ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: พรรณชมพู ที่ 19-04-2007, 20:48



หัวข้อ: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 19-04-2007, 20:48
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000042451
----------------
เมื่อนายเสริมเกียรติ วรดิษฐ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรวม 3 คดีขั้นตอนตามการปฏิบัติ คือ ต้องส่งสำนวนการสอบสวนและความเห็นไปให้ทางตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน โดย พล.ต.ต.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเป็นผู้พิจารณาสำนวนในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ถ้าหาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีความเห็นแย้งคือเห็นว่า สมควรสั่งฟ้อง เพราะคดีมีน้ำหนักหลักฐานแน่นหนาพอ ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของผู้เป็นอัยการสูงสุด และความเห็นของอัยการสูงสุดถือเป็นเด็ดขาด แต่หากว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เห็นพ้องไม่มีการแย้ง เรื่องก็จบ, โดยคดีเหล่านี้ยังมีขั้นตอนอยู่อีกระหว่างตำรวจและอัยการ แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของอัยการก็มีการกล่าวถึงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้คำพูดที่ไม่สมควรและหมิ่นเหม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นความพอใจในระดับหนึ่ง และสะท้อนให้เห็นบางอย่างได้มาก เพราะผู้ที่พูด หรือผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหานี้ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะที่พูดหรือกระทำนั้น
       
        สิ่งที่เป็นบรรทัดฐานในขณะนี้, คือ การที่อัยการเห็นว่า เป็นคำพูดหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมของอดีตนายกรัฐมนตรี
       
        มีอยู่บางเรื่องซึ่งเห็นว่า “ไม่เหมาะสม” โดยสังคมเป็นผู้พิจารณาแล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นข่าวเปิด คือมีการกล่าวถึง เป็นข่าวสาธารณะออกไปแล้วในช่วงนั้น เช่น มีการนำ เฮลิคอปเตอร์ ของกองทัพอากาศ คือ ซูเปอร์พูม่า (SUPER PUMA) ที่ทหารอากาศเรียกว่า “ฮ. 9” ไปเป็นพาหนะของนายกรัฐมนตรี และต่อมา ฮ. 9 จำนวน 2 เครื่อง ที่ถูกนำไปตีราคา และนำมูลค่าของการตีราคานี้ไปบวกกับเงินงบประมาณอีกก้อนหนึ่ง เพื่อการสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารแอร์บัสจากฝรั่งเศส แล้วเข้ามาเป็นพาหนะสำหรับนายกรัฐมนตรี ซึ่งรู้จักกันดีว่า คือเครื่องบินที่ชื่อ “ไทยคู่ฟ้า” ติดเครื่องหมายสำนักนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นเครื่องหมายอื่นๆ โดยมีกองทัพอากาศเป็นผู้ดูแล เครื่องบินประจำตัวนายกรัฐมนตรีผู้นี้ มีผู้เรียกว่าเป็นแอร์ ฟอร์ซ วัน (AIR FORCE 1) แบบเดียวกับที่เรียกกับเครื่องบินประจำตัวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แต่ทางสหรัฐฯ ก็ใช้รหัสคำเรียกขานว่าเป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไม่ได้ตั้งชื่อว่า “ไวท์ เฮาส์” แต่อย่างใด ไม่เหมือนกับของเราที่ใช้ชื่อว่า ไทยคู่ฟ้า
       
        ฮ. 9 หรือซูเปอร์พูม่านั้น เป็นเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะที่ใช้งบประมาณจัดหามาโดยเฉพาะ และได้ถวายทรงใช้งานเป็นเที่ยวบินแรก ก็ประสบเหตุที่สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 เวลา 19.42 น. ที่ยอดเขาบ้านไอกาเปาะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส บริเวณพิกัด 05 องศา 89 ลิปดา 33 ฟิลิปดาเหนือ และ 100 องศา 43 ลิปดา 40 ฟิลิปดาตะวันออก โดยเฮลิคอปเตอร์หมายเลข 2 ในขบวนเสด็จฯ ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ชนกับภูเขาที่มีความสูง 830 ฟุต จุดชนต่ำกว่ายอดเขาประมาณ 30 ฟุต นักบินและข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จฯ รวมทั้งทหารราชองครักษ์เสียชีวิต 14 คน บาดเจ็บสาหัส 7 คน เฮลิคอปเตอร์ ฮ. 9 หมายเลขกองทัพอากาศ 3/40 เสียหายขั้นจำหน่าย
       
        ต่อจากนั้น ฮ.ซูเปอร์พูม่า หมายเลข 1 ซึ่งเป็น ฮ.พระที่นั่งฯ และหมายเลข 3 ที่ยังเหลืออยู่ก็ไม่ได้ขึ้นบินเป็นพระราชพาหนะอีกเลย, จนกระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น ได้เสนอว่า สมควรที่จะมีการปรับปรุง และนำมาเป็นเฮลิคอปเตอร์พาหนะของนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญ (ฮ. VIP) ได้มีการใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อการปรับปรุงดังกล่าว และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และใช้อยู่เพียงเที่ยวบินเดียวคือ ไป-กลับ, ก็ไม่ได้มีการใช้อีก ฮ. 9 จำนวน 2 เครื่องนั้นไปจอดเก็บอยู่ที่ฝูงบิน 202 กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี ที่สังกัดอยู่ เนื่องจากเป็นเครื่องใหม่ จะต้องมีหน้าที่และภารกิจทางกองทัพอากาศ จึงจัดไว้เป็นเฮลิคอปเตอร์พยาบาลและสนับสนุนการกู้ภัยทางอากาศไปพลางก่อน แต่มิได้นำออกปฏิบัติการเช่นว่านั้นเลย ได้รับการดูแลปรนนิบัติบำรุงเป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งอยู่ตามปกติ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชประสงค์เมื่อทรงเรียกใช้อีก
       
        ความ “ใหม่” ของเฮลิคอปเตอร์ฝูงนี้ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 3 เครื่อง ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาไป 1 เครื่องดังกล่าว จึงเหลืออยู่ 2 เครื่อง พอจะเปรียบเทียบกับเครื่องที่ตกได้ ซึ่งมีประวัติอากาศยานปรากฏอยู่ คือ
       
        เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบที่ 9 (SUPER PUMA) หมายเลขลำดับ (S/N) 2455 หมายเลขกองทัพอากาศ 3/40 บรรจุเข้าประจำการในกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 อายุการใช้งานนับแต่สร้าง 41.2 ชั่วโมง เครื่องยนต์แบบ TURBOMECA MAKILA จำนวน 2 เครื่องยนต์, โดยเครื่องยนต์ที่ 1 หมายเลขลำดับ 3055 เครื่องยนต์ที่ 2 หมายเลขลำดับ 3056 มีอายุการใช้งานนับแต่วันสร้างจนถึงวันเกิดอุบัติเหตุ (TIME SINCE NEW) 41.2 ชั่วโมง
       
        เฮลิคอปเตอร์ใหม่ทั้ง 2 เครื่อง คือหมายเลข 1 ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง และหมายเลข 3 ซึ่งใช้เป็นพาหนะในขบวนเสด็จฯ ได้มีการปรับการใช้งานเป็นเฮลิคอปเตอร์ของนายกรัฐมนตรีไป 1 เครื่อง และอีก 1 เครื่องเป็นเครื่องสำรอง ได้มีการใช้งานจริง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำไปใช้ในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน-หัวหินกลับกรุงเทพฯ และไม่ได้ใช้งานอีก เพราะมีการทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่อง “ความเหมาะสม”
       
        พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล “ทักษิณ” ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ด้วยการให้สัมภาษณ์แบบพาดพิง หรือเกือบจะเป็นการตรงตัวเชิงตำหนิว่า
       
        ตนเองไม่กล้าที่จะนำ ฮ.พระที่นั่งไปใช้ กลัวเหากินหัว...
       
        ต่อจากนั้น, เฮลิคอปเตอร์ซูเปอร์พูม่าทั้ง 2 เครื่อง ก็ได้ถูกสำนักนายกรัฐมนตรี และกองทัพอากาศซึ่ง พล.อ.คงศักดิ์ วันทนา เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น นำเข้าสู่การจัดหาเครื่องบินพาหนะของนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ ด้วยการที่สำนักนายกรัฐมนตรีจัดงบประมาณมาก้อนหนึ่ง และกองทัพอากาศได้นำฮ.ซูเปอร์พูม่าที่มีอยู่ 2 เครื่อง ให้บริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศสประเมินเป็นราคา แล้วนำเงินเข้าสมทบกับงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี จัดเข้าเป็นเงินก้อนแรกในการจัดหา เท่ากับว่า ฮ.ซูเปอร์พูม่า 2 เครื่องนั้นถูกขาย และนำเงินมาสมทบจัดหาเครื่องบินให้เป็นพาหนะของนายกรัฐมนตรี โดยที่บริษัทผู้สร้างซูเปอร์พูม่าก็เป็นของฝรั่งเศส, แอร์บัสก็เป็นของฝรั่งเศส จึงตกลงกันได้โดยง่าย อันเป็นที่มาของเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”
       
        สำหรับสนนราคาของ ฮ.ซูเปอร์พูม่า 2 เครื่องนั้น ทั้งๆ ที่เป็นของใหม่ ชั่วโมงบินยังไม่ถึง 50 ชั่วโมง ได้ถูกตีราคาเป็นของเก่า ราคาที่ได้มานั้นอยู่ประมาณเศษหนึ่งส่วนสามของราคาที่ซื้อมาครั้งแรก
       
        แต่ไม่ใช่เพราะราคาที่ไม่เหมาะสม ถูกตีราคาต่ำกว่าเป็นจริงมาก, ความเหมาะสมอยู่ที่ว่าควรจะมีวิธีการ หรือการกระทำเช่นนั้นหรือไม่ต่างหาก
       
        รายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” นี้, ขอกล่าวถึงแต่ในประเด็นความเหมาะสมเท่านั้น ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีคำถามต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและกองทัพอากาศว่า ดำเนินการไปอย่างเหมาะสม รอบคอบ ถูกควรอย่างไร? ผู้ที่จะให้คำตอบอย่างตรงๆ ได้ก็เห็นจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น ซึ่งต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลระบอบทักษิณ จนถึงช่วงสุดท้ายหรือถึงวาระสุดท้ายไปด้วยกัน
       
        สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะขณะที่มีการกระทำอยู่นั้น กระแสของอำนาจระบอบทักษิณมีอยู่อย่างเต็มที่อย่างหนึ่ง, และอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นเรื่องภายในของทหารที่ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ออกมาภายนอกได้ยาก เหตุการณ์จึงผ่านไปโดยเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ใน 2 ประเด็นข้างต้นนี้ มีความเพียงพอที่จะกล่าวถึงในประเด็นที่อ่อนหรือจางที่สุดคือ เป็นการกระทำที่มีความเหมาะสมหรือไม่? ซึ่งถึงเวลาที่จะต้องย้อนกลับมาพิจารณากันถึงเรื่องนี้อย่างละเอียด จากสิ่งที่เกิดขึ้น
       
        ในฐานะที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ผู้บริหารราชการแผ่นดิน ย่อมจะต้องเป็นผู้รู้หลักการแบบธรรมเนียมความผิดถูกโดยสามัญสำนึก ซึ่งความถูกต้องเหมาะสมเป็นสิ่งที่ตนเองบอกกับตนเองได้
       
        นับตั้งแต่การที่ได้นำ ฮ.ซูเปอร์พูม่า เครื่องหนึ่งมาปรับปรุงตกแต่ง และนำมาใช้งาน แม้ว่าทางกองทัพอากาศจะเป็นผู้จัดแจงในเรื่องนี้ แต่งบประมาณเป็นของสำนักนายกรัฐมนตรีที่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีต้องรู้อยู่ว่า ฮ.ที่จะนำมาปรับปรุงนั้น อยู่ในฐานะใด?
       
        แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานจอดเฉยๆ อยู่ก็ตาม ก็ไม่สมควรที่ผู้อื่นจะนำไปใช้งานได้
       
        ประเด็นที่เกี่ยวกับการนำ ฮ.ซูเปอร์พูม่าที่เหลืออยู่ 2 เครื่องไปแปรงสภาพเป็นเงินสำหรับการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส “ไทยคู่ฟ้า” ก็มีความชัดเจนอยู่ว่า ฮ.นั้นเป็น ฮ.ที่มีภารกิจอะไรถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการนำมาใช้ใหม่อีก แต่ควรจะปฏิบัติอย่างถูกต้องสมควร และด้วยความเคารพ ว่าสมควรที่จะนำไปแลกหรือตีราคาสำหรับมาเป็นเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า” หรือไม่?
       
        อีกทั้งมีข้อมูลที่เพิ่งจะมีการหลุดออกมาจากกรอบของการ “ปกปิด”
       
        ในเรื่องการจัดหา ฮ.พระที่นั่งนี้, ซึ่งกองทัพอากาศได้พิจารณามาเป็นการล่วงหน้าเป็นเวลานาน และด้วยความรอบคอบมีการกำหนดว่า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจัดหาให้ยึด ฮ.แบบ “EH-1H” แต่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องพิจารณาจัดหากลับมาเป็น ฮ.ของฝรั่งเศสแบบ “ซูเปอร์พูม่า” ท่ามกลางเสียงคัดค้านจำนวนมากว่าไม่เหมาะสมนั้น
       
        มี “สิงคโปร์” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?
       
