ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: pornchokchai ที่ 02-06-2008, 09:01



หัวข้อ: "เวนคืน" รวมเรียงความชนะเลิศชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
เริ่มหัวข้อโดย: pornchokchai ที่ 02-06-2008, 09:01
เวนคืน รวมเรียงความชนะเลิศชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จัดโดย มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (http://www.thaiappraisal.org)
.
.
.
(http://www.thaiappraisal.org/images/journal/Publication-B12.gif)
.
.
.
เวนคืนเพื่อทุกคน (รวมทั้งผู้ถูกเวนคืน)
รางวัลชนะเลิศระดับประชาชนทั่วไป
นายกัมปนาท แสงทอง
ต.นครปฐม อ.เมือง นครปฐม
.
ถนนราชดำเนินยิ่งงามสง่าด้วยแสงไฟประดับประดายามค่ำคืน สนามบินสุวรรณภูมิ ความยิ่งใหญ่ระดับโลกและความภูมิใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน ตลอดจนสาธารณประโยชน์อีกมากมายทั่วทุกภูมิภาค สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการเวนคืนที่ถูกต้องและเป็นธรรม
.
นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการเวนคืนทรัพย์สินเพื่อนำไปพัฒนาประเทศชาติและสร้าง ประโยชน์ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลก็มิได้เพิกเฉยต่อปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนส่วนน้อยที่ถูกเวนคืนทรัพย์สินเหล่านั้น โดยพยายามกำหนดนโยบายที่จะส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อประชาชนจำนวนน้อยที่สุด นอกจากนี้การเวนคืนยังต้องเป็นไปเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ชนในชาติอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันเป็นสำคัญ
.
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 4 ได้ระบุไว้ว่า “เวนคืน” หมายความว่า บังคับเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัตินี้ อย่างไรก็ตามในการเวนคืนทุกครั้ง รัฐต้องนำทรัพย์สินของประชาชนเหล่านั้นไปใช้เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์และต้องจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกเวนคืน
.
การเวนคืนทรัพย์สินประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการดังอธิบายต่อไปนี้:
.
ประการแรก ต้องอาศัยอำนาจของกฎหมาย กล่าวคือ รัฐจะ เวนคืนทรัพย์สินของประชาชนได้นั้นต้องมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่รัฐไว้อย่างชัดเจน โดยตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ขั้นตอนต่อมาคือการสำรวจเพื่อหาข้อมูลและรายละเอียดของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ตลอดจนตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนแล้วประกาศให้ทราบ จากนั้นจึงตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวซึ่งมีผลทำให้กรรมสิทธิ์นั้นตกเป็นของรัฐ โดยที่รัฐจะต้องจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนก่อนจึงจะมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้น ในบางกรณีรัฐสามารถตราเป็นพระราชบัญญัติฯได้เลยโดยไม่ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกามาก่อน แต่ก็ต้องตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนเช่นเดียวกัน
.
ประการที่สอง ต้องมีวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะ หมายความว่าการเวนคืนทรัพย์สินจะทำได้ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ จะเวนคืนนั้นต้องก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ หากไม่มีความจำเป็นเพียงพอแล้ว รัฐย่อมไม่มีอำนาจเวนคืน นอกจากนี้ยังต้องระบุวัตถุประสงค์ของการเวนคืนให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค เพื่อการผังเมือง เพื่อการพัฒนาการเกษตร และเพื่อการปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น
.
ประการสุดท้าย ต้องจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรม ค่าทดแทนในการเวนคืนทรัพย์สินถือเป็นหลักประกันสำคัญของประชาชนต่อการใช้อำนาจเวนคืนของรัฐ เนื่องจากประชาชนที่สูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนไปเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมต้องแบกรับภาระหน้าที่ต่อสาธารณะมากกว่าบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องมีการช่วยเหลือตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจก่อให้เกิดการต่อต้านการใช้อำนาจรัฐจนกลายเป็นปัญหาความไม่สงบในสังคมได้
.
หลักเกณฑ์ทั้งสามประการที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเวนคืน โดยเฉพาะประการสุดท้ายเรื่องการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรม นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐต้องดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างเสรี ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนและสาธารณชนผู้เสียภาษีอากรมาบำรุงประเทศ มิฉะนั้นอาจเกิดการประท้วงต่อต้านทั้งจากการดำเนินการที่บกพร่องของรัฐ หรืออาจเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ถูกเวนคืน ดังปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งเมื่อมีการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ฉะนั้นแล้วความรู้เรื่องการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อใช้ประกอบการคิดค่าทดแทนจากการเวนคืนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างละเอียดเพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
.
ค่าทดแทนที่เป็นธรรมในการเวนคืน คือผลรวมของการสูญเสียซึ่งเจ้าของทรัพย์สินได้เรียกร้องสิทธิสำหรับเป็นค่าทดแทน กล่าวโดยง่ายคือค่าทดแทนเหล่านี้คล้ายกับจำนวนเงินตามมูลค่าตลาดของทรัพย์สินที่ต้องจ่ายสำหรับการเวนคืนทั้งหมด หรืออาจจะจ่ายเพียงบางส่วนที่ถูกเวนคืน อย่างไรก็ตาม ค่าทดแทนที่เป็นธรรมนี้ก็คงจะต้องเป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ถูก เวนคืนและฝ่ายที่จ่ายค่าทดแทนด้วย
.
หลักการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเวนคืนจะแตกต่างจากหลักการประเมินค่าเพื่อการซื้อขายทั่วไป เนื่องจากเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ประสงค์ที่จะขาย ดังนั้น เมื่อมีการเวนคืนหรือบังคับซื้อ เจ้าของทรัพย์เหล่านั้นย่อมมีสิทธิ์จะได้รับเงินค่าทดแทนที่สูงกว่าราคาตลาด หรือที่เรียกว่ามูลค่าพิเศษสำหรับเจ้าของ
.
การคำนวณค่าทดแทนจากการเวนคืนอย่างเป็นธรรมโดยยึดหลักมูลค่าพิเศษสำหรับเจ้าของต้องพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้:
1. ราคาตลาดซึ่งเป็นราคาที่อยู่ในวันพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินเวนคืนมีผลบังคับใช้
2. ความเสียหายของทรัพย์สินที่เหลือเนื่องจากถูกตัดไปบางส่วนซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นค่าทดแทนอีกส่วนหนึ่ง
3. ผลกระทบทางลบจากการเวนคืน นับเป็นความเสียหายของทรัพย์สินที่เหลือจากการเวนคืน
4. ความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน
5. ราคาของทรัพย์สินที่เหลือจากการเวนคืน
.
นอกจากนี้การประเมินค่าทดแทนที่ยุติธรรมยังต้องพิจารณาจากการเวนคืนที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้:
1. กรณีถูกเวนคืนทรัพย์สินทั้งหมด การคิดค่าทดแทนที่ ยุติธรรมทำได้โดยประมาณมูลค่าตลาดของทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกเวนคืน
.
2. กรณีถูกเวนคืนแต่เพียงบางส่วน ในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์จำเป็นต้องเวนคืนพื้นที่บางส่วนซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายจากพื้นที่ที่ขาดออกจากกัน ดังนั้น จึงต้องประเมินค่าทดแทนความเสียหายอย่างเป็นธรรม โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้
2.1 กฎก่อนและหลัง เป็นวิธีการประเมินค่าทดแทนจากการหามูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดก่อนการเวนคืน หักด้วยมูลค่าของทรัพย์สิน ที่เหลืออยู่จากการเวนคืน และสิทธิประโยชน์ที่ใช้เป็นประโยชน์ได้
2.2 ประยุกต์กฎก่อนและหลัง เป็นการคิดค่าทดแทนโดยหา มูลค่าของทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน รวมกับความเสียหายที่เหลืออยู่ ซึ่งวัดได้จากผลแตกต่างระหว่างมูลค่าของความเสียหายที่เหลืออยู่ก่อนการเวนคืน และมูลค่าของความเสียหายที่เหลืออยู่หลังการเวนคืน
2.3 การใช้ประโยชน์เฉพาะส่วนเวนคืน การประเมินค่าทดแทนตามวิธีนี้ทำได้โดยนำมูลค่าใช้ประโยชน์เฉพาะส่วน บวกด้วยค่าเสียหายจากการตัดขาดจากกัน แล้วหักด้วยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
.
3. กรณีที่ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืน การก่อสร้างสาธารณประโยชน์ เช่น สนามบิน ทางด่วน และรถไฟฟ้า อาจส่งผลให้ทรัพย์สินในละแวกใกล้เคียงที่ไม่ได้ถูกเวนได้รับความเสียหายทางอ้อม เช่น เสียงรบกวนจากยาน-ยนต์ การเปลี่ยนแปลงทางเข้าออกทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทาง การเปลี่ยนแปลงระดับถนนทำให้อสังหาริมทรัพย์เกิดความเสียหาย เป็นต้น ในกรณีนี้การคิดค่าทดแทนที่เป็นธรรมย่อมต้องอ้างถึงความเสียหายเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
.
นอกจากนี้การเวนคืนทรัพย์สินของเอกชนเพื่อการสาธารณประโยชน์ อาจเป็นสาเหตุให้เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหายโดยไม่ได้รับการชดเชย เช่น ค่าขนย้าย การสูญเสียผลกำไรทางธุรกิจ ความไม่สะดวกสบาย ปัญหาการเดินทาง และการไม่สามารถหาที่ที่เหมือนเดิมได้ เป็นต้น
.
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนคิดค่า ทดแทนที่เป็นธรรม คือวันที่ประเมินราคา หากไม่ระบุให้ชัดเจนในพระราช-บัญญัติจะต้องมีการกำหนดเวลาที่แน่นอน เนื่องจากโครงการต่างๆ ใช้เวลานานหลายปี แม้ว่าจะประกาศการเวนคืนแล้ว แต่การเวนคืนจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลานาน ระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปนี้อาจส่งผลให้มูลค่าของทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ ตลาด และสภาพของทรัพย์สินได้
.
นโยบายการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมจากการเวนคืนถือเป็นหลักสากลว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายกันตามราคาตลาดที่มีการซื้อขายอยู่จริง ทว่าในความเป็นจริงแล้วการเวนคืนที่ดินถือเป็นสภาวะจำยอมของประชาชนที่ต้องทำตามกฎหมายของรัฐ หลายครั้งที่ราคาประเมินมักจะออกมาต่ำกว่าราคาตลาด
.
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิโต้แย้งเพื่อร้องขอความ ยุติธรรมจากผู้มีอาจของภาครัฐได้ กล่าวคือ หากเจ้าของทรัพย์สินเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐประเมินราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากเกินไป ก็สามารถใช้สิทธิร้องขอหรือโต้แย้งราคาประเมินนั้นได้ ดังนั้นการประเมินราคา ทรัพย์สินเพื่อการเวนคืน ผู้ประเมินจึงต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบ เป็นอย่างมาก โดยยึดหลักความซื่อสัตย์ยุติธรรมเพื่อชดเชยค่าเวนคืนให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน
.
มาตรฐานการประเมินราคาขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้ประเมินเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักประเมินราคาของรัฐหรือของภาคเอกชนต่างก็ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกเวนคืนสาธารณชน ตลอดจนผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้นนักประเมินราคานอกจากจะต้องปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานแล้ว ยังต้องมีจรรยาบรรณของวิชาชีพอันได้แก่ มีความละเอียดรอบคอบ ปฏิบัติงานด้วยความเอาใจใส่ มีความเข้าใจเรื่องกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอย่างถูกต้อง มีอิสระในการปฏิบัติงาน ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ
.
นอกจากนี้ยังต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรมซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาประเทศชาติอย่างวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน
.
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การเวนคืนทรัพย์สินถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง สาธารณประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชนในชาติรู้จักเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อสังคมส่วนรวม หรือที่เรียกว่ามีสาธารณประโยชน์จิต ในขณะที่สังคม ก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของบุคคลเหล่านี้ ดังจะเห็นได้จากการพิจารณาค่าทดแทนจากการเวนคืนทรัพย์สินอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
.
การกระทำดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ด้านการประเมินค่าทรัพย์สินจากการเวนคืน เพื่อให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด ขณะ เดียวกันสาธารณชนผู้เสียภาษีอากรให้แก่รัฐก็จะได้รับสาธารณูปโภคที่ดี มีคุณภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สุขสูงสุดเช่นกัน
.
การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนเวนคืนถือเป็นเรื่องที่ประชาชนและสังคมควรได้เรียนรู้ และตระหนักเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนโดยตรง แม้จะเป็นส่วนน้อยของสังคม ทว่ากลับมีความสำคัญต่อผลประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติในระยะยาว
ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จึงควรได้รับการดูแลและการตอบแทนเป็นพิเศษจากสังคม การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนเวนคืนไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาค เอกชน อาทิ สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สินของกรมที่ดิน มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย คอยให้การสนับสนุนและช่วยเหลือด้านความรู้และข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วน เมื่อประชาชนเข้าใจหลักการ เหตุผล และวิธีการดำเนินการเหล่านี้แล้วย่อมเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ในอนาคต
.
.
.
.
คุณย่าคงภูมิใจที่ได้รับการเวนคืน
รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา
นางสาวศศิกานต์ มนตรี ม. 6/1
โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย
.
ในวันหยุดหรือเมื่อมีเวลาว่างพ่อมักจะพาฉันและน้องไปเยี่ยม คุณย่าที่บ้านต่างอำเภอเสมอๆ วันนี้ขณะที่ฉันกำลังเรียนวิชาสุดท้ายของภาคบ่ายอยู่ พ่อโทรศัพท์มาบอกว่าพ่อกับแม่จะไปธุระด่วนที่บ้านคุณย่า เลิกเรียนให้ฉันและน้องรีบกลับบ้าน พ่อบอกว่าที่นาบางส่วนของคุณย่าจะถูกหลวงเวนคืน เพื่อทำถนนวงแหวนรอบนอก พ่อต้องไปประชุมกับกรรมการหมู่บ้านเรื่องเงินทดแทน
.
ประมาณสามทุ่มของวันนั้นพ่อกับแม่ก็กลับมาถึงบ้าน หลังจากพ่อกับแม่ทำธุระส่วนตัวเสร็จ ฉันถามพ่อว่า ทำไมที่นาของคุณย่าจึงถูกเวนคืน เวนคืนคืออะไร แล้วย่าได้เงินทดแทนด้วยหรือ ถ้าได้จะได้เท่าไหร่
.
พ่อบอกว่า การเวนคืน เป็นการเรียกที่ดินที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของคืนกลับมาเป็นของรัฐบาล เพื่อที่รัฐบาลจะได้ใช้ที่ดินเพื่อการพัฒนาประเทศ ฉันถามพ่อว่า การพัฒนาประเทศคือการสร้างถนนหรือ พ่อบอกว่า การสร้างถนนเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความเจริญ ทำให้การเดินทางติดต่อกันสะดวกและรวดเร็ว การที่รัฐบาลจะเวนคืนที่ดินใดๆ จะต้องมีเงื่อนไขว่า จะเวนคืนเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน
.
แม่ช่วยอธิบายอีกว่า ในการเวนคืน รัฐบาลไม่ได้ยึดเอาที่ดินกลับไปเฉยๆ แต่รัฐบาลจะมีเงินส่วนหนึ่งมาให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน เงินที่ให้นี้เราเรียก เงินทดแทน ฉันถามแม่ว่าแต่ละคนจะได้เงินทดแทนเท่ากันหมดเลยใช่ไหม พ่อบอกว่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประเภท ปริมาณ และคุณภาพของทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน ซึ่งการจ่ายเงินทดแทนจะจ่ายตามราคาทรัพย์สินที่ได้จากการประเมินค่าทรัพย์สิน ฉันบอกพ่อว่าถ้าอย่างนั้นการเวนคืนก็คือการที่รัฐบาลมาขอซื้อที่จากชาวบ้านนั่นเอง
.
แม่อธิบายเพิ่มเติมว่าก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าการเวนคืนนี้แม้เราจะไม่อยากขายเราก็ต้องขายเพราะรัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายอย่างเพียงพอที่จะบังคับเอาอสังหาริมทรัพย์จากเจ้าของเดิมเพื่อนำที่ดินนั้นไปสำหรับการพัฒนาดังกล่าวมาแล้ว พ่อบอกด้วยว่าในการประเมินค่าทรัพย์สินนั้น รัฐบาลก็มีวิธีในการคิดมูลค่าของทรัพย์สินอย่างมีหลักการ และมีคณะบุคคลที่มีความรู้มีประสบการณ์มาร่วมพิจารณาโดยพยายามให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
.
วิธีประเมินที่ใช้กันโดยทั่วๆ ไปก็มีหลายวิธี เช่น วิธีวิเคราะห์มูลค่าจากต้นทุน วิธีเปรียบเทียบราคาจากท้องตลาด วิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า เป็นต้น ซึ่งพ่อบอกว่าวิธีในการประเมินแต่ละวิธีมีหลักในการคิดค่อนข้างจะละเอียดและซับซ้อน ไว้วันหลังพ่อจะหยิบหนังสือเรื่องนี้จากที่ทำงานมาให้ฉันศึกษา และวิธีแต่ละวิธีก็จะเหมาะกับลักษณะของทรัพย์สินที่จะเวนคืนไม่เหมือนกัน
.
หลายๆ ครั้งรัฐบาลต้องใช้ วิธีหลายๆ อย่าง เพื่อให้เจ้าของที่ดินได้รับความเป็นธรรมให้มากที่สุด และหากคิดประเมินค่าทรัพย์สินออกมาเป็นตัวเงินแล้วหากเจ้าของยังไม่พอใจก็อาจขอรับเงินไปก่อน แล้วไปยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทน โดยสามารถที่จะยื่นเป็นหนังสือด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับก็ได้
.
ฉันถามพ่อว่าแล้วบ้านของคุณอาที่อยู่ถัดจากที่นาคุณย่าไปก็ถูกเวนคืนด้วยหรือ แล้วเขาคิดเงินค่าทดแทนให้คุณอานั้นอย่างไร พ่อว่าหากเป็นที่อยู่อาศัยรัฐบาลก็จะคิดเงินค่าทดแทนที่แตกต่างไปจากที่นาหรือที่สวน เช่นหากเป็นที่อยู่อาศัยเขาก็จะคำนึงถึงทำเลที่ตั้ง ดูบ้านว่าเป็นบ้านประเภทไหนบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินมีขนาดเท่าไหร่ กี่ตารางวา ตัวบ้านมีขนาดเท่าไหร่ บ้านมีวัสดุอะไรไม่ว่าจะเป็น พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน แล้วคุณภาพวัสดุที่ใช้เป็นอย่างไร อายุการใช้งาน สภาพการใช้งาน การดูแลรักษา เหล่านี้ เขาจะนำมาคิดคำนวณให้เราหมด อย่างที่สวนก็คิดแม้แต่ราคาต้นไม้ที่ต้องถูกตัด ถูกโค่น หากมีบ่อปลาอยู่ในที่นาที่สวน เขาก็คิดก็ประเมินค่าเป็นเงินทดแทนให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ อย่างครบถ้วน
.
คำอธิบายของพ่อช่วยให้ฉันเริ่มมองเห็นกระบวนการในการประเมินราคาของทรัพย์สินที่จะเวนคืนอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้น แม่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า การจ่ายค่าทดแทนจะจ่ายให้แก่เจ้าของที่ดิน เจ้าของ สิ่งปลูกสร้าง เจ้าของไม้ยืนต้น หรือผู้เช่า รวมถึงผู้ที่เสียสิทธิ์ในการใช้ที่ดินเพื่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกัน ที่ผ่านที่ดิน ที่ต้องถูกเวนคืนนั้นกอปรกับระยะเวลาในการเวนคืนก็มีหลักเกณฑ์ มีขั้นตอนที่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ได้มีเวลาพิจารณาและฟ้องคดีได้หากคิดว่าตนยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของเงินทดแทน
.
ประมาณห้าทุ่มฉันก็แยกเข้าไปพักผ่อน ฉันนอนคิดถึงคุณย่า คุณ-ย่าคงจะภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น แม้คุณย่าจะเสียที่ดินไปเพื่อการเวนคืนแต่ก็ไม่ได้เสียไปเปล่าๆ เพราะรัฐบาลจ่ายเป็นเงินให้เจ้าของที่แล้ว จริงอยู่แม้มันจะเทียบกับความรู้สึกที่ต้องสูญเสียที่ดินไปไม่ได้ แต่ฉันเชื่อว่าย่าของฉันจะมองเห็นอีกด้านหนึ่งที่กำลังผุดขึ้นมาแทน นั่นคือความเจริญของท้องถิ่นอันจะนำมาซึ่งความมีอยู่มีกิน การมีโอกาสของคนในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณูปโภค สิ่งนี้มิใช่หรือคือการพัฒนาที่ยั่งยืน
.
ขณะนี้ฉันภาคถูมิใจในตัวคุณย่า ท่านยิ่งใหญ่เหลือเกินในใจฉัน สมแล้วกับที่บรรพบุรุษไทยของเราได้สละชีวิตเพื่อรักษาผืนดินให้พวกเรา แล้วเมื่อถึงคราวจำเป็นลูกหลานไทยก็มอบที่ดินนั้นสำหรับการพัฒนาและสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ชาติสืบต่อไป
.
.
.
.
เวนคืนเพื่อลูกหลานของเรา
รางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษา
นางสาวสิริมา ชูวิทย์สกุลเลิศ
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี
.
สังคมทุกวันนี้อาจเป็นเสมือนสวรรค์บนดินของใครหลายคน เพราะความสุขสบายในชีวิตที่นับวันก็ยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เรามีการคมนาคมที่สะดวกสบาย มีสิ่งสาธารณูปโภคครบครัน ทั้งน้ำกิน น้ำใช้และไฟฟ้าที่มีให้เราได้อุปโภคบริโภคกันมิได้ขาด คุณประโยชน์และความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักรู้ว่า ความสุขและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากความเสียสละและน้ำจิตน้ำใจของชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนที่ประสบความลำบากและยอมสูญเสียถิ่นอาศัยที่พวกเขารัก ทั้งนี้เพราะการถูกเวนคืนที่ดินที่เป็นไปเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคมนั่นเอง
.
การเวนคืน คือ การออกกฎหมายมาบังคับซื้อที่ดินของเอกชน โดยหน่วยราชการที่ ทำการเวนคืนจะต้องจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เจ้าของที่ดินด้วย ที่ดินดังกล่าวจะถูกนำมาฟื้นฟูเพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ การเวนคืนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ จะรุดหน้าไปได้ก็จำเป็นต้องมีการจัดแปลงที่ดินใหม่ สร้างถนน ทางด่วน ทางรถไฟฟ้า คลองประปา คลองชลประทาน บ่อบำบัดน้ำเสีย และสนามบิน ฯลฯ
.
จุดมุ่งหมายหลักของการเวนคืนจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนส่วนใหญ่ และเพื่อรองรับบ้านเมืองที่จะก้าวหน้าต่อไปในอนาคต การเวนคืนที่ดินหลายร้อยโครงการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเวน-คืนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น การเวนคืนเพื่อปรับผังเมือง การเวนคืนเพื่อพัฒนาระบบบรรเทาภัยทางน้ำ การเวนคืนเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การเวนคืนเพื่อจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ เป็นต้น ล้วนเกื้อกูลประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างมหาศาลตราบจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังเป็นประจักษ์พยานให้เราได้เล็งเห็นถึงความต้องการและความจำเป็นในการเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
.
แม้การเวนคืนจะเป็นกลไกหนึ่งของการพัฒนาเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง แต่การเวนคืนก็ยังดูเป็นเรื่องโหดร้ายในสายตาของคนส่วนใหญ่ เพราะนั่นหมายถึง ผู้คนส่วนหนึ่งจะต้องสละที่อยู่ที่ทำกินของตนและอพยพไปเริ่มตั้งถิ่นฐานใหม่ การเวนคืนจึงเป็นเหตุแห่งการสูญเสียที่ไม่มีใครปรารถนา ผู้ที่มีที่ดินหรือที่พักอาศัยในแนวเขตการเวนคืนต่างพากันคัดค้านโครงการและแสดงความไม่พอใจ ด้วยความไม่ไว้วางใจหน่วยงานราชการและกลัวจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
.
