกแยกกันอย่างหนักในช่วงนี้ อย่างน้อยก็มีฉันทามติร่วมกันว่า เราต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากความเห็นที่สอดคล้องกันของหลายกลุ่มเมื่อเกิดการปะทะกันจนถึงชีวิตระหว่างพันธมิตร และ นปช.

และส่วนนี้แหละครับที่เราต้องช่วยกันคิดว่า เราสามารถตระเตรียมอะไรได้อีกบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง มิฉะนั้นแล้ว เราจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงความรุนแรงหลังจากเลือดตกยางออกจนถึงเสียชีวิตกันอีกหลายครั้ง

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอของผมว่า เรา-สังคมไทย-ทำอะไรได้บ้าง

ระยะสั้น

1/ เพื่อให้คนชั้นกลางในเขตเมืองเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องทำให้พวกเขาวางใจได้ว่าการตรวจสอบฝ่ายบริหาร (ทุกระดับ-ซึ่งต้องรวมข้าราชการทุกประเภทด้วย) อาจทำได้อย่างเข้มข้น จำเป็นต้องสร้างกลไกการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้อย่างไรก็พึงทำ ในขณะเดียวกัน ต้องเปิดให้กระบวนการตรวจสอบอาจเริ่มต้นจากประชาชนได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ฝ่ายคนชั้นกลางระดับล่างและกลางขึ้นไป

ส่วนหนึ่งของความว้าวุ่นใจของคนชั้นกลางในเขตเมืองขณะนี้ มาจากความพยายามของพรรค พปช.ในการทำสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าลดทอนประสิทธิภาพของการตรวจสอบ หรือทำให้การตรวจสอบไม่บรรลุผล เช่น ความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ การท้าทายความชอบธรรมของคณะกรรมการตรวจสอบบางชุด, การอ่านรัฐธรรมนูญให้อำนาจตรวจสอบของรัฐสภาลดลง, ฯลฯ

ในระยะหลังนี้ ศาลได้เข้ามามีบทบาทด้านการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติด้วยเช่นกัน และทำความพอใจให้แก่คนชั้นกลางในเขตเมืองมาก ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างไม่ต่อต้านคัดค้าน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ในระยะยาวแล้ว จำเป็นต้องมีกระบวนการแบ่งแยกถ่วงดุลระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติที่ชัดเจนและสมดุลกว่านี้ แต่ประเด็นนี้ยังไม่ใช่โอกาสที่จะยกขึ้นมาในช่วงนี้

2/ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประท้วงของฝ่ายพันธมิตร เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบ สิทธิการประท้วงในที่สาธารณะ (ที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นจนเกินไป) จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องประกันให้คงอยู่ตลอดไป แต่การประท้วงในพื้นที่สาธารณะทำได้หลายลักษณะ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการปิดถนนยึดสนามบินเสมอไป ฉะนั้นจึงควรประกันเสรีภาพในด้านนี้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะใน "สื่อ" ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อตามประเพณี, สื่อทางเลือกรวมทั้งสื่อวิทยุชุมชน, สื่อบนพื้นที่ไซเบอร์, สื่อแจก, และพื้นที่ทางกายภาพต่างๆ (เช่น วัด, ศาลาประชาคม, ทางเท้า, ป้ายโฆษณา, ใบปลิว ฯลฯ)

หลักประกันเสรีภาพในด้านนี้ นอกจากกฎหมายที่เปิดให้แก่เสรีภาพอย่างเต็มที่แล้ว ต้องหมายถึงสมรรถภาพของสื่อเองด้วย จำเป็นต้องถ่วงดุลระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจกับหน้าที่ของสื่อให้ดี

ตรงกันข้ามกับการประกันเสรีภาพ ในระยะ 4-5 ปีมานี้ เสรีภาพของสื่อกลับถูกคุกคามมากขึ้น แม้แต่รัฐบาลและสภาที่มาจากการรัฐประหาร ก็กลับออกกฎหมายควบคุมและคุกคามเสรีภาพของสื่อเสียเอง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น (นอกจากประเทศไทยโชคร้ายที่เกิดรัฐประหารขึ้นใน พ.ศ.2549 แล้ว ประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไร้เดียงสาเท่ากับรัฐบาลที่การรัฐประหารใน พ.ศ.2519 นำมาให้ เป็นเวลาประมาณ 1 ปีเหมือนกัน)

3/ ความโปร่งใสของฝ่ายบริหาร (ซึ่งรวมระบบราชการด้วย) มีความจำเป็น นอกจากกฎหมายสิทธิในข้อมูลข่าวสารของทางราชการแล้ว (ซึ่งควรปรับปรุงให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น) อันที่จริงสถานะของประเทศไทยในโลก ย่อมมีความลับของทางราชการน้อยมากอยู่แล้ว สิ่งใดที่อ้างว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นความลับ ควรถูกตรวจสอบจากสถาบันอื่นๆ นอกจากคณะกรรมการข่าวสารข้อมูลด้วย เช่นกรรมาธิการของรัฐสภา เป็นต้น

4/ ประเด็นของความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ควรถูกเปิดออกให้ทั่ว อย่าปล่อยให้มีการจำกัดประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น เช่นประเด็นเขาพระวิหาร นอกจากมิติที่ฝ่ายพันธมิตรยกขึ้นมาแล้ว ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วย) อีกมาก ซึ่งสื่อทุกประเภทล้มเหลวที่จะสะท้อนมิติเหล่านี้ออกมา เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองไม่สมประกอบแล้ว ยังมีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาเลย

นอกจากนี้เรายังมีปัญหาอื่นๆ ที่สังคมควรมีโอกาสได้ช่วยกันคิดและวางนโยบายอีกมาก เช่น นโยบายพลังงาน, นโยบายสร้างดุลยภาพในความสัมพันธ์กับจีนซึ่งทำความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านโดยไม่ใส่ใจ, นโยบายข้าว, น้ำตาล, น้ำมันพืช, ฯลฯ, นโยบายการขนส่งสินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ประเด็นปัญหาเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาเลย ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องของสองขั้ว

นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถามผมว่า ทำอย่างไรจึงจะให้สองฝ่ายคือพันธมิตรกับรัฐบาลได้จับเข่าคุยกัน ผมถามเขาว่า แล้วคุณไม่อยากยื่นเข่าไปให้เขาจับคุยกันบ้างหรือ พวกเราทั้งหมดหายไปไหน เราก็มองเห็นปัญหาอื่นๆ อีกมากที่ถ้าการจับเข่าคุยกันได้ผล เราก็อยากยื่นเข่าและมือไปให้เขาจับและจับเขาเหมือนกัน

สังคมไทยทั้งสังคมนั้นแทนได้ด้วยพันธมิตร และ พปช.เท่านั้นหรือ? การสร้างญัตติสาธารณะควรเป็นอำนาจและโอกาสของคนทุกกลุ่มไม่ใช่หรือ?

ผมตั้งใจจะให้จบเรื่องในตอนนี้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกนั่นเอง ขออภัยทั้งผู้อ่านและ บ.ก.เป็นอย่างสูง ขอต่อในฉบับหน้าว่าด้วยเรื่องเรา-สังคมไทย-พึงทำอะไรได้อีกบ้างในระยะยาว



หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 20-09-2008, 16:53
การปรับระบบการเมือง (4)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01150951&sectionid=0130&day=2008-09-15

ครั้งที่แล้ว ผมพูดถึงสิ่งที่สังคมไทยพอทำได้ในระยะสั้น ครั้งนี้ผมขอต่อว่าเราทำอะไรในระยะยาวได้บ้าง เพื่อช่วยให้การปรับระบบการเมืองเป็นไปได้โดยราบรื่นมากขึ้น

ระยะยาว

1.ในช่วงที่สถานการณ์จะยังไม่สงบและ "นิ่ง" ไปอีกหลายปีข้างหน้า ผมคิดว่าไม่มีอะไรสำคัญกว่ากฎหมายและการเคารพกฎหมาย เพราะการประท้วงและความขัดแย้งคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ในขณะที่กฎหมายก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งในทางสุจริตและฉ้อฉลจากหลายๆ ฝ่ายด้วย ฉะนั้น อำนาจตุลาการจะต้องรักษาความเคารพเชื่อฟังที่ประชาชนมีต่อสถาบันในเวลานี้ไว้ให้มั่นคง

ประชาชนจะเคารพกฎหมายได้ ก็ต้องทำกฎหมายให้มีความชอบธรรมด้วย ฉะนั้นกฎหมายใดที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกฎหมายใดที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจวินิจฉัยไปตามใจชอบ ต้องยกเลิกหรือแก้ไขให้เป็นหลักประกันที่ปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ในอันที่จะใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้เต็มที่ ภายใต้กฎหมาย

และดังที่มีผู้เสนอไว้หลายท่านแล้ว หากแกนนำพันธมิตรเข้าใจถึงภาวะล่อแหลมที่สังคมไทยจะต้องเผชิญต่อไปข้างหน้า แกนนำที่ถูกออกหมายจับ จงได้มอบตัวสู้คดีในศาลเสียโดยเร็ว การหลบอยู่หลังม็อบจะให้แบบอย่างที่มีภัยอย่างร้ายแรงต่อการปรับระบบการเมืองโดยราบรื่นในอนาคต แม้การใช้กฎหมายของฝ่ายรัฐบาลในการตั้งข้อหาจะเป็นไปโดยไม่สุจริตก็ตาม (กระบวนการอุทธรณ์หมายจับ คือมอบตัวก่อน ยิ่งไม่มอบตัวยิ่งพิสูจน์ว่าหมายจับนั้นชอบธรรม - นี่ไม่ใช่โอกาสของการเล่นโวหาร)

2.เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังในชีวิตของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท ประเทศไทยควรปรับตัวเข้าสู่รัฐสวัสดิการระดับใดระดับหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดก็คือแผนงานสุขภาพถ้วนหน้าต้องทำต่อ และต้องทำต่ออย่างได้ผลด้วย กล่าวคือทุกคนที่ต้องการจะสามารถเข้าถึงบริการได้ และต้องเป็นบริการที่มีคุณภาพทัดเทียมกับบริการซึ่งผู้รับยอมจ่ายเงิน ส่วนการบริหารจัดการให้เกิดขึ้นจะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมา และความเชี่ยวชาญของบุคคลสามารถร่วมกันร่างขึ้นเพื่อให้สังคมพิจารณาได้

สวัสดิการอีกด้านหนึ่งคือ การศึกษา จะต้องทำให้การเรียนฟรี 12 ปีเป็นจริงในทางปฏิบัติให้ได้ การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการขอรับทุนเรียนจะต้องพัฒนาขึ้นใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยไม่เปิดช่องให้เป็นประโยชน์แก่การทำธุรกิจการศึกษาตักตวงเอาไปฝ่ายเดียวอย่างที่ผ่านมา

ในส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งกลายเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไปแล้ว จะต้องขยายโครงการประกันสังคมให้ครอบคลุมจนทั่วถึง ส่วนจะแบ่งสรรภาระการจ่ายกันอย่างไร ต้องตกลงต่อรองกันในภายหน้า และด้วยเหตุดังนั้น จะต้องเพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานให้มั่นคงมากขึ้น (อย่างน้อยก็ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับแรงงานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ - ILO - อีกสองฉบับ ซึ่งไทยยังไม่ยอมลงนาม) ในขณะเดียวกันต้องพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างเร่งด่วน และหามาตรการที่จะทำให้แรงงานที่มีฝีมือ (ซึ่งต้องปรับระบบการให้ประกาศนียบัตรที่สอดคล้องกับความเป็นจริง) ได้ค่าแรงสูงขึ้นกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

ยังมีคนชั้นกลางอีกมากที่อยู่ในภาคการเกษตร จะต้องหามาตรการที่ได้ผลในการรองรับความผันผวนของราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเป็นการประกันราคาเพียงอย่างเดียว

"ประชานิยม" แบบทักษิณคือ การโปรยทาน ถ้าไม่ชอบ ก็ต้องทำให้การมีชีวิตที่ดีขึ้นเป็น "สิทธิ" และต้องเป็นสิทธิที่เป็นจริงด้วย แก่คนจนและคนชั้นกลางระดับล่างอย่างกว้างขวาง

