ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สโมสรริมน้ำ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวงข้าวล้อลม ที่ 11-03-2007, 17:00



หัวข้อ: ...@@....." เมื่อคนไปบอกรักควาย แล้วคนด้วยกันจะว่ายังไง ?. ".... @@......
เริ่มหัวข้อโดย: รวงข้าวล้อลม ที่ 11-03-2007, 17:00
(http://img137.imageshack.us/img137/6355/b11f1160t43420bad4dd2dfpg9.gif)
(http://img137.imageshack.us/img137/2705/eye10hd5.gif)

(http://img137.imageshack.us/img137/2424/l3280bzk8.jpg)

ขวัญใจเจ้าทุยรวงทอง ทองลั่นทม

เจ้าทุยอยู่ไหน ได้ยินไหมใครมากู่ กู่
เรียก หาเจ้าอยู่ อยู่ หนใดรีบมา
เจ้าทุยเพื่อนฉัน ออกมาหากันดีกว่า กว่า
อย่า เฉยเลยอย่าอย่า มะมา เร็วไว

เกิด มามีแต่ทุย เป็นเพื่อนกัน
ค่ำเช้า ทำงาน ไม่ทิ้งกัน ไม่หายไป
ข้า มีข้าวและน้ำ นำมาให้
อีกทั้ง ฟางกองใหญ่ อย่าช้าไย อย่าช้าไย

เจ้าทุยเพื่อนจ๋า ออกไปไถนาคงเหนื่อย อ่อน
เหนื่อย นักพักผ่อนก่อน หิวจนอ่อนใจ
ข้าจะอาบน้ำ ป้อนฟางทั้งกำคำใหญ่ ใหญ่
จะสุมไฟกองใหม่ ใหม่ ไว้กันยุงมา

เจ้ามีคุณแก่เรามามาก มาย 
ถึงแม้ เป็นควาย เจ้าเหนือกว่า ดีเสียกว่า
ผู้ คน ที่เกียจคร้าน ไม่เข้าท่า
ทุยเอ๋ยเจ้าดีกว่า ช่วยไถนา ได้ทุกวัน

ดนตรี

เจ้าทุยนี่เอ๋ย ข้าเคยเลี้ยงดูมาก่อน เก่า
เมื่อ ครั้งยังเยาว์เยาว์ ทั้งทุยและฉัน
ข้าเคยขี่หลัง นั่งไปไหนไป ไม่หวาด หวั่น
สุขทุกข์เคยบุก บั่น รู้กันด้วยใจ

เติบ โตมาด้วยกัน ในไร่นา เคยหา กินมา
ข้าเห็นใจ ข้าเห็นใจ
เจ้าทุย ยากจะหา ใครเทียมได้
ข้ารักดัง ดวงใจ ไม่รักใคร ข้ารักทุย    


 เมื่อถึงเทศกาลแห่งความรัก เรามักจะนึกถึงแต่ความรักในเชิงชู้สาว ความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จนลืมระลึกถึงความรักต่อสัตว์ที่มีฐานะเป็น "เพื่อนยาก" ที่ภักดีต่อมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของ

ในจำนวนสัตว์ที่เป็นเพื่อนยากและผูกพันกับคนไทยมาช้านานนั้น "ควาย" ถือเป็นสัตว์อันดับหนึ่งที่ใกล้ชิดกับคนไทย ด้วยเพราะสังคมเกษตรของไทยที่ผ่านมา ควายถือเป็นแรงงานสำคัญในการช่วยให้กำเนิดผลิตผลทางการเกษตรได้ไม่น้อย นอกจากนี้ควายกับชาวนายังมีความผูกพันในฐานะเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากกันอีกด้วย

