ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: LEOidentity ที่ 22-07-2008, 06:32



หัวข้อ: อนาคต “เขาพระวิหาร” หลังคืนวัน “ประหาร”
เริ่มหัวข้อโดย: LEOidentity ที่ 22-07-2008, 06:32
“กัมพูชา จงเจริญ กัมพูชาจงเจริญ”  เสียงตะโกนดังก้องด้วยความปิติยินดีของชาวกัมพูชาดังขึ้นอีกครั้งหนึ่งทุกหนแห่ง
เมื่อได้ทราบข่าวว่า บัดนี้ “ปราสาทเขาพระวิหาร”อันศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่แล้ว !!!

        หากจำได้ เสียงแห่งชัยชนะเช่นนี้ มันก็เคยดังกึกก้องอยู่บนยอดภูผาแห่งพระศิวะผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นดินมาครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปี พ.ศ. 2505
เสียงนั้นดังว่า “สีหนุจงเจริญ กัมพูชาจงเจริญ สีหนุจงเจริญ กัมพูชาจงเจริญ”

            ความพ่ายแพ้ของประเทศใหญ่กับชัยชนะของประเทศเล็ก ที่ล้วนแต่มี "อุดมการณ์ชาตินิยม"
เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงรัฐชาติให้เป็นหนึ่งเดียวบนเวทีโลก บนเวทีรัฐประชาชาติ
 ประเทศใหญ่กลับต้องพ่ายแพ้ถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกคือการเสียอธิปไตยและปราสาท
และในครั้งที่สองนี้ ผมเรียกว่าเป็นการสูญเสีย “อำนาจการต่อรองแห่งรัฐในอนาคต”
ซึ่ง “อำนาจการต่อรอง” ที่มันสูญเสียไปนี่แหละ
ที่จะนำไปสู่ความสูญเสียปราสาทเขาพระวิหารและดินแดนทับซ้อนที่อยู่ข้างเคียงในวันข้างหน้า......อย่างสมบูรณ์
หากมัวแต่ไปสนใจกัน “ผิดประเด็น” !!!

        อำนาจการต่อรองที่สูญเสียไป คือความผิดพลาดครั้งสำคัญของรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ คุณนพดล ปัทมะ
ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยที่ “ลงนาม” ยอมรับยินยอม รับรองและผูกพัน
ให้ประเทศกัมพูชาสามารถเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกได้เพียงฝ่ายเดียว
โดยที่ไม่ได้มี “ความรอบคอบ รอบรู้และเปิดเผย”
จนมีข้อสังเกตจากหลายฝ่าย(ตรงข้ามทางการเมือง)ว่า
อาจทำไปเพราะมี “ผลประโยชน์แอบแฝง” ให้กับกลุ่มทุน นายทุน .......หรือนายใหญ่ !!!

       จึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายเพื่อประวิงเวลา หยุดยั้งการลงนาม
หรือ ชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารแต่เพียงฝ่ายกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว
โดยพยายามขอให้เกิดการขึ้นทะเบียนร่วมทั้งสองฝ่าย ให้เกิดการตรวจสอบ รอบคอบและเปิดเผย
ซึ่งก็ล้วนแต่ “ไม่ทันการ” ไปเสียแล้วในวันนี้

         กัมพูชาสามารถผลักดันการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร บนเวทีการประชุมระดับนานาชาติได้เป็นผลสำเร็จ
ท่ามกลางความขัดแย้งภายในประเทศของไทย
การไม่ยอมรับข้อผูกมัดและลงนามของคุณนพดล ปัทมะ จนมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญของไทยออกมา
รวมถึงถ้อยคำแถลง “ค้าน” ที่นายปองพล อดิเรกสาร
ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Unesco)
ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 32 ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา
ก็ไม่สามารถยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงการเป็นมรดกโลกของ “เขาพระวิหาร” ในครั้งนี้ได้

        แต่กระนั้น ถ้อยคำแถลง “ต่อหน้า” ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกนี่แหละ ที่จะเป็น “อนาคต” และ “หลักฐาน”
หน้าสำคัญของการพัฒนาปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์แบบ .....ที่ต้องมีประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย !!!