ในอดีต การเวนคืนที่ดินถือเป็นภาระอันหนักหน่วงอย่างยิ่งของภาครัฐที่มีหน้าที่ในการดำเนินงานเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน สาธารณูปโภค การพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรม การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมืองหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น แม้ผลกระทบจากการเวนคืนจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของที่ดินเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการก็จำเป็นต้องออกประกาศเวนคืนเพื่อให้โครงการนั้นๆ ดำเนินการลุล่วงต่อไปได้
.
การเวนคืนจึงเสมือนเป็นการบังคับให้ราษฎรสละที่ดินของตนหรือขายที่ดินให้กับภาครัฐด้วยความไม่สมัครใจนั่นเอง นอกจากนี้ กรณีร้อง-เรียนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ไม่เป็นธรรม ค่าตอบแทนที่ต่ำเกินจริง ความ บกพร่องของเจ้าหน้าที่หรือความล่าช้าของทางราชการในการจ่ายค่า ทดแทนก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำ ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้จึงเป็นเรื่องท้าทายที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไข และพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่า กรณีของการเวนคืนต่างๆ ได้รับการชดใช้อย่างเป็นธรรมและเพื่อสาธารณประโยชน์โดยแท้
.
ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาเป็นเครื่องมือในการจัดหาที่ดิน ด้วยความหวังที่จะช่วยให้ราษฎรเดือดร้อนน้อยที่สุด และให้ที่ดินเป็นประโยชน์แก่ราชการและส่วนรวมอย่างเต็มที่ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการที่องค์กรรัฐจะทำการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เช่น แนวเวนคืน ที่ดิน องค์กรที่ทำหน้าที่เวนคืน อำนาจหน้าที่ของผู้ทำหน้าที่เวนคืน การจ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม โดยการพิจารณามูลค่าตามท้องตลาดของที่ดินนั้น เป็นต้น
.
แต่ถึงกระนั้น ปัญหาการเวนคืนก็ยังคงเป็นเรื่องที่ค้างคาอยู่ในสังคมเรื่อยมา การจะทำให้ราษฎรส่วนใหญ่เกิดความพอใจ หรือมีความต้องการตรงกันเกี่ยวกับการเวนคืน โดยเฉพาะเรื่องการประเมินราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการประนีประนอมจาก ทุกคนทุกฝ่าย รัฐบาลในวันนี้ควรเน้นการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเป็นหลักในการปฏิบัติ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าการเวนคืนที่ถูกต้อง พร้อมกับการปลูกจิตสำนึกในการรับ ผิดชอบต่อวิชาชีพให้เจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง ภาพลักษณ์ใหม่ในสายตาของประชาชน
.
เพื่อให้ระเบียบการเวนคืนมีความเหมาะสม เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนในเชิงปฏิบัติเพื่อการขอเวนคืน รัฐบาลควรจะใช้ยึดแนวทางเจรจาขอซื้อตามราคาตลาดมากกว่าการใช้อำนาจเวนคืน เร่งปรับปรุงนโยบายหรือวิธีการในการพิจารณาราคาที่ดินแต่ละแปลงให้มีความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยโดยรอบทั้งด้านทำเลที่ตั้ง การใช้ประโยชน์ การพัฒนาที่ดิน ด้านกฎหมาย ด้านจิตวิทยา ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ฯลฯ
.
นอกจากนี้ ควรมีการออกระเบียบหรือกฎหมายเพื่อพิทักษ์ ผลประโยชน์ของประชาชนหรือธุรกิจที่ถูกเวนคืน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองและประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือและปรับเปลี่ยนแนวทางการเวนคืนให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น

เราควรการอาศัยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยประเมินราคา โดยสร้างแบบจำลองการประเมินราคาที่ดินบนฐานข้อมูล GIS หรือเรียกว่าระบบ Interactive CAMA-GIS (Computer Assisted Mass Appraisal - Geographic Information System) เป็นระบบที่มีศักยภาพอย่างยิ่งและเป็นที่นิยมใช้กันในระดับสากล มาช่วยในการประเมินอสังหาริมทรัพย์ในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานการประเมินราคาเพื่อการเวนคืนที่เป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชน และช่วยทดแทนการเสียสิทธิในการดำรงอยู่และการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้ผู้ที่ถูกเวนคืนได้อย่างสมบูรณ์
.
แนวทางสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปอย่างราบรื่นก็คือ การสร้างเข้าใจให้ราษฎรเจ้าของที่ดินที่จะต้องใช้ตามโครงการเป็นหลัก ให้ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการเวนคืนที่ดิน สิทธิและค่าทดแทนที่ควรได้รับด้วยความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่ที่พึงปฏิบัติในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่
.
ความผาสุกจากการรู้จักแบ่งปันทรัพยากรก็จะเกิดขึ้นและสร้างสรรค์ให้สังคมเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันภาครัฐหรือ "ผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุข" ให้กับประชาชนก็ควรหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดินในฐานะประชาชนส่วนหนึ่งของสังคมด้วย มิใช่ทอดทิ้งให้รับชะตาตามยถากรรม โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การจัดหาที่อยู่อาศัย การขนย้ายทรัพย์สิน และการสนับสนุนอาชีพ เป็นต้น ช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มากที่สุดจนกว่าจะมั่นใจว่าพวกเขาได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสม และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติบนที่ดินผืนใหม่ การเกื้อกูลจากภาครัฐจะเป็นแนวทางการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในสังคมยุคใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ในส่วนราชการและเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต่างคาดหวัง
.
การเวนคืนที่ดินเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นไว้รองรับความต้องการของประชาชนส่วนรวมและความก้าวหน้าของบ้านเมืองในอนาคต ดังนั้น กลไกในการเวนคืนจึงควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรมกับทุกคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เราต้องช่วยกันประคับประคองประเทศชาติให้ก้าวหน้าบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจและความสามัคคี การเวนคืนที่ดินที่รักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมและก่อให้เกิดการเกื้อกูลกันในท้องถิ่นจึงจะถือเป็น "ชัยชนะแห่งการพัฒนา" ที่แท้จริง
.
“การเวนคืน” บนพื้นฐานความถูกต้อง
คือครรลองสานสร้างสุขทุกถิ่นฐาน
รัฐร่วมแก้ ราษฎร์ร่วมใจ ไทยสราญ
เกิดผลงานตระการค่าน่าภาคภูมิ
.
.
.
อ่านเรียงความชนะเลิศและรางวัลชมเชยทั้งหมดที่
http://www.thaiappraisal.org/Thai/Journal/PublicationB12.php
.
หรืออ่านผ่านเว็บไซต์ฟรี
http://www.thaiappraisal.org/Thai/essay/essay50.htm


หัวข้อ: Re: "เวนคืน" รวมเรียงความชนะเลิศชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
เริ่มหัวข้อโดย: login not found ที่ 02-06-2008, 10:50
ตั้งโจทย์ไว้แล้ว ให้คนแต่งนิยายเข้ามาประกวดกัน
มันก็ได้แต่บทความทำนองนี้แหละ

ดังประโยคที่ว่า
สนามบินสุวรรณภูมิ ความยิ่งใหญ่ระดับโลกและความภูมิใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน

ขอแก้ให้ถูกต้อง "สนามบินสุวรรณภูมิ โกงยิ่งใหญ่ระดับโลกและความอัปยศของคนไทยทั้งแผ่นดิน"

"เวนคืน"มันก็มีัประโยชน์มันก็มีความจำเป็นอยู่ อันนีไม่เถียง
แต่หากเวนคืนไปแล้วเป็นไปเพื่อการโกงกิน แบบสุวรรณภูมิ
ย่อมเป็นความอัปยศอับอายตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

"ดูไว้นะลูก ตรงนี้เคยเป็นที่ดินของยาย" พร้อมชี้มือไปทางสนามบินห่วยๆ ถนนปุๆ