        โดยที่กองทัพอากาศสิงคโปร์ใช้เครื่องบินตระกูล “พูม่า” ของฝรั่งเศสเป็นหลักอยู่ ทางผู้ผลิตในฝรั่งเศสต้องการจะให้ “พูม่า” เข้ามาทำตลาดในเอเชียแทนเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะของเบลล์ (BELL) ซึ่งครองตลาดอยู่ สิงคโปร์ได้พยายามหรือมีส่วนช่วยในการให้กองทัพอากาศไทยตัดสินใจเลือกแบบ ฮ.พระที่นั่งเป็นแบบซูเปอร์พูม่านี้หรือไม่? และที่สำคัญที่สุด คือ มีนักธุรกิจคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีการติดต่ออยู่กับบริษัทในสิงคโปร์อย่างแนบแน่นใกล้ชิด ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีการเลือกแบบเป็นซูเปอร์พูม่านี้หรือไม่?
       
        นักธุรกิจที่ติดต่อประสานอยู่กับสิงคโปร์จะเป็นอย่างที่มีการพูดถึงหรือสืบสาวกันไปประการใดเป็นเรื่องที่ต้องยกเว้นไว้ ไม่มีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนได้ นอกเสียจากจะเป็นการตั้งข้อสังเกตไว้ในชั้นแรกเพียงเท่านี้ ถ้าหากว่าไม่มีความเกี่ยวข้องรู้เห็น หรือเป็นผู้ประสานในการขาย หรือการตกลงใจเลือกแบบ ก็แล้วไป...
       
        การตั้งข้อสังเกตนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
       
        เพราะในการบินถวายฯ เที่ยวแรก และ ฮ.ในขบวนเสด็จฯ ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น คือ ฮ.หมายเลข 1 ของขบวนก็เสียความสูงหรืออยู่ในลักษณะที่น่าตระหนกอย่างยิ่ง ฮ.หมายเลข 1 ซึ่งเป็น ฮ.พระที่นั่ง ก็เกือบจะประสบอุบัติเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว แต่มีความเสียหายไม่มากนัก จากการที่ส่วนหางของ ฮ.พระที่นั่ง ได้เฉี่ยวยอดไม้จนชำรุดเสียหาย แต่ก็ยังทำการบินต่อไปได้อย่างปลอดภัยด้วยเดชะพระบารมี แต่ ฮ.หมายเลข 2 ที่บินตามมา ได้พุ่งเข้าชนภูเขาดังกล่าว
       
        ทั้งหมดเป็นอุบัติการที่เกิดขึ้น ที่จะโยงใยมาถึงการปฏิบัติอย่าง “ไม่เหมาะสม” ในเวลาต่อมา ดังที่เป็นรายงานข้างต้นนี้แล้ว โดยที่รายงานนี้มุ่งแต่ประเด็น 2 ประการในการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมเท่านั้น แต่ต้องมีสิ่งอื่นๆ เข้ามาประกอบเพื่อให้เห็นความเป็นมาตามสมควรต่อความเข้าใจเท่านั้น
------------------
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000044838

ฮ. 9 ที่ “ทักษิณ” ขายไป 9 คือเลขของรัชกาล


รายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” เมื่อฉบับวันศุกร์ของสัปดาห์ที่แล้วในชื่อ ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า” ทักษิณ นั้น, เป็นเพียงการบอกกล่าวให้เห็นถึง “ความไม่เหมาะสม” ที่ได้มีการปฏิบัติไปแล้ว มีผลเห็นกันอยู่ในการปฏิบัตินั้น ทั้งเรื่องการนำเฮลิคอปเตอร์แบบ “ฮ. 9” ไปใช้ในการเดินทาง และ “ฮ. 9” SUPER PUMA จำนวน 2 เครื่อง ที่อยู่ในสภาพใหม่ มีชั่วโมงบินไม่ถึง 50 ชั่วโมง ก็ถูกนำไปตีราคาแล้ว เพิ่มงบประมาณไปอีกก้อนหนึ่ง ก็ได้มา ซึ่งเครื่องบินแอร์บัส (AIRBUS 319) ติดตราเครื่องหมาย สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตัวเครื่อง และตั้งชื่อว่า “ไทยคู่ฟ้า” จากชื่อตึกไทยคู่ฟ้า ที่นั่งทำงานของนายกรัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาล
       
        รายงานนั้นเป็นการเสนอความเป็นมา และความเป็นจริงเท่าที่จะทำได้ในวันนี้ โดยไม่ให้มีผลกระทบกระเทือนไปสู่ส่วนอื่นๆ ซึ่งว่ากันแล้ว ผลกระทบนั้น มีอยู่มากมายรอบด้าน ทั้งกระทบมากน้อยหนักและเบา
       
        อีกทั้งมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องบางอย่าง ที่อยู่ในเอกสาร “ลับมาก” ที่ชั้นความลับ และระยะเวลาที่จะคุ้มครองชั้นความลับนั้นยังมีอยู่ ผู้ไม่เกี่ยวข้องไม่มีสิทธิที่จะเห็นหรือรู้ได้
       
        มีบางประเด็นที่พอจะได้...คือความจริงจะถูกเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน มีการอ้างอิงเอกสารบางฉบับได้ ก็ต้องเป็นเดือนตุลาคม 2550 นี้ เมื่อระยะเวลาของชั้นความลับผ่านสิบปีไปแล้ว
       
        แต่มีบางอย่างที่สามารถรายงานอย่าง “ข่าวสาร” หรือการรายงานประกอบการตั้งข้อสังเกตอันเป็นสิ่งที่สามารถเสาะหามาจากแหล่งข่าว/ข้อมูล โดยไม่เข้าถึงชั้นความลับ (ซึ่งเข้าถึงไม่ได้อยู่แล้ว) ก็พอจะนำมาเป็นรายงานในการทำหน้าที่เผยแพร่บอกเล่าข่าวสารตามหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ได้ในกรอบของจรรยาบรรณ
       
        เช่นการตั้งข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับ ฮ. 9 ซูเปอร์ พูม่า ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีหลายคนตั้งแต่ นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายชวน หลีกภัย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะต่างๆ กันไป แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ “ฮ.พระราชพาหนะสำรอง” ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาที่บ้านไอกาเปาะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อเวลา 19.42 น. วันที่ 19 กันยายน 2540 มีผู้เสียชีวิตเป็นข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นายทหารราชองครักษ์ และนักบินรวม 14 คน ซึ่งต่อมา, จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ ฮ. 9 ที่เหลืออยู่ 2 เครื่องถูกนำไปใช้ในภารกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วต่อมาก็ได้ถูกนำไปตีราคาเป็นมูลค่าตั้งต้น ในการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส 319 ให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข้อสังเกต และข้อน่าตั้งประเด็นสงสัยนอกเหนือไปจากคำถามว่า-เป็นการปฏิบัติหรือการกระทำที่เหมาะสม หรือสมควรแล้วหรือ?
       
        มีสิ่งที่ยืนยันได้ถึงการเป็น ฮ.พระราชพาหนะ และ ฮ.พระราชพาหนะสำรอง (ซึ่งถือว่าเป็นพระราชพาหนะเช่นกัน) คือความตามหนังสือ กนฝ. ยก. ทอ. (กองนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารอากาศ) ที่ 128/40 หนังสือที่ กห 0605.2/1374 วันที่ 12 พฤษภาคม 2540 เรื่องการฝึก นบ.ฮ. 9 (SUPER PUMA ) เรียน ผบ.ทอ.
       
        1. ตามที่ ทอ.จัดหา ฮ. 9 (SUPER PUMA ) จำนวน 3 เครื่อง เพื่อใช้เป็น ฮ.พระราชพาหนะ ฮ.พระราชพาหนะสำรอง และฮ.ติดตาม โดยรับมอบและบรรจุ ฮ. 9 จำนวน 2 เครื่อง เข้าประจำการที่ฝูง 202 ตั้งแต่ ม.ค. 40 นั้น
       
        ยกมาเพียงหนึ่งข้อคือข้อ 1 ของหนังสือนี้ เป็นการยืนยันว่า กองทัพอากาศได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์จำนวน 3 เครื่องเป็นแบบ SUPER PUMA รุ่น MK 2 เพื่อเป็น ฮ.พระราชพาหนะ 1 เครื่อง ฮ.พระราชพาหนะสำรอง 1 เครื่อง และฮ.ติดตาม 1 เครื่อง (คือเป็นฮ.พระราชพาหนะหลัก และฮ.พระราชพาหนะสำรองรวม 2 เครื่อง อีก 1 เครื่องเป็นฮ.ติดตาม) ฮ.หมายเลข 2 ในขบวนเสด็จฯ วันนั้น และประสบอุบัติเหตุจึงอยู่ในฐานะของ ฮ.พระราชพาหนะสำรอง มีฐานะเป็น “พระราชพาหนะ” เช่นกัน โดยการบินถวายฯ ในวันนั้น ฮ.หมายเลข 3 ยังมิได้เข้าร่วมขบวนในฐานะ ฮ.ติดตาม
       
        เมื่อ ฮ. 9 หมายเลข 2 ประสบอุบัติเหตุชนภูเขา เสียหายขั้นจำหน่าย จึงเหลือ ฮ. 9 หมายเลข 1 ซึ่งเป็น ฮ.พระราชพาหนะหลัก และฮ. 9 หมายเลข 3 ที่เป็นฮ.ติดตาม
       
        การยืนยันโดยเอกสารดังกล่าวข้างต้น เป็นการยืนยันถึงการเป็น ฮ.พระราชพาหนะของเครื่องที่ประสบอุบัติเหตุ เพราะได้มีการแยกแบ่งภารกิจไว้อย่างชัดเจนว่า มีฮ.พระราชพาหนะ ฮ.พระราชพาหนะสำรอง และฮ.ติดตาม
       
        เป้าหมายของการจัดหาของกองทัพอากาศก็มีความชัดเจนว่า ฮ.ซูเปอร์ พูม่า MK 2 นี้ เพื่อถวายฯ เป็น ฮ.พระราชพาหนะ และกองทัพอากาศยังได้ใช้รหัสเรียกขานจัดเป็น “แบบ ฮ. 9” โดยมุ่งเฉลิมพระเกียรติโดยการอัญเชิญเลข “9” อันเป็นเลขประจำรัชกาลมาใช้ โดยการเรียกแบบ “ฮ. 9” นี้ ต้องขอพระบรมราชานุญาต และได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว
       
        ความเป็น ฮ. 9 จึงยังคงอยู่กับ ฮ.ซูเปอร์ พูม่า MK 2 นี้ตลอดไป, การนำมาใช้ในภารกิจของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ยังเป็น ฮ. 9 และเมื่อมีการนำไปแปลงเป็นทุนสำหรับการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส 319 “ไทยคู่ฟ้า” นั้น ก็เท่ากับเป็นการกระทำต่อ ฮ. 9 นี้โดยตรง เพราะยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงเรียกเป็น ฮ.อย่างอื่น ยังคงเป็น ฮ. 9 อยู่ดังเดิม
       
        นี่เป็นประเด็นของ “สำนึก” ไม่เกี่ยวกับว่า การให้บริษัทผู้ผลิต ฮ.ในฝรั่งเศสคือบริษัท ยูโร คอปเตอร์ (EURO COPTER1) มาซื้อ ฮ. 9 ที่เหลือ 2 เครื่องกลับไป ตีราคาเพียงเศษหนึ่งส่วนสามของราคาที่ซื้อมาแล้ว เงินจากยูโร คอปเตอร์ โดยเข้าบริษัท AIR BUS ที่อยู่ฝรั่งเศสเหมือนกันไปเป็นค่าเครื่องบิน (งวดแรก) ของแอร์บัส 319 “ไทยคู่ฟ้า” นั้น เป็นการได้ราคามาอย่างเหมาะสมหรือไม่? สำหรับเฮลิคอปเตอร์ใหม่เอี่ยม การตั้งราคา การตีราคา การเจรจาเรื่องราคา เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างใด เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการตั้งข้อสงสัยหรือข้อสังเกตนี้ ที่มุ่งสู่คำถาม “ความเหมาะสมในทางปฏิบัติ” เพียงอย่างเดียว ส่วนปฏิบัติเช่นนั้นต่อ ฮ. 9 พระราชพาหนะอย่างเหมาะสมถูกควรแล้วหรือ?
       
        ดังที่ได้รายงานไว้ข้างต้นว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับหลายรัฐบาล คือการจัดหานั้นทำกันในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเลือกแบบเป็น SUPER PUMA , MK 2 ในช่วงนั้น, และเมื่อซื้อแล้วมีการส่งมอบ ฮ.ในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อ ฮ.พระที่นั่งสำรอง ประสบอุบัติเหตุชนภูเขานั้น รัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นผู้สอบสวน ผลของการสอบสวนปรากฏอยู่ในการตอบกระทู้ถามของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร สมาชิกวุฒิสภา โดยตอบกระทู้ถามของ พล.ต.อ.วสิษฐ ในราชกิจจานุเบกษารวม 6 ข้อ (ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 115 ตอน 28 ก วันที่ 21 พฤษภาคม 2541) และประกาศในราชกิจจาถึงผลการสอบสวนในนามของรัฐบาล เรื่องราวและขั้นตอนในช่วงนั้น ยุติอยู่เพียงเท่านั้น
       