        การพัฒนาเขาพระวิหารในอนาคต จะเข้าไปสู่เป้าหมาย การเป็นมรดกโลกข้ามพรมแดน (trans boundary nomination)
หรือมรดกโลกที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชนสองแผ่นดินและธรรมชาติของป่าเขาพนมดงเร็กรวมเข้าเอาไว้ด้วย

        นี่คือเขาพระวิหารวันพรุ่งนี้ .....แต่ .....แล้วในวันนี้ล่ะ...เราสูญเสียหรือได้เปรียบอะไรบ้างจากการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารของกัมพูชา ?

        จากความเป็นจริงของการยึดครองดินแดน ไม่ใช่ความเป็นจริงบน “กระดาษแผนที่” ที่ลากกันไปมาจนปวดหัว ในทาง “กายภาพ”
 ชาวกัมพูชาสามารถครอบครองพื้นที่ทับซ้อนครอบคลุมรอบบริเวณปราสาทเขาพระวิหารไว้ได้หมดแล้ว.....
ครอบครองได้มากกว่าแผนที่แนบท้ายที่แนบไปพร้อมกับ Proposal ด้วยซ้ำ !!!

        เขตทับซ้อนส่วนหนึ่ง กินเข้ามาถึงเชิงฐานปฏิบัติการทหารพราน และมออีแดง ซึ่งในเขตนี้ฝ่ายไทยยึดครองอยู่

        เรียกกันว่า ต่างฝ่ายต่างครอบครองแผ่นดิน ส่วนแผนที่จะว่าอย่างไรมันเป็นเรื่องของแผนที่ เรื่องจริงไม่เคยเกี่ยวกัน !!!

        เรายังไม่เคยมีการเจรจาหรือปักปันพรมแดนรอบเขาพระวิหารได้เลยมาในอดีต ตั้งแต่ปี 2505 เขตทับซ้อนก็ยังคงเป็นเขตทับซ้อน
ตั้งแต่ช่องอานม้า ช่องเม็ก ยันไปตลอดแนวพรมแดนถึงจังหวัดตราด บางส่วนก็ปักใหม่บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ ก็ยังคงทับซ้อนกันต่อไป

        ถึงไม่มี “วิกฤตการณ์เขาพระวิหารในกรณีคุณนพดล ปัทมะ” กัมพูชาก็ยึดครองแผ่นดินส่วนที่ทับซ้อนที่เขาเชื่อว่าเป็นเขตเขาไว้อยู่ดี
ในขณะที่ฝั่งไทยของเราก็ยึดปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย ปราสาทสด๊กก๊อกธม ไว้ในการครอบครองใน "เขตทับซ้อน" เช่นเดียวกัน


       ความชัดเจนของแผนผังกัมพูชาที่แนบท้าย ในการขอขึ้นมรดกโลก “เฉพาะ”ตัวปราสาทเขาพระวิหารได้ขีดเส้นความรับรู้ถึง “สิทธิและอธิปไตย”
ของกัมพูชาเหนือเขาพระวิหารเฉพาะรูปห้าเหลี่ยมคางหมู ห่างจากบันไดชั้นล่างสุดออกมาเพียง 20 เมตรอีกครั้ง
เป็นการตอกย้ำแผนที่ที่รัฐบาลไทยยอมมอบคืนดินแดนส่วนดังกล่าวให้กับประเทศกัมพูชาตามคำสั่งศาลโลกปี 2505 ...อย่างชัดเจน


        เพราะฉะนั้นแผ่นดินส่วนนอกเหนือจากแผนที่แนบท้าย ที่ชาวกัมพูชาเข้ามาครอบครองตั้งเป็นบ้านเรือนและร้านค้า
ฝ่ายกัมพูชาจะต้องพิจารณาถอนออกจากเขตทับซ้อนและเขตของประเทศไทยก่อนที่จะมีการพัฒนาพื้นที่หรือบูรณะเขาพระวิหารในวันพรุ่ง

          ซึ่งนั่นก็หมายถึง จะต้องเริ่มมีการเจรจาปักปันเขตแดนและเจรจาความร่วมมือในการพัฒนาเขาพระวิหาร ในฐานะมรดกโลกร่วมกัน
ก่อนการเปิดโอกาสให้องค์กรนานาชาติเข้ามาในพื้นที่

        เพราะหากกัมพูชา ไม่ยินยอมให้มีการเจรจาปักปันดินแดนที่ชัดเจน
ฝ่ายไทยก็มี “สิทธิ” ที่จะไม่ให้องค์กรใด ๆ จากประเทศทั้ง 7 ชาติ
เข้ามาวางแผนหรือพัฒนาพื้นที่โดยรอบเขาพระวิหารตามเอกสารของฝ่ายกัมพูชาในพื้นที่ซ้อนทับนั้น



       ในวันพรุ่ง.... หากกัมพูชาและไทยสามารถเจรจาในความร่วมมือพัฒนาพื้นที่รอบเขาพระวิหารในอนาคตได้อย่างสันติและลดปัญหาความขัดแย้งแล้ว

        “พื้นที่เขตแดนทับซ้อน” ที่เคยเป็นปัญหามายาวนานกว่า 50 ปี ก็จะได้มีโอกาสแก้ไขปักปันและแบ่งผลประโยชน์ในครั้งนี้ไปพร้อมกัน

        และหากกัมพูชาไม่ต้องการพัฒนาพื้นที่โดยรอบที่ยังเป็น “พื้นที่พิพาท เขตแดนซ้อนทับ”
ก็จะไม่สามารถดำเนินงานให้ “เขาพระวิหาร” เป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์
์ตามพันธะที่ให้ไว้กับ Unesco ได้ ซึ่งก็จะนำไปสู่กระบวนการถอดถอนมรดกโลกได้

       ถึงแม้ว่าจะอ้างเรื่องของคณะกรรมการมรดกโลก ที่ให้มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ
แต่หากพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจน ยังไม่เจรจาปักปัน
ยูเนสโกก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือ “อธิปไตย” ของประเทศใด ๆ ทั้งสิ้นครับ !!!



       ดังนั้นการกล่าวอ้างผลเสียโดยอ้างว่า ไทยจะเสียดินแดน เสียอธิปไตยในอนาคตเพราะถูกบีบบังคับจากนานาชาติโดยยูเนสโกนั้น
เป็นการกล่าวที่ไม่ได้ดูประวัติศาสตร์ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมเลย

        เพราะองค์กรยูเนสโก้ คือองค์กรทางวัฒนธรรม ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์
ไม่ใช่องค์กรทางการเมืองหรือองค์กรทางทหารที่ทรงพลังอำนาจมากจนสามารถเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง
เพื่อให้เป็นดินแดนมรดกโลกของอีกประเทศได้ .....ไม่เคยมี !!!

       ถึงแม้แต่ศาลโลกก็เถอะ หากประเทศไทยในปี 2505 
ไม่ประสบมรสุมทางการเมืองในระดับนานาชาติภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยมีคู่กัดที่หนุนหลังกัมพูชาอย่าง "ประเทศฝรั่งเศส"
และเพื่อรักษาที่นั่งในองค์การสหประชาชาติ
 “รัฐสภาและรัฐบาลไทย”จึงยอมมีมติตามคำสั่งของศาล “คืน” ปราสาทและ "อธิปไตย"
เหนือเขาพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชา


        กัมพูชาถึงจะได้ครอบดินแดนเขาพระวิหารได้ ไม่ใช่ศาลโลกสั่งปุ๊บ .....ไทยต้องเสียดินแดนทันที !!!


        เมื่อ Unesco ไม่เคยเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยและการปักปันดินแดนระหว่างประเทศ เขาพระวิหารก็ยังคงเป็นดินแดนของชาวกัมพูชา
 ตามความยินยอม "คืน" ของประเทศไทยในปี 2505 และเป็นมรดกโลกที่สวยงาม น่าภาคภูมิใจแห่งใหม่ของชาวกัมพูชา.....ด้วยความยินดี


       หากแต่กรณีของ "เขตหรือดินแดนซ้อนทับ" กับ "พื้นที่พัฒนาโดยรอบเขาพระวิหาร" ก็เป็นคนละกรณีกัน
หากต้องการจะมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหารให้สมบูรณ์ในปัจจุบัน
ฝ่ายกัมพูชาก็คงจะต้องถอนผู้คนและร้านค้าออกจากแนวโดยรอบเขาพระวิหาร
และกลับไปพื้นที่ตาม “แผนที่แนบท้าย” ที่ขอขึ้นทะเบียนไว้เสียก่อน
และเปิดการเจรจาทวิภาคีกับฝ่ายไทยอย่างรวดเร็ว เพื่อกำหนดเขตแดนที่ชัดเจน
 
