ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 08-10-2007, 21:44



หัวข้อ: เราไม่ลืม "จารุพงษ์ ทองสินธุ์"
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 08-10-2007, 21:44
เราไม่ลืม "จารุพงษ์ ทองสินธุ์"
โดย : วิภา ดาวมณี
เมื่อ : 8/10/2007 10:50 AM
(http://www.thaingo.org/images3/6tula5.jpg)

จารุพงษ์ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขทะเบียน 189342

หลายคนยังจำจารุพงษ์ได้ติดตา นักศึกษาหนุ่มผู้มีรอยยิ้มแจ่มใส สุภาพ เรียบร้อย จริงใจ และมุ่งมั่น เขาเกิดที่บ้านย่านดินแดง บ้านเลขที่ 148 หมู่ 1 ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อจบชั้นมัธยมปลาย (ม.ศ.5) จากโรงเรียนวัดสุทธิวนารามในปี พ.ศ.2517 แล้ว ก็มาสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันหนึ่งของต้นปีการศึกษา 2518 พรรคยูงทองก็ได้สมาชิกพรรคเพิ่มอีกหนึ่งคน เขาเป็นชายหนุ่มร่างสันทัด ผิวคล้ำ ตาคมและเปล่งประกายเจิดจรัส ร่างกายกำยำด้วยกล้ามเนื้อแลดูแข็งแรง คงเพราะมีโอกาสได้ใช้งานมาบ้าง สำเนียงพูดบ่งว่าเป็นคนต่างจังหวัดจากปักษ์ใต้ เขาชื่อ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" กิจกรรมสำคัญของพรรคยูงทองที่ทำอยู่อย่างจริงจังขณะนั้นคือการออกค่ายชาวเขาในชื่อโครงการว่า ค่ายพัฒนาชาวเขา นอกจากค่ายพัฒนาชาวเขาแล้ว กลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ซึ่งมีจารุพงษ์ร่วมอยู่ด้วย ได้พากันเรียกร้องให้กรรมการพรรคที่เป็นรุ่นพี่ปรับกิจกรรมทั้งหลายของพรรคยูงทองให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองของประเทศ ให้สามารถเป็นกิจกรรมที่สร้าง "คน" ได้ ไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นการ "ให้" แบบสังคมสงเคราะห์

พอปลายปีการศึกษา 2518 พรรคยูงทอง ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งองค์การนักศึกษา (อมธ.) ร่วมกับพรรคพลังธรรม ซึ่งจารุพงษ์ได้รับเลือกในตำแหน่งสถาบันสัมพันธ์ คือ เป็นตัวแทนของธรรมศาสตร์ในการร่วมประชุมหารือหรือเคลื่อนไหวใดๆ กับองค์กรภายนอก เช่น แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ , ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นต้น จารุพงษ์ทำงานทุกอย่าง อย่างเร่าร้อนคึกคัก ที่ไม่เคยทำก็หัดทำและทำได้ดี เช่น การเขียนบอร์ดข่าวได้รวดเร็วและสวยงาม ความมีชีวิตชีวาของเขาทำให้เพื่อนร่วมงานพลอยกระฉับกระเฉงไปด้วย บ่อยครั้งที่พวกเขาต้องกินนอนอยู่ที่พรรคยูงทองกันทีละสี่ห้าวัน เขาพยายามดัดแปลงตนเองให้มีชีวิตที่ประหยัดเรียบง่าย ท่วงทำนองในการทำงานของจารุพงษ์ที่เพื่อนๆ ประทับใจคือ บุคคลิกที่สู้ไม่ถอย การแลกเปลี่ยนทัศนะทางการเมืองกับเพื่อนที่ไม่เห็นด้วย จารุพงษ์จะพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนเหตุผลของเขา ด้วยท่าทีสุภาพจนเพื่อนเห็นด้วยในที่สุด หลายครั้งที่จารุพงษ์ต้องเป็นตัวแทนนักศึกษาในนามศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยไปยื่นหนังสือประท้วงหน่วยงานที่กระทำสิ่งที่ทำลายผลประโยชน์ของประชาชน

เดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2519 ขบวนการนักศึกษาตึงเครียดมากกับสถานการณ์การเมือง เพราะกลุ่มผู้มีอำนาจโหมสร้างข่าวใส่ร้ายขบวนการเพื่อประชาชน มีการจัดตั้งอบรมชาวบ้านให้เข้าใจนักศึกษาผิดๆ และ มีการลอบสังหารผู้นำประชาชน นักวิชาการ ผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนาชาวไร่ถี่มากขึ้น การออกไปปิดโปสเตอร์ของนักศึกษามักถูกทำร้ายโดยอันธพาลการเมือง จารุพงษ์พูดถึงอันธพาลการเมืองทั้งหลายอย่างโกรธแค้น เขาไม่เข้าใจว่าทำไมขบวนการนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อประชาชนกลับถูกรังแก ถูกคุกคามก่อกวน การชุมนุมอย่างสงบของ นักศึกษา ประชาชนเป็นสิทธิอันชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย อำนาจความยุติธรรมของรัฐไม่เคยปกป้องผู้สุจริตเลย

 ในการชุมนุมแต่ละครั้ง จึงมีการแบ่งหน้าที่ให้นักศึกษาที่เรียกว่าผู้ปฏิบัติงานสำรวจตรวจตราอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อรักษาความปลอดภัย จารุพงษ์เองก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยผลัดเวรกับเพื่อนๆในธรรมศาสตร์ หลายครั้ง หน้าที่นี้เสี่ยงต่อชีวิตมาก ต้องอาศัยจิตใจที่กล้าเสียสละจริงๆ ในขบวนการนักศึกษาช่วงนั้นจึงมีแนวคิดเรื่องการเสียสละหรือการตายเพื่อประชาชน หรือ ตายอย่างมีคุณค่า โดยเปรียบกันว่าการตายเพื่อประชาชนนั้นหนักกว่าภูผา

เดือนกันยายน 2519 กระแสการก่อรัฐประหารกระจายไปทั่ว จอมพลถนอม ทรราชที่ถูกประชาชนขับไล่ออกไปเมื่อ 14 ตุลา 2516 เอาผ้าเหลืองของศาสนามาบังหน้าบวชเป็นเณร เพื่อเล็ดรอดกลับเข้าเมืองไทย แม้จะมีเสียงคัดค้านไม่ยอมรับจากประชาชนก็ตาม

ขณะเดียวกันก็มีการสร้างข่าวโจมตีขบวนการนักศึกษา จารุพงษ์ และเพื่อนๆ จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯต้องเปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเพื่อแสดงข้อเท็จจริงเป็นระยะๆ ในที่สุดการชุมนุมจัดขึ้นในเย็นวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ที่สนามหลวง โดยการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

ภายใต้คำขวัญว่า "ต่อต้านรัฐประหาร ขับไล่ทรราช จับฆาตกรโหด" ก่อนจะย้ายการชุมนุมมาที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อความปลอดภัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ได้ประกาศปิดมหาวิทยาลัยทันที

เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มก่อตัวในเช้ามืดวันที่ 6 ตุลา หลังจากระเบิด M-79 ลงมาที่กลางสนามฟุตบอล

จารุพงษ์ นั้นมีหน้าที่ประสานงานในส่วนของ อมธ. ซึ่งหนักมากอยู่แล้วในสถานการณ์เช่นนี้

 เสียงปืนรัวสาดเข้ามาทางด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ที่ตึก อมธ. นักศึกษาหลายคนยังไม่ได้หลบหนี จารุพงษ์คอยวิ่งขึ้นลงไล่ให้เพื่อนๆ รีบหนีไปให้หมด ขณะที่เพื่อนๆ ทะยอยลงจากตึก จารุพงษ์จะคอยยืนคุ้มกันให้ หลังจากที่แน่ใจว่าไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว เขาวิ่งไปทางตึกนิติศาสตร์เพื่อที่จะไปนำผู้บาดเจ็บที่นั่งจมกองเลือดอยู่มา แต่ยังไม่ทันถึง จารุพงษ์ก็ถูกยิงล้มลง

จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เป็นหนึ่งในบรรดาหนุ่มสาวที่เสียชีวิตแล้วยังถูกกระทำทารุณอย่าง ร่างที่ไร้วิญญาณของเขาถูกเหล่าอันธพาลการเมืองลากไปมาในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์.....

วันนี้ ....เรายังไม่ลืมจารุพงษ์....วีรชนแห่งเดือนตุลา

คุณพ่อจินดาพูดถึงจารุพงษ์ว่า "พ่อผิดเองที่สอนให้เขารักความเป็นธรรมต่อทุกคน ถ้าไม่มีความเป็นธรรมตรงไหนให้ไปช่วย แล้วเราก็ต้องมาเสียลูกไปเพราะอย่างนี้"

ส่วนคุณแม่ก็พูดด้วยความเสียใจว่า "ตอนนั้นใจมันกลัว แม่สอนลูกให้เป็นคนดี ตัวลูกไม่เคยเดือดร้อน ไม่เคยลำบาก พอเจอคนอื่นที่เดือดร้อน ก็จะช่วยเหลือโดยไม่นึกถึงตัวเอง แล้วลูกก็มาเป็นแบบนี้เพราะทำความดี แม่เตือนว่าอย่าไปขวาง เพราะกฎหมายอยู่กับมัน ปืนอยู่กับมัน ลูกก็บอกว่า เขาไม่ทำ... เขาไม่ทำเด็ก ...ถ้าเชื่อแม่สักนิด ลูกเกี๊ยะคงจะไม่เป็นอย่างนี้"

วันที่ 27 กันยายน 2519 ลูกเกี๊ยะกลับบ้านบอกว่าวันที่ 6 ตุลา ลูกมีสอบ จะกลับมาอีกทีวันที่ 11 ตุลาคม แม่ไม่ต้องเป็นห่วง แต่หลังจากวันที่ 6 ตุลา จารุพงษ์ก็ไม่กลับมาอีกเลย
 
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=533 (http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=533)