หัวข้อ: "โนโหวต"......ช่องหายใจของปชช. เริ่มหัวข้อโดย: THAIBUFFALO ที่ 03-05-2006, 03:13 http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=4535
วันนี้ (2 พ.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวผ่านทางเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ดอทคอม (meechaithailand.com) ถึงแนวคิดการผลักดันให้มีช่องไม่ใช้สิทธิ (no vote) ในกฎหมายว่า นับแต่มีการเลือกตั้งมาในประเทศไทย ยังไม่เคยมีช่อง "ไม่ใช้สิทธิ" ในบัตรลงคะแนน การมีช่องดังกล่าวในบัตรลงคะแนนมีขึ้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) เหตุทั้งนี้ก็เพราะตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมา ยังไม่เคยมีการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ที่บุคคลจะต้องไปลงคะแนน เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับให้ผู้มีสิทธิต้องไปใช้สิทธิ ผมจึงตั้งคำถามในชั้นที่มีการร่างกฎหมายเลือกตั้งว่า เมื่อบังคับให้ผู้คนเขาไปใช้สิทธิแล้ว หากเขาเห็นว่า พรรคการเมืองส่งใครก็ไม่รู้ที่เขาไม่ไว้วางใจเลยมาสมัคร จะมีช่องทางอะไรให้เขาบ้างไหม ถ้ากฎหมายไม่ได้บังคับให้เขาต้องไปลงคะแนน หากเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้น เขาก็ไม่ไปลงคะแนนได้ แต่เมื่อกฎหมายบังคับเขาเช่นนี้ ก็สมควรมีทางออกให้เขาด้วย นายมีชัย กล่าวต่อว่า ในขณะนั้นมีบ้าง บางคนที่ไม่เห็นด้วย โดยเกรงว่าถ้าเกิดมีคนลงคะแนนในช่อง "ไม่ใช้สิทธิ" จำนวนมาก พรรคการเมืองก็อาจเสียหน้าได้ แต่เขาให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ ก็สามารถทำบัตรให้เสีย หรือส่งบัตรเปล่าได้ ซึ่งผมก็ชี้แจงว่า การทำบัตรเสียนั้นโดยเจตนานั้น เป็นความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนการส่งบัตรเปล่านั้น กฎหมายก็ถือว่าบัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมาย เป็นบัตรเสียเช่นกัน ในที่สุดเสียงข้างมากก็เห็นด้วย และกำหนดไว้ในกฎหมายให้มีช่อง "ไม่ใช้สิทธิ" หรือ no vote พร้อมทั้งบังคับด้วยว่า กรรมการเลือกตั้งต้องประกาศให้ทราบทั่วกันด้วยว่ามีผู้ "ไม่ใช้สิทธิ" เป็นจำนวนเท่าไร เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรก จำนวนผู้ "ไม่ใช้สิทธิ" แม้จะมีจำนวนพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะมีผลอะไรต่อการเลือกตั้ง จึงไม่มีใครให้ความสนใจกับช่อง "ไม่ใช้สิทธิ" อีก นายมีชัย กล่าว และว่า แต่เมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ ช่อง "ไม่ใช้สิทธิ" จึงมีบทบาทอย่างเด่นชัด และกลายเป็นช่องหายใจสำหรับประชาชนจำนวนมากที่มีความรู้สึกอึดอัดขัดข้องต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และหลายสิบเขตเลือกตั้งผู้ได้รับเลือกตั้งได้รับคะแนนน้อยกว่า no vote ซึ่งนับว่าเป็นการสมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ประสงค์จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง การแสดงออกในการลงคะแนน no vote จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทในทางการเมืองของประชาชนอย่างสำคัญ เจ้าของเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ดอทคอม กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ความรู้สึกอึดอัดก็ใช่ว่าจะหมดไป เพราะยังรู้สึกกันว่า จำนวนคะแนน no vote ถึงแม้จะมากมายเพียงไร ก็ยังไม่มีความหมายในทางกฎหมาย เพราะไม่ได้มีผลต่อการได้รับเลือกตั้งของคนที่ได้คะแนนสูงสุด จะเป็นไปได้ไหมที่หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า จะแก้ไขให้ คะแนน no vote มีบทบาททางกฎหมายขึ้น เช่น กำหนดว่า คนที่จะได้รับเลือกตั้ง จะต้องได้คะแนนมากกว่า คะแนน no vote โดยถือว่าถ้าคะแนน no vote มีมากกว่าคนที่ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นการแสดงเจตนาของประชาชนว่าไม่ต้องการผู้สมัครทุกคนที่สมัครในเขตนั้น และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยห้ามผู้สมัครเดิมลงสมัครใหม่ เพราะประชาชนได้ปฏิเสธไปแล้ว ต้องเว้นวรรคไปสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นเสียก่อน จึงค่อยมาสมัครในคราวเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ด้วยวิธีนี้ คะแนน no vote ก็จะมีความหมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นมาตรการหรือเป็นการถ่วงดุลพรรคการเมืองที่จะ "มั่ว" ในการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งยังจะทำให้ประชาชนมีบทบาทในทางการเมืองเพื่อต่อต้านพรรคการเมืองที่ไม่ดีได้ นายมีชัย กล่าว และว่า สำหรับการบังคับให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ตนเห็นว่ายังสมควรอยู่ เพราะเมื่อทุกคนประสงค์จะได้ระบอบประชาธิปไตย และการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรเป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีสิทธิที่จะต้องไปใช้สิทธินั้น http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=4535 =เป็นไปได้ไหม???.....น่าสนใจครับ= [/color][/color] |