ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: taworn09220 ที่ 11-10-2006, 07:04



หัวข้อ: สภานิติบัญญัติ ได้ตัวครบแล้ว! [11 ต.ค. 49 - 04:06]
เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 11-10-2006, 07:04
สภานิติบัญญัติ ได้ตัวครบแล้ว! [11 ต.ค. 49 - 04:06]
 
หลังจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายสัตย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็เริ่มงานทันทีด้วยการประชุม ครม.โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมมอบหลักการทำงาน 4 ป. ให้ ครม.ยึดปฏิบัติ 

นายกฯแจ้งผลประชุมด้วยตัวเอง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ต.ค. เวลา 09.00 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้เข้าทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนไปยังตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเป็นประธานการประชุม ครม.โดยก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์จะไปถึงทางขึ้นตึก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแถบไนลอนสีแดงมาขึงกั้นเป็นทางเดินให้ พล.อ.สุรยุทธ์ เพื่อกั้นแยกสื่อมวลชนไม่ให้เข้าใกล้ถึงตัวนายกรัฐมนตรี และก่อนการประชุม ครม.จะเริ่มขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ สลค. ได้อนุญาตให้ช่างภาพโทรทัศน์และช่างภาพนิ่งเข้าบันทึกภาพภายในห้องประชุม ครม.ไม่ถึง 5 นาที 

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.นัดแรก เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้เตรียมโพเดียมแถลงข่าวไว้ให้ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นตึกสำนักเลขาธิการ ครม. เพื่อที่จะแถลงผลการประชุม ครม.นัดแรก กระทั่งเวลา 12.10 น. พล.อ.สุรยุทธ์ได้ลงมายืนแถลงผลการประชุม ครม.ด้วยตนเอง ว่า ที่ประชุม ครม. ในวันนี้มีหลายเรื่อง เรื่องที่หลายฝ่ายอยากจะทราบก็คือเรื่องนโยบายของรัฐบาล ในที่ประชุมได้หารือการเตรียมการร่างนโยบาย ซึ่งจะต้องให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติในโอกาสข้างหน้า 

พร้อมเลิกกฎอัยการศึกเร็วที่สุด 

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกที่อาจจะอยู่ในความสนใจของหลายๆส่วนนั้นได้มีการหารือกันในที่ประชุม ครม.และเป็นมติ ครม. ว่า รัฐบาลจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)โดยใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นที่หารือ ขอเรียนได้ว่ารัฐบาลคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชน และไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ คิดว่าจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้สถานการณ์ได้คลี่คลายลงไป และจะได้พิจารณาเรื่องของการยกเลิกกฎอัยการศึกให้เร็วที่สุดเท่าที่รัฐบาลสามารถจะทำได้ 

ตั้งใจแถลงข่าวเพื่อความโปร่งใส 

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า การทำงานใดๆในเรื่องที่ได้หารือในที่ประชุม ครม.วันนี้ ก็ได้มุ่งเน้นถึงเรื่องความโปร่งใส ความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเรื่องความประหยัด ซึ่งเป็นแนวทางกว้างๆในการทำงานของรัฐบาล ที่ตนมาชี้แจงด้วยตนเองในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่จะทำให้เรื่องของการหารือในที่ประชุม ครม.เป็นที่รับทราบของพี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนคงจะซักถามรายละเอียดได้จากทางโฆษกของรัฐบาลต่อไป   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์แถลงข่าวเสร็จแล้ว ก็หันหลังเดินกลับขึ้นตึกไปทันที โดยไม่ยอมตอบคำถามของผู้สื่อข่าว 

ครม.กินข้าวมื้อเที่ยงเรียบง่าย 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำหรับการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีนั้นได้เริ่มประชุมตั้งแต่เมื่อเวลา 10.00 น.-12.00 น. โดยทางสำนักเลขาธิการ ครม.ได้จัดอาหารกลางวันมาเลี้ยง ครม. ประกอบไปด้วย ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาจากร้าน “ลิ่ม เหล่า โหงว” ข้าวเนื้ออบ ข้าวหมูอบ จากร้านนางเลิ้ง ส่วนของหวานเป็นเต้าทึงเย็น เต้าฮวยฟรุตสลัด 

