ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: jerasak ที่ 13-03-2008, 17:02



หัวข้อ: ==คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม คดีทักษิณเช็คเด้ง หมายเลขแดงที่ 149/2532==
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 13-03-2008, 17:02
ระหว่างที่รอดูการดำเนินคดีคุณทักษิณ ที่ยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นได้เมื่อไหร่
พอดีผ่านไปเจอคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม ปี 2532 คดีคุณทักษิณเช็คเด้ง

ก็เลยนำมาให้อ่านกันไปพลางๆ นะครับ คิดว่าหลายๆ ท่านอาจยังไม่เคยได้เห็น
ลองดูลีลาการสู้คดีในสมัยก่อนดูนะครับ แล้วรอดูรอบใหม่เปรียบเทียบกัน
คัดลอกมาจากเว็บ adslthailand ซึ่งอ้างอิงต้นฉบัยจาก thaiinsider อีกทีครับ  :slime_smile:

http://www.adslthailand.com/mobile/thread.php?topic_id=26630
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คำพิพากษา

ในพระประมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่ 149/2532 ศาลฎีกา

วันที่ 20 มกราคม 2532

ความ แพ่ง

ระหว่าง นางชม้อย เชื้อประเสริฐ โจทก์

นายสันต์ สมิตเวช จำเลยที่ 1
พันตำรวจตรีทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 2

เรื่อง ตั๋วเงิน

จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาเชียงใหม่ เลขที่ 1076909 ลงวันที่ 29 กันยายน 2525
จำนวนเงิน 1,300,000 บาท (หนึ่งล้านสามแสนบาทถ้วน) เป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือ จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้
จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเพื่อรับรองเป็นประกัน สำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อถึงกำหนดวันที่ลงเช็ค โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชี
ของโจทก์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสยามสแควร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ปรากฏว่า ธนาคารตามเช็ค
ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 โดยให้เหตุผลในใบคืนเช็คว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน
ตามเช็คหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยเสีย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2525
จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 1 ปี รวมเป็นดอกเบี้ย 97,500 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอีก
97,500 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ถึงจำนวนเงินตามเช็คตามฟ้อง โดยเป็นหนี้เพียง 750,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปแล้ว
บางส่วน โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละห้าถึงเจ็ดต่อเดือน และนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบรวมเป็นเงินต้นเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้อง
รับผิดใช้เงินตามฟ้องทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คตามฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายและได้เช็คมาโดยไม่สุจริต ลายมือชื่อด้านหลังเช็คที่โจทก์อ้างว่า
เป็นลายมือชื่อผู้ค้ำประกันการจ่ายเงินตามเช็ค มิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า
โจทก์ได้เช็คพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ชนิดใด ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจะให้การต่อสู้อย่างไรและเกี่ยวข้องกับเช็คตามฟ้อง
ในทางใด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ
เป็นผู้สลักหลัง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 1,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไป นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2525
จนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์ก็นำสืบว่า เมื่อเดือนกันยายน 2523 จำเลยที่ 2 ได้ซื้อโรงภาพยนตร์พร้อมที่ดิน
จากนายธรรมนนท์ สมิตเวช บิดาจำเลยที่ 1 ในราคา 8,500,000 บาท แต่ระบุในสัญญาไม่ถึง 8,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2
ให้นางพจมาน ชินวัตร ภริยาลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้ความยินยอม ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญา
ขายที่ดิน ลงวันที่ 28 กันยายน 2523 เอกสารหมาย จ.3 ได้ชำระราคาเป็นเงินสดบางส่วน ที่เหลือชำระเป็นเช็คหลายฉบับ โดยจำเลยที่ 2
เป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คที่จำเลยที่ 2 ออกให้เพื่อชำระค่าโรงภาพยนตร์และที่ดินมาชำระหนี้โจทก์ 3 ฉบับคือ เช็คธนาคารกสิกรไทย
สาขาสะพานกรุงธน ลงวันออกเช็ควันที่ 29 กันยายน 2524 จำนวนเงิน 1,800,000 บาท และเช็คธนาคารเดียวกัน ลงวันออกเช็ควันที่
29 กันยายน 2525 จำนวนเงิน 1,300,000 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ส่วนเช็คอีกฉบับหนึ่ง
ลงวันออกเช็ควันที่ 29 กันยายน 2526 จำนวนเงิน 1,800,000 บาท ไม่ได้ถ่ายสำเนาไว้ เมื่อเช็คตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมายเลข จ.4
ถึงวันออกเช็ค โจทก์ได้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว ปรากฏตามสำเนาภาพถ่าย
ใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4