ด้วยความที่ "ควาย" จะต้องมาอยู่ใกล้ชิดและเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือในกิจการของชาวนา ดังนั้น การเลือกควายจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะควายลักษณะดี จะช่วยค้ำชูให้เจ้าของมีความเจริญรุ่งเรือง ในทางตรงกันข้ามหากได้ควายลักษณะชั่วมา ก็จะพาให้ครอบครัวเศร้าหมองและเกิดโทษได้ การเลือกควายนั้นมีตำราดูลักษณะดังนี้ ๑

ทีนี้ข้าจะรำพรรณถึงกำเนิดกระบือ ซึ่งมีนามตามชื่อโบราณมา อนึ่งเล่าเปนสีดำธรรมดาหน้าผากโต มีด่างใหญ่เปนใบโพพองามดี งามเกินเจริญศรีสวัสดิ์ ใครเปนเจ้าของต้องพิพัฒน์บริบูรณ์ ทั้งสมบัติก็มากมูลเนืองนองมา คนนับถือฦๅชาย่อมปรากฏ มีทั้งลาภแลยศอันใหญ่ยิ่ง กระบือนี้ย่อมดีจริงต้องตำรา ยังอีกตัวหนึ่งเปนคำปรัมปราท่านกล่าวไว้ ว่าสีเหมือนทองแดงแสงสดใสขนเปนมัน หน้าก้อร่อฅอควันเปนมงคล อิกทังสกนธ์ก็ด่างพร้อย เกิดมาตั้งแต่น้อยไปจนใหญ่ ท่านเจ้าของนี้มีข้าไทบริบูรณ์ ทั้งสินทรัพย์ก็นับมากมูลเปนก่ายกอง ชั้นแต่จะค้าขายก็ได้คล่องไม่ยากจน อย่างที่กระบือดำปลอดตลอดตนงามนักหนา ท่านเรียกว่านิลสาลิกาปัดตลอด งามจริงยิ่งยอดกระบือดี ใครเลี้ยงไว้ก็ได้มีสุขสบาย ปราศจากอันตรายแลโรคา...(ประชุมเชิญขวัญ, น. ๕๐-๕๑)

เมื่อได้ควายที่ถูกใจ เลี้ยงดูกันไปมา ก็ก่อให้เกิดความผูกพันและสื่อสารกันเข้าใจ ผู้เขียนเคยได้ยินว่าที่จังหวัดตราด (และอาจจะมีที่จังหวัดอื่นๆ อีก) มีคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารระหว่างคนกับควาย เวลาเมื่อจะขี่ควาย โดยใช้สื่อสารเข้าใจกันได้ดี อาทิ คำว่า แค่ว หรือ ค่าว หมายถึงให้เลี้ยวขวา คำว่า ต่าน หมายถึงให้เลี้ยวซ้าย คำว่า ฮึย หมายถึงให้เดินหน้า และ โหยด หมายถึงให้หยุด ความผูกพันและความใกล้ชิดดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เกิดความรักและความเข้าใจต่อ "ควาย" ในฐานะเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ ก่อเกิดวัฒนธรรมที่

แสดงถึงความรักระหว่าง "คน" กับ "ควาย" นั่นคือ พิธีสู่ขวัญควาย

พิธีสู่ขวัญควาย เป็นพิธีของชาวนาที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความรักระหว่างคนกับควาย มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงการขอบคุณ "ควาย" ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเทียมแอกไถนาตลอดฤดูกาลเพาะปลูก รวมถึงขอสมาโทษที่ชาวนาล่วงเกินด้วยการด่าทอเฆี่ยนตีทำให้ขวัญหนีไปจากตัวควาย ประเพณีนี้โดยมากมักทำหลังจากที่เสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจไม่ตรงกัน โดยมากมักอยู่ในราวเดือน ๑๐ ถึงเดือน ๑๒ บางแห่งอาจทำก่อนการเพาะปลูกก็มี การสู่ขวัญควายถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของชนชาติไท ทั้งนี้เพราะพบว่าคนไทหลายกลุ่ม เช่น คนไทดำ คนไทขาวที่เวียดนาม คนลาว คนไทลื้อที่สิบสองปันนา คนไทขึนที่พม่า เป็นต้น ต่างก็มีประเพณีสู่ขวัญควาย ส่วนในประเทศไทยเองนั้น ก็พบในทุกภาคของประเทศไทย



จากสู่ขวัญควาย ถึงกระบือปาร์ตี้ :

งานเลี้ยงขอบคุณ "ควาย"


ขั้นตอนของการสู่ขวัญควายนั้น เริ่มจากการตระเตรียมสิ่งของต่างๆ ที่จะใช้ในพิธีรวมทั้งของชอบของพระเอก/นางเอกของงาน ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ปราชญ์แห่งล้านนาไทย กล่าวถึงเครื่องทำพิธีสู่ขวัญควายว่าประกอบไปด้วย

๑. บายศรีนมแนว หรือบายศรีปากชาม

๒. กรวยดอกไม้และด้ายสำหรับให้ผูกเขาควายเวลาสู่ขวัญตัวละ ๑ คู่

๓. หญ้าอ่อน ๑ หาบ สำหรับเป็นรางวัลแก่ควาย

๔. ข้าวเหนียวสุก ๑ กล่อง

๕. ไก่ต้ม ๑ คู่

๖. เหล้า ๑ ไห

๗. ขนมบางอย่าง เช่น ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง หรือข้าวต้มผัด

๘. น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ขันเงิน สำหรับประพรมควาย

(http://img294.imageshack.us/img294/9281/l3269hy2.jpg)


เมื่อตระเตรียมสิ่งของพร้อมแล้วให้นำเครื่องพิธีต่างๆ มาวางไว้บนเสื่อที่ปูไว้หน้าคอกควาย เจ้าของควายพาควายไปอาบน้ำและแต่งองค์ทรงเครื่อง แล้วจูงควายมาผูกไว้กับเสาหลักในคอก จากนั้นจึงเชิญหมอขวัญมาทำพิธีเรียกขวัญ เอาด้ายผูกกรวยดอกไม้ติดกับเขาควาย บางรายเอาด้ายสายสิญจน์ผูกคอไว้ด้วย แล้วเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยประพรมเพื่อให้ควายอยู่สุขสบาย พอทำพิธีเสร็จ เจ้าของยกเครื่องข้าวขวัญออกไป แล้วนำเอาหญ้าอ่อนและอาหารต่างๆ มาให้ควายกินเป็นอันเสร็จพิธี๒

ในพิธีสู่ขวัญควายของคนไทบางกลุ่มมีการปล่อยควายเข้าป่าไปหลังเสร็จพิธี เช่น พิธีทำขวัญควายของไทดำ เมืองลา ที่เวียดนาม หรือพิธีทำขวัญควายของไทลื้อ เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ก็ปล่อยควายเข้าป่าเช่นเดียวกัน เฉพาะพิธีทำขวัญควายของไทลื้อ เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนานี้ปล่อยควายเข้าป่าไปประมาณ ๑๕ วัน หรือบางทีก็ ๑ เดือน ก็จะเข้าป่าไปเยี่ยมควาย จนถึงเวลาทำนาอีกครั้งหนึ่งจึงจะไปรับควายกลับ๓ ทั้งนี้คงเพราะจะให้มีอิสรภาพไม่ต้องถูกกักขังนั่นเอง อย่างไรก็ตามอาจมีคำถามว่าแล้วปล่อยควายไปแล้ว ถ้าควายอยากกลับบ้านจะกลับถูกหรือไม่? คำตอบก็คือ ชาวไทดำที่เมืองลา ประเทศเวียดนาม เชื่อว่าเมื่อควายได้กินเกลือในพิธีแล้ว ควายจะจำบ้านของตนได้๔

งานวิจัยของศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์ ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมชนชาติไท กล่าวว่าคนไทใต้คงไม่มีพิธีทำขวัญควาย แต่ก็ให้ความสำคัญกับควายมาก กล่าวคือ ในช่วงที่ผู้ชายไปไถนา เมื่อภรรยานำข้าวไปส่งสามี ก็จะนำข้าวไปเผื่อควายด้วย โดยนำข้าวไปให้สามี ๑ ก้อนและให้ควาย ๑ ก้อน ทุกวัน เมื่อถึงเวลารับประทานข้าวใหม่ คนไทใต้ก็คงจะให้ควายกินข้าวใหม่ก่อนคน ที่สำคัญในรอบ ๑ ปี จะมีวันพิเศษวันหนึ่งซึ่งถือเป็นวันของควายโดยเฉพาะ เป็นวันเริ่มฤดูร้อน เรียกว่า "วันหลี่เซีย" เสมือนเป็นวันควายแห่งชาติ จะไม่ให้ควายทำงาน คนไทใต้คงมีความเชื่อว่าถ้าใครให้ควายทำงานในวันนี้ควายจะร้องไห้ ๕[/color]
"บอกสิ บอกสิบอกว่ารัก (ควาย)" :

ความรักในบททำขวัญควาย

ในพิธีสู่ขวัญควายมีขั้นตอนสำคัญอยู่ขั้นตอนหนึ่งที่เป็นการบอกรักควาย นั่นคือขั้นตอนที่หมอขวัญเรียกขวัญ ในบททำขวัญควายจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การดูแลและเห็นใจกัน ความผูกพันระหว่างคนกับควาย รวมถึงการระลึกถึงคุณของควาย ดังในบทสู่ขวัญควายของภาคเหนือ ความตอนหนึ่งดังนี้

...เจ้ากระทำการไถแผ่นดิน อดหิวลำบากข้าก็จักแก้เชือก ๒ เส้นกันผูกไว้กับเฝือ (คราด) และไถ...เพื่อจักสมนาคารวะตามแต่โทษ เมื่อมีใจกริ้วโกรธกล้าราวี เอาเชือกฟาดตีด่าหย้อ เป็นกำพร้าพ่อหีแม่ เป็นคำเคียดแก่สะหาว หาคำอดคำหยาบบ่ได้ เป็นคำแสบไหม้แกนหูแห่งท่าน ตูข้าทั้งหลายก็หากมีคำอินดู ก็ขอสมมา ขอหื้อท่านลาโทษ ปลดเสียโทสนโทษ ขออย่าเอาคำกริ้วโกรธไว้ในใจ ขออย่าหื้อเป็นกรรมเวรภัยแก่กันไปภายหน้า พระเจ้าหน่อฟ้าตนโปรดโลกหากเทศนาไว้ว่าบ่ควรแท้ดีหลี (ประเพณีสู่ขวัญควายของลานนาไทย, น. ๕)

ส่วนในบททำขวัญควายของอีสาน ก็ได้แสดงความรักต่อควายเช่นกัน มีการพรรณนาความตอนหนึ่งเล่าถึงการขอขมาโทษควาย ที่ขณะทำงานไถนา ลูกควายก็มาล้อมหน้าล้อมหลังจะกินนมแม่ควาย ทำให้แม่ควายลังเลใจและทำงานช้าลง เมื่อเจ้าของเห็นว่าช้าก็ด่าก็ตี ซึ่งอาจทำให้แม่ควายต้องเศร้าเสียน้ำตา จึงต้องมาขอขมาโทษในครั้งนี้

...วันนี้แม่นวันกล้า ข้อยจึ่งสู่ขวัญควายบักคำอี่เผือกตัวบุญมี อี่เขาปีตัวบุญกว้าง แล่นอ่อมอ้อยแอ่วกินนม ทมๆ ใจจักขาด น้ำตาหลากไหลตก เจ้าจึงคนิงในอกในทรวงจักแตกทะลาย อยู่เหิงหลายสวยพองายแดดแก่กล้า เจ้าจึงต่าวหน้าคืน ข้อยจึงมีใจเคียดค้อย ข้อยจึงบายเอาค้อนน้อยๆ...ดีไป ไปบ่ดีข้อยจึงได้ด่าไปซ้าข้อยจึงได้ไล่เร็วไว เจ้าจึ่งไปซีชุดเจ้าจึงไปซีขาด ชิดค่าวขาดเซไป ปลดไถเชาข้อยกะได้ดีช้ำ (ประเพณีโบราณไทยอีสาน, น. ๓๐๗)

ท้ายบททำขวัญมักมีการอำนวยพรแก่ควาย ให้ควายมีอายุยืน แข็งแรง ออกลูกมากๆ และปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ตลอดจนขอให้ได้เกิดเป็นมนุษย์

...ให้เจ้ายืนยาวมั่นทันตาตั้งอยู่ดีเยอ อย่าได้***โค่นค้างคอนล้มหล่อนเสีย ชยตุ ภวังค์ ชยมังคลัง สตวัสสา ฑีฆายุกา โหนตุ มหิงสโคณา (ประเพณีโบราณไทยอีสาน, น. ๓๐๗-๓๐๙)

...หากเป็นคนภายหน้า หื้อเข้ากล้าดียาว ฝูงไร่นาก็ดีเที่ยวแท้ หื้อเข้าเหลือเล้าเต็มเยีย หื้อมันยูท่างกินแลทานไป อย่าขาดตราบต่อเท้าซำชั่วชีวัง เทอะเนอ ชยนฺตุภวํ ชยนฺตุภวํ ชยมงฺคลํ แล้วแล (บททำขวัญควายของไทลื้อ สิบสองปันนา, น. ๑๗๒)


(http://img257.imageshack.us/img257/4333/l3268wy6.jpg)


จาก "ควาย" กลายเป็น "คน"

ในบททำขวัญควายส่วนใหญ่นั้นเมื่อจะกล่าวถึงควาย มักใช้สรรพนามแทนตัวควายว่า "พ่อ" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคน เช่น พ่อปลั่ง พ่อแก้ว นำมาใช้เรียกแทนควาย หรือบางแห่งอาจเรียกตัวผู้ว่า เจ้า เรียกตัวเมียว่า นาง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชาวนาไม่ได้มอง "ควาย" เป็น "ควาย" แต่มองควายเป็น "คน" ดังนั้นนอกจากการทำขวัญควายหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ควายยังมีประเพณีชีวิตที่ได้รับการปฏิบัติแทบไม่ต่างไปจากคนเลย เช่น ทำขวัญลูกควายเกิดใหม่ ทำขวัญเรือน (คอกควาย) การจัดการศพ เป็นต้น

ยกตัวอย่างบททำขวัญลูกควายของภาคกลาง (ทำขวัญควายแรกคลอด) บทนี้มีลักษณะเหมือนการรับขวัญ ต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัวศรี ศรี สวัสดีสถาพรเปนบวร

มงคล วันนี้ข้าพเจ้าจะแผ่ผลทั่วขอบเขตต์ ด้วยกระบือวิเศษของข้าพเจ้าเกิดลงมา อีกทั้งเจ้าทุ่งเจ้าท่าที่อยู่ป่าแลอยู่ดง อยู่ห้วยเขาลำเนาพงทุกท่อธาร วันนี้เปนวันสุขสำราญด้วยกระบือปลอด ของข้าคลอดออกมาดูงามครัน ทั้งท่วงทีสีสันก็ชอบกล ตั้งแต่ได้กระบือตัวนี้ก็มีผลเหลือประมาณ ทั้งเข้าปลาแลอาหารก็ทวี ทั้งเงินทองฤๅก็มากมีออกไหลมา จะนึกสิ่งใดก็ได้สมปราร์ถนาทุกสิ่งอัน...(ประชุมเชิญขวัญ, น. ๔๙)

