หัวข้อ: 3 อจ.นิติฯ ยื่นร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เริ่มหัวข้อโดย: นทร์ ที่ 27-04-2006, 00:15 3 อาจารย์นิติ มธ. ยื่นหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ส่งเรื่องให้ศาล รธน. วินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เม.ย.เป็นโมฆะ ระบุ 4 เหตุใหญ่ กำหนดวันเลือกตั้งกระชั้นชิด - คูหาลงคะแนน - จ้างพรรคเล็กลงสมัคร - ลักษณะการประชุมของ กกต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้(26 เม.ย.) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ประกอบด้วยนายบรรเจิด สิงคะเนติ นายจุมพล แดงสกุล และนายไพโรจน์ กัมพูสิริ ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หลายประการ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาใช้อำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนการดำเนินการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. และการเลือกตั้งครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ตลอดจนครั้งอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการสืบเนื่องกันมาทั้งหมด กับทั้งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเพิกถอนการออกประกาศ การวินิจฉัยชี้ขาด คำสั่งและการดำเนินการใดๆ ของกกต.ที่ได้มีขึ้นโดยเกี่ยวข้องหรือสืบเนื่องจากการเลือกตั้งดังกล่าวเสียทั้งสิ้น หนังสือระบุด้วยว่า เหตุของการดำเนินการอันมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกกต. อันพึงจะต้องนำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดมีอยู่โดยสรุปดังต่อไปนี้ 1. กกต.ได้ให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาเตรียมจัดการเลือกตั้งอันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใน พ.ร.ฏ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม เนื่องจากกกต.ได้ให้ความเห็นต่อรัฐบาลแต่เพียงว่า จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในระยะเวลา 31 วัน นับแต่วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นต้นไป จนเป็นผลให้รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเสนอร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้กำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งไว้ในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วันเท่านั้น ทั้งๆ ที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งไว้ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันยุบสภา ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการให้มีระยะเวลาที่พอเพียงสำหรับการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีการกำหนดล่วงหน้ามาก่อน ดังนั้นการให้ความเห็นในการกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าว แม้ว่าอยู่ภายในกรอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 116 แต่เป็นการดำเนินการที่ไม่เที่ยงธรรม เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจยุบสภา และทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านและพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่และต่างไม่มีส่วนร่วมรับรู้กับการเตรียมการและการตัดสินใจดังกล่าวเสียเปรียบ อันเป็นการขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของกกต.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 และขัดกับหลักการในเรื่องการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ 2.การจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ของ กกต. ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในคูหาลงคะแนน ซึ่งได้จัดตั้งไว้ในลักษณะที่ผู้เลือกตั้งจะต้องหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนน และหันหลังให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งคนอื่นๆ กับทั้งบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย ทำให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ผู้เลือกตั้งคนอื่นและบุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่า ผู้เลือกตั้งได้ใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใดในบัตรเลือกตั้ง อันเป็นการละเมิดหลักการในเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 104 วรรคสาม อย่างชัดแจ้ง 3.ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏจากสอบสวนของคณะอนุกรรมการสอบสวนที่กกต. สั่งตั้งขึ้นว่า ได้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศ ว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวในหลายเขตเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้กกต. ได้มีมติให้ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองขนาดเล็กที่รับจ้างดำเนินการส่งผู้สมัครให้ตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด และดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กและเจ้าหน้าที่ของ กกต. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมาแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ยังเป็นการละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 108 ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งหนึ่งๆ อีกด้วย เพราะกรณีดังกล่าว หมายความว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เป็น ผู้ตัดสินใจ กำหนดและดำเนินการให้มีผู้สมัครสองคน (แม้คนหนึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น) ลงสมัครในเขตเลือกตั้งเขตเดียวกันนั่นเอง 4.ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ กกต. ได้มีมติ สั่งการออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวนเพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศและรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่ได้มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยมีกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามจำนวนที่มีอยู่ และในการพิจารณาให้ความเห็นชอบให้กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. กับการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งก็มิได้มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามจำนวนที่มีอยู่ อีกทั้งในการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ก็มิได้ดำเนินการโดยกกต. ทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์ตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. พ.ศ. 2541 มาตรา 10 ประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 145(6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และขัดแย้งกับลักษณะของการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรกลุ่มตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 136 กำหนดลักษณะขององค์การที่ดำเนินการในเรื่องการเลือกตั้งเช่นนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง "โดยเหตุและข้อเท็จจริงในเรื่องความไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม การละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ประกอบกับการดำเนินการจัดการเลือกตั้งที่ล่วงละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง ดังที่ได้กล่าวไว้ ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ มิใช่การเลือกตั้งอย่างแท้จริงอันหมายความรวมถึงการคัดเลือกผู้แทนของประชาชนมาแสดงเจตนารมณ์แทนทั้งประเทศมาลงคะแนนเสียงเพื่อรับรองพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ดังที่เป็นอยู่นี้เป็นเพียงการลงประชามติต่อพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น และย่อมมิใช่การเลือกตั้งที่แท้จริงตาม ความหมายของการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ โดยเหตุดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาใช้ดุลพินิจ พิจารณาวินิจฉัยให้ส่งเรื่องการกระทำของกกต. ดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจิฉัยชี้ขาดว่า การดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย. และการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มาที่จัดขึ้นสืบเนื่องจากครั้งดังกล่าว และการกระทำที่เป็นผลสืบเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเพิกถอนการดำเนินการเลือกตั้ง การประกาศผลการเลือกตั้ง และประกาศหรือการวินิจฉัยอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่สุจริตและเที่ยงธรรมขึ้นเพื่อให้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนในการเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อมาประกอบคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศโดยถูกต้องเป็นธรรม ตามหลักการที่แท้จริงของการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขต่อไป ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 17 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา พ.ศ. 2542 ประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540" สำหรับรายละเอียด หลักฐานเกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในกรณีต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ในคำร้องนี้ ข้าพเจ้าจะได้ดำเนินการชี้แจงนำสืบเสนอโดยละเอียดต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นผู้ไต่สวนคำร้องและวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำดังกล่าวในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป อนึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการรับวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในเรื่องที่ข้าพเจ้าได้เสนอให้วินิจฉัยในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ของกกต.อันเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และอาจไม่อยู่ในขอบข่ายของการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 นั้น ข้าพเจ้าขอเรียนว่าคำร้องที่ยื่นในครั้งนี้ มิได้มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อจะเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ข้าพเจ้า หากแต่เป็นการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของกกต.และบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งในเรื่องทำนองเดียวกันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเคยใช้ดุลพินิจดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของกกต.เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้วในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเห็นพ้องด้วยกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้เสนอให้วินิจฉัยว่าการดำเนินการของกกต.เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้แล้ว http://www.matichon.co.th/matichon/ หัวข้อ: รายงาน : 6คดีฟ้องกกต. รอศาลปกครองชี้ขาด เริ่มหัวข้อโดย: นทร์ ที่ 27-04-2006, 00:27 รายงาน : 6คดีฟ้องกกต. รอศาลปกครองชี้ขาด