3.ช่องว่างของความไม่รู้จักกันระหว่างคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท และคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเมืองมีสูงอย่างน่าตกใจ มโนภาพที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกันส่วนใหญ่มาจากละครทีวี ซึ่งไม่เป็นความจริงด้วยประการทั้งปวง คนบ้านนอกไม่ได้จนและโง่อย่างที่คนในเมืองเข้าใจ และคนในเมืองก็ไม่ได้สุขสบายเหมือนพระเอกนางเอกอย่างที่คนบ้านนอกเข้าใจ ต่างฝ่ายต่างมีปัญหาและอุปสรรคในชีวิตที่พ้นออกไปจากจินตนาการของอีกฝ่ายหนึ่ง การศึกษาไทยต้องสอนความจริงให้มากขึ้นกว่านี้มาก และสื่อทั้งอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ต้องให้ความสนใจผู้คนมากกว่าศาลากลางหรือบ้านทรายทอง

4.ควรเปิดโอกาสให้พลังและสมรรถนะของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเมือง ซึ่งสามารถจัดองค์กรได้ง่าย มีอำนาจในการตรวจสอบเชิงนโยบายด้วย นอกจากตรวจสอบตัวนักการเมืองซึ่งมีในรัฐธรรมนูญแล้ว เช่นนโยบายบางประการ (รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการในองค์กรของรัฐ) อาจถูกชะลอลงได้สัก 3-6 เดือน หากมีรายชื่อผู้ประท้วงเสนอให้ชะลอไว้ก่อนถึง 500,000 คนขึ้นไป ระหว่างนั้นคนชั้นกลางในเมืองก็อาจรณรงค์ผ่านสื่อและอื่นๆ เพื่อชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของนโยบายนั้นๆ ได้ และในทุกกรณีที่มีการชะลอนโยบาย จะทำต่อได้ใหม่ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน

เรื่องนี้สอดคล้องกับมาตรการระยะสั้นที่ผมเสนอไปแล้ว นั่นก็คือทำอย่างไรจึงจะให้การประท้วงของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเมืองมีลักษณะเป็นสถาบันมากขึ้น แทนที่จะต้องออกไปทำกันในท้องถนนทุกครั้งไป ฉะนั้น นอกจากการตรวจสอบนโยบายโดยตรงแล้ว น่าจะมีช่องทางอื่นๆ อีกมากที่เปิดให้พลังและสมรรถนะของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปสามารถตรวจสอบการบริหารด้านอื่นๆ โดยตรงได้อีก และทำให้มีลักษณะเป็นสถาบันเช่นเดียวกัน

5.เราอาจทำการเมืองในระบบให้มีความโปร่งใส (ตรวจสอบได้) ให้มากกว่าที่เป็นอยู่หลายอย่าง เช่นการลงคะแนนเสียงของผู้แทนฯ จะต้องมีบันทึกและเปิดเผยได้เสมอ องค์ประชุมของสภาต้องถือกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่จริง ไม่ใช่กึ่งหนึ่งของผู้มาประชุม ทั้งหมดนี้เพื่อให้การกดดัน ส.ส.ประจำเขตเลือกตั้งของตนมีผลจริง

ลองคิดดูเถิดครับ คงมีอะไรที่น่าจะปรับปรุงได้อีกมากกว่านี้แยะทีเดียว จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อให้ผู้แทนฯอยู่ภายใต้การกำกับของประชาชนผู้เลือกเขามา ยิ่งกว่าพรรคหรือเงิน

6.สร้างสถาบันหรือองค์กรที่จะเปิดให้เสียงของคนชั้นกลางระดับล่าง (และคนจน) รวมทั้งคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปสามารถสะท้อนออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ จะเป็นสภาเกษตร, สมาคมผู้ใช้น้ำ, สมัชชาผู้ฟัง-ผู้ชมสื่ออิเล็กทรอนิกส์, สภาผังเมืองประจำเขต ฯลฯ ในขณะเดียวกันต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไป (ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ) เข้าไปนั่งในคณะกรรมการอิสระทั้งหลายมากขึ้น เช่น กสท., คณะกรรมการข่าวสารข้อมูลของรัฐ, คณะกรรมการป่าชุมชนระดับชาติ (หากจะมีกฎหมายดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้), คณะกรรมการของกระทรวงต่างๆ, คณะกรรมการผังเมือง, คณะกรรมการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ฯลฯ

ประชาชนจะใช้ "เส้น" น้อยลง หากเขาปฏิบัติการโดยตรงได้มากขึ้น

ผมคงจบบทความยาวเหยียดนี้ได้เสียที ในส่วนข้อเสนอระยะสั้น-ยาวนั้น ย่อมแก้ไขดัดแปลงปรับปรุงตัดต่อได้อีกไม่สิ้นสุด แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องช่วยกันคิดว่า จะทำให้การปรับระบบการเมืองของไทยซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นแล้วนี้ ดำเนินไปโดยไม่ทำลายกันและกันให้แหลกลาญลงได้อย่างไร


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: cameronDZ ที่ 20-09-2008, 16:59
ดีครับ คุณ jerasak
เอามาลงให้อ่าน เยี่ยมมาก
เพราะผมก็ไม่ได้อ่านบทความของ อ.นิธิ นานแล้ว
มัวแต่มีอคติ ในสงคราม paint ball
จนไม่สนใจ จะอ่าน จะฟัง อะไรจากแกเลย

 :slime_smile:


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 20-09-2008, 17:00
ดีครับ คุณ jerasak
เอามาลงให้อ่าน เยี่ยมมาก
เพราะผมก็ไม่ได้อ่านบทความของ อ.นิธิ นานแล้ว
มัวแต่มีอคติ ในสงคราม paint ball
จนไม่สนใจ จะอ่าน จะฟัง อะไรจากแกเลย
 :slime_smile:

ส่วนตัวผมเองยังตามอ่านงาน อ.นิธิ อยู่เรื่อยๆ นะครับ
เห็นด้วยกับคุณ cameronDZ ที่ว่าระยะหลังๆ ผลงาน
ของ อ.นิธิ เพี้ยนๆ ไป อ่านไม่ค่อยได้อะไรแบบแต่ก่อน
เพราะตัว อ.นิธิ โดดเข้าไปเป็น "ผู้เล่น" เสียเอง

มาถึงซีรีย์ 4 ตอนชิ้นนี้ ผมคิดว่า อ.นิธิ มีเวลาทบทวน
นานพอสมควร เพราะพ้นจากสถานะ "ผู้เล่น" ไปแล้ว
ก็เลยได้งานที่น่าศึกษาขึ้นมา และสอดคล้องพอดีกับ
กระแสเรียกร้อง "การเมืองใหม่" ของพันธมิตร
กำลังคิดจะเอามาให้อ่านกัน ก็มาได้ที่ลงในกระทู้นี้ครับ  :slime_v:


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: FireSatongNorth ที่ 20-09-2008, 17:10
อ.นิธิ เป็นคนแรกๆที่ผมติดตามผลงานและชื่นชอบเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ส่วนใหญ่ชอบในการวิเคราะห์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรม
แต่เมื่อไม่นานช่วงทักษิณเรืองอำนาจ และ อ.นิธิ ร่วมก่อตั้ง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็เริ่มแสดงอาการ เลยต้องปิดฉากความนิยมในตัวท่านแค่นั้น


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Red Baron ที่ 20-09-2008, 17:17
เห็นด้วยที่อ.นิธิทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดคือแสดงความคิดเรื่องการเมือง

แสดงอยู่ในภาคสังคมและวัฒนธรรมอย่างที่ท่านรู้แจ้งนั่นดีที่สุดแล้ว


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: vorapoap ที่ 20-09-2008, 17:37
ขอบคุณครับ อ่านจนจบในที่สุด

จากบทความเขียนว่าการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางการเมืองในครั้งนี้อาจต้องใช้เวลาอีก 20 ปี.... นานพอดูเลยนะครับ

ในใจก็คิดว่ามันคงต้องใช้เวลาขนาดนั้น แต่ก็พยายามหลอกตัวเองว่าจะมีอะไรทำให้พลิกผันไปได้รวดเร็ว


สำหรับการปฏิรูประยะยาวในด้านการบังคับและการใข้กฏหมาย ผมว่าหนีไม่พ้นที่การปฏิรูปองค์กรตำรวจมีความสำคัญมาก

สถาบันตำรวจ ถูกมองว่าเป็นตำรวย เราจะแก้ไขตรงจุดนี้ได้อย่างไร และจะแก้ได้อย่างไร ในเมื่อตำรวจที่มีผลประโยชน์ก็คงขัดขวาง


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 20-09-2008, 17:47
อ.นิธิ เป็นคนแรกๆที่ผมติดตามผลงานและชื่นชอบเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ส่วนใหญ่ชอบในการวิเคราะห์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรม
แต่เมื่อไม่นานช่วงทักษิณเรืองอำนาจ และ อ.นิธิ ร่วมก่อตั้ง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็เริ่มแสดงอาการ เลยต้องปิดฉากความนิยมในตัวท่านแค่นั้น

ผมคิดว่า นักวิชาการ ก็มีปัญหาเหมือน นักการเมือง ครับ
ถ้านักการเมือง มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ทำงานมีปัญหา

ถ้านักวิชาการ มีวาระซ่อนเร้น (เช่น กำลังเป็นผู้เล่นเอง)
ก็ทำให้งานเขียนขาดคุณภาพ ขาดความเที่ยงตรง

...

สมัยเป็นนักศึกษาผมชอบไปนั่งคุยกับ อ.นิธิ บ่อยๆ
ทั้งที่ตัวเองเป็นนักศึกษาสายวิทย์ ไม่ใช่สายสังคม
ถือว่าตอนนั้นได้เปิดโลกทัศน์ออกจากกรอบมากมาย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีมานานตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษา
ก็คือร่วม 20 ปีมาแล้วครับ เพียงแต่ตอนนั้นไม่ได้เป็น
เ็ว็บไซต์แบบนี้ แต่เป็นเวทีเสวนาที่ผู้สนใจมาคุยกัน


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Arch_FreeMan ที่ 20-09-2008, 18:01
เคยชื่นชอบ ทัศนะแนวคิดของท่าน แต่ระยะหลัง แม้กระทั้งบทความนี้ ท่านเลือกที่จะสื่อในบางประเด็น โดยการกลบเกลื่อนประเด็นสำคัญ

ท่านใช้คำว่า นโยบายของทักษิณ แทงใจคนชนบท ทำให้คนชนบทชื่นชอบทักษิณ ทั้งๆที่ในความเป็นจริง นโยบายทักษิณเป็นเพียงแค่การโยนเศษเนื้อให้คนยากจนกินเพื่อหวังครอบครองอำนาจในส่วนกลาง และ ท่านลืมมองข้อเท็จจริงที่สำคัญไปเลยคือ ทักษิณไม่ได้ทำเพื่อคนยากจนอย่างแท้จริง นโยบายของทักษิณไม่ได้เพิ่มมูลค่าหรือพัฒนาคนยากจนให้เป็นคนรวย เพียงแต่ให้เขากู้ยืมเงินเอาไปใช้จ่ายอย่างบ้าคลั่งโดยขาดการแนะนำการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อขยายดอกออกผลอย่างเป็นระบบ ท่านจงใจที่จะเขียนบทความของท่าน โดยแกล้งทำเป็นลืม ว่า ทักษิณนั้นหลอกใช้คนยากจน มากกว่าการทำให้คนยากจน พ้นจากความยากจนแบบถาวร

นอกจากนี้บทความที่ท่่านได้เขียนออกมา ก็พยายามสื่อว่า ชนชั้นกลางในเมืองกำลังสูญเสียอำนาจทางการเมือง เพราะ มีจำนวนน้อยกว่าพวกชนบท ดังนั้น คนเหล่านี้จึงถวิลหาการเมืองใหม่ ที่รักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเอง อาจารย์คงลืมไปว่า ชนชั้นกลางในเมืองนั้น เขาไม่ได้มีองค์กรนำ ไม่ได้มีสหกรณ์ หรือ สมัชชาอะไรต่างๆ เขาต่างคนต่างอยู่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีสติปัญญาที่จะเลือกพิจารณาข่าวสารได้มากกว่า ดังนั้นในแง่คุณภาพสติปัญญา คนชั้นชั้นกลางในเมืองนั้น มีมากกว่า คนยากจนในชนบทแน่นอน

