ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: pornchokchai ที่ 06-08-2008, 08:39



หัวข้อ: ภาคธุรกิจโปร่งใส ต้านภัยคอร์รัปชั่น
เริ่มหัวข้อโดย: pornchokchai ที่ 06-08-2008, 08:39
ภาคธุรกิจโปร่งใส ต้านภัยคอร์รัปชั่น
.
กรุงเทพธุรกิจ 31 กรกฎาคม 2551 คอลัมน์ CEO Blog
ดร.โสภณ พรโชคชัย *
ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA
.
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม ศกนี้ ผมได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ให้ไปบรรยายเรื่องข้างต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการหอการค้าไทย สาขาจรรยาบรรณ ผมได้มีโอกาสพบคุณปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ท่านประธาน ป.ป.ช. ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. คุณศราวุธ เมนะเศวต ท่านเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และท่านผู้ทรงคุณวุฒิอื่น
.
          การเดินสายจัดงานสัมมนาเรื่องนี้จะจัดขึ้นใน 8 จังหวัดนำร่อง ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ศกนี้ ซึ่งนับเป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการรณรงค์ความโปร่งใส ผมก็ได้รับเชิญไป “เดินสาย” อีกหลายจังหวัด จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้
.
.
เอกชนไม่คิดจ่ายสินบน ถ้า. . .
.
          ในความเป็นจริง ไม่มีภาคเอกชนใดประสงค์จะจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะถือเป็นการเพิ่มภาระและเสียเวลาของภาคเอกชน ซึ่งย่อมต้องผลักภาระต่อไปยังผู้บริโภค ทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงเกินความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อธุรกิจของภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม บางครั้งภาคเอกชนก็จำเป็นต้องจ่ายสินบน เพราะหาไม่อาจไม่ได้รับความสะดวก ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจประสบปัญหาจนอาจต้องปิดกิจการไปในที่สุด
.
          ในความเป็นจริง กิจการบางแห่งอาจจงใจจ่ายสินบนเพื่อชิงความได้เปรียบต่อคู่แข่ง กิจการเหล่านี้อาจมีความสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ หรือผู้บริหารเหล่านั้นอาจเป็นผู้ถือหุ้นแบบ “นอมินี” ก็ได้
.
ยิ่งกว่านั้นในบางครั้ง ภาคเอกชนอาจประกอบ “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” โดยที่ภาครัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ เช่นกรณีการ “ฮั้ว” หรือการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างวิสาหกิจที่ร่วมกันประมูลงานจากภาครัฐ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเสียค่าจ้างในราคาแพงเกินควร และค่าจ้างเหล่านี้ย่อมมาจากภาษีอากรของประชาชน
.
.
ปัญหาโลกแตกที่เกาะกินมานาน
.
         ผมเคยอ่านหนังสือพุทธประวัติที่เขียนโดยภิกษุติช นัท ฮันห์ และแปลโดย ท่าน สว. รสนา โตสิตระกูล ได้ความว่าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ประสงค์จะเป็นมหาจักรพรรดิอันยิ่งใหญ่เพราะเล็งเห็นว่า แม้แต่พระราชบิดาของพระองค์ก็ยังไม่สามารถมีอำนาจปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงของบรรดาขุนนางได้ และยังต้องอาศัยขุนนางเหล่านั้นในการค้ำจุนบัลลังก์อีกต่างหาก พระองค์จึงเลือกการเสด็จออกผนวช
.
          บางครั้งการแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ก็เป็นแค่ “พิธีการ” ที่ไม่ได้ตั้งใจจะดำเนินการจริง แต่เป็นแค่การเล่น “ปาหี่” เท่านั้น
.
          ความร้ายแรงของปัญหานี้มีมากเพียงใด ดูได้จากประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเจริญแตกต่างกัน ผมเชื่อว่าคนไทยโดยเฉพาะคนธรรมดา ชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า ประชาชน ล้วนทำงานหนักพอ ๆ กันทุกประเทศ น่าจะได้ผลิตผลต่อคนพอ ๆ กัน แต่ทำไมบางประเทศเจริญกว่า บางประเทศยังด้อยกว่ามาก สาเหตุสำคัญก็คือการฉ้อราษฎร์บ้งหลวง โดยผู้มีอำนาจส่วนน้อยนิดเท่านั้น ที่เบียดบังเอาทรัพยากรปริมาณมหาศาลไปจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
.
.
แต่ก็ปราบปรามได้ไม่ยาก
.
