ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: taworn09220 ที่ 27-09-2006, 18:35



หัวข้อ: ดูจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิรา
เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 27-09-2006, 18:35
ดูจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 มีการยึดทรัพย์นักการเมืองมาแล้วทั้งสิ้นรวม 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สอง ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร สิ้นอำนาจ และครั้งที่สาม เกิดขึ้นในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กลายเป็นอดีตนายกฯ

การยึดทรัพย์นักการเมืองทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ปฏิบัติการยึดทรัพย์หลังจอมพลสฤษดิ์สิ้นอำนาจ มีสีสันกว่าครั้งใด

ย้อนกลับไปเมื่อ 49 ปีที่แล้ว ก่อนที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของฉายา “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” จะเรืองอำนาจความขัดแย้งระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับจอมพลสฤษดิ์ เริ่มคุกรุ่นและทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

ช่วงหัวเลี้ยวแห่งการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจจอมพลสฤษดิ์ได้นำ

เอาพรรคพวก ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ประเภทที่ 2 ลาออกจาก “พรรคเสรีมนังคศิลา” ทำให้บรรยากาศการเมืองในช่วงนั้นเริ่มตึงเครียด

ต่างฝ่ายต่างเตรียมเล่นงานเพื่อโค่นล้มอีกฝ่าย เกิดความหวาดหวั่นกันว่า ทหารส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจอมพลสฤษดิ์ กับ กองทัพตำรวจ อันมีจอมอัศวิน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และถือหางข้างจอมพล ป. จะยกทัพเข้าสู้รบเพื่อชิงอำนาจกัน

ช่วงที่เหตุการณ์เขม็งเกลียว จอมพลสฤษดิ์ได้ยื่นคำขาดให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่จอมพล ป. ปฏิเสธ โดยอ้างว่าต้องให้เป็นไปตาม วิถีทางในรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภา

16 ก.ย. 2500 สถานการณ์สุกงอม จอมพลสฤษดิ์ พร้อมด้วยคณะทหาร ตัดสินใจใช้กำลังทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.

จอมพล ป. หนีออกทางชายแดนเขมร ลี้ภัยต่อไปอยู่ที่ญี่ปุ่น สิ้นชีวิตที่ญี่ปุ่น

ก่อนหน้าที่จอมพล ป. จะสิ้นลาย เขาเคยได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิวัติที่รุ่งโรจน์ยิ่งกว่านักปฏิวัติคนใดในเมืองไทย เป็นคนแรกที่สร้างระบบเผด็จการในรัฐสภา หรือทำให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ กลายเป็น “อนาธิปไตย”

บรรยากาศการโค่นล้มอำนาจ ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษ ช่างมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่ต่างกันในปลีกย่อย

หลังจอมพล ป. หลบไปลี้ภัยที่ญี่ปุ่น ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็น “ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร”

ต่อมาวันที่ 18 ก.ย. 2500 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ภายใต้เงื่อนไข

ก. ให้สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 และประเทที่ 2 สิ้นสุดลงในวันประกาศพระบรมราชโองการนี้

ข. ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกประเทที่ 1 ภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศพระบรมราชโองการนี้

ค. จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 จากบุคคลซึ่งทรงเห็นสมควร มีจำนวนไม่เกิน 123 นาย ในวันและภายหลังประกาศพระบรมราชโองการ

ง. ในระหว่างที่สมาชิกประเภทที่ 1 ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ 2 ทำหน้าที่ไปพลางก่อน

จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. แล้ว หลังจากมีการแต่งตั้งสมาชิกประเทที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2500 ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

นายพจน์รับบทนายกฯขัดตาทัพ อยู่ได้เพียง 3 เดือน ก็ต้องลาออก เพราะหมดวาระตามรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งครั้งนั้นยังครองยศพลโท เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2501

รัฐบาลของ พล.ท.ถนอม มีอายุเพียง 9 เดือน 20 วัน ก็จำใจต้องโบกมือลา เพราะมีข่าวลือหนาหูว่า จอมพลสฤษดิ์จะทำรัฐประหารยึดอำนาจ

ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2502 และอยู่ในตำแหน่งผู้นำรัฐบาล เป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ปี 11 เดือน

“ระบอบสฤษดิ์” สิ้นสุดลง เมื่อเจ้าตัวถึงแก่อสัญกรรม

ระยะเวลาเกือบ 4 ปีเต็ม ที่ “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” เรืองอำนาจ ผู้นำรายนี้ กุมชะตากรรมของประเทศไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้

หลังจากรวบอำนาจไว้ได้เบ็ดเสร็จ จอมพลสฤษดิ์เริ่มปฏิวัติประเทศตามนโยบายอย่างเร่งรีบ เริ่มจากไล่ปราบพวกที่ถูกอ้างว่า เป็นบ่อนทำลายเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์หลายคนถูกยิงตาย

โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยในยุคนั้น

อันธพาลที่เคยก่อความเดือดร้อน ถูกจอมพลสฤษดิ์จับไปคุมขังไว้เกือบทั้งสิ้น แม้แต่หาบเร่ แผงลอยตามข้างถนน ถูกจอมพลสฤษดิ์สั่งให้กวาดล้างรื้อถอนจนราบคาบ

นอกจากนั้น มีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์ และนักท่องเที่ยวจากจีนแดง รวมทั้งสั่งประหารชีวิตผู้ที่วางเพลิง หรือเป็นต้นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้อย่างเฉียบขาด

ยุคที่จอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้เดียวที่สามารถพิชิตจอมพล ป. แม้ในมุมหนึ่ง เขาได้รับการยกย่องให้เป็นนายกฯผู้ สร้างสรรค์ แต่อีกมุมหนึ่ง เขาถูกประณามว่าเป็นนักอุดมคติจอมปลอม

ทันทีที่อำนาจหลุดจากมือ สุภาษิตที่ว่า “น้ำลด ตอผุด” ได้ยืนยันสัจธรรม

ตอไม้ที่โผล่ให้เห็นหลังน้ำลด เป็นที่ประจักษ์แจ้ง จอมพลสฤษดิ์มิใช่นักปฏิวัติที่แท้จริงอย่างที่เคยมีผู้เยินยอ ช่วงเขาเรืองอำนาจมีการคอรัปชันเงินของชาติไปเกือบ 2,000 ล้านบาท แถมยังปล่อยให้นายทุนต่างชาติเข้ามาผูกขาดกอบโกยทรัพยากรจากประเทศไปมหาศาล

จอมพลสฤษดิ์ตาย พล.อ.ถนอม กิตติขจร (ยศครั้งนั้น) กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จัดตั้งรัฐบาลขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2506

ต่อมาวันที่ 14 ก.พ. 2507 นางฉวี ธนะรัชต์ ร่วมกับ พ.ต.เศรษฐา ธนะรัชต์ และ ร.ท.สมชาย ธนะรัชต์ ได้มอบหมายให้ นายชมพู อรรถจินดา ทนายความชื่อดัง เป็นตัวแทนยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง

ขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ขณะที่ฝ่าย ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยาจอมพลสฤษดิ์ ได้แต่งตั้งให้ นายทวี เจริญพิทักษ์ ทนายความชื่อดัง ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอเป็นผู้จัดการมรดกเอง

ระหว่างนั้น เริ่มมีการแฉทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังทรัพย์สิน ทั้งที่มีอยู่ ในธนาคารและในที่อื่นๆ รวมทั้งบรรดาอนุภรรยา (เมียน้อย) หลายสิบคนของจอมพลสฤษดิ์ ได้ออกมาแสดงตัวให้ปรากฏต่อสาธารณะว่า ขอมีสิทธิในกองมรดกเหล่านั้นด้วย

เมื่อต่างฝ่ายต่างแฉ ฝ่ายตรวจสอบจึงรู้ว่า ช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ เรืองอำนาจ มีการแจกทั้งเงินสดเรือนแสน บ้านอันโอ่อ่า ที่ดิน รถยนต์ เครื่องเพชรราคาแพง แถมด้วยเงินเดือนประจำ แก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องให้ได้เสวยสุขกันอย่างเปรมปรีดิ์

ทรัพย์สินในกองมรดกนับพันล้านบาทถูกเปิดโปง เริ่มเป็นที่วิจารณ์กันว่า ทรัพย์มรดกเหล่านั้นได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือโดยฉ้อราษฎร์บังหลวง

ในที่สุด จอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่า มีทรัพย์สินซึ่งเป็นของรัฐปนอยู่ในกองมรดกฯด้วยหรือไม่

ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า เงินงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่ง และ เงินรายได้จำนวนมหาศาลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ถูกจอมพลผ้าขาวม้าแดงสั่งเบิกจ่ายไปใช้ในรูปของ “เงินราชการลับ” จำนวนมหาศาล

คณะกรรมการตรวจสอบฯฟันธงว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ใช้จ่ายเงินของชาติไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง รวมเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท

แต่ที่ตรวจพบและสามารถยึดคืนได้ มีทั้งสิ้นเพียง 600 ล้าน บาทเศษ

ในที่สุด จอมพลถนอมอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 17 สั่งริบทรัพย์สินในกองมรดกฯไว้เป็นของรัฐ ทำให้ข้อพิพาทในศาลแพ่งเป็นอันยุติ เพราะไม่เหลือมรดกไว้ให้ทายาท “จอมพลสฤษดิ์” ได้แย่งชิงอีกต่อไป.

 

 

   
     
 http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=20996
 
 
 
 


หัวข้อ: Re: ดูจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิรา
เริ่มหัวข้อโดย: นู๋เจ๋ง ที่ 27-09-2006, 18:40
 
:slime_cool:
ขาโจ๋เข้ามาดูความเรียบร้อย ... อิอิ