ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: ผู้ทำลาย ที่ 22-05-2006, 05:02



หัวข้อ: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1-2-3จบ(กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: ผู้ทำลาย ที่ 22-05-2006, 05:02
(http://img67.imageshack.us/img67/7576/govno6ul.jpg) (http://imageshack.us)

ถึงเวลาแล้วครับที่เราต้องเข้าใจเรื่องการคลังของรัฐบาลกันบ้าง ไม่ใช่รัฐบาลในอดีตของคุณทักษิณเท่านั้นแต่ของทุกรัฐบาลที่รับอาสาทำงานแทนพวกเรา งานนี้สำคัญที่สุดเพราะเป็นการดูแลเงินภาษี  เงินที่รัฐได้มาจากความเหนื่อยยากของพลเมืองดีที่ยินดีเสียภาษีครับ

           ปีหนึ่งๆ รัฐฯเก็บภาษีจากประชาชนในรูปแบบต่างๆกัน ตั้งแต่การจัดเก็บแบบง่ายๆ เช่นภาษี VAT คือโดนเก็บภาษีกันหมดทุกคนไม่ว่าจะฐานะยากดีมีจนแค่ไหน จ่ายเท่าๆ กัน ปัจจุบันจ่ายร้อยละ7  หรือภาษีเฉพาะประเภท  เช่น  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ใครหาได้มาก จ่ายมาก คนไหนหาได้น้อย จ่ายน้อย (พวกหาได้มาก  แล้วเบี้ยวไม่ชอบจ่ายก็มี!)

            รัฐบาลในอดีตเก็บเงินภาษีได้ปีละหลายแสนล้าน ตอนนี้ปาเข้าไปปีละล้านล้านบาทแล้วครับ รัฐบาลบางครั้งลืมตัว  เวลาใช้เงินเพื่อการหนึ่งการใด  ขาดความระมัดระวัง  ทำเหมือนว่าเป็นเงินที่หาได้มาเอง แท้ที่จริงเป็นเงินที่ได้มาจากการเก็บภาษีจากหยาดเหงื่อของพวกเราทั้งสิ้น

             การใช้เงินภาษีที่เรียกกันว่าเงินงบประมาณ มีขบวนการตามที่กฎหมายกำหนดครับ  รัฐบาลคือผู้เสนอว่าจะใช้เงินในการพัฒนาประเทศไปในทิศทางใด  ส่วนผู้มีอำนาจอนุมัติวงเงินงบประมาณรวมทั้งรายละเอียดการใช้จ่าย คือ ส.ส.ตัวแทนของพวกเรา  ที่ท่านผู้อ่านดูทีวี เห็นนั่งหน้าสลอนในสภาละครับ 

            ทุกปีรัฐบาลจะเสนอรายการใช้จ่ายเงินในรูปแบบของกฎหมาย เรียกว่า“พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี....” ทุกๆ ปี

           หลักการจัดงบประมาณที่สำคัญคือ  รัฐบาลจะกำหนดว่าการใช้จ่ายในปีนี้  “หาได้เท่าไร  ก็จะใช้เท่านั้น”  เรียกว่า งบประมาณสมดุลหรือ “หาได้เท่านี้ ไม่พอใช้ ขอกู้เพิ่ม” เราเรียกกันว่า การจัดงบประมาณขาดดุล ใช้ได้ทั้งสองวิธีแล้วแต่ฐานะทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายการใช้จ่ายเงินในแต่ละปี

            ที่คุยกันเป็นเรื่องขำขันคือ ปีไหนรัฐบาลจัดงบประมาณแบบขาดดุล   ฝ่ายค้านจะโต้ว่าทำไมไม่จัดแบบสมดุล   และถ้าปีใดรัฐบาลจัดงบแบบสมดุล ฝ่ายค้านก็จะโวยวายว่า น่าจะจัดงบประมาณแบบขาดดุล เป็นฝ่ายค้านทำงานง่ายดีไหมครับ

            ผลจากนโยบายการจัดงบประมาณนี่แหละครับ จะเป็นตัวกำหนดว่า สถานะทางการคลังของประเทศเป็นอย่างไร

            เช่น  ถ้านโยบายการใช้จ่ายเงินงบประมาณอยู่ในรูปแบบของการขาดดุล  ต้องกู้เงินเพื่อนำมาปิดหีบงบประมาณ  หนี้ของรัฐฯก็จะเพิ่มทุกปี ในขณะที่ถ้ารัฐบาลเก็บเงินภาษีได้มาก และใช้น้อย  ใช้ไม่หมด รัฐบาลก็จะมีเงินเหลือเพิ่มทุกปี เช่นกัน

             อ่านมาถึงตอนนี้ เห็นได้ว่าเข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ต่างจากการคลังในกระเป๋าของท่านผู้อ่านเท่าไรใช่ไหมครับ

             ที่ยุ่งยากขึ้นมาอีกนิดหนึ่งคือ   การคลังของรัฐบาลนั้นไม่ได้มีเฉพาะเงินที่เข้าออกในระบบงบประมาณเท่านั้น มีเงินที่อยู่นอกระบบด้วย เราเรียกกันว่าเงินนอกงบประมาณ

             ผมไม่ทราบว่าเรื่องของเงินนอกงบประมาณนี้เกิดขึ้นเมื่อไร คิดในใจว่าจะไปค้นดูซักทีแต่ก็หาเวลายังไม่ได้   เอาเป็นว่าถ้าเป็นเงินในงบประมาณ  ส.ส.คือ ตัวแทนของพวกเรามีส่วนรับรู้ แต่ถ้าเป็นเงินนอกงบประมาณ  จะกลายเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร แปลว่ารัฐบาลมีอำนาจในการใช้จ่ายเงินได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ  ฟังดูแล้ว  ระบบนอกงบประมาณนี่ไม่ค่อยจะดีใช่ไหมครับ

               พิจารณาได้จากตัวอย่างแบบนี้  กองสลากขายหวยบนดิน รายได้จากการขายหวยหักลบรายจ่ายค่ารางวัล เป็นกำไร  รัฐบาลจัดชั้นกำไรประเภทนี้  โดยกำหนดว่าไม่ต้องส่งเงินเข้าคลัง   กลายเป็นเงินนอกงบประมาณ  รัฐบาลใช้ได้เต็มที่  มั่วแบบที่เห็นกันอยู่  เรื่องนี้ต้องคุยกันอีกมาก  พอดีวันนี้ไม่ใช่เรื่องของงบประมาณ   ผมต้องขออนุญาตข้ามไปก่อน

             อ่านต่อครับ  เงินนอกงบประมาณและเงินในงบประมาณเขานำมาปนกันครับ รวมกันในรูปแบบเฉพาะของเงินสดเท่านั้น  ไม่ใช่ระบบบัญชี ดังนั้นสถานะทางการคลังของประเทศนอกจากจะพูดถึงผลของการรับเงินหรือจ่ายเงินในงบประมาณแล้ว    ยังมีผลของการรับเงินหรือจ่ายเงินของเงินนอกงบประมาณมารวมด้วยอีกต่างหาก  เงินคงคลังจะเป็นตัวดำหรือตัวแดง  ต้องรวมทั้งสองส่วนคือ ส่วนของในงบประมาณและส่วนของนอกงบประมาณด้วย  ตัวดำไม่เป็นปัญหา แปลว่า มีเงินเหลือเวลาตัวแดง แปลว่า "เงินหมด ไม่มีจ่าย"  เรียกว่า   ถังแตกครับ   (  มีต่อ  )


กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
www.korbsak.com (http://www.korbsak.com)


หัวข้อ: Re: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1 (กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: RiDKuN ที่ 22-05-2006, 08:44
ผมชอบบทความที่คุณกอร์ปศักดิ์เขียน เพราะเขียนได้ชัดเจนและเข้าใจง่ายดีครับ


หัวข้อ: Re: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1 (กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: Killer ที่ 22-05-2006, 09:21
คร่อกกกก.........ฟี๊...ส์..ส์.........