ท่านลืมคิดไปว่า ชนชั้นกลางในเมืองนั้น เขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีระดับหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่ชนชั้นกลางในเมืองอยากเห็นคือ สภาพแวดล้อมในสังคมที่ตัวเองดำรงอยู่นั้น มีคุณภาพดีขึ้น โปร่งใส ตรวจสอบได้ อยากได้คนดีมาบริหารบ้านเมือง เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ

แต่

คนในชนบทนั้น ยังคง ดิ้นรนต่อสู้กับความยากจน ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาคิดคือ ตัวเอง ทำอย่างไรถึงจะขุดตัวเองออกจากความยากจน ทำอย่างไรตัวเองถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้งนั้น เมื่อนักการเมืองเจ้าเล่ห์มาหยิบยื่นเศษเนื้อให้พวกเขากิน เขาก็คิดว่านักการเมืองเหล่านั้น ทำเพื่อพวกเขา รักพวกเขา คนเหล่านี้กลับมอง ใครจะมาบริหารประเทศ จะโกง จะกินอย่างไร เขาไม่สนใจ ขอให้พวกเขามีเงิน มีงานทำ ขายของได้ เขาก็เลือกแล้ว คนพวกนี้ไม่เคยคิดไม่เคยมองนโยบายการบริหารประเทศที่มี่ความสลับซับซ้อนในยุคโลกาภิวัฒน์ได้เลย เพราะ สติปัญญาของพวกเขามีไม่ถึง

ข้อมูลเหล่านี้อาจารย์นิธิ ไม่เคยเลือกที่สื่อในบทความ แต่ไปเขียนในประเด็นที่ต้องการสื่อว่า ทักษิณดีอย่างไร ทำไมคนชนบทจึงรักทักษิณ ทำไมคนชั้นกลางในเมืองถึงต่อต้านทักษิณ ทัั้งหมดนี้มันเป็นความจงใจที่แฝงไปด้วย วัตถุประสงค์ทางการเมืองของ อาจารย์คนนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้แทบไม่มีความเป็นวิชาการเหลืออยู่ในหัวสมอง

มีแต่ การแสร้งเนียนเขียนบทความวิชาการเพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมืองของระบอบทักษิณเท่านั้น


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: big j ที่ 20-09-2008, 18:41
อ.นิธิยังมีฟอร์มนักปราชญ์เหลืออยู่อีกเหรอ
วันก่อนอ่านในมติชนสุดสัปดาห์
แกบอกเพื่อนเล่าให้ฟังว่า สถานีเอเอสทีวีมีสมาชิกสันติอโศกที่เป็นผู้หญิงมาขึ้นเวทีพูดแต่คำหยาบอยู่ทุกเช้า
ผมก็เลยสรุปอ.นิธิได้ว่า
1.แค่ฟังเพื่อนพูดก็เชื่อทันที
2.แกไม่เคยได้ดูเอเอสทีวี
3.แกไม่เคยได้ศึกษาหรือทำความรู้จักสันติอโศก ทั้งๆที่ขบวนการนี้ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า30ปี
แสดงให้เห็นถึงความไม่มีหัวใจของนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ ของอ.นิธิเลย


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: kittie ที่ 21-09-2008, 05:02
...ไม่มีอะไรใหม่ หรือน่าตื่นตาตื่นใจกับบทความขนาดยาวนี้


...เว้นวรรคการติดตามอ่านบทความของ อ.นิธิ ตั้งแต่ ทุกบทความมีประโยคที่ว่า

"ผมไม่แน่ใจว่าสมัยของผมเป็นแบบนี้ไหม..."

"ผมว่าสันนิษฐานว่ามาจาก การเปลี่ยนแปลงทาง  การเมือง/การศึกษา/การปกครอง/การค้า สมัยรัชกาลที่ 5 ..."




...เพราะอ่านไปก็ได้แต่ความรู้ที่ว่าทุกปัญหาบนโลกนี้ เกิดจากสมัยรัชกาลที่ 5 เหอ เหอ เหอ :slime_doubt:


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Augustine ที่ 21-09-2008, 05:05
แล้วแต่ก่อน เขาไปทำอะไรครับ แต้มถึงตก


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: eAT ที่ 21-09-2008, 08:46
ว่าได้แค่คนอื่น ชนชั้นอื่น แต่ตัวเองไม่เคยมองเลย
เมื่อก่อนก็ชื่นชมนะครับ แต่พอเจออภิปรายเรื่อง
รัฐธรรมนูญ ก่อนลงประชามติ เห็นแล้ว เพื่อความ
เชื่อของกู เหตุผลไม่มีก็ได้ เอาสีข้างเข้าถูอย่างเดียว


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Kittinunn ที่ 21-09-2008, 09:10
แกหมดเครดิตไปนานแล้วครับ

ไหนจะตะแบงเอาสีข้างถูเรื่อง รธน. ไหนจะเรื่องมีกิ๊กในมอเที่ยงคืน

ไอ้ที่บอกว่าคืนฟอร์ม

ผมกลับมองว่ามันเป็นการเสแสร้งเพื่อให้เชื่อว่า บางเวลากูก็มีเหตุผลมากกว่า


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: cameronDZ ที่ 21-09-2008, 11:36
กระทู้นี้ทำไปทำมา ก็เหมือนหลอกเอา อ.นิธิ มาขึงพืด ให้คนด่าเล่น แก้กลุ้ม ละนะ
ผมก็คงมีส่วนผิดอยู่เหมือนกันแหละ ที่ทำให้ อ.นิธิ โดนรุมสกรัม แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

แต่....ก็คงเกิดจากผลแห่งกรรม เหมือนกันแหละ
เพราะ 'จารย์ ก็ทำเรื่องให้เขาอยากด่า อยู่หลายเรื่อง เหมือนกัน
 :slime_bigsmile:

แต่ ไม่ว่าจะอย่างไร
ผมก็ยังเชื่อว่า อ.นิธิ ยังคงความเป็นปราชญ์ ที่จะชี้ทางสว่างให้สังคมไทย ต่อไปได้
ปราชญ์ ไม่ใช่นักปฏิวัติ ไม่ใช่นักการเมือง การทหาร
ในเมื่อตอนนี้ ประเทศเราอยู่ในระหว่างรบราฆ่าฟัน ก่อสงครามกัน (ถึงแม้จะเป็นแค่สงคราม Paint Ball ก็เถอะ)
ปราชญ์ก็ย่อมไม่มีความจำเป็น ไม่มีความหมาย เป็นธรรมดา

แต่เมื่อเราจบจากสงคราม Paint Ball
จบสิ้นความคิดแบบเยาวชนเรดการ์ด เยลโลการ์ด
ผมว่า คนอย่าง อ.นิธิ จะมีความหมาย



ส่วนความคิดนี้
V
V

แกหมดเครดิตไปนานแล้วครับ

ไหนจะตะแบงเอาสีข้างถูเรื่อง รธน. ไหนจะเรื่องมีกิ๊กในมอเที่ยงคืน

ไอ้ที่บอกว่าคืนฟอร์ม

ผมกลับมองว่ามันเป็นการเสแสร้งเพื่อให้เชื่อว่า บางเวลากูก็มีเหตุผลมากกว่า

ผมไม่เห็นด้วย โดยสิ้นเชิง

อ.นิธิ แกหมดเครดิต ในบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ท่ามกลางสงคราม Paint Ball
แต่แกไม่ได้สูญเสียเครดิตในมุมมองอื่นไปด้วยนี่ครับ
แกไม่ได้ถูกล้างสมอง (หรือล้างสมองตัวเอง) เหมือน จานจรัญ - หมอเหวง - ครูประทีป
ที่อ้างอิงเหตุผลทุกอย่างให้กลายเป็นเรื่องทักษิณดี พันธมิตรเลว ซักกะหน่อย

ถ้าไม่มองแค่ว่า เรา "ไม่ชอบ" ในเรื่องการแสดงทัศนะทางการเมืองของแก
ผมว่า คนที่น่า "ส่ายหน้า" มากกว่า
ควรจะเป็น 'จารย์ ส.ศิวรักษ์ เสียด้วยซ้ำ
ที่ท่ามกลางภาวะวิกฤติทางการเมือง
จารย์ ส. แกเล่นตีกิน แสดงทัศนะทางการเมืองแบบเลื่อนลอย น้ำท่วมทุ่ง พูดเอาดีเข้าตัว
ไม่ยอมเปลืองตัว เหมือน อ.นิธิเลย


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Panyawatr ที่ 21-09-2008, 18:00
ผมก็ได้อ่านบทความอาจารย์นิธิ ตั้งแต่ตอนแรก จนตอนที่สี่ ผมว่าสาระสำคัญที่สุดคือการยอมรับว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจสังคม เกิดการปรับเปลี่ยนของดุลย์อำนาจทางชนชั้น ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของแกนนำ  ที่สำคัญอาจารย์นิธิ ยอมรับถึงความจำเป็นด้วยว่าจะต้องมีการปรับระบบการเมือง แม้จะมีข้อเสนอในการปรับที่แตกต่าง แต่เท่ากับยอมรับว่าข้อเรียกร้องการเมืองใหม่ของพันธมิตรมีน้ำหนัก

นอกจากอาจารย์นิธิแล้ว ยังมีรศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ออกมากล่าวยอมรับถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ลองไปอ่านกันดูเองที่นี่ครับ http://www.prachatai.com/05web/th/home/13655 (http://www.prachatai.com/05web/th/home/13655)

ความเห็นเหล่านี้ จะเป็นคำตอบที่สำคัญให้พวกที่เป็นกลางทั้งหลาย โดยเฉพาะที่ติดใจนักหนากับบุคลิกภาพ ท่าทีของแกนนำพันธมิตร


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: eAT ที่ 21-09-2008, 19:13
สำหรับผม แกหมดเครดิตแน่ๆ ครับ ถ้าแกออกมาให้ความเห็นแล้วผิด
ผมให้อภัย แต่แกเล่นออกความเห็นเข้าข้างตัวเองเห็นๆ ไม่มีเหตุผล
แล้วอ้ายความเห็นที่เคยให้มา หรือที่มีมาในอนาคต จะเชื่อได้อย่าง
บริสุทธิ์ใจว่า แกไม่มีผลประโยชน์ใดๆเลยหรือ ผมไม่เชื่อแล้ว ผิดพลาด
อภัยได้ แต่หลอกลวง โกหก บิดพริ้วเพื่อตัวเอง และยังไม่อยมรับผิด
อย่างนี้ ต้องเอาไปทิ้งทะเล นักวิชาการที่ทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว
แบบนี้


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: จูล่ง_j ที่ 24-09-2008, 20:03
แกเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว
ผมอ่านบทความแกจาก มติชน ล่าสุดแล้ว อยากจะเป็นลม
ผมไม่รู้สึกว่าแกเป็นปราชญ์เลย
เหมือนกับโดนเงินฟาดหัวมามากกว่า มีแต่เหน็บแนม เสียดสีพันธมิตร และคำแนะนำปัญญาอ่อน
ประเทศชาติ กำลังเสียหายอย่างหนัก จากการโกงกินชาติ ขายแผนดิน ของนักการเมืองชั่ว
อีกทั้ง พยายามล้มระบบ ยุติธรรม แก้รัฐธรรมนูญช่วยคนต้องโทษ
แต่แกเอาแต่ด่าพันธมิตร โดยแทบไม่มีทางออกอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน
เสนอทำนองให้พันธมิตรตั้งโต๊ะเสวนาโต้วาทีกับรัฐบาล เห็นความคิดติงต๊องนี้แล้วตูจะบ้า
คนอย่างแก ถ้าเป็นทหารปกป้องชาติ ศัตรูบุกเข้ามา ก็คงจะไม่ต่อสู้ นั่งโต๊ะรอเจรจาอย่างเดียว
จนศัตรูมันเข้ามาฟันหัวขาดล่ะนั่น


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Matahari ที่ 24-09-2008, 20:17
อ้างถึง
แกเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว
ผมอ่านบทความแกจาก มติชน ล่าสุดแล้ว อยากจะเป็นลม
ผมไม่รู้สึกว่าแกเป็นปราชญ์เลย
เหมือนกับโดนเงินฟาดหัวมามากกว่า มีแต่เหน็บแนม เสียดสีพันธมิตร และคำแนะนำปัญญาอ่อน
ประเทศชาติ กำลังเสียหายอย่างหนัก จากการโกงกินชาติ ขายแผนดิน ของนักการเมืองชั่ว
อีกทั้ง พยายามล้มระบบ ยุติธรรม แก้รัฐธรรมนูญช่วยคนต้องโทษ
แต่แกเอาแต่ด่าพันธมิตร โดยแทบไม่มีทางออกอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน
เสนอทำนองให้พันธมิตรตั้งโต๊ะเสวนาโต้วาทีกับรัฐบาล เห็นความคิดติงต๊องนี้แล้วตูจะบ้า
คนอย่างแก ถ้าเป็นทหารปกป้องชาติ ศัตรูบุกเข้ามา ก็คงจะไม่ต่อสู้ นั่งโต๊ะรอเจรจาอย่างเดียว
จนศัตรูมันเข้ามาฟันหัวขาดล่ะนั่น

    เห็นด้วยอ่านแล้ว นึกสมเพช คนแก่ที่มีชีวิตบั้นปลาย ล้มเลวทักทาง และแกมีคำหนึ่งที่พุดความดี ที่ไม่ควรพุด ก็แหงแกจะกล้าพุดได้อย่างไร ก็เล่นไฮแจก เอาเมียเพื่อนมาเป็นเมียตนเอง
    ยุคนี้นักวิชาเสือมคลาย เพราะว่าคนพวกนี้คิดว่าตนเองเป็นพวกจิตวิญญาณด้านความติด แล้วไหง มันก็ปรากฎว่ามันหาได้เกิดประโยฃน์อะไร แค่คำ แต่มันก็ไม่สามารถทำอะไรได้
    นายนิธิ นี้หมดค่าแล้ว ที่พูดว่าเอาเงินเหลียมแล้วผิดทางไหน หรือเอาเงินเหลียมมำทำเลวผิดทางไหน นี้แหละตาแกที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองเก่ง และถุก
    ยุคนี้ประชาชน เขาไม่รอแค่ตัวอักษร หรอก มันไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น และไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างนายนิธิ หรือนักวิฃาการที่หอนว่าประชาธิปไตย เหมือนพวกเอ็นจีโอที่บอกว่าพธม ทำลายประชาธิปไตย เหรอ ประชาชนไล่คนโกงผิดทางไหนประชาชนล้มรธน เหรอ ก็เปล่า


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 24-09-2008, 22:48
การปรับระบบการเมือง (3)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11139 มติชนรายวัน
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01080951&sectionid=0130&day=2008-09-08


4/ ประเด็นของความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ควรถูกเปิดออกให้ทั่ว อย่าปล่อยให้มีการจำกัดประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น เช่นประเด็นเขาพระวิหาร นอกจากมิติที่ฝ่ายพันธมิตรยกขึ้นมาแล้ว ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วย) อีกมาก ซึ่งสื่อทุกประเภทล้มเหลวที่จะสะท้อนมิติเหล่านี้ออกมา เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองไม่สมประกอบแล้ว ยังมีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาเลย

นอกจากนี้เรายังมีปัญหาอื่นๆ ที่สังคมควรมีโอกาสได้ช่วยกันคิดและวางนโยบายอีกมาก เช่น นโยบายพลังงาน, นโยบายสร้างดุลยภาพในความสัมพันธ์กับจีนซึ่งทำความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านโดยไม่ใส่ใจ, นโยบายข้าว, น้ำตาล, น้ำมันพืช, ฯลฯ, นโยบายการขนส่งสินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ประเด็นปัญหาเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาเลย ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องของสองขั้ว

นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถามผมว่า ทำอย่างไรจึงจะให้สองฝ่ายคือพันธมิตรกับรัฐบาลได้จับเข่าคุยกัน ผมถามเขาว่า แล้วคุณไม่อยากยื่นเข่าไปให้เขาจับคุยกันบ้างหรือ พวกเราทั้งหมดหายไปไหน เราก็มองเห็นปัญหาอื่นๆ อีกมากที่ถ้าการจับเข่าคุยกันได้ผล เราก็อยากยื่นเข่าและมือไปให้เขาจับและจับเขาเหมือนกัน

สังคมไทยทั้งสังคมนั้นแทนได้ด้วยพันธมิตร และ พปช.เท่านั้นหรือ? การสร้างญัตติสาธารณะควรเป็นอำนาจและโอกาสของคนทุกกลุ่มไม่ใช่หรือ?

ผมตั้งใจจะให้จบเรื่องในตอนนี้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกนั่นเอง ขออภัยทั้งผู้อ่านและ บ.ก.เป็นอย่างสูง ขอต่อในฉบับหน้าว่าด้วยเรื่องเรา-สังคมไทย-พึงทำอะไรได้อีกบ้างในระยะยาว



อ่านทั้งหมดแบบผ่านๆ ยังไม่วิจารณ์แนวคิดนิธิ นะครับ ที่ผมอ้างอิงนั้นเป็นช่วงที่เห็นด้วยมาก ๆ

สังคมไทย ไม่ใช่พันธมิตรและพรรคพลังประชาชน ตรงนี้ถูกใจใช่เลย

จะว่าไป สำหรับนิธิ ตอนที่แกออกมาต้านรัฐประหารช่วง 19 ก.ย. 49

พวกเพื่อนๆ ผมที่จบด็อกเตอร์ ด้านโฆษณาฝั่งทักษิณ บอกว่าเห็นด้วยสุด ๆ

จากนั้นเป็นต้นมา ผมก็เลิกอ่านนิธิมาเป็นเวลานาน...

ว่างๆ จะลองนั่นอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ดูซักตั้ง ว่าจริงๆ แล้ว นิธิ ต้องการสื่ออะไรกับสังคม

มีช่วงหนึ่งแกออกตัวว่า ไม่มีพื้นฐานทางรัฐศาสตร์..ไม่มีพื้นฐานทางด้านกฎหมาย..เป็นช่วงที่แกเริ่มวิจารณ์การเมือง


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Matahari ที่ 24-09-2008, 23:00
อ้างถึง
4/ ประเด็นของความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ควรถูกเปิดออกให้ทั่ว อย่าปล่อยให้มีการจำกัดประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น เช่นประเด็นเขาพระวิหาร นอกจากมิติที่ฝ่ายพันธมิตรยกขึ้นมาแล้ว ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วย) อีกมาก ซึ่งสื่อทุกประเภทล้มเหลวที่จะสะท้อนมิติเหล่านี้ออกมา เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองไม่สมประกอบแล้ว ยังมีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาเลย

   นิธิบิดเบือน รธน 50 ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่ารธน 40
   แต่ที่แน่ๆๆนิธิพูดว่า ความดีอย่าพุดถึง ก็นิธิเขาหมดสิทธิด้านสอนความดี ถ้าไม่พุดถึงเหมือนเหลียมที่กล้าเอยคำว่าทำความดี  ก็คงมีแต่ชั่วๆๆๆๆ ค้ำจุนโลก 
   นายนิธิไม่จบด้านกม  หรือรัฐศาสตร์แกก็เลยวิจารณ์แบบตัวอักษร หาทางออกไม่ได้
   แต่ประชาชนเขาไม่รอตัวอัการ หรอก กี่ปีประเทศไทย จะพ้นพวกนักการเมืองเลวๆๆๆ
   การที่นิธิออกมาต้าน การเมืองไหม่ ก็ส่อให้เห็นความคิดคับแคบ เขาไม่ได้วางกฎว่าต้อง เหมือนเขา นี่แหละความคิดคัลแคบ ของเฒ่าที่เทียวสอนคน แต่ตนเองช่างสกปรก เลอะเทอะ ตัณหากลับตอนแก


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Matahari ที่ 24-09-2008, 23:00
อ้างถึง
4/ ประเด็นของความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ควรถูกเปิดออกให้ทั่ว อย่าปล่อยให้มีการจำกัดประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น เช่นประเด็นเขาพระวิหาร นอกจากมิติที่ฝ่ายพันธมิตรยกขึ้นมาแล้ว ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วย) อีกมาก ซึ่งสื่อทุกประเภทล้มเหลวที่จะสะท้อนมิติเหล่านี้ออกมา เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองไม่สมประกอบแล้ว ยังมีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาเลย

   นิธิบิดเบือน รธน 50 ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่ารธน 40
   แต่ที่แน่ๆๆนิธิพูดว่า ความดีอย่าพุดถึง ก็นิธิเขาหมดสิทธิด้านสอนความดี ถ้าไม่พุดถึงเหมือนเหลียมที่กล้าเอยคำว่าทำความดี  ก็คงมีแต่ชั่วๆๆๆๆ ค้ำจุนโลก  
   นายนิธิไม่จบด้านกม  หรือรัฐศาสตร์แกก็เลยวิจารณ์แบบตัวอักษร หาทางออกไม่ได้
   แต่ประชาชนเขาไม่รอตัวอัการ หรอก กี่ปีประเทศไทย จะพ้นพวกนักการเมืองเลวๆๆๆ
   การที่นิธิออกมาต้าน การเมืองไหม่ ก็ส่อให้เห็นความคิดคับแคบ เขาไม่ได้วางกฎว่าต้อง เหมือนเขา นี่แหละความคิดคัลแคบ ของเฒ่าที่เทียวสอนคน แต่ตนเองช่างสกปรก เลอะเทอะ ตัณหากลับตอนแก


หัวข้อ: Re: อ.นิธิ คืนฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: Matahari ที่ 24-09-2008, 23:04
อ้างถึง
4/ ประเด็นของความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ควรถูกเปิดออกให้ทั่ว อย่าปล่อยให้มีการจำกัดประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น เช่นประเด็นเขาพระวิหาร นอกจากมิติที่ฝ่ายพันธมิตรยกขึ้นมาแล้ว ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วย) อีกมาก ซึ่งสื่อทุกประเภทล้มเหลวที่จะสะท้อนมิติเหล่านี้ออกมา เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองไม่สมประกอบแล้ว ยังมีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาเลย

   นิธิบิดเบือน รธน 50 ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่ารธน 40
   แต่ที่แน่ๆๆนิธิพูดว่า ความดีอย่าพุดถึง ก็นิธิเขาหมดสิทธิด้านสอนความดี ถ้าไม่พุดถึงเหมือนเหลียมที่กล้าเอยคำว่าทำความดี  ก็คงมีแต่ชั่วๆๆๆๆ ค้ำจุนโลก  
   นายนิธิไม่จบด้านกม  หรือรัฐศาสตร์แกก็เลยวิจารณ์แบบตัวอักษร หาทางออกไม่ได้
   แต่ประชาชนเขาไม่รอตัวอัการ หรอก กี่ปีประเทศไทย จะพ้นพวกนักการเมืองเลวๆๆๆ
   การที่นิธิออกมาต้าน การเมืองไหม่ ก็ส่อให้เห็นความคิดคับแคบ เขาไม่ได้วางกฎว่าต้อง เหมือนเขา นี่แหละความคิดคับแคบ ของเฒ่าที่เทียวสอนคน แต่ตนเองช่างสกปรก เลอะเทอะ ตัณหากลับตอนแก่
   ตอนนี้พวกนักวิชาการ และนายนิธิ อกหัก ที่หอนแต่ละครั้งหาได้มีคนสนใจไม่ เขาผิดหวัง เขาแค้นที่พธม แย่งมวลชนเขาไป  พวกนี้ทนงผยองคิดว่าตนเองคือพวก จิตวิญญาณด้านความคิด  สิ่งที่เขาพุดคือถุกเสมอ