ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Can ไทเมือง ที่ 20-11-2007, 12:24



หัวข้อ: โพลเนชั่นครั้งที่ 1 ออกแนวประชดหรือเปล่า
เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 20-11-2007, 12:24
เนชั่นวิเคราะห์เจาะสนามเลือกตั้ง 50 / ครั้งที่ 1 

19 พฤศจิกายน 2550 

เนชั่นวิเคราะห์เจาะสนาม เป็นการประเมินผู้สมัคร ส.ส.ที่น่าจะได้รับเลือกตั้ง 480 คน โดยอาศัยฐานข้อมูล ทั้งฐานข้อมูลอดีต ปัจจุบัน และปัจจัยแปรผันทางการเมืองและด้านต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ศูนย์ข่าวภูมิภาค, ศูนย์ข้อมูลเลือกตั้ง, โต๊ะข่าวทุกสื่อ ของเครือเนชั่น ร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกแต่ละเขตเลือกตั้ง เพื่อประเมิน ผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขต และ ส.ส.สัดส่วน ที่มีโอกาสจะได้รับการเลือกตั้งในรอบสัปดาห์

เนชั่นวิเคราะห์เจาะสนาม จะทำการประเมินผลแบบเจาะลึกทุกสัปดาห์ และนำเสนอทางสื่อเครือเนชั่นและพันธมิตรทุกวันจันทร์ ไม่ว่าจะเป็น เดอะเนชั่น/ คมชัดลึก/ กรุงเทพธุรกิจ/ เนชั่นแชนแนล/ เนชั่นเรดิโอ/ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ โดยเริ่มครั้งแรก จันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2550 และสามารถติดตาม เนชั่นวิเคราะห์เจาะสนาม ทางสื่อเครือเนชั่น ทุกวันจันทร์


เนชั่นวิเคราะห์เจาะสนาม ครั้งที่ 1 (ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.สัดส่วน 80 คน)


พรรค กทม. กลาง เหนือ อีสาน ใต้ รวม ส.ส.เขต รวม ส.ส.สัดส่วน รวม

พปช. 14 35 42 65 1 157 33 190

ปชป. 18 23 8 4 51 104 24 128

พผ. 1 2 2 32 2 39 6 45

ชท. 2 27 9 13 2 53 10 63

มฌ. 1 5 8 4 - 18 4 22

รช. - - 6 14 - 20 3 23

ป.ช.ร. - 6 - 3 - 9 - 9

จำนวน 36 98 75 135 56 400 80 480


เนชั่นวิเคราะห์เจาะสนาม ครั้งที่ 1 (ส.ส.สัดส่วน 80 คน)

กลุ่มจังหวัด 8 โซน พปช. ปชป. ชท. รช. พผ. มฌ.

กลุ่ม 1 6 2 1 - - 1

กลุ่ม 2 6 1 1 1 1 -

กลุ่ม 3 6 1 1 - 2 -

กลุ่ม 4 6 1 1 - 1 1

กลุ่ม 5 2 2 2 2 1 1

กลุ่ม 6 3 6 1 - - -

กลุ่ม 7 3 3 3 - - 1

กลุ่ม 8 1 8 - - 1 -

รวม 8 กลุ่ม 33 24 10 3 6 4

หมายเหตุ.. ประชาธิปัตย์ (ปชป.) / พรรคพลังประชาชน (พปช.) / พรรคชาติไทย (ชท.) / พรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) / มัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) /พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) / พรรคประชาราช (ป.ช.ร.)


บทวิเคราะห์เนชั่นวิเคราะห์เจาะสนาม


ภาพรวมทั้งประเทศของการวิเคราะห์เจาะลึกสนามเลือกตั้งสัปดาห์แรกอันเป็นการปฐมฤกษ์ พลังประชาชน ยังนำมาเป็นอับดับหนึ่งที่ 190 ที่นั่ง โดยครองที่นั่งในทุกภาค ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ที่ตามหลังประชาธิปัตย์ และในภาคใต้ เหลือที่นั่งเดียวคือ นายเด่น โต๊ะมีนา เขต 1นราธิวาส ซึ่งอาจสวนทางกับตัวเลขที่ทางพลังประชาชนประเมินตัวแองว่าจะได้ 250 ที่นั่ง


มองดูแม้เป็นตัวเลขที่สูง แต่ถ้าเปรียบเทียบเลือกตั้งปี 2548 ที่ไทยรักไทยเคยได้ 377 ที่นั่ง ก็ถือว่าลดลงครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัด ถูกพรรคเกิดใหม่ที่แยกตัวมาจากไทยรักไทยสอยไปได้ในหลายจังหวัด แต่โดยภาพรวมพลังประชาชนยังรักษาฐานที่มั่นในอีสานและภาคเหนือไว้ได้พอสมควร


ประชาธิปัตย์ 128 ที่นั่ง แน่นอนพื้นที่ภาคใต้ ส.ส.เขต 56 คน และ ส.ส.สัดส่วนในโซน 8 ถือว่าประชาธิปัตย์ เกือบจะปิดประตูได้ทั้งภาคใต้ หากเปรียบเทียบเลือกตั้งปี 2548 ที่ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ทั้งหมด 96 คน โดย กทม.เหลือ 4 อีสานมีแค่ 2 ภาคเหนือได้ 5 ส่วนภาคกลางได้ 7 ตัวเลขที่ปรากฏสัปดาห์แรกขชองการประเมิน ต้องถือว่า “มีแวว” ซึ่งในหลายพื้นที่โดยเฉพาะใน กทม. และจังหวัดทางภาคเหนือ ผู้สมัครประชาธิปัตย์ หลายเขตไล่จี้ติดผู้สมัครพลังประชาชนแบบหายใจรดต้นคอ


ชาติไทย ตัวเลขออกมาที่ 63 ที่นั่ง เหมือนปาฎิหาริย์ แต่ต้องยอมรับว่า ผู้สมัครของชาติไทยเที่ยวนี้ในทุกพื้นที่อยู่ในระดับ เกรดเอบวก ซึ่ง ป๋าเติ้ง ถ่อมตนว่าเลือกตั้งเที่ยวนี้ขอแค่ 40 เลือกตั้งเที่ยวนี้พรรคชาติไทยใช้ยุทธการ “ปืนเล็กยาว” ซึ่งมีความแม่นยำกว่า..คือโป้งเดียวจอด ไม่สะเปะสะปะ และคราวนี้ไม่ต้องกลัว “ฝนตกห่าใหญ่” เพราะคนทำฝนห่าใหญ่ลบไปอยู่เมืองนอก


สำหรับพรรคเกิดใหม่อย่าง เพื่อแผ่นดิน ก็มีฐานหนาแน่นในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานตอนบน ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ตัวเลขยังน้อยอยู่ อาจเป็นเพราะสัปดาห์แรก เครื่องยังไม่ร้อน ต้องรอสัปดาห์สองสัปดาห์ที่สาม ส่วนพรรคมัชฌิมาฯ ก็เช่นเดียวกัน เวลาน้อยต้องเร่งซอยให้ถี่


และ รวมใจไทยชาติพัฒนา ต้องยอมรับว่า ได้น้ำได้เนื้อที่ นครราชสีมา ซึ่ง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำที่ยืนเป็นเงาอยู่เบื้องหลัง บอกว่า โคราชคือเมืองหลวงรวมใจไทยฯ ส่วนในภาคกลางอื่นๆ อาจเป็นเพราะว่าออกตัวช้ากว่าเพื่อน จึงต้องเร่งความเร็วในช่วงสี่สัปดาห์สุดท้าย เผื่อตัวเลขจะกระเตื้องขึ้น


สำหรับ พรรคประชาราช ตัวเลขประเมินสัปดาห์แรกต้องบอกว่า เกินความคาดหมาย เพราะได้ถึง 9 ที่นั่ง


อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ตัวเลขผลประเมินที่ปรากฏ “ไม่ใช่ตัวเลขคงที่ตายตัวไปถึงวันเลือกตั้ง” เพราะการวิเคราะห์และประเมินผล ได้ดำเนินการหลังทุกพรรคส่งสมาชิกลงสมัครครบทุกพื้นที่ และเป็นการประเมินช่วงสัปดาห์แรก (ครั้งที่ 1)

ดังนั้น คะแนนเสียงของแต่ละพรรค ในสัปดาห์ต่อๆ ไป อาจแปรผันไปตามเหตุและปัจจัย..


กรุงเทพมหานคร ส.ส. 36 คน


สนามกรุงเทพมหานคร 12 เขต ส.ส. 36 คน ดูจะเป็นสมรภูมิการเลือกตั้งที่ถูกจับตายิ่ง ไม่เพียงแค่เป็นจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดถึง 36 คนเท่านั้น แต่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่ประกอบไปด้วยศูนย์กลางในทุกๆ ด้าน แหล่งรวมปัญญาชน ส่งผลให้วัฒนธรรมเมืองกรุงแตกต่างจากจังหวัดต่างๆ ที่อาจจะพูดได้เต็มปากว่า เงินไม่สามารถซื้อได้ก็มิปานดังนั้นกระแสพรรคจึงเป็นดรรชนีสำคัญชี้วัดความต้องการทางการเมืองของคนเมืองหลวงที่เราๆ ท่านๆ มักพูดติดปากว่า "กระสุน” หรือจะสู้ “กระแส”


แต่ ณ สัปดาห์แรกหลังการสมัคร ต้องยอมรับว่า กระแสพรรค ไม่ว่ากระแสประชาธิปัตย์ หรือกระแสพรรคเกิดใหม่ ยังไม่แรงพอที่จะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเมืองกรุงในสัปดาห์แรกได้ ผลการประเมินจึงออกมาในลักษณะ แบ่งรับแบ่งสู้ รักพี่แต่ยังอาวรน้อง อยู่ ระหว่าง ประชาธิปัตย์ และ พลังประชาชน


แต่ถ้าเปรียบเทียบผลการเลือกตั้ง 2548 ที่ไทยรักไทยแทบจะยกทีมในสนามเมืองกรุง 32 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์แค่ 4 และชาติไทย 1 การประเมินสัปดาห์แรก ต้องยอมรับว่า พลังประชาชน อยู่ในช่วง “ขาลง” และเป็นการลงใน “แนวดิ่ง” ไม่ใช่ลงตามแนวราบ

เพราะลดระดับจาก 32 มาอยู่ที่ 14 ที่นั่ง ถือว่าลดลงกว่า 100% ขณะที่ประชาธิปัตย์ พุ่งชี้ฟ้าแบบก้าวกระโดด จากที่เคยได้แค่ 4 ที่นั่งเมื่อปี 2548 การประเมินสัปดาห์แรกก็พุ่งชี้ฟ้าขึ้นมาเตะระดับ 18 ที่นั่ง พุ่งขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์


ส่วนพรรคน้องใหม่อย่างมัชฌิมาฯ และรวมใจไทย ระยะเวลานับจากนี้แค่เดือน โอกาสจะสร้างกระแสความนิยมให้คนกรุงรักและหลง ถือเป็นงานที่ท้าทายอย่าง


ภาคกลาง 26 จังหวัด ส.ส. 98 คน


สนามเลือกตั้งภาคกลาง 26 จังหวัด ส.ส. 98 คน 41 เขตเลือกตั้ง ในอดีตเป็นฐานที่มั่นของ พรรคไทยรักไทย ซึ่งหากพิจารณาไปยังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2548 ที่เป็นการต่อสู้กันอย่างเต็มรูปแบบ 97 ที่นั่ง พรรคไทยรักไทยได้ 80 ที่นั่ง ชาติไทย 10 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 7 ที่นั่ง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้สมัครจากไทยรักไทย ได้รับชนะชนะท้วมท้น มาจากหลายปัจจัย และปัจจัยหลักคือ “ฝนตกห่าใหญ่” ที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เคยเอ่ยถึง


