ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: concordance democracy ที่ 09-10-2008, 05:56



หัวข้อ: "วิกฤตการเมืองไทย - เหตุ, ผล และหนทางแก้ไข" โดย Tom Politics
เริ่มหัวข้อโดย: concordance democracy ที่ 09-10-2008, 05:56
"วิกฤตการเมืองไทย - เหตุ, ผล และหนทางแก้ไข" โดย Tom Politic

เหตุ  - เกิดจากการที่เราลอกแบบระบบประชาธิปไตยแบบใช้เสียงส่วนมาก (Majority Rule) ของฝรั่งมาใช้โดยไม่ได้วิเคราะห์ให้ดีเสียก่อนว่าระบบนี้จะใช้กับคนไทยซึ่งมีนิสัยใจคอแตกต่างจากประชาชนในประเทศต้นแบบนั้นได้หรือไม่ ถือหลักแต่เพียงว่าพรรคการเมืองใดมีจำนวนผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกเข้ามามากเกินครึ่งของจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมดนั้น มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ หากพรรคฯมีจำนวนส.ส.ไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคฯเดียวก็จะทำการชักชวนพรรคฯเล็กๆเข้าร่วมเพื่อให้มีส.ส.พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

ผล - ตลอดเวลาที่ผ่านมาที่เราใช้ระบบประชาธิปไตยแบบเสียงส่วนมากอย่างเดียวนั้น ได้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและมีความคิดที่ขัดแย้งกันมาตลอด รัฐบาลไหนก็อยู่ได้ไม่นาน (รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานอยู่จนครบวาระ) เพราะพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พรรคฯร่วมรัฐบาล ซึ่งก็เป็นตัวแทนของประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ไม่มีโอกาสร่วมในการบริหารบ้านเมืองอย่างแท้จริง จึงกลายเป็นฝ่ายค้านไปโดยปริยาย ถ้าหากพรรคฯฝ่ายค้านเป็นพรรคใหญ่ อุปสรรคของรัฐบาลก็ย่อมมีมากขึ้นตามส่วน เพราะการเมืองไทยคือการแย่งชิงอำนาจและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว เกิดการปัดแข้งปัดขาและคัดค้านกันอุตลุด ทำให้การบริหารประเทศติดขัด แถมประชาชนจำนวนหนึ่งที่เลือกพวกเขาเข้ามานั้นก็พร้อมที่จะรวมตัวกันก่อกวนไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลทำงานได้โดยสะดวก จนทำให้เกิดวิกฤตที่รุนแรงขึ้นอย่างที่เป็นอยู่นี้ ตราบใดที่เรายังใช้ระบบประชาธิปไตยแบบเดิมอยู่ การเมืองก็จะวนเวียนแบบนี้ต่อไปจนกว่าประเทศชาติของเราจะล่มจมไปจริงๆ

หนทางแก้ไข  - มีระบบประชาธิปไตยอยู่แบบหนึ่งที่คนไทยส่วนมากอาจจะไม่รู้จัก ผมเห็นว่าระบบนี้น่าจะใช้ได้ผลที่สุดกับประเทศไทยของเรา ระบบที่ว่านี้คือระบบประชาธิปไตยแบบ Concordance Democracy ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยแบบสอดคล้อง  คือ การตั้งกฏเกณท์และระเบียบต่างๆให้สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีและอุปนิสัยของประชาชนในประเทศ สำหรับประเทศไทยของเราผมขอแนะนำวิธีแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยใช้หลักการต่อไปนี้

ตัวอย่าง - เช่นรัฐบาลที่จะจัดตั้งนั้นมีกระทรวงต่างๆ 10 กระทรวง จำนวนส.ส.ทั้งหมด 100 คน เฉลี่ยส.ส. 10 คนต่อ 1 กระทรวง
พรรคฯ ก. มีส.ส.รวม 38 คน รับผิดชอบบริหาร 4 กระทรวง
พรรคฯ ข. มีส.ส.รวม 27 คน รับผิดชอบบริหาร 3 กระทรวง
พรรคฯ ค. มีส.ส.รวม 22 คน รับผิดชอบบริหาร 2 กระทรวง
พรรคฯ ง. มีส.ส.รวม 10 คน รับผิดชอบบริหาร 1 กระทรวง
พรรคฯ จ. มีส.ส.รวม 3 คน รับผิดชอบบริหาร 0 กระทรวง

นี่คือ - การแบ่งความรับผิดชอบในการบริหารประเทศตามสัดส่วนของจำนวนส.ส.อย่างยุติธรรม รัฐมนตรีทุกท่านจะต้องบริหารประเทศร่วมกันแบบประนีประนอม มีการประชุมหารือกันในกลุ่มรัฐมนตรีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง รัฐมนตรีแต่ละท่านจะอยู่ในตำแหน่งสมัยละ 4 ปี ทุกๆ 4 ปีจะมีการลงคะแนนเสียงโดยส.ส.ในสภาทั้งหมดเพื่อเลือกตั้งรัฐมนตรีสมัยต่อไป ซึ่งจะเลือกคนเดิมหรือคนใหม่ก็ได้แต่จะต้องอยู่ในกติกาเดิม คือคิดตามสัดส่วนของจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคฯ รัฐมนตรีแต่ละท่านจะอยู่ในตำแหน่งกี่สมัยก็ได้ จนกว่าจะลาออกเองหรือถูกโหวตให้ออก

ตำแหน่งประธานรัฐบาล (ไม่ใช่หัวหน้ารัฐบาล) ซึ่งจะเรียกว่านายกรัฐมนตรีก็สุดแล้วแต่ เป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ แต่ให้มีไว้เพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการร่วมพิธีระดับชาติหรือการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเท่านั้น โดยให้รัฐมนตรีหรือตัวแทนของพรรคต่างๆผลัดกันเข้ารับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ท่านละหนึ่งปี

นี่คือ – ระบบที่ผมขอเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบสอดคล้องและเสมอภาค  คือ การให้ความสำคัญต่อเสียงของประชาชนทั้งประเทศทุกเสียงเท่าๆกัน เมื่อส.ส.คือตัวแทนของประชาชนและพรรคฯทุกพรรคฯมีโอกาศส่งตัวแทนตามสัดส่วนที่แบ่งกันอย่างยุติธรรมเข้าไปบริหารบ้านเมือง ก็เท่ากับว่าประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองด้วย ระบบเสียงส่วนมากก็ยังเป็นกติกาหลักอยู่ แต่ความเสมอภาคจะมีมากกว่า และสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของการขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมทั้งระหว่างประชาชนทุกกลุ่มได้ เพราะประชาชนทุกกลุ่มก็มีตัวแทนที่เขาเลือกมาอยู่ในรัฐบาลด้วย

ประชาธิปไตยระบบนี้ - มีบางประเทศในยุโรปใช้มานานแล้ว และการเมืองของประเทศนั้นได้รับการยอมรับกันทั่วโลกว่ามั่นคงที่สุด บางทีวิธีนี้อาจจะใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานกับระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยก็ได้ และน่าจะเป็นการแก้แบบถาวรอีกด้วย หากผู้อ่านท่านใดเห็นว่าข้อเขียนนี้มีประโยชณ์อยู่บ้างขอให้ช่วยกันเผยแพร่ต่อๆไปด้วย จุดมุ่งหมายของพวกเราคือการช่วยกันหาวิธีแก้ไขวิกฤตการเมืองไทย

Tom Politics / politics@bigbone.ch  / 3 September 2008