ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => ร้อยรักษ์กวีวรรณ => ข้อความที่เริ่มโดย: โอสถ ที่ 24-08-2006, 17:13



หัวข้อ: พระบรมราโชวาท และ พระราชดำรัส ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: โอสถ ที่ 24-08-2006, 17:13
(http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q1/king_NewYear2549.jpg)


ความรักชาติ - ความมั่นคง - ความสามัคคี

  ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2513)

 
 
 บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือ การที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมายต้องเพลาการคิดนึกถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง 
 (พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2543)

 
 
 
 
 ถ้าทุกคนสนใจในความรักประเทศชาติ รักษาความดีเอาไว้ ไม่ต้องไปตามอย่างในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่น่าที่จะเจริญ ไม่น่าจะพัฒนา เราต้องรักษาแนวทางความคิดตามที่เรามีอยู่ แม้จะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาแต่โบราณกาลจากปู่ย่าตายายของเรา แต่เป็นระเบียบการหรือเป็นวิธีการที่ดี จะไม่ล้าสมัย 
 (ในโอกาสเสด็จไปเยี่ยมวิทยาลัยวิชาการประสานมิตร 13 มีนาคม 2514)

 
 
 การมีเสรีภาพนั้นเป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพ และความปกติสุขของส่วนรวมด้วย 
 (พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ 9 กรกฎาคม 2514 )

 
 
 
 
  ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัล หรือผลประโยชน์ให้มาก ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง 
 (เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2533)

 
 
 คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข 
 (พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้า ณ ศาลาดุสิตาลัย 4 ธันวาคม 2541)

 
 
 การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่พอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีแต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์ 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 กันยายน 2504)

 
 
 
 
 ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)

 
 
 คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมันเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 12 กรกฎาคม 2522)

 
 
 การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้วไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ 
 (พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา 27 มีนาคม 2523พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา 27 มีนาคม )

 
 
 สัจจวาจา นั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ สัจ เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ วาจาเป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น 
 (ในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ 18 มีนาคม 2525)

 
 
 ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)

 
 
 การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้ 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)

 
 
 ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 21 เมษายน 2503)

 
 
 โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและโบราณสถานทั้งหลาย เป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี เป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีต ควรสงวนรักษาไว้ให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล 
 (ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 26 ธันวาคม 2504)

 
 
 การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ 
 (ในพิธีเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 21 8 กันยายน 2515)

 
 
 ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี 
 (ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505)

 
 
 สามัคคี คือการเป็นแก่บ้านเมืองและช่วยกันทุกวิธีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแย่งตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมนั้นคือความมั่นคงของบ้านเมือง 
 (ในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล 15 มกราคม 2519)

 
 
 งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 12 ตุลาคม 2513)

 
 
 การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์ แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี ด้วยเหตุว่าคนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้ 
 (พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2531)

 
 
 สามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกัน 
 (พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2536)

 
 
 การทำงานใหญ่ๆทุกอย่างต้องการเวลามากกว่าจะทำสำเร็จ ผู้ที่เริ่มโครงการอาจไม่ทันทำให้สำเร็จโดยตลอดด้วยตนเองก็ได้ ต้องมีผู้อื่นรับทำต่อไป ดังนั้นไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้ริเริ่มงาน ใครเป็นผู้รับช่วงงาน ขึ้นเป็นข้อสำคัญนัก จะต้องถือผลสำเร็จที่จะเกิดจากงานเป็นใหญ่ 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 14 ตุลาคม 2514)

 
 
 ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคนหลายๆทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 กรกฎาคม 2533)

 
 
 การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานสำคัญที่สุดต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ความรับผิดชอบ ให้ถูกต้อง 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16 กรกฎาคม 2519)

 
 
 ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ 
 (พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2533)

 
 
 ถ้าทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ คือความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ด้วยความสุจริตและด้วยความรู้ความสามารถด้วยจริงใจ ไม่นึกถึงเงินทองหรือนึกถึงผลประโยชน์ใดๆก็เป็นการทำหน้าที่โดยตรงและได้ทำหน้าที่โดยเต็มที่ 
 (พระราชทานแก่ ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ 13 ธันวาคม 2511)

 
 
 การที่จะให้งานประสานกันนั้นมีหลักสำคัญอยู่ว่า ทุกฝ่ายจะต้องไม่แบ่งแยกกัน ไม่แย่งประโยชน์ ไม่แย่งความชอบกัน แต่ละฝ่ายแต่ละคนต้องทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลสำเร็จในการทำงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ 10 กุมภาพันธ์ 2522)

 
 
 เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)

 
 
 ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางที่จะแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆคน หลายๆทางด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน 
 (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 กรกฎาคม 2533)
 
 


หัวข้อ: Re: พระบรมราโชวาท และ พระราชดำรัส ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: โอสถ ที่ 24-08-2006, 17:16
(http://www.svcopycenter.com/images/king001.jpg)

ความรักชาติ - ความมั่นคง - ความสามัคคี

  คนไทย รักษาชาติ รักษาแผ่นดิน เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ ด้วยสติปัญญาความสามารถ และด้วยคุณความดี อิสรภาพ เสรีภาพ ความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนความเจริญ ทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้ เราทั้งหลายในปัจจุบัน จึงต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะรักษาคุณความดี พร้อมทั้งจิตใจที่เป็นไทยไว้ให้มั่นคงตลอดไป 
 (พระราชดำรัส ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.2521)

 
 
 ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิต เลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใด โดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่ายทุกๆคน ที่จะต้องร่วมมือกระทำ พร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูลกัน 
 (พระบรมราโชวาท ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514)

 
 
 
 
 ความจงรักภักดีต่อชาตินั้น คือความสำนึกตระหนักในคุณของแผ่นดิน อันเป็นที่เกิดที่อาศัย ซึ่งทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในชาติกำเนิด และมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษา ประเทศชาติไว้ ให้เป็นอิสระมั่นคงตลอดไป 
 (พระบรมราโชวาท ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม ของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต 3 ธ.ค.2529)

 
 
 บรรพชนไทย เป็นนักต่อสู้ ผู้มีชีวิตจิตใจผูกพันปรองดอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามัคคีพร้อมเพรียงกันทุกเมื่อ ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด บ้านเมืองไทยจึงมีเอกราชอธิปไตย และมีความสุขความสมบูรณ์ทุกอย่างมาจนกระทั่งทุกวันนี้ 
 (พระบรมราโชวาท ในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ 3 ธ.ค.2522 ณ ลานพระราชวังดุสิต)

 
 
 
 
  ความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับความรักใคร่เผื่อแผ่ช่วยเหลือกันฉันญาติพี่น้อง สองประการนี้ คือคุณลักษณะสำคัญของไทย ที่ช่วยให้ชาติบ้าน เมืองอยู่รอดเป็นอิสระ และเจริญมั่นคง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 
 (พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2532)

 
 
 ความสามัคคี เป็นคุณสมบัติประจำตัวของคนไทย ที่ได้อบรมสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษโดยไม่ขาดสาย ทั้งนี้ เพราะคนไทย ทราบตระหนักว่า หมู่คณะที่มีความ สามัคคีแน่นแฟ้นสมบูรณ์ ย่อมมีกำลังกล้าแข็งทั้งในการคิดและการปฏิบัติ 
 (พระบรมราโชวาท พระราชทานในการประชุมใหญ่ สามัคคีสมาคม 26 ก.ค.2534)

 
 
 บ้านเมืองไทย สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆได้โดยดี เพราะว่าจิตใจสามัคคีและแสดงออกซึ่งสามัคคี ถ้าตราบใดเรารักษาความสามัคคี ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไว้ได้ เราก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุขตราบนั้น 
 (พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะประชาชน จ.ราชบุรี พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 26 พ.ย.2531)

 
 
 
 
 ผู้ที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดี และเหมาะสมที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทย เสมอ 
 (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น 27 ก.พ. 2537)
 
 


หัวข้อ: Re: พระบรมราโชวาท และ พระราชดำรัส ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เริ่มหัวข้อโดย: โอสถ ที่ 24-08-2006, 17:19

(http://www.cityvariety.com/citymall/images/news/trldg20060329104002.jpg)

ความรักชาติ - ความมั่นคง - ความสามัคคี

  ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่างๆตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น 
 (พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และ อาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514)

 
 
 การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆกันไปด้วย 
 (พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาฯ 10 ก.ค.2523)

 
 
 
 
 ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ได้ ให้เราดำรงชาติประเทศและเอกราชสืบมาได้ ทุกคนควรจะได้พยายามรักษาความเป็นไทยและความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคงในที่ทุกแห่ง อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำลายได้ 
 (พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานชุมนุมประจำปี ของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน 1 ก.ย.2526)

 
 
 การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์ 
 (พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 ก.ย.2504)

 
 
 
 
  คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคลและให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม 
 (พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2545)

 
 
 การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้นยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย 
 (พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2502)

 
 
 วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่น ๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่ โดยประหยัดเพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี 
 (พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค.2521)

 
 
 
 
 ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น 
 (พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ 50 ปี)

 
 
 การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป 
 (พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธ.ค. 2516 )

 
 
 เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มซะด้วยซ้ำไป 
 (พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542)

 
 
 สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่ 
 (พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ 36 ปี ของสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ 31 มี.ค.38)

 
 
 การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติหากผู้ใดล่วงละเมิด ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้ 
 (พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 4 ก.ค. 40 )

 
 
 ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบ เป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการทำงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติงานให้ชอบ คือให้ถูกต้องและเป็นธรรม 
 (พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชดำรัสแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม 4 จังหวัดภาคใต้ จ. ปัตตานี 24 ส.ค. 19)

 
 
 การทำงานใหญ่ ๆ ทุกอย่าง ต้องการเวลามากกว่าจะทำสำเร็จ ผู้ที่เริ่มโครงการอาจทำไม่สำเร็จโดยตลอดด้วยตนเองก็ได้ ต้องมีผู้อื่นรับทำต่อไป ดังนั้นไม่ควรยกเอาเรื่องใครเป็นผู้เริ่มงาน ใครเป็นผู้รับช่วงงานขึ้นเป็นข้อสำคัญ จะต้องถือผลสำเร็จที่จะเกิดจากงานเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น 
 (พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยศิลปากร 14 ต.ค. 14)

จาก
http://www.agalico.com/board/showthread.php?p=22563#post22563