ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Aha555 ที่ 06-05-2008, 09:56



หัวข้อ: เครือข่ายแพทย์อาวุโสขยับขวางแก้รธน.ซ้ำเติมวิกฤติจับตา6หน.พรรคร่วมฯ...ปูดปฏิวัติ!
เริ่มหัวข้อโดย: Aha555 ที่ 06-05-2008, 09:56
หมออาวุโสขยับขวางแก้รธน.ซ้ำเติมวิกฤติจับตา6หน.พรรคร่วมฯ
6 พฤษภาคม 2551    กองบรรณาธิการ
http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&iDate=6/May/2551&news_id=158145&cat_id=501 (http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&iDate=6/May/2551&news_id=158145&cat_id=501)

จับตาประชุม 6 หัวหน้ากุมารทอง   โฆษกเพื่อแผ่นดินเผย "สุวิทย์-เติ้ง" ต่อสายตรงตลอด เหยียบเรือสองแคม ยันยังถือสัตยาบัน 5 ข้อ แต่หนุนพลังประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ แล้วกัน!


"เจ๊เป้า" แฉรู้จากข่าว  ยังไม่มีใครเชิญไปประชุม  ขณะที่เครือข่ายแพทย์อาวุโสขวางแก้ รธน.  ชี้เป็นการจุดวิกฤติชาติ  "จาตุรนต์" พูดไม่รู้เรื่อง เบลอ  ชักเหมือน "จิ๋ว" เข้าทุกวัน  อัดกลุ่มคัดค้านต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญ  เบี่ยงเบนมุ่งทำร้ายฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ทหารยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ   ด่าพันธมิตรฯ  ไม่เลื่อมใสประชาธิปไตยยุให้ปฏิวัติ แต่ยอมรับเงื่อนไขใกล้ปฏิวัติเต็มทน "วีระ" ปูดอีก 1-2 วันอาจมี เพราะมีคำสั่งให้ทหารขยับแล้ว

อังคารนี้  เครือข่ายแพทย์อาวุโส  นพ.บรรลุ  ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข   ออกแถลงการณ์เรื่องทางออกจากวิกฤติของสังคมไทย  โดยให้เหตุผลว่า  ท่ามกลางวิกฤตการณ์สังคมไทยเวลานี้  หนึ่งในวิกฤติความขัดแย้งแตกแยกที่นับวันจะก่อตัวรุนแรงและขยายผลกว้างขวางมากสุด คือการที่รัฐบาลละเลยปัญหาปากท้องประชาชน  มุ่งแต่แก้รัฐธรรมนูญด้วยวิถีทางที่สร้างความเคลือบแคลงครหาของสาธารณชนผู้รู้ผิดรู้ชอบ

นพ.มงคล  ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเครือข่ายแพทย์อาวุโส  ให้สัมภาษณ์ว่า  เครือข่ายแพทย์อาวุโสต้องการให้รัฐบาลสนใจปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้านซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ   มากกว่าการมุ่งแต่จะแก้รัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะซ้ำเติมความยุ่งยากให้แก่ประชาชน

ส่วนกรณีข้ออ้างที่ว่ารัฐธรรมนูญ  2550  ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะร่างออกมาในยุครัฐบาลทหารเผด็จการนั้น  นพ.มงคลกล่าวว่า   เรารู้ว่าที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง  เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร   ประชาชนก็ไม่เคยมีสิทธิ์อะไรหลังจากวันเลือกตั้ง  และลำพังการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตย 

ทั้งนี้   ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะร่างมาจากบรรยากาศอย่างไร แต่ก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาในการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพื่อป้องกันมิให้เกิดวงจรที่ไม่พึงประสงค์  โดยกำหนดการลงโทษผู้ซื้อเสียงด้วยโทษที่รุนแรงขึ้น  เพราะต้องการยกระดับประชาธิปไตยให้ดีขึ้น   โดยในส่วนการบังคับใช้กฎหมายก็ใช้กับคนทำผิด   ส่วนคนที่ไม่ได้กระทำผิดก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร  เราต้องให้ความมั่นใจในการอำนวยความยุติธรรมของศาล ใครผิดก็ต้องถูกตัดสินไปตามการกระทำนั้น