          อย่างไรก็ตามการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็สามารถแก้ไขได้ หากรัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่แน่ว่าหากผู้นำรัฐบาลคนใดเอาจริง ผู้นำคนนั้นอาจไม่รอดชีวิตจากผู้มีอิทธิพลก็ได้! แต่หากสามารถรอดพ้น “ปากเหยี่ยวปากกา” ไปได้ การแก้ไขปัญหานี้จะลุล่วงเป็นแน่
.
          มาตรการที่ได้ผลควรดำเนินการดังนี้:
.
          1. การส่งเสริมการเก็บภาษีทรัพย์สิน ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับงบประมาณมาจากส่วนกลาง จึงมักเกิดปัญหา “วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง” แต่หากทุกบ้านต้องเสียภาษี เช่น ในอัตราร้อยละ 1 เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นโดยตรง ทุกคนก็ย่อมจะหวงแหนสิทธิและช่วยกันดูแลภาษีอากรของตนเอง ช่องทางการทุจริตก็จะน้อยลง
.
          2. การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการให้เพียงพอแก่การยังชีพ เพราะที่ผ่านมารายได้อาจต่ำเกินไปจนต้องไปเที่ยว “รีดไถ” แต่แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้เท่ากับความตะกละตะกลามแต่ต้องเท่ากับความต้องการจำเป็น
.
          3. การตรวจสอบการทุจริตอย่างจริงจังและที่สำคัญต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่แบบ “ไฟไหม้ฟาง” “ปาหี่” หรือ “เล่นเถิดเทิง” หรือ แค่ “สร้างภาพ” เช่นที่ผ่านมา
.
          4. การลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เช่น ในเวียดนาม ที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังที่นั่น ทราบว่านักฟุตบอลที่ “ล้มบอล” มีโทษถึงติดคุก และขณะนี้ยังไม่ได้ออกมาเลย และยังมีกรณีกัปตันสายการบินแห่งชาติของเขาถูกไล่ออกเพียงเพราะซื้อเครื่องเสียงราคาเรือนแสนเข้าประเทศ ในจีน มีการยิงเป้า ข้าราชการทุจริต ในอินโดนีเซีย ข้าราชการระดับสูงที่โกงกิน ถูกไล่ออกไปหลายรายแล้ว เรื่องเช่นนี้คงเกิดขึ้นยากในประเทศไทย แต่ถ้าเกิดขึ้น รับรองว่าปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงคงเบาบางลงมาก
.
.
บรรษัทภิบาลและ CSR
.
          การมีระบบบรรษัทภิบาล (Corporate Governance หรือ CG) ที่เน้นการบริหารองค์กรอย่างโปร่งใส และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) จะสามารถลดทอนการทุจริตในภาคเอกชนได้ด้วย เป็นการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน
.
          ในทางหนึ่ง การมี CG และ CSR ย่อมลดความเสี่ยงของธุรกิจในอันที่จะถูกจับ ถูกปรับ จากการร่วมทุจริตหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพขององค์กร ความสามารถในการแข่งขัน และช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เพราะสถาบันการเงินที่ดีก็ย่อมต้องการลูกค้าที่น่าเชื่อถือ
.
          และที่สำคัญที่สุด การมี CG และ CSR ย่อมเป็นการสร้างและทำนุบำรุงยี่ห้อของสินค้าและบริการของเราให้ดี เป็นที่เชื่อถือว่าเราจะไม่ข้อแวะกับทุจริต
.
          ในข้อกำหนดของ UN Global Compact มีระบุไว้ชัดเจนว่า ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ควรดำเนินไปโดยปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบังคับ ขูดรีด และการติดสินบน ทั้งนี้อาจพิจารณาทั้งในกรณีภายในวิสาหกิจ และการให้สินบนอันเป็นการทุจริตในวงราชการ ก็เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง
.
          มาร่วมกัน ทำให้ “ภาคธุรกิจโปร่งใส ต้านภัยคอร์รัปชั่น” กันเถอะครับ
.
.
ขอประชาสัมพันธ์หน่อยครับ
.
งานซื้อบ้านอย่างรอบรู้ครั้งที่ 7 เสาร์-อาทิตย์ที่ 9-10 สิงหาคม 2551 สำนักงาน สคบ. ร่วมกับ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จะจัดงาน ณ ศูนย์การค้ายูเนียนมอลล์ งานนี้ไม่ใช่งานจูงใจขายบ้านนะครับ เป็นการให้ความรู้ประชาชนเพื่อการซื้อบ้าน มีการอภิปรายให้ความรู้โดยไม่เคลือบแฝง บอร์ดนิทรรศการ การให้คำปรึกษา ฯลฯ ที่สำคัญฟรีครับ สนใจดูรายละเอียดและลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Seminars/buy_HomePro.php