หัวข้อ: อาการเหมือนจะรู้ตัว เริ่มหัวข้อโดย: soco ที่ 05-05-2006, 12:08 (http://www.thairath.co.th/2549/politics03/May/library/05/s_politic.jpg) ขึ้นเป็นวาระงานทางการจากทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง วันที่ 5 พฤษภาคมนี้ และในช่วงค่ำ พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นประธานในงานสโมสรสันนิบาตและ นำกล่าวถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการหวนกลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ หลังเก็บข้าวของออกจากห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ส่งไม้ให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รับหน้าเสื่อรักษาการนายกรัฐมนตรี แน่นอน โดยเงื่อนไขที่อยู่ระหว่างปลีกวิเวก เว้นวรรค หรือ ไม่เว้นวรรค ยังสับสน อยู่ๆ ทักษิณ กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ มันก็เลยฮือฮานิดหน่อย แต่ถ้าไม่คิดจับผิดอะไรกันมากไป อันนี้ก็พอเข้าใจได้ระดับหนึ่งว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญ เป็นเรื่องการถวายพระพร โดยสถานะของผู้นำประเทศที่เข้าร่วมพิธีควรต้องชัดเจน ลักปิดลักเปิดไม่ได้ อย่างไรเสีย โดยสถานะทางกฎหมาย วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังดำรงอยู่ในฐานะ นายกรัฐมนตรีรักษาการของประเทศไทย ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง แต่โดยโมเมนตัมการเมือง ก็ยังมองไม่เห็น ทักษิณ กลับมาทำหน้าที่เฉพาะกิจจะส่งผลอะไร เท่าที่เห็นจนถึงนาทีนี้ ทักษิณ ก็ยังนิ่งสงบปากสงบคำ ไม่หือไม่อือกับใคร ขนาดลูกพรรคไทยรักไทยออกมาท้าของแข็ง ลองของศาล ขวางโมฆะเลือกตั้ง เบื้องหน้าเบื้องหลัง ทักษิณ น่าจะไม่รับรู้ด้วยซ้ำกับคิวที่รัฐมนตรีใหญ่ระดับแกนนำ ภาคของพรรคไทยรักไทยเผลอหลุดปากกลางวงเหล้า เลือกตั้งใหม่ใช้คนละล้านห้า สี่ร้อยเขตปาเข้าไปเท่าไหร่ จะเอาเงินจากไหนวะ ทักษิณ ไม่อยู่ในสถานะที่จะกุมสภาพได้เหมือนเก่า เอาเป็นว่า ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตาในเวลา 10.30 น. วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม แถลงคำวินิจฉัยก่อนลงมติ โมฆะ หรือ ไม่โมฆะ และเมื่อโฟกัสจาก 4 ปมใหญ่ที่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตั้งแท่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 1. การจัดให้เลือกตั้งหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาในเวลาเพียง 37 วัน 2. กรณีที่ กกต.ออกประกาศให้มีการจัดเลือกตั้ง โดยหันคูหาแบบใหม่ที่ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับ 3. การที่ กกต.ลงมติรับรองผลการเลือกตั้งทางโทรศัพท์ โดยไม่ครบองค์ประชุม 4. ผลสอบของ กกต.ในกรณีที่พบว่า พรรคการเมืองใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การว่าจ้างให้พรรคเล็กส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อเอามาประเมินกับอาการนอตหลุดของ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. หลักฐานทั้งหมดเกิดจากการกระทำของสื่อมวลชนที่มีจิตวิปริต วิปลาส อุตริ ใจชั่ว ใช้เทคโนโลยีมาจ้องจับผิดเพื่อทำลายผม ยืนยัน กกต.ทำทุกอย่างถูกต้อง ตามกฎหมายทุกประการ อยู่ๆ วาสนา เจาะจงงัดเอาปมจัดคูหาเลือกตั้งมาด่าสื่อมวลชนแรงๆ และบังเอิญ พล.ต.อ.วาสนาเพิ่งเดินทางเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าหนึ่งวัน ขณะเดียวกัน นายผัน จันทรปาน ตุลาการผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แพลมไต๋ล่วงหน้า ส่วนตัวพร้อมลงมติ โดยไม่ต้องเรียกหลักฐานข้อมูลจากผู้ร้องและ กกต.มาเพิ่มอีก เพราะจากการชี้แจงของ พล.ต.อ.