ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: วิหค อัสนี ที่ 08-07-2008, 23:18



หัวข้อ: การเมืองใหม่ที่ข้าพเจ้ามองเห็น
เริ่มหัวข้อโดย: วิหค อัสนี ที่ 08-07-2008, 23:18
การเมืองใหม่ที่ข้าพเจ้ามองเห็น

ตอนที่ 1

โดย วิหค อัสนี
8 กรกฎาคม 2551

จะขอบอกกล่าวให้ย้อนระลึกถึงจิตวิญญาณแห่งการปฏิรูปการเมือง เมื่อหลายปีก่อนโน้นกันสักหน่อย...

ถ้าใครยังจำได้ ตอนนั้นดูเหมือนเราจะมีความหวังอันสดใสเจิดจ้ากันมากมาย ว่าการเมืองไทยคงจะหลุดพ้นออกจากวังวนน้ำเน่าเดิมๆ ได้เสียที
แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความไร้เดียงสาค่อนข้างมาก
ตอนนี้ ดูเหมือนเราจะมืดมน สิ้นหวังเสียแล้ว มองไปทางไหนก็หาทางออกไม่เจอ
แต่ก็ได้ผ่านประสบการณ์และความเจ็บปวดมาพอดูแล้ว ความรู้ที่เราใช้ได้ผ่านการทดสอบ ลองผิดลองถูกมาอย่างหนักภายในไม่กี่ปีเท่านั้น

วันนี้ คงไม่มีเวลาไหนอีกแล้วนอกจากเวลานี้ ที่เราจะต้องรื้อฟื้นและทบทวนภารกิจใหญ่คือการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสังคมขึ้นมาใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากบทเรียนที่ได้รับมาทั้งหมด...ก่อนที่จะสายเกินไป

หลังจากได้เห็นและได้ฟังแบบร่าง "การเมืองใหม่" ที่เขาเสนอกันขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะหลายๆ รูปแบบ ผมก็จะขอเสนอแบบร่างที่ผมเห็นว่าดีบ้าง และก็จะต้องขอความเห็นจากท่านอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนและต่อยอดต่อไป เพราะตอนนี้ยังเป็นแบบร่างอย่างคร่าวๆ มากเท่านั้น

โดยการพัฒนา ปฏิวัติ ปฏิรูป หรืออภิวัฒน์ก็แล้วแต่จะเรียก ไปสู่การเมืองใหม่นี้ ผมพยายามจะเน้นวิถีทาง "ทำจากภายในออกไปภายนอก" "ทำจากเล็กไปหาใหญ่" และ "ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว" ให้มากที่สุด

มาเริ่มจากพื้นฐานที่สุดคือ อำนาจอธิปไตยที่เป็นของส่วนกลางของปวงชน รวมศูนย์เข้าไปที่ประมุขแห่งรัฐ (พระมหากษัตริย์) และถูกแบ่งสรรออกมาเป็นอำนาจ 3 ฝ่าย แต่เดิมจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

แต่ในหลักการเมืองใหม่ ขอเสนอการจัดแบ่งเป็นดังนี้คือ

(1) ฝ่ายบริหาร-พัฒนา

- ภารกิจหลักคือ บริหารราชการแผ่นดิน จัดสรรทรัพยากรส่วนรวมไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เน้นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ประสานประโยชน์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป และเป็นตัวแทนของประเทศชาติในประชาคมโลกเป็นหลัก
- ใช้อำนาจในลักษณะค่อนข้างอ่อนตัว ประนีประนอม แต่ก็ใช้อำนาจได้อย่างกว้างขวางและยืดหยุ่นมาก และเน้นเชิงรุก เน้นหลักรัฐศาสตร์
- ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเลือกตั้งมาตามเขตจังหวัดและตามพรรค คล้ายกับที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่ให้ถือว่าทำหน้าที่ฝ่ายบริหารทั้งหมด ให้ถือหลักว่า ส.ส. แต่ละคน ทำหน้าที่พิทักษ์ต่อรองผลประโยชน์ เป็นปากเสียงให้กับประชาชนที่เลือกตนมา และผลักดันแนวคิดของพรรคเป็นหลัก ยกเลิกการมีฝ่ายค้าน แต่อาจมีคณะรัฐบาลเงาซึ่งได้รับเสียงเป็นอันดับสองจากประชาชน พร้อมจะทำหน้าที่ต่อจากคณะรัฐบาลได้ถ้ามีปัญหา
- หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทั่วๆ ไป จะขึ้นกับฝ่ายนี้
- เชื่อมต่อกับภาคประชาชนคือ พรรคการเมือง องค์กรพัฒนาส่วนท้องถิ่น และองค์กรที่ทำงานในลักษณะของฝ่ายนี้


