ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => ห้องสาธารณะ => ข้อความที่เริ่มโดย: jerasak ที่ 11-05-2006, 08:12



หัวข้อ: = ราคาที่ต้องจ่าย บทความโดย คำนูณ สิทธิสมาน 1 พฤษภาคม 2549 =
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 11-05-2006, 08:12
ไปอ่านเจอมาครับ มีมุมมองอะไรให้คิดหลายอย่างดีเลยเอามาฝาก คิดว่า คุณ คำนูญ คงไม่หวง

------------------------------------------------------------------------------------------------------

= ราคาที่ต้องจ่าย บทความโดย คำนูณ สิทธิสมาน 1 พฤษภาคม 2549 =


 ในห้องนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ 3 กลุ่ม
       
        กลุ่มหนึ่งเป็นระดับสัญญาบัตรแต่งกายนอกเครื่องแบบใส่เสื้อเชิ้ตสวมแจ็กเกตทับเข้ามาทำหน้าที่สอบสวนตามกฎเกณฑ์ กลุ่มหนึ่งเป็นชั้นประทวนสังกัดหน่วยปราบจลาจล แต่งชุดสนามสีเขียว ยืนเสมือนเฝ้าประตูอยู่จำนวนหนึ่ง อีก 2 คนที่สะดุดตาผมเป็นชั้นประทวนระดับนายดาบอายุค่อนข้างมาก หน้าตาธรรมดาๆ กระเดียดออกไปทางชืดชา แต่งตัวชุดสีกากีเหมือนตำรวจทั่วไปแต่ดูเนื้อผ้าและความสดใสแล้วดูราศีด้อยกว่าชุดของนายพลผู้เป็นผู้บังคับการหน่วยงานมากกว่ามากนัก
       
        นายดาบคนหนึ่งไว้หนวดเรียวโง้ง สวมแว่นอ่านหนังสือ คัดลอกคำให้การของผู้ต้องหาที่เตรียมไว้ก่อนลงสมุดบันทึกเล่มหนาโดยมีนายตำรวจสัญญาบัตรนอกเครื่องแบบคอยกำกับอยู่ใกล้ๆ
       
        ไม่ต้องสงสัย - นี่คือกระบวนการลง “บันทึกประจำวัน! ”
       
        เป็น “บันทึกการจับกุม!!”
       
        นายดาบอีกคนหนึ่งยังคงนั่งนิ่ง ไม่ได้ทำอะไร ทำให้ผมยังสงสัยอยู่ว่าพี่ท่านคนนี้มีหน้าที่อะไรอยู่ในห้องรับรองของผู้บังคับการหน่วยงาน จะว่าคอยประสานงานทั่วไป ก็เห็นนั่งเฉย จะว่าคอยรับใช้ทั่วไป ก็ไม่เห็นลุกไปช่วยนายตำรวจหญิงสองสามคนและแม่บ้านที่ผลัดกันเข้ามารินน้ำใส่แก้วให้ผู้ต้องหาและคณะเลย จะว่าเป็นประเภทที่ปรึกษาใกล้ชิดนายหรือฝ่ายเสนาธิการ ดูสีหน้าและแววตาแล้วก็ไม่น่าใช่
       
        พอสายตาผมเหลือบไปเจอ “กระเป๋าใบนั้น” ข้างๆ เก้าอี้โซฟาที่นายดาบหน้าตาราบเรียบคนนั้นนั่งอยู่ ก็เริ่มจะพอสันนิษฐานได้ระดับหนึ่งแต่ยังไม่แน่ใจนัก
       
        กระเป๋าใบนั้นมีรูปแบบเหมือนที่เขาแจกตอนงานสัมมนาของหน่วยราชการ ประเภทที่จะต้องบ่งบอกว่าเป็นที่ระลึกในงานสัมมนาของหน่วยงานใดเมื่อไร ขนาดไม่เกิน 12 x 14 นิ้ว สีเขียวขี้ม้า เก่า และมีสีดำเปื้อนอยู่ด้านบนบริเวณหูหิ้ว
       
        “มารอทำงานหรือ เอาไว้ก่อนนะ ขอให้ผมกลับมาก่อน แต่ต้องอยู่รอนะ”
       
        เสียงทักจากนายพลผู้บังคับบัญชาหน่วยงานขณะกำลังจะออกไปพบผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าเพื่อให้เซ็นอนุมัติการประกันตัวผู้ต้องหาคนสำคัญ ทำให้ผมหายสงสัยว่านายดาบท่านนั้นมีหน้าที่อะไร
       
        และรู้ไปพร้อมๆ กันว่ากระเป๋าใบนั้นบรรจุอะไรอยู่
       
        วินาทีถัดมาผมก็ได้เห็นการทำงานตามหน้าที่อย่างคล่องแคล่วของนายดาบ เมื่อผู้ต้องหาคนสำคัญที่ปฏิเสธจะปฏิบัติตามขั้นตอนการจับกุมทั่วไปตัดสินใจยอมปฏิบัติเพื่อจะได้ให้เรื่องจบลงเร็วที่สุด
       
        กระเป๋าเก่าใบนั้นถูกเปิดออกมา
       
        อุปกรณ์โลหะปนอะลูมิเนียมถูกดึงออกมา มันประกอบด้วยแท่นโลหะเรียบเปื้อนหมึกสีดำ ลูกกลิ้งที่ใช้เกลี่ยหมึกสีดำลงบนแท่นโลหะ หลอดหมึกพิมพ์สีดำรูปลักษณ์คล้ายหลอดยาสีฟันดาร์ลี่ (ดากี้) หนังสือพิมพ์เก่าๆ ที่ใช้ห่อลูกกลิ้งและหลอดหมึกพิมพ์
       
        ผมเคยเจออุปกรณ์ลักษณะนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2535 แต่โดยความรู้สึกดูเหมือนจะเป็นชุดที่ดูเหมือนจะใหญ่กว่านี้นิดหนึ่ง จริงๆ แล้วอาจจะเท่ากัน เพียงแต่ชุดที่ผมเจอตั้งไว้ประจำที่ ไม่ใช่พกพาใส่กระเป๋าไปตามที่ต่างๆ ความตื่นเต้นและหดหู่เมื่อ 14 ปีก่อนของผมอาจทำให้ความจำในส่วนรายละเอียดของอุปกรณ์ผิดพลาดไปได้บ้าง
       
        แต่ในด้านกระบวนการที่ถูกปฏิบัติและความรู้สึกลึกภายในแล้ว - ไม่ต่างกัน
       
        ต่อมน้ำตาเริ่มทำตามหน้าที่ - ดีที่ผมกลั้นสะกดไว้ ณ วินาทีนั้นก็เลยเป็นแค่เพียงการร้องไห้อยู่ภายในหัวใจไม่แสดงออกมาภายนอก
       
        กระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นศิลปะทั้งของผู้พิมพ์และผู้ถูกพิมพ์ที่จะต้องให้ความร่วมมือกัน มิเช่นนั้นการพิมพ์ลายนิ้วมือลงบน “แบบพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา ฯลฯ” จำนวน 5 ชุดคงไม่สมบูรณ์ลงง่ายๆ
       
        หมึกพิมพ์ต้องพอดีและสม่ำเสมอ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยก่อนไป
       
        ใส่หมึกเกลี่ยหมึกครั้งหนึ่งต้องสำหรับการพิมพ์ในแต่ละชุด ดังนั้นการพิมพ์มือในกระบวนการหนึ่งก็ต้องใส่หมึกเกลี่ยหมึกกัน 5 ครั้ง
       
        การจับนิ้วมือผู้ต้องหาแต่ละนิ้วกดลงบนแท่นโลหะเพื่อให้รับหมึกพิมพ์สีดำ แล้วนำลงไปกดกลิ้งลงบนแบบพิมพ์กระดาษแข็งตามกรอบที่ทำไว้สำหรับแต่ละนิ้วทั้ง 10 นิ้ว 2 มือ
       
        ผู้ต้องหาต้องปล่อยมือปล่อยนิ้วไปตามสบายไม่เกร็ง เพื่อให้งานเสร็จโดยเร็ว
       
        การพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาที่ยังมีชีวิตอยู่น่าจะง่ายกว่าผู้ต้องหาที่เสียชีวิตแล้ว!
       
        ชุดพิมพ์มือเคลื่อนที่ในกระเป๋าใบกะทัดรัดมีไว้เพื่อนำไปพิมพ์มือผู้ต้องหาที่เสียชีวิตแล้ว นอกสถานที่ทำการของตำรวจ จะเพราะถูกวิสามัญฆาตกรรมหรืออะไรก็สุดแท้แต่
       
        นานทีปีหนจึงจะนำมาพิมพ์มือผู้ต้องหาคนสำคัญในห้องผู้บังคับการ
       
        ที่จริง การพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหายังมีข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
       
        การที่ตำรวจยึดมั่นว่าผู้ต้องหาคดีอาญาในทุกคดีและทุกกรณีที่ต้องถูกพิมพ์ลายนิ้วมือไม่น่าจะถูกต้อง
       
        เพราะการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นไปเพื่อระบุความเป็นตัวตนที่ชัดเจน
       
        ก็ถ้าผู้ต้องหามีตัวตนชัดเจน เป็นที่รู้จักทั่วไป มีเอกสารประจำตัวครบถ้วน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาประเภทที่ต้องใช้มือจับต้องอุปกรณ์ใดๆ ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปฏิบัติต่อเสมือนเป็นมือปืน มือมีด ตีนแมว โจรลักเล็กขโมยน้อย โจรปล้นฆ่า ฯลฯ
       
        เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวเองไม่ใช่หนีแล้วถูกจับกุม
       
        แต่ตำรวจก็ยืนยันมาตลอดว่าต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ
       
        ในบางกรณี (เช่นตัวผมเมื่อ 14 ปีก่อน) จะถูกขอร้องให้ถือหมายเลขทะเบียนผู้ต้องหา ถ่ายรูปหน้าตรง และหน้าด้านข้าง แถมเข้าไปด้วย
       
        ครั้งนี้ตำรวจโต้แย้งทนายความของผู้ต้องหาว่าสำนักงานอัยการสูงสุดยืนยันให้ทำอย่างนี้
       
        ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการลุกขึ้นสู้เพื่ออะไรสักอย่างนั้นบางครั้งมันช่างแพงนัก
       
        ผู้ต้องหาคนสำคัญที่กำลังพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าผมเมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2549 จ่ายแพงมากเพื่อแลกกับการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ที่ยืดเยื้อมากว่า 7 เดือน ต้องเสียความเป็นส่วนตัว ต้องเสียเงิน ต้องทนถูกหยามเหยียด ต้องทนถูกเข้าใจผิด ไม่ต้องพูดถึงว่าต้องอยู่อย่างเสี่ยงต่อการถูกปองร้าย ไม่ใช่เฉพาะวันนี้พรุ่งนี้ แต่ยังจะเสี่ยงไปอีกหลายเดือนหลายปี
       
        ผู้ต้องหาคนนี้ออกมาเสี่ยง “สู้เพื่อในหลวง” เพราะเห็นว่าความรักภักดีที่แท้จริงนั้นไม่เพียงการทำด้วยอามิสบูชา หากแต่ต้องปฏิบัติบูชาด้วย
       
        สุดท้าย ผู้ต้องหาคนนี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามาตรา 112
       
        ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ
       
        จริงอยู่ แม้ในที่สุดแล้วศาลสถิตยุติธรรมจะเป็นผู้พิสูจน์ความจริงทุกอย่างทุกประการ แต่ในสังคมที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนไม่เท่าเทียมกัน วัฒนธรรมในระบบอุปถัมภ์และระบบอำนาจนิยมยังคงดำรงอยู่กว้างขวาง แค่ถูกออกหมายจับ แค่ต้องขึ้นศาล ก็ย่อมถูกนำไปโฆษณาว่าทำความผิดไปแล้ว
       
        มันน่าเจ็บปวดเพียงใด?
       
        ถ้าไม่มีขนาดของหัวใจใหญ่พอ คนธรรมดาๆ ทั่วไปย่อมยากที่จะทานทนความกดดันเช่นนี้ได้
       
        ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการลุกขึ้นสู้เพื่ออะไรสักอย่างนั้นบางครั้งมันช่างแพงจริงๆ !!