โจทก์จึงติดต่อให้จำเลยที่ 2 มาชำระเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยที่ 2 นัดให้โจทก์ไปพบที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 2 ที่กรมตำรวจในวันที่
16 เมษายน 2525 ครั้นถึงวันนัดโจทก์ นายนภศูล สวัสติเวทิน ทนายโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไปพบจำเลยที่ 2 ที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 2
ได้มีการเจรจากัน ในที่สุดจำเลยที่ 2 บอกว่า จะออกเช็คให้ใหม่และขอเช็คเก่าคืน แต่ในขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้เปิดบัญชีใหม่ ขอให้
จำเลยที่ 1 ออกเช็คไปก่อน โดยจำเลยที่ 2 สลักหลังเป็นประกันให้ โจทก์ยอมตกลงในวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คให้โจทก์ 3 ฉบับ
โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังต่อหน้าโจทก์และนายนภศูลคือ เช็คธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาเชียงใหม่ ลงวันออกเช็ควันที่
29 กันยายน 2525 จำนวนเงิน 1,300,000 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้
เช็คธนาคารเอเชียทรัสต์ จำกัด สาขาเชียงใหม่ ลงวันออกเช็ควันที่ 1 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน 1,800,000 บาท และเช็คธนาคาร
เอเชียทรัสต์ จำกัด สาขาเชียงใหม่ ลงวันออกเช็ควันที่ 1 ตุลาคม 2527 จำนวนเงิน 1,800,000 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสาร
หมาย จ.7 และ จ.8 ตามลำดับ (โจทก์ขออนุญาตส่งสำเนาภาพถ่ายแทน เพราะต้นฉบับจะนำไปดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่)
ครั้นเช็คตามฟ้องถึงวันออกเช็คแล้ว โจทก์เรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 โจทก์ทวงถาม
ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คตามฟ้องแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยเสีย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 รู้จักโจทก์ แต่ไม่เคยมีหนี้สินผูกพันกับโจทก์ และไม่เคยออกเช็คตามฟ้องให้โจทก์ เมื่อพุทธศักราช 2523
จำเลยที่ 2 ซื้อโรงภาพยนตร์และที่ดินจากบิดาจำเลยที่ 1 ในราคา 8,500,000 บาท ได้ชำระราคาเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาสะพานกรุงธน
รวม 5 ฉบับ จำนวนเงิน 1,300,000 บาท 1 ฉบับ, จำนวนเงิน 1,800,000 บาท 4 ฉบับ ลงวันออกเช็คห่างกันฉบับละ 1 ปี จำเลยที่ 2 ตกลง
กับจำเลยที่ 1 ว่าไม่ให้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ได้มีการนำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 แล้วทุกฉบับ วันที่ 26 เมษายน 2525
จำเลยที่ 2 ลาป่วยไม่ไปทำงาน

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คตามฟ้องแล้วมอบให้โจทก์ เมื่อถึงวันออกเช็คแล้ว โจทก์นำเช็คตามฟ้อง
ไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้
บรรยายถึงมูลหนี้ตามเช็คจึงขาดสาระสำคัญไปนั้น เห็นว่า เช็คตามฟ้องเป็นเช็คออกให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ และตามกฎหมายถือว่าผู้ถือเป็นผู้ทรง
และบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2
ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลัง เมื่อถึงวันออกเช็คแล้ว โจทก์นำเช็คตามฟ้องเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลย
ทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ แม้มิได้บรรยายถึงมูลหนี้ก็ถือได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา
และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว จึงไม่เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้สั่งลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คตามฟ้อง และโจทก์เบิกความเท็จไม่น่าเชื่อถือ จะเห็นได้จากการที่โจทก์
เบิกความในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คตามฟ้องและเช็คอื่นอีก 2 ฉบับ ที่ที่ทำงานของ
จำเลยที่ 2 ที่กรมตำรวจ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2525 แต่ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 52/2527 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่โจทก์ฟ้อง
จำเลยที่ 1 เป็นจำเลย ในข้อหากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โจทก์ฟ้องและเบิกความว่า จำเลย
(จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) สั่งจ่ายเช็คตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.7 ในคดีนี้ (ซึ่งโจทก์นำสืบในคดีนี้ว่า ออกพร้อมกับเช็คตามฟ้องคดีนี้)
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2525 และในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 24358/2527 ของศาลอาญาที่จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหา
เบิกความเท็จ นายนภศูล ทนายโจทก์ก็ได้เบิกความว่า โจทก์กับนายนภศูลไปพบจำเลยที่ 2 ที่ที่ทำงานของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่
26 เมษายน 2525 จำเลยที่ 2 มิได้ไปทำงานเพราะลาป่วย มีใบลาเป็นหลักฐาน คดีจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลัง
เช็คตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คให้จำเลยที่ 1 เพราะผู้ซื้อโรงภาพยนตร์และที่ดินคือ นางพจมาน ภริยาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2
ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น โจทก์มีตัวโจทก์และนายนภศูลทนายโจทก์คนเดิมมาเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2
ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คตามฟ้อง และเช็คตามสำเนาภาพถ่ายหมาย จ.7 และ จ.8 ที่ที่ทำงานของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2525
ปรากฏรายละเอียดตามที่ศาลฎีกายกขึ้นกล่าวในข้อนำสืบของโจทก์

ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 อ้างใบลาหยุดราชการในวันที่ 26 เมษายน 2525 เป็นพยาน เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่า โจทก์เบิกความเท็จ
พยานหลักฐานของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือและเชื่อไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คตามฟ้อง จำเลยที่ 2 อ้างอิง
ข้อเท็จจริงในฎีกาว่า เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 52/2527 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์บรรยายฟ้อง
และเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2525 ตามสำเนาภาพถ่ายคำฟ้องและคำให้การพยานโจทก์ท้ายฎีกา
เอกสารหมายเลข 1 และหมายเลข 2 และนายนภศูล ทนายโจทก์คนเดิมเบิกความเป็นพยานโจทก์ (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ในคดีอาญา
หมายเลขดำที่ 24358/2527 ของศาลอาญาว่า โจทก์และนายนภศูลไปพบจำเลยที่ 2 ที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 2 ที่กรมตำรวจ
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2525 มิใช่วันที่ 16 เมษายน 2525 ตามสำเนาภาพถ่ายคำให้การพยานเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 3

พิจารณาแล้วเห็นว่า เดิมนายนภศูลเป็นทนายโจทก์ในคดีนี้ และเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์และเรียงฟ้องในคดีอาญา หมายเลขดำที่
52/2527 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่า ในคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาแล้ว นายนภศูลในฐานะทนายโจทก์ยื่นคำร้อง ลงวันที่
6 สิงหาคม 2530 ขอถอนฟ้องโดยอ้างว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงกันแล้ว จำเลยที่ 2 รับสำนำคำร้องแล้วไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมเพื่อสอบถามเรื่องโจทก์ขอถอนฟ้อง ถึงวันนัด โจทก์และทนายคนใหม่มาศาลแถลงว่า โจทก์ไม่เคยตกลง
หรือยินยอมให้นายนภศูลถอนฟ้องดังที่นายนภศูล ยื่นคำร้องไว้และยืนยันขอดำเนินคดีในขั้นฎีกาต่อไป

ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เห็นว่า คำฟ้องในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 52/2527 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่
และคำเบิกความของนายนภศูลในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 24358/2527 ของศาลอาญา หาทำให้พยานหลักฐานของโจทก์
ไม่น่าเชื่อถือและฟังไม่ได้ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ ที่โจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คเมื่อวันที่
26 เมษายน 2525 อาจเกิดจากความหลงถือหรือต้องเบิกความไปตามคำฟ้องก็ได้ อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อ
เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 จะลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังในเช็คตามฟ้องในวันที่ 16 หรือวันที่ 26 เมษายน 2525 ก็หาใช่
สาระสำคัญไม่

ในปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบปฏิเสธว่า ลายมือชื่อผู้สลักหลังในเช็คตามฟ้อง
มิใช่ลายมือชื่อของตน ในเรื่องของมูลหนี้นั้น จำเลยที่ 2 ก็ได้นำสืบว่า เมื่อพุทธศักราช 2523 จำเลยที่ 2 ซื้อโรงภาพยนตร์และที่ดิน
จากบิดาจำเลยที่ 1 ในราคา 8,500,000 บาท ชำระราคาเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาสะพานกรุงธน 5 ฉบับ จำนวนเงิน
1,300,000 บาท 1 ฉบับ จำนวน 1,800,000 บาท 4 ฉบับ เป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ข้อนำสืบดังกล่าว....กับพยานหลักฐาน
ของโจทก์ แต่ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 ทุกฉบับแล้วนั้น ข้อนำสืบข้อนี้
มีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ลอยๆ เท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า
จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คตามฟ้อง และเหตุที่จำเลยที่ 1 จะออกเช็คตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลัง
ก็เกิดจากมูลหนี้ดังที่โจทก์นำสืบ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คตามฟ้องให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้สลักหลังในเช็คตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาได้มีคำสั่งในเรื่องนี้ไว้แล้ว
จึงไม่สั่งซ้ำอีก

พิพากษายืนให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์

องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา
นายบุญส่ง คล้ายแก้ว
นายประมาณ ชันซื่อ
นายนิเวศน์ คำผอง

------------------------------------------
ข่าวจากทีมงาน ThaiInsider.Com 06 November 2005 21:21


หัวข้อ: Re: ==คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม คดีทักษิณเช็คเด้ง หมายเลขแดงที่ 149/2532==
เริ่มหัวข้อโดย: Sweet Chin Music ที่ 13-03-2008, 17:28
เซฟเก็บไว้นานมากครับ

เดี๋ยวพวกลิ่วล้อ ก็ออกมาโวยวาย ชอบขุดประวัติของเก่า

นักธุรกิจ ต้องมีบ้างที่ไม่มีเงินมาหมุน ไม่มีใครอยากติดเงินหรอก

แต่รู้หรือไม่ นักธุรกิจ โดนคดีเช็คเด้ง เครดิตหายวับๆๆๆๆๆๆ