ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Sweet Chin Music ที่ 03-04-2006, 23:58



หัวข้อ: ขอสวนกระแสหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Sweet Chin Music ที่ 03-04-2006, 23:58
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งครับ แต่เกี่ยวกับ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งผมได้ไปเจอในเวป www.pub-law.net

http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=890 เอามาจากลิงค์นี้นะครับ


“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล

สงครามแย่งชิง “ความจงรักภักดี” ระหว่างทักษิณกับสนธิ โดยมีข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เป็นอาวุธกำลังดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนและยากจะคาดเดาว่าจะลงเอยเช่นใด จนกระทั่งมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม เหตุการณ์ก็เริ่มคลี่คลายไปตามลำดับ ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นนี้ จึงน่าสนใจว่าที่เรียกกันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นมีจริงหรือไม่ และมีลักษณะอย่างไร
       
       
-๑.-
       ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
       
       ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
       ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำที่ครบทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน องค์ประกอบภายนอกก็คือ ต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนองค์ประกอบภายในคือ ต้องมีเจตนา
       มีถ้อยคำที่ควรพิจารณาอยู่ ๓ ถ้อยคำ ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย
       อย่างไรจึงเรียก “หมิ่นประมาท”?
       “หมิ่นประมาท” ตามมาตรา ๑๑๒ มีความหมายเดียวกับหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปตามมาตรา ๓๒๖ กล่าวคือ เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่ออ่านมาตรา ๑๑๒ ประกอบกับมาตรา ๓๒๖ แล้ว การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หมายถึง การใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สามโดยที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เช่น นาย ก.เล่าให้นาย ข.ฟังถึงเรื่องพระมหากษัตริย์อันทำให้พระมหากษัตริย์เสียชื่อเสียง ไม่ว่าเรื่องที่เล่ามานั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์เสียหาย ก็ถือว่านาย ก.หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้ว
       อย่างไรจึงเรียก “ดูหมิ่น”?
       “ดูหมิ่น” หมายถึงการแสดงเหยียดหยาม อาจกระทำทางกริยา เช่น ยกส้นเท้า ถ่มน้ำลาย หรือกระทำด้วยวาจา เช่น ด่าด้วยคำหยาบคาย
       ส่วน “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” หมายถึง การแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่จริงหรือก็ตาม
       การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต้องกระทำต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่านั้น ไม่รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ
       และเช่นกันไม่รวมถึงท่านผู้หญิง คุณหญิง ข้าราชบริพาร สิ่งของ หรือสัตว์เลี้ยง…
       โดยทั่วไป การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ผู้กระทำอาจยกเหตุตามมาตรา ๓๒๙ มาอ้างว่าตนกระทำได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมหรือการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
       นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทอาจอ้างเหตุยกเว้นโทษได้ตามมาตรา ๓๓๐ หากพิสูจน์ได้ว่าที่หมิ่นประมาทไปนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามพิสูจน์ในกรณีที่ข้อที่เป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
       อย่างไรก็ตามคำพิพากษาฎีกายืนยันว่าเหตุให้หมิ่นประมาทได้ตามมาตรา ๓๒๙ และเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา ๓๓๐ ไม่นำมาใช้บังคับกับกรณีพระมหากษัตริย์ เพราะ พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ มีสถานะแตกต่างจากบุคคลทั่วไปซึ่งมาตรา ๑๑๒ มุ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ ดังนั้นหากใครหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และจะอ้างต่อศาลว่าตนติชมด้วยความเป็นธรรม ศาลก็ไม่รับฟัง
       อนึ่ง แม้กฎหมายจะไม่อนุญาตให้อ้างได้ว่าการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นไปเพื่อการวิจารณ์หรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เราจะเห็นถึงน้ำพระทัยของในหลวงที่ทรงเปิดกว้างรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ในตัวพระองค์ ดังความบางตอนจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่ว่า
       “แต่ว่าความจริงก็ต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวว่าถ้าใครจะมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ตรงนั้นจะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน... ฉะนั้น ก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบอก เป็นเรื่องขอให้เขารู้ว่าวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ลงท้ายพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก ถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวนี้ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี”
       
       
-๒.-
       ความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีในระบบกฎหมายไทยจริงหรือ ?
       
       จากการสำรวจประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นๆ ไม่พบคำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แสดงถึงเดชานุภาพและบารมีของกษัตริย์ ที่พูดว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในปัจจุบันนั้นน่าจะเป็นการพูดที่ติดปากกันมากกว่า (ไม่ว่าจะติดมาเพราะจงใจหรือบังเอิญ)
       ข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่ “ลูกแกะ” เสื้อเหลืองกับ “ลูกแกะ” รัฐบาลยัดเยียดให้แก่กันและกันนั้น เอาเข้าจริงก็คือข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา ๑๑๒ นั่นเอง
       สมควรกล่าวด้วยว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ย่อมกินความกว้างกว่า “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”
       สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในการประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๔ หลวงประสาทศุภนิติได้ซักถามในที่ประชุมว่าหากจะใช้คำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จะเป็นอย่างไร หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ตอบว่า ปัจจุบันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีข้อหาทางอาญา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีแต่ข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ดูwww.midnightuniv.org/midnight2545/document9554.html)
       
       กล่าวให้ถึงที่สุด ในระบบกฎหมายไทยปัจจุบันไม่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีเพียงแต่ “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ซึ่งโดยเนื้อหาก็เหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทคนธรรมดา จะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็ใช้นิยามเดียวกัน คือ “การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย” ที่แตกต่างกันก็มีสามประการ คือ หนึ่ง หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีโทษหนักกว่าหมิ่นประมาทคนธรรมดา สอง หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่อาจนำเหตุให้กระทำการได้ตามมาตรา ๓๒๙ และมาตรา ๓๓๐ มาอ้างได้ และสาม ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นความผิดเกี่ยวด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร บุคคลที่ มาตรา ๑๑๒ ประสงค์จะคุ้มครอง คือ พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ เป็นความผิดเกี่ยวด้วยเสรีภาพและชื่อเสียง มุ่งคุ้มครองบุคคลธรรมดา
       