หัวข้อ: Re: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1 (กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: 55555 ที่ 22-05-2006, 10:26
ไม่นานเกินรอหรอกครับ..........เด๋ว มันก็มาบี้เอากับกระเป๋าแห้งๆของประชาชนอีก


หัวข้อ: Re: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1-2 (กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: ผู้ทำลาย ที่ 25-05-2006, 14:51

(http://img81.imageshack.us/img81/9809/govno18hx.jpg) (http://imageshack.us)
วันที่ :23 พฤษภาคม 2549

สองสามเดือนที่ผ่านมา คนนินทารัฐบาลรักษาการของคุณทักษิณกันมาก  ลือกันให้แซดว่ารัฐบาลถังแตก เพราะเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง ก็ไม่จ่าย ครบกำหนดงวดเงินที่ต้องจ่ายผู้รับเหมา ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ รอกันนานเป็นเดือน บางราย 3-4 เดือนแล้ว ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะดีขึ้น

ถ้าใช้นิยามคำว่ารัฐบาลถังแตก  แบบที่ผมเล่าให้ฟังเมื่อวันก่อน แปลความได้ว่าตอนนี้เงินคงคลังเป็นตัวแดง เงินไม่มี เงินหมด รายได้ ไม่ทันรายจ่าย แถมไม่ได้เตรียมกู้ไว้ล่วงหน้า บริหารเงินสดหมุนเวียนไม่เป็น  ไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายแบบมืออาชีพ ใครที่ไม่ชอบรัฐบาลอยู่แล้วก็จะโวยวายเลยว่ารัฐมนตรีคลังไม่เป็นสัปปะรด รายได้จากการจัดเก็บภาษีมีมากกว่ารายจ่ายอยู่แล้ว ปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  นินทากันหูอื้อละครับ

แล้วความจริงเป็นอย่างไร ?

ต้องดูกันที่ตัวเลข มีไม่กี่รายการหรอกครับ ต้องเริ่มต้นที่วันแรกที่คุณทักษิณรับอาสาบริหารประเทศกันเลย  แล้วไล่กันไปทีละปีก็จะเข้าใจครับ

รัฐบาลคุณทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่ได้มีโอกาสรับผิดชอบจัดงบประมาณแผ่นดิน ติดต่อกันถึง 5 ปี คือปีงบประมาณ 2545 – 2549 และในระหว่างปีงบประมาณ ตลอดระยะเวลา 5 ปีนั้น  ยังมีการจัดงบประมาณกลางปีถึง 2 ครั้ง คือในปี 2548 และปี 2549

ที่ผมกล่าวมาตั้งแต่แรกว่า เงินคงคลังคือตัวชี้วัดว่ารัฐบาลถังแตกหรือไม่เพราะเงินคงคลังแท้ที่จริงก็เปรียบได้ว่าเป็นเงินออมของประเทศนั่นเอง ว่าตามหลักทฤษฏีนะ ปฏิบัติจริงไม่ใช่

เมื่อจะวิเคราะห์ว่ารัฐบาลมีเงินสำหรับใช้จ่ายจริงหรือไม่  ต้องดูกันที่เงินคงคลัง

สิ้นปีงบประมาณ 2544 มีเงินคงคลังจ่ายในมือที่  76,402 ล้านบาทครับ

การจัดงบประมาณ 3 ปีแรกของรัฐบาลคุณทักษิณ เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลตลอดทั้ง 3 ปี   แปลว่าเก็บภาษีได้เท่าไหร่ไม่เคยพอใช้ต้องกู้ทุกปี

สิ้นปีงบประมาณ 2547 มีเงินคงคลังอยู่ในมือที่ 153,242 ล้านบาท

งงไหมครับ?    ถ้าต้นปี 2544 มีเงินในกระเป๋า 76,402 ล้านบาท 3 ปีให้หลังเงินออมเพิ่มเป็น 153,242 ล้านบาท เป็นไปได้อย่างไร เพราะตลอด 3 ปีไม่เคยมีเงินเหลือใช้ในแต่ละปีเพราะต้องกู้เพิ่มทุกปี

ตรงนี้แหละครับคือปัญหา เพราะเงินคงคลังที่ว่าเป็นเงินออม  ตามทฤษฎีนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่ ในการปฏิบัติเป็นเพียงเงินในกระเป๋าคงค้างอยู่เท่านั้น เวลารัฐไปกู้เงินมามาก ๆ แล้วใช้ไม่ทัน เงินเหลือ ก็กองไว้ตรงนี้แหละครับนำเงินกู้มาเป็นเงินคงคลัง   

แสดงว่าตัวเลขเงินคงคลังแท้จริงมีการบิดเบือนใช่หรือไม่? ถูกต้องที่สุดครับ

แล้วในระบบของเรา จะมีทางรู้หรือไม่ว่าเงินคงคลังหรือเงินออมมีเหลือจริง  มีเท่าใด ใครตอบได้  บอกได้เลยว่า ตรงนี้ไม่มีคำตอบ

ดูต่ออีกนิดหนึ่งครับ  คือปี 2548 และปี 2549 ทั้งสองปีงบประมาณ  น่าสนใจ  เนื่องจากรัฐบาลจัดงบประมาณแบบสมดุลไม่มีการกู้

สิ้นปีงบประมาณ 2549 คาดว่าจะมีเงินคงคลังเหลือประมาณ 100,000 ล้านบาท

แปลกดี  สองปีหลังรัฐบาลไม่ต้องกู้เพิ่มเพราะเก็บเงินภาษีได้มาก แต่เงินคงคลังอาจหายไปถึง 50,000 ล้านบาท (อย่าลืมว่า สิ้นปี 2547 มีเงินคงคลัง  153,242 ล้านบาท )

แต่อย่างน้อยอ่านได้ว่า ปี 2549  ไม่น่ามีปัญหาว่ารัฐบาลถังแตก เพราะเงินคงคลังยังเป็นตัวดำ  ใช่หรือไม่?

ถูกแต่ไม่ทั้งหมด  เพราะปรากฏว่าช่วงต้นปีรายได้จากการเก็บภาษี เข้าช้า ขณะที่รัฐบาลเร่งรัดการจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น    พูดง่าย ๆ ทำโครงการเร็วขึ้น เบิกเงินเร็วขึ้น ทำให้รัฐบาลหมุนเงินไม่ทัน

ฟังดูแล้วรัฐบาลคงจะไม่ถังแตกตามที่นินทากัน เพียงแต่บกพร่อง ไม่วางแผนการใช้จ่ายเงินแบบนักบริหารที่ดี  ปัญหาทั้งหมด ถึงวันนี้ คงจะหมดไปแล้ว

อาจใช่ครับ แต่ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจจะเล่าให้ฟังต่ออีกใน 2-3 วันนี้ครับ.

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
www.korbsak.com


หัวข้อ: Re: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1-2 (กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: Killer ที่ 25-05-2006, 15:24
รอผู้รู้มาตอบ....ดีกว่า ว่าไอ้หมอนี่มั่วยังไงมั่ง

แต่เท่าที่พอจะทราบ  งบประมาณในแต่ละปี 
ถ้าเข้าใจคำว่า "ประมาณ" ก็ไม่น่าจะโง่ที่จะเข้าใจ
เหมือนกับบริษัททั่วไป ที่ผู้บริหารจะจัดทำงบประมาณการในแต่ละปี
อาจจะหลุดไปจากนี้บ้างก็เป็นไปได้ ถ้าทำได้ใกล้เคียงหรือว่าเป๊ะเลยก็ถือว่าฝีมือ
แต่ของจริงอยู่ที่ งบกระแสเงินสด


หัวข้อ: Re: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1-2-3จบ(กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: ผู้ทำลาย ที่ 26-05-2006, 13:04

(http://img129.imageshack.us/img129/4303/govno39xv.jpg) (http://imageshack.us)

ก่อนจะถึงเนื้อหา ลองนึกภาพเงินในธนาคารของท่านตอนสิ้นปี สมมุติกันว่า  ณ สิ้นปี 2544  ท่านมีเงินออมในธนาคารจำนวน 1,000,000 บาทท่านได้ประมาณไว้ว่าปีหน้า คือปี 2545 ท่านน่าจะมีรายได้ทั้งปีประมาณ 1 ล้านบาท และคำนวณแล้วว่าอาจจะใช้เงินตลอดปีประมาณ 1.2 ล้าน มากกว่าที่หาได้ประมาณ 200,000 บาท