"ทำยังไงให้ประชาชนไม่เดือดร้อนทุกข์ยากอย่างที่เป็นอยู่  ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  มีแต่จะสร้างความแตกแยกซ้ำเติมประเทศชาติ  รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนมากกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ตอนนี้ควรให้เวลายาวๆ คิดให้ดีๆ เวลานี้ไม่เหมาะสมที่จะมุ่งแก้รัฐธรรมนูญ" นพ.มงคลกล่าว

ทั้งนี้  คณะแพทย์อาวุโสที่ร่วมแถลงประกอบด้วย   ศ.นพ.อารี  วัลยะเสวี  อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  นพ.ไพโรจน์  นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พญ.จุรี นิงสานนท์ แพทย์สตรีอาวุโส นพ.วิฑูรย์  อึ้งประพันธุ์  อดีตอาจารย์แพทย์ศิริราชพยาบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา นพ.ประมุข จันทวิมล เลขาธิการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)  และ นพ.มงคล  วันที่    7  พฤษภาคม  ซึ่งหัวหน้าพรรค 6 พรรคร่วมรัฐบาลจะหารือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีท่าทีจากพรรคเพื่อแผ่นดิน โดยนายไชยยศ จิรเมธากร โฆษกพรรค ให้สัมภาษณ์ว่า  พรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตรา  และขอสงวนความคิดเห็นบางส่วนไว้เสนอในขั้นต่อไป เพราะยังสามารถเสนอความเห็นได้อีกหลายขั้นตอน

โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดินบอกว่า  นายสุวิทย์  คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ต่อสายโทรศัพท์กับนายบรรหาร  ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย  เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะทั้ง 2 พรรคได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ต้น

นายไชยยศบอกว่า   มาตรา  309  นั้นสองพรรคมีจุดยืนร่วมกัน  แต่เชื่อว่าเวลานี้ยังไม่ใช่ร่างสุดท้ายที่พรรคพลังประชาชนจะเสนอจริง และยังสามารถแก้ไขได้

"เจ๊เป้า" งง! ยังไม่มีใครเชิญ

ด้านนางอนงค์วรรณ   เทพสุทิน   หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย  กล่าวว่า ยังไม่มีการประสานเรื่องการประชุม  6  หัวหน้าพรรคมาอย่างเป็นทางการ  ตนทราบข้อมูลจากสื่อเท่านั้น  และได้ยินว่าวันที่ 7 พฤษภาคมไม่ได้คุยเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบกันในพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น

แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น  นางอนงค์วรรณแจงว่า เป็นเรื่องของ ส.ส.ในสภา ที่จะต้องรับฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่ว่าจะแก้หรือไม่ หรือแก้แบบไหน

ขณะที่นายจาตุรนต์   ฉายแสง   อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย  ออกมาสนับสนุนให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่  3  (ส.ส.ร.3) ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง  สาธารณรัฐประชาชนจีน  ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ   ไม่แก้ปัญหาประเทศและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้   สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามการออกแบบรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร  หากไม่รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว มันจะพัฒนาไปเป็นวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ

"การคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีได้  แต่ตนคิดว่าการคัดค้านได้กลายเป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญคือ   ไม่ยอมให้แก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมีข้อเสียที่ต้องแก้ไขอีกมาก  และสิ่งที่ร้ายกว่านั้นคือ เกิดการเบี่ยงเบนประเด็นเป็นอื่นเพื่อมุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งเรียกร้องการยึดอำนาจคือให้ฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้งนั่นเอง"

นายจาตุรนต์กล่าวว่า  ที่อ้างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เพื่อให้คนทำผิดไม่ต้องรับโทษนั้น  หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ   คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ และไม่ควรทำแบบนั้น  แต่ปัญหาของรัฐธรรมนูญคือ กำหนดให้ผู้ไม่ได้ทำผิดร่วมรับโทษกับการกระทำความผิดของคนอื่น   ตรงนี้มันขัดหลักยุติธรรม และมุ่งทำลายกลุ่มบุคคลโดยไม่คำนึงผลเสียหายของระบอบประชาธิปไตย     