       
-๓-
       ยุติการยัดเยียดข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กันเถิด
       
       การฟ้องร้องโดยอ้างว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แท้จริงแล้วเป็นการฟ้องร้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จึงต้องมาพิจารณากรณีฟ้องและขู่ว่าจะฟ้องทั้งหลายนั้นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา ๑๑๒ หรือไม่
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายแพทย์คนหนึ่งยกย่องโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านที่ถือบัตรทองไปโรงพยาบาลก็เสมือนนำธนบัตรมีพระบรมฉายาลักษณ์ติดหน้าผากไปด้วย
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์นำสติ๊กเกอร์พระราชดำรัสไปติดตามที่ต่างๆ
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ยินยอมให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าไปตรวจสอบบัญชีโดยอ้างว่าจะเป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างสนธิกับทักษิณ
       วิญญูชนพึงตรึกตรองดูเถิดว่า…
       กรณีเหล่านี้เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ให้ผู้อื่นทราบอันทำให้พระมหากษัตริย์เสียหายอันถือเป็น “การหมิ่นประมาท” พระมหากษัตริย์หรือไม่
       กรณีเหล่านี้เป็นการแสดงเหยียดหยามทางกริยาหรือทางวาจาต่อพระมหากษัตริย์อันถือเป็น “การดูหมิ่น” พระมหากษัตริย์หรือไม่
       กรณีเหล่านี้เป็นการแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายพระมหากษัตริย์อันถือเป็น “การแสดงความอาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์หรือไม่
       ถ้าไม่เป็น แล้วที่ฟ้องร้องกันทั่วบ้านทั่วเมืองนี่คืออะไร?
       ทั้งหลายทั้งปวงเป็นการต่อสู้กันทางการเมืองและผลประโยชน์ โดยเอาข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาเป็นอาวุธหรือเกราะกำบังทั้งนั้น การกล่าวอ้างลอยๆว่า “เอ็งกำลังจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะเว้ย” กลายเป็นเพียงการข่มขู่ แบล็คเมล์ หรือหยิบยกขึ้นอ้างเพื่อผลประโยชน์บางประการโดยปราศจากซึ่งฐานทางกฎหมาย
       เช่นนี้แล้วนักฟ้องร้องและแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ทั้งหลายนั้นจะกล้าประกาศว่าข้าจงรักภักดียิ่งกว่าใครได้เต็มปากอีกหรือ?
       เอาเข้าจริงคนที่ฟ้องร้องก็ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องมีใครติดคุก แต่ขอเพียงปักชนักติดหลังให้ศัตรูว่าโดนแจ้งความ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
       กล่าวได้ว่าสังคมไทยปัจจุบันแปรสภาพโทษทางกฎหมายของข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” (ภายใต้เสื้อคลุม “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”) ให้กลายเป็นโทษทางสังคม จะทำอย่างไรได้ก็บรรดา “ลูกแกะ” ช่างอ่อนไหวกับเรื่องพรรค์นี้เสียเหลือเกิน
       ต้องไม่ลืมว่า ยิ่งมีการฟ้องร้องข้อหานี้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศมากเท่านั้น เพราะถ้าเราตีความในมุมกลับ หากมีการกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาก ก็หมายความว่า เดชานุภาพของพระมหากษัตริย์มีข้อบกพร่อง จึงมีคนหมิ่นบ่อยๆ มิพักต้องกล่าวถึงกรณีหากเป็นคดีความขึ้นในศาลซึ่งคู่ความอาจต้องให้การบางอย่างบางประการอันอาจกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นไปอีก
       ความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐเป็นความจำเป็นที่กฎหมายในทุกประเทศต้องมีเพื่อเป็นการคุ้มครองสถาบัน อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้มีการฟ้องว่าบุคคลหนึ่งหมิ่นประมาทประมุขของรัฐอย่างพร่ำเพรื่อ หากแต่เจ้าหน้าที่จะสอบถามไปที่สำนักพระราชวัง (กรณีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) หรือสำนักงานประธานาธิบดี (กรณีประธานาธิบดีเป็นประมุข) ว่าเห็นควรจะให้ฟ้องร้องหรือไม่
       น่าคิดว่ากฎหมายไทยควรถึงเวลาทบทวนประเด็นดังกล่าวหรือยังและสมควรกำหนดให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นคนแจ้งความหรือฟ้องจะดีกว่าหรือไม่ การเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เดินไปแจ้งความแก่ตำรวจว่ามีคนหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้วตำรวจก็รับแจ้งความดำเนินคดีทุกครั้งไปนั้น ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
       ความจริงแล้ว กรณียัดเยียดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กันในสังคมไทย หากเจ้าหน้าที่มีดุลพินิจสักนิด ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นแต่ประการใดที่เจ้าหน้าที่จะต้องรับข้อหานั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
       จากพระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ และไม่สนับสนุนให้มีการฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กันอย่างพร่ำเพรื่อ พระองค์ทรงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า “...และมีแปลกๆ คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายเขาสอน สอนนายกฯ บอกว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็ขอสอนนายกฯ ใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ไม่ใช่นายกฯเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน”
       เช่นนี้แล้ว บรรดานักจงรักภักดีและหมู่ลูกแกะทั้งฟากเสื้อเหลืองและฟากรัฐบาลจะมิพึงสนองพระราชดำรัสหรอกหรือ[/b]