(2) ฝ่ายมั่นคง-ยุติธรรม

- ภารกิจหลักคือ คุ้มครองรักษาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน บังคับใช้กฎหมายรักษาความยุติธรรมในสังคม รักษาเอกราช ความมั่นคงของชาติและพิทักษ์พระราชอำนาจ
- ใช้อำนาจในลักษณะแข็งและเด็ดขาดที่สุด แต่ก็ถูกจำกัดขอบเขตในการใช้อำนาจมากที่สุด และเน้นเชิงรับมากกว่าฝ่ายบริหาร (ยกเว้นงานความมั่นคง) เน้นหลักนิติศาสตร์
- ประกอบด้วยส่วนย่อยคือฝ่ายมั่นคง มีกองทัพเป็นแกนหลัก และฝ่ายยุติธรรม มีสถาบันตุลาการเป็นแกนหลัก
- ตำรวจและอัยการ จะต้องแยกจากฝ่ายบริหารมาขึ้นกับฝ่ายยุติธรรม
- เชื่อมต่อกับภาคประชาชนคือ องค์กรอาสาสมัครเฝ้าระวังภัย อาสาสมัครความมั่นคงประเภทต่างๆ และองค์กรที่ทำงานในลักษณะของฝ่ายนี้


(3) ฝ่ายภูมิปัญญา

- ภารกิจหลักคือ รักษาองค์ความรู้และระบบคุณค่าของสังคม ดูแลการศึกษา-ศิลปะ-วัฒนธรรม-ศาสนา คุ้มครองรักษาสื่อมวลชนและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในสังคมให้เป็นไปตามปกติโดยไม่ปิดกั้นหรือบิดเบือน หยั่งวัดสำรวจความคิดเห็นและเป็นผู้ทำประชามติในเรื่องต่างๆ วิพากษ์และชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสังคม รวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษทางสังคมต่อบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ ให้คำปรึกษากับอีกสองฝ่าย และ คอยปรับสมดุลระหว่างอำนาจอีกสองฝ่ายที่เหลือ
- ใช้อำนาจในลักษณะเบาบางและมีผลโดยตรงน้อยที่สุด มีการจัดระบบภายในตนเองที่หลวมที่สุด แต่ก็เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมและกลไกส่วนอื่นๆ มากที่สุด และเปิดกว้างต่อสาธารณะมากที่สุด
- อาจจะให้วุฒิสภาเป็นแกนหลัก และมีองค์กรอิสระต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในลักษณะของฝ่ายนี้เป็นส่วนประกอบ
- เชื่อมต่อกับภาคประชาชนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด


แล้วอำนาจนิติบัญญัติล่ะ จะเอาไปไว้ไหน?

อำนาจนิติบัญญัติ คือการออกกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย และแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จะแบ่งสรรไปให้กับแต่ละฝ่ายเพื่อใช้ในขอบเขตภารกิจของตนโดยตรง

นั่นคือฝ่ายบริหารก็ออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานบริหารได้ ฝ่ายมั่นคงยุติธรรม และฝ่ายภูมิปัญญาก็มีอำนาจออกกฎหมายในขอบเขตเพื่อใช้ในงานของตน

แต่จะมีกฎหมายส่วนกลาง ตั้งแต่ระดับสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ ลงมาเป็นกฎหมายเสริมรัฐธรรมนูญ กฎหมายหลักมูลฐานทางอาญา,แพ่ง,การเมือง ฯลฯ และกฎหมายจำกัดขอบเขตการบัญญัติกฎหมายของแต่ละฝ่าย ที่ถือว่าจะต้องใช้มติของสองฝ่าย คือฝ่ายบริหารร่วมกับฝ่ายภูมิปัญญา ฝ่ายยุติธรรมร่วมกับฝ่ายภูมิปัญญา หรือไม่ก็ใช้ทั้งสามฝ่ายมาร่วมกัน (เช่นการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ) จึงจะแก้ไขได้


ยังมีต่อครับ ผมจะพยายามเรียบเรียงความคิดมาขยายให้เห็นการทำงานของผังการเมืองแบบใหม่นี้อีกเรื่อยๆ พร้อมกับที่เก็บข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไปพร้อมกัน

โปรดติดตามตอนต่อไป...