หัวข้อ: มาดูเรื่องราวของ อภิสิทธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: 55555 ที่ 04-08-2006, 10:46 วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1355
บทความพิเศษ มาร์ค ม.7 ADMISSION................มติชนสุดสัปดาห์ พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มตัวแล้ว เป็นการเดินหน้าเต็มตัวด้วยการเสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจนเปิดเผย โดยเน้นความเป็นผู้นำแนวใหม่ และนโยบายใหม่ ที่แตกต่างจากไทยรักไทยทั้งนี้ ได้เลือกจังหวะก่อนที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จะมีผลบังคับใช้วันที่ 24 สิงหาคม ซื้อเวลาไพรม์ไทม์ของสถานีโทรทัศน์ ที่เน้นเป้าหมายคือชาวบ้านวงกว้างคือช่อง 7 และช่อง 3 เปิดตัวและแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ ผ่านสปอตโฆษณา ซึ่งต้องถือว่าเป็นมิติใหม่ของพรรคการเมืองเก่าแก่นี้ หากพิจารณาสปอตโฆษณา จะพบว่า แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จะนำเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องเดือดร้อน และเร่งด่วนของประชาชน หรือ "วาระประชาชน" ใน 3 ด้าน คือ ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาด้านการศึกษา และปัญหาด้านสุขภาพ โดยอภิสิทธิ์บอกกับประชาชนว่า คนไทยวันนี้กำลังลำบาก ราคาน้ำมันสูงขึ้น ข้าวปลาอาหารแพงขึ้น รายได้ตกต่ำลง ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน คนไทยเป็นหนี้เพิ่มขึ้น จึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะลดค่าครองชีพ โดยการลดราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟ ด้วยการขจัดการผูกขาด และจะจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเพิ่มรายได้และความเข้มแข็งให้ประชาชน และทิ้งท้ายด้วยสโลแกนใหม่ของพรรคว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" ส่วนสปอตอีกชุดหนึ่งได้นำเสนอตัวตนของนายอภิสิทธิ์ โดยเน้นภาพชีวิตและครอบครัว ด้วยการบอกถึงการครองรักกับคู่ชีวิตมานานกว่า 18 ปี พร้อมด้วยลูกๆ ที่น่ารัก 2 คน ขณะเดียวกัน ตอกย้ำว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้แทนราษฎรมานานกว่า 14 ปี มีผลงานโดดเด่นด้านปฏิรูปการศึกษา เป็นรัฐมนตรีที่ผลักดันให้หน่วยงานปราบทุจริตบัญญัติโทษสูงสุดต่อการคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการ ภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์ที่นำเสนอนี้ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์คาดหมายว่า จะทำให้จุดด้อยอย่างน้อยที่สุด 2 ประการ ถูกขจัดออกไป จุดแรก ก็คือ ภาพของนายอภิสิทธิ์ที่เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกมองในแง่ลบมาตลอดว่า เก่งเฉพาะงานการเมือง วัดความสำเร็จทางการเมืองที่การสามารถเชือดเฉือนคู่แข่งด้วยคำพูด ขณะที่การปฏิบัติ รวมถึงนโยบาย ไม่ชัดเจน ยิ่งเมื่อมีการนำนายอภิสิทธิ์ไปเปรียบเทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในแง่ประสบการณ์การบริหารงานและผลงาน นายอภิสิทธิ์ถูกมองว่า เทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ และการถูกมองว่า บุคลิกลักษณะของนายอภิสิทธิ์ถอดแบบออกมาจาก นายชวน หลีกภัย ที่เคยมีฉายาในทางการเมืองว่า "ชวนเชื่องช้า" มาแล้ว ยิ่งทำให้ดูด้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคไทยรักไทย ฝังหัวชาวบ้านตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ ผู้นำควรมีบุคลิกเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ เป็นนักบริหารมืออาชีพ ไม่ใช่แค่ "เทคโนแครต" เท่านั้น สปอตโฆษณาชุดแรกของพรรคประชาธิปัตย์ จึงปูทางที่จะขจัดภาพลบนี้ ด้วยการชูสโลแกน "ประชาชนต้องมาก่อน" เมื่อประชาชนต้องมาก่อน จึงต้องมี "วาระประชาชน" ออกมา ซึ่งในเบื้องต้นเน้นไป 3 เรื่องคือ ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาด้านการศึกษา