ที่มา : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000057362


หัวข้อ: Re: = ราคาที่ต้องจ่าย บทความโดย คำนูณ สิทธิสมาน 1 พฤษภาคม 2549 =
เริ่มหัวข้อโดย: apichan ที่ 11-05-2006, 09:22
อยากฝากบอก"ผู้ต้องหา"ที่ว่าในบทความนะครับ หากคุณตั้งใจจริงและมีความบริสุทธิ์ใจในการกระทำ คุณก็ไม่ต้องกล้วข้อกล่าวหาใดๆเลยครับ ศาลท่านทรงความบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่ นอกจากนี้หากคุณบริสุทธิ์ใจจริง ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็จะจารึกคุณในฐานะผู้กล้าที่จะโค่นล้มระบอบทรราชย์ แต่ถ้าที่กล่าวมาไม่ใช่ คุณก็คงรู้ว่าจะเป็นยังไง


หัวข้อ: Re: = ราคาที่ต้องจ่าย บทความโดย คำนูณ สิทธิสมาน 1 พฤษภาคม 2549 =
เริ่มหัวข้อโดย: จูล่ง_j ที่ 11-05-2006, 09:32
ถ้าเชื่อมั่นว่า ตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง ขอให้สู้ต่อไปครับ
เชื่อว่า ผู้ต้องหาก็รู้อยู่แล้ว ว่าจะเจออะไรบ้าง ไม่มีทางที่จะได้รับแต่ดอกไม้หรอก
ขอเป็นกำลังใจให้คนที่ทำดี และได้รับผลกรรมดีในที่สุด


หัวข้อ: Re: = ราคาที่ต้องจ่าย บทความโดย คำนูณ สิทธิสมาน 1 พฤษภาคม 2549 =
เริ่มหัวข้อโดย: jerasak ที่ 11-05-2006, 10:11
ประเด็นที่เราไม่ควรลืมก็คือเหตุผลจริงๆ ที่ "ผู้ต้องหา" รายนี้ถูกดำเนินคดี
คือเรื่องอะไรกันแน่ เพราะที่ผ่านมาทั้งหมดผู้ถูกกล่าวหาในความผิดเรื่องนี้
ล้วนถูกดำเนินคดีจากเหตุผลทางการเมืองทั้งสิ้น

เพราะในความเป็นจริง ที่มาที่ไปของเหตุในครั้งนี้ก็คือการพูดเพื่อทวงถาม
ความรับผิดชอบของผู้นำรัฐบาลต่อสถาบันฯ กรณีนำ พรฎ.แปรรูป ที่มิชอบ-
ด้วยกฎหมายขึ้นทูลเกล้าถวายให้ลงพระปรมาภิไธย

*เหตุผลที่เกิดการดำเนินคดีครั้งนี้ จึงทราบกันดีว่าเป็นความพยายามกำจัด
ศัตรูสำคัญทางการเมือง ซึ่งเป็นแกนนำในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ*

อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกได้จากบทความก็คือ มีอีกหลายๆ เรื่องที่ถือเป็นการ
"ละเมิด" ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะไม่ถูกกระทำเยี่ยงผู้กระทำผิด
โดยยังไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาตัดสินถึงที่สุดจากศาลสถิตย์ยุติธรรม
ตามตัวอย่างการจับพิมพ์ลายนิ้วมือ กับข้อกล่าวหาที่ไม่เกี่ยวอะไรกับมือ
ซึ่งการพิมพ์มือควรกระทำกับนักโทษในเรือนจำมากกว่า..

เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ความจริงมีอยู่เป็นจำนวนมาก
แทรกซึมอยู่ในส่วนต่างๆ ของระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชน
ลองนึกดูว่าหากเราเป็นผู้ที่ถูกจับพิมพ์มือตามบทความจะรู้สึกอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อที่มาที่ไปของการดำเนินคดีมาจากการพยายาม
เรียกร้องความถูกต้องทางการเมือง..

อ่านแล้วก็รู้สึกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศเรา
ที่คิดว่าดีแล้ว ความจริงยังต้องพัฒนากันอีกยาวไกลครับ..


หัวข้อ: Re: = ราคาที่ต้องจ่าย บทความโดย คำนูณ สิทธิสมาน 1 พฤษภาคม 2549 =
เริ่มหัวข้อโดย: จูล่ง_j ที่ 11-05-2006, 10:25
จริงๆแล้วผมเห็นใจกับ 5 แกนนำนี้มากๆนะ
สำหรับคดีหมิ่น ผมคิดว่า สนธิ น่าจะหลุด ส่วนคดีอื่นๆไม่แน่ใจ
ตัวอย่างเช่น ไปยุให้คนไม่จ่ายภาษี
บางทีมันก็ต้องมีบทเรียนบ้าง สำหรับการพูดอะไรจนคึกคะนอง หึกเหิมเกินไป
ผมยังเชื่อว่า กลุ่ม 5 แกนนำคงไม่ถึงกับติดคุก น่าจะแค่รอลงอาญา