ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: morning star ที่ 22-04-2007, 07:36



หัวข้อ: ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ มุมมองวีรบุรุษ (พ ต อ นพดล)
เริ่มหัวข้อโดย: morning star ที่ 22-04-2007, 07:36
เปิดใจ'นพดล'อัลเลาะห์ทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นและคนก่อเหตุต้องได้รับกรรม'
 
22 เมษายน พ.ศ. 2550 06:00:00
 
สัมภาษณ์"พ.ต.อ.นพดล เผือกโสมณ"ก่อนเกิดเหตุการณ์ถูกกับระเบิด“อัลเลาะห์เท่านั้นทราบดีว่า เกิดอะไรขึ้นและคนก่อเหตุต้องได้รับกรรม ”

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แม้วันนี้อาการบาดเจ็บจากการถูกแรงระเบิดของ พ.ต.อ.นพดล เผือกโสมณ รองผบก.ภ.จว.นราธิวาสจะเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ความรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม ทั้งๆที่รัฐบาลได้พยายามปรับนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุใดสถานการณ์จึงยังไม่ดีขึ้น

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2549 และยังไม่เคยได้รับตีพิมพ์มาก่อน โดย พ.ต.อ.นพดลได้ให้สัมภาษณ์ไว้ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผกก.ฝ.1 ศปก.ตร จ.ยะลา ถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยมุมมองของนายตำรวจผู้คร่ำหวอดอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด

โดยเฉพาะช่วงปี 2546 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผกก.สภอ.ระแงะและเป็นหนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปเจรจากับฝูงชนที่มารุมล้อมบ้านนายอิสมาแอ ตอรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านบือนังกือเปาะระหว่างเกิดเหตุรุมประชาทัณฑ์ตำรวจพลร่มทั้ง 2 นายเพราะความเข้าใจผิดว่าเป็นโจรนินจา โดยครั้งนั้นพ.ต.อ.นพดล ได้ถูกกลุ่มม็อบใช้กระถางต้นไม้ทุบศรีษะและถูกเตะต่อยจนสลบไปสองวันเต็มๆ

พ.ต.อ.นพดล เล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นพูดได้เลยว่าตำรวจสองคนนั้นตายเพราะความหวาดระแวงของชาวบ้านและความเข้าใจผิดว่าเขาเป็นโจรนินจา โจรนินจาไม่มีหรอก มันเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเองของกลุ่มพวกไม่หวังดี มันมีการปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่าง ตำรวจกับชาวบ้าน ทหารกับตำรวจ และทหารกับประชาชน

เขายอมรับว่าพื้นที่นี้มีปัญหามากทั้งเรื่องกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด กลุ่มค้าอาวุธเถื่อน สินค้าเถื่อน กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ระหว่างนั้นเส้นทางระหว่าง อ.ระแงะ อ.ยี่งอ อ.รือเสาะ และอ.ศรีสาคร พื้นที่บ้านกาลีซา บาโงอาแซ ปูราไซด์ มีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจค้นตั้งด่านสกัดตามเส้นทางต่างๆมาก พวกนี้ก็เลยสร้างข่าวเรื่องโจรนินจาขึ้นมา

“เขาใช้วิธีการนี้ในการต่อต้านการเข้าไปตรวจค้นของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้ชาวบ้านแนวร่วมและเกราะกำบัง ถือเป็นการใช้อำนาจรัฐซ้อนอำนาจรัฐ พื้นที่ใดที่อำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึงเขาก็จัดตั้งอำนาจซ้อนขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจของเขาเข้มแข็งกว่า นี่เป็นยุทธวิธีเล็กๆของเขาที่เขาใช้ มันมีขบวนการที่พยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมกับราษฎร ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด”พ.ต.อ.นพดล กล่าว

ในฐานะที่อยู่พื้นที่อ.ระแงะมานานพอสมควร พ.ต.อ.นพดล มองการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งเข้าไปทำงานไม่ว่าจะเป็นใคร ควรจะมีการศึกษาความรู้พื้นฐาน ปูมหลังอะไรที่ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ ปัญหาที่เกิดขึ้น เราอย่าโทษชาวบ้าน ต้องดูตัวเราเองก่อนว่าเป็นยังไง เราต้องเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมุสลิม

“ผมเคยเตือนลูกน้องเสมอ หากเราทำดีขึ้นมานิดเดียว ก็พอแล้ว แต่ถ้าเผลอทำชั่วขึ้นมา มันจะสร้างปัญหาบานปลายในระยะยาว แต่ปัญหาคือ การทำดีตอนนี้มันไม่มีใครทำเลย ผมเคยทำโครงการชุมชนสัมพันธ์ ส่งตำรวจเข้าไปในพื้นที่แนะนำให้ชาวบ้านเลี้ยงปลา ยังไม่ทันไรก็มีคนมาปล่อยข่าวว่า ใครมาร่วมเลี้ยงปลาคือพวกที่มาเป็นสายให้กับตำรวจ ชาวบ้านเลยไม่กล้าเข้ามาร่วมกิจกรรม จากเดิมเรามีสมาชิก 70-80 คน เหลือแค่ 7 คน เขาปล่อยข่าวว่าตำรวจมาหลอกถามข้อมูล หลอกสอบสวนชาวบ้าน”พ.ต.ท.นพดล กล่าว

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่มานาน พ.ต.อ.นพดล มองว่า คนมุสลิมไม่ใช่คนเลวเพียงแต่พื้นฐานความเป็นอยู่ของเขาเป็นสังคมปิด แล้วก็ได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ส่วนรัฐเองก็ไม่เคยคิดเข้าไปแก้ปัญหา พอใบปลิวข่มขู่ชาวบ้านออกมา รัฐยังเก้ๆกัง จับทางไม่ได้ รัฐแพ้ทางเขาหมด การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ทหารทำการเมือง ทำไม่ได้ หรือหากได้ก็ไม่เกิน 20 %

“การแก้ปัญหาจะต้องแก้ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐฏิจ สังคม การศึกษา ทุกฝ่ายจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี อย่าเข้าไปสร้างเงื่อนไงให้ชาวบ้าน ไม่อย่างนั้นรบเมื่อไหร่ก็แพ้ คนมุสลิมส่วนใหญ่เขารักสงบแต่ทีนี้ถ้าเจ้าหน้าที่เราเข้าไปสร้างเงื่อนไข ในขณะที่มีอำนาจอื่นเข้าไปซ้อนทับอำนาจรัฐ มันก็เลยทำให้เกิดปัญหา เหตุการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เราประมาท ไม่สนใจ” พ.ต.อ.นพดล กล่าว

และฉายภาพความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวว่า ตามหมู่บ้านต่างๆเริ่มมีการจัดโครงสร้างระบบการจัดตั้งหมู่บ้านของกลุ่มก่อความไม่สงบมาตั้งแต่ปี 2537 -2545 เรารายงานไปไม่มีใครสนใจเลยทั้งๆที่ระบบการสื่อสารของเราเร็วมาก มันมีการทำงานของโครงสร้างในระดับต่างๆออกเป็น 5 ระดับตามที่มีข้อมูล คือ

1.กลุ่มอุลามะห์ พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกอุสตาชและโต๊ะครูที่เรียนจบมาตากต่างประเทศหรือเคยเข้ารับการอบรมจากต่างประเทศ มีหน้าที่ในการเผยแพร่แนวความคิดในการวางยุทธศาสตร์

2.กลุ่มเศรษฐกิจ พวกนี้ทำหน้าที่ในการหาเงินเข้าองค์กร

3.กลุ่มการเมือง(politic) ซึ่งจะมีหน้าที่ในการเฝ้าดูสถานการณ์ความเพลี่ยงพล้ำแล้วก็วางแผนปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้

4.กลุ่มจรยุทธ์ จะประกอบด้วย Commando Rkk และเปอมูดอ -เปอมูดี ที่กระจายกำลังคุมอยู่ในหมู่บ้านต่างๆที่มีการจัดตั้งไว้แล้ว และสามารถปฎิบัติการได้ทันทีที่มีคำสั่ง

5.กลุ่มมาซา หรือกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นเยาวชนเปอมูดอ โดยผู้ที่ถูกอบรมให้เป็นแนวร่วมจะกระจายอยู่ในหมู่บ้านมีสัดส่วนอยู่ที่ 50:50 และมี ตุรงแง เป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องการหาข่าวส่งให้กับกลุ่มและการช่วยปล่อยข่าวลือในพื้นที่ ซึ่งการทำงานจะรวดเร็วมาก

พ.ต.อ.นพดล ย้อนภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งที่มีการรุมประชาทัณฑ์เจ้าหน้าที่ตำรวจพลร่มหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านบือนังกือเปาะว่า ม็อบวันนั้นมีประมาณ 800-1,000 คน จำนวนนั้นคนอยากรู้อยากเห็นมีอยู่ด้วย แต่มีกลุ่มแนวร่วมแฝงตัวเข้ามาเป็นร้อยแล้วคอยทำหน้าที่ยุยงปลุกปั่นตลอดเวลา เป็นปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านซึ่งเข้าร่วมชุมนุมไม่ทราบ เพราะฝ่ายตรงข้ามวางแผนไว้หมดแล้ว

และในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐก็ตามไม่ทันเพราะว่า พื้นที่นี้ไม่เคยเกิดปัญหามาก่อน มันมีการจัดตั้งและวางแผนการตั้งแต่ 7.00-11.00 น.เวลามีให้เขา ในขณะที่เรามัวแต่จะเจรจา วางแผนชิงตัวประกันต้องคิดหนัก เมื่อไหร่ที่กระสุนปืนยิงถูกชาวบ้าน 1 คน ฝ่ายตรงข้ามจะบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐยิงผู้บริสุทธิ์ เขาพยายามให้กดดันให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่กรือเซะกับตากใบ ตรงนี้หมายถึงกรณีการชิงตัวนาวิกโยธินที่ตันหยงลิมอ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูจูหลิง

เขาพยายามทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำยังไงก็ได้ให้เกิดความแตกแยก เขายอมสูญเสียชาวบ้านเพื่อสร้างเงื่อนไข ส่วนเรื่องการนำประวัติศาสตร์มาปลุกปั่นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรง หากการอุ้มฆ่าประชาชน ซึ่งในฐานะที่เป็นตำรวจยอมรับว่า มันเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ตรงนี้คือปัญหาหลัก

“อย่าลืมว่าตอนที่คุณเข้าไปอุ้มพ่อเขาหายออกไปจากบ้าน ลูกอาจยังไม่โตนัก แต่แม่ ญาติพี่น้อง เขายังอยู่ นี่เป็นสิ่งที่อันตรายมากกว่าหากลูกหลานเขาถูกสอนว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรไว้กับครอบครัวของเขาบ้าง โดยเฉพาะหากลูกเขาเป็นผู้ชายแล้วกลุ่มขบวนการเอาไปปลูกฝังทางความคิดตั้งแต่ยังเด็ก ปัญหานี้ไม่มีวันจบสิ้นหรอก มันจะทำให้เกิดความหวาดระแวงและไม่เข้าใจกันระหว่างตำรวจและชาวบ้านตลอดเวลา ยิ่งถ้าตำรวจไปกลั่นแกล้งหรือปฎิบัติไม่ดีด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ไฟมันพร้อมที่จะจุดติด ตรงนี้ตำรวจต้องเข้าใจด้วย”พ.ต.อ.นพดล กล่าว

พ.ต.อ.นพดล กล่าวว่า วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียวคงทำไม่ได้ คือ ต้องให้คนมุสลิมเข้ามามีส่วน แต่ปัญหาถ้าเขาเข้าข้างเจ้าหน้าที่รัฐก็จะกลายเป็นมุนาฟิก หรือพวกนอกศาสนาทันที ในเขตพื้นที่อ.ระแงะ อำนาจรัฐไทยยังอ่อนแอเกินไป คงต้องใช้แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำเข้าไป คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตรงนี้ไม่ใช่ว่ามุสลิมต้องเข้าใจฝ่ายเดียว แต่เราต้องผลิตข้าราชการที่มีความเข้าใจ และไม่ใช่คนเดียว ต้องทำทั้งหมด ข้าราชการมุสลิมด้วย ซึ่งมันก็ทำยาก หากรัฐหรือข้าราชการไม่เปลี่ยนแนวความคิดและการปฎิบัติ

การแก้ปัญหาในวันนี้อยู่ที่การปฎิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ เพราะการใช้ข่าวเพื่อปฎิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งของฝ่ายตรงข้าม มันเร็วมากและเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่สามารถแก้ตัวได้ทัน ประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเลย ปัญหานี้มันต้องแก้ที่ตัวเจ้าหน้าทีที่ลงไปปฎิบัตงานด้วย ระบบการศึกษาด้วย เพราะที่นี่มีประเด็นอ่อนไหวทางด้านศาสนา หากฝ่ายตรงข้ามใช้เงื่อนไขนี้มาแบ่งแยกประชาชนออกไป เราก็ต้องเร่งสร้างคนที่มีความรู้ทางด้านศาสนาให้เข้าไปช่วยชี้แจงว่าอะไรคือ สิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องใช้คนอื่น ใช้คนในชุมชนนั่นแหละ เจ้าหน้าที่เองก็ต้องลงพื้นที่เพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม มันถึงจะเข้าไปเยียวยาได้ ไม่ใช่หลังเกิดเหตุแล้วส่งกำลังเข้าไปคุม

ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่รัฐ เขาไม่เชื่อว่าจะสามารถให้ดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยได้ การทำงานของกลุ่มก่อความไม่สงบมันทำให้ชาวบ้านไม่ศรัทธาการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งมีช่องว่างมากขึ้นเท่าไหร่ก็ทำให้สร้างความแตกแยกได้มากขึ้น

พ.ต.อ.นพดล กล่าวว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ของเรามีปัญหา คือ หูหนวก ตาบอดและเป็นใบ้ หูหนวกหมายความว่า ไม่รับทราบ ไม่ได้ยินว่าชาวบ้านพูดถึงตัวเองอย่างไร ตาบอด หมายถึงเข้าไปอยู่ในพื้นที่แล้วไปไม่ถูก บางคนไม่ออกพื้นที่เลย ไม่รู้ว่าประชาชนของตนอยู่ไหนบ้าง ไม่กล้าเข้าไปเพราะกลัว และเป็นใบ้ คือ พูดกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างนี้มาตลอด

ดังนั้นถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่บอกได้เลยว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ลำบาก เราไม่ทันเกมฝ่ายตรงข้าม เพราะเราไม่รู้ว่ามีใครที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดจริงๆ แล้วที่ผ่านมารัฐก็ไม่เคยเข้าไปดูแลชาวบ้านเลยว่า เขาต้องการอะไร และเราต้องทำอะไรอีกบ้าง เราขาดข้อมูลจริงๆ

“เรื่องนี้ผมไม่โทษใครหรอก อัลเลาะห์เท่านั้นทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้น และคนที่ก่อเหตุจะต้องได้รับกรรมอย่างแน่นอน เวลามีปัญหาเกิดขึ้นผมไม่อยากให้โทษว่า คนมุสลิมเท่านั้นที่ก่อความวุ่นวายให้กับชาติบ้านเมือง เราเองก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความแตกแยก การที่เจ้าหน้าที่มองชาวบ้านอย่างหวาดระแวงตรงนี้สำคัญ”พ.ต.อ.นพดล กล่าว
 
 
(ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2007/04/22/WW10_WW10_news.php?newsid=65217)
จริง ๆ ก็ไม่ชอบหรอกครับ ตัดแปะแบบเนี้ยะ แต่อยากให้เข้าไปอ่านกันจริง ๆ..แล้วจะได้อีกมุมมองของคำว่า "สมานฉันท์"..ซึ่งไม่ได้แปลว่า "ยอม" แต่แปลว่า "เข้าใจ"