หัวข้อ: พิสูจน์อำนาจเถื่อนปล้น TPI เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 29-09-2006, 21:50 พิสูจน์อำนาจเถื่อนปล้น TPI
โดย ผู้จัดการรายวัน 29 กันยายน 2549 00:00 น. กรณีปมปัญหาของอาณาจักรแสนล้าน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยหรือทีพีไอซึ่งพลิกผันจากธุรกิจเอกชนเข้าสู่องค์กรของรัฐ กระทรวงการคลัง ภายใต้คำถามต่างๆมากมายถึงความชอบธรรม โดยเฉพาะการเย้ยคำสั่งศาล และ กฎหมายบริษัทมหาชนชิงจัดประชุมผู้ถือหุ้นยึดอำนาจจากผู้ถือหุ้นเดิม เมื่อระบอบทักษิณถูกโค่นลงน่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า ทีพีไอจะได้รับการจัดการอย่างไร ** บอร์ดทีพีไอนัดแรกเย้ยอำนาจศาล-โมฆะ พลันที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2546 และ ในช่วงเวลาแค่ชั่วข้ามคืนคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ที่มีนายทหารพาณิชย์อย่าง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ รีบจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทีพีไอทันทีในวันถัดมาหรือในช่วงเช้าของวันที่ 27 เมษายน 2549 ที่ห้องประชุมกองทัพอากาศดอนเมือง ซึ่งนายทหารพาณิชย์คนนี้ได้สร้างประวัติศาสร์หน้าใหม่ให้กับบริษัทมหาชนจำกัดอย่างท้าทายกฎหมายบ้านเมือง ไล่ตั้งแต่การจัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทมหาชนในกองทัพอากาศหรือในเขตทหารเป็นครั้งแรก โดยมีกำลังตำรวจนับ 100 นาย พร้อมรถยนต์สำหรับกักขังผู้ต้องหาจอดเรียงรายอยู่หน้าห้องประชุมกองทัพอากาศ ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส จเรตำรวจแห่งชาติและกรรมการบริหารของบอร์ดทีพีไอเป็นผู้นั่งบัญชาการ เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส นายตำรวจน้ำดีของวงการตำรวจไทย และเจ้าของฉายา วีระบุรุษนาแก มีเหตุผลอะไรที่ต้องตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นกรรมการกับขบวนการปล้นกลางแดดทีพีไอ จึงมีคำถามว่า มีผลประโยชน์ล่อใจหรือไม่จึงกล้าท้ายทายต่อการกระทำผิดตามกฎหมายตำรวจ ที่ห้ามข้าราชการทำตรวจนั่งบริหารในกิจการของเอกชน! แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในวันประชุมผู้ถือหุ้นทีพีไอในวันนั้น เห็นจะเป็นการจัดการประชุมที่เย้ยฟ้าท้าดิน กฎหมายบ้านเมืองและอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี โดยข้อเท็จจริงการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของทีพีไอครั้งที่ 1/2549 ที่ห้องประชุมกองทัพอากาศ ดอนเมือง ในวันที่ 27 เมษายน 2549 เวลา 9.00 น.นั้น หากยึดหลักความถูกต้องของบทบัญญัติของกฎหมายบ้านเมือง ถือว่า ผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอ หรือเจ้าของผู้ก่อตั้งอาณาจักรทีพีไอชุดเดิมอย่างประชัย เลี่ยวไพรัตน์ยังคงมีหน้าที่เป็นประธานกรรมการในที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างแท้จจริง เนื่องจากหลังจากที่ศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 ย่อมส่งผลให้อำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของทีพีไอกลับคืนมาเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้เดิม(กลุ่มนายประชัย)หรือต้องคืนอำนาจให้กรรมการของทีพีไอทันที ซึ่งถือว่าผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทกลับมามีสิทธิตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอกลับตัดชิงอำนาจไปอย่างหน้าด้าน โดยไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินของทีพีไอคืนให้กับกรรมการของบริษัททีพีไอชุดเดิมหรือกลุ่มนายประชัย โดยผู้บริหารแผนฯชุดนายทหารพาณิชย์เป็นประธานกลับตะแบงว่า การจัดประชุมผู้ถือหุ้นทีพีไอในครั้งนั้น เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับของบริษัทหมวดเฉพาะกาลที่ผู้บริหารแผนได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ปรากฎชัดแล้วว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ประทับรับฟ้องกรณีที่บริษัท น้ำมันทีพีไอ จำกัด(ทีพีไอออยล์) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และนายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะโจทก์ได้ยื่นฟ้องผู้บริหารระดับสูงของทีพีไอและทีพีไอออยล์ ประกอบด้วย นายวชิรพันธ์ พรหมประเสริฐ นางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล และนายเฉลิมชัย สมบูรณ์ประกรณ์ ในฐานะจำเลย ในข้อกล่าวหา ยักยอกทรัพย์สินทีพีไอ ซึ่งจำเลยทั้งสามดังกล่าวไม่ยอมคืนทรัพย์สินของทีพีไอ ทั้งบัญชีทรัพย์สิน ดวงตราประทับและทรัพย์สินอื่น ๆ และในที่สุดศาลอาญากรุงเทพใต้ชี้ชัด คดีมีมูลความผิดและเป็นคดีอาญาและออกหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายมาแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 นี้ โปรดติดตามผลของคดีชนิดอย่างกระพริบตา! อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตามข้อเท็จจริง ผู้บริหารแผนฯจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และที่สำคัญกว่านี้เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทีพีไอแล้ว ผู้บริหารแผนฯต้องหมดหน้าที่ไปโดยปริยายและคณะกรรมการบริษัททีพีไอชุดของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม(กลุ่มนายประชัย)จะต้องมารับไม้ต่อในการบริหารกิจการของทีพีไอแทนทันที ดังนั้นการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของทีพีไอนัดแรกในวันที่ 27 เมษายน 2549 จึงส่อแววโมฆะ ซ้ำร้ายยังไม่สามารถจัดการประชุมได้เพราะวันเดียวกันนั้นทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์และกลุ่มผู้ถือหุ้นทีพีไอเดิม ได้ส่งมอบหมายศาลจังหวัดนนทบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ ส543/2549 ลงวันที่ 26 เมษายน 2549 โดยในหมายศาลฯระบุชัดเจนว่า ในคดีความแพ่งระหว่างนางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะโจทก์และกระทรวงการคลังกับพวก 2 คน ในฐานะจำเลย โดยโจทก์(นางอรพิน)ได้ยื่นคำฟ้องขอให้ศาลจังหวัดนนทบุรี มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 คือกระทรวงการคลังกับพวก 2คน ดำเนินจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของทีพีไอ ครั้งที่1/2549 ที่ห้องประชุมกองทัพอากาศไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจังหวัดนนทบุรีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอคือ ห้ามกระทรวงการคลังและพวกรวม 2 คนดำเนินการประชุมดังกล่าว **ลิ่วล้อทักษิณโยนทิ้งคำสั่งศาลนนทบุรี ภายหลังจากที่ ประชัยและกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทีพีไอ ได้แสดงคำสั่งศาลจังหวัดนนทบุรีให้ระงับหรือชลอการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทีพีไอดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าศาลฯจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยได้แสดงต่อคำสั่งของศาลฯต่อที่ประชุมและแสดงต่อพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส จเรตำรวจแห่งชาติ(ยศในช่วงนั้น)และกรรมการบริการทีพีไอ ซึ่งในเสี้ยววินาทีนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ได้โยนคำสั่งของศาลจังหวัดนนทบุรีทิ้งอย่างไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองและไม่เครารพต่อคำสั่งของศาลฯ ถือว่าเป็นวางกรามท้าทายอำนาจของศาลฯอย่างร้ายแรง ถัดจากนี้เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น นายตำรวจใหญ่ได้สั่งให้บรรดาลิ่วล้อตำรวจด้วยกันเองขึ้นไปเวทีที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทีพีไอในวันนั้น โดยได้เข้าไปหิ้วปีก ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ในฐานะผู้ก่อตั้งอาณาจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแสนล้านอย่างทีพีไอ และในฐานะผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงในการเป็นประธานในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทีพีไอ ครั้งที่ 1/2549 ซึ่งภาพที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งกระจายหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ต.ล.ท.)ถูกหิ้วปีกและไล่ออกจากห้องประชุมฯในวันนั้น เป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบรรยากาศของการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด |