หัวข้อ: แค้นของกวี เริ่มหัวข้อโดย: เลิศภพจบพสุธา ที่ 02-05-2006, 12:41 ผมคัดลอก ข้อเขียน ของ อ.เทาชมพู วิชาการ ดอทคอม มาให้อ่านเอาความครับ
*********** ใครที่ชอบอ่านวรรณคดีไทยคงเคยซาบซึ้งตรึงใจกับคำรำพันรักของกวีไม่มากก็น้อย เพราะขึ้นชื่อว่ากวีย่อมมีอารมณ์อ่อนไหว ถ้ารักก็รักหวานชวนเคลิบเคลิ้ม บรรยายความรักว่ายิ่งใหญ่ยั่งยืนกว่าดินฟ้ามหาสมุทร อย่างสุนทรภู่แต่งให้พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน ถึงอยู่ในใต้ฟ้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมประทุมทอง เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรรณนาความรักใน วิวาหพระสมุทร ไว้จับใจไม่น้อยกว่าสุนทรภู่ ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์ ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่ ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมน อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอ๋ย ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสกล เยี่ยมให้พี่ยลเยือกอุรา แต่ก็อย่างว่าละ ความรักน้อยครั้งจะยั่งยืนตลอดรอดฝั่ง รักกันแล้วก็ร้างกันได้ ถึงตอนนี้ น้ำผึ้งหวานก็กลายเป็นขม ทำใจให้กลายเป็นแค่เพื่อนอย่างยุคมิลเลนเนี่ยมไม่ได้ เมื่อถึงคราวอกหัก กวีจึงสร้างโวหารแค้นได้ลึกไม่น้อยกว่าอารมณ์รัก บทพรรณนาเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีใครนึกถึงกัน แต่ความจริงก็เป็นวาทศิลป์ที่เพริศแพร้วไม่น้อยหน้าบทรัก และหลายบทยังมีลูกเล่นคำเปรียบเทียบที่คมคายกว่าโวหารรักเสียอีก กวีไทยเกือบทั้งหมดเป็นชาย จึงบรรยายอารมณ์แค้นของพระเอกออกมาได้แบบถอดหัวใจชาย เริ่มต้นด้วยตัดพ้อต่อว่าที่ไม่รักจริงเสียก่อน แล้วก็แบบผู้ชาย เมื่อหมดรักก็หมดการให้เกียรติผู้หญิง จึงมักจบลงด้วยการดูหมิ่น ฟอร์มที่เห็นกันมากคือเปรียบเปรยแบบนึกว่าเธอเป็นหงส์ที่แท้เป็นกาอะไรทำนองนั้น อย่างในเพลงยาวพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เมื่อสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่ทราบว่าท่านตัดพ้อใครเอาไว้ ไม่รักเนื้อเชื้อเช่นว่าเป็นหญิง ช่างทิ้งสัจเสียกระไรน่าใจหาย พี่นี้หลงเชื่อลมแต่งงมงาย ไม่หมายเลยว่าน้องจะทองแดง ตระกูลหงส์ย่อมประจงแต่โบกขเรศ ตามเพศพิไสยที่เคยแสวง มิรู้กาผ่าพงศ์มาลงแปลง เข้าปลอมแหล่งแฝงเล่นไม่เห็นรอย การตัดพ้อของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ก็ยังดูนิ่มๆ ไม่แปลกอะไรมาก แต่โวหารแค้นที่คมคายกว่านี้เห็นจะไม่มีที่ไหนเกิน