หัวข้อ: อดเลยตรู : ศาลสั่งไม่รับฟ้อง คดีวาณิชฟ้องมติชน อันเนื่องมาจาก"กรณีเทกโอเวอร์" เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 07-05-2006, 05:51 แมลงวันในไร่ส้ม
ศาลสั่งไม่รับฟ้อง คดีวาณิชฟ้องมติชน อันเนื่องมาจาก"กรณีเทกโอเวอร์" ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน ไม่รับฟ้องคดีที่ วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พิเชียร คุระทอง บรรณาธิการอำนวยการมติชนรายวัน สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการมติชน และบริษัท มติชน เป็นจำเลย 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เรียกค่าเสียเสียหาย 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ต้นเรื่องมาจากการเข้าเทกโอเวอร์มติชน ของบริษัทในเครือแกรมมี่ เมื่อเดือนกันยายน 2548 ขอย้อนเหตุการณ์ ด้วยข้อเขียนของ ฐากูร บุนปาน บ.ก.ข่าวสด ผู้อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ทำหน้าที่เจรจา ซึ่งได้เขียนเล่าเบื้องหลังบางตอนไว้ในหนังสือที่ระลึกขึ้นบ้านใหม่ข่าวสด 9 เมษายน 2549 ตอนหนึ่งว่า มติชนมีผู้ถือหุ้นต่างประเทศอยู่ราวๆ 60 ราย ถือหุ้นรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 60 ผู้ถือหุ้นเหล่านี้จะเดินทางมาพบปะพูดคุยกับบริษัททุกปี ไม่เคยมีเค้าลางว่าใครจะไปรวบรวมหุ้นเหล่านี้ให้กลายเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นบล็อคใหญ่ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หมายเลขหนึ่งทันที มีข่าวระแคะระคายบ้างว่าคนนั้นคนนี้จะเข้ามาซื้อหรือถือหุ้น ได้ฝากถามผ่านช่องทางต่างๆ ไป คำตอบคือไม่มี "เมื่อเรียกพี่เรียกน้องกันแล้ว บอกมาอย่างนี้ก็ต้องให้เกียรติเชื่อกันไว้ก่อนว่า ข่าวลือคงไม่เป็นจริง" "12 กันยายน 2548 เช้าตรู่ นักข่าวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งให้ทราบว่า มีการซื้อขายหุ้นมติชนแบบบิ๊กล็อต จำนวน 19 ล้านหุ้น หรือประมาณร้อยละ 10...ตกบ่าย รายงานข่าวเข้ามาครบถ้วนว่า แกรมมี่เข้ามาซื้อหุ้นมติชนไปแล้วร้อยละ 32" ฐากูรเล่าวว่า ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการมติชน แจ้งมาว่า ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานแกรมมี่ ขอนัดพบกินข้าวเย็นในเวลา 20.00 น. คืนนั้น นอกจาก ขรรค์ชัย, ฐากูร แล้ว จากมติชน ยังมี สมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการมติชน และ ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้จัดการทั่วไปของมติชน ร่วมไปในนัดหมายดังกล่าว "จำได้ว่า คุณขรรค์ชัยกล่าวขอซื้อหุ้นคืนจากคุณไพบูลย์ โดยแนะด้วยว่า แกรมมี่ถือแค่ 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ น่าจะกำลังดี ความข้อนี้ คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ และ คุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ ที่นั่งร่วมวงอยู่ในฐานะผู้มากับคุณไพบูลย์ น่าจะเป็นพยานได้" นั่นคือตอนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาวเครือมติชน ที่มีชื่อของวาณิชเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนคำสั่งศาล มีรายละเอียดบางตอนดังนี้ โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 สรุปว่า เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2548 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันใส่ความโจทก์ด้วยการโฆษณาในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และทางทำมาหาได้ของโจทก์เป็นเงิน 30 ล้านบาท อีกทั้งถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม.83, 90, 326, 328 และ 332(2) และ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ม.84 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท มหาชน จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือพิมพ์ และพิมพ์หนังสือจำหน่าย จำเลยที่ 1-2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2548 บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อหุ้นของจำเลยที่ 3 จำนวนมากพอที่จะเข้าบริหารจำเลยที่ 3 นายไพบูลย์ปรึกษากับโจทก์เกี่ยวกับการเข้าบริหารงานจำเลยที่ 3 โจทก์แนะนำนายไพบูลย์ว่า ไม่ควรเข้าไปเปลี่ยนแปลงการบริหารของจำเลยที่ 3 แต่ให้นายไพบูลย์ช่วยด้านการตลาด ต่อมานายไพบูลย์โทรศัพท์ติดต่อนายขรรค์ชัย ประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงาน จำเลยที่ 3 นัดเจรจากันที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอทเอราวัณ วันที่ 12 กันยายน 2548 เวลา 20.00 น. มีการตกลงให้นายขรรค์ชัยและกรรมการชุดเดิมบริหารงานจำเลยที่ 3 ต่อไป ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) จะช่วยด้านการตลาด การที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ทำการซื้อหุ้นจำเลยที่ 3 สื่อมวลชนเสนอข่าวและวิจารณ์ว่า ไม่ควรเข้าไปซื้อหุ้นของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เขียนในบทความเรื่อง "มิตรแท้มิตรเทียม" ลงในมติชนรายวัน มีข้อความว่า "วาณิช จรุงกิจอนันต์ เกี่ยวก้อยกันไปกับไพบูลย์แกรมมี่ เพื่อประกาศยึดกิจการของมติชนจากมือคุณขรรค์ชัย" ไม่เป็นความจริง เนื่องจากนายไพบูลย์ไม่ได้ประกาศยึดกิจการของจำเลยที่ 3 ฯลฯ เนื่องจากโจทก์พูดคุยกับนายไพบูลย์ไม่ให้เข้าไปเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเดิมของจำเลยที่ 3 ข้อความในบทความที่ว่า "ยิ่งในหมวดที่ว่าด้วยมิตรร่วมสุข ร่วมทุกข์ วาณิช จรุงกิจอนันต์ สอบตกทั้งหมวด ไม่ว่าจะเป็นการบอกความลับของเพื่อน รวมทั้งเมื่อเพื่อนมีภยันตรายไม่ทอดทิ้งกัน" ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการซื้อขายหุ้นไม่ได้เป็นความลับ ข้อความที่ว่า "สถานภาพของวาณิชในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงมิตรเทียมเท่านั้น แต่พ่วงด้วย กินบนเรือนขี้บนหลังคา และความเป็นไส้ศึก หนอนบ่อนไส้" ไม่เป็นความจริง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ว่า เป็นคนเนรคุณ ทรยศหักหลัง เข้าทำดีเป็นพวกเพื่อบ่อนทำลายและนำความลับของเพื่อนไปเปิดเผย ตามหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2548 เป็นเหตุให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากผู้อ่าน โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เขียนบทความในหนังสือของจำเลยที่ 3 คอลัมน์ เพลงลูกทุ่ง ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน คอลัมน์ เข้าครัว ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และได้รับรางวัลดีเด่นหนังสือสำหรับเด็กของกระทรวงศึกษาธิการ และวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เขียนบทความหัวข้อเรื่องมิตรแท้กับมิตรเทียม ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน สืบเนื่องจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือเรียกทั่วไปว่า บริษัท แกรมมี่ มีนายไพบูลย์ เป็นประธานกรรมการ และโจทก์เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ เข้าซื้อหุ้นของจำเลยที่ 3 จำนวนมากพอที่จะเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก ขณะเดียวกัน โจทก์ยังเขียนบทความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน และหนังสือรายสัปดาห์ของจำเลยที่ 3 มีความเป็นเพื่อนสนิทคุ้นเคยและสังสรรค์กันกับบุคลากรของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เขียนบทความด้วยความรู้สึกน้อยใจโจทก์ เคลือบแคลงสงสัยโจทก์เกี่ยวพันที่บริษัทดังกล่าวเข้าซื้อหุ้นของจำเลยที่ 3 เปรียบเทียบกับคำว่า มิตรแท้ในนิยามพุทธศาสนา มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่มิตรแท้แต่อย่างใด แม้จะมีบทสรุปว่ากินบนเรือนขี้บนหลังคา และความเป็นไส้ศึก หนอนบ่อนไส้ ซึ่งมีความหมายว่า เนรคุณ ไม่สำนึกบุญคุณ และเข้ามาทำดีเป็นพวกเพื่อบ่อนทำลาย เป็นข้อความที่เลื่อนลอยไม่ยืนยันข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเพื่อนที่คบไม่ได้อย่างไร อีกทั้งข้อความดังกล่าวไม่รุนแรงถึงขนาดทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนเนรคุณหรือบ่อนทำลายเพื่อน ขาดความเชื่อถือ หรือน่าจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง บทความดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 เขียนไม่หมิ่นประมาท คดีโจทก์ไม่มีมูลเป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.46 จึงต้องฟังว่าบทความดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 เขียนไม่หมิ่นประมาท จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ฟ้องด้วย พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ มติชนสุดสัปดาห์ .................... นึกว่าจะได้ฉลองกับ ไอ้วา ซัก มื้อสองมื้อ...อดเลยตรู... |