ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: นักปฏิวัติ ที่ 08-07-2008, 13:53



หัวข้อ: แนะนำหนังสือ เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม โดย ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ
เริ่มหัวข้อโดย: นักปฏิวัติ ที่ 08-07-2008, 13:53

ขอแนะนำหนังสือ เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม โดย ศรีศักร วัลลิโภดม “อภิญญ์เพ็ญ” และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ
http://www.matichonbook.com/promotion/vihan/   

ซึ่งมีการให้ข้อมูล และกรอบคิด ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเสนอทางแก้ปัญหาและเหตุผลประกอบ ที่สร้างความปรองดอง และน่าจะใช้เป็นบันทัดฐานต่อกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ เช่น การให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มากกว่าประวัติศาสตร์จักรวรรดินิยมอันเป็นมรดกของการล่าอาณานิคมของตะวันตก ผมขอยกตัวอย่างอ้างอิง 
ย่อหน้าสุดท้ายของคำนำ หน้า ๖

   “ข้าพเจ้าคิดว่าการที่ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการเป็นมรดกโลกร่วมกันนั้น น่าจะมีอย่างอื่นแอบแฝงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมากกว่า ซึ่งหาใช่เป็นผลประโยชน์ของคนท้องถิ่นไม่ แต่จะเป็นผลประโยชน์ที่โกงเอามรดกทางวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ไปทำกิจกรรทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ของคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในชาติและข้ามชาติเสียมากกว่า
   มรดกโลกหลายแห่งในปัจจุบันนี้ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่บรรดานายทุนข้ามชาติมาขอสัมปทานจากรัฐบาลที่เป็นเจ้าของประเทศกันเป็นแถวๆ ซึ่งปราสาทพระวิหารก็คงเป็นเช่นเดียวกันที่มีการเก็งกำไรการวางแผน และการแย่งชิงสัมปทานกัน จนเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมานั่นเอง”
                     
                           ศรีศักร วัลลิโภดม

ขอตัดส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทสักนิดหนึ่ง

หน้า 27

แก้ปัญหาประวัติศาสตร์แบบจักรวรรดินิยม : พื้นที่ No man’s land


   “หากประวัติศาสตร์ชี้ว่าเรื่องของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ กับพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นเรื่องของกษัตริย์ที่ไปจากดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นพื้นที่พรมแดน เพราะสมัยนั้นไม่มีเขตพรมแดน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับบริเวณเขมรต่ำสัมพันธ์กันอย่างไร รู้ว่าภูมิประเทศตรงนี้สูงหรือต่ำ บริเวณสันปันน้ำตรงไหนบ้าง บริเวณไหนเป็นเขตต่อแดนที่คนโบราณเขาถือว่าตรงนี้เป็น No man’s land คือไม่เป็นของใคร...”

หน้า 28

   “พื้นที่บริเวณที่ตั้งเขาพระวิหารไม่ได้เป็นของใคร กษัตริย์เขมรที่เข้ามาก็ต้องถวายความเคารพแก่ผีตนนี้ จึงเกิดศิลาจารึกที่พูดถึงว่า ได้สถาปนาศิวลึงค์แล้วให้พระนามว่า ศรีสิขเรศวร ซึ่งไม่ได้เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เป็นของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ใช่เป็นของคนเขมร แต่หากจะเดินผ่านต้องแสดงทำความเคารพยำเกรง”

   “ปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อจากเขาพระวิหารก็คือ ปราสาทตาเมือน เพราะอาจอยู่ในเขตเขมร ถ้าดูจากเส้นสันปันน้ำ…”

   “ถ้ามองในความเป็นจริง ตีความให้ดีก็จะไม่ได้เห็นว่า แต่ดั้งเดิมระบุว่าตรงนี้เป็นเขตเขมรตรงนี้เป็นเขตไทย แต่เป็นเขตที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำพิธีกรรมร่วมกัน”

หน้า 32

   “ทั้งหมดนี้เพื่อจะทำให้เห็นว่า พวกเราถูกหลอกให้ทะเลาะกัน เวลานี้เขมรได้เปรียบจากสิ่งที่ฝรั่งเศสทิ้งเอาไว้ นั่นคือ ประวัติศาสตร์แบบจักรวรรดินิยม ไปโทษเขมรฝ่ายเดียวไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหาต้องยืนยันว่ามาคุยกันใหม่ด้วยสายตาของคนในท้องถิ่นดั้งเดิม ก่อนที่พวกฝรั่งเศสหรือพวกเจ้าอาณานิคมจะมาสร้างความรู้ชุดใหม่ให้เป็นการเรียนรู้ใหม่เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน
   ข้อเสนอของ ท่านอธิบดี วีรชัย พลาศัย ว่ายกเลิกเขตแดนก่อนแล้วให้ยูเนสโกในฐานะผู้จัดทำมรดกโลกเข้ามาช่วยจัดการให้พื้นที่สาธารณะตรงนั้นไม่เป็นของใคร แล้วค่อยเจรจาตกลงกันภายหลัง
   เพราะฉะนั้น ต้องแก้ประวัติศาสตร์แบบจักรวรรดินิยมให้เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นมา ย่านนี้ ท้องถิ่นนี้ อยู่ร่วมกันอย่างไรท่ามกลางความหลากหลาย ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ใช้สิ่งสาธารณะร่วมกัน จำเป็นต้องเกิดการศึกษาแบบนี้ขึ้น ความรู้ชุดนี้เขาจะเอามาต่อรองไม่รังแกใคร จะเจรจาเพื่อพบกันครึ่งทางได้ไหม
   ไม่ต้องไปทะเลาะกับเขมรโดยไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ต้องจัดการให้มีการเจรจาพูดคุยกันก่อน ทำความเข้าใจในความหมายดั้งเดิมร่วมกัน เพราะปัญหาชายเขตแดนต้องตกลงกันด้วยสันติวิธี แบ่งประโยชน์เพื่อให้เข้าใจซึ่งกันและกัน และก้มหัวให้กัน”

(http://www.matichonbook.com/promotion/vihan/images/vihan2.jpg)