สำหรับครั้งนี้ การดิ้นร้นของพลังประชาชน เพื่อที่จะรักษาฐานที่มั่นของตัวเองให้คงอยู่ นับเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากจะเปิดศึกรอบด้านกับทุกพรรคการเมืองแล้ว ยังต้องต้านทานการรุกกลับจากฝ่ายอำนาจรัฐ


เลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าพรรคพลังประชาชน จะมีความได้เปรียบหากพิจารณาจากฐานเสียงเดิม แต่การที่สมาชิกเดิมได้ไหลไปอยู่พรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะไหลมาอยู่พรรคชาติไทยเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มชลบุรี หรือกลุ่มจังหวัดสมุทรปราการ โอกาสของพรรคชาติไทยในภาคกลางจึงมีสูง


นอกเหนือไปจากการเปิดศึกกับ 2 พรรคเดิม คือประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทย แล้ว พลังประชาชน ยังต้องต่อกรกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่หวังจะขอแบ่งแบ่งเก้าอี้ ส.ส.


การเปิดศึกยืดพื้นที่คืนของชาติไทย มีการดึงเอานักการเมืองท้องถิ่น ที่มีฐานเสียงอยู่เป็นตัวแทนของพรรคลงสู้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ หลายพื้นที่ได้อดีต ส.ว.มาลงสมัครรับเลือกตั้ง เช่นที่ สมุทรปราการ มี นายจรูญ ยังประภากร และ พล.ต.ท.เผ่าไทย ทองธิว เป็นตัวแทนของพรรคลงสู้


พรรคชาติไทย หวังยึด สุพรรณบุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี และบางจังหวัดแถวตะวันออกเช่น ชลบุรี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เข้มแข็งอยู่ในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ส.ส. 3 คน เพชรบุรี สมุทรสงคราม และตราด ซึ่งยากที่คู่แข่งจะแทรกเข้ามาได้


พรรคประชาราช นอกจากจังหวัดสระแก้ว ยังหวังปักธงที่ นนทบุรี โดยมี นายฉลอง เรี่ยวแรง และนายสุชาติ บรรดาศักดิ์ ซึ่งยังคงยืนเคียงข้าง “ป๋าเหนาะ”


การรุกคืบของพรรคต่างๆ ที่จะทวงเก้าอี้คืนจาก ไทยรักไทย ล้วนบ่งชี้ฐานะของพรรคพลังประชาชนได้ว่า โอกาสที่จะรักษาฐานเสียงของ ส.ส.ในภาคกลาง ให้อยู่ในระดับเดิมนั้น เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว


ภาคเหนือ 16 จังหวัด ส.ส. 75 คน


สนามเลือกตั้ง 16 จังหวัดภาคเหนือ ส.ส. 75 คน 29 เขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน หวังจะกวาด ส.ส.ภาคเหนือให้ได้มากที่สุด แต่ปัจจุบันสมาชิกไทยรักไทยเดิม แยกออกไปอยู่หลายพรรค ทั้งมัชฌิมา รวมใจไทยชาติพัฒนา ชาติไทย ซึ่งจะมาขอส่วนแบ่งเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคเหนือ


พรรคมัชฌิมาฯ มีโอกาสในหลายพื้นที่เช่น เชียงใหม่ ได้ลุ้น 3-4 เก้าอี้ จาก บุษบา ยอดบางเตย , สันติ ตันสุหัช อดีต ส.ส.เชียงใหม่ไทยรักไทย ที่ครั้งนี้ลงในเขต 3 รวมถึง พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย- อำนวย ยศสุข ที่ลงในเขต 4 ขณะที่ จ.พะเยา สุวิทย์ วงศ์ศรีวงศ์ สามี ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ก็มีสิทธิ์แบ่งเค้ก และ จ.ตาก นายชลทิศ สินรัชนานันท์ ก็มีโอกาสลุ้น


เช่นเดียวกับพื้นที่สุโขทัย ที่มั่นของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน " มัชฌิมาฯ ก็น่าจะได้ลุ้น 2 ที่นั่งจาก ประศาสตร์ ทองปากน้ำ อดีต ส.ส.และ จำเจน จิตรธร อดีต ส.ว. ผู้สมัครเขต 1 และเขต 2 น่าจะได้จาก "อารยะ ชุมดวง" อดีต ส.ว.


