หัวข้อ: ความเป็นผู้ดีทางการเมือง เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 03-10-2006, 09:43 ความเป็นผู้ดีทางการเมือง
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ( วันที่ 21 กันยายน 2549 ) ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต การเมืองถูกมองโดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องที่ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมและกลเม็ดเด็ดพรายเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ มีการละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขณะเดียวกันตัวนักการเมืองก็ถูกมองว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์ พูดจาสับปลับ มุ่งอำนาจและผลประโยชน์ ไม่มีความคงเส้นคงวา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต จนมีคำกล่าวที่ว่านักการเมืองไว้ใจยาก ทำนองเดียวกับนักธุรกิจถูกมองว่ามุ่งแต่ผลประโยชน์ ค้ากำไร ในส่วนของกระบวนทางการเมืองนั้น ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะกระทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง และเพื่อที่จะได้อำนาจรัฐโดยใช้ตำแหน่งอำนาจดังกล่าวหาประโยชน์ส่วนตัว หาประโยชน์ให้แก่ญาติโกโหติกาและพรรคพวกเพื่อนพ้อง ในขณะเดียวกันข้ออ้างที่ว่าทำเพื่อประชาชนหรือเพื่อชาติบ้านเมืองนั้นก็เป็นเพียงลมปาก ในความเป็นจริงถูกมองว่าเป็นกลวิธีของการใช้วาทศิลป์โดยมีระเบียบวาระซ่อนเร้น แต่การเมืองที่แท้จริงจะต้องตรงกันข้ามกับสิ่งที่กล่าวมาข้างบน การเมืองคือกระบวนการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจได้รับความเห็นชอบโดยประชาชน สอดคล้องกับตัวบทกฎหมายและกฎกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ขณะเดียวกันจะต้องมีความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) กล่าวคือ การได้อำนาจรัฐนั้นเป็นไปตามกฎหมายและตามเจตนารมณ์ ขณะเดียวกันนักการเมืองจะต้องเป็นบุคคลที่มุ่งเน้นในการเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีความมุ่งมั่นที่จะรับใช้ชาติและบ้านเมือง และเพื่อเป็นส่วนสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นักการเมืองในลักษณะดังกล่าวนั้นจึงต้องมีอุดมการณ์ทางการเมืองอันแข็งแกร่ง โดยจะมีความมั่นคงไม่หวั่นไหว และมีศรัทธาอย่างสูงส่งในอุดมการณ์และอุดมคติ ขณะเดียวกันจะต้องมีจริยธรรมทางการเมืองโดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนที่ถูกต้องตามกฎหมาย (legality) และมีความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ที่สำคัญจะต้องผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม (the rule of law) และไม่ใช้ข้ออ้างว่าถูกต้องตามกฎหมายจากการใช้หลักนิติกลวิธี (the rule by law) ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมานี้คือนักการเมืองที่ดี หรือนักการเมืองในอุดมคติ ซึ่งก็อาจมีการเถียงว่าอุดมคติเป็นความใฝ่ฝันและเป็นนามธรรม ซึ่งไม่มีทางบรรลุเป้าหมายได้ ก็จะขอกล่าวในที่นี้ว่า อุดมคติเปรียบเสมือนดวงดาว เราอาจเดินทางไปไม่ถึงดวงดาว แต่ก็เป็นเครื่องชี้ทิศทางให้เราดำเนินไปบนวิถีที่ถูกต้องหรือบนแนวทางที่ไม่ผิดพลาด และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่สำคัญที่สุดจะต้องมีส่วนช่วยให้ธำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของการเป็นนักการเมืองที่ดี มีอุดมการณ์และมีจริยธรรม นอกเหนือจากคุณสมบัติของการเป็นนักการเมืองที่ดีดังกล่าวมาเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่นักการเมืองที่ดีไม่สามารถจะมองข้ามได้ก็คือความเป็นผู้ดีทางการเมือง ความเป็นผู้ดีทางการเมืองจะต้องเริ่มจากการมีศีลธรรมส่วนบุคคล มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพในฐานะนักการเมือง ยึดมั่นในอุดมการณ์อันแกร่งกล้า และความมีน้ำใจนักกีฬาในทางการเมือง ตัวอย่างที่จะยกให้เห็นเกี่ยวกับความเป็นผู้ดีทางการเมืองนั้น ในเบื้องต้นนักการเมืองที่มีความเป็นผู้ดีทางการเมืองจะต้องไม่ใช้โอกาสในการดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง หาประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคม ความบกพร่องของระบบ และช่องโหว่ของกฎหมายด้วยการใช้เงินซื้อเสียง โกงการเลือกตั้ง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ลุแก่อำนาจ ละเมิดกฎหมาย ประทุษร้ายต่อหลักนิติธรรม ครอบงำข้าราชการประจำ จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน กล่าววาจามุสา ฯลฯ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วนั้นจะต้องมองฝ่ายที่ตรงกันข้ามในฐานะผู้ร่วมภารกิจที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ หากแต่อยู่คนละข้างหรือคนละฝ่าย บางครั้งอาจจะต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนเมื่อมีการทำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบในกรณีที่เป็นฝ่ายค้าน และในกรณีที่เป็นฝ่ายรัฐบาลก็อาจมีการปรึกษาหารือถ้าเป็นเรื่องสำคัญและต้องร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในกรณีที่มีการเลือกตั้งและฝ่ายตรงกันข้ามได้รับชัยชนะก็ควรที่จะแสดงความยินดีโดยมีน้ำใจนักกีฬา แต่ที่สำคัญก็คือ นักการเมืองที่ดีจะต้องมีมารยาททางการเมือง (political etiquette) อันเป็นที่ยอมรับในสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วโดยทั่วไป ซึ่งจะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ ก) พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงินที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร ถ้าไม่ผ่านรัฐสภา ในกรณีเช่นนี้รัฐบาลจะต้องลาออก ซึ่งเป็นมารยาททางการเมืองที่ยอมรับกันโดยทั่วไปภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ข) นโยบายใดก็ตามที่เป็นนโยบายระดับชาติที่สำคัญที่สุด เช่น อาสาเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและกำหนดเงื่อนเวลาไว้ ถ้าถึงกำหนดเงื่อนเวลาและแก้ปัญหาไม่ได้ต้องมีมารยาทพอที่จะลาออกจากตำแหน่ง ค) ในกรณีที่บริหารประเทศจนเกิดความเสียหายใหญ่หลวง เกิดการแตกความสามัคคี สะท้อนถึงความล้มเหลวของการบริหาร จะต้องมีมารยาทพอที่จะลาออกจากตำแหน่ง ง) ในกรณีที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง เช่น กรณีที่นักการเมืองญี่ปุ่นซื้อหุ้นก็ลาออกจากตำแหน่ง หรือประธานาธิบดีของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อมีข่าวเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกันและได้ขอโทษประชาชนด้วย จ) ในกรณีที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวระหว่างประเทศ เช่น กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ นายโปรฟูโม่ โดยมีความสัมพันธ์กับสายลับชาวรัสเซียซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่อความมั่นคงของชาติก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ฉ) การกระทำอันใดที่ละเมิดกฎหมายและมีการตัดสินของศาลว่าผิดกฎหมาย เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ดี นโยบายที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายก็ดี โดยประเพณีของสังคมประชาธิปไตยแล้วก็ต้องลาออกจากตำแหน่งบริหาร นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดเบื้องต้นแล้ว ความเป็นผู้ดีทางการเมืองยังหมายถึงการไม่ตระบัดสัตย์ การรักษาคำมั่นสัญญาอย่างเคร่งครัด การไม่พูดโกหก หลีกเลี่ยงการพูดจาส่อเสียด และในกรณีอภิปรายในสภาควรจะใช้ภาษาสุภาพ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ กะทัดรัด เป็นประโยชน์ มิได้มุ่งเอาชนะคะคานหรือทำลายคู่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จอย่างเด็ดขาด เพราะแม้จะได้ชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้แต่เป็นการดูถูกประชาชนและไม่ยุติธรรม การเมืองแม้จะมีการต่อสู้อย่างเข้มข้น ก็ต้องมีหลักการ มีกฎกติกา มีมารยาท และมีความเป็นผู้ดี การแพ้หรือชนะในกระบวนการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติซึ่งไม่ควรถือเป็นเรื่องเอาเป็นเอาตายจนเป็นศัตรูกัน และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อชนะฝ่ายตรงกันข้ามโดยมองข้ามความถูกต้องตามกฎหมาย ความเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดต่อส่วนรวม นักการเมืองที่ดีจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีความเป็นผู้ดีทางการเมือง |