นอกจากนี้ยังมี "คำสอน" จากคนถึงควาย ที่แสดงความห่วงใยและสอนการปฏิบัติตัวและการดำเนินชีวิตดุจ "พ่อสอนลูก"

...ถ้าแม้ว่าเจ้าเติบโตขึ้นมามีเปลี่ยวปละอย่าเกียจคร้าน แต่พอเดือนหกฝนตกท่วมบ้านลงมาเย็นใจ พ่อนี้จะได้ผูกแอกไถเปนเครื่องครบออกทุ่งนา อย่าปรารภความเหนื่อยเหน็จ ถึงเขาจะตีพ่อสักเท่าไรก็อย่าขามเข็ดจงทนเอา ตัวพ่อนี้จะตั้งชื่อเจ้าว่าอ้ายเปลี่ยว ถ้าแม้นงานมีทำเรียกคำเดียวจงวิ่งมา อย่าทำเปนหัวดื้อเหมือนกระบือป่าเที่ยวยืนเบิ่ง คนวิ่งไล่ไพล่กะเจิงเที่ยวสัญจร จนดาวเคลื่อนเดือนดับไม่กลับมานอนที่ในคอก เที่ยวซุกซ่อนนอนซอกป่าละเมาะ ทำให้เจ้าของเที่ยวมองเสาะทุกตำบล ขวัญพ่อเอ่ยอย่าได้คะนองลองเชิงชนเปนควายเปลี่ยว หนทางไพรเขียวอย่าไปให้ห่าง เร่งระวังตัวกลัวเสือช้างจะยายี อนึ่งศัตรูหมู่ผีเที่ยวสัญจร มันจะพาเจ้าเข้าซุกซ่อนอดหญ้าฟาง เห็นทางไหนใหญ่กว้างเจ้าจงกลับ อย่าเดินเฉยให้เลยลับจนหลงบ้าน...(ประชุมเชิญขวัญ, น. ๕๐)

หรือในบทไหว้เจ้าที่คอกควายของภาคใต้ ที่มีการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปกปักรักษาคุ้มครองคอกควาย ให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข ปราศจากอันตรายทั้งปวง ดังความตอนหนึ่งที่ว่า

...ครั้นท่านเสวยแล้ว โบริยาตรคลาดแคล้ว ไปสู่สถาน ยังแต่รอยเดน ยังแต่รอยชาน พวกชาวคันหาม กินสำราญใจ ถือกล้องคองน้ำ มัวเมาผินไขว่ บ้างโห่บ้างร้อง เล่นรำสำราญใจ ที่อยู่ก็อยู่ ที่ไปก็ไป ที่ยังอยู่ไซร้ รักษาจงดี ศัตรูหมู่ร้าย อย่าเข้ามาใกล้ เบียฬควายฝูงนี้ หมู่สูทั้งหลาย ยิกไล่ทุบตี ตั้งแต่วันนี้ อย่ามีอันตราย สัมฤทธิ์ชันตุ จะมะหาเทวะตา

สุดท้ายเมื่อควายตายลง ชาวล้านนาก็มักจะเอาเขาทั้ง ๒ ข้างทำเป็นที่ติดเทียนบูชาพระถวายไว้ที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ควายที่ตายไปอีกด้วย

ด้วยความรักอย่างสุดซึ้งของคนไทยกับควายนี้เอง คนไทยโบราณจึงไม่นิยมกินเนื้อควาย ไม่ใช่เพราะนับถือเจ้าแม่กวนอิม ไม่ใช่เพราะนับถือพระโคอุสุภราชของพระอิศวร แต่เพราะนับถือในน้ำใจของเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ เหตุนี้เพื่อนจึงย่อมไม่ฆ่าเพื่อน

แต่สำหรับคนไทยในวันนี้ หากใครมีควาย แล้วรักควาย ชอบควายก็ต้องรีบๆ บอกกัน มัวอืดอาดช้านานไป "ควาย" จะกลายเป็นลูกชิ้นไปเสียก่อนจะหาว่าไม่เตือน

