ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: public limited ที่ 16-08-2008, 10:17



หัวข้อ: ความรุ้เกี่ยวกับ "หลักการในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน"
เริ่มหัวข้อโดย: public limited ที่ 16-08-2008, 10:17
จากบทความ "การส่งผู้ร้ายข้ามแดน"
โดย  คมกริช  ดุลยพิทักษ์ อัยการประจำกรม
สถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้แก่ “พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472”  ซึ่งมิได้บัญญัติถึงความหมายของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การส่งผู้ร้ายข้ามแดนหมายถึง “ กระบวนการที่รัฐหนึ่งร้องขอไปยังอีกรัฐหนึ่ง ให้ดำเนินการจับกุมตัวบุคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดหรือต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดทางอาญา ภายในเขตอำนาจศาลของอีกรัฐหนึ่งและพบตัวอยู่ในเขตอำนาจของรัฐนั้น เพื่อส่งตัวบุคคลดังกล่าวมาดำเนินการพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมายต่อไป ” 

ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะหลบหนีไปอยู่ ณ ที่ใด จะต้องถูกนำตัวมาฟ้องร้องลงโทษในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ ซึ่งโดยปกติแล้วรัฐแต่ละรัฐไม่มีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่รัฐอื่น

ดังนั้นเมื่อรัฐต่างๆมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือกันในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จึงได้มีการวางหลักการพื้นฐานเป็นแบบพิธีและขั้นตอนในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติระหว่างกัน โดยแต่ละรัฐอาจมีการทำเป็นสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐต่อรัฐ ในกรณีที่มีการทำสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างกัน

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็อาจกระทำโดยหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่างตอบแทนกัน กล่าวคือ หากรัฐหนึ่งยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่อีกรัฐหนึ่งที่ร้องขอแล้ว รัฐที่ร้องขอย่อมมีพันธกรณีที่จะต้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปให้รัฐที่ได้รับการร้องขอเมื่อต้องการเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อมีการร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเกิดขึ้น ในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ารัฐทั้งสองนั้นมีสนธิสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำไว้ต่อกันหรือไม่ และกฎหมายภายในของรัฐที่ถูกขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นมีบทบัญญัติไว้อย่างไร ถ้าหากไม่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำไว้ต่อกันต้องถือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่างตอบแทนกัน

สำหรับประเทศไทยได้มีการทำสนธิสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้กับประเทศต่างๆหลายประเทศ เช่น
สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับอังกฤษ ร.ศ.129
สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับเบลเยี่ยม ค.ศ.1937   
สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ.1983 เป็นต้น

สำหรับกฎหมายภายในของไทยนั้น ได้แก่ “พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472” ซึ่งมีหลักการที่สำคัญๆในเบื้องต้นอยู่ในมาตรา 4  ถึงมาตรา 7   ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว การขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มิใช่ว่าจะสามารถขอได้ในการกระทำความผิดทุกประเภท ความผิดที่จะขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้นั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้

1. ต้องเป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี จะเห็นได้ว่าประเทศไทยใช้หลักที่ว่า ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวข้ามแดนได้นั้น ต้องเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาที่สามารถลงโทษได้ทั้งในประเทศที่ร้องขอและประเทศที่รับคำร้องขอด้วย (Double Criminality) จึงถือได้ว่าพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทยยอมรับหลักการปฏิบัติต่างตอบแทน ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปในทางปฏิบัติระหว่างประเทศ

2. ต้องไม่ใช่คดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องขอได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้ว ซึ่งมาจากหลักที่ว่าจะต้องไม่พิจารณาพิพากษาลงโทษบุคคลเดียวกันในความผิดที่กระทำในครั้งเดียวกันเป็นสองซ้ำ(Double Jeopardy)

3. ต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือการที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ความจริงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษอย่างอื่นที่มีลักษณะทางการเมือง
 

วิธีการและขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

1. การส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการตามปกติ
ขั้นตอนและวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะเริ่มต้นจาก การมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศ โดยวิธีทางการทูต
ผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศ  โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบคำร้องแนบมาด้วย คือ (มาตรา 7)
  1) ในกรณีขอให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดต้องมีสำเนาคำพิพากษาของศาลที่ได้พิพากษาคดีนั้น
  2) ในกรณีขอให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิด จะต้องมีหมายหรือสำเนาหมายจับของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในประเทศที่ร้องขอ

เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับคำร้องและเอกสารหลักฐานต่างๆแล้ว จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ความเห็นชอบและแจ้งสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอออกหมายจับบุคคลที่ต้องการตัวดังกล่าว เมื่อจับตัวได้แล้วพนักงานอัยการจะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาไต่สวนยังศาลที่มีเขตอำนาจ ถ้าหากศาลรับคำฟ้องคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้พิจารณาแล้ว ศาลจะแจ้งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบแล้วดำเนินการไต่สวน(มาตรา 8 – 9)

2.การส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีจำเป็นเร่งด่วน
ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลต่างประเทศผู้ร้องขออาจทำคำร้องขอให้จับกุมและขังบุคคลที่ต้องการส่งข้ามแดนไว้ชั่วคราวมายังกระทรวงการต่างประเทศโดยคำร้องจะต้องแสดงความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้งและระบุด้วยว่าได้มีการออกหมายจับไว้แล้วสำหรับความผิดนั้น หรือได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษบุคคลดังกล่าวแล้ว เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับเรื่องแล้วก็จะแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอหมายจับบุคคลดังกล่าว เมื่อจับตัวบุคคลดังกล่าวได้แล้วพนักงานอัยการจะนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งศาลจะออกคำสั่งขังบุคคลดังกล่าวไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาไต่สวน แต่ประเทศผู้ร้องขอจะต้องส่งคำร้องขอและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับสำเนาหมายสั่งจับหรือสำเนาคำพิพากษาอย่างเป็นทางการมายังรัฐบาลไทยภายใน 2 เดือน มิฉะนั้นศาลจะสั่งปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว (มาตรา 10)


การพิจารณาคดีของศาล

การพิจารณาคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ศาลจะไม่พิจารณาโดยละเอียดว่า บุคคลดังกล่าวมีความผิดตามข้อกล่าวหาที่ขอให้ส่งตัวหรือไม่เหมือนอย่างการพิจารณาคดีทั่วๆไป แต่เป็นเพียงการพิจารณาว่าควรส่งตัวบุคคลนั้นให้ไปต่อสู้คดีในศาลของประเทศที่ร้องขอหรือไม่เท่านั้น

หน้าที่พิสูจน์ความผิดที่แท้จริงจะอยู่ที่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลในประเทศที่ความผิดเกิด ดังนั้นศาลไทยจึงพิจารณาแต่เพียงข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อกฎหมายและข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้กระทำความผิดบางประการ กล่าวคือ (มาตรา 12)

  1. จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนหรือไม่
  2. มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อส่งไปให้ศาลพิจารณาคดีได้หรือไม่ ถ้าความผิดนั้นได้กระทำในประเทศไทย
  3. ความผิดนั้นเป็นความผิดที่อยู่ในประเภทที่จะส่งตัวข้ามแดนได้ กล่าวคือ
          1) เป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี
          2) ไม่ใช่ความผิดในคดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องได้มีคำพิพากษาให้ปล่อยตัวหรือได้รับโทษมาแล้ว
          3) ไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะในทางการเมือง

             อนึ่งโดยทั่วไปในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนศาลจะไม่ให้จำเลยประกันตัวไปในระหว่างการพิจารณาคดี (มาตรา 11)  สำหรับจำเลยนั้นโดยหลักแล้วศาลไม่จำเป็นต้องฟังพยานหลักฐานหรือข้อต่อสู้ของจำเลย ทั้งนี้เนื่องจากการพิจารณาของศาลไทยในชั้นนี้เป็นเพียงการพิจารณาว่าควรจะส่งตัวบุคคลนั้นไปต่อสู้คดีในศาลของประเทศที่ร้องขอหรือไม่เท่านั้น หน้าที่พิสูจน์ความผิดที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนพิจารณาคดีของศาลในประเทศที่ความผิดเกิด อย่างไรก็ตามศาลอาจรับฟังข้อต่อสู้ของจำเลยในบางเรื่อง กล่าวคือ (มาตรา 13)

                  (1) จำเลยไม่ใช่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวข้ามแดน (จับผิดตัว)
                  (2) ความผิดนั้นไม่อยู่ในประเภทที่จะขอให้ส่งตัวข้ามแดนได้
                        เช่น ความผิดทางการเมือง หรือการที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้น ความจริงเพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษในความผิดอย่างอื่นที่มีลักษณะทางการเมือง
                  (3) เรื่องสัญชาติของจำเลยอาจต่อสู้ว่าเป็นคนไทยรัฐบาลไม่ควรส่งตัวไปให้ประเทศอื่นลงโทษ (ตามหลักคนชาติ)

             เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับที่ร้องขอ คำร้องขอนั้นมีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอและความผิดที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้น เป็นความผิดที่สามารถส่งตัวข้ามแดนได้ ศาลก็จะมีคำสั่งอนุญาติให้ขังบุคคลนั้นไว้เพื่อรอการส่งข้ามแดนไปยังประเทศที่ร้องขอ (มาตรา 15) แต่ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ใช่บุคคลเดียวกับที่ประเทศผู้ร้องขอต้องการให้ส่งตัวข้ามแดนหรือพยานหลักฐานมีไม่เพียงพอหรือความผิดนั้นไม่ใช่ความผิดที่จะส่งตัวข้ามแดนได้ศาลจะสั่งปล่อยตัวบุคคลนั้นไป
             คำสั่งศาลที่ให้ปล่อยตัวบุคคลนั้นไปจะยังไม่ถึงที่สุด พนักงานอัยการยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ภายใน 48 ชั่วโมง (มาตรา 14 )
             หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างไรถือว่าเป็นที่สุด   

    กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ประเทศผู้ร้องขอทราบผลการพิจารณาคดีของศาล ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร                                                                                                                           


บทสรุป
การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกระบวนการความร่วมมือทางกฎหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันในการปราบปรามผู้ประกอบอาชญากรรมในประเทศหนึ่ง แล้วหลบหนีไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง รวมถึงการประกอบอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นองค์กรข้ามชาติ ให้สามารถที่จะส่งตัวไปดำเนินคดีในความผิดที่เขาได้กระทำลงไป
จึงเป็นการร่วมมือกันรักษาระบบกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิ์ผล  ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของประชาคมโลก เพราะหากไม่มีการร่วมมือกันในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อให้ผู้ประกอบอาชญากรรมได้ถูกส่งตัวไปลงโทษในความผิดที่เขาได้ก่อไว้แล้ว ผู้กระทำความผิดจะสามารถหลบหนีจากการถูกลงโทษได้
ซึ่งจะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายต้องเสียไป และย่อมส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม



คัดลอกจาก: 
http://www.nutthnet.com/forum/topic.php?id=529


หัวข้อ: Re: ความรุ้เกี่ยวกับ "หลักการในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน"
เริ่มหัวข้อโดย: eskimo ที่ 16-08-2008, 13:25
ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ นะครับ คุณ public limited


หัวข้อ: Re: ความรุ้เกี่ยวกับ "หลักการในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน"
เริ่มหัวข้อโดย: ooo ที่ 16-08-2008, 14:53
ใครมีรายละเอียดเกี่ยวกับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-อังกฤษ บ้าง

แล้วแนวทางการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของอังกฤษ (กฏหมายภายในของอังกฤษ)

เป็นอย่างไร ใครมีรายละเอียดบ้างครับ