26 เมษายน 2549 20:02 น. สรุป 6 คดี ฟ้องกกต.นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง รอการพิจารณาของศาลปกครอง สถานการณ์การเมืองที่อึมครึมมานานเกือบปี กำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญอีกครั้ง โดยประธานศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุดสุดและศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดหารือกันในวันศุกร์ที่ 28 เมษายนนี้ นัยว่าเพื่อสรุปร่วมกันและเสนอแนะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)พิจารณาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาทางตันทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันนั้น กกต.และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งพรรคเล็กพรรคน้อย ต่างเดินหน้าเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งรอบที่ 3 ใน 14 เขตเลือกตั้ง โดยแกนนำของพรรคไทยรักไทยมั่นใจอย่างยิ่งว่าจะได้ส.ส.เขตครบ 400 คนแน่ ดังนั้น จึงต้องจับตาการประชุมของสามประมุขศาล และท่าทีของกกต.ต่อการจัดการเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 29 เมษายนนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประชาชนให้ความเชื่อมั่นอย่างสูง หลังจากที่องค์กรอิสระหลายแห่งสิ้น "ศรัทธา" โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ คดีที่มีประชาชนกลุ่มต่างๆฟ้องร้องกกต. โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั่นเอง จากปัญหาการเมืองที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีคดีฟ้องกกต.กับศาลปกครองรวม 6 คดี โดยเป็นข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน มีดังนี้ 1.หมายเลขดำที่ 588/2549 สรุปคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดี / ผู้ถูกฟ้องคดี - นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ฟ้องคดี - คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 กับพวก 2 คน ฟ้องว่า คณะกรรมการการฯมีมติให้ใช้ตรายางประทับในบัตรเลือกตังแทนการทำเครื่องหมายกากบาท โดยไม่มีการแก้ไขประกาศ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย สรุปคำขอ - ให้เพิกถอนมติที่กำหนดให้ใช้ตรายางประทับแทนการทำเครื่องหมายกากบาทในบัตรเลือกตั้ง วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา - ให้ระงับการใช้ตราประทับในบัตรเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา การเคลื่อนไหวของสำนวน ผลวิธีการชั่วคราว - ศาลมีคำสั่งให้กำหนดมาตรการ หรือวิธีการ คุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์โดยห้ามให้ประชาสัมพันธ์เฉพาะการใช้ตรายาง - ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง - ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตาม ศาลปกครองชั้นต้น (อ่าน 7 เม.ย.49) ผลของคดี - ระหว่างผู้ถูกฟ้งคดีจัดทำคำให้การแก้คำฟ้อง 2.หมายเลขดำที่ 601/2549 สรุปคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดี / ผู้ถูกฟ้องคดี - นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ฟ้องคดี - คณะกรรมการการเลืกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดี ฟ้องว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง ละเลยล่าช้าในการทำเป็นการสอบสวนชี้มูลความผิด กรณีผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียน พ.ต.ท.ทักษิณฯ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สรุปคำขอ - ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการสอบสวนชี้มูลความผิดตามที่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 2 เม.ย.49 วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา - ขอให้ศาลปกครองกลางดำเนินการไต่สวนฉุกเฉิน โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการสอบสวนวินิจฉัยโดยเร็ว การเคลื่อนไหวของสำนวน ผลวิธีการชั่วคราว - ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราว ผลของคดี - ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำคำให้การแก้คำฟ้อง 3. หมายเลขดำที่ 602/2549 สรุปคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดี / ผู้ถูกฟ้องคดี - นายนิมิตร์ เทียมอุดม ผู้ฟ้องคดี - สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดี ฟ้องว่า สำนักงานคณะกรรมการฯ ได้ประชาสัมพันธ์การใช้ตรายางกากบาทในบัตรเลือกตั้ง และได้ยกเลิกการจัดเตรียมปากกาในคูหาเลือกตั้งเป็นการกระทบสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำให้เกิดความสับสน สรุปคำขอ - ขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีประชาสัมพันธ์การใช้ตรายางในบัตรเลือกตั้ง วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา - ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา การเคลื่อนไหวของสำนวน ผลวิธีการชั่วคราว ------- ผลของคดี ------- 4.หมายเลขดำที่ 620/2549 สรุปคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดี / ผู้ถูกฟ้องคดี - นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รวม 10 คน - คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รวม 3 คน ฟ้องว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งโดยจัดคูหาให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ผลการลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 104 และจัดทำบัตรเลือกตั้งให้เกิดความสับสนแก่ผู้ให้สิทธิเลือกตั้ง สรุปคำขอ - ให้เพิกถอนกฎ ระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งการกระทำใด ๆซึ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่2 เม.ย. 49 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 และให้เพิกถอนการจัดการเลือกตั้งในวันดังกล่าว วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา - - ให้ระงับการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการนับคะแนนเลือกตั้งการรายงานผลการเลือกตั้งการรับรอง และการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง การเคลื่อนไหวของสำนวน ผลวิธีการชั่วคราว ------------ ผลของคดี ------------ 5. หมายเลขดำที่ 638/2549 สรุปคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดี / ผู้ถูกฟ้องคดี - พันโทแพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธุศรี ผู้ฟ้องคดี - คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวก2 คน ฟ้องว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งออกข้อกำหนดห้ามผู้สมัคร สว.แนะนำตัวทางจดหมายอิเล็กทรอนิค และการปิดหรือแสดงแผ่นป้ายในสถานที่เอกชน, ไม่ดำเนินการจัดหาสถานที่และจัดสรรเวลาการออกอากาศเพื่อแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ สรุปคำขอ - ให้เพิกถอนข้อกำหนดคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง - ให้เพิกถอนประกาศกำหนดสถานที่สำหรับปิดแผ่นประกาศหรือแผ่นป้ายแนะนำตัวของกทม.ในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามปิดประกาศในที่สาธารณะ วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา - ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาแก่ผู้ฟ้องคดี การเคลื่อนไหวของสำนวน ผลวิธีการชั่วคราว *** จำหน่ายคดี ออกจากสารบบความ ผู้ฟ้องคดีขอถอนฟ้อง *** ผลของคดี *** จำหน่ายคดี ออกจากสารบบความ ผู้ฟ้องคดีขอถอนฟ้อง *** 6. หมายเลขดำที่ 643/2549 สรุปคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดี / ผู้ถูกฟ้องคดี - นายถาวร เสนเนียม ผู้ฟ้องคดี - คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ฟ้องว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ออกประกาศ เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ฯ ใน 15 จังหวัด 38 เขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 5 เม.ย. 49 โดยกำหนดให้มีการเริ่มสมัครไม่เกิน 5 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าสองวัน การกระทำดังกล่าวไม่ได้ออกพระราชกฤษฎีการองรับ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย สรุปคำขอ - ให้เพิกถอนมติและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา - ให้ระงับการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว การเคลื่อนไหวของสำนวน ผลวิธีการชั่วคราว - ศาลไต่สวนวันที่ 10 เม.ย. 49 ผลของคดี อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียง 6 คดที่ค้างมาตั้งแต่มีการจัดเลือกตั้ง โดยสิ้นสุด ณ วันที่ 11 เมษายน แต่จากนี้ไปจะเพิ่มอีกกี่คดี ต้องติดตาม http://www.bangkokbiznews.com/2006/04/26/w001_98565.php?news_id=98565 หัวข้อ: Re: 3 อจ.นิติฯ ยื่นร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เริ่มหัวข้อโดย: Can ไทเมือง ที่ 27-04-2006, 01:26 มาถึงขั้นนี้ก็รอแต่ความเที่ยงธรรมจากศาลเท่านั้นที่จะกอบกู้วิกฤติของประเทศชาติ
ผมเห็นทีวีหลายช่อง นำเทปพระราชดำรัสมาออกอากาศหลาย ๆ ครั้งในวันนี้ น่าจะเป็นการให้ประชาชนได้เข้าใจข้อกฎหมาย หลักการประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ก็หวังกันไปครับว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบของมันเอง พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ออกมายอมรับว่า หากมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก้พร้อมที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งแล้ว บรรยากาศน่าจะดีขึ้นครับ หัวข้อ: Re: 3 อจ.นิติฯ ยื่นร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เริ่มหัวข้อโดย: จูล่ง_j ที่ 27-04-2006, 02:22 ลุ้นเหมือนกันครับ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ผมไม่อยากได้รัฐบาลลากตั้ง
เรื่อง การหันคูหา กับ เรื่องจ้างพรรคเล็ก นี่น่าเกลียดมาก หัวข้อ: Re: 3 อจ.นิติฯ ยื่นร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เริ่มหัวข้อโดย: abhichartt ที่ 27-04-2006, 10:06 มีระบบการตรวจสอบแบบนี้ค่อยวางใจได้หน่อย
ถ้าระบบดีต่อให้ใครมาทำผิดก็เอาผิดกะมันได้ ขอให้ระบบตรวจสอบกลับมาโดยเร็วทีเถิด สว.ทั้งหลายๆ หัวข้อ: Re: 3 อจ.นิติฯ ยื่นร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เริ่มหัวข้อโดย: cha_srt ที่ 27-04-2006, 11:35 เลือกตั้งใหม่ กกต. ชุดเดิม เฮ้ออออออออ :shock:
หัวข้อ: Re: 3 อจ.นิติฯ ยื่นร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เริ่มหัวข้อโดย: Henry Tood ที่ 27-04-2006, 13:28 เลือกตั้งใหม่ กกต. ชุดเดิม เฮ้ออออออออ :shock: ถึงจะท้อ แต่อย่าถอย ครับ....... มีโอกาส มากทีเดียวที่ การเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2เมษา จะเป็นโมฆะครับ...... ยังไงก็ต้อง สู้กันต่อไปครับ กับไอ้ 4ตัวคณะกรรมการโกงเลือกตั้ง........ |