        โดยไม่มีความชัดเจนต่อการที่ ฮ. 9 หมายเลข 1 ซึ่งเป็น ฮ.พระราชพาหนะ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับอยู่ ซึ่งถือว่า ฮ.พระที่นั่งประสบเหตุเช่นเดียวกัน คือ ฮ.พระที่นั่งต้องหักหลบภูเขาโดยกะทันหันอย่างรุนแรง และใบพัดหาง (TAIL ROTOR) ฟันยอดไม้ แพนหางระดับเสียหายมีรอยครูดกิ่งไม้ แต่นักบินสามารถบังคับเครื่องให้อยู่ในสภาพทำการบินได้ตามปกติ และเดินทางมาลง-ส่งเสด็จฯ ที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ได้โดยปลอดภัย และในวันรุ่งขึ้น เฮลิคอปเตอร์หมายเลข 1 ได้บินกลับมาดอนเมือง ทำการซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขที่ กซอ. 2 กรมช่างอากาศในทันที
       
        ประเด็นนี้, มีความน่าสนใจมาก เพราะเป็น ฮ.พระที่นั่ง ซึ่งมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับอยู่ แต่ความกระจ่างชัดของการสอบสวน และผลของการสอบสวนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ทำกันในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ไม่ได้กล่าวถึงเหตุที่เกิด และความเสียหายที่ปรากฏต่อ ฮ.พระที่นั่ง (หมายเลข 1) แต่อย่างใด, มีแต่ประเด็นของอุบัติเหตุของ ฮ.หมายเลข 2 ซึ่งเป็น ฮ.พระที่นั่งสำรองที่ชนภูเขาเท่านั้น
       
        ได้มีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผย และลงลึกยิ่งกว่านั้น โดยมีผู้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อรัฐบาล ว่าการสอบสวนและสรุปเช่นนั้นไม่เป็นการเพียงพอ แต่ทางรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็ไม่ได้ทำอะไรอีก, จนมาถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต ขอให้มีการสอบสวนใหม่ในประเด็นที่ว่า “ต้องมีผู้รับผิดชอบ” ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
       
        มีการดำเนินการเพื่อจะให้มีผลทางคดีอาญา โดยร้องทุกข์ทาง กองบัญชาการสอบสวนกลาง และเรื่องราวก็เงียบหายไปอีก, การเคลื่อนไหวทางกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตกับ ฮ.หมายเลข 2 นั้น ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งให้ความสนใจมากถึงกับมีการจัดทำสารคดีเชิงข่าว/ขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ และพร้อมจะออกอากาศตีแผ่ให้เกิดความกระจ่างชัด
       
        ก็ไม่ได้รับอนุมัติการออกอากาศแพร่ภาพจากผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แห่งนั้น
       
        การถูกระงับไม่ได้ออกอากาศ ทำให้คณะผู้จัดทำเกิดความไม่พอใจอย่างลึกๆ ได้นำหลักฐานข้อมูล และปมประเด็นไปให้เพื่อนที่ทำรายการในลักษณะเดียวกันที่ทีวีอีกช่องหนึ่ง ได้มีการเตรียมงานกันไปมากประมาณ 80% ก็ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารสถานีให้ยุติการทำงานต่อ โดยมีเหตุผลเพียงว่า-เป็นช่วงเวลาไม่เหมาะสมที่จะแพร่ภาพ
       
        เรื่องของการระงับไม่ให้มีการแพร่ภาพออกอากาศของทีวีทั้ง 2 ช่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล “ทักษิณ 1”
       
        มีสิ่งที่ควรจะต้องตั้งข้อสงสัยอยู่คือ การปกปิดเรื่องนี้ให้เงียบไว้ที่สุดเท่าที่จะทำกันได้ คือให้มีการพูดถึงน้อยที่สุด หรือจะไม่พูดถึงเลย ลืมๆ กันไปเสีย, ซึ่งก็มีผลออกมาอย่างนั้น คือ คนลืมเหตุการณ์ ฮ. 9 ชนภูเขาที่บ้านไอกาเปาะ เมื่อหัวค่ำวันที่ 19 กันยายน 2540 และ ฮ. 9 ลำที่เป็น ฮ.พระที่นั่งก็ประสบอุบัติเหตุด้วยแต่ไม่ร้ายแรง
       
        ในขณะที่เรื่อง ฮ. 9 เงียบหายไป จะด้วยเจตนาใดๆ ก็ตาม
       
        ก็มีการนำ ฮ. 9 ที่เหลืออยู่ 2 เครื่องมาดำเนินการที่ต้องถามว่าเหมาะสมหรือไม่? ที่มีการปรับปรุงใหม่ด้วยงบประมาณจำนวนไม่น้อย และกองทัพอากาศนำมาให้เป็นเสมือน ฮ.ประจำตัวของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆ ที่ยังเรียกว่า ฮ. 9 หรือ ฮ.แบบ 9 ในการเดินทางจากกรุงเทพฯ (สนาม ฮ.กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์-สนามเป้า) ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ และในเที่ยวบินกรุงเทพฯ หัวหิน-กรุงเทพฯ นั้น ก็เป็นการบินเพียงครั้งเดียว แล้วต้องนำไปเก็บที่โรงเก็บในกองบิน 2 โคกกระเทียม ลพบุรี อย่างเดิม เพราะมีผู้ทักท้วงกันมากว่าไม่เหมาะสม, โดยเฉพาะคำพูดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ตำหนิอย่างตรงไปตรงมา
       
        ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็รับฟังโดยดี
       
        อาจจะเป็นเพราะว่า ประชาชน/สังคม เริ่มกลับมาให้ความสนใจแล้ว และเกรงว่า ถ้าหากยังไม่หยุดใช้ ฮ.นั้น จะเกิดกระแสอย่างอื่นๆ ตามมา หรือเกรงว่า “บิ๊กจิ๋ว” อาจจะพูดอีกก็ได้ หลังจากที่เตือนมาครั้งหนึ่งแล้วไม่ฟัง เพราะโดยธรรมชาติแล้วเชื่อว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะต้องพูดอีกแน่ๆ
       
        เรื่องราวของ ฮ. 9 เงียบไปอีกพัก และดูเหมือนว่าจะเงียบตลอดไป
       
        เมื่อ ฮ. 9 หมายเลข 1 ซึ่งเป็น ฮ.พระราชพาหนะโดยแท้ และ ฮ.หมายเลข 3 ที่จัดภารกิจไว้เป็น ฮ.ติดตาม ได้ถูกจำหน่ายออกจากบัญชีของกองทัพอากาศ โดยขายคืนให้กับบริษัทผู้ผลิต ยูโร คอปเตอร์และนำเงินงบประมาณไปเติมให้พอที่จะจัดหาเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า” แอร์บัส 319 ออกมาได้ เป็นอันว่า ฮ. 9 ที่มี 3 เครื่องนั้น ไม่มีอยู่ในกองทัพอากาศอีกแล้ว เหลือแต่เครื่องบินแอร์บัส “ไทยคู่ฟ้า” ซึ่งก็มิใช่เป็นของกองทัพอากาศ แต่เป็นสมบัติของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกองทัพอากาศเป็นผู้ดูแลรักษา และจัดนักบินทำการบิน ทั้งๆ ที่เครื่องบินลำนี้มีเงินของกองทัพอากาศคือค่า ฮ. 9 สองเครื่องนั้นรวมอยู่ด้วย ในการจัดหา
       
        จนบัดนี้, แอร์บัส “ไทยคู่ฟ้า” ก็ยังเป็นของสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มตัว ทั้งๆ ที่ควรจะมีการโอนมาให้เป็นของกองทัพอากาศเสีย แล้วจัดเข้าประจำการที่กองบิน 6 (บน. 6) ดอนเมือง ซึ่งเป็นกองบินขนส่ง เอาเครื่องหมายที่ข้างลำตัว อันเป็นเครื่องหมายของสำนักนายกรัฐมนตรีออกเสียพร้อมกับคำว่า ไทยคู่ฟ้า ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพราะดูเหมือนจะเป็น “เครื่องบินส่วนตัว” มากเกินไป แบบเครื่องบินของอัครมหาเศรษฐีทั้งหลายในโลกที่มีเครื่องบินส่วนตัวใช้ แต่นั่นเขาควักกระเป๋าออกเงินซื้อเอง
       
        เครื่องบินแอร์บัสไทยคู่ฟ้า จึงยังคงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเก่าที่สง่าท้าทายอยู่
       
        เครื่องบินพระราชพาหนะที่ถวายฯ อยู่ในขณะนี้ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-200 (BOEING 737-200) ที่ข้างลำตัวมีคำว่า กองทัพอากาศไทย และเครื่องหมายก็เป็นเครื่องหมายของกองทัพอากาศไม่ได้มีเครื่องหมายพิเศษอย่างใดๆ ทั้งๆ ที่พึงจะทำได้เพื่อแสดงว่าเป็นเครื่องบินพิเศษคือเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะ ทั้งนี้, เป็นไปโดยพระราชประสงค์ว่า เพื่อให้ผู้อื่นนำไปใช้ได้ด้วย เมื่อมีภารกิจ ไม่มีพระราชประสงค์จะทรงใช้ประจำพระองค์หรือเป็นส่วนพระองค์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า” แล้ว ก็จะเห็นและเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า มีความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างไร ของผู้ที่ใช้หรืออยากจะได้เครื่องบินนี้มาใช้ จนลืมความเหมาะสม
----------------



หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: ล้างโคตรทักษิณ ที่ 20-04-2007, 13:38
ละเมิดได้เป็นละเมิด อ้อมๆ กรายๆ ซธนิดซะหน่อย ก็ยังดี ในระหว่างที่ยังไม่เทียบเท่า

กะว่า ค่อยๆสะสมอิทธิพล รอจนได้ที่ค่อยตีเสมอ 

ตอนนี้ก็เฉียดๆข่มนามไปก่อน พอแก้ใคร่อำนาจไปพลางๆ ที่ไหนได้ เหลี่ยมนรก ไปไม่ถึงฝัน กร๊ากๆๆๆ[/b]
:slime_bigsmile:


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: Nai_puan ที่ 20-04-2007, 14:31
เครื่องบินพระราชพาหนะเดินทางถึงกองทัพอากาศแล้ว   


13:37 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 เม.ย.) พล.อ.อ.อัครชัย สกุลรัตนะ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีต้อนรับเที่ยวบินนำส่งเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 (เจ็ด-สาม-เจ็ด-แปดร้อย) โดยกองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดหาเครื่องบินดังกล่าว เพื่อถวายสำหรับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี


ทั้งนี้ การดำเนินการของคณะกรรมการได้เตรียมการในการจัดหา เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะที่มีสมรรถนะและความปลอดภัยสูงสุด ตลอดจนสมพระเกียรติ โดยให้บริษัทโบอิ้งทำการจัดสร้างและบินทดสอบขนแล้วเสร็จ มีความสมบูรณ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายอำนวยการและสายวิทยาการคลังใหญ่ของกองทัพอากาศได้ร่วมกันกำกับดูแล อำนวยการและควบคุมการจัดสร้างเป็นที่เรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ของทางราชการ ขณะเดียวกัน พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้เดินทางไปตรวจขั้นตอนการจัดสร้าง การติดตั้งระบบอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกและการตกแต่งภายในให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง มีความพร้อมสูงสุด และตรวจสอบรับเครื่องบิน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
 

http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=254417&lang=T


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: อยากประหยัดให้ติดแก๊ส ที่ 20-04-2007, 22:27
 น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนาย.ดนุพร ปุณณกันต์ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 24 ส.ค.48 มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ครม.อนุมัติทอ.ซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 วงเงิน 3,017 ล้าน

นายดนุพร ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติการขออนุมัติจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง จำนวน 1 เครื่อง พร้อมตกแต่งภายใน อะไหล่และเครื่องมือ และฝึกอบรม เป็นเงิน 714 ล้านดอลลาร์สหรัฐเศษ หรือเป็นเงินไทยประมาณ 3,017 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องบินทดแทนเครื่องบินพระราชพาหนะเดิม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ อีกประมาณ 56 ล้านบาทเศษ และค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเก็บเครื่องบิน 1 โรง เป็นเงิน 97 ล้านบาทเศษ โดยผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2548-2550 ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,171 ล้านบาทเศษ โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: ลับ ลวง พราง ที่ 21-04-2007, 10:59
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนาย.ดนุพร ปุณณกันต์ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 24 ส.ค.48 มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ครม.อนุมัติทอ.ซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 วงเงิน 3,017 ล้าน

นายดนุพร ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติการขออนุมัติจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง จำนวน 1 เครื่อง พร้อมตกแต่งภายใน อะไหล่และเครื่องมือ และฝึกอบรม เป็นเงิน 714 ล้านดอลลาร์สหรัฐเศษ หรือเป็นเงินไทยประมาณ 3,017 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องบินทดแทนเครื่องบินพระราชพาหนะเดิม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ อีกประมาณ 56 ล้านบาทเศษ และค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเก็บเครื่องบิน 1 โรง เป็นเงิน 97 ล้านบาทเศษ โดยผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2548-2550 ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,171 ล้านบาทเศษ โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คนละเรื่องกันเลย โบอิ้ง 737 มันจอดในป่าเขาถิ่นทุรกันดารเหมือนกับเฮลิคอปเตอร์ได้รึเปล่า มติครม.อันนี้ก็แค่ออกมาแก้เกี้ยวหลังจากโดนด่าแค่นั้นเอง


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: ScaRECroW ที่ 21-04-2007, 11:16
ผู้จัดการ มันก็พยายามโยงทุกเรื่อง ชั่วไม่ต่างจากทักษิณเลย


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: Nai_puan ที่ 21-04-2007, 11:42
คนละเรื่องกันเลย โบอิ้ง 737 มันจอดในป่าเขาถิ่นทุรกันดารเหมือนกับเฮลิคอปเตอร์ได้รึเปล่า มติครม.อันนี้ก็แค่ออกมาแก้เกี้ยวหลังจากโดนด่าแค่นั้นเอง


ไล่ดูวันเวลา ให้ดีครับ

มติครม. ออกเมื่อ  24 สค. 48

สนธิ ลิ้มฯ เริ่มออกมาแฉโจมตีรัฐบาล เรื่องเครื่องบินพระที่นั่งฯ  ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อ  เดือน พย. 48

ดังนั้น ไม่น่าจะใช่ การแก้เกี้ยวหลังจากโดนด่า หรอกครับ


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: Nai_puan ที่ 21-04-2007, 11:56
ไปดูพวกนักบิน เขาคุยกัน เมื่อตอนปี 46 สิครับ

http://www.wing21.rtaf.mi.th/wboard/question.asp?GID=986

ต้องเข้าใจประเด็นนี้ของกองทัพอากาศก่อนนะครับ......ซุปเปอร์พูม่า ลดชั้นจากเป็นเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ มาเป็น เฮลิคอปเตอร์ของนายกรัฐนมตรีและคณะรัฐมนตรี อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ ปัจจุบันกองทัพอากาศต้องการ แอร์บัส หนึ่งเครื่องเพื่อมาใช้งานเกี่ยวกับภารกิจของนายกรัฐมนตรีและคณะฯ รวมถึงบุคคลสำคัญ ในการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะอะไร ที่พวกคุณว่าเรามีแอร์บัส อยู่แล้วนะ จริงๆ แอร์บัสเครื่องนั้น (44-444) เป็นพระราชพาหนะ ขอย้ำว่า พระราชพาหนะ เข้าใจนะครับว่าคนละเรื่องกัน ที่ผ่านมา เราไม่มีเครื่องมาก เราก็ใช้ในภารกิจของ รัฐบาลบ้าง เพราะพระที่นั่งของแต่ละพระองค์จะถูกแยกในห้องส่วนพระองค์ คณะรัฐนมตรีขึ้นนั้นจะมีที่นั่งเฉพาะต่างหาก แต่การที่เราใช้เครื่องนี้ในงานนายกหรือคณะรัฐมนตรี หรือ ผบ.เหล่าทัพในการไปต่างประเทศบ่อยๆ ความเก่าและสึกหรอก็มี และจริงๆก็ไม่เหมาะถ้าหากพระองค์ท่านมีพระราชกรณียกิจ ถูกต้องไหมครับ ทอ.จึงควรมีเครื่องต่างหาก ฯลฯ ส่วน กรณี ฮ. นั้น หลายคนตกข่าวกันหรือปล่าวครับ ว่า ทั้ง ทอ. ,ทบ. และ ทร.ได้ไฟเขียวซื้อ ฮ.ตระกูล ฮอว์ค เหมือนที่หลายคนเคยคุย ในส่วน ทอ.นั้นจะเอา แบคฮอว์ค มาเป็น ฮ.นายกฯ แทนซุปเปอร์พูม่า แต่ที่มีแบคฮอว์คนี่ เป็นโควต้าของสำนักนายกฯนะครับ ไม่ใช่กองทัพอากาศ แต่ให้กองทัพอากาศรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น คุณคิดอยู่หรือครับว่า เรามีซุปเปอร์พูม่าอยู่นะ มันคุ้ม และไม่คุ้มตรงไหน ต้องเข้าใจกองทัพอากาศจากสาเหตุก่อนเหล่านี้ก่อนนะครับ ขอบคุณครับ
 

ท้าวทองไหล 
25 กรกฎาคม 46 เวลา 10:13:23 น.


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 21-04-2007, 12:23
คนละเรื่องกันเลย โบอิ้ง 737 มันจอดในป่าเขาถิ่นทุรกันดารเหมือนกับเฮลิคอปเตอร์ได้รึเปล่า มติครม.อันนี้ก็แค่ออกมาแก้เกี้ยวหลังจากโดนด่าแค่นั้นเอง


ไล่ดูวันเวลา ให้ดีครับ

มติครม. ออกเมื่อ  24 สค. 48

สนธิ ลิ้มฯ เริ่มออกมาแฉโจมตีรัฐบาล เรื่องเครื่องบินพระที่นั่งฯ  ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อ  เดือน พย. 48

ดังนั้น ไม่น่าจะใช่ การแก้เกี้ยวหลังจากโดนด่า หรอกครับ


เรื่องแอร์ฟอร์สวัน "ไทยคู่ฟ้า" ปูดออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้ว .. ส่วนแป๊ะลิ้มนำมาพูดทีหลัง   :slime_bigsmile:

หมายความว่า รัฐบาลทักษิณได้นำ ฮ.พระที่นั่ง ไปแปลงเป็นแอร์ฟอร์สวัน ใช้เองก่อน
พอเรื่องปูดออกมา ก็เลยต้องจำใจจัดหาเครื่องบินลำใหม่เป็นราชพาหนะ

ข้อความข้างล่างนี้ ขออนุญาตนำข้อความบางส่วนมาให้อ่าน
อ้างอิงจากเว็บ http://www.numtan.com/nineboard/view.php?id=2219
โปรดสังเกต วันเดือนปีที่ highligh สีแดงข้างล่าง


__________________________________________________________________

>>> แล้วที่บอกว่า
งบของกองทัพอากาศนะ ผมอยากรู้ว่าเอางบมาจากไหน
>>> ถ้ารู้ราคาที่แน่นอน
เอามาบอกพวกเราด้วย อยากรู้ว่าจริงหรือเปล่า
--------------------------------------------------------------------------------


(http://www.numtan.com/nineboard/picupreply/2138-1-1091128231.jpg)


มีเครื่องบินลำนี้ลำเดียว ที่แสดงว่า .....
นี่คือตัวแทนของ ... ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย ... พาดตลอดลำ แบบนี้

รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ .....
เพื่อการจัดซื้อเครื่องบิน ลำดังกล่าว
โดยใช้งบประมาณต่อเนื่องของกองทัพอากาศ
จากการ .......... ขายคืนเฮลิคอปเตอร์ซูเปอร์พูม่า 2 ลำ

