ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: snowflake ที่ 18-09-2006, 11:07



หัวข้อ: อขันติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: snowflake ที่ 18-09-2006, 11:07
อขันติธรรม

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ท่ามกลางความวิตกกังวลนานัปการที่มีต่อระบอบทักษิณ อันตรายสำคัญประการหนึ่งที่ควร
ต้องให้ความใส่ใจก็คือ การสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือเรียกได้
ว่าเป็น อขันติธรรม (intolerance)

ในระบอบประชาธิปไตย ขันติธรรมหรือการยอมรับฟังต่อความเห็นที่แม้จะต่างไปจากความเห็น
ของตนเองหรือคนส่วนใหญ่ นับเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับสังคมสมัยใหม่ที่ยอมรับในคุณค่า
ของมนุษย์ การคิด การไตร่ตรอง การแสดงความคิดเห็น โดยไม่ได้ล่วงละเมิดหรือทำร้ายบุคคล
อื่นใด ถือเป็นเสรีภาพที่ต้องได้รับการประกันไว้

ทำไมจึงต้องรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง John Stuart Mill ได้ให้เหตุผลถึงความสำคัญของ
การรับฟังความเห็นไว้ ดังนี้

ประการแรก ถ้าความเห็นที่ต่างออกไปเป็นความเห็นที่ดีกว่าหรือเป็นความเห็นที่ถูกต้อง การ
ไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้แสดงออก หรือการไม่ยอมรับฟังในสิ่งไม่เหมือนกับความเชื่อของตน
ก็เท่ากับจะเป็นการปิดกั้นและทำให้สังคมเสียโอกาสในการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ควร
จะดีขึ้นจากความเห็นนั้น

ประการที่สอง แต่ถ้าความเห็นซึ่งแตกต่างออกไปเป็นสิ่งที่ผิด การไม่อนุญาตให้เสียงนั้นได้มี
โอกาสพูด จะทำให้เกิดผลในด้านลบหรือไม่

สำหรับ Mill แล้ว แม้ความเห็นที่ต่างออกไปนั้นถึงท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นสิ่งที่ผิดพลาด แต่ก็ยัง
ควรเปิดพื้นที่ให้สำหรับเสียงนั้น เพราะจะเป็นการตั้งคำถามและทำให้เกิดการถกเถียงต่อ
ความคิดที่ถูกยึดถือไว้ว่าเพราะอะไร หรือมีเหตุผลเช่นไรที่ทำให้ความคิดดังกล่าวได้รับการ
ยอมรับ

ความเห็นที่แม้ผิดก็จะเป็นเสมือนเครื่องมือในการตรวจสอบ และไม่ทำให้ความเชื่อของสังคม
กลายเป็น dead dogma หรือหลักการที่ถูกเคารพโดยปราศจากความเข้าใจจากผู้คน

ประการที่สาม ในความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่บังเกิดขึ้น ความคิดหรือหลักการหลายอย่าง
ไม่ได้เป็นเรื่องของความคิดใหม่มาแทนที่ความคิดเก่า ความถูกต้องมาแทนความผิดพลาด
หากเป็นผลมาจากการเสริมแต่งจากความเห็นหลายด้าน หลายมุม ความเห็นหนึ่งอาจมีข้อดี
และข้อเสียบางอย่าง ความเห็นอื่นอาจมาช่วยเสริมหรืออุดจุดอ่อนของอีกความเห็นหนึ่ง และ
นำไปสู่การสร้างหลักการใหม่ขึ้นโดยประกอบมาจากหลากหลายความเห็น

การยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างจึงเป็นหนทางของการพัฒนาความคิดใหม่ที่ต่อยอดไปจาก
ฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมได้เช่นกัน

สําหรับสังคมไทย ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เป็นดินแดนที่หลักการเรื่องขันติธรรมได้ลงหลักปักฐาน
อย่างมั่นคงแน่นหนา เหตุการณ์หลายเรื่องก็สะท้อนถึงภาวะอขันติธรรมได้เป็นอย่างดี ดังกรณี
ของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็นับเป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดอันหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในห้วงระยะเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยได้เรียนรู้ต่อ
การยอมรับและมีความอดทนต่อการรับฟังความเห็นที่ต่างไปจากความเห็นของคนส่วนใหญ่
เกิดมากขึ้นกว่าในอดีต

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเมืองระบบรัฐสภาที่ได้กลายมาเป็น "สถาบัน" การเมืองของระบบรัฐสภา
โดยพื้นฐานต้องมีการถกเถียง การอภิปราย การแสดงความคิดเห็น ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่อาจ
ไม่เห็นพ้องต้องกัน บุคคลที่จะมา "เล่น" การเมือง จึงไม่อาจนั่งลอยอยู่เหนือคนอื่นๆ ไม่ว่าจะ
ด้วยอาศัยอำนาจปืนหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ตามจารีตประเพณี หากต้องลงมาเปรอะเปื้อนกับการ
วิพากษ์วิจารณ์ด้วย ระบบการเมืองแบบรัฐสภาจึงทำให้สังคมไทยคุ้นเคยกับความเห็นที่ไม่
เหมือนกันได้มากขึ้น

และด้วยการก่อตัวของการเมืองภาคประชาชนซึ่งมักมีทรรศนะตรงกันข้ามกับรัฐบาลหรือผู้ที่มี
อำนาจในทางการเมือง ก็มีส่วนทำให้เกิดความเห็นความต้องการที่แตกต่างเกิดกว้างขวาง
มากขึ้น

การเคลื่อนไหวไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการยกเลิกกฎหมายหรือนโยบายจำนวนไม่น้อยของ
รัฐจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสังคมนั้นไม่มีขันติธรรมต่อการรับฟังเสียงที่ไม่เหมือนกับตนเอง

เช่น การบอกว่าเขื่อนที่แต่ประโยชน์โดยมองไม่เห็นผลด้านลบเลย จะไม่ถูกสั่นคลอนถ้าไม่มี
เสียงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นักอุนรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งออกมาพูดถึงผลเสียด้านอื่น

ซึ่งภายใต้ระบอบทักษิณ ดูเหมือนว่าภาวะของการมีขันติธรรมจะมีความเปราะบางมากขึ้น มีการ
เผชิญหน้าและใช้กำลังระหว่างคนที่รักและเกลียดคุณทักษิณ

การใช้กำลังยึดเวทีพรรคประชาธิปัตย์ การล้อมกรอบแกนนำพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย
ในห้องประชุม กระทั่งการขึ้นป้ายข่มขู่ผู้ไม่รักคุณทักษิณหากเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ ล้วน
แต่สะท้อนถึงความตกต่ำของขันติธรรมได้เป็นอย่างดี

อันที่จริงควรกล่าวไว้ด้วยว่าความเห็นพ้องต้องกันระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กรต่างๆ ภายในสังคม
ในทุกเรื่องทุกนโยบายเป็นสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้ เพราะความแตกต่างกันทางด้านผลประโยชน์
จุดยืน ความเชื่อ ฯลฯ การทำเอฟทีเอ การสร้างเขื่อน การพัฒนาโดยเน้นภาคอุตสาหกรรม ล้วน
แต่ต้องมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ การทำให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันโดยห้ามความเห็น
ต่าง ไม่ว่าจะด้วยคำว่าสามัคคีหรืออะไรก็ตามทีเถิด ล้วนไม่ได้นำไปสู่อะไรเลยนอกจากการคง
สถานะของผู้ที่เสวยประโยชน์อยู่ในขณะนั้น

ประเด็นจึงไม่ใช่เรื่องของความแตกต่างทางความคิดมากเท่ากับว่าจะเผชิญกับความแตกต่าง
นั้นอย่างไร

การบ่อนทำลายขันติธรรมที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากท่าทีของคุณทักษิณที่หลายครั้งใช้
กิริยาซึ่งชวนให้เกิดอารมณ์แก่ผู้รับฟัง รวมไปถึงปฏิบัติการของกลุ่มผู้สนับสนุนระบอบทักษิณ
ไม่ว่าจะด้วยการจัดตั้งมาหรือไม่ก็ตาม

แต่การโต้ตอบในลักษณะเดียวกัน เช่น เมื่อฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลตั้งท่าจะรุมกระทืบพันธมิตร
ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น ถ้าพรรคไทยรักไทยลงใต้ก็จะต้องโดน
ปฏิบัติการในแบบเดียวกัน การกระทำเช่นนี้แม้เป็นการตอบโต้ที่ชวนให้สะใจ แต่มันจะเป็นส่วน
หนึ่งของการทำลายเป็นขันติธรรมในสังคมไทยให้ยับเยินลงไปด้วยมือของทุกฝ่าย

การเปิดพื้นที่แก่นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลให้สามารถปราศรัยได้โดยไม่มีการปิดกั้นหรือการบุก
ยึดเวทีต่างหาก ที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้ถึงการเปิดกว้างและรับฟัง แน่นอนว่าบรรดาผู้ที่ลงมือ
ทำลายขันติธรรมอาจไม่สำเหนียกและละอายต่อสิ่งที่ได้กระทำไป แต่เราต้องร่วมกันประณาม
การใช้กำลัง การติดโปสเตอร์ป้ายข่มขู่ หรือการกระทำอื่นที่มีจุดมุ่งหมายในแบบเดียวกันว่า
เป็นการกระทำที่สังคมไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบันไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น

สภาวะของอขันติธรรมจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของคุณทักษิณและพวกเพียงอย่างเดียว สังคมไทย
สามารถช่วยกันทำให้มันบรรเทาเบาบางลงหรืออาจทำให้มันขยายวงรุนแรงออกไปก็ได้ โดย
ที่ไม่เกี่ยวข้องว่าประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณหรือไม่ก็ตาม

ที่มา มติชน วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10418

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01180949&day=2006/09/18


หัวข้อ: Re: อขันติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: THE THIRD WAY ที่ 18-09-2006, 11:59
การเปิดพื้นที่แก่นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลให้สามารถปราศรัยได้โดยไม่มีการปิดกั้นหรือการบุก
ยึดเวทีต่างหาก ที่จะทำให้สังคมได้เรียนรู้ถึงการเปิดกว้างและรับฟัง แน่นอนว่าบรรดาผู้ที่ลงมือ
ทำลายขันติธรรมอาจไม่สำเหนียกและละอายต่อสิ่งที่ได้กระทำไป แต่เราต้องร่วมกันประณาม
การใช้กำลัง การติดโปสเตอร์ป้ายข่มขู่ หรือการกระทำอื่นที่มีจุดมุ่งหมายในแบบเดียวกันว่า
เป็นการกระทำที่สังคมไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบันไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น

สภาวะของอขันติธรรมจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของคุณทักษิณและพวกเพียงอย่างเดียว สังคมไทย
สามารถช่วยกันทำให้มันบรรเทาเบาบางลงหรืออาจทำให้มันขยายวงรุนแรงออกไปก็ได้ โดย
ที่ไม่เกี่ยวข้องว่าประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณหรือไม่ก็ตาม
--------------------------
ถ้าไม่มีคนสั่ง
ก็ไม่มีคนทำ

แล้วคนที่สั่งนั้น?
ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตนได้ทำลายไปหรือไม่?


หัวข้อ: ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่มีการแบ่งแยก
เริ่มหัวข้อโดย: snowflake ที่ 18-09-2006, 12:38
ควรต้องเปิดกว้างและมีการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
หรือทุกฝ่าย

ปชป. ต้องไปหาเสียงที่ ชม. หรือ พันธมิตรฯ ไปปราศรัยที่อุดรฯ ได้โดยราบรื่น
ไม่ถูกคุกคาม
ทำนองเดียวกัน ทรท. ก็ต้องไปหาเสียงที่ภาคใต้ได้โดยไม่ถูกต่อต้าน/ทำร้าย

เพราะที่นี่ประเทศไทยค่ะ
เป็นราชอาณาจักรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่มีการแบ่งแยก  8)

(http://img155.imageshack.us/img155/584/bravecatme2.jpg) (http://imageshack.us)


หัวข้อ: Re: อขันติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: ชอบแถ ที่ 18-09-2006, 13:22
เริ่มต้นด้วยการให้คนในนี้ไปซื้อหนังสือพิมพ์ the reporter มาอ่านก่อน


หัวข้อ: Re: อขันติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 18-09-2006, 13:46
อ้างถึง
อขันติธรรม

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ท่ามกลางความวิตกกังวลนานัปการที่มีต่อระบอบทักษิณ อันตรายสำคัญประการหนึ่งที่ควร
ต้องให้ความใส่ใจก็คือ การสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือเรียกได้
ว่าเป็น อขันติธรรม (intolerance)

น่าเชิญคุณสมชาย มาเล่นเวบบอร์ดเสรีไทย และไปศึกษาราชดำเนินดูสักหน่อย

จะอย่างไรก็ตาม ทั้งสองเวบบอร์ด รับฟังความเห็นที่แตกต่างด้วยกันทั้งนั้น  เพราะหากไม่รับฟังความเห็นแล้ว เถียงกันไม่ได้ค่ะ  ไปไหนมาสามวาสองศอก

เมื่อฝ่ายหนึ่งให้ความเห็นมา อีกฝ่ายหนึ่งก็ให้ความเห็นกลับไป และแต่ละฝ่ายก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายอยู้เสมอ รับฟัง ไม่ได้แปลว่า ยอมรับ นะคะ

การไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเลยนั้น เว้นแต่คนหูหนวกแล้ว คงหาได้ยากค่ะ ส่วนใหญ่ก็ฟังมั่งไม่ฟังมั่ง มีบางส่วนก็ฟังมากหน่อย  ดังนั้นหัวข้อนั้นน่าจะผิดค่ะ

อ้างถึง
แต่เราต้องร่วมกันประณาม
การใช้กำลัง การติดโปสเตอร์ป้ายข่มขู่ หรือการกระทำอื่นที่มีจุดมุ่งหมายในแบบเดียวกันว่า
เป็นการกระทำที่สังคมไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบันไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น

สภาวะของอขันติธรรมจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของคุณทักษิณและพวกเพียงอย่างเดียว สังคมไทย
สามารถช่วยกันทำให้มันบรรเทาเบาบางลงหรืออาจทำให้มันขยายวงรุนแรงออกไปก็ได้ โดย
ที่ไม่เกี่ยวข้องว่าประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้นในข้อสรุปนั้น ไม่เข้าท่าค่ะ การติดโปสเตอร์รณรงค์ของแต่ละฝ่าย เป็นการแสดงควมคิดเห็น มาห้ามหรือต่อต้านการกระทำนั้น คือการไม่รับฟังความคิดเห็นอันแท้จริงนั่นแหละค่ะ  ต้องให้เขาแสดงออกค่ะ จะรักจะเกลียดไม่ว่ากัน ส่วนเรื่องการใช้กำลังนั้นเห้นด้วยค่ะ  เอากุ๊ยมาไล่กระทืบประชาชนอย่างทักษิณทำไปนั้น ใช้ไม่ได้ค่ะ