ครม.ใหม่สักการะเจ้าที่เอาฤกษ์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับบรรยากาศวันแรกของการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยตั้งแต่เช้าบรรดารองนายกรัฐมนตรี และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเข้ามายังทำเนียบรัฐบาลแต่เช้า เพื่อสักการะท้าวมหาพรหมและพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ทำเนียบฯ โดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เดินทางมาถึงเป็นคนแรกในเวลา 07.00 น. ภายหลังเสร็จสิ้นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทำเนียบฯ นายโฆสิตได้รุดไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวงอุตสาหกรรมทันที ก่อนจะกลับมาร่วมประชุม ครม.อีกครั้ง 

รมต.แบ่งห้องทำงานลงตัว 

ต่อมาเวลา 08.00 น. นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นคนที่สอง ตามด้วยคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ซึ่งนำพระพุทธรูปปางนาคปรกมาด้วย จากนั้นทั้งหมดได้ขึ้นไปยังห้องทำงานที่จัดไว้บนตึกบัญชาการ 1 ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ทำงานบนชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องเดิมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ส่วนห้องทำงานของนายโฆสิตอยู่บนชั้น 4 ซึ่งเป็นห้องเดิมของ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายธีรภัทร์ทำงานบนชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องเดิมของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม และสุดท้ายคุณหญิงทิพาวดี ทำงานบนชั้น 4 ซึ่งเป็นห้องเดิมของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงทิพาวดีได้อัญเชิญพระพุทธรูปบูชามาไว้ที่ห้องทำงานเป็นการส่วนตัวด้วย 

รมต.ใหม่ยังงงตึกประชุม ครม. 

ขณะที่บรรดารัฐมนตรีคนอื่นๆได้เดินทางไปยังตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งเป็นสถานที่ ประชุมโดยใช้ห้องประชุมบนชั้น 3 โดย รมต.พากันทยอยเดินทางมาตั้งแต่เวลา 09.00 น. อย่างไรก็ตาม มีรัฐมนตรีบางคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับอาคารและสถานที่ต่างๆ ภายในทำเนียบฯ ต้องจอดรถแวะถามทางจากเจ้าหน้าที่ ตำรวจรักษาความปลอดภัยของทำเนียบฯ ตามรายทางตลอด ทั้งนี้ นายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการ ครม. ได้ลงมายืนรอรับ ครม.ชุดใหม่ บริเวณหน้าอาคาร สลค.ด้วย 

แจกพระราชดำรัสให้ ครม. 

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ว่าพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณครม.ทุกคนที่มาร่วมกันทำงานเพื่อจะช่วยกันให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน รัฐบาลมีเวลาน้อยแต่ต้องทำงานให้สำเร็จ ดังนั้น เรื่องการบูรณาการระหว่างกระทรวงเป็นเรื่องสำคัญ นายกฯระบุด้วยว่าได้แจ้งกับสื่อมวลชนมาตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ว่าจะแก้ปัญหาบ้านเมือง แก้ปัญหาในภาคใต้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องอุทกภัย ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกด้าน ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง นอกจากนี้ นายกฯยังให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเป็นแนวทางหลักในการทำงาน ทั้งนี้ ทางสำนักเลขาธิการ ครม.ได้จัดพิมพ์กระแส พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯได้นำ ครม.ชุดที่ 56 ของประเทศไทย เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. จัดทำเป็นรูปเล่มแจกแก่ ครม.ทุกคน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานด้วย 

“หม่อมอุ๋ย” รอชงงบปี 50 เข้า ครม. 

รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า ทาง ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ และจะนำเสนอกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ต่อที่ประชุม ครม.ครั้งต่อไป ส่วนเรื่องการแถลงแนวนโยบายแห่งรัฐต่อสภานั้น ทางสำนักเลขาธิการ ครม.ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีที่มีรัฐสภา รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าให้รัฐบาลแถลงนโยบายภายใน 15 วันนับจากวันที่เข้ารับหน้าที่ 2. กรณีที่ไม่มีรัฐสภา ก็ให้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะตั้งขึ้น ซึ่งคิดว่าคงไม่ช้า เพราะรัฐบาลชุดนี้เน้นความรวดเร็ว กระฉับกระเฉงและมีประสิทธิภาพ โดยในเอกสารของ สลค.ได้แสดงให้เห็นตัวอย่างของรัฐบาลในอดีตที่ไม่มีสภาฯ เช่น รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สมัยรัฐบาลนายอานันท์ก็เกือบ 3 สัปดาห์จึงจะแถลงนโยบายได้ และในที่ประชุมนายกฯยังได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศไปจัดทำสมุดปกขาวซึ่งจะเป็นการชี้แจงเรื่องความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศไทยกับต่างประเทศ โดยให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ 