ส่วน รวมใจไทยชาติพัฒนา น่าจะแบ่งเค้กจากพลังประชาชน 2 ที่นั่ง ที่เชียงใหม่ เขต 3 จาก นายแพทย์ไกร ดาบธรรม อดีต ส.ว.เชียงใหม่ที่ได้คะแนนกว่า 1 แสนคะแนน และ พิจิตร เขต 1 จาก วินัย ภัทรประสิทธิ์ น้องชายต่างมารดาของ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์


สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ จ.ตาก ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญมีลุ้น 2 ที่นั่ง จาก ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ และธนิตพล ไชยนันทน์ และ เขต 2 พิษณุโลก "จุติไกร ไกรฤกษ์ - นคร มาฉิม" น่าจะเข้าป้าย และที่กำแพงเพชร นายแพทย์ปรีชา มุสิกุล เขต 1 กำแพงเพชร ยังมีโอกาสสูง


และ พรรคชาติไทย เที่ยวนี้ ดูจะได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะที่ จ.พิจิตร เขต 2 จาก พล.ต.สนั่น-ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ และ จ.สุโขทัย เขต 2 จาก "สมเจตน์ ลิมปะพันธุ์" ที่หนีพลังประชาชนมาซบ "บรรหาร" ขณะที่ จ.น่าน ชัยวุฒิ คูอาริยะกุล อดีต ส.ว.น่าน มีโอกาสเบียดพลังประชาชน


แต่ที่ดูน่าลุ้นและดุเดือดเห็นจะเป็นพื้นที่ จ.เชียงราย ที่ ตระกูลจงสุทธนามณี ฮึดสู้ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" โดยส่ง "ศักดิ์ชัย จงสุทธนามณี และ "กิจขจร ใจสุข " น้องชายและน้องเมียของ "วันชัย จงสุทธนามณี" นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ลงชนพลังประชาชนที่เขต 1


ส่วนเขต 2 เชียงราย "เสี่ยเล็ก" ยมนฑล สุทธาธนโชติ หรือ มงคล จงสุทธนามณี ผนึกกับ "วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส" ผู้ประกาศข่าวสาวชื่อดัง และในเขต 3 นายวิทวัส โพธสุธน หลานชายประภัตร โพธสุธน มีลุ้นแจ้งเกิดเช่นกัน


สำรวจสัปดาห์แรก พลังประชาชน ที่ 42 ที่นั่ง ชาติไทย 9 ประชาธิปัตย์ และมัชฌิมาฯ ได้พรรคละ 8 ที่นั่ง รวมใจไทยชาติพัฒนา 6 ที่นั่ง และเพื่อแผ่นดิน 2 ที่นั่ง


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ส.ส. 135 คน

สนามเลือกตั้ง 19 จังหวัดภาคอีสาน ส.ส.135 คน 52 เขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน ยังครองความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ซึ่งทางพรรคประกาศจะยึดที่นั่งส.ส.อีสาน 100 ที่นั่ง


แต่จากการสำรวจตรวจสอบ ประเมินว่าที่ผู้สมัครที่มีโอกาสชนะในสัปดาห์แรก ปรากฏว่า พลังประชาชนหล่นมาที่ 65 ที่นั่ง ส่วน พรรคน้องใหม่มาแรง เพื่อแผ่นดิน 32 ที่นั่ง รวมใจไทยชาติพัฒนา 14 ขระที่ พรรคชาติไทยได้ 13 ที่นั่ง

สำหรับ ประชาธิปัตย์ปี 2548 เคยได้ ส.ส.ทั้งภาคของอีสาน 2 ที่นั่ง คราวนี้เพิ่ม 100% โดยมีลุ้น 4 ที่นั่ง ส่วน มัชฌิมาฯ 4 และประชาราชก็ 3 ที่นั่ง


สนามเลือกตั้งสำคัญๆ ของภาคอีสานเที่ยวนี้คือ นครราชสีมา ส.ส. 16 คน เมืองหลวงของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ซึ่งจะเป็นการชิงชัยกันระหว่าง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาและพลังประชาชน เช่นใน ซึ่งในเขต 1นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต ส.ส.ทรท.คู่เขยนายสุวัจน์ ลิมปพัลลภ ที่มีโอกาสยกทีมในเขต 1


หรือในเขต 3 เขตที่ต้องถือว่าเป็น เขตช้างชนช้าง ระหว่างผู้สมัครจากรวมใจไทยฯ ชนกับ เจ้าบุญทุ่ม "นางลินดา เชิดชัย" ลูกสะใภ้เจ๊เกียว "สุจินดา เชิดชัย" เศรษฐินีพันล้านจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งโดยภาพรวม รวมใจไทยชาติพัฒนา ยังมีโอกาสลุ้น 10 มที่นั่ง จาก 16 ที่นั่งของโคราช


ส่วน จังหวัดขอนแก่น พรรคเพื่อแผ่นดิน ก็ประกาศขอส่วนแบ่งจาก พรรคพลังประชาชน โดยในเขต 3 นำทีมโดยหัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ คุณกิตติ ชูธงของแบ่งเก้าอี้ในพื้นที่อีสานให้ เพื่อแผ่นดิน หัวหน้าหรือในเขต 1 น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ที่ออกบวช 2 พรรษา และสึกออกมาลงสมัครในนามพรรคชาติไทย ซึ่งจะทำให้สีสันเมืองหมอแคนมีความคึกคัก


ส่วน บุรีรัมย์ ถิ่น เนวิน ชิดชอบ ถือว่า พลังประชาชน ยังชนะไม่ขาด เพราะพรรคอื่นมีโอกาสแทรก ซึ่งเบื้องต้นบุรีรัมย์ 10 ที่นั่ง เป็นของพลังประชาชน 6 ,เพื่อแผ่นดิน 3 ,และ ชาติไทย 1 ที่นั่ง


สำหรับ อุดรธานี 4 เขต ส.ส. 10 คน ซึ่งผู้สมัครพรรคเพื่อแผ่นดิน ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตอธิบดีกรมตำรวจ แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่คอยบัญชาการรบอยู่เบื้องหลังก็หวังจะกวาดที่นั่ง ส.ส.อุดรฯ ให้พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งประเมินเบื้องต้น โอกาสของพรรค เพื่อแผ่นดินในอุดรธานี น่าจะเข้าป้ายที่ 5 ที่นั่ง พลังประชาชน 3 ที่นั่ง รวมใจไทย 2 ที่นั่ง


และอีกจังหวัดของภาคอีสาน ที่ต่อสู้กันดุเดือดคือ อุบลราชธานี 4 เขต ส.ส. 11 คน ซึ่งเป็นการแย่งชิงกันหลายพรรค ทั้งพลังประชาชน เพื่อแผ่นดิน ชาติไทย และ ประชาธิปัตย์ จากการประเมินสัปดาห์แรก อุบลฯ 11 ที่นั่ง พรรคพลังประชาชน 4 เพื่อแผ่นดิน 3 ,ชาติไทย 3 และประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง


ภาคใต้ 14 จังหวัด ส.ส. 56 คน


สำหรับสนามเลือกตั้งในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ส.ส. 56 คน เขตเลือกตั้ง แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ก็เป็นการยากที่ผู้สมัครประชาธิปัตย์ จะกวาดที่นั่ง ส.ส.ได้ทั้งหมด 56 ที่นั่ง


ปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ มีสิทธิ์ชวดเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้บางเขตคือพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่ชิงชัยกัน 12 ที่นั่ง


ซึ่งมีอดีต สส.จากกลุ่มวาดะห์ ทั้ง นายเด่น โต๊ะมีนา, พ.ต.ท.เจ๊ะอิสมาแอ เจ๊ะโมง, มุข สุไลมาน, สมมารถ เจ๊ะนา, นัจมุดดีน อูมา ฯลฯ ที่ตัดสินใจลงแข่งขันกลับเข้าพรรคพลังประชาชน ตามด้วยผู้สมัครคู่แข่งคนสำคัญอื่นๆ อีกหลายคนทั้ง น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ หรือ "หมอแว" จากพรรคเพื่อแผ่นดิน อดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และเคยได้รับคะแนนท่วมท้นในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ลงชิงชัยในพื้นที่เขต 1 จ.นราธิวาส


พรรคชาติไทย ยังได้อดีต สส.เก่าอย่าง นายกูเฮง ยาวอหะซัน ที่เคยได้รับการเลือกตั้งในสมัยที่ผ่านมาลงชิงชัยในเขต 2 ซึ่งมีฐานคะแนนเสียงจากบิดา คือ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นราธิวาส เป็นแรงสนับสนุน


ส่วนผู้สมัครที่โดดเด่นอีกคนคือ นายยุซรี ซูสารอ ซึ่งเป็น กำนันตำบลปะนาเระ และมีบิดา เป็น นายก อบต. และประธาน อบต.อ.ปะนาเระ ซึ่งมีเครือข่ายมากพอจะมีสิทธิ์ลุ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้


สำรวจสนามเลือกตั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ สัปดาห์แรก ประชาธิปัตย์กวาด 51 ที่นั่ง ชาติไทยมา 2 เพื่อแผ่นดิน 2 ที่นั่ง และพลังประชาชนมา 1 ที่นั่ง  


หัวข้อ: Re: โพลเนชั่นครั้งที่ 1 ออกแนวประชดหรือเปล่า
เริ่มหัวข้อโดย: soco ที่ 20-11-2007, 12:28
พปช. เค้าว่า 250 น่ะครับ  :slime_bigsmile:


หัวข้อ: Re: โพลเนชั่นครั้งที่ 1 ออกแนวประชดหรือเปล่า
เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 20-11-2007, 12:29
ผมมองว่า เนชั่น ตั้งเป้าสูงสุดให้ "พลังประชาชน"

พออาทิตย์หน้า แนวโน้ม สส.จะลดลง เล่นกระแสได้ต่อ ฮ่า ฮ่า

หมายเหตุ ตารางผมลอกตัวเลขมาใส่เอง อาจคลาดเคลื่อนนะครับ ไม่ได้ตรวจสอบ


หัวข้อ: Re: โพลเนชั่นครั้งที่ 1 ออกแนวประชดหรือเปล่า
เริ่มหัวข้อโดย: Puggi ที่ 20-11-2007, 12:35
อย่าว่า ผมวิตกจริตเลยนะลุงแคน  แต่ พปช  ยังน่ากลัวเหมือนเดิมแหละ ไปอีสานทำธุระมาหลาย ที่ รอบนอก ยังไงก็พปช

 ปชป มันเข็นไม่ขึ้นจริงๆ  หาก พปช มันได้ ที่1 จริง ยุ่งหายห่ะ ของแท้ 

ไม่รุ้ทำไม บ้านเมืองต้องมีคน จั*** อย่างไอ้เหลี่ยมโผล่มาทำประเทศ ให้สะเทือนถึงขนาดนี้ก็ไม่รู้


หัวข้อ: Re: โพลเนชั่นครั้งที่ 1 ออกแนวประชดหรือเปล่า
เริ่มหัวข้อโดย: BeastGuy ที่ 20-11-2007, 15:00
อย่าว่า ผมวิตกจริตเลยนะลุงแคน  แต่ พปช  ยังน่ากลัวเหมือนเดิมแหละ ไปอีสานทำธุระมาหลาย ที่ รอบนอก ยังไงก็พปช

 ปชป มันเข็นไม่ขึ้นจริงๆ  หาก พปช มันได้ ที่1 จริง ยุ่งหายห่ะ ของแท้ 

ไม่รุ้ทำไม บ้านเมืองต้องมีคน จั*** อย่างไอ้เหลี่ยมโผล่มาทำประเทศ ให้สะเทือนถึงขนาดนี้ก็ไม่รู้

เห็นด้วยเลยครับว่า พปช มันกลับมาแน่  :slime_surrender:
เข็น ปชป ไม่ขึ้นจริง ๆ
ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ถ้าหมักเป็นนายก
หมักจะไปด่าผู้นำชาติอื่นเปล่าหว่า
หมักจะไปถามผู้นำชาติอื่นไหมว่า ไปกิ๊กกับใครมา  :slime_shy:


หัวข้อ: Re: โพลเนชั่นครั้งที่ 1 ออกแนวประชดหรือเปล่า
เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 20-11-2007, 15:05
ยังหรอกครับ ปี่กลองเพิ่งเริ่ม เฉพาะอุบล น่าจะเป็น "เพื่อแผ่นดิน" 7-8 ที่นั่ง ( เนชั่นให้แค่ 3 )

เหลือให้ พลังประชาชนเพียง 1 ( สุพล ฟองงาม )  ปชป. 1 ( อิสระ สมชัย )

เพราะจริงๆ แล้ว วิทูรย์ ( ปชป. ) หนีไป "สัดส่วน" ทิ้งหลานลงมา อาจต้องไปหาเสียงช่วยสายเกรียง ด้วยซ้ำ

เพราะในเขตเมือง กลุ่ม พยานาคฐานแน่น ทั้งพวก สท. สจ. คงยิงกันไฟแล่บ

"วิฑูรย์" กับ "วังพยานาค" ยืนซดกันมาครั้งก่อน ถ้าเกรียง( อดีต ปชป. )ไม่ช่วย คงไม่ชนะมา 136 คะแนน

ระดับแกนนำ "เพื่อแผ่นดิน" ยืนผงาด ( เสี่ยปรีชา ) น่าจะไม่พลาด

เพราะหัวเมืองเอกของ "เพื่อแผ่นดิน" ก็มีแค่ อุบล อุดร ( ประชากับสาย อีดี้จวบเก่า ) ยโสธร( พ่อมดดำ )  ขอนแก่น ( สวิทย์ )  หนองคาย ( พินิจ ) ส่วนอำนาจเจริญ ก็กดดันกันหนัก ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย บุรีรัมย์ หวังพวก "โสภณ" จะหิ้วเข้ามาได้มากหรือน้อย ( เนชั่นให้ตั้ง 3 ที่นั่ง )

สุรินทร์ "กลุ่มเสี่ยติ่ง" ยังแรง คงเจาะยาก เกษม รุ่งธนะเกียรติ ให้ลูกลงแทน คงลอยลำมา เห็นท่า "พลังประชาชน" จะชนะที่นั่น

ศรีษะเกศ ยังไม่มีข้อมูลครับ

รอดูกลุ่ม "พ่อมดดำ" จะเจาะตัวเลขเข้ามาเพิ่มได้มากน้อยแค่ใหน

เท่าที่ดูกันอยู่ตอนนี้ มี "มวยซูเอี๋ย" กันหลายพื้นที่

เพื่อแผ่นดิน ตัวเลขกลม ๆ น่าจะยังอยู่ที่ 50 ต้น ๆ

สส. เค้ารู้ตัวดี "สู้เพื่อเป็นรัฐบาล" หรือ "สู้เพื่อเป็นฝ่ายค้าน" กำลังใจมันต่างกันเยอะ

"โพล กอ.รมน." คือโพล เคาะกะลาเรียกทุนครั้งที่ 2

ประเภทที่ทหารและผู้สนับสนุนหลักต้องรีบยื่นหมูยื่นแมวเพราะว่า...

"ไม่เลือกเรา เขามาแน่"....ใครสัญญาจะจะส่งท่อน้ำเลี้ยง ก็โปรดกดปุ่มได้...อิ อิ

สส. มีจำนวนจำกัด หากเทไปฝั่งหนึ่ง คะแนนอีกฝั่งก็จะลด เหมือนน้ำในลูกโป่งนั่นแหละครับ