และปัญหาด้านสุขภาพ โดยในปัญหาครองชีพนั้น นายอภิสิทธิ์ระบุว่าปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและประชาชนส่วนใหญ่ถูกซ้ำเติมจากปัญหาสินค้ามีราคาแพง จึงต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการเข้าไปปรับโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของการผูกขาด เพื่อลดค่าครองชีพให้ได้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ย้ำว่า "เราทำได้เต็มที่เพราะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน" อันเป็นเหมือนการย้อนศร พ.ต.ท.ทักษิณกลายๆ เช่นเดียวกับปัญหาด้านการศึกษา นายอภิสิทธิ์ขยายความว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับลงทุนในเรื่องการพัฒนาคน โดยวิกฤตความแตกแยกที่เกิดขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีรัฐบาล มีผู้มีอำนาจที่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง หรือมีผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อนผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น เมื่อต้องการความปรองดองของคนในชาติ คนในสังคม คนในรัฐบาล ต้องซื่อสัตย์ การจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับปัญหาการศึกษา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้หยิบเรื่องการเรียนฟรีขึ้นมาเป็นจุดขาย โดยปัจจุบันแม้จะมีการบอกว่าเป็นการเรียนฟรี แต่กลับมีค่าใช้จ่ายอื่นแอบแฝง ไม่ว่า มีค่าแบบเรียน ค่าแป๊ะเจี๊ยะ ค่าเรียนพิเศษ และอื่นๆ อีก ดังนั้น จะต้องสร้างระบบเรียนฟรี ที่ฟรีจริงๆ ขึ้นมา ส่วนปัญหาด้านสุขภาพ นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าจะต้องเข้าไปปรับรื้อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างแน่นอน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระทางด้านงบประมาณ อย่างที่เป็นอยู่ นอกเหนือจากทั้ง 3 ประเด็นข้างต้น นายอภิสิทธิ์ยังจะรุกไปยังเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดด้อยที่สำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคไทยรักไทย โดยจะเน้นย้ำถึงภาวะถดถอยของธรรมาภิบาล ทำให้กลไกตลาดเศรษฐกิจเสรี ไม่เป็นเศรษฐกิจที่เป็นธรรม หรือทำให้นักธุรกิจมั่นใจ นายอภิสิทธิ์ยืนยันที่จะไม่เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการผูกขาด การอุปถัมภ์ เส้นสาย การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรงได้ในโลกยุคนี้ พร้อมทั้งระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์จะประกาศให้ชัดเจนว่าเป็นคนละแนวทางกับไทยรักไทยอย่างชัดเจนนายอภิสิทธิ์สร้างความมั่นใจเพื่อแลกกับเสียงสนับสนุนว่า เมื่อมีการรณรงค์หาเสียงหากให้มีการนำเสนอเรื่องนโยบายทุกพรรคเท่ากัน พร้อมจะดีเบตกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ท่าทีที่ดูเหมือนมั่นอกมั่นใจนี้ แน่นอนว่า เป็นกลยุทธ์ที่จะลบภาพการไม่มีนโยบายและไม่ใช่ผู้บริหาร อย่างไม่ต้องสงสัย จุดที่สองที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ต้องการลบก็คือ "ความเหินห่าง" กับประชาชนในวงกว้าง ที่ผ่านมาภาพของนายอภิสิทธิ์โดดเด่นอยู่ในสภา ฐานะนักการเมืองที่ "จัดเจน" แต่เป็นความจัดเจนที่คุ้นเคยกับ "คอการเมือง" มากกว่า ขณะที่ชาวบ้านทั่วไป การรู้ "ตัวตน" ของนายอภิสทธิ์ในแง่ "คนธรรมดาๆ" มีน้อยมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณมีภาพ "แฟมิลี่แมน" สูงกว่าหลายเท่าตัว ด้วยเหตุนี้ สปอตโฆษณานำเสนอตัวตนของนายอภิสิทธิ์ จึงถูกผลิตออกมาโดยเน้นภาพชีวิตและครอบครัว ด้วยการบอกถึงการครองรักกับคู่ชีวิตมานานกว่า 18 ปี พร้อมด้วยลูกๆ ที่น่ารัก 2 คน ถือเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะแล้ว ซึ่งว่าไปแล้วชีวิตส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์มีจุดขายอยู่มาก เขาเกิด 3 สิงหาคม 2507 ถือเป็น "คนหนุ่ม" ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วคนหนึ่ง อยู่ในครอบครัวและสกุลที่ดีคือเป็นลูกของ ศ.