คิดแล้วท่านมีทางแก้ปัญหา 2 ทางคือ

1.  กู้เงินจากเพื่อน   200,000 บาท จะได้พอกับรายจ่าย    หรือ

2.  นำเงินออมที่เก็บไว้มาใช้  200,000 บาท

ถ้าท่านเลือกวิธีที่ 1  เงินออม ณ สิ้นปี 2545 จะเหลือเท่าเดิมคือ 1,000,000 บาท แต่ท่านจะมีภาระเป็นหนี้  200,000 บาท       

ถ้าท่านเลือกวิธีที่ 2 เงินออมของท่านก็จะเหลือเพียง 800,000 บาท  แต่ไม่เป็นหนี้ใคร วิธีนี้ดีสุด เพราะเป็นการประหยัดค่าดอกเบี้ย ทุกคนใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น  ความจริงแล้ว  เงินออมของพวกเรามักเป็นของแท้  เหลือจากใช้จ่ายเท่าไหร่ก็จะฝากประจำเก็บไว้ เงินขาดมือถึงจะเบิกมาใช้

เงินคงคลังของรัฐบาลก็ไม่ต่างกันครับ เพียงแต่ว่า  เงินของรัฐมีปีงบประมาณเป็นหลักในการคิด เงินคงคลังที่ถือว่าเป็นเงินออม อาจไม่ใช่เงินออมเสมอไป เพราะมีค่าใช้จ่ายค้างข้ามปี เงินออมของท่านผู้อ่านคือเงินออมที่แท้จริงไม่มีเวลาเป็นตัวกำหนดไม่มีค่าใช้จ่ายข้ามปี  ตั่งค้างรอเบิก

            ผมได้เรียนแล้วว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2544 มีเงินคงคลัง 76,402 ล้านบาท  ไม่ใช่เป็นเงินออมทั้งหมด เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้จ่ายอีกเป็นจำนวนมากของปีก่อนๆ ภาษาราชการเขาเรียก ค่าใช้จ่ายเหลื่อมปีครับ รัฐบาลเมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่าเงินภาษีที่เก็บได้ ไม่มีสิทธิเลือกวิธีใด เงินขาดเท่าไหร่  จะต้องขอวงเงินกู้เท่านั้น รัฐบาลอาจไม่กู้ทั้งหมดก็ได้ เพราะในระหว่างปีงบประมาณ รัฐบาลอาจมีรายได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้กู้ไปเงินอาจจะเหลือ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องกู้ให้ครบทั้งจำนวน  เสียดอกเบี้ยฟรีไปทำไม   

            ขณะเดียวกัน   รายจ่ายของรัฐบาลก็ไม่แน่นอน   เพราะบางครั้งทำตัวเลขตกหล่น หรือไม่คาดว่าจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้วิธีที่สองคือ นำเงินคงคลังมาใช้ก่อน การบริหารเงินสดของรัฐบาลจึงยุ่งยาก ซับซ้อน ทำได้ดีหรือไม่ขึ้นโดยตรงกับความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลครับ       

3 ปีแรกของรัฐบาลคุณทักษิณ    ตั้งงบประมาณขาดดุล  และต้องกู้เงินทั้ง 3 ปี ประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า งบกลาง ครับ งบกลางตั้งไว้สูงมากทุกๆปี  ทำให้รัฐบาลต้องตั้งวงเงินกู้เพื่อปิดหีบงบประมาณจำนวนมากทั้งสามปี

งบกลางถูกวิจารณ์มากว่าเป็นการจัดงบประมาณที่ผิดวินัยทางการคลังอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการขอใช้เงินโดยไม่มีโครงการหรือแผนงานรองรับ  มีแต่วงเงินเท่านั้น  พอถึงเวลาใช้เงินจริง จึงไม่มีปัญญาใช้ให้ทันในปีงบประมาณนั้นๆ ก็ไม่มีแผนงานรองรับนี่ครับ เป็นการใช้เงินแบบมั่วๆ จึงใช้ไม่ทัน ต้องกันวงเงินเผื่อไว้ข้ามปี  ไม่ใช่ปีเดียว  2-3 ปีก็มี

                นี่แหละครับ ที่ทำให้เงินคงคลังมีจำนวนสูงขึ้นในช่วง 3 ปีแรก เพราะหน่วยราชการใช้เงินไม่ทัน

                หลังจาก 3 ปี แรกแล้วเกิดอะไรขึ้นครับ             

                ปลายปีที่ 3 และต้นปีที่ 4 ปรากฏว่างบกลางที่เตรียมไว้เมื่อปีที่ 1 เพิ่งจะมาเบิกกันครับ ทำให้เงินคงคลังที่มีเหลืออยู่ไม่พอจ่าย เกิดเป็นตัวแดงขึ้น

              ที่กล่าวมานี้เป็นปัญหาแรก ที่ไม่ได้เตรียมแผนไว้รองรับ

                ปัญหาที่สองครับ

                ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการจัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ยอมรับความจริง ตัวอย่างเช่น ปีนี้ต้องใช้หนี้ 80,000 ล้านบาท     สำนักงบประมาณก็จะจัดงบประมาณไว้ให้เพียง 60,000 ล้าน เวลาเบิกเงิน สำนักงบประมาณอนุมัติให้เบิกตามจริง   โดยนำเงินคงคลังมาให้ก่อน กฎหมายย่อมให้ทำได้   ใช้เงินในส่วนที่เรียกว่าเงินนอกงบประมาณ  ทำให้เงินนอกงบประมาณกลายเป็นตัวแดง  สำนักงบประมาณใช้วิธีนี้มาโดยตลอด

                ทำไมทำกันอย่างนี้ เอาใจนายไงครับ ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ต่ำกว่าความเป็นจริง พอนำตัวเลขค่าใช้จ่ายมาเปรียบกับรายได้จากการเก็บภาษี ตัวเลขดูสวยขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายต่ำ ทำให้จัดงบประมาณสมดุลง่าย   รัฐบาลคุยโวได้ว่าเก่ง   โกยคะแนนเสียงทางการเมืองเป็นกอบเป็นกำ

ถ้าไม่เชื่อผม ดูตัวเลขซิครับ  ว่ามีการเบิกเงินคงคลังไปใช้กันเท่าใดในแต่ละปี 

                                                  ปี            จำนวนเงิน(ล้านบาท)  
                                                2545            13,204 
                                                2546            41,344
                                                2547            88,786
                                                2548            37,087 

              รวมเงินจ่ายจากเงินคงคลัง180,421 ล้านบาท พรบ.เงินคงคลังมาตรา 7 (1) อนุญาตอยู่แล้ว  วิธีการงบประมาณระบุว่า ถ้ามีการนำเงินคงคลังมาใช้ในปีใด  ต้องจัดงบจ่ายคืนในปีถัดไป  ทราบว่ามีการจัดงบประมาณเพื่อใช้คืนในปีถัดไปจริง แต่เม็ดเงินไม่เคยนำส่ง  จริงหรือไม่ต้องรอฟังสำนักงบประมาณชี้แจง         


กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
www.korbsak.com


หัวข้อ: Re: รัฐบาลถังแตก !! ภาค1-2-3จบ(กอร์ปศักดิ์ เล่าให้ฟัง)
เริ่มหัวข้อโดย: ผู้ทำลาย ที่ 26-05-2006, 13:07
          ปัญหาที่สามครับ เมื่อรัฐบาลมีการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินในแต่ละโครงการ  ทำให้การเบิกจ่ายมีประสิทธิภาพ  เป็นสิ่งที่ดีครับ  แต่กลายว่ามากระทบเงินคงคลัง  ที่มีไว้ไม่มากพอ  เห็นได้ชัดเจนว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลคุณทักษิณไม่เข้าใจคำว่าวินัยทางการคลัง การตั้งงบประมาณที่เรียกว่างบกลาง แล้วนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองโดยไร้แผนงาน นอกจากจะเป็นการใช้เงินภาษีแบบไม่โปร่งใสแล้ว ยังทำให้การบริหารเงินสดเกิดปัญหา    เช่นเวลามีเงินสดมากในปีแรกๆ  ขอวงเงินกู้ไว้ แต่กู้ไม่ครบเพราะโครงการที่ใช้งบกลางยังไม่ได้เริ่ม ทำอย่างนี้ติดต่อกัน 3 ปีพอเริ่มต้องใช้เงินในปีที่ 4 จึงเกิดปัญหา  นี่ถ้าเป็นภาคเอกชน  ป่านนี้  ซีอีโอฝ่ายการเงิน ( CFO ) ถูกไล่ให้ไปขายหวยบนดินแล้ว

               แล้วสมัยก่อนนี้เขาทำกันอย่างไร?                

               ลองไปดูรัฐบาลช่วงปี 2532 - 2539 กันครับ เงินคงคลังแข็งปึก  เรียกได้ว่าเป็นเงินออมจำนวนสูงทีเดียว จัดงบประมาณสมดุลเกือบทุกปี   หาได้เท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น  ไม่มีการกู้เงินเพิ่ม ไม่มีการตั้งงบประมาณกลางปีเพื่อถลุงใช้เงินเกินความจำเป็น   ตัวเลขเงินคงคลังของแต่ละปีเป็นอย่างนี้

                                                   ปีงบประมาณ                  เงินคงคลัง(ล้านบาท)           
                                                      2532                                 21,320
                                                      2533                                 61,015
                                                      2534                                132,679
                                                      2535                                183,299
                                                      2536                                226,895
                                                      2537                                231,977
                                                      2538                                237,977
                                                      2539                                319,915  


             เงินคงคลังจากที่มีเพียง 21,320 ล้านบาท    เพิ่มเป็น 319,915 ล้านบาท              

               อย่างนี้ครับ  เขาเรียกว่าเงินคงคลังที่เป็นเงินออมอย่างแท้จริง  รัฐบาลสมัยก่อนจะดีชั่วอย่างไรก็แล้วแต่จะคิดกัน อย่างน้อยไม่เคยมีรัฐบาลไหนถลุงเงินภาษีของประชาชนอย่างเมามัน  ที่ซ้ำร้าย ยังใช้ระบบการตลาด โฆษณาหาคะแนนนิยมว่าเก่งกาจทางด้านเศรษฐกิจอีกต่างหาก

               แต่ทุกอย่างก็หมดสิ้นเพราะวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2539 เงินคงคลังล่าสุดเกือบ 4 แสนล้านบาทด้องนำมาใช้จนหมด เราไม่ต้องโทษว่าเป็นความผิดของใคร  แต่ต้องคิดว่า ยังโชคดีที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้อุตส่าห์มีเงินออมสะสมไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นก็คงแย่กว่านี้

                ถึงวันนี้ เป็นอย่างไรครับ

เงินออมของประเทศนะไม่มีหรอก  เพราะช่วงที่เวลารัฐบาลเก็บภาษีได้มากกว่าที่ประมาณการ  มีเงินเหลือ  แทนที่จะเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต  ก็ไปตั้งงบประมาณกลางปี ถึงสองปีซ้อน ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ตอนนี้เงินออมของประเทศไม่มีครับเพราะฉะนั้นเลิกคุยเสียทีว่าบริหารเก่ง เศรษฐกิจแข็งปึก

                สรุปว่ารัฐบาลยังไม่ถึงกับถังแตกครับ แต่มีปัญหา ขาดวินัยทางการคลังไม่มีวินัยในการใช้เงินภาษีของประชาชน ทำให้บริหารเงินสดผิดพลาด

เป็นบทเรียนสำคัญที่รัฐบาลจากนี้ไป  ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม  จะต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์คือเงินจากหยาดเหงื่อของประชาชน  ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินมาใช้ในการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับตัวเองหรือพวกพ้องอย่างเด็ดขาด  ต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อประโยชน์สูงสุดกับเจ้าของเงินครับ

ขอบคุณท่านผู้อ่าน ที่ได้ติดตามและทนอ่านมาได้จนถึงวันนี้

 เก็บไว้ในใจมันกลุ้ม  หาที่ระบายหน่อยครับ  

ถ้าท่านต้องการทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงบกลางของคุณทักษิณ  

คลิกได้ที่ : ข้อมูล : กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง  (http://www.korbsak.com/ebook/bugget_gov.pdf)

ข้อมูล :กรมบัญชีกลาง
         กระทรวงการคลัง

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
www.korbsak.com