ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: ScaRECroW ที่ 05-12-2007, 15:52



หัวข้อ: พิษเศรษฐกิจ 2551 ชี้ชะตารัฐบาลชุดใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: ScaRECroW ที่ 05-12-2007, 15:52

 
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของทุกสถาบัน และบรรดากูรูด้านเศรษฐกิจ มีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นสิ่งท้าทายสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องเฝ้าจับตาดูเป็นพิเศษ และถือเป็นปัญหาเร่งด่วนอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการโดยเร็ว เพราะปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นตัวตัดสินว่า รัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ได้นานแค่ไหนเพียงใด

จากข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะขยายตัวต่ำที่สุดในบรรดา 13 ประเทศของเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้

นัยหนึ่ง เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งคาดว่าปี 2550 จะโต 8.3% แต่ของไทยจะโตเพียง 4.0% เท่านั้น ส่วนปี 2551 เศรษฐกิจไทย จะโต 5.0% ซึ่งก็ยังโตน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศเหล่านี้

กูรูบางคนมองว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างเร็วที่สุดก็ไตรมาส 4 ของปี 2551 แต่ทั้งนี้หมายความว่า รัฐบาลชุดใหม่จะต้องอัดฉีดเงินเป็นแสนล้านบาท

ปัญหาการเมืองของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่มีค่าไปอย่างมาก ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตช้าที่สุด เมื่อเทียบกับอดีต ที่เคยเป็น “ดาวเด่น” ในบรรดาประเทศที่เรียกว่าเป็น “ตลาดเกิดใหม่”

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง นอกจากรัฐบาลใหม่จะอัดฉีดความต้องการในประเทศด้วยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการอัดฉีดในระดับรากหญ้า ที่สำคัญต้องไม่ให้ค่าเงินบาทแข็ง

เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นตั้งแต่ปี 2543 แต่ได้เกิดการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากมีการฟื้นตัวได้จริง ไทยก็มีโอกาสกลับสู่วัฏจักรขาขึ้นได้อีก 6-7 ปี ตามแนวโน้มธรรมชาติ

เมื่อสำรวจดูนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เร่งหาเสียงอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่พยายามใส่นโยบายประชานิยมมากบ้างน้อยบ้าง โดยหวังคะแนนเสียงจากประชาชน เหมือนกับเป็นการฉีดยาแก้ปวดเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้รักษาโรคให้หายอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายโครงการ ก็พิสูจน์แล้วว่ามีปัญหา
ที่สำคัญคือ แต่ละพรรคไม่ได้บอกว่าจะหาเงินมาจากที่ใด เพราะแต่ละโครงการประชานิยมต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความห่วงใยของนักวิชาการและ นักเศรษฐศาสตร์ในการสัมมนาหลายเวที โดยเกรงว่า นักการเมืองจะมาผลาญเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษี ของประชาชนเพื่อหาคะแนนเสียงให้กับตนเองเท่านั้น
นโยบายและโครงการด้านเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมืองที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มีทั้ง ลด แลก แจก แถม แต่ไม่เคยมีพรรคใดเลยที่บอกว่า หากให้เรียนฟรีจะต้องใช้เงินเท่าไรต่อปี จะเอาเงินมาจากไหน ถ้าจะลดภาษีน้ำมัน หรือลดภาษีด้านอื่นๆ เงินจะหายไปจำนวนเท่าไร และจะหาเงินจากไหนมาชดเชย ถ้ามีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ จะต้องใช้เงินเท่าไร และจะหาเงินมาจากไหน หรือจะไปกู้จากแหล่งเงินในและนอกประเทศ และคนไทยจะต้องใช้หนี้ไปอีกนานเท่าไร ฯลฯ หรือไม่ก็ใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ ออกพันธบัตร

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจท่านหนึ่งวิเคราะห์ถึงทิศทางที่ประเทศน่าจะเดินหลังการเลือกตั้งคือ รัฐบาลชุดใหม่ต้องฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด เพื่อชดเชยการเสียโอกาสในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าทำให้ความสามารถในการแข่งขันเสื่อมลง เพราะขาดการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งทางการศึกษา

ท่านผู้นี้เสนอว่า นโยบายหลักของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคือ การเร่งลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและโครงการระดับรากหญ้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นให้ภาคเอกชนเร่งลงทุนตาม โดยขณะนี้การใช้กำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมใกล้ 80% ซึ่งถือว่าเต็มอัตราแล้ว

ท่านมองว่า การแข็งตัวของค่าเงินบาททำให้ประเทศไทยต้องเริ่มออกไปลงทุนในประเทศรอบบ้านอย่างจริงจัง เพราะจีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งได้รับเงินลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วในระยะหลังได้เริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าไทยมาก ฉะนั้น ประเทศไทยต้องขยายอิทธิพลด้านการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเร็ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป และหาทางทำให้อ่อนลงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในโอกาสต่อไป รวมทั้งไทยต้องสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับเพื่อนบ้านรอบพรมแดน และทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีให้มากที่สุด
เมื่อมองเศรษฐกิจไทยก็ต้องมองเศรษฐกิจโลกด้วย การที่เศรษฐกิจไทยพัฒนามาได้ถึงจุดนี้ เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลก ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้ขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 20 ปี เศรษฐกิจสหรัฐและอังกฤษได้ขยายตัวในอัตราสูงมาหลายปี เพราะนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังจากซบเซามาหลายปี โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ได้เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมา 12 ปีขณะที่สหรัฐเริ่มเผชิญกับวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง โดยเฉพาะปัญหาเครดิตซับไพรม์ที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลายฝ่ายคาดกันว่า สหรัฐจะมีนโยบายมาดูแลปัญหาดังกล่าวซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินและตลาดหุ้น ธนาคารหลายแห่งเริ่มมีปัญหา ธนาคารกลางสหรัฐต้องลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าช่วยเหลือ

ขณะนี้มีการวิเคราะห์กันว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกจะเริ่มอยู่ในช่วงขาลงหรือไม่ และเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวได้ช้าลง หากตลาดโลกมีปัญหา
นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นลูกศิษย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะรู้จัก "ทฤษฎีลูกโป่ง" (การบริโภค+การลงทุน+งบประมาณ+การส่งออก-การนำเข้า = จีดีพี) เป็นอย่างดี ขณะนี้หลายคนมองว่า การส่งออกเท่านั้นที่เป็นลูกสูบสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต การบริโภคไม่ต้องพูดถึงเพราะคนไม่ค่อยใช้เงิน อาจเป็นเพราะเงินไม่มี หรือต้องมัธยัสถ์มากขึ้น นักลงทุนจากในและนอกประเทศยังชะลอการลงทุน โดยจะรอดูสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งก่อน อีกทั้งรัฐบาลจะหาเงินนับแสนล้านบาทมาจากไหนในการอัดฉีดระดับรากหญ้าและโครงการขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ไทยอาจได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ดังนั้น โอกาสที่เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวในปีหน้าคงต้องรอถึงไตรมาส 4 ดังที่หลายคนคาดไว้

คนขับแท็กซี่คนหนึ่งจากหนองคาย เล่าให้ฟังว่า สมัยรัฐบาลชวนคนในหมู่บ้านเขายากจน สมัยรัฐบาลทักษิณคนในหมู่บ้านก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม แต่ที่แย่กว่านั้นคือ แต่ละครอบครัวเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น แทนที่ล้วงกระเป๋าแล้วจะพบเงินเพิ่มขึ้น นอกจากไม่พบเงิน ยังพบหนี้เต็มกระเป๋า
แล้วพรรคไหนจะแก้ปัญหาความยากจนทาง "ทรัพย์สิน" และความอับจนทาง "ปัญญา" ของคนระดับรากหญ้าเหล่านี้ได้บ้าง...!? (อาทิตย์ 25 พ.ย. 50) 
http://www.the-thainews.com/analized/domestic/dom271150_2.htm