        และหากมีความพยายามในการขยายพื้นที่มรดกโลกตามแผนงานในอนาคต
ก็จะต้องมีการเจรจากันในเรื่องของการปักปันเขตแดนหรือการใช้ประโยชน์จาก "แผ่นดินทับซ้อน" ร่วมกันก่อน
ซึ่งจะต้องยินยอมให้ไทยขึ้นทะเบียนพื้นที่โดยรอบให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม "ร่วม" ในอนาคต
ดังคำแถลงค้านของคุณปองพล ที่ได้ให้ไว้ในท้ายการประชุม

       เพราะหากกัมพูชาที่ได้โอกาสจากการเปิดช่องว่างของคุณนพดล
ไม่ดำเนินการใด ๆ ให้เกิดการเจรจาแก้ไขวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปสู่ความสมานฉันท์และสันติภาพ
ก็จะทำให้ปัญหาของ ”พรมแดน” และ “ปราสาทเขาพระวิหาร” จะกลายเป็นปัญหาที่หลอกหลอนจิตใจชนทั้งสอง “รัฐชาติ” ต่อไปไม่สิ้นสุด
   


        ่ในกรณีที่คุณนพดล ได้การลงนาม หรือ รับรองเขตปราสาทเขาพระวิหาร โดย "พลการ"
หรือเพราะ “อาจ” มีเงื่อนไขของผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้น การลงนามที่ไม่เปิดเผยหรือปิดบังในครั้งนี้
มันได้ทำให้ประเทศไทย “เสียอำนาจในการต่อรองครั้งใหญ่”
ทำให้ “ชาติไทย” ที่เคยยิ่งใหญ่หรือถูกสั่งสอนมาว่าเรายิ่งใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์ ต้องเสียเปรียบประเทศเล็ก ๆ อย่างกัมพูชา
 ตามข้อกล่าวหา.....ทำให้เราไม่สามารถขึ้นทะเบียนร่วมเขาพระวิหารได้ในครั้งเดียวกัน ......ทำให้เราอาจเสียดินแดนในอนาคต
ทำให้เราถูก 21 ประเทศรุมรังแก 7 ประเทศเข้ายึดครองแผ่นดินซ้อนทับ
และเป็นการลงนามโดย "พลการ" ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย



          ในความเห็นของผม “อำนาจการต่อรอง” ที่เสียไปเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เพราะมันคืออำนาจที่สามารถผลักดันให้ชาวกัมพูชาออกจากดินแดนทับซ้อน
อำนาจในการ “บีบ” ให้ทางขึ้นกลับมาอยู่ในมือเราก่อนและค่อยขอเจรจาเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก “ร่วม” กันอีกครั้งในปีถัดไป

        แค่อำนาจต่อรองของชาติไทยที่หายไปนี้ ก็มีเหตุผลเพียงพอที่อยากให้รัฐมนตรีต่างประเทศ
คุณนพดลควรแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะของ “คนไทย” อย่างใดอย่างหนึ่ง !!!

        ถึงคืนวันพิพากษา “ประหาร” นพดล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
แต่เราคงต้องมานั่งคิดต่อกันว่า เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ใครจะมาเป็นแม่ทัพนายกองเพื่อเข้าเจรจาต่อรอง ในท่ามกลางความเสียเปรียบที่คุณนพดลและรัฐบาลได้สร้างไว้  ?

           คำตอบอยู่ไม่ไกล .....ใครก็ได้ ท่องคำนี้ไว้ในใจ เราต้องไม่เสียอธิปไตยที่ครอบครองอยู่ในวันนี้แม้แต่เพียงก้าวเดียว

          ส่วนในเขตแดนทับซ้อน ก็ขอฝากเจรจาให้เอาทางขึ้นคืนมาให้ได้ก่อนนะครับ !!!




บทความจาก http://www.oknation.net/blog/voranai/2008/07/09/entry-1
โดยคุณศุภศรุต

โปรดสังเกตข้อความที่ผมขีดเส้นใต้นะครับ