ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวงข้าวล้อลม ที่ 31-03-2007, 15:14



หัวข้อ: ..จะตอบอย่างไรดี ลูกศิษย์ถามว่า ....ประชาธิปไตยคือเวทีปราศัยหรือ???....
เริ่มหัวข้อโดย: รวงข้าวล้อลม ที่ 31-03-2007, 15:14

เมื่อเช้ามีโอกาสเจอลูกศิษย์กลุ่มหนึ่ง...
เค้าถามแบบตั้งรับไม่ทันทีเดียวว่า...

  " ประชาธิปไตย  คือเวทีปราศัยหรือครับอาจารย์ครับ "
พอถามกลับว่า  ทำไมคิดงั้น  กลับพบแต่รอยยิ้มที่ไม่มีคำตอบ

...ช่วยบอกหน่อย  จะตอบเด็กว่าไงดี  โดนคำถามแบบนี้
เป็นงงเหมือนกันนะ


**********************************************************

ลาม'ป๋าเปรม'ถวายฎีกาปลด'ม็อบแม้ว'ถล่มสมรสซ้ำทรท.พรึ่บ!'เมียสนธิ'ไม่สน


31 มีนาคม 2550    กองบรรณาธิการ

ปากว่าตาขยิบ! แนวร่วมม็อบพีทีวีเดินหน้าเล่นงาน "ป๋าเปรม" ต่อ ลามหนักแจกใบปลิวเข้าชื่อถวายฎีกาให้ทรงโปรดเกล้าฯ พ้นจากองคมนตรี "สุรยุทธ์" ยอมรับคิดไม่เหมือน


คมช. แค่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก ขณะที่ "สนธิ" ยันไม่อึดอัด ออเดอร์ "รบพิเศษ" จากลพบุรี 1 กองร้อยเข้ากรุงเสริมกำลังตำรวจ  "เสรีพิศุทธ์" ขึงขังเตรียมเรียกแกนนำม็อบมาคุยให้รู้เรื่องว่าชุมนุมทำไม   "พ่อบ้าน" จันทร์ส่องหล้าโผล่หลังเวทีลานคนเมือง  "ตุ๊ดตู่" ขึ้นเวทีถล่มสมรสซ้อน  แต่นายกฯ แม่บ้าน ทบ.กัดฟันยันไม่มีปัญหา "พี่ไม่ห่วง"

การไม่ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  นายกรัฐมนตรี ตามที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เสนอ เพราะเกรงว่าการชุมนุมของม็อบพีทีวีจะกระทบต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญและการทำงานของรัฐบาลนั้น ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่ารัฐบาลกับ คมช.ยังคงมีความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่  30  มีนาคม  2550  พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า คงไม่ใช่เรื่องเป็นความแตกแยก เราอาจจะมีความเห็นต่างกัน  ซึ่งก็ได้พูดคุยกันด้วยเหตุผลและชี้แจง ในการหารือที่ผ่านมา พล.อ.สนธิก็ชี้แจงในส่วนของท่าน และคนที่เป็นสมาชิก คมช.ก็ได้แสดงความคิดเห็นในเหตุผลของตัวเอง  ซึ่งถือว่ามติที่ออกมานั้นเป็นความเห็นที่ทุกคนเห็นด้วยทั้งหมดแล้ว

"ในเรื่องความแตกแยกผมได้พูดกับ  พล.อ.สนธิว่า   ในส่วนการทำงานของรัฐบาลนั้น  เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไป  โดยที่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง  เราอาจจะระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ และมีการเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ก็เป็นสิ่งที่เราหารือกันเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเรื่องของการตัดสินใจที่จะประกาศหรือไม่ประกาศ  พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น แต่เราได้คุยกันถึงการเตรียมการเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง"

เมื่อถามว่าฝ่ายความมั่นคงวิตกมากเกินไปใช่หรือไม่  นายกฯ ตอบว่า  คงไม่ได้เป็นเรื่องการวิตกมากเกินไป  เป็นความห่วงใยที่ทุกคนมีต่อสถานการณ์  อย่างที่ตนได้เรียนไปแล้วว่า การเตรียมการและเตรียมความพร้อมเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ การใช้กฎหมายไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยาก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า  ก่อนการพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธาน คมช.นั้น ทางทีมที่ปรึกษานายกฯ ได้ส่งเอกสารแผนการดำเนินการรับมือการชุมนุมให้แก่ พล.อ.สนธิรับทราบก่อนแล้ว  โดยในเอกสารชัดเจนว่าจะไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน   แต่จะใช้วิธีการจัดการทางอื่นแทน  ขณะเดียวกันก็ได้มีการเคลียร์กับแกนนำ คมช.หลายคน   เพื่อให้เห็นคล้อยในเหตุผลที่รัฐบาลไม่ควรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  ซึ่งทุกฝ่ายรับทราบแต่โดยดี  จึงไม่ได้เกิดมีความขัดแย้งใดๆ ในการหารือเมื่อเย็นวานนี้

อย่างไรก็ดี แผนการที่ได้ตระเตรียมไว้นั้น  รวมถึงการลดกระแสของฝ่ายผู้ชุมนุมด้วยการประกาศปฏิทินเลือกตั้งให้ชัดเจนลงไปเลย  ทั้งนี้ สังเกตได้จากการเตรียมการรับมือกลุ่มม็อบในครั้งนี้  พล.อ.สุรยุทธ์ได้ระดมผู้มีประสบการณ์มากมายหลายด้านเข้ามาหารืออย่างพร้อมเพรียงเมื่อเย็นวาน   รวมถึงการเชิญนายอานันท์   ปันยารชุน  อดีตนายกฯ มาให้ความเห็นด้วย ส่งผลให้ความตึงเครียดทางการเมืองลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ พล.อ.สนธิให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีเป็นอย่างอื่น  ทางรัฐบาลมีภาระหน้าที่ในการบริหารประเทศ   เมื่อ คมช.เสนอแนะไปก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เมื่อผลการตัดสินใจออกมาเป็นอย่างไร  ต้องเคารพการตัดสินใจของท่าน  และเข้าใจในเหตุผลของนายกฯ ที่ตัดสินใจในเรื่องนี้ดี เพราะเราได้มีการนั่งหารือกันก่อน

ซักว่าถ้าไม่มี พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉิน  จะรับมือกับม็อบอย่างไร  ประธาน คมช.ตอบว่า รับมือได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมาก

พล.อ.สนธิยังพูดถึงการไม่ประกาศใช้  พ.ร.ก.ว่า ถูกแล้วๆ ดีแล้ว  ต้องมีหลายแนวคิด แนวคิดเดียวคงไม่ถูก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตนไม่รู้สึกอึดอัด

เขายังยืนยันในความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวเขากับนายกฯ ว่า  ได้พูดคุยกันทุกวัน วันละชั่วโมงสองชั่วโมง

รายงานข่าวแจ้งว่า   พล.อ.สนธิ  บุญยรัตกลิน  ผู้บัญชาการทหารบกและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ   (คมช.)  ได้สั่งการให้  พล.ท.ชัยพัฒน์  ธีรธำรง  ผบ.หน่วยบัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ  จ.ลพบุรี จัดกำลังพลจำนวน 1 กองร้อย เข้ามาผลัดเปลี่ยนกำลังเพื่อดูแลความปลอดภัยในกองบัญชาการกองทัพบก   นอกจากนี้  ยังได้สั่งการให้  พล.ท.ประยุทธ์  จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 และ  พล.ต.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ผบ.พล.1 รอ. จัดเตรียมกำลังพลให้พร้อมออกปฏิบัติหน้าที่ทันทีหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน  ส่วนพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่าง   กทม.กับปริมณฑล ให้หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) ดูแลในการสกัดกั้นกลุ่มม็อบที่จะเคลื่อนย้ายเข้ามาร่วมชุมนุมต่อต้าน คมช.และรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม พล.ท.ประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทุกหน่วยมีการหมุนเวียนกำลังกันตามปกติ  ขณะนี้มีการฝึกภาคหมู่  ตอน หมวด ดังนั้น อาจจะมีการเดินทางกลับจากการฝึก ทั้งนี้ หากมีการเคลื่อนกำลังตนต้องรู้  เพราะต้องรายงานขออนุมัติขึ้นมา ซึ่งการดูแลความปลอดภัยในกรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องนำกำลังจากที่อื่นเข้ามา เพราะกำลังที่มีอยู่มีพอเพียงในการปฏิบัติงาน

ถามว่าเมื่อวันที่   29 มีนาคมที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่ามีกำลังทหารเข้าไปปิดล้อมพรรคไทยรักไทย แม่ทัพภาคที่  1  ตอบว่า ทหารจะไปปิดล้อมทำไม ทั้งหมดเป็นเพียงการปล่อยข่าว  ขอให้ประชาชนตระหนักว่าช่วงนี้มีการปล่อยข่าวโจมตีทั้งรัฐบาลและ คมช.  และจากคำของประธาน คมช. กองทัพภาคที่ 1 ยืนยันว่าทุกส่วนอยู่ในความสงบเรียบร้อย และหน้าที่ของเราคือการดูแลประชาชนให้ปลอดภัย

สำหรับมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของม็อบพีทีวีนั้น   พล.ท.ประยุทธ์กล่าวว่า  การชุมนุมจะต้องอยู่ในกรอบ   สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นดำเนินการตามกฎหมาย  ส่วนทหารจะเตรียมพร้อมรักษาการอยู่ในที่ตั้ง  หากทหารจะต้องนำกำลังเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ต้องได้รับการอนุมัติหรือสั่งการจากผู้บังคับบัญชา   แต่สถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่สถานการณ์ที่ทหารจะมาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

"ขณะนี้ทหารเป็นเพียงผู้ช่วยเจ้าพนักงาน   เป็นเพียงกองหนุนคอยตั้งจุดตรวจให้เท่านั้น  เพราะทหารตอนนี้ไม่ใช่พระเอก  ได้แต่คอยให้กำลังใจ และคอยวางแผนร่วมให้ข้อมูลข่าวสาร  เพราะไม่อยากให้บานปลายจนถึงขั้นให้ทหารออกมาดำเนินการ  ขั้นแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการเจรจาหรือการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับม็อบ หากเหตุการณ์วุ่นวายเขาจะร้องขอทหารมาช่วย  ซึ่งเป็นขั้นที่สอง ต้องร้องขอกำลังจากรัฐบาล  เพื่อให้มีการอนุมัติในการใช้กำลัง ทั้งนี้ แผนรับมือที่วางไว้ไม่ได้เพื่อรับมือกับใคร  แต่เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนและบาดเจ็บ  คาดว่าการปฏิบัติงานจะจบในขั้นแรก โดยไม่ต้องถึงขั้นทหารปฏิบัติ"

พล.ท.ประยุทธ์ยังบอกว่า ทหารและตำรวจยืนยันว่าจะไม่เข้าแทรกแซงกับผู้ชุมนุม เพราะทำให้เหตุการณ์วุ่นวายบานปลาย   เราไม่ทำอย่างนั้นโดยเด็ดขาด ดังนั้น หากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น  ขอให้รู้ว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่เป็นใครก็ไม่รู้  ซึ่งไม่ใช่วิธีของเจ้าหน้าที่  เพราะเราไม่ต้องการให้ใครได้รับบาดเจ็บ

"ความจริงคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย  แต่เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย  เจ้าหน้าที่จึงต้องอดทน  แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นขอให้ทุกคนเข้าใจ  ผมบอกได้เลยว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอให้เป็นเรื่องของประชาชนที่เป็นคนดี  ที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบต้องช่วยกันออกมาดูแล  การที่จะปล่อยให้ผู้ชุมนุมมายืนด่ามันไม่ได้   ประชาชนต้องดูแลและแยกแยะให้ออกว่าใครดีหรือไม่ดี" พล.ท.ประยุทธ์กล่าว

ด้าน พล.ต.ดาว์พงษ์กล่าวว่า  ภารกิจที่ พล 1.รอ.ได้รับ คือเป็นหน่วยหลักของกองทัพในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมในวันที่  30  มีนาคมนี้ รวมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล  โดยฝ่ายตำรวจจะเป็นเจ้าภาพหลัก   ส่วน พล.1 รอ.จะเป็นหน่วยเสริม ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้หน่วยในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ไม่ว่าจะเป็นกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์  กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์  กรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์   และกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ จัดเตรียมกำลังให้พร้อม ตามแผนปฐพี  149 หากการชุมนุมบานปลายและตำรวจรับมือไม่ไหว จะได้เคลื่อนกำลังเข้าระงับเหตุได้ทันที

ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกผู้บัญชาการตำรวจนครบาล   หน่วยสอบสวนกลาง ตำรวจตระเวนชายแดน  และตำรวจสันติบาล   เข้าพบเพื่อมอบนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ตั้งแต่การประชุมร่วมเมื่อเย็นวันที่  29  มีนาคมที่ผ่านมาว่า  ให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถดำเนินการได้ แต่จะไม่ให้ทำผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น  ถ้าทำผิดก็จะใช้มาตการกฎหมายเข้าไปปราบปราม

เขาบอกว่าตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป  จะเชิญแกนนำม็อบมาพูดคุยเพื่อสอบถามวัตถุประสงค์การจัดชุมนุม  โดยได้มอบหมายผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทำการติดต่อประสานงาน  ไม่ได้ขอร้อง  แต่ให้มาคุยให้รู้เรื่อง เพราะม็อบอันนี้มากันหลายวัตถุประสงค์ เพราะฉะนั้นต้องเชิญมาพูดคุยกันว่าอะไรคืออะไร

เมื่อถามว่าการที่กลุ่มพีทีวีจะนำประเด็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนของ  พล.อ.สนธิมาเปิดเผยจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า ขอเพียงอย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็แล้วกัน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ก็ไม่รู้

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีบันทึกข้อความด่วนที่สุดถึงจเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้บัญชาการ (ผบช.) ผู้บังคับการ (ผบก.) และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัด สตช. เรื่องมาตรการและแนวทางปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเรียกร้อง

ที่น่าสนใจคือ  ในขั้นเผชิญเหตุขณะเกิดเหตุให้  บช.น., ภ.1-9, และ ภ.จว. สืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องอย่างใกล้ชิด  ดำเนินการสกัดกั้น หน่วงเวลาผู้ชุมนุมเรียกร้องในพื้นที่ด้วยความละมุนละม่อมภายใต้กรอบกฎหมาย  อาทิ  การตรวจ และถ่ายสำเนาบัตรประจำตัว ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ให้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจ ปฏิบัติการจิตวิทยา และประชาสัมพันธ์ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง

หลายฝ่ายออกมาชื่นชม พล.อ.สุรยุทธ์ที่ไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน   และประกาศให้มีการเลือกตั้งกลางเดือนธันวาคม  นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กระแสตอนนี้น่าจะทำให้ความกดดันทางการเมือง  เรื่องการจะสืบทอดอำนาจของ   คมช.หรือกระแสว่ารัฐบาลจะไม่ยอมลงจากตำแหน่งได้พอสมควร  เพราะอย่างน้อยก็มีนายกฯ  เป็นหลักประกันสำคัญ ซึ่งคิดว่าจากนี้เหตุผลในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลและต่อต้าน คมช.น่าจะลดลง  ส่วนคนที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็มีสิทธิ์ที่จะยืนยันความคิดเดิม  แต่สำหรับคนที่บอกว่าไม่ไว้ใจรัฐบาล  ไม่ไว้ใจ คมช. ไม่ต้องการให้เผด็จการปกครองประเทศต่อไปนั้น  คงจะลดกระแสได้พอสมควร  การมีวันเลือกตั้งที่แน่นอนเป็นการตอบคำถามค่อนข้างชัดเจนแล้ว   ถึงวันนั้นประเทศมันถอยกลับไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะที่เป็นอยู่ปัจจุบันกว่า 6 เดือนประเทศก็บอบช้ำมามากพอแล้ว

นายอภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   กล่าวว่า รู้สึกโล่งใจ  เพราะเป็นห่วงมาตลอดว่าถ้ามีการตัดสินใจที่จะใช้สภาวะฉุกเฉินจริงๆ   จะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าเพิ่มขึ้นด้วย

นายสมศักดิ์   ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ขอบคุณที่นายกฯ รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนและสังคม เพราะไม่มีใครเห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก. โดยเฉพาะช่วงที่จะมีเทศกาลมหาสงกรานต์ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก  อยากถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น  นักท่องเที่ยวอาจต้องคิดหนักและอาจยกเลิกไปเลย

นายสุริยะใส   กตะศิลา  เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย  (ครป.)  กล่าวว่า การกำหนดช่วงเวลาเลือกตั้งที่ชัดเจนทำให้การเมืองเริ่มมีระเบียบ หากรัฐบาลและ คมช.สามารถจัดทำปฏิทินคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม  เช่น  วันลงประชามติรัฐธรรมนูญ   ช่วงเวลาตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญ  และกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน เชื่อว่าตรงนี้จะสามารถลดความอึมครึมและลดแรงกดดันของกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง  โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของบรรดานักการเมืองและพรรคการเมือง  และถ้าเป็นไปได้ คมช.และรัฐบาลควรผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองที่ไม่กระทบกับการแก้ปัญหาของประเทศได้

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพีทีวีนั้น เลขาฯ ครป.บอกว่าน่าจะอ่อนกำลังลง เนื่องจากในขณะนี้เริ่มมีหลักฐานถูกนำไปเชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งพรรคไทยรักไทยก็เรียกร้องว่าให้มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และเมื่อครั้งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ บรรดาแกนนำพรรคไทยรักไทยก็เห็นตรงกันว่า ควรให้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินหรือคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง

"วันนี้เมื่อรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งแล้ว   ก็อยากถามแกนนำพรรคไทยรักไทยและแกนนำผู้ชุมนุมพีทีวีว่าจะทวงอำนาจคืนด้วยการเลือกตั้งหรือการเดินขบวน   และถ้าผู้บริหารพีทีวีสุจริตใจจริงว่าไม่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย   ก็ต้องกล้าประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้าในนามพรรคไทยรักไทย" นายสุริยะใสกล่าว