ขุนช้างขุนแผน ตอนที่เป็นพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างไปเอาตัวนางวันทองกลับมาครอง สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าคงจะทรงชำนาญเรื่องหมากรุก จึงประยุกต์การแพ้หมากรุกเข้ากับอารมณ์แค้นของขุนแผนได้ไม่ซ้ำแบบกวีคนไหน ใครที่เป็นเซียนหมากรุกก็คงเข้าใจความรู้สึกเสียใจและเสียหน้าแค่ไหน ยามถูกรุกฆาตแพ้ตกกระดานไปในที่สุด ชิจิตชะใจวันทองเอ๋ย กระไรเลยตัดได้ไปเป็นปลิด ขาดเม็ดเด็ดเรือไม่เผื่อคิด ม้าลาเล็ดลิดอยู่อลวน จากเบี้ยเสียสองเพราะต้องคาด ฟันฟาดเบี้ยหงายกระจายป่น ม้าก้าวยาวเรือก็เหลือทน เมื่อพี่จนแล้วจะไล่แต่รายโคน ขอยกบทแค้นของกวีที่รสชาติแสบสันที่สุดมาส่งท้าย น่าเสียดายว่าเป็นบทที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักกันนัก เป็นพระนิพนธ์ในพระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ เล่ากันว่าทรงพบรักกับสตรีชาววังคนสวยจนได้มาเป็นหม่อมสมพระทัย แต่ไม่ยักแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะเธอเป็นหม่อมอยู่ไม่นาน จะเป็นเพราะคับแค้นใจหรือเบื่อก็ไม่แน่ ก็พบรักใหม่กับกรมพระพิทักษ์เทเวศรซึ่งไม่ใช่ใครอื่นเป็นพระเชษฐาองค์รองของกรมหลวงภูวเนตรฯนั่นเอง เธอจึงทูลลากรมหลวงภูวเนตรฯไปเป็นหม่อมของกรมพระพิทักษ์ฯ แต่ก็ไม่จบที่รายนี้อยู่ดี อยู่กันไม่นานเธอก็อำลาพระสวามีองค์ที่สองไปอยู่กับคนที่สามคือพระเชษฐาองค์ใหญ่ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ แต่ก็อยู่กันไม่ยืดอีกจนได้ ความแค้นของกรมหลวงภูวเนตรจึงหลายซับหลายซ้อน แค้นผู้หญิงด้วยแค้นผู้ชายด้วย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะชายที่ว่าเป็นพระเชษฐา จึงทรงระบายอารมณ์แค้นออกมาหมดเปลือกในเพลงยาว เทียบองค์เองเป็นอ้อยท่อนปลายที่หม่อมเคี้ยวชิมก่อน แล้วหาเรื่องว่าหมดหวานก็เลยไปกินต่อที่กลางท่อน แล้วยังไม่สาแก่ใจไปกินต่อถึงโคนอ้อย ส่วนผู้หญิงก็กลายเป็นหญิงตัณหาจัดไปตามฟอร์ม ไม่เหลือแล้วความรักที่เคยมีต่อกัน อ้อยลำเดียวเคี้ยวคายปล้องปลายก่อน ถึงกลางท่อนโทษปลายว่าวายหวาน ข้างโคนปล้องลองจับเข้ารับทาน จ ะลงอมชมชานว่าหวานจริง ไม่เคยเห็นเช่นนี้ผู้ดีดะ ช่างจัดจะใจจิตผิดผู้หญิง ฤาสองพักตร์เพียงพระยาพาลีลิง จึงโจนต่ายร่ายกิ่งไม่นิ่งนาน เราป่วยปลาตขาดงานไม่นานนัก มาด่วนยักย้ายแย้แปรสถาน ฤาเต็มกลั้นอั้นอดเมื่องดงาน ให้เงี่ยนง่านทะยานอยากจนรากเรอ อ่านมาถึงตอนนี้ ใครที่นิยมสิทธิสตรีคงจะตั้งคำถามขึ้นในใจว่า ปล่อยให้ผู้ชายว่าเอาๆอยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้นหรือ แล้วผู้หญิงตอบกันอย่างไรบ้าง ก็จะขอยกคำตอบมาเป็นตัวอย่างว่าผู้หญิงยามแค้นก็ย้อนได้ไม่เบาเหมือนกัน นางศกุนตลาเคยย้อนท้าวทุษยันต์เอาไว้ในทำนองประชดประชัน เหน็บแนมได้ไม่เบาเหมือนกันว่า .........พระทรงภพ ผู้ปิ่นโปรพฤาสาย พระองค์เองไม่มียางอาย พูดง่ายๆย้อนยอกกลอกคำ มาหลอกลวงชมเล่นเสียเปล่าเปล่า ทิ้งข้าคอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ เด็ดดอกไม้มาดมชมจนช้ำ พระก็ไม่จดจำนำพา เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเข้าลักทรัพย์ กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า จงทรงพระเจริญเถิดราชา ตัวข้าขอลาแต่บัดดน ศกุนตลาเป็นลูกสาวพระฤาษีเกิดจากนางฟ้า ถือว่ากำเนิดเป็นสตรีสูงศักดิ์ก็เลยตัดพ้อสุภาพไม่ผาดโผนนัก ถ้าจะดูบทตอบโต้ชนิดแสบก็ต้องอย่างนางวันทองที่แค้นขุนแผน จนถึงกับประกาศตัดเยื่อใยกันไม่ให้เหลือร่องรอยของอีกฝ่าย ขนาดล้างบ้านให้หมดร่องรอยสามีที่เคยอยู่ในบ้าน แม้แต่เว็จหรือส้วมหลุมนอกบ้าน ก็จะขุดขึ้นมากลบฟื้นดินเสียใหม่ให้หมดร่องรอยคนเคยใช้ เรียกว่ากำจัดกันแบบล้าง*****เลยทีเดียว ว่าพลางโจนขึ้นบนสะพาน จะตักน้ำล้างบ้านเอาตีนสี สิ่งไรมิให้เป็นราคี น้ำท่ามีอยู่จะถูเช็ด ทั้งน้ำมันกระจกกระแจะแป้ง จะทิ้งไว้ให้แห้งเป็นสะเก็ด ให้สิ้นวายหายชาติของคนเท็จ จะขุดเว็จฟื้นดินให้สิ้นรอย ขาดเด็ดเสร็จกันในวันนี้ ไม่มีอาลัยเท่าปลายก้อย ถึงพระอินทร์ลงมาว่าก็อย่าคอย ที่วันทองนั้นจะถอยมาคืนดี หัวข้อ: Re: แค้นของกวี เริ่มหัวข้อโดย: อธิฏฐาน ที่ 02-05-2006, 23:03 ชอบบทนี้ค่ะ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ถึงกลางวันสุริยันแจ่มประจักษ์ ไม่เห็นหน้านงลักษณ์ยิ่งมืดใหญ่ ถึงราตรีมีจันทร์อันอำไพ ไม่เห็นโฉมประโลมใจก็มืดมน อ้าดวงสุริย์ศรีของพี่เอ๋ย ขอเชิญเผยหน้าต่างนางอีกหน ขอเชิญจันทร์แจ่มกระจ่างกลางสกล เยี่ยมให้พี่ยลเยือกอุรา ผู้หญิงสมัยก่อนโอกาสทางการศึกษามีน้อยกว่าผู้ชาย ก็เลยปรากฏแต่กวีผู้ชาย ทั้ง ๆที่จริงความรู้สึกก็คงไม่แตกต่างกันเลย หัวข้อ: Re: แค้นของกวี เริ่มหัวข้อโดย: เสลา ที่ 07-05-2006, 23:07 สวัสดีค่ะคุณเลิศภพและคุณอธิษฐาน กวีที่เป็นหญิงสมัยก่อนหายากจริงๆนะ ป้าเสลาพยายามจะหาบทกวีที่ฝ่ายหญิงตัดพ้อฝ่ายชายบ้าง ก็ยังหาไม่ได้เลย สงสัยต้องแต่งขึ้นเองเสียแล้วกระมัง..... 8) หัวข้อ: Re: แค้นของกวี เริ่มหัวข้อโดย: ทิมมี่ ที่ 12-05-2006, 07:20 ขอบคุณที่นำมาฝากครับ
|