คมช.ชี้ขาดยกเลิกกฎอัยการศึก 

คุณหญิงทิพาวดีกล่าวว่า สำหรับเรื่องการเสนอยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อ ครม.ว่าจะนำข้อคิดเห็นของ ครม.ไปแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่าถ้าสามารถยกเลิกกฎอัยการศึกได้โดยเร็วที่สุดก็จะเป็นการดี โดยจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ซึ่งเรื่องทางด้านความมั่นคงต้องแล้วแต่ทาง คมช.จะพิจารณา 

นายกฯสั่ง ขรก.อย่าเป็นทาสเอกชน 

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มาทาบทามให้เข้ามารับตำแหน่งใน ครม.เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาต่างๆในหลายด้าน ภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด โดยในเรื่องระบบราชการนั้น นายกฯขอให้ข้าราชการเป็นหลักในแผ่นดิน มีความซื่อสัตย์ ยึดอุดมการณ์ มีความเป็นมืออาชีพ ยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ใช่เป็นพนักงานบริษัท หรือทำงานเพื่อใครกลุ่มหนึ่ง เมื่อถามว่า จะกำหนดแนวทางอย่างไร เพื่อให้ข้าราชการมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับนักการเมือง คุณหญิงทิพาวดีตอบว่า เป้าหมายการทำงานของข้าราชการ ไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือความสุข ความเจริญของชาติ ดังนั้นจึงขอให้ข้าราชการมีความมุ่งมั่น ความอดทนสูง และขอให้ข้าราชการมีความหนักแน่นในอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม


“โฆสิต” นำทีมยกร่างนโยบายแห่งรัฐ 

ทางด้านนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานคณะทำงานยกร่างนโยบายที่จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) เข้าร่วมด้วย ซึ่งนายโฆสิตได้เชิญให้ตนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยเช่นกัน โดยได้เรียกประชุมในเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 11 ต.ค. เวลา 09.00 น. ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ในส่วนของตนจะพยายามเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านการเมือง โดยเฉพาะการพัฒนาประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมือง และกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมือง คาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์จะสามารถสรุปร่างนโยบายดังกล่าวได้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำเข้าหารือกับ ครม. 

ออกสมุดปกขาวแจงเหตุปฏิวัติ 

นายธีรภัทร์ยังกล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกว่า คงจะต้องหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และคงมีสมุดปกขาวชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจเหตุการณ์ ที่ผ่านมากับนานาชาติ  เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะชี้แจง และประเด็นเรื่องกฎอัยการศึกที่ประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องให้มีการยกเลิกนั้น นายกรัฐมนตรีและ ครม.ได้ชี้แจงว่าได้คำนึงถึงเรื่องนี้ แต่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วย ถ้าสถานการณ์คลี่คลายและนิ่งแล้ว และทางด้านความมั่นคงไม่ขัดข้อง ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ซึ่งจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต่อไป   

เร่งแก้ภาพพจน์ประเทศไทย   

เมื่อถามว่า การออกสมุดปกขาวมาจากกระแส พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงภาพลักษณ์ของประเทศใช่หรือไม่ นายธีรภัทร์ตอบว่า เมื่อวานนี้มีกระแสพระราชดำรัสที่ว่าต่างประเทศมองประเทศไทยไม่ดี ก็ให้รีบแก้ปัญหานี้ คงจะเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ด้วย เมื่อถามว่า ที่ระบุสถานการณ์คลี่คลายหมายถึงสถานการณ์ด้านการเมืองใช่หรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตอบว่า เป็นเรื่องของทางทหาร เพราะเราไม่ทราบว่าเหตุการณ์ข้อเท็จจริงเกิดอะไรขึ้น 

รับดูแลกรมประชาฯ-อสมท 

ต่อมาเวลา 15.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ภายหลังเข้าพบหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ เรื่องการแบ่งงานว่า การหารือยังเหลือรายละเอียดเล็กๆ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จะต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกเล็กน้อย เช่น กรรมการในส่วนที่ได้แต่งตั้งไว้แล้ว และสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องหารือกับทางเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ผู้สื่อข่าวถามว่า ตกลงรับผิดชอบกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท หรือไม่ นายธีรภัทธ์กล่าวว่า “ไม่ตอบก็รู้กันอยู่แล้ว และคงเป็นไปตามนั้น” 

เสนอ ก.ม.ผลประโยชน์ทับซ้อน 

นายธีรภัทร์กล่าวว่า งานที่ต้องเข้ามาทำมี 2 เรื่องคือ 1. การกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ 2. การดูแลนโยบายด้านการเมือง ซึ่งปัญหาทางการเมืองถือเป็นปัญหาหลัก หากไม่มีการวางหลักประกันที่ดีจะเกิดปัญหาเดิมๆ จึงควรวางหลักเกณฑ์การปฏิรูปการเมืองให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองประสบความสำเร็จภายใน 1 ปี โดยตนพร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการนำผลประโยชน์ส่วนรวมมาบังหน้าเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว อันนำไปสู่การทุจริตคอรัปชัน เช่นการใช้ข้อมูลภายในไปหาผลประโยชน์เรื่องการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การใช้ข้อมูลภายในกระทรวงเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องในการทำธุรกิจ การรับของขวัญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งควรเสนอเป็นกฎหมายเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง แยกออกมาจากกฎหมายของ ป.ป.ช.


ดึงเอกชนร่วมผลักดันเศรษฐกิจ 

ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรมให้สัมภาษณ์ว่า มีงาน 2-3 อย่าง ที่สำคัญที่ต้องเร่งทำ คือ 1. การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากแก้ว มีเวลาแค่ไหนก็ทำแค่นั้น 2. การหาแนวทางการช่วยเหลือ หาระบบที่จะมาดูแลคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ลูกหลานมีโอกาส มีอนาคต เมื่อถามว่า จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน เช่นนโยบายกองทุนหมู่บ้านหรือไม่ นายโฆสิตตอบว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดขอเวลาก่อน แต่ 2 เรื่องที่กล่าวมาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไปขอความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆในการช่วยกันคิด แต่ความร่วมมือใหญ่จะต้องมาจากภาคเอกชน เชื่อว่าภาคเอกชนเป็นภาคที่ผลักดันเศรษฐกิจการให้รัฐบาลผลักดันสามารถทำได้เพียงชั่วครั้ง ชั่วคราวไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นแกนนำเศรษฐกิจจริงๆ คือภาคเอกชน ต้องหาวิธีร่วมงานกับภาคเอกชนเพื่อให้ เศรษฐกิจเข้มแข็ง และคงจะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชน 

ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

นายโฆสิตกล่าวว่า ทั้ง 2 เรื่องที่เราจะต้องดำเนินการนั้นจะต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะต้องมีความเพียร ความซื่อ ความรู้ เหตุผล และในยุคนี้ต้องมีเทคโนโลยี ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการบริหารจัดการ จะต้องผสมผสานสิ่งเหล่านี้และเดินไปด้วยกัน เมื่อถามว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนมีความเคยชินกับนโยบายประชานิยม รัฐบาลจะปรับอย่างไร รองนายกฯตอบว่า ต้องเติมความเพียรตามบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกให้กับประชาชน ความเพียรถือว่าเป็นคำมงคลที่ทุกคนจะต้องหามงคลใส่ตัว และมงคลของชีวิตคือความเพียรและความซื่อ ถ้าเรามีทุกอย่างแต่ไม่มี 2 อย่างนี้จะทำให้อยู่ได้ยาก นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องความซื่อสัตย์ ทุกคนควรน้อมเกล้าฯในเรื่องนี้ เศรษฐกิจคงจะโตในระดับอย่างนี้ และการทำงาน 1 ปีของตนนั้น จะทำงานให้มากที่สุด 

จี้ ครม.เร่งทำงานเน้นสมานฉันท์ 

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า นายกฯได้แสดงความยินดีกับรัฐมนตรีทุกคนที่รับตำแหน่งและเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งนายกฯได้แจ้งถึงแนวทางในการ บริหารงานของ ครม.ว่า มีเวลาน้อย ต้องดำเนินการเรื่องต่างๆโดยทันที การทำงานอยากให้เป็นการประสานงานในรูปแบบบูรณาการ ถือว่ามีความสำคัญมาก เรื่องต่างๆ จะมีความเกี่ยวเนื่องกับหลายกระทรวงขอให้หารือกันได้เลย นายกฯได้แจ้งให้แก่ ครม.ทราบอีกครั้งหนึ่งถึงเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการ หลังจากได้แถลงกับสื่อในวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เรื่องสถานการณ์ภาคใต้ และปัญหาเฉพาะหน้า คือเรื่องของอุทกภัย นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ ทุกคนดูแลเรื่องความเป็นธรรมในสังคม เพราะเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆที่ผ่านมา โดยได้ยกตัวอย่างถึงกรณีของภาคใต้ ซึ่งมีความแตกแยกเกิดขึ้น มีความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นตัวเร่งให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นในระยะหลัง 

มอบกรอบทำงาน 4 ป. ให้ รมต. 

ร.อ.ยงยุทธกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังพิจารณาจากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เห็นว่าเป็นแผนฯที่น่าจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไปได้ดี เพราะในแผนฯ ที่ 9 เป็นการเน้นในเรื่องของความรู้คู่คุณธรรม แต่ในแผนฯที่ 10 เป็นการเน้นในเรื่องของคุณธรรมนำความรู้ นายกฯอยากให้หลายๆกระทรวงทำให้สังคมกลับคืนสู่ระบบคุณธรรมให้ได้ โดยเฉพาะด้านการศึกษา การนำคุณธรรมเข้ามามีส่วนในชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งจะต้องเน้นในเรื่องของการปฏิบัติด้วย เช่น การให้เกียรติผู้อื่น การให้เกียรติแก่สตรี สังคมของเรามีความเอื้อเฟื้อ มีความอ่อนโยนต่อกันอยู่แล้ว ด้วยพื้นฐานทางศาสนาของเรา โดยหลักการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นนั้น นายกฯย้ำว่า ประเด็นแรกคือการรับฟังปัญหาต่างๆ และปรับความเข้าใจกัน พิจารณากันด้วยเหตุด้วยผล นายกฯได้ให้กรอบแนวทางการทำงานแก่ ครม. 4 ประเด็นด้วยกัน ในช่วง 1 ปีจากนี้ไป ได้แก่ การทำงานด้วยความโปร่งใส การทำงานด้วยความเป็นธรรม การประหยัด และประสิทธิภาพ โดยฝากให้รัฐมนตรีทุกท่านกลับไปดูในเรื่องของโครงการต่างๆ ของแต่ละกระทรวงในช่วงเวลาสั้นๆที่รัฐบาลจะทำงาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีผู้บริหารขึ้นมาใหม่ สิ่งเดิมที่มีอยู่เดิมนั้นจะไม่เอา ขอให้ผู้บริหารกลับไปดูความจำเป็น ความเร่งด่วนของแต่ละโครงการ ความโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และประสิทธิภาพของโครงการนั้นๆ ซึ่งหลายโครงการของรัฐบาลที่แล้วก็เป็นโครงการที่ดีให้ดำเนินต่อไป ขึ้นอยู่กับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ด้วย คือ “โปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด มีประสิทธิภาพ” นายกฯให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆไปพิจารณาและรายงานกลับมาว่า โครงการใดควรจะเดินหน้าหรือยกเลิก 

นายกฯเตรียมเดินสายชี้แจง ตปท. 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดทำสมุดปกขาวชี้แจงต่างประเทศเป็นหน้าที่ของฝ่ายใด ร.อ.ยงยุทธตอบว่า คมช. คงจะพิจารณาและดำเนินการอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องชี้แจงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งจะเป็นการให้ความมั่นใจกับต่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง โดยนายกฯมีกำหนดการไปเยือนต่างประเทศหลายวาระ คือ 1. ไปเยือนประเทศกัมพูชาภายในสัปดาห์นี้ 2. การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน วันที่ 30-31 ต.ค. ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน 3. การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก วันที่ 15-19 พ.ย. ที่ประเทศเวียดนาม และ 4. การประชุมอาเซียนซัมมิต วันที่ 11-13 ธ.ค. ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นเวทีใหญ่ ที่นายกฯจะมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำในเวทีโลก รวมทั้งเป็นการเยือนประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเรื่องนี้อยู่ ระหว่างการเตรียมการ ซึ่งในการเยือนต่างประเทศนายกฯจะเป็นผู้ชี้แจงด้วยตัวเอง โดยเล่าเหตุการณ์ให้ต่างประเทศเข้าใจ ส่วนการส่งสมุดปกขาวหากเสร็จแล้วจะส่งไปยังสถานทูตประเทศต่างๆ เพื่อส่งกลับไปยังประเทศนั้นๆ รวมทั้งจะมีการแถลงข่าวให้คนไทยรับทราบด้วย 

ตั้ง “พงษ์เทพ” เป็นเลขาธิการนายกฯ 

ร.อ.ยงยุทธกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบต่อคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 187/2549 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการการเมือง โดยความเห็นชอบของ ครม. แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองจำนวน 3 ราย คือ 1. พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2. นางกัญจนา สปิลเลอร์ เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 3. ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนการประชุม ครม. ครั้งต่อๆ ไปนั้น จะมีการประชุมทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป 

เชิญทูตมุสลิมร่วมงานรอมฎอน 

ร.อ.ยงยุทธกล่าวว่า ในวันที่ 11 ต.ค. จะมีการจัดงานเลี้ยงละศีลอดรอมฎอน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 18.00 น. จะมีการละศีลอด ชำระล้างร่างกาย มีการรับประทานของทานเล่น และอินทผลัม ที่ห้องโถงตึกสันติไมตรี จะมีพิธีละหมาดที่ตึกสันติไมตรีหลังใน โดยจุฬาราชมนตรีจะเป็นผู้นำละหมาด และเวลา 18.25 น. จะมีงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งจะมีเอกอัครราชทูตจากประเทศมุสลิมมาร่วมงานจำนวนมาก โดยนายกฯจะกล่าวต้อนรับบนเวทีด้วย ในเวลาประมาณ 18.50 น. 

ขรก.รอรับ 2 รมต.ทำงานวันแรก 

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รมว.ต่างประเทศ และนายสวนิต คงสิริ รมช.ต่างประเทศ เดินทางเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศอย่างเป็นทางการเป็นวันแรก ภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยนายนิตย์ และนายสวนิต ได้ถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงฯ คือ พระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และพระรูปพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ระหว่างปี 2495-2501 และทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ ระหว่างปี 2499-2500 ที่บริเวณโถงหน้าห้องวิเทศสโมสร โดยมีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจำนวนมากรอให้การต้อนรับ 

ชูนโยบายยึดผลประโยชน์ของชาติ 

จากนั้น นายนิตย์ให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินนโยบายการต่างประเทศ เป็นเรื่องของผลประโยชน์สูงสุดแห่งประเทศชาติและประชาชนคนไทย ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดหรือกลุ่มบุคคลใด ตนจะยึดมั่นประเด็นนี้ไว้ และขออัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ทรงรับสั่งว่ารัฐบาลจะต้องชี้แจงต่อต่างประเทศให้ได้รับทราบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนดี และเราเป็นประเทศที่ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั้งหลาย ทั้งนี้สิ่งที่อยากทำคือ การดำเนินนโยบายในทางที่ส่งเสริมผลประโยชน์ ของชาติด้วยการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศรอบด้านและประเทศที่เรามีความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมายาวนาน เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ที่เรามีอยู่ร่วมกัน ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม 

“บัญญัติ” ไฟแรงอยากทำงาน 

ที่กระทรวงมหาดไทย นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รมช.มหาดไทย ได้เข้ากระทรวงเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง จากนั้นให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งโยกย้ายในกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะตำแหน่งปลัดกระทรวงว่า รมว.มหาดไทยได้ให้แนวทางไว้แล้วว่าจะต้องทำโดยเร็ว มีกรอบคือเป็นคนรู้ระบบงานบริหารงานของกระทรวงทั้งหมด และต้องประกอบกับหลักเกณฑ์อื่นๆเช่นเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งทั้งหมดเป็นอำนาจของ รมว. อย่างไรก็ตามแนวนโยบายทั้งหมดก็ต้องมานั่งคุยกัน ซึ่งไม่เฉพาะระดับนโยบายเท่านั้น แต่ข้าราชการประจำก็ต้องเข้ามาคุยด้วย เมื่อถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่าบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งใน ครม.ชุดนี้เป็นข้าราชการเก่า เกรงว่าจะมีการบริหารราชการล่าช้า นายบัญญัติตอบว่า คนที่เป็นข้าราชการจะมีประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้เรามองเห็นได้ทะลุ เหล่านี้ถ้านำมาเป็นทุนในการทำงานก็สามารถทำได้ทันที เปรียบเทียบไปแล้ว ครม.ชุดนี้เหมือนกับการชกมวย แต่ไม่มีเวลาในการรำมวย ตีระฆังตูมแล้วชกเลย 

“ชาญชัย” เดินหน้าปราบยาเสพติด 

ที่กระทรวงยุติธรรม นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า งานแรกที่จะเข้ามาสานต่อนโยบายเดิม คือการปราบปรามยาเสพติด เพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป รวมถึงการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตัวเป็นคนดีในสังคม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค สำหรับปัญหาการอำนวยความยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลทุกชุดพยายามแก้ไข เพื่อให้ บ้านเมืองสงบสุข โดยบทบาทของกระทรวงยุติธรรม ต้องทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ในกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะเข้าไปจัดการให้เกิดความยุติธรรม ผู้ต้องหาคนใดไม่มีทนายจะจัดหาทนายความให้ ในส่วนของประชาชนที่ให้ ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ จะได้รับการคุ้มครองดูแลให้ปลอดภัย 

โยกย้ายบ้างแต่ไม่ล้างบาง 

รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกระแสข่าวการโยกย้ายล้างบางอดีตตำรวจที่รับราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ตนไม่มีนโยบายล้างบาง มีแต่นโยบายด้านบริหาร เจ้าหน้าที่คนใดที่มีปัญหาอาจจะต้องโยกย้ายบ้าง แต่ไม่ใช่ ล้างบางแน่ เพราะเราต้องการความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ส่วนคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อย่างคดีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานนักกฎหมายมุสลิม ได้เน้นย้ำให้เร่งคลี่คลายคดีให้เป็นที่ประจักษ์โดยเร็ว ส่วนแนวความคิดของนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่เสนอให้ยกเลิกรางวัลแจ็กพอตหวยบนดินว่า จากการตรวจสอบพบว่า รางวัลแจ็กพอตไม่ใช่ออกตามมติ ครม.ชุดที่แล้ว แต่เป็นนโยบายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งต้องฝากคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง รับไปพิจารณาต่อไป 

“สนธิ” ย้ำยังไม่เลิกกฎอัยการศึก 

ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงที่กรณีหลายฝ่ายเสนอให้มีการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎ อัยการศึกทั่วประเทศว่า ขั้นตอนของการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก รัฐบาลและรัฐมนตรีด้านความมั่นคงต้องมีการหารือกัน ต้องดูสถานการณ์ว่าจะนำไปสู่ความไม่เรียบร้อยมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความมั่นคงรวบรวมข้อมูลอยู่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า หากประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ อะไรขึ้นมาจะแก้ยาก ดังนั้น คิดว่าคงไม่ช้าเกินไป เพราะเมื่อเราประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกแสดงว่าทุกอย่างต้องปลอดภัยเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนทุกคนไม่เกิดปัญหากัน ขณะนี้คิดว่าการประกาศกฎอัยการศึกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกภาคส่วนของประเทศ เมื่อถามว่า สาเหตุที่ยังไม่ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกเพราะจะมีการตรวจสอบและยึดทรัพย์สินของรัฐบาลชุดเก่าใช่หรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ไม่เกี่ยว เรื่องนี้เป็นเรื่องของ คตส. 

เตรียมทูลเกล้าฯสภานิติบัญญัติ 

พล.อ.สนธิในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า ขณะนี้ คมช.กำลังเตรียมรวบรวมรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติอยู่ ซึ่งได้มีการหารือกับผู้ใหญ่เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยแล้ว เมื่อถามว่า วางหลักเกณฑ์ คัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างไร พล.อ.สนธิกล่าวว่า จะคัดเลือกคนจากทุกภาคส่วน มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือข้าราชการ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และนักวิชาการ ขณะนี้การสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะมีการประกาศรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อไร ต้องรอภายหลังนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯก่อน เราได้เชิญบุคคลที่มีประสบการณ์ และมีความสำคัญที่เกี่ยวข้อง คาดว่าคงเสร็จภายใน 2 วันนี้ เมื่อถามถึงการคัดเลือกสมัชชาประชาชนเพื่อร่าง รัฐธรรมนูญ พล.อ.สนธิกล่าวว่า เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป 

“คณิต” เต็งประธานสภานิติบัญญัติ   

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นประธานประชุม คมช. โดยมี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และในฐานะรองหัวหน้า คมช. พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะเป็นสมาชิก คมช. และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการ คมช. เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือถึงรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ จำนวน 250 คน ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือถึงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติ โดยมีการหยิบชื่อนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด มาเป็นตัวเลือก เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างดี   และเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาก่อนด้วย