เขาบอกว่าขณะนี้มีการใช้สถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อกล่าวหาโจมตีทำลายล้างทางการเมืองโดยไม่อาศัยกฎหมายบ้านเมืองไปแก้ปัญหาเหมือนที่ผ่านมา   เช่นเหตุการณ์ก่อน   19  ก.ย. 2549  ก็มีกรณีเดียวกันนี้ และกล่าวหาว่ามีการก้าวล่วงสถาบัน  และเมื่อพิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหานั้นไม่จริง แต่เมื่อเกิดการยึดอำนาจไปจนบ้านเมืองเสียหายไปมาก ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ    เรื่องนี้คณะรัฐประหารมักหยิบเรื่องเหล่านี้มาใช้ประโยชน์และเป็นข้ออ้างการยึดอำนาจในการเมืองไทย

นายจาตุรนต์กล่าวว่า  หากจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จนั้น ก็ควรตั้ง ส.ส.ร. 3 โดยเชิญ ส.ส.ร.ปี  2540 เข้าร่วม เพราะน่าจะดีกว่าและเป็นประโยชน์ และหวังว่าการหารือของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้น่าจะหาข้อสรุปได้

"ความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ตั้ง  ส.ส.ร.นั้น  น่าจะทำได้ยากกว่าและไม่น่าจะสำเร็จ เพราะหากในช่วงแก้ไขนั้นเกิดเสียงคัดค้านมากกว่าเสียงสนับสนุน  หรือพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจถอยได้  ฉะนั้นขอย้ำว่าอำนาจในการแก้ไขนั้นเป็นของรัฐบาลและรัฐสภา  แต่ผมเสนอวิธีในการให้ประชาชนมีส่วนร่วม และลดความรู้สึกว่าเป็นการแก้ไขกันเองในกลุ่มเล็กๆ"

นายจาตุรนต์ยังชี้ว่า การไม่ลงประชามติ  ไม่สวนทางเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้วว่าจะทำหรือไม่ทำประชามติก็ได้   เพราะเป็นสิทธิของผู้แก้ไข และตนสนใจเรื่องประชามติเช่นกัน แต่ไม่แน่ใจว่าควรทำก่อนหรือหลังการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซัดพันธมิตรฯ ยุปฏิวัติ

ส่วนกระแสข่าวว่าอาจเกิดการรัฐประหารอีกครั้งนั้น   นายจาตุรนต์บอกว่า ได้รับทราบข่าวสารเพียงว่าไม่มีใครคิดทำรัฐประหาร  แต่การขู่และอยากให้การรัฐประหารเกิดขึ้นของฝ่ายพันธมิตรฯ บางคนที่เสนอแนวทางนี้  โดยเนื้อหาสำคัญที่ใช้โจมตีทางการเมืองในช่วงนี้นั้น  มักอ้างเนื้อหาที่เข้าใจว่าอยากสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร

"ใช้เหตุผลเดิมๆ  เหมือนช่วงก่อนวันที่   19 กันยายน คือมุ่งทำลายล้างคนบางคนและบางกลุ่มโดยใช้วิธีการใดๆ ก็ได้ แล้วให้ทหารออกมายึดอำนาจ  คนพวกนี้ไม่คำนึงและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะคิดเพียงว่าทำอย่างไรก็ได้ให้กำจัดคนบางคนเท่านั้น  โดยให้ทหารออกมาอีก  คนพวกนี้ไม่เลื่อมใสรัฐธรรมนูญจริง   และยังอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีและแก้ไขไม่ได้นั้น   ความจริงแล้วไม่เลื่อมใสและไม่เชื่อมั่นประชาธิปไตย  ผมพูดแบบนี้หมายความว่า คนบางคนในกลุ่มพันธมิตรฯ และไม่น่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ที่คิดและจะทำเรื่องนี้"

นายจาตุรนต์กล่าวว่า  การรัฐประหารเกิดจากการอ้างเหตุผลต่างๆ  และเหตุผลการยึดอำนาจครั้งที่แล้วกับเหตุผลวันนี้มันคล้ายกัน   และหากพูดในระยะยาวนั้น  ประเทศไทยใช่ว่าจะปลอดภัยจากการรัฐประหาร  ฉะนั้นควรช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจว่า  การรัฐประหารนั้นมันเลวร้ายที่สุด และไม่ควรเกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม  หากทหารจะไม่ทำอีกมันก็ดี   และคนที่เรียกร้องให้ทหารก่อการยึดอำนาจอีกนั้น ประชาชนควรประณามว่าไม่ใช่ผู้ที่มีเจตนาดีกับบ้านเมือง

"ผมมองว่าหากมันจะเกิดขึ้นคงไม่เร็วนัก   แต่หากปล่อยไว้นานๆ ประชาชนจะไม่พอใจรัฐบาลและเกิดวิกฤติ   แล้วหันไปมองว่าต้นเหตุต่างๆ มาจากรัฐธรรมนูญที่สมควรแก้ไข  หรืออาจเกิดการโจมตีอย่างรุนแรงของสองฝ่าย  ทหารก็ออกมาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และตรงนี้มันอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต  ฉะนั้นผมก็บอกว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วเพื่อให้บ้านเมืองพ้นจากวิกฤติ"

ถามว่าเสถียรภาพรัฐบาลในช่วงนี้เป็นอย่างไร  นายจาตุรนต์ตอบว่า ปัญหาที่มาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายการยุบพรรคเป็นปัญหาใหญ่   หากเป็นไปตามระบบปัจจุบัน  มีความเป็นไปได้ที่นำไปสู่การยุบ 3 พรรค  นักการเมืองจำนวนมากจะโดนเพิกถอนสิทธิทางการเมืองที่มาจากการกระทำความผิดของคนบางคน  และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วรัฐบาล  หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

นายนพดล   ปัทมะ   รมว.การต่างประเทศ  ให้สัมภาษณ์ว่า ที่นายสมัคร  สุนทรเวช นายกฯ  พูดถึงการปฏิวัตินั้น   เป็นการพูดในบริบทว่าจะไม่มีการปฏิวัติ ซึ่งต่างชาติเข้าใจดี ตนอยากเตือนรัฐมนตรีคนอื่นว่า ตอนนี้ควรจะต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน  และอยากให้พูดเรื่องการเมืองให้น้อยลง  ใครวิจารณ์อะไรมาก็รับฟัง และก้มหน้าทำงานต่อไป

นายนพดลกล่าวถึงใบปลิวโจมตีประธานองคมนตรีที่ประเทศอังกฤษว่า   บ้านเมืองเราต้องการความปรองดองมาก  บ้านเมืองเราเหมือนไก่ที่จะถูกเชือด แต่ยังจิกตีกัน  ตนไม่เห็นด้วยกับการโจมตีไม่ว่าใครก็ตาม   โดยเฉพาะคนที่มีสถานะในบ้านเมือง   เราต้องให้ความเคารพ  ไม่อยากให้มีปัญหาการเมืองให้รัฐบาลมาแก้ไข  อยากให้รัฐบาลเรื่องปากท้อง คงต้องให้สถานทูตไปดู ช่วยดูว่าเป็นกระบวนการอย่างไร จริงหรือไม่ ถ้ารู้ตัวก็อยากให้ยุติ

ซักว่ามีความเชื่อมโยงกับ  พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่  รมว.การต่างประเทศตอบว่า  เป็นการพยายามหวังผลทางการเมือง และไม่มีเหตุผล ความเห็นส่วนตัวเป็นการจุดประเด็นการเมืองสร้างให้มีปัญหา เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำ

"อภิสิทธิ์" เฉ่งร่าง รธน.ตัดแปะ

ที่พรรคประชาธิปัตย์   นายอภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วม  ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรไปทบทวน  เพราะสมัยประชุมใกล้จะหมดแล้ว   ควรที่จะเลือกว่าจะตั้งกรรมาธิการศึกษาร่วมกัน หรือตกลงในแนวทางที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง   ซึ่งถ้าเป็นไปในแนวทางดังกล่าวฝ่ายค้านก็จะสนับสนุน

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า   เท่าที่เห็นร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล   เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่ได้คิดอะไรนอกจากเป้าหมายในเหตุการณ์ปัจจุบัน   เนื่องจากใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการตัดแปะ บทเฉพาะกาลมีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่ง  ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีความตั้งใจปรับปรุงรัฐธรรมนูญกันจริงๆ  ส่วนการแปรญัตติปล่อยให้เป็นไปโดยเสรี ไม่มีการพูดคุยในกรอบกันก่อน ตนเกรงว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือจะยืดเยื้อมาก

"ผมอยากเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน  อยากให้ลองไปพิจารณาเรื่องกรรมาธิการศึกษา หรือการตั้ง ส.ส.ร.เป็นทางเลือก"

นายอภิสิทธิ์ตอบโต้กรณีที่นายจาตุรนต์ระบุว่า  คนที่ออกมาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญคือต้องการปกป้องและพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้ร้ายกับฝ่ายตรงข้ามว่า  พรรคประชาธิปัตย์มีแต่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น   แต่ไม่เห็นด้วยกับคนที่เอาประชาธิปไตยมาอ้างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง   ซึ่งนายจาตุรนต์ก็น่าจะมองออก ลองกลับไปดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขโดยพรรคพลังประชาชนที่เสนอมาครั้งแรก   นายจาตุรนต์ตอบได้หรือไม่ว่าเกี่ยวข้องอะไรกับการปรับปรุงระบบการเมือง  นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ มาตรา 237 และ 309

นายบัญญัติ   บรรทัดฐาน  ประธานคณะทำงานศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ  พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป  จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้เกิดวิกฤติประเทศอย่างรุนแรงที่สุด   เพราะขณะนี้แม้จะไม่มีเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ  เราก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องอยู่แล้ว

"เท่าที่ผมได้พูดคุยกับ  ส.ส.บางส่วนในรัฐบาลเองก็ยอมรับว่ามีความกังวล  และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขที่กำลังทำอยู่  และกังวลว่าประชาชนจะรับไม่ได้ โดยเฉพาะ ส.ส.ใหม่เขาไม่อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่  และในฐานะคนไทยก็ไม่อยากให้มีความขัดแย้ง  เพราะทุกวันนี้เราก็กำลังวิกฤติข้าวยากหมากแพงอยู่แล้ว ทำไมต้องไปซ้ำเติมให้หนักยิ่งขึ้น"

นายบัญญัติกล่าวว่า แม้จะมีการตั้งกรรมาธิการ แต่ก็มี 2 จุดที่ต้องจับตามอง คือแม้จะมีการเอาคนนอกมาเป็นกรรมาธิการด้วย   แต่สุดท้ายไม่พ้นพรรคพลังประชาชนที่เป็นรัฐบาลจะเป็นคนเลือกเอง  ก็ไม่มีประโยชน์อะไร  และแม้จะมีการแปรญัตติ แต่อย่าลืมว่าไม่ว่าจะแปรอย่างไรก็ต้องอยู่ในกรอบของหลักการและเหตุผล ไม่สามารถขัดแย้งได้ ฉะนั้นเจ้าของร่างสามารถที่จะกำหนดหลักการ  เหตุผลอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว แม้คนทั่วไปไม่รู้ แต่นักการเมืองด้วยกันก็มองออกและรู้เท่าทัน

"ผมไม่อยากใช้คำว่ารัฐบาลหวังหลอกต้มประชาชน  แต่มันก็เป็นเช่นนั้น การบอกจะเอาตามร่างปี 40 แต่ไปตัดมาตรา 237 และ 309 อย่างนี้ไม่หลอกก็เหมือนหลอก"

เขาชี้ว่า   ฝ่ายที่ยังพอถ่วงดุลได้คือพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง  5  พรรค  ที่ควรแสดงความกังวลให้ปรากฏว่าสิ่งที่พลังประชาชนกำลังทำอย่างนี้ไม่ดี  จะเกิดปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเราหวังพึ่งพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ เชื่อว่าวิกฤติครั้งใหญ่อย่างแน่นอน

"วีระ" เชื่อ 1-2 วันปฏิวัติ

นายวีระ   สมความคิด  เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น (คปต.) ระบุว่า  มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่าจะมีการรัฐประหารนั้น   ตนยืนยันว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน   เพราะรับทราบจากทหารที่ใกล้ชิดกับตนว่า  ขณะนี้มีผู้คุมกำลังได้เรียกตัวทหารเข้ากรมกองตั้งแต่วันนี้   5  พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และซึ่งอาจจะเกิดการณ์ดังกล่าวขึ้นในคืนนี้ หรืออีก 1-2 วันข้างหน้า