เครื่องบินลำเลียงแอร์บัส A 319 ..... เครื่องบินแอร์บัสลำนั้น ส่งมอบให้กับกองทัพอากาศไทย เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมานี้ ... ตกแต่งและติดตั้งที่นั่ง 36 ที่นั่ง ... ติดป้ายสิงห์สัญลักษณ์สำนักนายกรัฐมนตรี ... และ ลงหมายเลขทะเบียนเครื่อง 60221 ซึ่งแสดงถึงฝูงบิน 602 ซึ่งเป็นฝูงบินส่งกำลังบำรุง ... และ หมายเลข 21 ถือเป็นเลขสัญลักษณ์เรียกขานประจำตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 21

เครื่องบินลำเลียงแอร์บัส A 319 .....
หรือ ที่นักข่าวชอบเรียกขานกันในนาม แอร์ ฟอร์ซ วัน

มีงบประมาณ...............1117.82 ล้านบาท
- โดยเป็นค่าเครื่องบิน...............1100 ล้านบาท
- เป็นงบให้สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจรับและฝึกอบรมจำนวน...............17.82 ล้านบาท

ซึ่งภายหลังการอนุมัติงบประมาณแล้ว ..... พรรคฝ่ายค้าน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีระบุว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากภารกิจของนายกรัฐมนตรี สามารถใช้เครื่องบินพาณิชย์ที่มีอยู่ได้ แม้จะเสียเวลาในการเดินทางบ้าง แต่ก็สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศได้

แต่งบประมาณนั้น มีความโปร่งใส ..... ไม่ได้เป็นงบผี เหมือนอย่างที่ฝ่ายค้านชอบกล่าวอ้างให้ร้ายถึงแต่อย่างใด ซึ่งเครื่องบินลำนั้น ก็ไม่ใช่เครื่องบินส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี แต่เพื่อรองรับภารกิจต่างๆ ของคณะรัฐบาล รวมทั้งเป็นเครื่องบิน V I P ที่ใช้ต้อนรับบุคคลสำคัญ และแขกบ้านแขกเมือง อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลความปลอดภัยของผู้นำของแต่ ละประเทศ ซึ่งเป็นที่รับทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า สังคมโลกอยู่ในภาวะที่ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติสามารถก่อการได้ทุกเมื่อ และ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และ ความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นเครดิตของประเทศ


อ้างอิงจาก ..... ตัวเลขและข่าวประชาสัมพันธ์ของกองทัพอากาศ .../ 29 ก.ค. 2547[/color]
http://www.do.rtaf.mi.th
 
_______________________________________________________________

http://www.numtan.com/nineboard/view.php?id=2219

 :slime_smile2:
...


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 21-04-2007, 12:25
ภาพต่างๆของ "ไทยคู่ฟ้า" บางเว็บเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2548

(http://www.wing21.rtaf.mi.th/wboard/124254814555.jpg)

http://www.wing21.rtaf.mi.th/wboard/question.asp?GID=7589

...


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: Nai_puan ที่ 21-04-2007, 12:40
ซึ่งภายหลังการอนุมัติงบประมาณแล้ว ..... พรรคฝ่ายค้าน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีระบุว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากภารกิจของนายกรัฐมนตรี สามารถใช้เครื่องบินพาณิชย์ที่มีอยู่ได้ แม้จะเสียเวลาในการเดินทางบ้าง แต่ก็สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศได้

แต่งบประมาณนั้น มีความโปร่งใส ..... ไม่ได้เป็นงบผี เหมือนอย่างที่ฝ่ายค้านชอบกล่าวอ้างให้ร้ายถึงแต่อย่างใด ซึ่งเครื่องบินลำนั้น ก็ไม่ใช่เครื่องบินส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี แต่เพื่อรองรับภารกิจต่างๆ ของคณะรัฐบาล รวมทั้งเป็นเครื่องบิน V I P ที่ใช้ต้อนรับบุคคลสำคัญ และแขกบ้านแขกเมือง อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลความปลอดภัยของผู้นำของแต่ ละประเทศ ซึ่งเป็นที่รับทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า สังคมโลกอยู่ในภาวะที่ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติสามารถก่อการได้ทุกเมื่อ และ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และ ความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นเครดิตของประเทศ

----------------------------------

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

ขอแย้งนิดนึงเรื่องลำดับนายกฯ

ทักษิณ คือ นายกฯลำดับที่ 23 ครับ

นายกฯลำดับที่ 21 ตามเลขท้ายเครื่องบิน  คือ คุณบรรหาร


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: อยากประหยัดให้ติดแก๊ส ที่ 21-04-2007, 21:54
เฮลิคอปเตอร์ชุดที่มี 3 ลำ ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงไป  1 ลำ
- ถ้านำลำที่เหลือมาเป็นเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งต่อไป ก็ดูไม่เหมาะสม
- ถ้าบุคคลอื่นนำมาใช้ต่อ ก็ดูไม่เหมาะสม
- นำไปขาย จะได้ราคาไม่ดี เนื่องจากยังใหม่ ก็ดูไม่เหมาะสม
- นำไปเทิร์นอย่างอื่นมา น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
- แลกแอร์บัส 319ACJ เพิ่มเงิน ประมาณ 30 ล้านเหรียญ วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท
- ถ้าแลกโบอิ้ง วงเงินประมาณ 3,800 ล้านบาท ตอนนั้นรัฐบาลอ้างมีเงินไม่พอ
- เครื่องบินไทยคู่ฟ้า น่าจะตกแต่งด้วยช่างภายในประเทศ ไม่หรูหรามาก ไม่สมระดับเครื่องบินพระที่นั่ง
- ทักษิณใช้เครื่องบินไทยคู่ฟ้าติดต่อต่างประเทศ ทำให้ค้าขายกับต่างประเทศได้ดีภายในไม่กี่ปี
  และสามารถสั่งซื้อเครื่องบินพระที่นั่งใหม่ได้ในเวลาไม่นานนัก

- เรื่องเก่าแล้วขุดขึ้นมาอยู่ได้ ไม่รู้มีวัตถุประสงค์จะสมานฉันท์อะไร


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: ลับ ลวง พราง ที่ 21-04-2007, 22:07
อ๋อ ที่แท้ก็ ฌาคส์  โซนิแยร์


หัวข้อ: Re: ฮ.พระที่นั่ง SUPER PUMA กับเครื่องบิน “ไทยคู่ฟ้า”-ทักษิณ
เริ่มหัวข้อโดย: อยากประหยัดให้ติดแก๊ส ที่ 21-04-2007, 22:32
ทหารอากาศมีเหตุผลที่ใช้เครื่องบินพระที่นั่งเป็นตระกูลโบอิ้งเป็นหลักไม่ใช่แอร์บัส
เพราะนักบินมีความชำนาญและคุ้นเคย มีสมรรถนะในการขึ้นลงในสนามบินไม่ยาว
นักได้ เช่น ที่หัวหิน และเป็นเครื่องบินระดับหรูหรา ราคาแพงกว่าแอร์บัส ที่สำคัญที่
สุดคงเป็นเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากนักบินมีความชำนาญนั่นเอง