ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => ชายคาพักใจ => ข้อความที่เริ่มโดย: วิหค อัสนี ที่ 01-03-2008, 00:59



หัวข้อ: ก้าวกระโดดแห่งศรัทธา (Leap of faith)
เริ่มหัวข้อโดย: วิหค อัสนี ที่ 01-03-2008, 00:59
ก้าวกระโดดแห่งศรัทธา
(Leap of Faith)



ปีอธิกสุรทิน

คือปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์

ในทุกๆ 4 ปี จะมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์เพิ่มเข้ามาในปฏิทิน 1 ครั้ง

วันนี้ ข้าพเจ้าร่อนเร่พเนจรไปในยุทธภพโลกไซเบอร์ ได้พบเข้ากับไดอารี่อันหนึ่ง ซึ่งเจ้าของแปะเพลง "เราจะข้ามเวลามาพบกัน" ไว้ แล้วเขียนเปรียบเปรยถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ว่าเป็นเสมือนรอยต่อของกาลเวลา ที่อาจชักนำมาซึ่งปาฏิหาริย์ คือคนคนนั้นที่เฝ้ารอ...

ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจ ที่จะเขียนบันทึกนี้ขึ้นมา

ทำไมต้องมีวันนี้เล่า?
ก็เพราะวงรอบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ใน 1 ปี กับวงรอบการหมุนของโลกใน 1 วัน มันไม่ทบทับลงตัวพอดีกันนั่นเอง
เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองไปครบ 365 รอบพอดี โลกจะยังโคจรกลับมาไม่ตรงตำแหน่งเดิมบนเส้นทางรอบดวงอาทิตย์
ทุก 4 ปี จึงต้องมี "ส่วนเกิน" 1 วันนี้เพิ่มเข้ามาในปฏิทิน เพื่อให้ปฏิทินที่กำหนดกิจกรรมของมนุษย์ ไล่ตามติดวงรอบของดวงอาทิตย์ที่กำหนดฤดูกาลของโลกได้

แต่แล้วระบบการชดเชยวงรอบที่ซ้อนวงรอบนี้ ก็ยังมีความลักลั่นซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง
เพราะตามปฏิทินสากลระบบเกรกอเรียน ถือว่าทุก 100 ปี คือ 25 ครั้งของปีอธิกสุรทิน จะต้องงดอธิกสุรทินไป 1 ครั้ง ยกเว้นทุกปีที่ 400 จะกลับเป็นอธิกสุรธินเหมือนเดิม
แม้กระนั้นก็ยังจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปได้ประมาณ 1 วัน ทุกๆ 3,236 ปี

ที่จริงแล้วใน 1 ปี โลกจะเดินทางรอบดวงอาทิตย์ครบรอบพอดีในเวลาประมาณ 365.2422 วัน
และเชื่อได้เลยว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในจักรวาล กับตัวเลขส่วนเกินส่วนขาดดังกล่าว มันคงยังไม่พอดีให้เราวัดได้ขนาดนั้น และคงไม่เที่ยงตรงอย่างนั้นไปตราบนิรันดร์กาล
ยังไม่นับว่าแม้โลกและดวงอาทิตย์เอง ก็ยังเป็นเสมือนธุลีที่ถูกพัดให้ลอยเคลื่อนไปตามกระแสในห้วงมหรรณพอันยิ่งใหญ่และลึกล้ำสุดประมาณได้


เลขเศษส่วน กับจำนวนอตรรกยะ...เลข 365 พอดี กับเลข 365 เศษกว่าๆ ...ชีวิตและมุมมองที่เรียบง่ายในวัยเด็ก กับโลกที่ซับซ้อนขึ้นของผู้ใหญ่...

จะอย่างไรก็ตาม สำหรับมนุษย์เดินดินเช่นเราๆ ก็คงกล่าวได้ว่า...

โลกและจักรวาลโดยส่วนมากนั้น ก็ไม่มีอะไรพอดี ไม่มีอะไรบรรจบลงสลักสอดรับกันอย่างสมบูรณ์
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็มองได้ว่าเป็นไปเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซากที่สมบูรณ์เช่นกัน


หรือความไม่พอดีนี้ จะเป็นไปเพื่อเปิดแง้มช่องว่างในห้วงกาลเวลา เพื่อให้ความรัก ความหวัง หรืออะไรก็ตาม เล็ดลอดผ่านล้อเฟืองแห่ง "ชะตากรรม" เข้าไปหาผู้รอคอยได้จริงๆ กันนะ?

และปีอธิกสุรทิน ก็เป็นความพยายามหนึ่งของมนุษย์ - สิ่งมีชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ ที่จะคิดสรรหาเครื่องมือมาเพื่อปรับจังหวะเวลาของตน ให้สอดคล้องกับจังหวะเวลาของโลกเบี้ยวๆ ที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้นี้
สิ่งที่ดูคล้ายเป็นส่วนเกิน กลับสามารถช่วยเติมเต็มความคลาดเคลื่อนและช่องว่างที่จะทำให้ค่อยๆ ห่างกันออกไปได้...

ด้วยความศรัทธา ที่เชื่อว่าแม้ในกระแสแห่งความไม่แน่นอนทั้งหมด ก็ยังต้องมีร่มเงาให้พอได้อาศัย
จนกว่าจะได้พบกับสิ่งที่ตนเองพึงแสวงหา
แม้อาจไม่มีความแน่นอนแท้จริง ว่าสิ่งนั้นคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหน และจะพบเมื่อไหร่...ก็ตามที


Qua'Os

29 กุมภาพันธ์ 2551