หัวข้อ: คณะอนุกรรมการ มีมติควรยุบพรรค ทรท เริ่มหัวข้อโดย: jikko ที่ 11-05-2006, 13:05 การเมือง - ข่าว
เชือดแม้วยุบทรท. อนุกกต.สรุป'แอ๊ด-เพ้ง-ไอซ์'เป็นภัย 11 พฤษภาคม 2549 กองบรรณาธิการ อนุกรรมการฯ กกต.สรุปผลสอบสวนไทยรักไทยจ้าง "นอมินี" ส่งผู้สมัครลงประกบผู้สมัครไทยรักไทย หนีกฎ 20% ให้ "วาสนา" แล้ว มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อหา "ทักษิณ" เรียกมาสอบสวน ชี้ "ธรรมรักษ์-พงษ์ศักดิ์-ไตรรงค์" มีความผิดเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นการกระทำในฐานะตัวแทนพรรคไทยรักไทย ไม่ใช่ส่วนตัว ส่อถึงขั้นยุบพรรคทิ้ง อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาว่ามีกระบวนการว่าจ้างพรรคการเมืองให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน ได้สรุปผลการสอบสวนเสนอต่อ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ผลสอบความหนา 17 หน้ากระดาษ A4 ได้ลำดับการกระทำความผิดเป็นลำดับขั้น ในประเด็นที่ 1 พรรคไทยรักไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการว่าจ้างหรือให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่นั้น ผลสอบระบุว่ากรณีพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าต่างก็ไม่มีเงินที่จะสนับสนุนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็ได้ส่งผู้สมัครในสังกัดพรรคของตน เมื่อพิจารณาในส่วนของพรรคพัฒนาชาติไทยนั้นจะเห็นได้ว่าคำให้การของนายชวกร โตสวัสดิ์ ได้ให้รายละเอียดของการดำเนินการได้อย่างสอดคล้อง และมีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลทุกขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนมีการติดต่อให้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงการเข้าพบกับ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ซึ่งทั้ง 2 เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เพื่อวางแผนในการจัดหาบุคคลมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งกระบวนการจัดส่งเอกสารประกอบการสมัครและการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายชื่อสมาชิกพรรค โดยใช้เลขที่และวันสมัครเป็นสมาชิกพรรคเดิมแล้วนำชื่อสมาชิกพรรคใหม่ใส่แทนที่สมาชิกคนเดิม เพื่อให้มีสมาชิกภาพครบ 90 วัน ตามที่ตกลงไว้กับ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ โดยมีพยานอื่นมาสนับสนุนคำให้การของนายชวกร ให้มีน้ำหนักรับฟังได้ เช่นคำให้การของพนักงานโรงแรมกานต์มณี, ลูกจ้างร้านอาหารตามสั่งที่ตั้งอยู่ทางออกของที่ทำการพรรคไทยรักไทย จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ฟังเป็นยุติได้ว่าพรรคพัฒนาชาติไทยได้รับเงินสนับสนุนหรือได้รับการว่าจ้างจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เพื่อให้ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จริงตามคำร้องเรียน กรณีพรรคแผ่นดินไทยนั้นเมื่อพิจารณาคำให้การของนางฐัติมา ภาวะลี ที่ให้การครั้งแรกยืนยันว่าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ซึ่งเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมประชุมวางแผนส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของพรรคแผ่นดินไทย แทน พล.อ.ธรรมรักษ์ ต่อมา พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มี พล.อ.ไตรรงค์เป็นผู้บังคับบัญชา ได้นำเงินมาให้จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,675,000 บาท เพื่อให้นำไปจ่ายให้แก่ผู้สมัครในสังกัดพรรคแผ่นดินไทย อนุกรรมการฯ พบว่ากรณีนี้มีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือ และจากคำให้การของนายบุญอิทธิพล ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย ให้การยืนยันว่าพรรคไม่มีเงินที่จะสนับสนุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และยังมี ศ.ดร.อุทัย นามวงศ์ ให้การยืนยันว่าได้รับเงินค่าสมัครจำนวน 15,000 บาท จากนายพันธมิตร ดวงทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และนางฐัติมา และข้อมูลจากนายไพฑูรย์ วงศ์วานิช ให้รายละเอียดว่าเป็นเพื่อนกับ พล.อ.ธรรมรักษ์ และได้รับเงินค่าสมัครจำนวน 15,000 บาทจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ และจากข้อมูลการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคแผ่นดินไทย ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ส่งผู้สมัครเพียง 6 คน แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ส่งผู้สมัครมากถึง 124 คน ทั้งที่พรรคไม่มีเงินสนับสนุน และผู้สมัครดังกล่าวก็เป็นผู้ขาดคุณสมบัติแทบทั้งสิ้น จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าว จึงฟังเป็นยุติได้ว่าพรรคแผ่นดินไทยได้รับการสนับสนุนเงิน หรือได้รับการว่าจ้างจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ ให้ส่งคนลงสมัคร ส.ส.วันที่ 2 เมษายน จริงตามคำร้องเรียน ประเด็นที่ 2 บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนมีความผิดจริงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งผลสอบของอนุกรรมการระบุว่ามี 15 คน บางคนน้ำหนักไม่พอ ขณะที่หลายคนมีหลักฐานชัดเจนเช่น พล.อ.ธรรมรักษ์ นายพงษ์ศักดิ์ ผลสอบระบุว่าจากการกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการฝ่าฝืนบัญญัติมาตรา 66 (1) (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และมีความผิดฐานสนับสนุนผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ. 2541 รวมทั้งมีความผิดฐานใช้ให้บุคคลอื่นปลอมแปลงเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่ พล.อ.ไตรรงค์ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร ส.ส. อนุกรรมการฯ สรุปว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น ฟังได้ว่า ได้ร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน และร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลงแข่งขันกับผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิในเขตนั้น สำหรับพรรคพัฒนาชาติไทยมีนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิทของ พล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นตัวแทน ส่วนพรรคแผ่นดินไทยมี พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ธรรมรักษ์เป็นตัวแทน เห็นว่า พล.อ.ธรรมรักษ์มีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ มีตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถือว่าต่างเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทย ดังนี้จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว แต่มีหลักฐานควรเชื่อว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนพรรคไทยรักไทย มีผลผูกพันเสมือนเป็นการกระทำของพรรคไทยรักไทยเอง จากเหตุผลดังได้วินิจฉัยมา คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า สมควรแจ้งข้อกล่าวหาแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปต่อตามระเบียบ ทั้งนี้ หากพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดจริง การดำเนินการขั้นต่อไปคือจะต้องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย. |