ส่วนฝ่ายที่จะกระทำนั้นมี  2 ฝ่าย คือฝ่ายของทักษิณและของสถาบัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะชิงจังหวะได้ก่อน ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศเร็วกว่ากำหนดด้วย

"ผมเห็นว่าฝ่ายของทักษิณมีความพยายามจะทำรัฐประหารอยู่แล้ว  เนื่องจากเป็นล้มการกระดานใหม่ทั้งหมด   ซึ่งมีผลดีกว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" เลขาฯ คปต.ระบุ

นายตวง  อันทะไชย  ส.ว.สรรหา กล่าวถึงการเตรียมแก้รัฐธรรมนูญ 50 ของพรรคพลังประชาชนว่า  จุดยืนของตนเหมือนกับนายประสพสุข  บุญเดช  ประธาน ส.ว. ที่ต้องการให้มีการใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน   1  ปี เพื่อศึกษาดูข้อดีข้อเสีย เพราะเห็นว่าการนำรัฐธรรมนูญ  40 มาตัดแปะไม่เหมาะสม เพราะมีข้อบกพร่องหลายประการ อาทิ การละเมิดและครอบงำองค์กรอิสระ

ทั้งนี้  จากการพูดคุยกับ  ส.ว.สรรหาและเลือกตั้ง หลายคนอึดอัดและไม่เห็นด้วยในการแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ เพราะมิใช่เรื่องเร่งด่วน  แต่หากพรรคพลังประชาชนดึงดันที่จะแก้ไข  ทางเดียวที่จะทำได้คือ การแปรญัตติในวาระ  1  เพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 291 โดยอาศัยเสียงของ ส.ส.และ ส.ว. มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเพื่อขอแก้ไขให้การแก้รัฐธรรมนูญให้มีการตั้ง  ส.ส.ร.ได้ ทั้งนี้ จากการประเมินของเสียง ส.ว.ขณะนี้ไม่เพียงพอ ดังนั้นหากได้ความร่วมมือจากพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถจะเสนอแก้ไขได้

"คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์คงไม่มีปัญหาในการขอคะแนนสนับสนุน   แต่ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดินและพรรคชาติไทยจะยินยอมหรือไม่นั้นพูดลำบาก ได้แต่หวังว่า  2 พรรคดังกล่าวจะยังจำเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลทั้ง 5 ข้อได้" ส.ว.สรรหาระบุ.





หัวข้อ: Re: เครือข่ายแพทย์อาวุโสขยับขวางแก้รธน.ซ้ำเติมวิกฤติจับตา6หน.พรรคร่วมฯ...ปูดปฏิวัติ!
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 06-05-2008, 15:44
คนในสังคมที่มีการศึกษา ต่างออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการ รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ  :slime_agreed:

ทุกคนไม่คัดค้าน ถ้าจะมีการแก้ไข แต่ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม และไม่จำเป็นต้องรีบร้อน  :slime_whistle:

รัฐบาลสมัคร อยู๋ได้ 4 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มีเวลาแก้ถมเถ ใยต้องรีบร้อน  :slime_cool:

เงือนไขการรีบแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เหลือความชอบธรรมอะไรแล้ว หลังจากปั้นเรื่องโกหกกันมา แต่จำเป็นจะต้องตะแบง แถก แถ แก้ให้ได้โดยด่วน เพราะคดีของนายงวดเข้ามาทุกขณะ ใกล้จะเริ่มสอบปากคำพยานแล้ว ซึ่งการสอบนั้น เร็วจนน่าตกใจ คาดกันว่า ก่อนเดือนตุลาคมนี้จะสอบพยานได้หมด และนัดวันพิพากษาได้ไม่เกินพฤศจิกายน อย่างล่าช้าก็ไม่เกินธันวาคม  :slime_fighto:

หากลากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึงหนึ่งปีหรือสองปี ช่วยคนที่จะติดคุกได้ไม่ทันแล้ววววว  :slime_smile2:

รอมุขใหม่ ที่พวกเอี๊ย จะงัดมาแล่นดีกว่า  :slime_fighto: