ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => ชายคาพักใจ => ข้อความที่เริ่มโดย: Şiłąncē Mőbiuş ที่ 10-02-2007, 09:28



หัวข้อ: An Oke by the window...อนาคตของโทรศัพท์
เริ่มหัวข้อโดย: Şiłąncē Mőbiuş ที่ 10-02-2007, 09:28
ถ้านั่งอ่านย้อนบทความในส่วน An Oak by the Windows ไปเรื่อยๆ จะเห็นว่า ผมมักจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทางด้านบันเทิงเป็นหลัก เพราะผมมองว่าเทคโนโลยีด้านความบันเทิงถือเป็นเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด และเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้ได้จริงๆ และเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่าอย่างอื่น

หลายๆ เทคโนโลยีที่ตัดสินใจเข้าสู่วงการบันเทิงก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงอย่างหนึ่ง นั่นคือ ความคาดหวังของผู้ใช้ที่สูง โดยเฉพาะผู้ใช้ที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่เข้าใจ เทคโนโลยีระดับลึกซึ้ง แต่มีโอกาสใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ค่อนข้างมาก นั่นทำให้ความคาดหวังว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติมีสูงไปด้วย โดยที่อาจจะไม่รู้ว่าเทคโนโลยีมีข้อจำกัดอะไรบ้าง และก็ไม่พร้อมที่จะทำความเข้าใจด้วยอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้ในกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน

และอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นๆ ก็คือ โทรศัพท์ โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือที่กลายเป็นปัจจัยที่ห้าสำหรับหลายๆ คนไปแล้ว

โทรศัพท์มือถือกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการบันเทิงแบบเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวเลขว่าโทรศัพท์มือถือรุ่นที่สามารถเล่นเพลง MP3 กำลังมียอดขายพุ่งแซงเครื่องฟังเพลงอย่าง iPod ไปแล้วหลังจากบริษัทมือถือรายใหญ่ๆ ของโลกอย่างโนเกีย ตัดสินใจเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัวโดยการทุ่มเทให้กับฟังก์ชันการเล่นเพลงมากขึ้นๆ โดยเฉพาะในเครื่องรุ่นหลังๆ นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือที่เล่นภาพเคลื่อนไหวหรือคลิปวิดีโอก็กลายเป็นของสามัญประจำเครื่องไปแล้ว

คำถามที่ผุดขึ้นมากลางวงสนทนาก็คือ โทรศัพท์มือถือกำลังจะไปทางไหน โทรศัพท์มือถือกำลังจะเป็นอะไรในอนาคต

ทุกวันนี้ โทรศัพท์เป็นได้ทั้งเครื่องมือที่ให้ข้อมูลขณะเดียวกันก็สร้างความบันเทิงด้วย โทรศัพท์อาจจะมีความหลากหลายของหน้าตา และโทรศัพท์บางส่วนเราก็มองไม่เห็นเลยเพราะมันอาจจะซ่อนตัวอยู่ในเครื่องเพชรของคุณผู้หญิงหรือแม้แต่ฝังเข้าในร่างกายของเราจะมีการใส่ฟังก์ชันต่างๆ เข้าไปในโทรศัพท์อีกมากมายเพื่อให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้นไปอีก แน่นอนว่าผู้ใช้ก็จะต้องมีวิธีในการสื่อสารกับโทรศัพท์ในหนทางใหม่ๆ มากขึ้น แม้มันจะยังถูกเรียกว่าโทรศัพท์อยู่ก็ตาม แต่ฟังก์ชั่นในการรับและส่งเสียงก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไปแล้ว

โดยเราอาจจะเรียกว่ามันคือเครื่องมือในการสื่อสารมากกว่า โดยการสื่อสารนั้นอาจจะมีได้หลายทางโดยไม่จำเป็นต้องใช้การพูดกรอกใส่หูโทรศัพท์เท่านั้น

โทรศัพท์ก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ทุกวันนี้กลายเป็นส่วนประกอบของอะไรหลายๆ อย่าง และไม่จำเป็นที่มันจะต้องโผล่มาแสดงให้ใครๆ เห็นอย่างชัดเจนด้วยโดยอาจจะทำงานอยู่เบื้องหลัง

ที่สำคัญ โทรศัพท์ใส่คุณสมบัติของคอมพิวเตอร์เข้าไปในตัวของมันมากขึ้น และนับวันก็คล้ายคอมพิวเตอร์มากขึ้นไปทุกที โดยสามารถทำอะไรที่คอมพิวเตอร์ทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ประสิทธิภาพในการประมวลผลของโทรศัพท์มือถือล้าหลังกว่าเครื่องแลปทอปประมาณ 5 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้จากการวิจัยยังพบว่า ทุกวันนี้ผู้คนอ่านข้อมูลจำนวน 10 เมกะไบต์ต่อวัน ฟังประมาณ 400 เมกะไบต์ต่อวัน และมองข้อมูลต่างๆ 1 เมกะไบต์ต่อวินาที โดยคาดการณ์ว่าในช่วงระยะเวลาสิบปีข้างหน้าเครื่องโทรศัพท์ทั่วๆ ไปจะมีฮาร์ดดิสก์ในระดับที่สามารถเก็บเรื่องราวของเจ้าของเครื่องได้ทั้งชีวิต โดยคาดการณ์กันว่าราคาของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลจะตกลงอย่างต่อเนื่องในระยะสิบปีข้างนี้ นั่นทำให้โทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งจะสามารถเก็บข้อมูลเพลงทุกเพลงในโลกได้ในชิปเพียงตัวเดียว นั่นหมายความว่า โมเดลธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการดาวน์โหลดเพลงจะเริ่มหมดไป แต่จะมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์กลางที่สามารถปลดล็อกเพลงที่ลูกค้าซื้อแล้วและจะมีการติดตามดูว่าผู้ใช้ฟังเพลงอะไรไปแล้วบ้างและจะเก็บเงินในส่วนไหน

อีกแนวโน้มหนึ่งที่สำคัญคือการทำให้สามารถใช้เบอร์เดียวได้ทุกที่ โดยเมื่อเราอยู่นอกบ้านก็จะใช้เครือข่ายเซลลูลาร์และจะเปลี่ยนกลับไปเป็นเครื่องข่ายแบบโทรศัพท์บ้าน (Fixed Network) เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว

เช่นเดียวกับฟังก์ชันใหม่ๆ ที่จะใส่เข้าไปในเครื่องโทรศัพท์ให้เป็นมาตรฐาน เช่น กระเป๋าสตางค์และกุญแจ โดยกระเป๋าสตางค์คือการใช้โทรศัพท์ในการจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เริ่มมีใช้กันแล้วบ้างอย่างในประเทศญีปุ่น เช่นเดียวกับการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นตั๋วรถเมล์ ตั๋วดูภาพยนตร์ ส่วนกุญแจหมายถึงการใช้โทรศัพท์เป็นอุปกรณ์ในการเช็คความเป็นเจ้าของ หรือการรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือยังใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

อีกประเด็นหนึ่งของโทรศัพท์ที่น่าสนใจ คือ การปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาของมัน ในขณะที่มีการใส่ฟังก์ชันต่างๆ เข้าไปมากขึ้น หน้าตาของโทรศัพท์ก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยมีความหลากหลายมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราอาจจะได้เห็นโทรศัพท์มือถืออยู่ในรูปของมีดพกไปจนถึงกล่องใส่ดินสอ อย่างไรก็ดีทุกวันนี้เหล่าผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยังให้ความสำคัญกับการใส่ฟังก์ชันต่างๆ เข้าไปในโทรศัพท์มือถือมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพถ่าย หรืออีเมลก็ตาม ซึ่งก็คาดการณ์ว่าขั้นต่อไปจะเป็นการเพิ่มหน้าจอ ส่วนคีย์บอร์ดและหูฟังซึ่งเป็นอุปกรณ์แยกออกมา หรืออาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถมาทำหน้าที่เหล่านี้ได้

ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือมีอุปกรณ์เหล่านี้รวมอยู่ในตัวทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นส่วนเล็กๆ เช่น หน้าจอและปุ่มกดเล็กๆ เพราะถ้าทำใหญ่ๆ ก็จะทำให้โทรศัพท์มือถือมีขนาดเทอะทะไม่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้น เช่น การมีส่วนหูฟังที่แยกออกมาเป็นบลูทูธก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้บางคนอาจจะแยกส่วนของหน้าจอและคีย์บอร์ดออกมาในกรณีที่ต้องตอบอีเมลหรือใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งการแยกอุปกรณ์ออกมาดูจะสะดวกกว่า ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีให้ใช้กันแล้วแม้อาจจะยังไม่นิยมมากนักก็ตาม

เช่นเดียวกับการใส่โปรเจ็กเตอร์ขนาดเล็กเข้าไว้ในโทรศัพท์ซึ่งทำให้เราสามารถฉายภาพขึ้นหน้าจอหรือบนกำแพงที่ใดก็ได้ตามความสะดวก หรือโทรศัพท์บางเครื่องอาจจะสามารถช่วยบอกชื่อคนในงานปาร์ตี้หรือการประชุมได้ หรือแม้กระทั่งอาจจะช่วยกระซิบชื่อของคนเหล่านี้ผ่านหูฟังได้ โดยหูฟังทุกวันนี้อาจจะอยู่ในรูปของต่างหูหรือสติ๊กเกอร์เล็กๆ ติดที่บริเวณใกล้ๆ หูก็ได้ ซึ่งทำให้เราสามารถฟังเพลงไปพร้อมๆ กับการฟังเสียงแวดล้อมรอบข้างไปด้วย นั่นคือ เราสามารถเลือกซาวด์แทร็กให้กับชีวิตประจำวันของเราได้

คีย์บอร์ดก็เช่นกัน มีการทำเป็นคีย์บอร์ดแบบเสมือนโดยอยู่บนพื้นผิวแบนราบ โดยจะมีเซ็นเซอร์ติดตามการเคลื่อนไหวของนิ้วมือของเราเพื่อบอกว่ากดคีย์ใดไป ในขณะที่การส่งข้อมูลด้วยเสียงก็มีมาพักใหญ่แล้วเพียงแต่ยังไม่ใช่ฟังก์ชันเด่นชนิดที่นำมาเป็นจุดขายได้ เพราะยังมีข้อจำกัดอีกมากมาย เช่นเดียวกับการส่งคำสั่งจากสมองโดยตรง

อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนก็คิดถึงผลกระทบที่ตามมาโดยเฉพาะผลกระทบทางด้านสังคมอันเกิดจากโทรศัพท์ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครคิดว่าโทรศัพท์จะเป็นอะไรไปได้นอกจากเครื่องมือในการติดต่อธุรกิจ เช่นเดียวกับการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือที่สามารถสร้างความประหลาดใจให้กับอุตสาหกรรมโทรศัพท์โดยรวมได้ อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยทางด้านสังคมเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเทคโนโลยีว่าจะสามารถปรับเข้าสู่ความเป็นไปของสังคม หรือต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ

โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องความปลอดภัยทั้งในแง่ของข้อมูลและความปลอดภัยในทางร่างกาย เนื่องจากปัจจุบันโทรศัพท์มีความสามารถที่ก้าวข้ามความเป็นโทรศัพท์ไปมาก ซึ่งทำให้ชีวิตคนใช้โทรศัพท์ปลอดภัยน้อยลง โดยเฉพาะการจะใช้โทรศัพท์เป็นกระเป๋าเงินและกุญแจ จึงควรจะมีเทคโนโลยีที่สามารถมั่นใจได้ว่าคนใช้โทรศัพท์นี้เป็นเจ้าของที่แท้จริง และต้องใช้โดยเจ้าของจริงๆ เท่านั้น

บางคนกังวลถึงการที่โทรศัพท์จะมาสร้างเยื่อบางๆ ขวางกั้นความสัมพันธ์ของคนขึ้นมา โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงสังคม การที่โทรศัพท์ทำอะไรได้มากขึ้นซึ่งรวมถึงการสร้างภาพและเสียงแบบเรียลไทม์ขึ้นมา การที่เราคุยกับใครสักคนเราอาจจะได้ยินเสียง ได้เห็นภาพ แต่เราสัมผัสไม่ได้ ซึ่งทุกวันนี้คนก็อนุโลมให้การไม่ต้องสัมผัสเป็นภาวะที่ยอมรับได้ เพียงแค่ได้เห็นหน้า ฟังเสียงกัน ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากโฆษณาสินค้าไฮเทคหลายชิ้น แต่สิ่งนี้เหมือนเป็นเยื่อบางๆ กั้นระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วคนอาจจะอยู่คนเดียว แม้ว่าตลอดเวลาจะพูดคุยกัน เห็นหน้ากันส่งข้อความถึงกันก็ตามที ซึ่งก็เหมือนวลีที่ว่า ไกลก็เหมือนใกล้ แต่ใกล้ก็เหมือนไกล

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ คนรุ่นต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร

บางคนคิดไปไกลถึงขั้นว่าจะใส่ชิปแบบไร้สายเข้าไปในของใช้ทุกอย่าง เหมือนเมื่อครั้งที่เรามีแนวคิดจะใส่ชิปไว้ในสุนัขเร่ร่อนทุกตัวในกรุงเทพมหานคร นั่นทำให้ในอนาคตเราอาจจะต้องใช้กูเกิ้ลช่วยหาของในบ้าน นี่อาจจะเป็นตลกที่ขำไม่ออกก็ได้

อนาคตเป็นสิ่งที่สวยงามตามแต่จินตนาการที่เราจะคิดฝันขึ้นมา แต่ความจริงก็เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอดีตคือที่มาของปัจจุบัน และปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องไปถึงอนาคต การวาดฝันอนาคตของเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์ที่ก้าวข้ามผ่านการเป็นอุปกรณ์สื่อสารไปสู่มือที่สามของสังคม นี่อาจจะเป็นมือที่มองไม่เห็นที่ผลักดันความเป็นไปของสังคมในแบบที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เพียงแต่ว่ามันจะผลักไปด้านไหนแค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม

1 The end of the line,' The Economist, London : Oct 14, 2006, Vol.381, Iss.8499, p.10.
2 The phone of the future,' The Economist, London : Dec 2, 2006, Vol.381, Iss.8506, p.16.
3 Phone are the the new cars,' The Economist, Technology Trend, London : Dec 2, 2006, Vol.381, Iss.8506, p.14.
4 Soat, J. (2006), "In the Year 2025, If I'm Still Alive, I May Find",' InformationWeek, Manhasset: Nov 27, 2006, p.72 


หัวข้อ: Re: An Oke by the window...อนาคตของโทรศัพท์
เริ่มหัวข้อโดย: Şiłąncē Mőbiuş ที่ 10-02-2007, 09:32
ลืมใส่ Link
มาจากนี่ครับ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=55037

ก็อ่านมาเรื่อยๆ มาสะดุดเอาตรงที่ว่าอนาคตอาจจะต้องใช้ google Search ของในบ้าน  :slime_hmm:


เอ่อ ผมว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆนี่ อาจจะเป็นจริงก็ได้นะเนี่ยยยยย