สำหรับการชุนมุมของกลุ่มพีทีวีที่ลานคนเมืองนั้น ในช่วงเที่ยง เริ่มมีการตั้งเวทีหลังหลัง กทม.อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้   แต่ไม่เกินสี่ทุ่มครึ่ง โดยผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวีประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.สถานีฯ และนายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ดำเนินรายการ เดินทางมาควบคุมการตั้งเวทีปราศรัยด้วยตัวเอง

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า  กลุ่มพีทีวีขอยืนยันว่าจะเลิกปราศรัยตามกรอบเวลาที่ให้ไว้   คือตั้งแต่เวลา 16.30  น.  จนถึง  22.30  น. แต่ก็อาจจะมีการยืดเยื้อไปบ้างจนถึงช่วง  23.00  น. ทั้งนี้ จะไม่มีการสร้างความรุนแรงหรือเคลื่อนขบวนใดๆ  ทั้งสิ้น และอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเข้ามาดูแลความเรียบร้อย แต่ไม่เข้ามาสลายการชุมนุม

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า  ในส่วนที่หลายฝ่ายเห็นว่ากลุ่มพีทีวีมีการพูดพาดพิงถึง  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ  ในการชุมนุมครั้งที่ผ่านมานั้น  ตนขอยืนยันว่าการชุมนุมครั้งที่ผ่านมามีการพูดพาดพิงถึง   พล.อ.เปรมจริง  แต่เป็นการพูดถึงชื่อของท่านเท่านั้น และไม่ได้มีการพูดกล่าวร้ายถึงท่านด้วย อย่างไรก็ตาม  ในการชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มพีทีวีขอยืนยันว่าจะไม่มีการพูดพาดพิงถึง   พล.อ.เปรมอีก แต่ยอมรับว่าจะต้องมีการปราศรัยพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะ คมช.และรัฐบาล

ด้านนายจักรภพกล่าวว่า การปราศรัยในวันนี้จะมีประเด็นสำคัญๆ ประกอบด้วย เรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้งในเดือน ธ.ค. การบริหารประเทศของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เช่น   การทำเอฟทีเอ เป็นต้น  ซึ่งจะต้องมีการพูดพาดพิงถึงรัฐบาลและ คมช.บ้าง แต่ไม่ต้องวิตกกังวล

"ขณะนี้ได้รับทราบข่าวจากประชาชนว่ามีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้ามาคุยกับชาวชุมชน  21 ชุมชนในพื้นที่เขตพระนคร   ให้จัดชาวบ้านมาชุมชนละ   15  คน  เพื่อไปรวมตัวกันบริเวณสวนสันติชัยปราการในเวลาประมาณ   15.00   น.  ผมสงสัยว่าเป็นจัดม็อบมาชนม็อบหรือไม่ จึงอยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยจับตาดูด้วย"

ต่อมาเวลา   14.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ได้ร่วมหารือกับ  พล.ต.ท.อดิศร  นนทรีย์   ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.นิพนธ์  ภุมรินทร์  รอง  ผบช.น. พล.ต.ต.อภิชาติ  เชื้อเทศ ผบก.น.6 และ พล.ต.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 กรณีการปราศรัยของสถานีโทรทัศน์พีทีวีที่บริเวณลานคนเมือง 

นายอภิรักษ์เปิดเผยภายหลังว่า กทม.ร่วมกับ  บช.น.ได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 1 กองร้อย และเทศกิจอีกจำนวนหนึ่งดูแลการปราศรัยอย่างใกล้ชิด  นอกจากนี้ ต้องขอความร่วมมือกับผู้ชุมนุมให้ชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อย  และใช้พื้นที่ตามเวลาที่กำหนดคือ   22.30  น. เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้ประโยชน์  และเป็นพื้นที่ชุมชน  จึงอยากให้ผู้ชุมนุมเคารพกติกาที่ได้ตกลงไว้กับ  กทม.ด้วย  ทั้งนี้ คิดว่าการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ไม่ได้เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการใช้พื้นที่ลานคนเมืองในกรณีอื่นๆ  ซึ่งหากจะมีผู้มาขอใช้พื้นที่ดังกล่าว ก็จะดูความเหมาะสม ไม่สามารถอนุญาตทุกรายได้

รายงานข่าวจากศาลาว่าการ กทม.เปิดเผยว่า  สาเหตุที่ กทม.อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมพีทีวีสามารถใช้ลานคนเมืองจัดการชุมนุมได้นั้น เนื่องจากได้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับ บช.น. เปรียบเทียบระหว่างผลดีและผลเสียของการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้  ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า  หาก กทม.อนุญาตจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย  โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจะได้จัดการชุมนุมในพื้นที่ที่จำกัด   ซึ่ง กทม.และ บช.น.สามารถควบคุมสถานการณ์ได้  โดยมีการตั้งเงื่อนไขให้กลุ่มผู้ชุมนุมพีทีวีจะต้องปฏิบัติตาม   