น.พ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกราชบัณฑิตยสถาน และ ศ.พ.ญ.สดใส เวชชาชีวะ แต่งงานกับ ดร.พิมพ์เพ็ญ ศกุนตาภัย อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุตรสาวของนักวิชาการดังที่ต่อสู้ทางการเมืองมาโชกโชน "พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย" ซึ่งตรงนี้เป็นจุดขายจุดหนึ่งได้ สำหรับครอบครัวที่ประกอบด้วยบุตร-ธิดาอย่างละคนคือ ด.ญ.ปราง เวชชาชีวะ ด.ช.ปัณณสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นก็มีภาพของครอบครัวที่อบอุ่น เพียงแต่ไม่ถูกขับเน้นออกมาเท่านั้น ยิ่งเมื่อมองไปที่การศึกษาจากเด็กอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธร ชั้นประถมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ แล้วไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนดังระดับโลกคือ สเกทคลิฟ และโรงเรียนอีตัน ที่นั่นนายอภิสิทธิ์ ก็มี "จุดขาย" ได้อีก คือนอกเหนือจากการใช้ชีวิตวัยรุ่นที่อยู่ท่ามกลางหลักสูตรการเรียนที่ท้าทาย และกฎระเบียบด้านวินัยที่เข้มงวดแล้ว นายอภิสิทธิ์ยังเล่นฟุตบอล ซึ่งได้กลายเป็นกีฬาที่โปรดปรานของนายอภิสิทธิ์มาจนถึงทุกวันนี้ เขาเป็นผู้ที่ติดตามการแข่งขันฟุตบอลของสโมสรต่างๆ ในอังกฤษและเป็นแฟนที่เหนียวแน่นของสโมสรนิวคาสเซิล ว่ากันว่า เขาเป็นผู้ที่สามารถวิจารณ์ผู้เล่น ครูฝึกสอน และผู้จัดการของทีมฟุตบอลต่างๆ ได้ ซึ่งประเด็นนี้สามารถหยิบมาสื่อกับคนรุ่นใหม่ในเมืองไทยปัจจุบันได้อย่างไม่มีช่องว่างแน่นอน "จุดขาย" ตรงนี้กำลังจะถูกขับเน้นออกมา เช่นเดียวกับรสนิยมการฟังดนตรีแนวร็อคตั้งแต่ป๊อปร็อคไปจนถึงเฮฟวี่เมทัล โดยมีวงดนตรีที่โปรดปรานหลายวง เช่น อาร์อีเอ็ม อีเกิลล์ และโอเอซิส ก็กำลังถูกทำให้รู้จักมากขึ้น ชีวิตในระดับ "อุดมศึกษา" ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นายอภิสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ใช้เวลาเรียนที่อ๊อกซ์ฟอร์ด 3 ปี จนจบและได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นับเป็นคนไทยคนที่สองในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับนี้ และในระหว่างนี้ได้ "เรียนรู้เมืองไทย" ด้วยการศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย หลังจากจบปริญญาตรี อภิสิทธิ์ก็เดินทางกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการทหารโดยสอนหนังสือที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก ก่อนที่จะกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่อ๊อกซ์ฟอร์ดจนสำเร็จ ด้วยประวัติการศึกษาที่ถือเป็น "ครีม" คนหนึ่งของประเทศ จุดตรงนี้ก็กำลังถูกนำมาขยายให้คนรู้จักมากขึ้นเช่นเดียวกับการทำงาน ที่มีจังหวะก้าวที่ไปสู่ "การเมือง" อย่างเป็นขั้นเป็นตอน คือก่อนปี 2535 เป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า แล้วไปเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้น เป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงให้ นายพิชัย รัตตกุล ในเขตคลองเตย สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แล้วลงสมัคร ส.ส. ได้รับเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2535, กันยายน 2535, 2538 และ 2539 ในฐานะ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพมหานคร ปี 2535-2537 เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ต้นปี 2537 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์), ปี 2538-2539 ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร, ปี 2538-2540 โฆษกพรรคประชาธิปัตย์, ปี 2540-2544 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ปี 2542 รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, ปี 2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และปี 2548 เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นี่ย่อมถือเป็นชีวตที่ก้าวสู่ "การเมือง" อย่างมีขั้นตอน ซึ่งแม้จะด้อยในแง่ไม่มีประสบการณ์การเป็นนักบริหารทางธุรกิจเมื่อเทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ความมุ่งมั่นสู่การเมืองที่เป็นขั้นตอนอย่างที่ว่า ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของนายอภิสิทธิ์ จุดนี้ กำลังถูกนำออกมาเป็นจุดขายสำคัญของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผู้นี้ ภายใต้ความเชื่อมั่นของคนในประชาธิปัตย์ว่าจะลบภาพเกินห่างจากชาวบ้านไปได้ และจะทำให้นายอภิสิทธิ์มีภาพที่ "นุ่มนวล" ยิ่งขึ้นได้ หัวข้อ: Re: มาดูเรื่องราวของ อภิสิทธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: ธ.ส. ที่ 04-08-2006, 10:51 เท่าที่รู้จักคุณอภิสิทธิ์จากข่าวต่างๆและคนที่เคยทำงานร่วมกับคุณอภิสิทธิ์มาก่อน มีประเด็นที่คุณอภิสิทธิ์ต้องแก้ไขและถือว่าเป็นจุดอ่อนที่ร้ายแรงสำหรับตัวเขาเองเป็นอย่างมาก นั่นคือการที่คุณอภิสิทธิ์เป็นคนที่ติดกรอบความคิดของตัวเอง และไม่ค่อยจะเปิดใจให้คนที่ทำงานด้วยกันเท่าไหร่นัก อันนี้สำคัญมาก เพราะในอนาคตการเป็นผู้นำประเทศนั้นจะต้องอาศัยการระดมความคิดจากหลายฝ่าย และอาศัยทุกส่วนทุกหน่วยงานของประเทศในการทำงาน การยอมรับคนที่ทำงานด้วยกันนั้นเป็นการสร้างบรรยากาศในการสมานฉันท์ที่ดี เพราะโดยรูปลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไม่มีทางที่จะให้ระบบ CEO ในการบริหารงานทางการเมืองแน่ๆ
หัวข้อ: Re: มาดูเรื่องราวของ อภิสิทธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: The Last Emperor ที่ 04-08-2006, 11:11 ประการแรก ผู้บริหารพรรคกว่า 90% ก็ยังเป็นคนเดิมกับสมัยชวน+บัญญัติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดิมๆไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดคือ เล่นการเมืองมากกว่าการบ้าน
ประการต่อมา แนวนโยบายของปชป.ก็คือการใช้นโยบายของทรท.แล้วต่อยอด ทั้งๆที่ผู้บริหารพรรคปฎิเสธระบอบทักษิณมาตลอด ถามว่า 'ความน่าเชื่อถือของคนปชป.อยู่ตรงไหน...ปากพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง!!' ประการสุดท้าย กลุ่มคนทำงานระดับบริหารของพรรคเคยมีผลงานอะไรที่เป็นที่ยอมรับในสังคมช่วง2-3ปีที่ผ่านมาบ้าง ตั้งแต่งานสมัชชาปชป.พบปชช.ครั้งที่ 1 เมื่อปีที่แล้วที่จัดงานซะใหญ่โต...แต่ไม่มีอะไรคืบหลังงานเลิก จนต้องไม่มีสมัชชาฯครั้งที่ 2 ในปีนี้ไงครับ สรุป...โฆษณามีการผลิตที่ดีในแง่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม แต่เนื้อหาและประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับนั้นยังเลือนลาง ประเด็นก็คือ คนเค้าลงคะแนนให้ในคูหาก็เพราะสาระที่จับต้องได้ ไม่ใช่นามธรรมที่นำเสนอประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จางหายไปครับ หัวข้อ: Re: มาดูเรื่องราวของ อภิสิทธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: แอ่นแอ๊น ที่ 04-08-2006, 11:29 เท่าที่รู้จักคุณอภิสิทธิ์จากข่าวต่างๆและคนที่เคยทำงานร่วมกับคุณอภิสิทธิ์มาก่อน มีประเด็นที่คุณอภิสิทธิ์ต้องแก้ไขและถือว่าเป็นจุดอ่อนที่ร้ายแรงสำหรับตัวเขาเองเป็นอย่างมาก นั่นคือการที่คุณอภิสิทธิ์เป็นคนที่ติดกรอบความคิดของตัวเอง และไม่ค่อยจะเปิดใจให้คนที่ทำงานด้วยกันเท่าไหร่นัก อันนี้สำคัญมาก เพราะในอนาคตการเป็นผู้นำประเทศนั้นจะต้องอาศัยการระดมความคิดจากหลายฝ่าย และอาศัยทุกส่วนทุกหน่วยงานของประเทศในการทำงาน การยอมรับคนที่ทำงานด้วยกันนั้นเป็นการสร้างบรรยากาศในการสมานฉันท์ที่ดี เพราะโดยรูปลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไม่มีทางที่จะให้ระบบ CEO ในการบริหารงานทางการเมืองแน่ๆ พี่มากขากำลังพยายามอยู่ :mrgreen: |