วาสนาและนายปริญญา นาคฉัตรีย์ กกต. ก็เพียงพอต่อการวินิจฉัย เป็นไปได้หรือไม่ คิวนี้รู้ล่วงหน้ากันแล้วหวยจะออกอะไร กรณีจัดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน มีปัญหา เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยมีหลักฐานเป็นภาพข่าวทางโทรทัศน์และ หนังสือพิมพ์ที่ซูมให้เห็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง กากบาทในช่องลงคะแนน เป็นหลักฐานฟ้องว่า การลงคะแนนไม่เป็นความลับ ช่องเล็กๆรูเดียวที่จะสั่งโมฆะเลือกตั้งได้. ทีมข่าวการเมือง http://www.thairath.co.th/news.php?section=politics&content=4798 (http://www.thairath.co.th/news.php?section=politics&content=4798) หัวข้อ: Re: อาการเหมือนจะรู้ตัว เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 06-05-2006, 02:01 เคยตอบในราชดำเนินไปตั้งนาน กระทู้ลิ่วล้อที่บอกว่า "โมฆะยังไง"
ก็รูเดียวนี่แหละ เลือกตั้งไม่เป็นความลับ ก็เรื่องหันคูหาไม่ถูกต้อง.... พอเลือก สว. กกต.เลยกลับลำไปสู่การจัดคูหาแบบเดิม คำถามคือ ก็ในเมื่อแต่ใหนแต่ไร ไม่เคยเบี่ยงเรื่องคูหา ทำไมเลือกตั้ง สส. ทั่วประเทศถึงมีคำสั่งแบบนั้น...มีเจตนาอะไร แถมมาสารภาพ ในการเลือกตั้ง สว. อีกที ยิ่งย้ำว่า...ทำไปครั้งนั้น..."มันผิดเต็มประตู" หัวข้อ: Re: อาการเหมือนจะรู้ตัว เริ่มหัวข้อโดย: บุรุษไร้นาม ที่ 06-05-2006, 23:56 ไหนจะ ติดโฆษณา เบอร์ 2 ในคูหาด้วย
หัวข้อ: Re: อาการเหมือนจะรู้ตัว เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 07-05-2006, 00:37 ย้ำอีกทีบทความอาจารย์มีชัย
................................. ภารกิจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งนั้นแม้จะเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ใช้กำลังคน กำลังเงินมาก ทั้งยังต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดอย่างกระชั้นชิด แต่การที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยซึ่งรับภาระนั้นมานับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็สามารถกระทำได้โดยไม่เคยเกิดปัญหามาก่อน ปัญหาที่เกิดความคลางแคลงใจ หรืออยากให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่านั้น ก็คือ การจัดการเลือกตั้งให้เป็นไป โดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งแม้กระทรวงมหาดไทยจะยืนยันว่าตนสามารถทำได้ แต่ผู้คนก็ไม่แน่ใจ เพราะกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงสร้างองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นมาแทนที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดความอิสระอย่างเต็มที่ รัฐธรรมนูญจึงมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษ สำหรับกระบวนการการได้มาซึ่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอำนาจหน้าที่ของ กกต. ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจนั้น เกือบจะเรียกว่า เป็นองค์กรเดียวภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมากที่สุด คือ มีอำนาจทั้งการนิติบัญญัติ (การออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง) อำนาจในการบริหารจัดการ และอำนาจในการตุลาการ (การวินิจฉัยตีความ การวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง และการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่อันเป็นผลให้สมาชิกภาพของ สส. หรือ สว.ต้องสิ้นสุดลง) ด้วยความอิสระและอำนาจที่มากมายเช่นนั้น รัฐธรรมนูญ ฝากความหวังให้เป็นหน้าที่ของ กกต.เพียงเรื่องเดียว คือ การจัดการเลือกตั้งให้เป็นไป โดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเพื่อให้สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็วภายในเวลาอันจำกัด รัฐธรรมนูญจึงให้เครื่องมือที่เป็นดุลพินิจไว้แก่ กกต. ในการชี้ขาดแตกต่างจากมาตรฐานที่ใช้ในวงการศาล กล่าวคือ เพียงแต่มีหลักฐาน อันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้ง....นั้น...มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต. ก็สามารถสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ อัน ความเที่ยงธรรม นั้น มิได้หมายถึงความเที่ยงธรรมเฉพาะตอนไปเลือกตั้ง หากแต่หมายถึงกระบวนการทั้งกระบวนการที่จะต้องมีความเที่ยงธรรม และเป็นความเที่ยงธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ พรรคการเมืองทุกพรรค ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน และประชาชนผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่นั้น ปรากฏตามข่าวว่าฝ่ายบริหารได้หารือกับ กกต.ว่าจะสามารถเลือกตั้งได้เร็วที่สุดเท่าใด เพราะรัฐบาลต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด ปรากฏว่า กกต.คำนวณระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว ก็ตอบกลับไปว่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วที่สุดในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ แล้ว กกต.ก็นับถอยหลังตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อกำหนดวันที่พรรคการเมืองจะต้องส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และวันที่รับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นระยะเวลาน้อยที่สุดที่จะพึงทำได้ตามกฎหมาย เพื่อดำเนินการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดตามความประสงค์ของรัฐบาล ถ้านับแต่วันยุบสภาเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ถึงวันที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ก็เป็นระยะเวลาเพียง ๓๕ วัน ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดวันสำหรับการเลือกตั้งในกรณีที่อายุของสภาสิ้นสุดลง ไว้ ๔๕ วัน (เพราะรู้กันล่วงหน้าแล้วว่าอายุของสภาจะสิ้นสุดลงเมื่อไร) และสำหรับการเลือกตั้งในกรณีที่มีการยุบสภา รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน (เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ทุกฝ่ายจึงต้องใช้เวลาในการเตรียมการมากขึ้น) การที่รัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาไว้แตกต่างกันเช่นนั้น ก็เพราะคำนึงถึง ความเที่ยงธรรม ต่อทุกฝ่าย ปัญหาอยู่ที่ว่าในการขันอาสาต่อรัฐบาลในการจัดการเลือกตั้งให้รวดเร็วตามความประสงค์ของรัฐบาลนั้น กกต.ได้คำนึงถึง ความเที่ยงธรรม ที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ตามหน้าที่หลักของ กกต. ด้วยหรือไม่ กกต. จะคำนึงหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่พรรคการเมืองที่ไม่ใช่เป็นฝ่ายรัฐบาลและประชาชนทั่วไปส่วนหนึ่งเขาเห็นว่า กกต.ไม่ได้ให้ความเที่ยงธรรมเพียงพอ อาการ ประชาต่อต้าน (civil disobedience) จึงเกิดให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในการชุมนุม และจากผลของการเลือกตั้งที่ติดตามมา การที่พรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายค้านตัดสินใจร่วมกันไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งก็ดี จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยลงคะแนน ไม่ใช้สิทธิ ที่มีอยู่อย่างท่วมท้นก็ดี จำนวนบัตรเสียที่ผู้ใช้สิทธิเขียนข้อความต่อต้านก็ดี การปฏิเสธไม่ไปเลือกตั้งที่มีเป็นจำนวนมากก็ดี สมควรเป็นเครื่องยืนยันให้ กกต.ได้ตระหนัก ถึงการต่อต้านที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และเมื่อพรรคการเมืองและประชาชนส่วนหนึ่งไม่เชื่อในความเที่ยงธรรมในการกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต. เสียแล้ว ผลที่ติดตามมาจึงสร้างปัญหาที่กฎหมายมิได้คาดการณ์ไว้และครอบคลุมไม่ถึงหลายเรื่อง ที่ทำให้ กกต.ถึงทางตัน ในการแก้ไขทางตันแต่ละเรื่อง ดูเหมือน กกต. ก็มีอาการ แตกตื่น ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จนลืมภารกิจสำคัญในเรื่อง สุจริตและความเที่ยงธรรม อีกเช่นกัน เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏให้เห็นถึงแรง ประชาต่อต้าน แล้ว แทนที่ กกต.จะทบทวนถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วเสียให้ถูกต้อง กกต.กลับเดินหน้าต่อไป การที่ กกต.กัดฟันเดินหน้าต่อไป ก็ด้วยเหตุผลที่เกรงว่าจะไม่สามารถเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันตามมาตรา ๗/๒ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ประการหนึ่ง กับเกรงว่าจะเปิดสภาไม่ทันภายในสามสิบวันตามมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญอีกประการหนึ่ง ความกริ่งเกรงในเรื่องระยะเวลาสามสิบวันตามมาตรา ๗/๒ นั้น พอจะเข้าใจได้ แต่ถ้า กกต.ไตร่ตรองให้ดีระหว่างภารกิจหลักในการสร้างความเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด กับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายลูกนั้น กกต.ซึ่งทรงคุณวุฒิอยู่แล้วคงจะตระหนักดีว่าควรจะเลือกทางใด แต่ความกริ่งเกรงว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสามสิบวันตามมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญไม่ทันนั้น น่าจะเป็นความกริ่งเกรงที่ กกต. ไปคิดแทนฝ่ายบริหาร เพราะ กกต.ไม่มีหน้าที่ไปเสนอพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภา บทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๕๙ ของรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารที่รักษาการอยู่ ตีกินรักษาการไปเรื่อย ๆ โดยไม่นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก จึงไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องไปกังวล กกต.มีหน้าที่เพียงดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จสมบูรณ์และเกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม ตราบใดการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ส่วนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนั้น ถ้าการไม่แล้วเสร็จนั้นไม่ใช่ความผิดของ กกต. ใครก็ไม่อาจกล่าวหาว่า กกต.จงใจฝ่าฝืนกฎหมายได้ เมื่อพรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายค้านไม่ส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตจึงมีผู้สมัครจากพรรครัฐบาลเพียงคนเดียว ซึ่งถ้าเป็นในเขตที่เป็นฐานเสียงของพรรครัฐบาลก็คงไม่มีปัญหา เพราะถึงอย่างไรก็คงมั่นใจได้ว่าผู้สมัครจะได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ ๒๐ ของผู้มีสิทธิลงคะแนน แต่ในเขตที่เป็นฐานเสียงของพรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านมาก่อน โดยเฉพาะในภาคใต้และใน กทม. ประกอบกับอาการ ประชาต่อต้าน มีแพร่หลายยิ่งขึ้น ย่อมยากที่จะหวังให้ได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ ๒๐ ตามที่กฎหมายกำหนด การระดมพรรคเล็ก ๆ ให้ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในเขตต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างปิดไม่มิด กกต.ไม่ทราบถึงกระบวนการดังกล่าวจริง ๆ หรือ ในเมื่อได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโจ่งแจ้งว่ามีการจ้างให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มีการให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ของ กกต. เพื่อแก้ไขข้อมูลของ กกต. ให้สอดรับกับการที่พรรคเล็ก ๆ จะสามารถหาคนมาลงสมัครแข่งขันได้ จริงอยู่ กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นดำเนินการสอบสวน แต่ กกต.ก็มิได้ดำเนินการตามมาตรา ๘๕/๖ คือสั่งงดการลงคะแนนเลือกตั้งไว้ก่อน ตรงกันข้าม กกต.กลับเดินหน้าต่อไปโดยไม่นำพาต่อผลที่จะเกิดขึ้น อันเป็นการปิดหนทางของ กกต.เองในอันที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ผลการสอบสวนในเวลาต่อมาก็ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดจริง จน กกต.มีมติให้ดำเนินการเพื่อยุบพรรคการเมืองเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคและเจ้าหน้าที่ของ กกต. ส่วนความเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองใหญ่ กกต.ยังคงให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป เมื่อการเลือกตั้งในวันที่ ๒ ผ่านไปแล้ว อันที่จริง กกต.ก็ยังมีโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่จะแก้ไขให้เกิดความถูกต้อง กล่าวคือ งดการประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๕/๗ แต่ กกต.ก็มิได้กระทำ กกต.คงไม่ต้องตอบคำถามใคร เพราะเป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของ กกต.ในการใช้ดุลพินิจ แต่ กกต.ต้องตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ว่า กกต.ทั้ง ๔ ท่าน เชื่อโดยสุจริตใจจริงหรือว่า ด้วยกระบวนการฉ้อฉลที่ปรากฏจากการสอบสวนของคณะอนุกรรมการที่ กกต.ตั้งขึ้นนั้น การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมจริง ๆ อย่างไม่มีข้อกังขา นอกจากนั้น กกต.ยังควรตอบคำถามในใจตัวเองอีกด้วยว่า ในการจัดการเลือกตั้งครั้งที่สองสำหรับเขตที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวซึ่ง กกต.จัดให้มีการรับสมัครใหม่ กกต.ดำเนินการไปเพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเพื่อให้การเลือกตั้งแล้วเสร็จทันภายในสามสิบวันโดยไม่นำพาต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมที่เป็นภารกิจหลักของ กกต. การที่ กกต.จะทำหน้าที่ต่อไปได้อย่างมั่นใจและน่าเชื่อถือ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำตอบดังกล่าวที่ กกต. ตอบให้แก่ตัวเองในใจ และการกระทำที่เกิดจากผลแห่งคำตอบนั้น สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่สองที่มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน นั้น กกต.ยังมีทางแก้ไขโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘๕/๗ ได้ ส่วนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒ เมษายนที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว ก็คงเหลือทางออกสุดท้ายเพียงทางเดียว คือการอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘๕/๙ สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่เกี่ยวข้องและดำเนินการเลือกตั้งใหม่ โดยต้องเข้าใจว่าความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมนั้น แม้จะเกิดจากผลแห่งการกระทำของคนอื่นหรือพรรคการเมืองอื่น ก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๘๕/๙ ได้ กกต.ทั้ง ๔ ท่าน จะนอนหลับฝันดีหรือฝันร้ายต่อไป ย่อมขึ้นอยู่กับผลแห่งคำตอบของตนที่ตอบโดยอาศัยความสุจริตเป็นที่ตั้ง และการกระทำภายหลังจากตอบคำถามนั้นแล้ว แม้จะเห็นใจในภาระหน้าที่และเอาใจช่วย แต่ก็ได้แต่เพียงหวังว่า กกต. ทั้ง ๔ ท่าน จะไม่ต้องนอนหลับฝันร้ายไปตลอดชีวิต มีชัย ฤชุพันธุ์ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๙ หัวข้อ: Re: อาการเหมือนจะรู้ตัว เริ่มหัวข้อโดย: สาธุ ที่ 07-05-2006, 09:59 ในการแก้ไขทางตันแต่ละเรื่อง ดูเหมือน กกต. ก็มีอาการ แตกตื่น ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จนลืมภารกิจสำคัญในเรื่อง สุจริตและความเที่ยงธรรม อีกเช่นกัน
เห็นด้วยกับ อาจารย์ มีชัย ฤชุพันธุ์ ครับ ขอบคุณ คุณแคนที่นำบทเขียนดีๆของอาจารย์มาให้อ่านครับ |