ส่วนผลเสียคือ  หาก กทม.ไม่อนุญาตให้ใช้ลานคนเมือง  จะเกิดการปะทะกำลังระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ ตำรวจอย่างแน่นอน ที่สำคัญฝ่ายเจ้าหน้าที่จะต้องควบคุมยึดพื้นที่ไม่ให้มีการจัดชุมนุมให้ได้  แต่ปัญหาคือ  เจ้าหน้าที่อาจจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ สุดท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมก็สามารถบุกเข้าใช้ลานคนเมืองและจัดชุมนุมได้ในที่สุด

สำหรับปราศรัยของกลุ่มพีทีวีซึ่งตั้งเวทีหันหน้าไปทางวัดสุทัศน์ฯ    ติดตั้งเครื่องขยายเสียง   ไฟส่องสว่าง  และบันทึกเทปการปราศรัย โดยมีผู้ร่วมชุมนุมทยอยเดินทางฟังการปราศรัยเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าพันคนในช่วงค่ำ   ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นรอบลานคนเมือง

ทั้งนี้ ผู้ร่วมชุมนุมแทบทั้งหมดยังคงเป็นกลุ่มเดิมที่ประกอบด้วย  กลุ่มพีทีวี  กลุ่มภิวัฒน์พลเมืองหรือ  "ไทยเซย์โน" มาตั้งโต๊ะให้ประชาชนร่วมลงชื่อไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ   กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มพิราบขาวต่อต้านรัฐประหาร และกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น

ยังมีบางคนที่ถูกคำสั่งศาลห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง  ที่เคยเคลื่อนไหวสนับสนุนพรรคไทยรักไทย  และกลุ่มที่ไปก่อความวุ่นวายหน้า กกต.มาร่วมด้วย   นอกจากนี้ ยังมีอดีต  ส.ส.พรรคไทยรักไทยมาร่วมด้วย   เช่น  นายธีระชัย  แสนแก้ว  อดีต ส.ส.อุดรธานี  นพ.วัลลภ   ยังตรง  อดีต ส.ส.สมุทรปราการ และนายนุสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด

เมื่อผู้สื่อข่าวโทร.ไปสอบถามนายธีระชัย  แต่นายธีระชัยกลับปฏิเสธว่า "ไม่ได้มา" ทั้งที่ได้ยินเสียงคนปราศรัยและเสียงคนปรบมือ เมื่อถามว่าพี่อยู่ไหนแล้วจะไปหา นายธีระชัยบอกว่า "เอ็งหาไม่เจอหรอก"

นอกจากนี้ยังพบว่า นายพินิจ  ทวีสุข   พ่อบ้านจันทร์ส่องหล้า และอดีตผู้สมัคร ส.ก.กทม. ยืนสังเกตการณ์อยู่ด้านหลังเวทีปราศรัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีได้นำรถโอบีหรือรถถ่ายทอดสดมารายงานสดในบริเวณผู้ชุมนุมด้วย

มีรายงานข่าวจากตำรวจสันติบาลระบุว่า   ยังมีผู้ชุมนุมมาจากพื้นที่ฐานเสียงไทยรักไทยใน กทม. โดยเฉพาะย่านรามอินทรา  โดยประเมินว่าอาจมีคนร่วมชุมนุมถึง  4,500 คน จาก 7 กลุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  มีการแจกเอกสารให้ผู้ร่วมชุมนุมร่วมลงชื่อ และหมายเลขประจำตัวบัตรประชาชน  เพื่อถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการฯ ให้ พล.อ.เปรม   ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ออกจากตำแหน่งองคมนตรีด้วย

เอกสารดังกล่าวจัดทำโดย   นายนพพร นามเชียงใต้ แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า จัดทำทั้งหมด 1 หมื่นแผ่น และวันนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วนับพันราย

ทั้งนี้ ก่อนการปราศรัยจะเริ่มต้นขึ้น  พล.ต.ต.อภิชาติ เชื้อเทศ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ได้เข้าไปเจรจากับแกนนำพีทีวีให้ยุติการชุมนุมในเวลา 22.00 น. และงดเว้นการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร

มีรายงานว่า  มีการตั้งวอร์รูมร่วมทหาร ตำรวจ เทศกิจ ภายในศาลาว่าการ กทม. โดยเตรียมกำลังไว้หลายร้อยนาย สามารถปฏิบัติการได้ทันทีหากเกิดความวุ่นวายขึ้น

นายจตุพร   พรหมพันธุ์  ปราศรัยบนเวทีว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้ที่สอบได้ที่หนึ่งของเนติบัณฑิตและผู้พิพากษา ซึ่งคาดหมายว่าคงจะเป็นประธานศาลฎีกาคนต่อไป  ภายหลังถูกตรวจสอบพบว่าจดทะเบียนสมรสซ้อนถึง   4  ใบ ทำให้ต้องออกจากราชการ ซึ่งเรื่องนี้นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายชาญชัย  ลิขิตจิตถะ   รมว.ยุติธรรม  ก็ทราบดี  แต่ตนไม่อยากพูดอะไรมาก เดี๋ยวจะถูกหาว่านำไปเปรียบเทียบกับใคร

นายจักรภพ  เพ็ญแข  ปราศรัยว่า การที่ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ที่ประเทศจีน ไม่มีนัยอะไร แค่เราเดินทางไปลา  และอยากรู้ความเป็นอยู่  ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่าสบายดี แต่ก็มีบ่นว่าครั้งแรกก็รู้สึกเจ็บใจ  แต่ไม่โกธรหรือเกลียดอาฆาต  ซึ่งหากมีโอกาสกลับมาจะมาบอกเองว่าน้อยใจเรื่องอะไร ทั้งนี้หาก พ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่ที่ไหน  ไปที่ไหน เชื่อว่าหากได้ประชาธิปไตยกลับมาเมื่อไหร่ ทั้ง คมช.รัฐบาลจะถูกเช็กบิลรายตัว

"อยากให้  พล.อ.สนธิส่องกระจกดูตัวเองหน่อยว่า  วันนี้หมดสง่าราศีแล้ว  ดูหน้าตาก็ไม่มีความสุข เพราะย่ำยีประชาธิปไตย" นายจักรภพกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ระหว่างที่นายจักรภพปราศรัยถึง  พ.ต.ท.ทักษิณ  ได้เรียกเสียงปรบมือแสดงความพึงพอใจของกลุ่มผู้ชุมนุม

เวลา  21.00 น. พล.ต.ท.อดิศรพร้อมด้วยคณะตำรวจนครบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปฟังการปราศรัยใกล้เวที   แต่ถูกประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตะโกนขับไล่  และมีคำหยาบ  จนคณะนายตำรวจต้องล่าถอยไปหน้าศาลาว่าการ กทม. โดยมีเสียงตะโกนไล่ตามมาเป็นระยะ

พล.ต.ท.อดิศรกล่าวว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแสดงอารมณ์ของผู้มาร่วมชุมนุม  ตนเพียงต้องการมาดูแลทุกอย่างให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย  แต่เมื่อผู้ชุมนุมอยู่ในภาวะอารมณ์เช่นนั้น  และมีนักข่าวเข้ามารุมล้อมจำนวนมาก อาจทำให้มีความรู้สึกเหมือนตำรวจไปขับไล่ แต่ไม่มีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเนื้อหาการปราศรัยบนเวทีส่วนใหญ่ปกป้อง  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาในหลายเรื่อง  เช่น  เรื่องทำบุญวัดพระแก้ว  ตอบโต้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ใส่ร้ายนายภูมิธรรม  เวชยชัย ว่าอยู่เบื้องหลังเว็บไซต์มนุษยดอทคอม  จนถูกศาลตัดสินจำคุก  รวมทั้งเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์  เชื่อว่านายสนธิก็ไม่น่าจะรอด น่าจะถูกศาลลงโทษอีก

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนที่เรียกว่าศูนย์กลางประชาชนแห่งประเทศไทย ตั้งโต๊ะล่าชื่อประชาชน   ไม่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร  และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว  โดยคนที่ล่ารายชื่อบอกว่า หากล่าชื่อรวบรวมได้แล้วก็จะจัดส่งไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในทางเว็บไซต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   เมื่อเวลา   16.30 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.  พร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมร้านค้าของสมาคมแม่บ้านทหารบก  สมาคมแม่บ้านทหารเรือ  สมาคมแม่บ้านทหารสูงสุด  พร้อมกันนั้นได้ไปร่วมกิจกรรมของซุ้มร้านค้าสมาคมแม่บ้านทหารบก

ทั้งนี้ นางปิยะดา  บุญยรัตกลิน ในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมพีทีวีได้นำการจดทะเบียนสมรสซ้อนมาโจมตีบนเวที  เพียงแต่ระบุว่า  "ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ และพี่ก็ไม่ห่วง"

เมื่อถามว่า พล.อ.สนธิได้มาทำความเข้าใจกรณีดังกล่าวที่มีกลุ่มการเมืองไปหยิบยกโจมตีหรือไม่  นางปิยะดาตอบว่า   "ไม่ต้องเป็นห่วง  เป็นธรรมดา  เพราะเป็นเรื่องการเมือง ตอนนี้ก็แค่ให้กำลังใจท่านเท่านั้น".

http://www.thaipost.net/index.asp?


หัวข้อ: Re: ..จะตอบอย่างไรดี ลูกศิษย์ถามว่า ....ประชาธิปไตยคือเวทีปราศัยหรือ???....
เริ่มหัวข้อโดย: (ก้อนหิน) ละเมอ ที่ 31-03-2007, 15:33
นั่นสิ... ชุมนุมทำไม???
เป็นคำถามที่ยากนะ เชื่อว่าแกนนำหลายๆ คนยังหาคำตอบให้กับตัวเองและสังคมไม่ได้

- ชุมนุมเพื่อกลัวว่าจะสืบต่ออำนาจ ก็วันเลือกตั้งมันออกมาแล้วนี่นา
- ชุมนุมเพื่อปลดองคมนตรี สามัญชนมีสิทธิ์หรือไม่
 ฯลฯ

ใครว่างๆ ไปถามแกนนำม็อบหน่อยละกัน ชุมนุมทำไม?


หัวข้อ: Re: ..จะตอบอย่างไรดี ลูกศิษย์ถามว่า ....ประชาธิปไตยคือเวทีปราศัยหรือ???....
เริ่มหัวข้อโดย: meriwa ที่ 01-04-2007, 13:08
ผมคิดว่ามันก็คือส่วนนึงของประชาธิปไตย  ที่เวลาคนกลุ่มนึงไม่มีทางออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็เห็นว่าการชุมนุมเป็นทางแก้ปัญหาของเค้าได้  หรืออาจจะทำไปเพื่อระบายความคิดของตัวเอง เพื่อหาแนวร่วมที่อาจมีความคิดคล้ายๆกัน   

แต่การชุมนุมไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของระบบประชาธิปไตย  รัฐธรรมนูญเขียนให้สิทธิเสรีภาพไว้ก็จริง แต่เค้าก็ให้สิทธิกับคนทุกคนในประเทศ หากคนชุมนุมไปละเมิดสิทธิคนอื่น ก็ถือว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย   

เพราะประชาธิปไตยเค้าก็ยังเขียนบอกว่าแม้จะมีสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฏหมาย   การจะมาอ้างแต่สิทธิเสรีภาพคงไม่ถูกต้อง



สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ทำไมเราต้องมีประชาธิปไตย มันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร  มันมีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้

ทุกวันนี้เรามักได้ยินแต่นักประชาธิปไตยพูดแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ   ใครจะพูดอะไรก็ต้องได้พูด ใครจะคิดอะไรก็ต้องได้แสดงออกมา  พวกนี้ถึงจะบอกว่าดี  นี่คือประชาธิปไตย

บ้านเมืองจะวุ่นวายอย่างไร  พวกนี้จะมองว่าเป็นความผิดของรัฐบาลอย่างเดียว  จัดการก็ด่าไม่จัดการก็ด่า   








หัวข้อ: Re: ..จะตอบอย่างไรดี ลูกศิษย์ถามว่า ....ประชาธิปไตยคือเวทีปราศัยหรือ???....
เริ่มหัวข้อโดย: MueKZerO ที่ 02-04-2007, 10:25
    ประชาธิปไตย =  :slime_doubt:


หัวข้อ: Re: ..จะตอบอย่างไรดี ลูกศิษย์ถามว่า ....ประชาธิปไตยคือเวทีปราศัยหรือ???....
เริ่มหัวข้อโดย: เซอร์เวย์ ที่ 03-04-2007, 18:08
ต้องตอบกลับไปว่า เวทีปราศัย คือส่วนหนึ่งของวิถีทางเส้นหนึ่งของประชาธิปไตย แต่เวทีปราศัยก็ต้องดูด้วยว่าจุดมุ่งหมายอันแท้จริงของการปราศัยนั้นคืออะไร เหตุและผล ถึงที่มาของเวทีปราศัยคืออะไร

 :slime_p: :slime_p: :slime_p:


หัวข้อ: Re: ..จะตอบอย่างไรดี ลูกศิษย์ถามว่า ....ประชาธิปไตยคือเวทีปราศัยหรือ???....
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 03-04-2007, 20:02
ตอบไปตามความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ตายค่ะ  คำตอบคือ ครูก็ไม่รู้  :slime_worship: