ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: นทร์ ที่ 07-05-2006, 13:20



หัวข้อ: เอแบคโพลล์ระบุ'ศก.-การเมือง'อยู่ในขั้นวิกฤติ
เริ่มหัวข้อโดย: นทร์ ที่ 07-05-2006, 13:20
เอแบคโพลล์ระบุ'ศก.-การเมือง'อยู่ในขั้นวิกฤติ

7 พฤษภาคม 2549 12:45 น.
เอแบคโพลล์เผยประชาชน 68.7% ระบุกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในขั้นวิกฤต และอีก 41.3% ระบุปัญหาการเมืองก็วิกฤตเช่นกัน ชี้ไม่พอใจนโยบายแก้ปัญหาราคาน้ำมันของรัฐบาล

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์  มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเสนอผลสำรวจ ภาคสนาม เรื่องสำรวจอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดเห็นของสาธารณชนต่อวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง:กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2549  จำนวน 1,588 ตัวอย่าง

โดยดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "สำรวจอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดเห็นของสาธารณชนต่อวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง" ในครั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,588 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2549 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจดังนี้

ผลสำรวจพฤติกรรมการติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 54.9 ติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจทุกวัน/เกือบทุกวัน ร้อยละ 19.9 ติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 14.5 ติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 5.1 ติดตามน้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 5.6 ไม่ได้ติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจเลย

เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.7 ระบุว่าอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 31.3 ระบุว่ายังไม่วิกฤต และเมื่อคณะผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจกับวิกฤตทางการเมือง และประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 41.3 ระบุว่าปัญหาการเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่ได้รับจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 97.7 ระบุเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ร้อยละ 85.7 รู้สึกวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ร้อยละ 74.3 ระบุรู้สึกเบื่อหน่ายต่อภาวะเศรษฐกิจ ร้อยละ 58.3 ระบุรู้สึกเครียด ร้อยละ 16.0 ระบุมีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว ร้อยละ 10.7 ระบุมีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน และร้อยละ 8.0 ระบุมีความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน

เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่ได้รับจากสถานการณ์ทางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 97.2 ระบุเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ร้อยละ 74.0 ระบุรู้สึกเบื่อหน่ายต่อเรื่องการเมือง ร้อยละ 69.9 รู้สึกวิตกกังวลต่อปัญหาทางการเมือง ร้อยละ 43.2 ระบุรู้สึกเครียด ร้อยละ 17.2 ระบุมีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 16.2 ระบุมีความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน ร้อยละ 14.1 ระบุมีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว

สำหรับการใช้ชีวิตและทัศนคติที่ขัดต่อหลักการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 69.0 ระบุว่ามีเงินเก็บออมเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเงินเดือนที่ได้รับขณะนี้ ร้อยละ 60.6 คิดว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในกลุ่มผู้ประกอบการ ร้อยละ 46.7 ระบุซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล / หวยใต้ดิน ร้อยละ 44.2 ระบุเคยซื้อสินค้ามาแต่ไม่ค่อยได้ใช้งาน และร้อยละ 35.1 ระบุคิดอยากจะซื้ออะไรก็ซื้อ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสอบถามถึงเรื่องที่ตัวอย่างมีความกังวลในช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการขึ้นราคาสินค้าและบริการ (ร้อยละ 76.5) ปัญหาการขึ้นราคาน้ำมัน (ร้อยละ 53.4) และปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 52.0) ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจถึงผลกระทบของการที่น้ำมันขึ้นราคาต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 82.1 ระบุว่ามีผลกระทบ ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ระบุว่าไม่มีผลกระทบ และร้อยละ 5.6 ไม่มีความเห็น

และเมื่อสอบถามถึงประเภทสินค้าและบริการที่คิดว่าจะตัด/ลดการใช้จ่ายในช่วงเวลาที่น้ำมันขึ้นราคา 5 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าประเภทของใช้ฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องสำอางค์ น้ำหอม เครื่องประดับ (ร้อยละ 63.3) อาหารประเภทฟาสต์ฟูดส์ต่างๆ (ร้อยละ 45.9) ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน (ร้อยละ 38.7) ลดการดูหนัง ฟังเพลงและการท่องเที่ยว (ร้อยละ 35.6) และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว (ร้อยละ 32.1) ตามลำดับ

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างต่อภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องน้ำมันในแต่ละเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 59.1 มีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องน้ำมัน ซึ่งโดยเฉลี่ยมีประมาณ 3,588 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ไม่มีภาระดังกล่าว

นอกจากนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ยังค้นพบถึงราคาน้ำมันสูงสุดที่จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของตนเองและครอบครัว จำแนกตามประเภทน้ำมัน ดังนี้  เบนซิน ออกเทน 91 (ราคา 22.56 บาท/ลิตร) เบนซิน ออกเทน 95 (ราคา 23.40 บาท/ลิตร) และน้ำมันดีเซล (ราคา 21.24 บาท/ลิตร) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวอย่างได้ระบุราคาน้ำมันสูงสุดที่ยอมรับได้นั้น ราคาต่ำกว่าราคาน้ำมัน ณ ปัจจุบัน

สำหรับความพอใจต่อการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาด้านราคาน้ำมันของรัฐบาลที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 47.2 ไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 21.4 ระบุว่าพอใจ และร้อยละ 31.4 ไม่ระบุความคิดเห็น

 อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 79.3 ระบุประหยัดน้ำ/ประหยัดไฟฟ้า ร้อยละ 34.1 ใช้บริการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 27.6 ขับรถด้วยความเร็วที่ประหยัดน้ำมัน ร้อยละ 12.0 ใช้แก๊สโซฮอลล์/ใช้พลังงานทดแทน ในขณะที่ร้อยละ 11.7 ระบุอื่นๆ อาทิ ลดการหุงต้มอาหาร/ซื้ออาหารปรุงสำเร็จ เพื่อประหยัดแก๊ส เป็นต้น

ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ ยังค้นพบว่า แนวคิดการรณรงค์เดินทางด้วยรถจักรยานเพื่อช่วยประหยัดพลังงานนั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.4 เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 19.0 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 14.6 ไม่มีความเห็น

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอย่างเกือบร้อยละ 80.0 เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้าง "เลนจักรยาน" สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถจักรยาน ในขณะที่ร้อยละ 9.5 ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่ปลอดภัย / เสียพื้นที่ถนนและทางเดินเท้า / คนไทยรักความสบายเกินไป เป็นต้น

และร้อยละ 10.6 ไม่มีความเห็น และเมื่อสอบถามถึงความคิดที่จะเปลี่ยนมาใช้จักรยานในการเดินทาง ถ้ามี "เลนจักรยาน" พบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 52.4 คิดว่าจะเปลี่ยนมาใช้จักรยาน ร้อยละ 30.2 คิดว่าไม่เปลี่ยน เพราะ ไม่ปลอดภัย / อากาศร้อนเกินไป / คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่เข้มงวดจับกุมคนกระทำผิดกฎจราจรขับขี่แย่งเลนจักรยาน เป็นต้น และร้อยละ 17.4 ไม่มีความเห็น

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำมันราคาแพงในขณะนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 65.1) รณรงค์ลดการใช้พลังงาน/ประหยัดน้ำมันใช้ความเร็วที่เหมาะสม (ร้อยละ 58.0) เร่งปรับปรุงคุณภาพของระบบขนส่งมวลชนให้เป็นทางเลือกใหม่ให้ได้ (ร้อยละ 56.4) สร้างเลนจักรยาน (ร้อยละ 50.1) และตรึงราคาน้ำมัน (ร้อยละ 44.1) ตามลำดับ

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ค้นพบ คือ ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า ตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 42.5 ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 14.0 เชื่อมั่น และร้อยละ 43.5 ไม่มีความเห็น เพราะไม่รู้ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาล / ไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี / ยังไม่มีความชัดเจนในทางการเมือง เป็นต้น

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สาธารณชนที่มองว่าปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตมีมากกว่ากลุ่มคนที่มองว่าปัญหาการเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและความคิดเห็นของประชาชนมากกว่าปัญหาวิกฤตการเมืองในหลาย ๆ มิติ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบตัวของประชาชน

ผลกระทบในทางลบประกอบกับผลวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนที่ไม่ได้ยึดแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพราะจากการสำรวจในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีเงินเก็บออมน้อยกว่าเงินเดือนที่ได้รับ ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน จำนวนมากที่ซื้อสินค้ามาแต่ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่และดำเนินชีวิตบนความประมาททางเศรษฐกิจ อยากซื้ออะไรก็ซื้อ

นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่เอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่นอีกด้วย

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมกำลังมาอยู่ในช่วงเดียวกันย่อมส่งผลทำให้อำนาจทางการเมืองของรัฐบาลอ่อนแอ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และคุณภาพชีวิตของประชาชนจะตกต่ำลง

แต่ถ้ามีการมองว่าสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศขณะนี้ เป็นเหมือนการทดสอบประชาชนทุกคนทั้งประเทศ ร่วมมือช่วยกันพาให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปให้ได้ โดยมองว่าทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอยู่ในช่วงของการปรับฐานให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งทางออกที่เป็นไปได้น่าจะมีดังต่อไปนี้

1. ประชาชนทุกคนต้องดูแลตนเอง ดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาทและนำหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาใช้อย่างยั่งยืน ลดละการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ควรปรับทัศนคติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับสภาพปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นด้วยการต่อต้านมากกว่าที่เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

2.  ผู้ประกอบการธุรกิจควรยอมได้กำไรน้อยลงเพื่อแสดงสปิริต ช่วยเหลือสังคมที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ โดยน่าจะนำหลักประชานิยมจากฝ่ายการเมืองมาใช้บ้าง

3. ฝ่ายการเมืองทั้งรัฐบาลรักษาการ และอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ควรซ้ำเติมสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้สังคมวุ่นวายไปมากกว่านี้ ใครพูดอะไรไว้อย่างไร เช่น การไม่ยึดติดกับตำแหน่ง การประกาศไม่รับตำแหน่งทางการเมือง หรือการเว้นวรรคทางการเมือง เป็นต้น

ในขณะที่ฝ่ายค้านควรเสนอบุคคลที่จะสร้างความหวังและดึงความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมาได้ ซึ่งดูเหมือนว่าอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านยังหลงประเด็นจมอยู่กับเรื่องเกมการเมือง

ทั้งๆ ที่ขณะนี้ต้องเสนอตัวบุคคล เสนอนโยบายแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้แล้ว นอกจากนี้ ความร้อนแรงทางการเมืองน่าจะลดทอนลงไปได้ ถ้าองค์กรอิสระ เช่น กกต.  ปปช. วุฒิสภา สามารถฟื้นความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนกลับคืนมา

โดยแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆ ที่ตนเองมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นในขณะนี้ และควรเร่งจัดวางระบบกฎเกณฑ์รองรับแนวทางการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ที่กำลังจะมาถึง

4.  ในขณะที่อำนาจทางการเมืองของรัฐบาลกำลังอ่อนตัวลง และองค์กรอิสระกำลังประสบปัญหากับวิกฤตศรัทธาของประชาชน ความหวังและความเชื่อมั่นของประชาชน จึงไปอยู่ที่การทำงานของข้าราชการประจำ ซึ่งถ้าหน่วยงานและกระทรวงใดมีผู้บริหารที่คอยหาช่องทางทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่อยากทำงาน

ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชนทั่วไปก็จะรับกรรมกับคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ การเลือกปฏิบัติ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหายาเสพติดที่กำลังกลับมา

http://www.bangkokbiznews.com/2006/05/07/w001_101322.php?news_id=101322