 
 

***********************************************************************************
 

(http://img83.imageshack.us/img83/4403/gnaturecarabao9ildb6id7.jpg)

อะไรเอ่ย ตัวดำสี่เท้า เขากาง กินฟางและกินหญ้า
เป็นสัตว์เลี้ยง ของชาวนา ช่วยลากเกวียน และคันไถ
มันแข็งแรง ทำงานเก่ง แต่เชื่องช้า ไม่ว่องไว
เด็ก ๆ ชอบใจ ได้ขี่หลัง พอมันว่าง ชอบแช่โคลน
 


 เด็ก ๆ อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะทายได้ถูกแล้ว ควายนั่งเอง ในแบบเรียนของเราก็มี คือ ค ควาย เด็กทุกคนที่อ่านหนังสือเป็น คงรู้จักและจำได้ควายเป็นสัตว์เลี้ยงสี่เท้าขนาดใหญ่ มีอีกชื่อหนึ่งว่า กระบือ โดยทั่วไป ชาวนานิยมเลี้ยงควายคู่กับวัว จึงมักเรียกรวมกันว่า วัวควาย วัวเป็นสัตว์เลี้ยงประเภทเดียวกับควาย แต่มีขนาดเล็กกว่า วัวมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โค เราจึงมักได้ยิน คำว่า โคกระบือ ซึ่งหมายถึง วัวควาย นั่นเอง  
 


 
ชาวนานิยมเลี้ยงวัวและควายไว้เพื่อช่วยในการไถนา วัวควายเป็นสัตว์ที่แข็งแรงมาก และมีความอดทน สามารถช่วยชาวนาลากไถได้เป็นเวลานาน นอกจากนั้น ยังช่วยลากเกวียนที่บรรทุกของหนักๆ ได้เป็นระยะทางไกลๆ อาหารของมันคือ หญ้า และฟาง ตามปกติเมื่อไถนาไปได้ระยะหนึ่ง ชาวนาจะหยุดให้ตัวเองและวัวควายได้พัก ระหว่างพักมันจะเล็มหญ้าอ่อนๆ ในทุ่งไปด้วย
 


 
เมื่อหายเหนื่อยแล้ว จะลงมือไถต่อไปจนกว่าจะค่ำ จึงพาวัวควายไปอาบน้ำ และจูงกลับบ้าน ชาวนาไทยนิยมสร้างบ้านใต้ถุนสูง เพื่อให้วัวควายเข้าไปอยู่ใต้ถุนบ้านได้ แต่ถ้ามีหลายตัวก็มักจะสร้างคอกให้อยู่ ในหน้าแล้งเมื่อหญ้าขาดแคบน ชาวนาจะหาฟางอ่อน ๆ มาเก็บไว้ในคอก วัวควายจะกินอาหารได้เรื่อย ๆ เวลามันยืนหรือนอนอยู่เฉย ๆ มันจะขย้อนอาหารที่กลืนลงไปแล้ว ออกมาเคี้ยวใหม่ เรียกว่า เคี้ยวเอื้อง 


 
เวลาอากาศร้อน ควายชอบลงไปนอนแช่ในแอ่งน้ำ หรือปลักโคลน เพราะมันเป็นสัตว์ที่ทนร้อนไม่ค่อยได้ วัวสามารถทนร้อนได้ดีกว่า จึงไม่ชอบแช่ปลัก เวลาผ่านไปตามท้องนา เราจึงมักจะเห็นภาพควายนอนแช่อยู่ในปลักส่วนวัวมักจะยืนเล็มหญ้าอยู่ใต้ร่วมไม้ หรือบริเวณที่เจ้าของผูกไว้ 


ฟังเพลง  ขวัญใจเจ้าทุย  ได้ตามลิงค์นี้

http://www.oknation.net/blog/roungkaw/2007/03/10/entry-2