ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Anthony ที่ 15-02-2008, 16:09



หัวข้อ: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Anthony ที่ 15-02-2008, 16:09
1.ตกลงว่า นาย สมัคร สุนทรเวช เป็นตัวการใหญ่ที่บงการสังหารนักศึกษาใน มธ.จริงรึเปล่าครับ
2.ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดีกับคนที่เข้าไปสังหารนักศึกษาใน มธ.ทั้งที่หลักฐานภาพถ่ายชัดเจน
3.ตกลงว่า กลุ่มนักศึกษาใน มธ.เป็นคอมมิวนิสต์จริงรึเปล่าครับ

ผมว่า เรื่อง 6 ตุลา นี่มันพอๆกับการสังหารโหดที่นานกิง กับ การสังหารโหดในกัมพูชาเลยนะ จากภาพถ่ายที่เห็น ใครก็ได้ช่วยตอบคำถามเหล่านี้ให้ผมเข้าใจชัดเจนหน่อยครับ


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 15-02-2008, 18:29
แอบมาตอบ

1. ไม่ใช่ตัวการใหญ่
2. นั่นสิ เพราะหลังจากเหตุการนั้นแล้ว สมัครก็เป็นใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นดูแลกรมตำรวจอยู่ด้วย
3. คอมมิวนิสต์ตัวจริง แทบไม่ได้อยู่ในเหตุการเลย เพราะหนีไปก่อนแล้วเมื่อได้ข่าว มีบันทึกของอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งอ้างว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทราบเรื่องการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มนักศึกษาแล้ว ซึ่งในตอนนั้นไม่ทราบว่าจะเป็นวันเวลาใด จึงแจ้งให้แกนนำนักศึกษาที่เป็นคอมมิวนิสต์ หนีกันไปก่อนแล้ว พวกที่เหลือ เป็นนักศึกษาธรรมดา และพวกเอียงซ้ายบ้างเล็กน้อย เรียกว่าเป็นเหยื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์ทิ้งไว้ให้เพื่อให้ปราบปรามเล่น จะได้นำไปใช้ในการสร้างเงื่อนไขเท่านั้น

กรณี 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เป้นปฎิบัติการที่มีการวางแผนการไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งการปลุกปั่นประชาชนให้เข้าทำร้ายนักศึกษา ทั้งการส่งกำลังติดอาวุธของทางราชการเข้าไปปราบปราม และส่วนหนึ่งมีกองกำลังนอกกฎหมายบุกเข้าไปทำร้ายนักศึกษาก่อนที่กำลังของรัฐจะเข้าไปเสียอีก เรื่องนี้ต้องไปถาม ตึ๋ง ขี้แตก ในคุกโน่น จึงจะได้ความค่ะ  :slime_v:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: watson ที่ 15-02-2008, 18:39
3. คอมมิวนิสต์ตัวจริง แทบไม่ได้อยู่ในเหตุการเลย เพราะหนีไปก่อนแล้วเมื่อได้ข่าว มีบันทึกของอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งอ้างว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทราบเรื่องการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มนักศึกษาแล้ว ซึ่งในตอนนั้นไม่ทราบว่าจะเป็นวันเวลาใด จึงแจ้งให้แกนนำนักศึกษาที่เป็นคอมมิวนิสต์ หนีกันไปก่อนแล้ว พวกที่เหลือ เป็นนักศึกษาธรรมดา และพวกเอียงซ้ายบ้างเล็กน้อย เรียกว่าเป็นเหยื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์ทิ้งไว้ให้เพื่อให้ปราบปรามเล่น จะได้นำไปใช้ในการสร้างเงื่อนไขเท่านั้น

ไอ้คอมมิวนิสต์พวกนั้นมันหลอกให้เพื่อนมันออกมาตายส่วนตัวเองหนีเข้าป่าไปหมด และแล้วมันก็ออกจากป่ามาร่วมกับนายทุน ทุกวันนี้มันมาผสมพันธุ์กับคนที่ฆ่าเพื่อนมันในวันนั้น เพื่อหลอกคนไทยโง่ ๆ ต่อไป


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Anthony ที่ 15-02-2008, 19:06
แอบมาตอบ

1. ไม่ใช่ตัวการใหญ่
2. นั่นสิ เพราะหลังจากเหตุการนั้นแล้ว สมัครก็เป็นใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นดูแลกรมตำรวจอยู่ด้วย
3. คอมมิวนิสต์ตัวจริง แทบไม่ได้อยู่ในเหตุการเลย เพราะหนีไปก่อนแล้วเมื่อได้ข่าว มีบันทึกของอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งอ้างว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทราบเรื่องการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มนักศึกษาแล้ว ซึ่งในตอนนั้นไม่ทราบว่าจะเป็นวันเวลาใด จึงแจ้งให้แกนนำนักศึกษาที่เป็นคอมมิวนิสต์ หนีกันไปก่อนแล้ว พวกที่เหลือ เป็นนักศึกษาธรรมดา และพวกเอียงซ้ายบ้างเล็กน้อย เรียกว่าเป็นเหยื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์ทิ้งไว้ให้เพื่อให้ปราบปรามเล่น จะได้นำไปใช้ในการสร้างเงื่อนไขเท่านั้น

กรณี 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เป้นปฎิบัติการที่มีการวางแผนการไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งการปลุกปั่นประชาชนให้เข้าทำร้ายนักศึกษา ทั้งการส่งกำลังติดอาวุธของทางราชการเข้าไปปราบปราม และส่วนหนึ่งมีกองกำลังนอกกฎหมายบุกเข้าไปทำร้ายนักศึกษาก่อนที่กำลังของรัฐจะเข้าไปเสียอีก เรื่องนี้ต้องไปถาม ตึ๋ง ขี้แตก ในคุกโน่น จึงจะได้ความค่ะ  :slime_v:

แล้วตกลงใครเป็นตัวการใหญ่ครับ :slime_doubt:
แล้วทำไมทางราชการถึงไม่ใช่วิธีตามกฎหมายจัดการละครับ ถ้าหากมีคอมมิวนิสต์จริง :slime_doubt:
ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการนี้ครับ ถ้าจะปราบปรามก็ควรทำตามกฎหมายไม่ใช่กฎหมู่แบบนี้ :slime_mad:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 15-02-2008, 19:19
จากข้อเขียนของบางคนในรุ่น จปร.7 ระบุว่า ยังเติร์กเป็นคนคิดแผนการ เอาคืน หลังจากเสียท่าให้นักศึกษาเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 แต่บารมีไม่พอที่จะขึ้นเป็นหัวหน้า จึงไปเชิญพลเรือเอกสงัดมาเป็นแทน เพราะตอนนั้นป๋าหงัดมีบารมีมาก และนับเป็นทหารเรือคนเดียว ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ทำการสำเร็จ นอกนั้นทหารบกมักจะเหมาเรียบ  :slime_smile:

หลังจากเหตุการนั้นแล้ว บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ถึงหัวหน้ารัฐบาลจะเป็นพลเรือน แต่องคาพายพทั้งหมดนั้นทหารคุม เรื่องการดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ฆ่านักศึกษา จึงไม่เคยมีแม้แต่การสอบสวน รัฐมนตรีมหาดไทย สมัคร สุนทรเวช ก็ดำเนินการแต่พิฆาตินักศึกษาต่อไป ปิดสื่อ กวาดล้างหนังสือบางชนิด เผด็จการเต็มตัว แล้ววันนี้มาร้องเกลียดรีฐประหาร ขากกกก  :slime_bigsmile:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Anthony ที่ 15-02-2008, 20:13
จปร.7 แล้ว พลตรี จำลอง มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ด้วยมั้ยครับ ผมเคยได้ยินมาแว่วๆ

ตกลง คือ คนบงการตัวใหญ่ คือ ถนอม ประภาส ณรงค์ เหรอครับ :slime_doubt:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 15-02-2008, 20:45
ตัวการใหญ่ มันใหญ่มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

ใหญ่มาก จนผมไม่พูดถึงดีกว่า


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 15-02-2008, 20:50
กลุ่มยังเติร์ก จำลองไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ หัวแถวก็ มนูญกฤติ ประจักษ์ พัลลภ (ไม่ได้กล่าวยศขออภัย)

แต่เรื่องวันนั้น มันหลายไม้หลายมือช่วยผสมกัน ทั้งทหาร พลเรือน และข่าวว่ามี ซีไอเอ เข้ามาผสมโรงด้วย เพราะในช่วงนั้น ไซง่อนแตกแล้ว คอมมิวนิสต์กำลังได้เปรียบอย่างมาก หากปล่อยให้บ้านเมืองมีคอมมิวนิสต์ก่อการอยู่ภายใน ท่าทางจะไม่รอด จึงมีการตัดตอนคอมมิวนิสต์เสีย ผลก็คือ เข้าป่ากันไปนับไม่ถ้วน และสุดท้ายคอมมิวนิสต์ก็สูญพันธ์ ด้วยนโยบาย 66/23 ในสมัยรัฐบาลเปรม

จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมอดีตคอมมิวนิสต์ จึงสร้างภาพเพื่อโจมตีพลเอกเปรม ทั้งๆที่ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่แค้นเก่า ต้องชำระ

ส่วนอดีตทรราช ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นหรอกค่ะ ตอนนั้นหมดบารมีไปแล้ว เหลือแต่บุญคุณ  :slime_smile:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 15-02-2008, 20:54
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

สงัด ชลออยู่, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และแผนรัฐประหารปี 2519
ในหนังสือ บันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า (2525), บุญชนะ อัตถากร ได้ตีพิมพ์เป็นหนึ่งในภาคผนวก บันทึกช่วยจำที่เขาเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2520 เกี่ยวกับการสนทนาระหว่างเขากับ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ระหว่างงานศพ พล.อ.แสวง เสนาณรงค์ ที่มีขึ้นในคืนก่อนหน้านั้น เนื้อหาของบันทึกดังกล่าว (หน้า 186-187) มีดังนี้:

ระหว่างสวดพระอภิธรรม ข้าพเจ้าได้คุยกับพลเรือเอกสงัด เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน คำบอกเล่าต่างๆของคุณสงัดในฐานะเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป 6 ตุลาคม 2519 และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นความรู้ซึ่งคงไม่ค่อยมีคนทราบ ข้าพเจ้าจึงขอบันทึกไว้ดังต่อไปนี้....

คุณสงัดเล่าให้ฟังว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 มีข่าวลืออยู่ทั่วไปว่า จะมีทหารคิดก่อการปฏิวัติ เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ฝ่ายซ้ายกำลังฮึกเหิมและรบกวนความสงบอยู่ทั่วไป จึงได้กราบบังคมทูลขึ้นไปยังในหลวงที่เชียงใหม่ซึ่งประทับอยู่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ในขณะนั้นว่า จะขอให้คุณสงัดซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการฯ) กับพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารอากาศขึ้นไปเฝ้า แต่ในหลวงโปรดเกล้าฯให้คุณสงัดเข้าเฝ้าคนเดียว ทั้งๆที่ตั้งใจว่าถ้าเข้าเฝ้าทั้ง 3 คนก็จะได้ช่วยกันฟังนำมาคิดและปฏิบัติโดยถือว่าเป็นพรสวรรค์

เมื่อคุณสงัดไปเฝ้าในหลวงที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์นั้นได้ไปโดยเครื่องบิน เข้าเฝ้าคนเดียวอยู่ราว 2 ชั่วโมงครึ่งในตอนบ่าย ไปวันนั้นและกลับในวันเดียวกัน คุณสงัดบอกว่าไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวงโดยลำพังมาก่อนเลย คราวนี้เป็นครั้งแรก ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่าเป็นที่น่าวิตก ถ้าปล่อยไปบ้านเมืองอาจจะต้องตกอยู่ในสถานะอย่างเดียวกับลาวและเขมร จึงควรดำเนินการปฏิวัติ

คุณสงัดเล่าต่อไปว่า อยากจะได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้ แต่ในหลวงก็มิได้ทรงรับสั่งตรงๆ คงรับสั่งแต่ว่าให้คิดเอาเองว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป

คุณสงัดเห็นว่า เมื่อไม่รับสั่งตรงๆก็คงดำเนินการไม่ได้ จึงกราบบังคมทูลว่า ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้วก็มิได้ประสงค์จะมีอำนาจเป็นใหญ่ต่อไป จึงอยากจะให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ สมมุติว่าถ้ายึดได้แล้วใครจะควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น เสร็จแล้วคุณสงัดก็ได้กราบบังคมทูลรายชื่อบุคคลที่น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทีละชื่อ เพื่อจะได้พระราชทานความเห็น

คุณสงัดเล่าว่า ได้กราบบังคมทูลชื่อไปประมาณ 15 ชื่อ รวมทั้งคุณประกอบ หุตะสิงห์ หลวงอรรถสิทธิสุนทร คุณประภาศน์ อวยชัย คุณเชาว์ ณ ศีลวันต์ ด้วย แต่ก็ไม่ทรงรับสั่งสนับสนุนผู้ใด

เมื่อไม่ได้ชื่อบุคคลที่น่าจะเป็นนายกได้และเวลาก็ล่วงไปมากแล้ว คุณสงัดก็เตรียมตัวจะกราบบังคมทูลลากลับ แต่ก่อนจะออกจากที่เฝ้า ในหลวงได้รับสั่งว่า จะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย คุณสงัดบอกว่าไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย พอมาถึงกรุงเทพฯก็ได้บอกพรรคพวกทางทหารให้ทราบแล้วเชิญคุณธานินทร์มาพบ

คุณสงัดบอกว่าได้ถามคุณธานินทร์ว่า ได้คุ้นเคยกับในหลวงมานานตั้งแต่เมื่อใด คุณธานินทร์บอกว่าไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวงใกล้ชิดเลย แต่อย่างไรก็ดีคุณสงัดก็ได้เริ่มใช้ให้คุณธานินทร์เตรียมคำแถลงการณ์ต่างๆและเอกสารต่างๆให้พร้อม พิจารณาแล้วก็เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ เพื่อจะนำไปใช้หลังจากการปฏิวัติแล้ว

คุณสงัดบอกต่อไปว่า ได้รอคอยโอกาสที่จะยึดอำนาจการปกครองอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้จังหวะ จนในที่สุดก็เกษียณอายุต้องออกจากราชการ เมื่อ 1 ตุลาคม 2519 เพื่อนฝูงนายทหารผู้ใหญ่ก็หาว่าคุณสงัดเตะถ่วง ซึ่งความจริงจะว่าจริงก็ได้ เพราะยังไม่มีเหตุผลหรือเหตุการณ์จะให้ทำเช่นนั้นได้ง่ายๆ และในหลวงก็ไม่ได้รับสั่งสนับสนุน

โดยที่คุณธานินทร์ได้ร่วมงานก่อการมาด้วยกันดังกล่าว คุณสงัดบอกว่า จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะไม่กราบบังคมทูลให้ในหลวงตั้งคุณธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนข่าวลือที่ว่าคุณสงัดเสนอ 3 ชื่อ คือ คุณประกอบ คุณประภาศน์ และคุณธานินทร์ และในหลวงเลือกคุณธานินทร์นั้น ก็เป็นเรื่องเล่าๆกันไปอย่างนั้นเอง

ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ยืนยันต่อ ยศ สันตสมบัติ (ในหนังสือ อำนาจ บุคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย, 2533, หน้า 136) ว่า "ผมไม่เคยเข้าเฝ้าหรือได้รับพระราชกระแสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่ผมก็ได้รับทราบจากคุณสงัด ชลออยู่ตามนั้น" คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดจึงทรงแนะนำให้พล.ร.อ.สงัดไปปรึกษากับธานินทร์ ทั้งๆที่ฝ่ายหลัง "ไม่เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิดเลย"?

ธานินทร์เกิดปี 2470 (ปีเดียวกับปีพระราชสมภพ) สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษ แล้วเริ่มรับราชการในกระทรวงยุติธรรมตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในปี 2499 แล้วย้ายมาเป็นหัวหน้ากองการคดี ตามคำบอกเล่าของเขา (ยศ, อำนาจ, หน้า 130):

ผมเองมีความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2501 ตั้งแต่ตอนที่คุณพระดุลยพากย์สุวมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีบัญชาให้ผมค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์และผลของการใช้กฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งต่อมาในปี 2504 กระทรวงยุติธรรมได้ส่งผมไปเรียนวิชาสงครามจิตวิทยาอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางการเมืองจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ที่กระทรวงกลาโหม และจากนั้นมาทางราชการกระทรวงกลาโหมก็ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้บรรยายในเรื่องของลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์และการใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์ในสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหลายแห่งเป็นเวลา 10 ปีเศษ ผมได้เรียบเรียงคำบรรยายประกอบการสอนเรื่องเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลายเล่มด้วยกัน....


นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ธานินทร์ (ตามคำสรุปของยศ สันตสมบัติ) "ได้เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงและกลุ่มอนุรักษ์นิยมในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและนักต่อต้านคอมมิวนิสต์คนสำคัญ" ธานินทร์เริ่มต้นแสดงบทบาททางการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลา โดยออกมาต่อต้านสิ่งที่เขามองว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ทั้งนอกรัฐสภาและในรัฐสภา (ซึ่งเขายืนยันว่าการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ดังกล่าว "เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีผู้ใดจะบิดผันให้เป็นอื่นไปได้ รายงานการประชุมของรัฐสภาขณะนั้น ระบุชัดเจนว่าใครทำอะไรหรือไม่ทำอะไรบ้าง") เขาได้ร่วมกับดุสิต ศิริวรรณ ออกอากาศรายการโทรทัศน์ "สนทนาประชาธิปไตย" เรื่อง "ความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชน" เพื่อให้ "สังคมไทยอยู่รอดและคงความเป็นไทยไว้โดยปลอดจากภัยคอมมิวนิสต์" แต่รายการดังกล่าวถูกรัฐบาลคึกฤทธิ์สั่งระงับในเดือนมกราคม 2519 หลังจากออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของรัฐบาลได้เพียง 4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เสนาธิการทหาร "ตระหนักในภัยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์" จึงจัดให้ไปออกอากาศต่อทางช่อง 5 ของกองทัพบกอีก 6 ครั้ง รวมเป็น 10 ครั้ง

จากข้อมูลเหล่านี้ น่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะตั้งสมมุติฐานว่า ในหลวงทรงสามารถแนะนำให้ พล.ร.อ.สงัดไปปรึกษาธานินทร์ได้ทั้งๆที่ธานินทร์ "ไม่เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิด" มาก่อน เพราะได้ทรงติดตามผลงานด้านหนังสือและ/หรือรายการโทรทัศน์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของธานินทร์ดังกล่าวนั่นเอง

ธานินทร์เล่าว่า เมื่อได้รับพระราชกระแสแล้ว "ทางทหารจึงได้มาติดต่อกับผม แล้วเขาถึงได้ให้ผมช่วยวางแผนให้ว่า ถ้าเผื่อมีการปฏิวัติจะจัดอย่างไร ในแง่ของกฎหมายจะมีการประกาศของคณะปฏิวัติอย่างไร และแผนการที่จะเป็นรัฐบาลควรจะเป็นในรูปใด" แผนการดังกล่าวซึ่งธานินทร์กับอีกบางคนร่วมกันร่างขึ้นนำเสนอต่อฝ่ายทหารและได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายหลัง ถูกธานินทร์เรียกว่า "แผนแม่บท" หรือ Master Plan "คือหลักการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เราจัดทำกัน 3-4 คน....ไม่ต้องรู้ก็แล้วกันว่ามีใครบ้าง คำว่า การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก็เริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากหลักการปฏิรูปอันนี้"

ธานินทร์เล่าว่า แผนแม่บท หรือ Master Plan นี้ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 8 ประการ (ดูรายละเอียดใน ยศ, อำนาจ, หน้า 279-286) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ เราอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเป็นหลักการทั่วไปแบบนามธรรม เช่น "ดำเนินงานทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย", "สร้างรากฐานประชาธิปไตย โดยส่งเสริมคนดี", "ทุกคนในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นฝ่ายทหารต้องมีอุดมการณ์แน่วแน่ กระทำการเพื่อความอยู่รอดของชาติและความผาสุกของประชาชน ไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทนเป็นการส่วนตัว", ฯลฯ

ส่วนที่มีลักษณะเป็นแผนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อรับมอบภาระการบริหารราชการจากคณะปฏิรูปโดยสิ้นเชิง คณะปฏิรูปให้คงอยู่ดูแลด้านความมั่นคง แต่จะดำเนินการใดๆก็ต่อเมื่อรัฐบาลชั่วคราวร้องขอเท่านั้น หมายความว่าฝ่ายทหารยึดอำนาจแล้ว ไม่เข้าบริหารเอง ยกให้คนอื่นที่ทาบทามมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง "ควรจะเป็นพลเรือน" และต้องเป็นคนที่ "เลื่อมใสต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, มีประวัติและการทำงานดีเด่น ไม่เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง มีความรู้ความสามารถสูงและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย"; ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2517 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากขึ้น; ยุบสภาที่มีอยู่ ตั้ง "สภาปฏิรูป" จากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ; รัฐบาลชั่วคราวและสภาปฏิรูปอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี จึงให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจเท่ากันดำรงอยู่อีกอย่างน้อย 4 ปี (ในที่สุด รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2519 ซึ่งธานินทร์เป็นผู้ร่วมร่างและประกาศใช้หลังการรัฐประหาร กำหนดให้มี "แผนพัฒนาประชาธิปไตย" 12 ปี โดยในระยะสี่ปีที่สามให้ "ขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้นและลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้")

ยศ สันตสมบัติเขียนว่า ในการพูดถึงแผนแม่บทนี้ "ประเด็นที่อาจารย์ธานินทร์เน้นย้ำอยู่เสมอๆก็คือ แผนการดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายทหารหรือคณะปฏิรูปฯทั้งหมด พูดง่ายๆก็คือ แผนการดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายและเป็นหลักการในการที่จะดำเนินงานต่อไปภายหลังจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลอาจารย์เสนีย์เรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลของอาจารย์ธานินทร์ก็ได้ทำตามแผนการที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เบี่ยงเบนไปจากข้อตกลงหรือ Master Plan นี้"

อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายทหารที่มาติดต่อขอให้ธานินทร์ช่วยเตรียมการรัฐประหาร ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า "แผนแม่บท" ของธานินทร์ มากเพียงใด ในคำบอกเล่าต่อบุญชนะ อัตถากร, พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กล่าวแต่เพียงว่าเขา "ได้เริ่มใช้ให้คุณธานินทร์เตรียมคำแถลงการณ์ต่างๆและเอกสารต่างๆให้พร้อมพิจารณาแล้วก็เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ เพื่อจะนำไปใช้หลังจากการปฏิวัติแล้ว" และเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงได้ว่าสงัดซึ่ง "ไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย" ให้การ "เห็นชอบ" กับแผนแม่บทของธานินทร์เพราะเห็นชอบด้วยจริงๆหรือเพราะ "ในหลวงทรงรับสั่งว่าจะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมายคือคุณธานินทร์ กรัยวิเชียรเสียด้วย"

แน่นอนว่ามาตรการรูปธรรมที่ธานินทร์วางไว้ได้รับการปฏิบัติตามหลังการยึดอำนาจ: ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่และประกาศใช้รัฐธรรมฉบับใหม่ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเป็นพิเศษ, ตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน (คือตัวธานินทร์เอง) และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ที่มีสมาชิกจาก "ทุกสาขาอาชีพ" (ในความเป็นจริง สมาชิกสภาปฏิรูป 190 คนจาก 340 คนเป็นทหารตำรวจทั้งในและนอกราชการ). แต่มาตรการเหล่านี้ก็เป็นมาตรการในลักษณะที่การรัฐประหารแทบทุกครั้งต้องทำอยู่แล้ว อาจกล่าวได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ธานินทร์ มอบให้กับการเตรียมรัฐประหารปี 2519 คือคิดชื่อใหม่ให้กับการรัฐประหารและคณะรัฐประหาร: "คณะ/การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" แทนที่จะเป็น "คณะ/การปฏิวัติ" การที่ธานินทร์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า "แผนแม่บท" ของตน ซึ่งอันที่จริงถ้าตัดเนื้อหาส่วนใหญ่ที่มีลักษณะนามธรรมลอยๆดังกล่าวข้างต้นออกแล้ว ก็เหลือเพียงมาตรการรูปธรรมที่ไม่ต่างจากการรัฐประหารอื่นๆนั้น น่าจะสะท้อนให้เห็นลักษณะพาซื่อและอ่อนประสบการณ์ของธานินทร์เองมากกว่าอย่างอื่น

การประเมินสถานการณ์ของขบวนการนักศึกษาในปี 2519: ประเมินจากปัจจุบัน
ผมจำได้แน่ๆว่าในช่วงปี 2519 ก่อน 6 ตุลา ได้รับการบอกเล่าว่า มีผู้วางแผนจะทำรัฐประหารโดยจะใช้ชื่อว่าเป็น "การปฏิรูป" น่าเสียดายที่จำไม่ได้เสียแล้วว่าใครเป็นผู้บอก แต่ที่จำได้ว่ามีการบอกแบบนี้เพราะ หนึ่ง ชื่อ "การปฏิรูป" เป็นชื่อที่แปลกและสะดุดใจที่จะใช้สำหรับการรัฐประหาร และ สอง เมื่อผมได้ยินข่าว "การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม ระหว่างที่ถูกขังอยู่ในคุกโรงเรียนพลตำรวจบางเขน ผมนึกขึ้นได้ทันทีว่าเป็นสิ่งที่ตรงกับที่เคยถูกบอกไว้ ผมยังจำได้ด้วยว่าผู้ที่บอกว่าจะมีการใช้ชื่อ "การปฏิรูป" สำหรับการรัฐประหารครั้งต่อไป อธิบายว่าเนื่องจากชื่อ "การปฏิวัติ" เสียเครดิตไปแล้ว ชื่อใหม่มีขึ้นเพื่อ "หลอกลวงประชาชน"


ในช่วงปี 2519 นั้น ภายในขบวนการนักศึกษาเรา มีการพูดถึงการรัฐประหารตลอดเวลา เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในขบวนการว่า รัฐประหารเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ "ชนชั้นปกครอง" ไม่มีทางที่จะปล่อยให้บรรยากาศประชาธิปไตยเช่นนั้นดำรงอยู่ต่อไปอีกนานนัก ผมไม่คิดว่าข่าวเรื่องจะมีการทำรัฐประหารภายใต้ชื่อ "การปฏิรูป" สร้างความตื่นเต้นหรือมีผลกระทบต่อขบวนการเป็นพิเศษอะไร แน่นอนว่า ปัจจุบันเราได้ทราบจากคำให้การของสงัด ชลออยู่ และธานินทร์ กรัยวิเชียรข้างต้นแล้วว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนั้นเป็นต้นมา มีการวางแผนจะยึดอำนาจโดยใช้ชื่อ "การปฏิรูป" จริงๆ ซึ่งแสดงว่าแม้แผนแม่บทของธานินทร์จะถูกสงัด "เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ" แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นความลับทั้งหมด (อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ต่อมาก็พิสูจน์ว่าการได้รู้ล่วงหน้าเช่นนั้นไม่ได้ช่วยอะไรพวกเราเลย)

คำให้การของสงัดและธานินทร์ยังได้ทำให้เกิดปัญหาที่น่าสนใจข้อหนึ่งคือ ในปี 2519 ขบวนการนักศึกษาคาดการณ์กลุ่มปกครองที่จะทำรัฐประหารผิดกลุ่มหรือไม่?

ตามการประเมินของพวกเราในขณะนั้น, "ชนชั้นปกครองไทย" แบ่งออกเป็นกลุ่มสำคัญใหญ่ๆ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มกฤษณ์ สีวะราเก่า (หรือกลุ่มสี่เสาเทเวศน์), กลุ่มพรรคชาติไทย (หรือกลุ่มซอยราชครู), กลุ่มถนอม-ประภาสเก่า, และ กลุ่มที่เราเรียกว่า "ศักดินา" ซึ่งได้แก่ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และแวดวงอื่นๆที่พรรคนี้มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย.

เรามองว่าสืบเนื่องมาจาก 14 ตุลา, กลุ่มกฤษณ์เก่า เป็นกลุ่มที่กุมอำนาจรัฐ โดยมีกลุ่มศักดินาเป็นพันธมิตร พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ หลัง 14 ตุลา พรรคของศักดินาอย่างกิจสังคมและประชาธิปัตย์ เล่นการเมืองเป็นรัฐบาลอยู่หน้าฉาก ขณะที่กฤษณ์ สีวะรากับพวก กุมกองทัพสนับสนุนอยู่หลังฉาก เรามองว่าที่สองกลุ่มนี้ได้ครองอำนาจก็เพราะร่วมกัน "หักหลัง" ถนอม-ประภาส ในระหว่างที่เกิด 14 ตุลา กลุ่มกฤษณ์นั้นถัดจากตัวกฤษณ์ลงมาได้แก่ บุญชัย บำรุงพงศ์ ซึ่งกฤษณ์ตั้งให้สืบตำแหน่ง ผบ.ทบ.เมื่อ 1 ตุลาคม 2518, กมล เดชะตุงคะ, เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และสงัด ชลออยู่ เสริม ณ นคร และเปรม ติณสูลานนท์ที่เป็นผบ.ทบ.ต่อจากบุญชัยตามลำดับ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้. ที่เรียกว่ากลุ่มกฤษณ์เก่า ก็เพราะตัวกฤษณ์เองตายอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519 เพียงไม่กี่วันหลังจากรับตำแหน่งรมต.กลาโหมให้รัฐบาลเสนีย์ที่เพิ่งตั้งใหม่หลังการเลือกตั้ง 4 เมษายน

กลุ่มถนอม-ประภาสหรือกลุ่ม "ทรราช" เก่า คือนายทหารกุมกำลังส่วนน้อยที่เรามองว่ายังให้การสนับสนุนถนอม-ประภาสอยู่ ที่สำคัญคือ ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ในปี 2519 และเทพ กรานเลิศ กลุ่มนี้ซึ่งสูญเสียอำนาจให้กับกลุ่มกฤษณ์ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มพรรคชาติไทยซึ่งเป็นกลุ่มการเมือง (ไม่ได้กุมกำลังทหาร) ที่ฟื้นคืนชีพขึ้นหลัง 14 ตุลาภายใต้การนำของประมาณ อดิเรกสาร และ ชาติชาย ชุณหะวัณ

เรามองต่อไปว่า ในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกฤษณ์-ศักดินาฝ่ายหนึ่ง กับกลุ่มราชครู-ทรราชเก่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ฝ่ายหลังเป็น "ด้านรองของความขัดแย้ง" คือไม่ได้เป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ทำให้มีลักษณะที่ก้าวร้าวเป็นฝ่ายรุก, เป็น "ขวา" มากกว่าฝ่ายแรก (ขอให้นึกถึงคำขวัญ "ขวาพิฆาตซ้าย" ของประมาณ อดิเรกสาร) โดยเฉพาะกลุ่มพรรคชาติไทยนั้น อาศัยอำนาจทางการเมืองที่เติบโตเข้มแข้งขึ้นอย่างรวดเร็ว พยายามเข้าไปสร้างฐานอำนาจในกองทัพ เราวิเคราะห์ว่านายทหารระดับสูงอย่างพลเอกฉลาด หิรัญศิริ เป็นคนที่ชาติไทยดึงเป็นพวกได้ แม้แต่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ของกลุ่มศักดินาเอง พวกที่เราเรียกว่าประชาธิปัตย์ปีกขวา คือธรรมนูญ เทียนเงิน, สมัคร สุนทรเวช และส่งสุข ภัคเกษม ก็จัดเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของชาติไทย

ตลอดปี 2519 ขบวนการนักศึกษาเรามองว่าฝ่ายกฤษณ์เก่า-ศักดินาเป็นฝ่ายที่ไม่ต้องการทำรัฐประหารเพราะครองอำนาจอยู่แล้ว ขณะที่ฝ่ายชาติไทย-ทรราชเก่าพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อการรัฐประหารอยู่เสมอ ที่สำคัญที่สุดคือ การนำเอาประภาสกลับเข้าประเทศในเดือนสิงหาคม และถนอมในเดือนกันยายน

คำให้การของสงัด ชลออยู่และธานินทร์ กรัยวิเชียรข้างต้น ขณะที่ยืนยัน "ข่าวกรอง" และความเชื่อของขบวนการนักศึกษาที่ว่ามีการวางแผนจะทำรัฐประหารจริงๆในปี 2519 ก็ดูเหมือนจะชี้ให้เห็นว่า เรามองความเป็นไปได้ที่รัฐประหารจะมาจากกลุ่มกฤษณ์เก่า (สงัด-บุญชัย) น้อยไป (ถ้าผมจำไม่ผิดเราเกือบจะไม่ได้มองเลย) แน่นอนว่าการที่กลุ่มกฤษณ์เก่าเตรียมทำรัฐประหารไม่ได้แปลว่าฝ่ายชาติไทย-ทรราชเก่าจะไม่ได้เตรียมทำเหมือนกัน และการเข้ามาของถนอมและ 6 ตุลาจะไม่ใช่การกระทำของกลุ่มนี้ สงัดได้บอกทั้งธานินทร์และเสนีย์ ปราโมชเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าสองหรือสี่ทุ่มของคืนวันนั้นจะมี "อีกฝ่ายหนึ่ง" ทำรัฐประหาร จึงต้องชิงลงมือทำเสียเองก่อนตอนหกโมงเย็น เพื่อทำความกระจ่างในเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องหันไปพิจารณาหลักฐานอื่นที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะทำเช่นนั้น ยังมีสองประเด็นที่ผมจำได้ว่าการวิเคราะห์ของเราในสมัยนั้น มีความไม่ลงตัวนัก ซึ่งควรกล่าวถึงในที่นี้

ประเด็นแรก ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มที่เราเรียกว่า "ศักดินา" ซึ่งผมอธิบาย ข้างต้นว่าหมายถึง "ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และแวดวงอื่นๆที่พรรคนี้มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย" ปัญหาอยู่ตรงที่ส่วนหลังของคำนิยามนี้ กล่าวคือ ขณะที่ด้านหนึ่งเรามองว่ากลุ่มศักดินาโดยรวมเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ 14 ตุลา ตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ และ "สภาสนามม้า" จนถึงรัฐบาลคึกฤทธิ์ ในปี 2518 และเสนีย์ในปี 2519 เรามองว่า การที่กลุ่มนี้เป็นฝ่ายได้ครองอำนาจ และโดยที่ตัวเองไม่มีกองทัพในมือโดยตรง แต่อาศัยการสนับสนุนจากกลุ่มสี่เสาเทเวศน์ (กฤษณ์-บุญชัย) ที่ขึ้นมาคุมกองทัพได้จากเหตุการณ์เดียวกัน ทำให้พวกเขาไม่น่าจะเป็นพวกที่ทำรัฐประหาร (รัฐประหารเกิดจากพวกที่ยังไม่มีอำนาจ) มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มจะ "พึ่งพากำลังประชาชน" คือเอาประชาชนเป็นฐานสนับสนุนในการต่อสู้กับกลุ่มอื่นๆด้วย ซึ่งแสดงออกที่ท่าทีของรัฐบาลโดยเฉพาะตัวคึกฤทธิ์ที่มีนโยบาย "ก้าวหน้า", "เอียงข้างประชาชน" บางอย่าง (กรณีให้อเมริกาถอนฐานทัพ, การเปิดสัมพันธ์กับจีน, การให้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง)

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งในช่วงปี 2518-2519 ดูเหมือนว่า บางส่วนของกลุ่มศักดินา โดยเฉพาะพวกที่อยู่นอกพรรคการเมืองกิจสังคม-ประชาธิปัตย์ จะมีแนวโน้มไปทางขวามากขึ้นทุกที คือไปในทางเดียวกับพรรคชาติไทย และกลุ่มทรราชเก่า ซึ่งอันที่จริงเป็นกลุ่มที่พวกเขา "หักหลัง" โค่นอำนาจไปเองเมื่อ 14 ตุลา ตัวอย่างเช่น บทบาทของลูกเสือชาวบ้าน และการเกิดขึ้นของกลุ่มนวพล (แปลว่า "กำลังที่เก้า": "เก้ากำลังไม่ร่นก้าวเวลา" เป็นชื่อบทกวีปี 2518 เกี่ยวกับนวพลของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์)

ประเด็นที่สอง ปัญหา "ปีกซ้ายประชาธิปัตย์" คือกลุ่มของสุรินทร์ มาศดิตถ์, ดำรง ลัทธพิพัฒน์, ชวน หลีกภัย และวีระ มุสิกพงศ์ เท่าที่ผมจำได้ เราไม่เคยอธิบายพฤติกรรมของกลุ่มนี้ได้อย่างน่าพอใจ คือไม่สามารถจัดพวกเขาให้อยู่ใน

ในกรอบทางทฤษฎีของเราในขณะนั้นได้อย่างแท้จริง ดูเหมือนจะมีการพูดๆกันว่า พวกเขาเป็น "นายทุนชาติ" ซึ่งตามทฤษฎีวิเคราะห์สังคมไทยแบบกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาของเราในขณะนั้น จัดเป็นพวกที่มีทั้งลักษณะก้าวหน้าและปฏิกิริยาอยู่ในตัวพร้อมๆกัน แต่หลายคนก็รู้สึกว่า ไม่น่าจะจัดเช่นนั้นได้ เพราะพวกเขาไม่ได้ร่ำรวยเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมแบบนายทุน และดูเหมือนพวกเขาจะมีความ "ก้าวหน้า" มากกว่าภาพลักษณ์นายทุนชาติที่เรามีอยู่ ผมคิดว่าปัญหาของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นคือ ในทางทฤษฎีเรามองว่าทุกคนในรัฐบาลเป็น "ชนชั้นปกครอง" ซึ่งเป็น "ศัตรูประชาชน" ที่เราต้องโค่นล้ม แต่ในทางเป็นจริงหลายคนรู้สึกว่า กลุ่มปีกซ้ายประชาธิปัตย์มีการกระทำที่เป็น "ฝ่ายประชาชน"

ผิน บัวอ่อน เคยเขียนวิพากษ์ขบวนการนักศึกษาในบทความชิ้นหนึ่งทำนองว่า ที่เกิดการนองเลือดฆ่าหมู่เมื่อ 6 ตุลาเพราะเราตัดสินใจชุมนุมยืดเยื้อตามการ "ผลักดันอย่างสำคัญ "ของปีกซ้ายประชาธิปัตย์" การยอมให้แนวร่วมนำและไม่ยืนหยัดนำแนวร่วมในปัญหาสำคัญครั้งนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวก้าวเข้าสู่ประตูแพ้" ผมเป็นคนหนึ่งที่ร่วมประชุมตัดสินใจในครั้งนั้นด้วย ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเลย ไม่มีการผลักดันอะไรจากใครภายนอกขบวนการและเราก็ไม่เคยเอาความต้องการของใครภายนอกมาเป็นเหตุแห่งการตัดสินใจของเราด้วย แต่เรื่องที่เรามีปัญหาว่าควรจะมองปีกซ้ายประชาธิปัตย์อย่างไรนั้น ผมจำได้ว่ามีอยู่จริงๆ

จดหมายสองฉบับของ สุรินทร์ มาศดิตถ์
เราได้เห็นข้างต้นว่า การที่สงัด ชลออยู่และบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเราจัดเป็นกลุ่มสี่เสาเทเวศน์วางแผนจะทำรัฐประหาร ถึงขั้นเข้าเฝ้าขอพระราชทาน "พรสวรรค์" (คำของสงัด) ให้ดำเนินการได้ แต่ในหลวงทรงเพียงแต่แนะนำให้ไปปรึกษาธานินทร์ กรัยวิเชียร และทั้งสองฝ่ายร่วมกันร่างแผนดำเนินการหลังการยึดอำนาจนั้น แสดงว่าขบวนการนักศึกษาในปี 2519 อาจจะประเมินภัยรัฐประหารจากกลุ่มสี่เสาฯต่ำเกินไป อย่างไรก็ตาม สงัดเองกล่าวว่า "รอคอยโอกาสที่จะยึดอำนาจการปกครองอยู่เรื่อยๆแต่ก็ไม่ได้จังหวะ จนในที่สุดก็เกษียณอายุต้องออกจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2519 เพื่อนฝูงนายทหารผู้ใหญ่ก็หาว่า...เตะถ่วง ซึ่งความจริงจะว่าจริงก็ได้" จนกระทั่ง 6 ตุลา จึงลงมือเพราะมี "อีกฝ่ายหนึ่ง" กำลังจะทำตอนสองทุ่มคืนนั้น ซึ่งแสดงว่าการวิเคราะห์ของเราในปี 2519 ที่ว่ากระแสรัฐประหารครั้งต่างๆ โดยเฉพาะการนำเอาประภาสกลับในเดือนสิงหาคมและถนอมในเดือนกันยายน (อันนำไปสู่ 6 ตุลา) เป็นการกระทำของฝ่ายพรรคชาติไทยไม่ใช่ของกลุ่มสี่เสาฯนั้น อาจจะไม่ผิดก็ได้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ ขอให้เรามาพิจารณาหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี: จดหมายเกี่ยวกับ 6 ตุลา ของสุรินทร์ มาศดิตถ์

สุรินทร์เขียนจดหมาย 2 ฉบับ ถึง "เพื่อนอดีต ส.ส. และสมาชิกพรรค ประชาธิปัตย์" ในเดือนตุลาคม 2520 ฉบับแรกยาว 2 หน้ากระดาษลงวันที่ 3 ฉบับที่สองยาว 3 หน้าลงวันที่ 24. ขณะที่เขียนเขายังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดในนครศรีธรรมราช (เขาอธิบายในจดหมายฉบับแรกว่า ที่บวชเพราะเมื่อเกิด 6 ตุลา แม่เขาบนพระไว้ว่า "ขอให้ลูกสุรินทร์กลับบ้านโดยความปลอดภัย แล้วจะให้บวช") เขาต้องการ "เปิดเผยความจริง...เท่าที่คิดว่าพอเปิดเผยได้" เกี่ยวกับ 6 ตุลาแก่เพื่อนร่วมพรรค ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ความจริงจนทำให้ "เข้าใจผิดต่อตัวอาตมาก็มี"

สุรินทร์เล่าในจดหมายฉบับแรกว่าเมื่อมีการปลุกระดมโจมตีรัฐบาลของสถานีวิทยุยานเกราะและสถานีวิทยุทหารอื่นๆบางสถานี โดยเฉพาะในช่วงการกลับมาของประภาส เขาได้เสนอให้ม.ร.ว.เสนีย์ ดำเนินการ ซึ่งเสนีย์ก็ได้ออกคำสั่งไป "แต่ไม่ถึง 3 ช.ม. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทยมาขอให้นายกรัฐมนตรีแก้คำสั่งนั้น การปลุกระดมด้วยความเท็จก็ถูกดำเนินต่อไปจนถึง...วันที่ 6 ตุลาคม 2519"

สุรินทร์เขียนว่า :
“แผนการที่เขาจะปฏิวัติและการย้ายนายทหารผู้ใหญ่ที่สั่งในเดือนกันยายนและมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2519 เป็นแผนที่อยู่ในแผนปฏิวัติ อาตมาได้ให้เลขานุการรัฐมนตรี (นายสัมพันธ์ ทองสมัคร) กราบเรียนนายกรัฐมนตรีแล้วเพื่อแก้ไข ที่ไม่กล้ากราบเรียนเองกลัวว่าจะถูกเข้าใจผิดว่ากลัวถูกออกจากรัฐมนตรีจึงคิดมากไปว่าจะมีการปฏิวัติ แต่เมื่อให้นายสัมพันธ์กราบเรียนแล้วยังไม่มีอะไรแก้ไข อาตมาจึงกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเองในวันที่ 28 กันยายน 2519 ว่าจะมีการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลของประชาชน พร้อมกับเสนอแนะทางแก้ไขให้แก่นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหาร 2-3 คนเพื่อป้องกันการถูกยึดอำนาจของประชาชน คือการปฏิวัติ จากข้อเสนอของอาตมาในวันนั้น นายกรัฐมนตรียังคิดแล้วพูดว่า "ทำไม่ได้สุรินทร์ ทหารจะแตกแยก เพราะการย้ายทหารนั้น 3 เหล่าทัพเขาประชุมกันมาแล้ว" แสดงว่านายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เชื่อในความสุจริต เจตนาดีของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อาตมาก็พูดว่า "ก็ตามใจท่านหัวหน้า เรามานั่งรอวันถูกยึดอำนาจกันเท่านั้น และจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้" แล้วอาตมาก็ออกจากห้องนายกรัฐมนตรีไปทำงานตามปกติ

“วันที่ 1 ตุลาคม 2519 มีหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักราชเลขาธิการให้รัฐมนตรีทุกคนไปรับเสด็จองค์รัชทายาทเสด็จฯกลับจากประเทศออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีเรียกอาตมาไปพบและได้พูดถึงเค้าของการปฏิวัติว่ามีขึ้นแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช นายสมบุญ ศศิธร รู้ข่าวว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการพรรคให้ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย จะถูกย้ายกระทรวง 2 คนนี้ได้ทำหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรีว่าอย่ากราบทูลแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หากว่าไม่ได้อยู่กระทรวงมหาดไทย หากแต่งตั้งก็จะลาออก โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ห้องรับรองของกองทัพอากาศขณะไปรอรับเสด็จฯ ในตอนที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงเค้าการปฏิวัติว่ามาจากฝ่ายไหนกับอาตมานั้น อาตมาได้กล่าวว่า "ตามใจ ใครจะปฏิวัติล่ะ หากมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีก เราจะแพ้คอมมิวนิสต์ นิสิตนักศึกษาปัญญาชนจะขึ้นเขารวมกับพวกบนเขามากขึ้น เป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะถูกทำลายประชาธิปไตย" ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีพูดว่า "ผมทำงานเพื่อประชาธิปไตยและราชบัลลังก์มา 30 ปีแล้ว ทำอย่างดีที่สุดแล้ว”

น่าเสียดายที่สุรินทร์ไม่ได้ขยายความว่า "เค้าการปฏิวัติ" ที่เขาพูดถึงในปลายเดือนกันยายนต่อต้นเดือนตุลาคมนั้นมาจากฝ่ายไหนกันแน่ ข้อมูลของเขาที่ว่าประมาณและสมัครขัดขวางการเล่นงานวิทยุยานเกราะดูเหมือนจะเป็นการยืนยันการวิเคราะห์ของขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้นที่ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่มียานเกราะเป็นหัวหอกมีที่มาหรือได้รับแรงหนุนจากพรรคชาติไทยและปีกขวาประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพันธมิตรชาติไทย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ว่า "แผนปฏิวัติ" เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายทหารในปีนั้นและที่สุรินทร์เสนอให้แก้รายชื่อการโยกย้ายใหม่ กลับชี้ไปที่กลุ่มสี่เสาฯที่ครองอำนาจในกองทัพ แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้ที่ว่า ในช่วงปี 2519 โดยเฉพาะในเดือนท้ายๆก่อน 6 ตุลา ชนชั้นปกครองทุกกลุ่มต่างจ้องหาจังหวะทำรัฐประหารด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จดหมายเกี่ยวกับกรณี 6 ตุลาถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ฉบับแรกลงวันที่ 3 ตุลาคม 2520 ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างในที่ใดมาก่อน ในทางตรงกันข้าม ฉบับที่สองลงวันที่ 24 ตุลาคม 2520 ต้องนับว่าเป็นเอกสารการเมืองไทยสมัยใหม่ที่รู้จักกันดีมากที่สุดชิ้นหนึ่ง และถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอีกเช่นกัน จดหมายฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายสัปดาห์ ข่าวไทยนิกร ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน2521 ในยุคที่มีคำ

นูณ สิทธิสมาน เป็นเสมือนบรรณาธิการหลังฉาก (ชื่อคำนูณ ไม่เคยปรากฏในนิตยสารเลย) หลังจากนั้นได้มีผู้นำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2531 เมื่อเกิดการโต้แย้งทางการเมืองครั้งใหญ่หลังจากมีการเปิดเผยว่าจำลอง ศรีเมืองมีส่วนร่วมในการชุมนุมของกลุ่มพลังฝ่ายขวาหน้าทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (เช่นใน มติชนสุดสัปดาห์และในหนังสือ คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร? ซึ่งสมยศ เชื้อไทย เป็นบรรณาธิการ) ผมเข้าใจว่า ในการตีพิมพ์ครั้งหลังๆ ได้ใช้ฉบับที่ตีพิมพ์ใน ข่าวไทยนิกร เป็นต้นแบบ เนื่องจากในฉบับนั้นมีข้อความตกหล่นอยู่ 2 แห่ง ยาวรวมกัน 2 บรรทัด ซึ่งไม่สำคัญมากนัก และฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งหลังๆก็มีข้อความตกหล่นนั้นตามไปด้วย

ผมขออนุญาตยกเอาส่วนสำคัญของจดหมายสุรินทร์ฉบับดังกล่าวมาพิมพ์ซ้ำในที่นี้ หลังจากนั้นจะเป็นการวิเคราะห์ ผมมีความรู้สึกเมื่อได้กลับไปอ่านจดหมายนี้ใหม่เมื่อเร็วๆนี้ว่า มีประเด็นน่าสนใจบางประเด็นที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีแนวโน้มมองข้ามไป

สุรินทร์เขียนว่า :
“วันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาตมาถึงตึกบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี เวลาประมาณ 7.00 น.เศษ มีนักหนังสือพิมพ์มาคอยอยู่ที่บันไดและลานก่อนเข้าลิฟท์หลายคน ต่างก็ถามถึงการที่มีภาพแขวนคอหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชาย อาตมาตอบว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินคดีและกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาบางคนเข้ามอบตัวแล้ว ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แล้วอาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และ บ้านเมือง จึงเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่า ให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ฯพณฯ นายกฯ เห็นด้วย และว่าเดี๋ยว 9 โมงเช้า ประชุมคณะรัฐมนตรีจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาตมาจึงลงไปห้องทำงานชั้น 3 เห็นหนังสือที่ด่วนไม่กี่ฉบับ เวลา 9 น.เศษ จึงรีบลงไปประชุมคณะรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า ไปถึงคณะรัฐมนตรีเปิดประชุมไปแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวกับอาตมาว่ากำลังพิจารณาเรื่องประกาศภาวะฉุกเฉิน อาตมาว่าก็ไม่มีปัญหาอะไรเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย และจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุร้ายในบ้านเมือง ปรากฏว่า พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีอื่นฝ่ายพรรคชาติไทยคัดค้านไม่ให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่ให้ห้ามการชุมนุม โดยอ้างเหตุผลว่า หากห้ามการชุมนุม ลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากที่นัดมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเดินทางเข้ามาชุมนุมมากแล้วและกำลังเดินทางมา ก็จะเดือดร้อนชุมนุมไม่ได้ แล้วจะหันมาเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

“เหตุผลการคัดค้านของพลตรีชาติชายอ่อน รัฐมนตรีส่วนมากนั่งเฉยแสดงว่าเห็นด้วยในการประกาศภาวะฉุกเฉิน พลตรีชาติชายจึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่าย ตชด. เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่าจะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้านเอาประชาชนไปฆ่านักศึกษาประชาชนไม่ได้ หากเกิดจลาจลเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร บ้านเมืองมีขื่อแป คุณจะเอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ บังอาจโต้นายกรัฐมนตรีต่อไปว่า ลูกเสือชาวบ้านก็มีวินัยร่วมกับตำรวจทหารได้ ดูเหตุการณ์จากการกระทำของรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทย และที่ไปนำพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ เข้ามาโต้เถียงกับนายกรัฐมนตรีแล้ว อาตมาเข้าใจได้ทันทีว่าพวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่ ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯแสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะปราบปรามให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยให้ถูกลบชื่อหายไปจากประเทศ

“ก่อนเที่ยงที่กำลังโต้กันเรื่องจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ โดยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปัตย์ให้ประกาศ รัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยไม่ยอมให้ประกาศ ทั้งๆที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ่างประกาศไว้แล้ว ยังไม่เป็นที่ยุตินั้น พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับร้องไห้โฮๆว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรงระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายเยอะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและตชด.เข้าไปปราบปราม ต่อมา พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจเข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า "ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี" อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า "ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน" รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้าสงสัย อธิบดีกรมตำรวจหันไปมองพล.ต.ท.ชุมพล กำลังนั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป ต่อมา พล.ต.ต.กระจ่าง ซึ่งเป็นหัวหน้านำตชด.เข้าไปทำการควบคุมนักศึกษา 3,000 คนเศษไว้แล้วนั้น เข้ารายงานเหตุการณ์ในคณะรัฐมนตรี ท่านผู้นี้อาตมาไม่ทราบนามสกุล แต่อาตมายกย่องเขาอยู่จนบัดนี้ว่า เป็นตำรวจอาชีพ ผู้บังคับบัญชาสั่งไปทำงานก็ไปทำ แล้วมารายงานคณะรัฐมนตรีตามความเป็นจริง แต่สังเกตดูไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ พล.ต.ต.กระจ่าง รายงานว่า "ปืนที่ยึดได้จากนักศึกษาเป็นปืนพกเพียง 3 กระบอก" คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รองนายกรัฐมนตรีถามว่าปืนอะไรที่เสียงดังมาก ดังปุดๆปึงๆ ใครยิง ฝ่ายเรายิงหรือฝ่ายนักศึกษายิง พล.ต.ต.กระจ่าง ตอบว่า ปืนอย่างนั้นนักศึกษาจะเอามาจากไหน ตำรวจยิงทั้งนั้น จนกระทั่งเที่ยง ปัญหาจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ยังตกลงกันไม่ได้ อาตมาจึงตัดบทด้วยการเสนอว่า มอบอำนาจนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินเวลาใด แล้วพักรับประทานอาหาร อาตมาถามพล.ต.ต.กระจ่าง เป็นการส่วนตัวนอกที่ประชุมว่า ยึดอาวุธจากนักศึกษาได้เพิ่มหรือไม่ พล.ต.ต.กระจ่างวิทยุถามไปยังที่ควบคุมนักศึกษา บางเขน ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ได้รับตอบมาทางวิทยุว่า ได้ปืนจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์เพียง 3 กระบอก เป็นปืนพกขนาด .22

“ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ ต่อมา พล.ต.ชาติชาย รมต.อุตสาหกรรมออกไปนอกห้องประชุมแล้ว พูดว่า ลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มอึดอัดแล้ว เพราะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีถามว่าเหตุการณ์สงบแล้วยังไม่กลับบ้านกันอีกหรือ พล.ต.ชาติชาย ตอบว่ายังไม่กลับ และเตรียมเดินขบวนมาทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอทราบคำตอบจากรัฐบาลตามข้อเรียกร้อง จึงมีรัฐมนตรีคนหนึ่ง จำไม่ได้ว่าใคร ถามว่าลูกเสือชาวบ้านเรียกร้องอะไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า กลุ่มแม่บ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องมาเมื่อวันก่อน พร้อมกับล้วงซองขาวออกจากเสื้อแล้วอ่านให้ฟังถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มแม่บ้าน จำได้ว่ามีข้อเรียกร้องให้นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี ให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคน ให้ใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยเด็ดขาด เมื่ออ่านข้อเรียกร้องจบ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเป็นสิ่งที่มากไป นายกรัฐมนตรีได้รับพระกรุณาแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ การออกจากตำแหน่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ส.ก็อาจลงมติไม่ไว้วางใจได้ การแถลงนโยบายในวันมะรืนนี้ (8 ตุลาคม 2519) เพื่อรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก็มีสิทธิที่จะลงมติไม่ไว้วางใจได้ ประชาชนเพียงบางส่วนจะมาเรียกร้องแบบนี้เห็นว่าไม่ถูกต้อง

“อาตมาประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยความอดทน สิ่งที่จะพูดหลายครั้งแต่ไม่พูด แต่เฉพาะเรื่องข้อเรียกร้องของแม่บ้านกลุ่มหนึ่งนั้น อาตมาเห็นว่าจะต้องพูด เพราะมีรัฐมนตรีบางคนในพรรคชาติไทยเป็นผู้ร่วมก่อเรื่องขึ้นด้วย อาตมาจึงพูดว่า..... อาตมาไม่ได้หวงตำแหน่งรัฐมนตรี ยอมทำตามมติพรรค คำสั่งพรรค และดำเนินแนวนโยบายของพรรคอย่างเคร่งครัดทุกประการ "แต่เมื่อมาบีบบังคับกันด้วยเล่ห์การเมืองที่สกปรกแบบนี้ผมไม่ลาออก ผมจะสู้ สู้เพื่อศักดิ์ศรีของผม" เป็นคำพูดของอาตมาในวันนั้น หลังจากนั้น พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พูดขึ้นว่า การใส่ร้ายป้ายสีกันก็มีทั้งนั้นละ นี่ก็มีข่าวว่าคุณดำรงไปพูดที่ขอนแก่นว่า ไม่ให้พรรคชาติไทยร่วมรัฐบาลอีก อาจารย์ดำรงพูดว่า ผมไม่เคยไปที่สถานีวิทยุขอนแก่น

“หลังจากนั้น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่นานลูกเสือชาวบ้าน และพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายธรรมนูญ เทียนเงิน นายสมัคร สุนทรเวช นายส่งสุข ภัคเกษม และพวก ได้ไปร่วมอยู่ที่นั้นด้วย ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์ และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาลขณะฝนกำลังตกหนัก การประชุมคณะรัฐมนตรีเลิกประมาณ15 น.เศษ อาตมานั่งรถยนต์จากตึกไทยคู่ฟ้าไปตึกบัญชาการ ตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ตามปกติ เพราะถือว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นายตำรวจคนหนึ่งยืนกรำฝนรออยู่และเตือนว่า "ท่านรัฐมนตรีรีบออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วที่สุด มิเช่นนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต" อาตมาก็ได้คิดและสั่งคนขับรถออกจากทำเนียบไปได้อย่างปลอดภัย....”

เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆในขบวนการนักศึกษาที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มา ผมได้อ่านจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ที่เล่าการประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันนั้น ด้วยความรู้สึกชื่นชมที่สุรินทร์นำความจริงมาเปิดเผย จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อกลับไปอ่านอีกครั้งอย่างตั้งใจวิเคราะห์และวิจารณ์มากขึ้น ผมเริ่มมองเห็นว่าบางอย่างที่สุรินทร์เล่าชวนให้ตั้งคำถามกับบทบาทของสุรินทร์และพรรคประชาธิปัตย์เองได้

ประการแรก ผมคิดว่าที่ผ่านมาเรามีแนวโน้มจะมองข้ามความจริงที่ว่า การถกเถียงในที่ประชุมครม.ครั้งนั้น โดยเฉพาะมาตรการที่สุรินทร์และพรรคประชาธิปัตย์เสนอเพื่อแก้วิกฤติ คือให้ประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น ไม่มีความหมายใดๆเลยต่อชะตากรรมของผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ สุรินทร์เล่าว่า เขาเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล "เวลาประมาณ 7 น.เศษ" และคณะรัฐมนตรีเริ่มประชุม เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงเวลาทั้งสองนั้น การโจมตีธรรมศาสตร์โดยกำลังตำรวจและม็อบฝ่ายขวาได้ดำเนินไปแล้ว ต่อให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินทันทีที่เริ่มประชุมครม.ก็จะไม่มีผลอะไรต่อการฆ่าหมู่ที่ท่าพระจันทร์ สุรินทร์เขียนว่า "อาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และบ้านเมือง จึงเสนอ ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่าให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย" เห็นได้ชัดว่า ความคิดให้ประกาศภาวะฉุกเฉินของสุรินทร์ มาจากความต้องการป้องกันการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของฝ่ายขวาที่กำลังจะมีขึ้น ไม่ใช่จากความต้องการจะปกป้องคุ้มครองการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์แต่อย่างใด

ประการที่สอง ต่อเนื่องจากประการแรก สิ่งที่ชวนให้สะดุดใจที่สุดเมื่อกลับไปอ่านจดหมายสุรินทร์ คือ สุรินทร์และฝ่ายประชาธิปัตย์เองไม่ได้แสดงให้เห็นว่าห่วงใยต่อการบุกโจมตีธรรมศาสตร์ของตำรวจมากนัก ในความเป็นจริง เสนีย์ได้สั่งการให้อธิบดีตำรวจดำเนินการสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด "หมิ่นองค์รัชทายาท" เท่านั้นและตัวแทนศูนย์นิสิตฯก็ได้ติดต่อเข้ามอบตัวแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ตำรวจจะต้องใช้กำลังเข้าทำลายการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ สุรินทร์เล่าถึงการที่ชุมพล โลหะชาละ "เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรีพร้อมกับร้องไห้โฮๆ" แต่เขาไม่ได้เล่าว่าเขาหรือใครในประชาธิปัตย์เองตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องมีการบุกยึดธรรมศาสตร์ จับผู้ชุมนุมถึงกว่า 3 พันคน? ใครเป็นคนออกคำสั่งให้ทำเช่นนั้น?


ประเด็นนี้มีความสำคัญและเป็นสิ่งชอบธรรมที่จะยกขึ้นมาเพียงใด ดูได้จากเหตุการณ์เล็กๆหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่ห่างจากการเขียนจดหมายของสุรินทร์เท่าไรนัก คือในวันที่ 7 กันยายน 2520 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ออก "แถลงการณ์เรื่องกรณีผู้ถูกจับกุมเนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519" ฉบับหนึ่งเพื่อ "ชี้แจงข้อเท็จจริง" ในกรณีดังกล่าว (ที่รัฐบาลออกแถลงการณ์ก็เพราะก่อนหน้านั้น 2 วัน คดี 6 ตุลาได้ถูกนำขึ้นสู่ศาลเป็นครั้งแรก ผู้ต้องหา 19 คน - สุธรรม แสงประทุมและอีกบางคนในชุดนักโทษเด็ดขาดพร้อมตรวนที่ขา - ถูกนำตัวไปที่ศาลทหารในกระทรวงกลาโหม และโดยที่ไม่มีใครคาดคิด มาก่อน ผู้คนหลายพันคน รวมทั้งช่างภาพสื่อมวลชน และผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ พร้อมใจกันไปฟังการพิจารณาคดีและให้กำลังใจผู้ต้องหา จนเบียดเสียดกันแน่นศาลและกระทรวงกลาโหม - ในทางปฏิบัติเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกหลังรัฐประหาร - สร้างความตกใจแก่รัฐบาลไม่น้อย) ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวว่า:

ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลชุดก่อน (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้จับกุมบุคคลที่ใช้กำลังและใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ เพื่อก่อความวุ่นวายและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมทั้งร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและผู้อื่น และในข้อหาอื่นๆซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,154 คน

ทันทีที่รัฐบาลธานินทร์ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ออก "คำชี้แจง" ออกมาตอบโต้ฉบับหนึ่ง ดังนี้:
ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก่อนมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนและจับกุมเฉพาะแต่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ฐานเดียวเท่านั้น ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงแถลงให้ทราบทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ตอนค่ำวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ส่วนความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง

แต่ในการประชุมครม.ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม นั้นเอง - ถ้าเราเชื่อตามจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ - ไม่ว่าตัวเสนีย์, หรือสุรินทร์, หรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครถามชุมพล โลหะชาละหรือศรีสุข มหินทรเทพ (อธิบดีกรมตำรวจ) ว่าเหตุใดจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเมื่อ "ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นองค์รัชทายาท" ติดต่อเข้ามอบตัวแล้ว? ใครสั่งให้ทำ? ที่ผ่านมาผมคิดว่าเราอ่านจดหมายสุรินทร์ในแง่ที่เป็นการเปิดโปง การเข้าไป "เล่นบทโศก" ในที่ประชุมครม.ของชุมพล โดยมองข้ามความจริงไปว่าฝ่ายประชาธิปัตย์เอง (รวมทั้งตัวสุรินทร์) ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยหรือคัดค้านการที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษาโดยตรง อันที่จริง เสนีย์และสุรินทร์ควรจะทำอย่างที่เสนีย์เพิ่งมาทำใน "คำชี้แจง" ในต้นเดือนกันยายน 2520 คือยืนยันว่า "ความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง" อาจจะแย้งได้ว่า จดหมายสุรินทร์ฉบับดังกล่าวมีถึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ต้องการเล่าว่าตัวเองออกมาปกป้องการชุมนุมของนักศึกษาในที่ประชุมครม.ในเช้าวันนั้น แต่ในจดหมายที่สุรินทร์เขียนถึง สุธรรม แสงประทุม ที่คุกบางขวางในเวลาไล่เลี่ยกัน (ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2520) ก็กล่าวแต่เพียงว่า "อาตมาไม่พอใจเลยในการที่นิสิตนักศึกษาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกล่าวร้ายโดยปราศจากความจริง เรื่องภายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนั้น อาตมาพยายามที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามความจริง แต่รัฐมนตรีพวกพรรคชาติไทยได้ต่อต้านคัดค้านอาตมาและร่วมแผนการปฏิวัติของพวกเขาอย่างชัดเจน" ซึ่งน่าจะหมายถึงการถกเถียงกันเรื่องจะประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินหรือไม่มากกว่า (หรือมิเช่นนั้น ก็อาจจะหมายถึง แถลงการณ์ที่ดูเหมือนจะมีการพยายามร่างกันขึ้น ในจดหมายถึงสมาชิกพรรค สุรินทร์กล่าวว่า "ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรีต่อ มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ" ผมไม่แน่ใจว่า สุดท้ายมีการออกแถลงการณ์นี้หรือไม่ เพราะไม่เคยเห็น)

ในจดหมายถึงพรรคฉบับที่สองของสุรินทร์ มีตอนหนึ่งที่กล่าวว่า "พล.ต. ชาติชาย จึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่ายตชด.เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉินและกล่าวว่าจะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ คุณจะเอาลูกเสือชาวบ้าน เอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้" และ "พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯแสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสที่ดีที่สุดที่จะปราบปรามให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยให้ถูกลบชื่อหายไปจากประเทศ" ซึ่งน่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกับที่จดหมายถึงพรรคฉบับแรกกล่าวอย่างสั้นๆว่า "วันนั้นได้มีผู้เสนอให้ฆ่านักศึกษา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดค้านไม่ให้กระทำ" แต่ทั้งสองกรณีเป็นการคัดค้านการใช้ลูกเสือชาวบ้านมากกว่า ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งข้อสงสัยหรือคัดค้านการกระทำของตำรวจ ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นลักษณะพาซื่อของเสนีย์และสุรินทร์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมยังคงเห็นว่าทั้งคู่น่าจะได้ยืนยันในวันนั้น อย่างที่เสนีย์มายืนยันในภายหลัง ว่า "ความผิดฐานอื่นไม่ได้สั่ง"

ความจริงก็คือ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น กำลังตำรวจประเภทต่างๆได้บุกเข้าโจมตีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์โดยไม่ได้รับคำสั่งใดๆจากรัฐบาล ปัญหาที่เราต้องพิจารณาต่อไปคือ ใครเป็นผู้สั่ง? และสั่งเพื่อผลประโยชน์ของใคร? กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ใครเป็นผู้บงการ?

ใครสั่ง/ใครบงการ บุกธรรมศาสตร์?
กำลังที่บุกเข้าโจมตีผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถ้าจะแบ่งแบบกว้างที่สุด ประกอบด้วย 2 พวก คือ มีเครื่องแบบกับไม่มีเครื่องแบบ พวกไม่มีเครื่องแบบอย่างน้อยได้แก่ลูกเสือชาวบ้าน (สังเกตจาก "ผ้าพันคอพระราชทาน") และน่าจะกระทิงแดง (สังเกตจากบุคลิกท่าทาง) นอกจากนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าหลายคนอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่หรืออดีตเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจนอกเครื่องแบบ เช่น มีเพื่อนผมบางคนแสดงความเห็นว่า ลักษณะทารุณกรรมที่พวกนี้กระทำเช่นตอกลิ่ม เผาทั้งเป็น แขวนคอแล้วประทุษร้ายศพ คล้ายกับวิธีการที่ทหารอเมริกันหรือคนพื้นเมืองที่ทหารอเมริกันฝึก กระทำในสงครามเวียดนาม ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่น่าจะมีจิตใจ***มเกรียมพอจะทำเช่นนั้นได้ ในความเป็นจริง ทารุณกรรมต่างๆที่นิยาม 6 ตุลาในความทรงจำของคนทั่วไป เป็นฝีมือของพวกไม่มีเครื่องแบบนี้มากกว่าพวกมีเครื่องแบบ อย่างไรก็ตาม ลำพังพวกไม่มีเครื่องแบบที่มีอาวุธไม่มาก ไม่สามารถจะสลายการชุมนุมในวันนั้นได้ พวกมีเครื่องแบบเป็นผู้โจมตีสังหารหมู่ด้วยอาวุธหนักเบาครบเครื่องก่อน เปิดทางให้พวกไม่มีเครื่องแบบทำทารุณกรรม

ลักษณะเด่นที่สุดของกำลังติดอาวุธในเครื่องแบบที่ลงมือปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนในกรณี 6 ตุลา ซึ่งตรงข้ามกับกรณี 14 ตุลาและ 17 พฤษภา คือ มีแต่ตำรวจไม่มีทหาร ถ้าดูจากหลักฐานต่างๆที่มีอยู่ รวมทั้งคำให้การของพยานที่เป็นตำรวจในคดี 6 ตุลา จะพบว่ากำลังตำรวจแทบทุกหน่วยถูกระดมมาใช้ในการโจมตีธรรมศาสตร์ ทั้งนครบาล (ตั้งแต่จาก สน. ถึงแผนกอาวุธพิเศษ หรือ "สวาท"), สันติบาล, กองปราบปราม โดยเฉพาะตำรวจแผนกปราบจลาจล ("คอมมานโด") 200 คนภายใต้สล้าง บุนนาค และตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน สองหน่วยหลังนี้ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นกำลังหลักในการโจมตี ขอให้เรามาพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ตำรวจปราบจลาจลและสล้าง บุนนาค
ตำรวจปราบจลาจลเป็นแผนกหนึ่ง (แผนก 5) ของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค เป็นรองผู้กำกับการ 2 คนหนึ่ง เขาให้การแก่ศาลทหารว่า ได้รับคำสั่งจากพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต ผู้บังคับการกองปราบปราม เมื่อเวลาตีหนึ่งของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจลไป "รักษาความสงบที่บริเวณท้องสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เขาจัดกำลังได้ประมาณ 200 คน นำไปถึงธรรมศาสตร์เมื่อเวลาตีสาม ต่อมาเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ก็ได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมตำรวจ "ให้เข้าไปทำการตรวจค้นจับกุมและให้ใช้อาวุธปืนได้ตามสมควร" (อย่างไรก็ตาม "ที่ข้าฯได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธได้จากอธิบดีตำรวจนั้น ได้รับคำสั่งโดยมีนายตำรวจมาบอกด้วยวาจา จำนายตำรวจนั้นไม่ได้ว่ามียศเป็นอะไร...มาบอกกันหลายคน")

ขณะที่สล้าง ทั้งในคำให้การต่อศาลทหารและในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาที่เขาเผยแพร่หลังจากนั้น (เช่นในส่วนที่เกี่ยวกับป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้) พยายามเสนอภาพตัวเองว่าเป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปกติตามกฎหมายและตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คำให้การและบันทึกความจำของเขาเองมีช่องโหว่และจุดที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งชวนให้สงสัยได้ว่าพฤติกรรมของเขาในวันนั้นมีเบื้องหลังทางการเมือง คือ มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่มุ่งกวาดล้างทำลายขบวนการนักศึกษาเพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหาร

สล้างอ้างว่าในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณห้าทุ่มครึ่ง เขาเดินทางไปสังเกตการณ์บริเวณสนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยตัวเอง โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ แล้วจู่ๆในระหว่างที่เดินอยู่บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยด้านวัดมหาธาตุ ก็มี "ผู้หญิง 3 คนซึ่งข้าฯไม่เคยรู้จักมาก่อนมาพบข้าฯ...บอกข้าฯว่าเขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...บอกว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการแสดงละครการเมืองดังกล่าวซึ่งน่าจะทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ ทางตำรวจไม่ดำเนินการอย่างไรบ้างหรือ" เขาจึงพาทั้งสามไปรายงานพล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต เพื่อให้ปากคำที่กองปราบ แล้วจึงเดินทางไปแผนก 5 "เพื่อเตรียมกำลังตามคำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์" จัดกำลังได้ 200 คนนำกลับมาที่ธรรมศาสตร์

นี่เป็นความบังเอิญอันเหลือเชื่อ อย่าลืมว่านั่นเป็นเวลาใกล้เที่ยงคืน สล้างไม่ได้แต่งเครื่องแบบ "อาจารย์ธรรมศาสตร์" ทั้งสามจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นใคร? (สล้างอ้างว่า "เชื่อว่าคงมีอาจารย์คนใดคนหนึ่งรู้จักหน้าข้าฯ") อย่าว่าแต่ "อาจารย์" ทั้งสามไปทำอะไรดึกดื่นเที่ยงคืนขนาดนั้นในบริเวณนั้น? ยิ่งถ้าไม่พอใจการแสดงละครของนักศึกษาทำไมไม่ไปแจ้งความที่ สน.สักแห่งตั้งแต่กลางวัน หรือตั้งแต่วันที่ 4 ซึ่งเป็นวันแสดงละคร กลับมาเดินท่อมๆในยาม วิกาลให้เจอสล้างโดยบังเอิญเพื่อร้องเรียนได้เช่นนั้น?

เรื่องประหลาดของสล้างในวันที่ 5 ตุลาคม ยังมีอีก: ในระหว่างตอบคำถามโจทก์ในศาลทหาร เขาไม่ยอมเล่าถึงการกระทำอย่างหนึ่งของตัวเอง จนกระทั่งเมื่อทนายจำเลยซักค้าน จึงได้ยอมรับว่า หลังจากพา "อาจารย์ธรรมศาสตร์" ทั้งสามไปให้ปากคำที่กองปราบ แต่ "ก่อนที่ข้าฯจะนำเอากำลังตำรวจ 200 คนออกไปปฏิบัติการนั้น ข้าฯได้ไปพบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชที่บ้านในซอยเอกมัยก่อน ข้าฯไปเองไม่มีใครสั่งให้ไป ข้าฯไปดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าฯ"

อย่าลืมว่าขณะนั้น (ตี 1-2) ตามคำให้การของเขาเอง สล้างอยู่ภายใต้ "คำสั่งพล.ต.ต.สุวิทย์" ให้นำกำลังไปที่ธรรมศาสตร์ แต่แทนที่จะรีบไปปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา กลับเถลไถลแวะไปบ้านเสนีย์โดย "ไม่มีใครสั่งให้ไป" เพียงเพื่อ "ดูความเรียบร้อยของผู้ใต้บังคับบัญชา" ทนายจำเลยเสนอเป็นนัยยะว่าแท้จริงสล้างไปเพื่ออาสานำกำลังไปปราบนักศึกษา (ในฐานะของความเป็นฝ่ายขวา แบบเดียวกับที่จำลอง ศรีเมืองและพวก "ยังเตอร์ก" เคยแอบเข้าพบเสนีย์ที่บ้านเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในปีนั้น) แต่สล้างปฏิเสธ "โดยส่วนตัว ข้าฯไม่ได้ขออนุญาตต่อท่านนายกรัฐมนตรีนำกำลังออกปฏิบัติการ" อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า "ได้พบกับนายกรัฐมนตรีและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังด้วย เมื่อข้าฯได้เล่าเหตุการณ์ให้ท่านนายกรัฐมนตรีฟังแล้ว ท่านได้บอกกับข้าฯว่า เรื่องนี้สั่งการไปทางอธิบดีกรมตำรวจแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชไม่ได้สั่งอะไรเป็นพิเศษแก่ข้าฯในขณะนั้น" ซึ่งชวนให้สงสัยว่าคนระดับนายกรัฐมนตรีจะต้องมาชี้แจงให้นายตำรวจระดับรองผู้กำกับที่แวะมาหาตอนตีสองโดยไม่บอกล่วงหน้าและเป็นการส่วนตัวทำไม?

ในบันทึก "กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่เกี่ยวข้องกับดร.ป๋วย" ที่สล้างเผยแพร่ในโอกาสการถึงแก่กรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เขาเล่าว่าในวันที่ 6 ตุลา หลังจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์ "มอบตัว" ต่อตำรวจแล้ว เขา "ได้รับวิทยุจากผู้บังคับการกองปราบฯ...สั่งการให้ผมเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลโดยด่วน เนื่องจากประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลในขณะนั้นบุกเข้าไปในทำเนียบ โดยมีคำสั่งให้รักษาความปลอดภัยหรือหาทางพาท่านนายกฯม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ออกจากทำเนียบรัฐบาลให้ได้" เมื่อไปถึงทำเนียบ "ทราบว่า ฯพณฯนายกฯมีความประสงค์จะลาออก เพื่อให้เกิดความสงบสุข มีส.ส.ส่วนหนึ่งเห็นด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย ตัวคุณสราวุธ นิยมทรัพย์ (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ก็ถูกคุมเชิงอยู่ ไม่กล้านำใบลาออกที่พิมพ์เสร็จแล้วไปเสนอนายกฯ"

สล้างอ้างต่อไปว่า :
“หลังจากหารือกับคุณสราวุธ, ม.ล.เสรี ปราโมช กับพวก ส.ส. เห็นด้วยกับการคลี่คลายสถานการณ์ โดยให้ท่านนายกฯลาออก ได้ข้อยุติดังนี้
1.มอบหมายให้ผมเป็นผู้นำใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม
2.จัดรถปราบจลาจลมาจอดหน้าทำเนียบเพื่อให้ท่านนายกฯประกาศลาออกต่อหน้าประชาชนที่บุกเข้ามาในทำเนียบ
3.จัดกำลังคุ้มกันนายกรัฐมนตรีไปที่บก.ร่วมซึ่งตั้งอยู่ในบก.สูงสุด (เสือป่า) ปัจจุบันนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาคลี่คลายสถานการณ์

“เมื่อได้รับการขอความร่วมมือและเห็นว่าเป็นทางเดียวที่ดีที่สุด คือให้ผู้นำ ทั้ง 2 ฝ่าย คือท่านนายกฯและฝ่ายทหารได้เจรจาหรือแก้ไขร่วมกันก็คงจะเป็นประโยชน์ ผมจึงได้ปฏิบัติ

“ผลการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย....”


เป็นเรื่องประหลาดที่นายตำรวจระดับรองผู้กำกับการจะมีบทบาทมากมายเพียงนี้ ถึงขนาดที่ทั้งทำเนียบรัฐบาลไม่มีใครเหมาะสมพอจะ "เอาใบลาออกไปให้นายกฯลงนาม" และ "นำนายกฯไปพบกับคณะทหาร" ต้องพึ่งพาให้เขาทำ ตั้งแต่ไปพบอาจารย์ธรรมศาสตร์ที่เห็นเหตุการณ์ละคร "แขวนคอ" โดยบังเอิญกลางดึกที่สนามหลวง, นำไปให้ปากคำที่กองปราบฯ, แล้วได้รับคำสั่งให้ไปจัดกำลังไป "รักษาความสงบ" ที่ธรรมศาสตร์, แวะไปบ้านนายกรัฐมนตรีในซอยเอกมัยตอนตีสอง, ปฏิบัติการที่ธรรมศาสตร์, เดินทางไปทำเนียบ จัดการให้นายกฯเซ็นใบลาออกแล้วพาไปพบผู้นำทหาร - บทบาทของสล้าง บุนนาคในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีมากมายอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แน่นอนว่าบทบาทของเขาในวันนั้นยังไม่หมดเท่านี้ ก่อนจะหมดวัน เขายัง "ได้รับคำสั่ง" ให้ไปปฏิบัติการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงที่ไม่อาจลบล้างได้จนทุกวันนี้:

“ประมาณ 2 ทุ่ม (ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519) ได้ขออนุญาตกลับบ้านถนนแจ้งวัฒนะ เพื่ออาบน้ำและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เนื่องจากไม่ได้กลับบ้านมา 3-4 วันแล้ว ระหว่างที่เดินทางมาถึงสี่แยกบางเขน ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก พล.ต.ต.สงวน คล่องใจ ผู้บังคับการกองปราบฯให้รีบเดินทางไปที่สนามบินดอนเมืองโดยด่วนที่สุดเพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน พวกนวพลและกระทิงแดงให้ได้ จึงได้รีบเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง....

“กระผมจึงได้รีบเดินไปที่ดร.ป๋วยที่กำลังโทรศัพท์อยู่ โดยบอกว่า อาจารย์ครับเข้าไปโทรข้างใน พูด 2 ครั้ง ท่านก็ยังพยายามต่อโทรศัพท์อยู่ ผมจึงปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้องของท่าอากาศยาน เมื่อเข้าไปในห้องและเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงกราบท่านและแนะนำตัวว่าผมเป็นลูกศิษย์ท่านที่ธรรมศาสตร์ ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์ ดร.ป๋วยได้บอกกับพวกผมและเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ศุลกากร ตม. ว่าที่ต้องโทรก็เพราะไม่มีเงินติดตัวมาเลย....เจ้าหน้าที่หลายนายได้บอกว่าผมเป็นลูกศิษย์และมีหลายคนรวบรวมเงินมอบให้อาจารย์ ท่านก็รับไป...”

บันทึกดังกล่าวของสล้างได้รับการตอบโต้จากนักวิชาการบางคน รวมทั้งผมด้วย (สล้างเริ่มเผยแพร่เหตุการณ์ที่ดอนเมืองเวอร์ชั่นนี้ในปี 2534) ทุกคนใช้วิธีอ้างความทรงจำของอาจารย์ป๋วยเองทั้งที่อยู่ในบทความ "ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519" และที่อาจารย์เล่าให้ลูกชายฟัง ซึ่งมีแต่กล่าวถึงการที่สล้าง "ตรงเข้ามาจับผู้เขียน [ป๋วย] โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป แล้วบริภาษผู้เขียนต่างๆนานา บอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ ผู้เขียนก็ไม่ได้โต้ตอบประการใด" ไม่มีตอนใดที่บอกว่าสล้างได้กราบขอโทษ "ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์" เลย

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้แบบนี้ ถึงที่สุดแล้ว เป็นการใช้ความทรงจำของคนหนึ่งไปหักล้างกับความทรงจำของอีกคนหนึ่ง และแม้ว่าคนทั่วไปอาจจะเลือกที่จะเชื่อป๋วยมากกว่า (ดังที่ผมเขียนว่า "ถ้าจะให้เลือกระหว่างอาจารย์ป๋วยกับสล้าง บุนนาค ว่าใครพูดความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดอนเมือง ผมเลือก อาจารย์ป๋วยโดยไม่ลังเล") แต่หากสล้างยืนกรานใน "ความทรงจำ" ของตัวเอง แม้ว่าจะฟังดูเหลือเชื่อเพียงใด ในระยะยาวก็ยากจะพิสูจน์ได้ว่าอะไรคือความ จริง จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมพบว่าเรามี "บุคคลที่สาม" ที่สามารถเป็น "พยาน" พิสูจน์ได้ว่า "ความทรงจำ" ของสล้างเกี่ยวกับ 6 ตุลา รวมทั้งที่เกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยที่ดอนเมือง เป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้เลย

"บุคคลที่สาม" ที่ว่านี้ก็คือ ตัวสล้าง บุนนาค เอง!

เพื่อที่จะเขียนบทความชุดนี้ ผมได้กลับไปอ่านคำให้การต่อศาลทหารของพยานโจทก์ทุกคนในคดี 6 ตุลา (ซึ่งผมเป็นจำเลยคนหนึ่ง) อย่างละเอียด รวมทั้งของสล้าง บุนนาคด้วย ผมพบว่าสล้างได้ให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ดอนเมืองแตกต่างกับที่เขานำมาเขียนถึงในระยะไม่กี่ปีนี้อย่างมาก ดังนี้:

“เย็นวันที่ 6 ต.ค. 19 ข้าฯไม่ได้ไปห้ามสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ให้ทำการบิน หรือเลื่อนเวลาทำการบินออกไป ข้าฯไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทยโดยทางเครื่องบินที่ดอนเมือง และมีประชาชนจำนวนมากได้ติดตามไปที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเข้าทำการแย่งตัวเพื่อจะทำร้าย ข้าฯ จึงไปและกันให้ด็อกเตอร์ป๋วยไปอยู่เสียที่ชั้นล่างของท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อให้ห่างจากฝูงคนที่จะเข้าไปทำร้าย จนทำให้ด็อกเตอร์ป๋วยรอดชีวิตอยู่ได้จนถึงบัดนี้...ในวันนั้นข้าฯไปเพียงคนเดียว ไม่มีกำลังตำรวจไปด้วย ในวันนั้นข้าฯยังพูดกับด็อกเตอร์ป๋วยว่า มหาวิทยาลัยกำลังยุ่งอยู่ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว ขณะที่พูดมีคนอื่นได้ยินกันหลายคน เพราะข้าฯมีความเห็นว่าขณะนั้นด็อกเตอร์ป๋วยควรจะอยู่อย่างยิ่งถ้ามีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ด็อกเตอร์ป๋วยไม่ได้ขอพูดโทรศัพท์กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และข้าฯก็ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย”

ยกเว้นเรื่องที่สล้างอ้างว่าช่วยไม่ให้ป๋วยถูกฝูงชนทำร้ายแล้ว จะเห็นว่าคำให้การปี 2521 กับบันทึกปี 2542 มีสาระและน้ำเสียงที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงที่สำคัญที่สุดคือการที่สล้างปฏิเสธอย่างชัดถ้อยชัดคำในศาลเมื่อปี 2521 ว่า "ไม่ได้กระชากโทรศัพท์มาเสียจากด็อกเตอร์ป๋วย" แต่มายอมรับในปี 2542 (2534) ว่า "ปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้อง"

แสดงว่าสล้างให้การเท็จต่อศาลทหาร (ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา น่าเสียดายที่อายุความสิ้นสุดเสียแล้ว)

ขณะเดียวกันทัศนะของสล้างต่อป๋วยที่แสดงออกในคำให้การปี 2521 น่าจะใกล้เคียงกับความรู้สึกของเขาสมัย 6 ตุลามากกว่า ("ทำไมท่านจึงหนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว..." ฯลฯ) ซึ่งแสดงว่า ข้ออ้างในปีหลังที่ว่าเขา "กราบ" ป๋วยก็ดี ช่วยเหลือในการเรี่ยไรเงินให้ก็ดี เป็นเรื่องโกหก และสุดท้าย การที่สล้างมาอ้างเมื่อเร็วๆนี้ว่า ไปดอนเมืองเพราะ "ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก...ผู้บังคับการกองปราบฯ" ก็น่าจะไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะในปี 2521 เขาเองบอกว่า "ไปเพราะได้รับทราบข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าด็อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะเดินทางออกนอกประเทศไทย"

การที่สล้างยอมรับออกมาเองในปี 2521 ว่า เขาได้พูดจากล่าวหาใส่หน้าป๋วยว่า "หนีออกนอกประเทศเอาตัวรอดแต่เพียงคนเดียว" ไม่สมกับ "ฐานะที่เป็นผู้ใหญ่" เช่นนี้ มีความสำคัญอย่างมาก อย่าลืมว่า ขณะนั้นสล้างเป็นเพียงรองผู้กำกับการยศพันตำรวจโทอายุ 40 ปี ถึงกับกล้าต่อว่าป๋วยซึ่งอายุ 60 ปีและมีฐานะระดับอธิบดีกรม (ความจริงสูงกว่าเพราะอธิการบดีเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ในระบบราชการต้องนับว่าเป็นการบังอาจเสียมารยาทอย่างร้ายแรงเข้าข่ายผิดวินัย ในลักษณะเดียวกับที่ สุรินทร์ มาศดิตถ์ กล่าวถึงพฤติกรรมของ พล.ต.ต. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ในที่ประชุมครม.ในเช้าวันนั้น ("บังอาจโต้ นายกรัฐมนตรี...ตำรวจยศพลตำรวจตรียังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี") ความ "กล้า" แสดงออกของสล้างขนาดนี้ชี้ให้เห็นอย่างไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ที่เขารีบไปดอนเมืองเพราะได้ฟังการ "ออกข่าว" (ชี้นำ?) จากยานเกราะนั้น จะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังจะยับยั้งการลี้ภัยของป๋วยอย่างแน่นอน เมื่อบวกกับความจริง ซึ่งเขาให้การเท็จต่อศาลแต่เพิ่งมายอมรับในปี 2534 ที่ว่าเขาได้ "ปัดโทรศัพท์ออกจากมือ" และ "กระชาก" ตัวป๋วย ซึ่งเป็นเรื่องผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา เราก็น่าจะสรุปได้ (เช่นเดียวกับที่สุรินทร์สรุปได้เมื่อเห็นพฤติกรรมของเจริญฤทธิ์: "พวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่") ว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สล้างไม่ได้เป็นเพียงเจ้าพนักงานที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่เป็นหนึ่งในการระดมกำลังของฝ่ายขวาเพื่อทำลายขบวนการนักศึกษาและทำรัฐประหาร

ข้อสรุปเช่นนี้ ทำให้เราสามารถอธิบายได้ว่าทำไมในวันนั้นสล้าง บุนนาคจึงมีบทบาทอย่างมากมายในลักษณะ "วิ่งรอก" ทั่วกรุงเทพฯ - จากการไปพบ "อาจารย์ธรรมศาสตร์" 3 คนที่สนามหลวงอย่าง "บังเอิญ" ตอนใกล้เที่ยงคืน, นำมาให้ปากคำที่กองปราบปราม, แล้วไปจัดเตรียมกำลังตำรวจปราบจลาจล, ไปบ้านเสนีย์ซอยเอกมัยตอนตีสอง โดย "ไม่มีใครสั่งให้ไป", กลับมานำกำลังตำรวจปราบจลาจลไปธรรมศาสตร์, ทำการปราบปรามผู้ชุมนุม, ไปทำเนียบรัฐบาล, เอาใบลาออกไปให้เสนีย์ลงนามแล้วพาไปพบผู้นำทหารที่สนามเสือป่า, จนถึงการไปสะกัดกั้นป๋วยที่ดอนเมืองเมื่อได้ข่าวจากยานเกราะในที่สุด. ขณะนั้น เฉพาะกองกำกับการ 2 กองปราบปราม ก็มีรองผู้กำกับถึง 6 คน และเฉพาะแผนก 3 (รถวิทยุศูนย์รวมข่าว) และแผนก 5 (ปราบจลาจล) ที่สล้างคุมอยู่ ก็มีรองผู้กำกับอื่นช่วยดูแลด้วยอีก 2 คน ทุกคนแม้แต่ตัวผู้กำกับการ (พ.ต.อ.จิระ ครือสุวรรณ) ก็ดูจะไม่มีบทบาทในวันนั้นมากเท่าสล้าง

ผมได้เสนอความเห็นข้างต้นว่า สล้างและตำรวจปราบจลาจล 200 คนที่เขาคุมเป็นหนึ่งในสองกำลังหลักที่บุกเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ขอให้เรามาพิจารณากำลังหลักอีกกลุ่มหนึ่ง

ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน
"ตำรวจพลร่ม" หรือชื่อที่เป็นทางการว่า กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตามคำให้การของ ส.ต.อ.อากาศ ชมภูจักร พยานโจทก์คดี 6 ตุลา เขาและตำรวจพลร่มอย่างน้อย 50-60 คนจากค่ายตำรวจพลร่มนเรศวรมหาราช หัวหิน ได้รับคำสั่งเมื่อเวลาตี 2 ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ให้เดินทางมากรุงเทพฯ โดยที่ "ขณะนั้นข้าฯยังไม่ทราบว่าที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปครั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ อะไร" พวกเขาขึ้นรถบรรทุก 2 คัน รถจี๊ปเล็ก 1 คัน เดินทางถึงกองบัญชาการ ตชด.ถนนพหลโยธินเวลา 6 นาฬิกา รับประทานข้าวห่อ 15 นาที แล้วเดินทางต่อมายังโรงแรมรอยัล รองผู้กำกับการที่ควบคุมการเดินทางมาจากหัวหินจึงได้ "แจ้งสถานการณ์พร้อมวิธีที่จะปฏิบัติให้ทราบ โดยแจ้งว่าที่ให้มาที่นี้ก็เพื่อมารักษาสถานการณ์ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เขากล่าวว่า "ที่นำกำลังมา 50-60 คนเป็นเฉพาะตำรวจในหน่วยที่ข้าฯประจำอยู่เท่านั้น....ข้าฯไม่ทราบว่าจะมีตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นไปปฏิบัติการด้วยหรือไม่"

ภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลาหลายภาพที่แสดงให้เห็นคนในเครื่องแบบคล้ายทหารถืออาวุธปืนขนาดใหญ่ (ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง หรือ ปรส.) และปืนครก กำลังทำท่าโจมตีเข้าไปในมหาวิทยาลัย คือภาพของตำรวจตระเวนชายแดนนั่นเอง ("อาวุธปืนในภาพที่มีคนแบกอยู่กับอาวุธปืนที่ติดกล้องเล็งขนาดใหญ่นั้น เป็นอาวุธปืน ปรส. ภาพตำรวจที่แบกอาวุธปืน ปรส.นั้นเป็นตำรวจตระเวนชายแดน", ส.ต.อ.อากาศ ให้การ)


ถ้านับจำนวนตำรวจหน่วยพลร่มเฉพาะในสังกัดเดียวกับ ส.ต.อ.อากาศ ที่เข้าร่วมปฏิบัติการ 50-60 คน รวมกับตำรวจปราบจลาจล 200 คนที่สล้าง บุนนาคนำมา และตำรวจแผนกอาวุธพิเศษ หรือหน่วย "สวาท" ทั้งแผนกอีก 45 คน (ตามคำให้การในคดี 6 ตุลาของ พ.ต.ต.สพรั่ง จุลปาธรณ์ สารวัตร ประจำแผนก ซึ่งขึ้นต่อกองกำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล) ก็เท่ากับว่าในเช้าวันนั้นเฉพาะกำลังส่วนที่ติดอาวุธหนักและร้ายแรงที่สุดของกรมตำรวจ 3 หน่วยนี้ที่ถูกใช้ในการโจมตีก็มีถึง 300 คน ถ้ามีตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นนอกจากหน่วยพลร่มเข้าร่วมด้วย ตัวเลขนี้ก็จะสูงขึ้นและ "อำนาจการยิง" (fire power) ก็ย่อมเพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนี้ยังมีตำรวจจาก สน.และหน่วยงานอื่นๆอีกไม่ทราบจำนวนแต่น่าจะเป็นไปได้ที่มีตั้งแต่ 50 ถึง 100 คน (ผมคิดว่านี่เป็นการประเมินแบบต่ำที่สุดแล้ว) รวมแล้วแสดงว่ามีตำรวจอย่างต่ำ 400 คน

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุม ที่ถูกจับได้ 3,000 คน และที่หนีไปได้ซึ่งน่าจะไม่เกิน 1,000-2,000 คน (ประเมินแบบสูง) ก็หมายความว่า สัดส่วนของตำรวจต่อผู้ชุมนุมอยู่ในระดับที่สูงมากในฝ่ายตำรวจ คือ ตำรวจ 1 คนพร้อมอาวุธครบครันสำหรับผู้ชุมนุมเพียง 10-12 คน โดยที่ส่วนใหญ่ที่สุดของผู้ชุมนุมเป็นเพียงนักศึกษา และแทบทุกคนไม่มีอาวุธ และนี่ยังไม่นับรวมพวกไม่ใส่เครื่องแบบ (ลูกเสือชาวบ้าน, กระทิงแดง, ฯลฯ) ที่เข้าร่วม "ปฏิบัติการ" กับตำรวจด้วย
เฉพาะการเปรียบเทียบตัวเลขง่ายๆแบบนี้ก็เห็นได้ชัดว่ากรณี 6 ตุลา เป็นการ "ล้อมปราบ" หรือ "รุมทำร้าย" อย่างแท้จริง

ขอให้เรากลับมาพิจารณาตำรวจพลร่มตระเวนชายแดนกันต่อ ตำรวจพลร่มเป็นหน่วยงานระดับกองกำกับการ (sub-division) ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีชื่อทางการว่า "กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศ" เราไม่มีหลักฐานว่าตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นได้ถูกระดมเข้าร่วมในการโจมตีด้วยหรือไม่ (หน่วยงานหลักที่เหลืออีก 7 หน่วยของ บช.ตชด. เป็นระดับกองบังคับการ (division) ได้แก่กองบังคับการ ตชด.ภาคต่างๆ เช่น ภาค 1 คุมพื้นที่ภาคกลาง 25 จังหวัด) ส.ต.อ.อากาศ ชมภูจักรยอมรับในคำให้การของตนว่าตำรวจในรูปถ่ายที่แบกปืน ปรส.เล็งยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ในเช้าวันนั้นเป็น ตชด. แต่ก็ไม่ได้กล่าวว่าเป็นหน่วยของตน จึงมีเหตุผลที่เราจะตั้งสมมุติฐานได้ว่าคงมีหน่วยตชด.อื่นเข้าร่วมด้วย

ในบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีก่อน (มติชนสุดสัปดาห์, 7 ตุลาคม 2537) มนัส สัตยารักษ์ นายตำรวจนักเขียนที่รู้จักกันดี ได้เล่าถึงพฤติกรรมของ ตชด. ที่เขาเห็นในเช้าวันนั้นไว้อย่างน่าสนใจ ขณะเกิดเหตุ มนัสเป็นสารวัตรคนหนึ่งของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม นั่นคืออยู่ภายใต้สล้าง บุนนาค ซึ่งเป็นรองผู้กำกับการ 2 โดยตรง สล้างเองกล่าวไว้ในคำให้การของตนว่า "ผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าฯที่วางกำลังไว้ที่สนามหลวง มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรกว่า 10 คน [เช่น]....ร้อยตำรวจเอกมนัส สัตยารักษ์" แต่มนัสไม่เพียงแต่ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลนี้หรือชื่อสล้างไว้ในบันทึกของเขาเลยเท่านั้น ยังเขียนทำนองว่าเขาไปที่นั่นเอง ไม่มีใครสั่ง ซึ่งน่าจะสะท้อนอะไรบางอย่าง มนัสเขียนว่า:

“ผมพบ พล.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว ผู้บังคับการกองปราบปราม กับกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งที่ระเบียงด้านหน้าหอประชุม เมื่อเสียงปืน ค. ของ ตชด. คำรามขึ้นทีไร กระจกหอประชุมจะแตกหล่นกราวลงมาใส่ท่านทีนั้น ผมภูมิใจมากที่มีโอกาสได้นอนทับตัวท่านเพื่อบังเศษกระจกไว้

“ผมขอให้ท่านสั่งหยุดยิง

“"ผมสั่งแล้ว!" ท่านตอบทันที "มนัส คุณวิ่งไปบอกด้วยตัวเองอีกที"

“ผมวิ่งไปยังกลุ่มตำรวจชายแดน 4-5 นายที่ดูเหมือนจะบันเทิงอยู่กับอาวุธปืน ค. ซึ่งปลายลำกล้องชี้ไปทางอาคารฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผมบอกว่าผู้บังคับการกองปราบปรามสั่งให้หยุดยิง

“"กระสุนดัมมี่ครับ ไม่ใช่กระสุนจริง" พวกเขาไม่ฟังเสียงหันไปทางปืนและเสียงปืนก็คำรามขึ้นอีก

“ผมย้ำอีกครั้ง "ผู้การสั่งให้หยุดยิง!"

“สิ้นเสียงผมเสียงปืนสนั่นในทันที! เราต่อปากต่อคำกันไม่นานผมก็ถอย พวกเขาเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย อ้างว่าผู้บังคับบัญชาของเขาสั่งให้ยิง ยศ พ.ต.ต. ของผมกับคำสั่งของพล.ต.ต.นอกหน่วยไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา

“ผมวิ่งกลับมาที่ระเบียงหอประชุม ถึงไม่รายงานท่านผู้การก็รู้ว่าสภาพของเหตุการณ์มันถึงขั้นอยู่เหนือการควบคุมไปแล้ว การปฏิบัติการต่างๆกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปเสียแล้ว....”

การระดมเอาตำรวจพลร่มและ(อาจจะ)ตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นๆมาช่วยในการโจมตีธรรมศาสตร์นี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดปรกติอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติของราชการด้วย เพราะหน้าที่ของหน่วยพลร่มคือการทำสงครามนอกแบบในชนบท อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาประวัติความเป็นมาของทั้งตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนโดยทั่วไป ก็จะพบว่านี่เป็นหน่วยงานตำรวจที่อาจจะกล่าวได้ว่ามีลักษณะการเมืองมากที่สุด

ทั้งตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานที่ถูกสร้างขึ้นในระยะพร้อมๆกันในช่วงที่พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีตำรวจในทศวรรษ 2490 ในทางยุทธการ ตำรวจพลร่มจะขึ้นต่อ บช.ตชด. แต่ในทางปฏิบัติ มีความเป็นเอกเทศสูง อันที่จริง พลร่มเป็น (ตามคำของ พิมพ์ไทย สมัย 2500) "กำลังตำรวจสำคัญที่สุดในยุคจอมอัศวินเผ่า" ถูกสร้างขึ้นด้วยคำแนะนำและการช่วยเหลือด้านเงิน, การฝึกและอาวุธจากองค์การซีไอเอ โดยผ่านบริษัทบังหน้า "ซีซับพลาย" (SEA Supply) ที่ซีไอเอตั้งขึ้น ทำให้มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ทันสมัยยิ่งกว่าทหารบกภายใต้สฤษดิ์คู่ปรับของเผ่าในสมัยนั้น เผ่าสร้างหน่วยงาน "ตำรวจ" ที่เป็นมากกว่าตำรวจในลักษณะนี้อีกหลายหน่วย เช่น "ตำรวจยานยนต์" (ซึ่งมีรถถังใช้!), ตำรวจรักษาดินแดน (ร.ด.) และกองบัญชาการตำรวจรักษาชายแดน (บช.รช.) สองหน่วยหลังนี้ถูกรวมเข้าเป็นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในปี 2498

เมื่อสฤษดิ์รัฐประหารในปี 2500 ก็ทำการแยกสลายและยุบกำลังเหล่านี้ บช.ตชด.ถูกยกเลิกแล้วจัดตั้งเป็น "กองบัญชาการชายแดน" แทน ต่อมาก็ย้ายตำรวจชายแดนไปขึ้นต่อกองบัญชาการตำรวจภูธร ในส่วนตำรวจพลร่มในสัปดาห์แรกหลังรัฐประหารเกือบจะเกิดการปะทะกับทหารบกของสฤษดิ์ที่พยายามไปปลดอาวุธ "กองพันตำรวจเสือดำ (ฉายาที่นสพ.ตั้งให้พลร่ม) ตั้งป้อมฝังระเบิดเวลารอบค่ายเตรียมรับทหาร ยกกองหนีเข้าป่า ทหารไม่กล้าตาม" เป็นพาดหัวข่าวของ พิมพ์ไทย สมัยนั้น แต่ในที่สุด กำลังของหน่วยพลร่มก็ถูกโยกย้ายกระจายกันไปตามหน่วยงานอื่นๆ (ไม่แน่ชัดว่าหน่วยงานพลร่มถูกเลิกไปเลยหรือลดฐานะไปขึ้นกับหน่วยอื่น)


เมื่อคณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศรื้อฟื้นจัดตั้ง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นใหม่ในปี 2515 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เกิดองค์ประกอบใหม่หลายอย่างขึ้นในการเมืองไทย เช่น การต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท. แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่สฤษดิ์ในระหว่างครองอำนาจได้รื้อฟื้นและขยายสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างใหญ่หลวง (ดูรายละเอียดในหนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของทักษ์ เฉลิมเตียรณ)บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มในสมัยนั้นคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบทและการต่อต้านการก่อการร้าย เช่น ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ชาวเขาในเขตยุทธศาสตร์ด้วยพระองค์เอง ในปี 2509 เริ่มมีการบริจาคเงินทูลเกล้าฯถวายเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก เข้าใจว่าบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้าไปใกล้ชิดกับตำรวจตระเวนชายแดน

สมัยนี้เองที่มีการพยายามสร้างภาพ "โรแมนติก" ให้กับตชด. เช่น ด้วยเพลง "โอ้ชีวิตเรา อยู่ตามเขาลำเนาป่า ตระเวนชายแดน เหมือนดังพรานล่องพนา ต้องนอนกลางดิน ต้องกินล้วนอาหารมีในป่า..." (ในลักษณะเดียวกับที่ภายหลังมีการพยายามสร้างภาพ "โรแมนติก" ให้เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยเพลง "จากยอดดอยแดนไกลใครจะเห็น ยากลำเค็ญเพียงใดใจยังมั่น จะปกป้องผองไทยชั่วนิรันดร์ สิ้นชีวันก็ยังห่วงหวงแผ่นดิน...")

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสถาบันกษัตริย์กับตชด. แสดงออกอย่างรวมศูนย์ที่สุดที่การจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านในปี 2514 ในฐานะกิจกรรมในพระบรมราชานุเคราะห์ที่ดำเนินงานโดย ตชด. เมื่อถึงปี 2519 รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการลูกเสือชาวบ้านก็คือ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เข้าไปประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (ตามคำให้การของสุรินทร์ มาศดิตถ์) ว่า "จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก" นั่นเอง

ผมขอทบทวนสิ่งที่ได้เสนอไปแล้ว ดังนี้ กำลังติดอาวุธที่บุกเข้าโจมตีธรรมศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีทั้งส่วนที่มีเครื่องแบบและไม่มีเครื่องแบบ ในขณะที่พวกไม่มีเครื่องแบบ (ซึ่งอาจเป็นเพียงอยู่นอกเครื่องแบบหรือเป็นอดีตทหารตำรวจ) เป็นผู้รับผิดชอบต่อทารุณกรรมต่างๆที่นิยาม 6 ตุลา ในความทรงจำของคนทั่วไป, พวกมีเครื่องแบบคือกำลังหลักที่แท้จริงที่เปิดฉากการฆ่าหมู่นองเลือด ผมได้ชี้ให้เห็นว่า ต่างกับกรณี 14 ตุลาและ 17 พฤษภา พวกมีเครื่องแบบในเช้าวันนั้นล้วนแต่เป็นตำรวจทั้งสิ้นไม่ใช่ทหาร เป็นที่ชัดเจนด้วยว่า ตำรวจเกือบทุกหน่วยถูกระดมมาร่วมรุมทำร้ายผู้ชุมนุมในเช้าวันนั้น อย่างไรก็ตาม ผมเสนอว่ากำลังที่สำคัญที่สุดคือตำรวจแผนกปราบจลาจล 200 คนที่นำโดยสล้าง บุนนาค, ตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยอื่นๆอีกไม่ต่ำกว่า 50-60 คน ซึ่งใช้อาวุธหนัก เช่น ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังและปืนครก และตำรวจหน่วย "สวาท" ทั้งแผนกอีก 45 คน
ผมได้พยายามแสดงให้เห็นว่าบทบาทของสล้างในวันที่ 6 ตุลาไม่ใช่บทบาทของเจ้าพนักงานระดับล่างที่ทำตามคำสั่งแต่เป็นบทบาทของนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาที่มุ่งทำลายขบวนการนักศึกษา (แบบเดียวกับจำลอง ศรีเมืองในช่วงนั้น) เช่นเดียวกัน การระดมตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรหัวหินซึ่งมีหน้าที่ในการทำสงครามนอกแบบในชนบทเข้ามาปราบนักศึกษาในกรุงเทพฯเป็นเรื่องที่ผิดปกติและผิดวิธีปฏิบัติราชการอย่างเห็นได้ชัด แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถ้า ดูจากวิวัฒนาการของตำรวจตระเวนชายแดนที่มีลักษณะการเมืองสูง (highly politicized) จากการเป็นกำลังที่เผ่า ศรียานนท์ตั้งขึ้นเป็นฐานอำนาจตัวเอง จนกลายมาเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบกิจการลูกเสือชาวบ้านในพระบรมราชานุเคราะห์

เหนืออื่นใดเราต้องไม่ลืมว่าการโจมตีธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้เป็นคำสั่งของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช เป็นความจริงที่ว่า ในค่ำวันที่ 5 ตุลาคม รัฐบาลเสนีย์ได้ "สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน" การแสดงที่ธรรมศาสตร์ที่ "มีลักษณะไปในทางดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท...อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนชาวไทย....เพื่อนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้" (คำแถลงของเสนีย์ทางสถานีโทรทัศน์เวลา 22.15 น. น่าสังเกตว่าประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลา 21.40 น. กล่าวเพียงว่า "ให้กรมตำรวจดำเนินการสืบสวนและสอบสวนกรณีนี้โดยด่วน" ไม่มี "อันเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจ..." และ "เพื่อนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้")

แต่หาก "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" ปฏิบัติหน้าที่ "สืบสวนสอบสวน" ตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ ก็ย่อมไม่เกิดกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม เพราะผู้ที่อยู่ในข่ายเป็น "ผู้ต้องหา" คือกรรมการศูนย์นิสิตและผู้จัดการแสดงละครก็ได้แสดงความจำนงยินดีเข้าพบกับรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการ "สืบสวนสอบสวน" ได้ตั้งแต่คืนวันที่ 5 แล้ว ไม่เฉพาะแต่บทบาทอันน่าสงสัยของสล้างและการสั่งเคลื่อนกำลัง ตชด.เข้ากรุงเทพฯเท่านั







http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=5924 (http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=5924)


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 15-02-2008, 20:56
ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งช่วง 6 ตุลา ทำหน้าที่โฆษกบนเวทีชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ต.ค. บรรยากาศกึกก้องไปด้วยเสียงระเบิดเสียงปืนที่ยิงเข้าไปไม่ขาดสาย ราวกับอยู่ในสมรภูมิรบ และแม้นักศึกษาจะพยายามขอร้องตำรวจว่า อย่ายิงเข้าไป แต่ก็ไม่มีประโยชน์ จะขอเอารถพยาบาลออกเพื่อส่งคนบาดเจ็บไปโรงพยาบาล ก็ไม่ยอมให้ออก

“ตอนแรกที่ผมอยู่บนเวที มันเริ่มมีคนบาดเจ็บ แล้วเราเอารถพยาบาลขอออก เขาไม่ให้ออกด้วย ผมจำได้ว่า ถึงขนาดต้องมาที่เวที แล้วกระจายเสียงไปว่า ขอให้เอารถพยาบาลออก .. ผมเจอคุณประยูร อัครบวร ซึ่งเป็นรองเลขาศูนย์นิสิตฝ่ายการเมืองของสุธรรม เขาก็เจรจากับตำรวจที่คุมอยู่แถวด้านหน้าประตูท่าพระจันทร์ บอกว่า ขอเอาเฉพาะผู้หญิงกับเด็กออกไปก่อนได้มั้ย ทยอยออกไป เอาแค่เป็นหลักประกันว่า ออกไปไม่ใช่โดนยิงทิ้ง เพราะแถวนั้นที่มาอ่านทีหลัง ทั้งตำรวจ ทั้งกระทิงแดง แถวนั้นมันอยู่เต็มไปหมด …ตลอดเวลาเสียงปืนไม่เคยหยุด เสียงปืนที่มันถล่มเข้ามาเนี่ย แล้วตอนคุณอยู่มหาวิทยาลัยเนี่ย เสียงที่มันถล่มเข้ามา มันฟังน่ากลัวมาก เพราะมันก้อง มันสะท้อน ก้องอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมศาสตร์ มันเป็นตึกล้อมรอบสนามฟุตบอล พอมันยิงนิดหนึ่ง มันดังมาก ฟังดูมันดังไม่หยุดเลย น่ากลัวมาก ผมยอมรับว่า ไม่เคยได้ยินมากขนาดนี้เลย ความรู้สึกมันเหมือนผมอยู่ในสมรภูมิ ..แล้วตอนหลังประยูรเจรจา เราก็เลยเริ่มให้ผู้หญิงกับเด็กทยอยเข้าแถวจากตรงคอมมอนรูม หมายถึงผู้ที่ยังหลบอยู่ใต้คอมมอนรูมศิลป์ ก็ทยอยเข้าแถว และวิ่งออกไปด้านประตูท่าพระจันทร์ ทีละคนสองคน ตอนหลังถึงมารู้ว่า ที่ออกไป ก็ไปไม่ได้ไกล ส่วนใหญ่ก็ไปหลบอยู่แถวๆ บ้านคนบ้าง”

ไม่ว่านักศึกษาจะไปหลบอยู่บ้านใครในละแวกนั้น ก็ถูกค้นและจับกุมหมด ขณะที่ ดร.สมศักดิ์ เอง ก็ถูกจับกุมเช่นกัน หลังไปหลบอยู่ในกุฏิพระในวัดมหาธาตุฯ ข้างธรรมศาสตร์พร้อมกับนักศึกษาอีกหลายสิบคน

ขณะที่ นายวิทยา แก้วภราดัย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์ 6 ตุลา เล่าให้ฟังว่า ตนเองทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ของธรรมศาสตร์ พอมีการยิงกราดมาจากทางด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตอนประมาณตี 5 ครึ่ง ก็หนีตายกัน แต่ก็มาถูกยิงเข้าจนได้ที่ขาทั้ง 2 ข้างขณะหลบอยู่ใต้ต้นชงโคแถวสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ แม้จะไม่เสียชีวิตจากการถูกยิง แต่คุณวิทยา ก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดในเวลาต่อมา

“สัก 7 โมงเศษๆ นี่ มันมีการใช้รถเมล์วิ่งชนประตูใหญ่บุกเข้ามา ซึ่งในนั้นก็มีคนพวกกระทิงแดงบ้าง อะไรบ้างเต็มหมด บุกเข้ามา แล้วก็วิ่งกรูกันเข้ามาทางหอประชุมใหญ่ ผมนอนดูอยู่ พวกนั้นวิ่งเข้ามาพร้อมๆ กับพวกที่ยิงผมชุดแรกที่อยู่ทางด้านพิพิธภัณฑ์ ฝั่งตรงข้ามน่ะ ก็ยิงใส่พวกที่เอารถเข้ามาเหมือนกัน ความรู้สึกผมตอนนั้นก็คือ มันคงเกิดความสับสน หรือพยายามสร้างสถานการณ์ให้รุนแรง เหมือนกับว่านักศึกษายิงพวกที่กำลังบุกเข้ามา แต่จริงๆ เป็นการยิงมาจากด้านพิพิธภัณฑ์ แล้วพวกที่โดนไล่ยิงจากพิพิธภัณฑ์ก็วิ่งลงมาหมอบอยู่ใกล้ๆ ผม สักพักเสียงปืนทางโน้นก็เงียบ พวกนี้ก็เริ่มมาหมอบอยู่ข้างๆ ผม ก็มาตรวจค้นตัวผม ส่วนใหญ่พวกที่มาค้นก็นึกว่าผมตายแล้ว เพราะเลือดมันท่วมมาถึงหน้าอกหมดแล้ว มันนาน โดนยิงไปชั่วโมงกว่า ก็พลิกตัวผมขึ้น แล้วก็ล้วงในกระเป๋า ได้เงินสัก 2 พันกว่าบาท พวกนั้นก็เอาเงินไปเลย พอรู้ว่าผมไม่ตาย ก็ช่วยกันหามออกมา”

“พอหามออกมา แล้วก็มาเปลี่ยนกัน ตอนนั้นผมยังหลับตา แต่รู้สึกตัว ผมเข้าใจว่า ใกล้ๆ จะถึงหน้าหอประชุมใหญ่ ก็มีคนหนึ่งหามทางหัว คนหนึ่งหามทางขา แล้วมีคนมารับต่อใส่เปล ช่วงที่รับต่อใส่เปลก็สับสน ผมไม่ได้ลืมตาดู ฟังเสียงดูสับสนหมด คือพวกที่เอาผมใส่เปลเข้าใจว่า ผมเป็นคนที่บุกเข้าไปแล้วโดนยิง พอหามผมออกมา ผมเข้าใจว่าถึงกลางถนน คนที่อยู่ข้างนอกปรบมือรับ ทำนองว่าปรบมือให้วีรชนหน่อย พวกเราโดนยิงเจ็บออกมา ..วิ่งเอาผมใส่เปล เข้าใจว่าน่าจะเป็นริมสนามหลวง คงมีรถพยาบาลจอดอยู่ ผมยังไม่ได้ลืมตาดู และมีคนมาตะโกนว่า มันไม่ใช่พวกเรา เริ่มรู้ว่าผมไม่ใช่คนที่บุกเข้าไป ผมเป็นนักศึกษา และมีเสียงถกเถียงกันว่า เอาลงมาตีให้ตาย และเข้าใจว่าเป็นบุรุษพยาบาลที่มา ก็พยายามเถียงว่า เขาจะตายอยู่แล้ว อย่าไปทำเลย เห็นแก่มนุษยธรรมเถอะ พอเสียงพูดอย่างนั้นจบ เปลที่หามผม ก็โยนผมทั้งเปลเลย คือเหวี่ยงผมไปในรถ เข้าใจว่าเป็นรถพยาบาล เหวี่ยง ไม่ใช่อุ้มขึ้นไป ยกเปลแล้วก็เหวี่ยงเข้าไปในรถ ผมก็กลิ้งไปตามพื้น แล้วมีเสียงปิดประตูรถ และรถก็ออกวิ่งเลย”

การกราดยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าเคลียร์พื้นที่ในตอนใกล้เที่ยง และจับกุมนักศึกษากว่า 3,000 พันคน หลังการล้อมปราบ ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน แต่ทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแค่ 40 คน

1 ในนักศึกษาที่เสียชีวิต คือ มนู วิทยาภรณ์ ซึ่งทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยถูกยิงนัดเดียวตัดขั้วหัวใจเสียชีวิต นางเล็ก วิทยาภรณ์ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังว่า วันเกิดเหตุเห็นภาพเหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนจากโทรทัศน์จึงได้ออกไปตามหา
ลูก ตามเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เจอแต่ภาพน่าสยดสยองกับการเผาคนทั้งเป็น!

“ไปตามลูกตรงไหนก็ไม่เจอ ไม่เจอ ก็มาถึงตรงหน้าธรรมศาสตร์ ตรงหน้าแม่ธรณีระหว่างยังไม่ถึงดี ก็มีคนร้องสวนมาว่า ต๊าย ตาย! ดูเขาทำกับเด็กสิ ไปต่อยท้อง แล้วเด็กมันก็จุก จุกแล้วก็ถามว่า เป็นคนไทยหรือคนที่มาจากไหน เด็กก็ไม่ได้ตอบ แล้วก็เอายางมาใส่ แล้วก็เผาทั้งเป็นอย่างนั้นน่ะ เห็นแล้วก็ตกใจ แล้วรถก็เปิดหวอทั่วธรรมศาสตร์เลย วนๆๆ”


ต่อมานางเล็กได้รู้จากหลานว่า ลูกชายบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่เมื่อไปดูก็ไม่พบ สุดท้ายเจ้าหน้าที่แนะให้ไปดูบริเวณที่เก็บศพ แล้วก็พบป้ายชื่อ “มนูญ วิทยาภรณ์” แม้ชื่อจะเขียนผิดเพี้ยนไปบ้างก็ตาม(จริงๆ ต้องชื่อ “มนู”) แต่ก็เป็นศพลูกชายจริงๆ พร้อมกับได้เห็นภาพศพนักศึกษา ประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกกองรวมกันไว้ ดูราวกับกองฟืน

“ไปถึงช่วงนั้นก็ โอ้โห! เขากองศพเหมือนอย่างกับกองฟืนเลย เหมือนอย่างกับกองไม้เลย ไอ้ที่ถูกตี ก็ฟกช้ำดำเขียว แมลงหวี่ก็ตอม ฉันไปก็นึกสมเพชในใจ โอ๊ย! นี่น้าลูกเอ๊ย ลูกทำความดี เขาก็ไม่เห็นถึงความดี เขาก็คิดเข่นคิดฆ่ากัน แต่หนูก็ไปสู่สุคตินะ เราก็บอกเล่าชี้หนทางให้เขาไป เห็นแล้วก็สงสารจังเลย ...เขาก็ใส่โลง ฉันก็ถามเจ้าหน้าที่ ที่ใส่โลงเนี่ย เราต้องเสียอะไรมั่ง เขาก็บอกว่า ไม่เสียหรอก ให้ทั้งโลง ฉันบอกเหรอ ฆ่าลูกเราทั้งคน แล้วยังแถมโลงให้ แต่โลงเนี่ยคงไม่เอานะ เอาไว้ใส่พวกคุณก็แล้วกัน ฉันก็บอกเขาอย่างนั้น”

คงไม่มีเหตุการณ์ไหนที่คนไทยจะฆ่าคนไทยด้วยวิธีที่โหด***มผิดมนุษย์และเลือดเย็นเช
่นนี้อีกแล้ว และคงไม่มีความตายครั้งใดที่ศพของผู้เสียชีวิตจะถูกกระทำย่ำยีอย่างป่าเถื่อนเท่ากับ
ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยิงนักศึกษา แล้วใช้ผ้าลากคอไปกับพื้น การฆ่าแขวนคอและทำร้ายศพจนยับเยิน ไปจนถึงการเผาทั้งเป็น!

หลังจากการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้มีคำสั่งยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกบ้านหลังเที่ยงคืน-ตี 5 และสั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ หลังจากนั้นได้นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าฯ เพื่อประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่การปราบปรามนักศึกษาที่ได้รับการประกันตัวหรือไม่โดนจับ ก็ดำเนินไปอย่างรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้นักศึกษาหนีเข้าป่าจำนวนมาก ส่วนผู้ที่ถูกจับกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวเกือบหมด เหลือเพียง 18 คนที่ถูกส่งฟ้องต่อศาล ด้วยข้อหานับสิบ กว่านักศึกษาที่ถูกฟ้องจะได้รับอิสรภาพ ก็ภายหลังรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทำการปฏิวัติ และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมเวลาผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ถูกคุมขังระหว่างสืบพยานโจทก์ นานถึง 2 ปี!!


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 15-02-2008, 20:59
2.จะจับได้ไง เขาทำเพื่อชาตินะ เขาสั่งมาด้วย ไม่ฆ่าไม่ได้ มันไม่ใช่คน มันเป็นคอมมิวนิสต์

3.มีป่าวไม่รู้ แต่คิดว่ามีจัดตั้งครับ


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 15-02-2008, 21:03
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  :slime_smile:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: soco ที่ 15-02-2008, 21:06
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  :slime_smile:

ผมไม่แน่ใจว่า ไอ้หัวโต มันได้มาแย้งหรือไม่ว่า คนตายไปคนเดียว จริงหรือไม่จริง


ข่าวว่ามันเป็นการ์ดน่ะตอนนั้น  :lol:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 15-02-2008, 21:13
บันทึก 6 ตุลา : พลิกแผ่นดินตามหาลูก
จินดา  ทองสินธุ์

เมื่อลูกๆ เติบใหญ่ ทุกคนต่างมีความฉลาดเท่าเทียมกัน เพราะพ่อแม่รักและพยายามให้เล่าเรียนตามความสามารถ ลูกจารุพงษ์  ลูกจงดี และทนงศักดิ์ ประภัสสร ก็เข้าเรียนกันตามลำดับ แต่ขณะลูกทั้งสี่เรียนอยู่ในชั้นประถมปลาย มัธยมต้น มัธยมปลายกันนั้น ลูกอมรเทพยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ในปี ๒๕๑๙ ที่โรงเรียนบ้านดินแดง ลูกประภัสสรเรียนชั้น ม.ศ.๑ ที่โรงเรียนสุราษฎร์  ลูกทนงศักดิ์เรียนชั้น ม.ศ. ๒  ลูกจงดีเรียนชั้น ม.ศ. ๕ ที่โรงเรียนสุราษฎรธานีเหมือนกัน ส่วนลูกจารุพงษ์ก็กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนักศึกษาปีที่ ๒ คณะศิลปศาสตร์ ในปีนี้เอง เหตุการณ์ที่ไม่น่าคาดฝัน ได้อุบัติขึ้น ซึ่งนำความวิปโยคมาสู่ครอบครัวของข้าพเจ้า อย่างที่จะหาเหตุการณ์ครั้งไหนมาเปรียบเทียบมิได้ มันทั้งแสนจะปวดร้าวจิตใจจนแทบจะอดกลั้นไว้ได้ หรือจะเรียกว่าบัดนี้พ่อและแม่ของลูกๆ ได้ตายแล้วทั้งเป็นและจะตายจนกว่าจะเรียกร้องความสูญเสียนั้นกลับคืนมา

เช้าวันที่ ๖  ตุลาคม  ๒๕๑๙  เวลาประมาณ  ๙.๐๐  น.เศษ วิทยุแห่งประเทศไทยได้กระจายข่าวว่ามีการจลาจลขึ้นในแผ่นดิน เสียงประกาศและเสียงปืนที่รัวถี่ยิบเป็นระลอกๆ ทุกคนต่างตระหนกตกใจ เพราะเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข่าวประโคมว่าได้มีผู้ก่อการจลาจลเป็นนักศึกษาไทย และพวกคนญวนที่จับกลุ่มอยู่ในธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ได้ยิงปืนออกมาจากภายในทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้รักชาติล้มตายหลายคน และเสียงวิทยุก็เร่งเร้าให้ประชาชนช่วยกันผนึกกำลังเพื่อระงับเหตุการณ์ และช่วยกันกำจัดโดยทุกวิถีทางจนเกิดการประชาทัณฑ์นักศึกษาที่หนีเอาตัวรอดออกมาภายนอกบริเวณมหาวิทยาลัยช่วยกันทุบตีและผูกคอลากในสนามหลวง มิหนำซ้ำการทุบตียังไม่หนำใจ ยังได้จับมัดนำไปเผาทั้งเป็นหรือเรียกว่าตายไม่ทันนั่นเอง การเผานี้กระทำกันในที่ชุมชนคือข้างสนามหลวงนั่นเอง โดยใช้ยางรถยนต์ที่ชำรุดมากองแล้วเอาศพตั้งจุดไฟเอาน้ำมันรด ไฟลุกโหมไหม้เกรียมเป็นตอตะโก และอีกรายหนึ่งช่วยกันจับมัดใช้เชือกแขวนคอ โยงขึ้นไปผูกกับกิ่งมะขามแล้วประชาชนผลัดกันเข้าไปทุบตี ทั้งๆ ที่นักศึกษานั้นได้สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ความโกรธของปวงชนยังไม่เหือดหาย ถึงกับใช้เก้าอี้ไปรุมตีศพกัน เป็นภาพในหน้าหนังสือพิมพ์ มันเป็นเหตุการณ์ที่ทิ่มแทงเข้าขั้วหัวใจของบิดามารดานักศึกษาที่ส่งลูกให้มาร่ำเรียนในสถาบันที่สูงอย่างบอกไม่ถูก ถ้าฝูงชนเหล่านั้นช่วยกันคิดสักนิดหนึ่งว่า เขาก็เป็นพ่อหรือแม่คนหนึ่งของลูก การกระทำอย่างนั้นมันออกจะรุนแรงในศีลธรรมและวัฒนธรรม ซึ่งคนไทยได้นับถือศาสนาพุทธอยู่ ก็จะลดราวาศอกลงได้บ้าง

แต่แล้วครั้นเวลาประมาณเย็นๆ วิทยุได้ประกาศยุบรัฐบาลสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และตั้งคณะปฏิรูปปกครองบ้านเมืองขึ้นใหม่โดย พล.ร.อ.สงัด  ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประกาศกฎอัยการศึก และประกาศกฎหมายการกระทำอันเป็นภัยสังคม แม้ว่ากำลังกระทำกัน หรือที่กระทำอยู่ก่อนประกาศนั้น ถือว่าเป็นความผิด ทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าทำการจับกุมพวกจลาจลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เกิดการปะทะกันอย่างขนาดหนัก ทำให้ตัวตึกอาคารหลายหลังได้รับความเสียหายยับเยินเพราะนักศึกษาต่างก็วิ่งหลบกระสุนกันชุลมุน  ส่วนมากจะวิ่งขึ้นไปบนตัวตึก เจ้าหน้าที่ก็ไล่ยิงเข้าใส่ บางคนก็หนีเอาตัวรอดอย่างไม่คิดชีวิต แต่หนทางที่จะหนีออกนั้นยากเหลือเกินเพราะประตูทุกประตูถูกปิดตาย ซ้ำประชาชน ลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ ทหาร ได้เรียงรายอยู่ภายนอก ยากที่จะหนีออกมาได้ มีอยู่ทางเดียวคือด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา  นักศึกษาส่วนหนึ่งก็กระโดดลงน้ำ เพื่อว่ายข้ามขึ้นฝั่งอีกฝั่งหนึ่ง แต่ทว่าความหวังน้อยเหลือเกิน เพราะทหารเรือและตำรวจน้ำได้เรียงรายใช้ปืนคอยยิงสกัดไว้ บางคนถูกกระสุนปืนในแม่น้ำจมหายดิ่งลงไป บางคนดวงดีก็สามารถหนีรอดไป บางพวกหนีลงทางปล่องร่องน้ำคลานออกทางลำน้ำเจ้าพระยา แต่จะหนีเล็ดลอดไปได้ไม่กี่คน ส่วนใหญ่ก็ยอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และถูกจับกุม แต่เจ้าหน้าที่เป็นส่วนน้อย จำเป็นต้องใช้มาตรการเด็ดขาดในการจับกุมโดยให้นักศึกษาทุกคนถอดเสื้อออกให้นอน คว่ำหน้าลงกับพื้น ใครคนใดไม่ปฏิบัติตามก็ต้องได้รับโทษอย่างหนัก หรือถึงตายได้ในขณะนั้น เมื่อได้กวาดต้อนนักศึกษาลงมารวมกลุ่มตามบริเวณตัวตึกแล้ว ห้ามมิให้เคลื่อนไหวใดๆ โดยนั่งเอามือประสานคอก้มหน้าอยู่เป็นชั่วโมงๆ ในระหว่างนั้นมีการทำความสะอาดภายใน เก็บสิ่งของที่ตกหล่น ส่วนมากก็เป็นบัตรประจำตัวนักศึกษา บัตรประชาชน ซึ่งนักศึกษาจะต้องควักออกทิ้งเกลื่อนสนาม เพราะถ้าติดอยู่เกรงว่าจะถูกฝูงชนประชาทัณฑ์ หลังจากทำความสะอาดแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องนำรถยนต์ไปบรรทุกพวกจลาจลเหล่านั้นซึ่งนับเป็นพันคน แยกย้ายไปกักขังตามสถานที่ต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้

ในตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลต้องกระทำงานอย่างหนัก เพราะส่วนหนึ่งต้องนำนักศึกษาที่บาดเจ็บถูกกระสุนยังไม่ตายไปส่งโรงพยาบาลต่างๆ และเก็บศพนักศึกษาประชาชนที่ตายไปส่งสถานที่เก็บศพ ส่วนผู้ที่ถูกจับก็ต้องรีบส่งไปกักขัง และต้องระวังเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในระหว่างทาง จึงต้องจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันเป็นระยะๆ ไป นักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมครั้งนี้ประมาณ ๓,๐๐๐ คนเศษ  ต้องแยกย้ายไปกักขังไว้ถึง ๓ แห่งด้วยกัน คือที่โรงเรียนพลตำรวจ จังหวัดนครปฐม ชลบุรี และบางเขน เมื่อนักศึกษาและประชาชนถูกนำไปกักขังแล้ว ภาระหน้าที่หนักของเจ้าหน้าที่คือการประชาสัมพันธ์การจัดทำรายชื่อเพื่อประกาศ อะไรต่อมิอะไรบอกไม่ถูก และเหตุการณ์แทรกซ้อนเกิดขึ้นทุกระยะ เช่นมีข่าวว่าจะมีการแย่งชิงนักศึกษาขึ้น และมีข่าวว่าจะมีการก่อวินาศกรรมตามสถานที่ราชการหรือที่สำคัญๆ แม้ว่าจะประกาศกฎอัยการศึกแล้วก็ตามแต่ความร้ายยังไม่เกิดขึ้น แม้ประชาชนที่ไปรวมกลุ่มกัน จะแยกย้ายกลับบ้านเรือนแล้ว แต่ทหารก็ต้องออกรักษาการตามสถานที่ราชการและที่ชุมนุมทั่วไปในกรุงเทพฯ ทางราชการประกาศมิให้คนออกนอกบ้านทันที

ในด้านพ่อแม่ของนักศึกษาทั้งที่อยู่ส่วนกลาง และในชนบท ต่างก็ตระหนกตกใจกันเป็นกำลังต้องวิ่งหาลูกของตัวกันจ้าละหวั่น ที่อยู่ใกล้ๆ พอจะวิ่งหาได้ในวันเกิดเหตุหรือหลังวันเกิดเหตุเล็กน้อย แต่ที่อยู่ไกลๆ ซิต้องจับพาหนะรถยนต์ รถไฟ แล้วแต่หนทางไหนจะสะดวกที่สุด ข้าพเจ้าเป็นพ่อของลูกคนหนึ่งที่ลูกเรียนอยู่ในสถาบันที่เกิดเหตุด้วยยิ่งมีความเป็นห่วงนับพันทวีคูณ ได้ปรึกษากับภรรยาแล้วจับรถไฟจากสถานีบ้านส้องมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๗ ตุลาคม  ๒๕๑๙ เวลา ๑๖.๐๐ น. ขณะที่นั่งมาบนรถไฟได้พบปะเพื่อนฝูงที่มาจากทางใต้ ส่วนมากก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือไปเยี่ยมลูกหลาน และเป็นห่วงลูกหลานกันทั้งนั้น ต่างคนต่างนั่งมองหน้ากันด้วยความเศร้าสลดใจจนพูดอะไรไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไรจึงได้เกิดอาเพศขึ้นเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าเองพอจะรู้เรื่องเดิมแห่งที่มาของเรื่องนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะได้ติดตามข่าวหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ นับตั้งแต่จอมพลประภาส  จารุเสถียร กลับเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง จนนักศึกษาไม่พอใจ ได้เกิดการเดินขบวนขับไล่ จนในที่สุดรัฐบาลหาทางออกโดยส่งจอมพลประภาส จารุเสถียรออกไปนอกประเทศอีกครั้ง ส่วนเหตุที่กลับมาของบุคคลสำคัญดังกล่าวโดยอ้างเหตุว่าป่วยจะกลับมารักษาตัวที่เมืองไทย จะป่วยจริงป่วยเท็จประการใด ถือว่าเป็นเรื่องของการเมืองข้าพเจ้าไม่ค่อยติดใจ

ต่อมาไม่กี่เดือน จอมพลถนอม  กิตติขจร ก็กลับมาในรูปของการบวชสามเณรจากต่างประเทศมาเลย และได้เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ โดยอ้างว่าจะได้อยู่ใกล้ชิดกับบิดาที่กำลังป่วย และไม่ขอเกี่ยวข้องกับการเมืองอีกต่อไป จะประกอบแต่ความดีในทางพุทธศาสนานั้นก็เป็นไปในทางส่วนตัวหรือการเมืองก็ยากที่จะวิเคราะห์ แต่การกลับมาของจอมพลถนอม  กิตติขจรนี้ นักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่พอใจ มีการจับกลุ่มต่อต้านต่างๆ นานา จนเกิดการรวมตัวของนักศึกษา ถึงแม้ไม่ได้เคลื่อนไหวออกภายนอกก็ตาม แต่ทว่าเหตุการณ์ภายในกำลังคุกรุ่น และเพิ่มปริมาณขึ้นจนเป็นที่น่ากลัวของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง มีการละเล่นละครมีการอภิปราย อะไรต่อมิอะไรถี่ขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน นักศึกษาที่ต่อต้านจอมพลถนอม กิตติขจรกลับมา ถูกแขวนคอตายถึง ๒ คน ที่นครปฐม นี่เป็นชนวนหนึ่งให้นักศึกษาเกิดความเดือดร้อนแค้นเคืองรัฐบาล เมื่อทางราชการไม่สามารถหาตัวคนผิดได้ นักศึกษาก็เอาเรื่องนี้ไปแสดงละคร และเรื่องการบวชเณรกลับมาของจอมพลถนอม  กิตติขจรด้วย  ในช่วงนั้น หนังสือพิมพ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสื่อสารมวลชนจะเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับไหนไม่ทราบ ได้ลงภาพข่าวนักศึกษาแสดงละครการแขวนคอแทนที่ภาพจะเป็นการแขวนคอนักศึกษาที่นครปฐม กลับเป็นภาพของสมเด็จเจ้าฟ้าชายอันเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติอย่างยิ่ง ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้น และวิทยุกองทัพบกก็เริ่มปลุกให้ประชาชนตระหนักถึงความรักชาติ บรรดาลูกเสือชาวบ้าน ประชาชน ก็เฮโลกันไปล้อมรอบสถานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังกล่าว จนเกิดเรื่องตามเหตุการณ์นี้ขึ้น นี่คือชนวนแห่งที่มาของเรื่องร้ายดังกล่าว

ขณะรถไฟเคลื่อนเข้าถึงสถานีกรุงเทพฯ  ในตอนเช้าของวันที่ ๘ ตุลาคม  ๒๕๑๙ ข้าพเจ้าก็ไม่รีรอรีบจับรถไปหาลูกที่หอพักเที่ยงธรรม วัดบุปผาราม ธนบุรี ขณะนั่งบนรถก็คิดอยู่อย่างเดียวว่า  ถ้าไปถึงหอพักให้ได้เห็นหน้าลูกที่รักสุดหัวใจของพ่อเท่านั้นจะเสียเงินเสียทองเท่าไรไม่ต้องเป็นห่วงละ เมื่อรถแท็กซี่เข้าถึงประตูบ้านพักเป็นเวลาเช้าตรู่เจ้าของหอพักเพิ่งลุกขึ้นเปิดประตู แต่บรรยากาศในหอพักนักศึกษาในวันนั้นผิดกับวันก่อนหรือครั้งก่อนๆ ที่ข้าพเจ้ามา ตั้งแต่ลูกมาอยู่หอพักแห่งนี้ประมาณ ๒ ปีเศษ นับครั้งไม่ถ้วนที่ข้าพเจ้าได้มาเยี่ยมลูก ทุกคนในหอพักในวันนี้ต่างก็มองหน้ากัน และเงียบสงัด ไม่มีเสียงจอแจ หรือแม้แต่เสียงวิทยุ  ข้าพเจ้าก็เกิดความวิปลาศในใจทันที ขณะนั้นมองหน้าต่างพอพักที่ลูกอยู่ปิดตาย แต่ใจหนึ่งยังคิดว่าลูกกำลังนอน จึงรีบขึ้นไป แต่ที่ไหนได้ เมื่อเห็นประแจติดประตูไว้อย่างแข็งแรงได้แต่ลอดมองดูจากข้างฝาเข้าไปภายในได้ตลอด ไม่เห็นลูกเลยแม้แต่เงา ตอนนี้จิตใจของข้าพเจ้าเหมือนจะหลุดลอยออกจากร่าง เข่าอ่อนรีบก้าวลงจากหอพัก ขณะลงบันได มีนักศึกษาที่พักอยู่ห้องใกล้ๆ กันเดินสวนทางขึ้น ข้าพเจ้าบอกว่ามาหาลูกจารุพงษ์ เพียงเท่านั้น นักศึกษาคนนั้นน้ำตาไหลพรากบอกว่า จารุพงษ์ เขาไม่กลับมาหอพักตั้งแต่วันก่อนเกิดเหตุ ๑ วัน คือวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๙  เมื่อเสียงนี้แว่วเข้าหูข้าพเจ้า ทำให้อื้อจนไม่รู้จะว่าอะไรอีก จึงรีบพุ่งไปยังบ้านเจ้าของหอพัก พอท่านเจ้าของหอพักเห็นเข้าท่านก็ทักก่อนทันที เพราะท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน ท่านเป็นที่รักและสนิทสนมกับข้าพเจ้ามาก ท่านเชิญให้นั่งและหาน้ำชามาให้ดื่ม ข้าพเจ้าเหงื่อแตกทั้งๆ ขณะนั้นเวลาประมาณ ๗.๓๐ น. เท่านั้น ข้าพเจ้าก็บอกไปว่าไม่ต้องลำบากครับ ผมเป็นห่วงลูกจึงทราบข่าวแล้วรีบมาทันที

ท่านเจ้าของบ้านก็เริ่มต้นว่า จารุพงษ์ เขาคงไม่เป็นไรกระมัง เพราะเขาประเปรียวมาก คงเอาตัวรอด และเขามีความฉลาดไหวพริบว่องไวเสียด้วย แม้ว่าการพูดของเขาเป็นการปลอบใจข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้ายังอดใจหายใจคว่ำไม่ได้ กำลังคิดต่อไปว่าจะไปตามหาเขาที่ใด จึงได้รับคำบอกเล่าจากเจ้าของบ้านต่อไปว่า  “จารุพงษ์ เขาออกจากหอไปก่อนวันเกิดเหตุ แล้วไม่กลับมาเลย คงมีภาระภายในธรรมศาสตร์กระมัง”  แต่จะติดตามไปดูก็ไม่ได้ เพราะทหารได้ปิดธรรมศาสตร์ห้ามมิให้ใครเข้าออกเลย เพราะเขากำลังกวาดล้าง และค้นหาอาวุธ และหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเป็นขุมกำลังสะสมอาวุธไว้มากมาย ข้าพเจ้าก็มืดเหมือนแปดด้าน พอดีเด็กหนังสือพิมพ์หอบหนังสือพิมพ์มาหอบเบ้อเร่อ ข้าพเจ้ารีบซื้อจะกี่ฉบับนับไม่ถ้วน แต่เอาทุกฉบับที่เขาเอาขาย แล้วเปิดดูแต่ข่าวนักศึกษาที่บาดเจ็บกระจายอยู่โรงพยาบาลต่างๆ อ่านพลางภาวนาพลางอย่าให้มีชื่อลูกจารุพงษ์อยู่เลย เมื่ออ่านจบทุกฉบับ เจ้าของบ้านก็พูดว่า ไม่ต้องอ่านรายชื่อหรอก เพราะท่านให้เด็กในหอพักตระเวนไปดูตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บ ไม่มีลูกจารุพงษ์เลย

ฉุกคิดได้ว่าเมื่อไม่มีในโรงพยาบาล แล้วข้าพเจ้าจะไปหาลูกที่ไหนละ แต่นึกขึ้นว่าจะต้องไปปรึกษากับน้องชาย ซึ่งเป็นหลานของภรรยา รับราชการเป็นนายเรือโทบ้านอยู่บางแค เผื่อจะมีอะไรดีๆ บ้าง จึงตัดสินใจแล้วรีบยกมือไหว้เจ้าของบ้าน  ทันใดนั้นคุณลุงเจ้าของบ้านบอกว่าเอาอย่างนี้ซิบางทีหลานชายจารุพงษ์อาจจะติดไปอยู่ในที่คุมขังตามกลุ่มต่างๆ เพราะวันนี้เวลา ๙.๓๐ น.  เขาจะประกาศรายชื่อที่สถานีตำรวจชนะสงคราม เมื่อไปถึง ที่ไหนได้ นึกว่าเราจะได้ไปถึงก่อนคนอื่นๆ แต่ที่ป้ายประกาศมีพ่อแม่ญาตินักศึกษายืนออกันเป็นปึกใหญ่แล้ว มีคนอาสาขึ้นอ่านรายชื่อที่ปิดกับกำแพงวัดให้อย่างดังๆ ข้าพเจ้าก็รีบแทรกเข้าไปใกล้ๆ เผื่อว่าจะดูรายชื่อที่เขาอ่านผ่านไปแล้ว จะได้ละเอียดยิ่งขึ้น ดูตั้งแต่แผ่นที่ ๑-๒-๓ จนถึงแผ่นที่ ๘ แล้วก็ไม่มีรายชื่อลูกจารุพงษ์อยู่เลย พอถึงแผ่นที่ ๙ เห็นรายชื่อหลานคนหนึ่งเข้า เขาคือ สุพจน์  อนุภักดิ์  หมายเลข ๑๑๔  สถานที่กักขังคือ โรงเรียนพลตำรวจ นครปฐม รีบเอากระดาษมาจดเลขที่เสร็จแล้วก็ดูและฟังรายชื่อที่เขาอ่านอยู่ คนอ่านต้องผลัดเปลี่ยนกันอ่าน เพราะแดดก็เริ่มร้อนจัด และอากาศของคนหนาแน่นเช่นนั้น บางคนถึงกับเป็นลมก็มี ญาติของนักศึกษาบางคนเป็นคนท้องแก่บ้าง เป็นคนแก่บ้าง และมิหนำซ้ำบางคนพาเด็กๆ ซึ่งยังเล็กๆ ติดตัวไป เด็กเหล่านั้นยืนตากแดดจนหน้าแดงก่ำ นัยน์ตาของทุกคนบอกถึงความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส คนที่พบรายชื่อลูกของตนต่างก็ดีอกดีใจ ส่วนผู้ที่ไม่พบก็เสียใจและบ่นพึมพำ และบางคนก็ครางออกด้วยความเหนื่อยใจเต็มประดา เมื่อจบรายชื่อประมาณ ๓,๐๐๐ คนเศษ ไม่มีชื่อลูกสุดที่รักของข้าพเจ้าเลย รีบจับรถกลับย้อนไปที่หอพักอีกครั้ง เพื่อที่จะงัดประตูเข้าไปดูในห้องนอนว่าลูกจะเขียนจดหมายหรือบันทึกอะไรบ้าง

เมื่อถึงหอพักประมาณเที่ยงวันเศษ คุณลุงเจ้าของหอพักก็แสนจะเป็นห่วงถามขึ้นว่าได้ผลประการใดบ้าง ข้าพเจ้าก็บอกไปว่าไม่มีรายชื่อของลูกหรอกลุง แล้วก็ขึ้นไปชั้นสองของหอพัก เมื่อดึงประตู กุญแจที่ใส่ไว้ก็เป็นกุญแจกล แต่จำได้ว่าเมื่อวันก่อนที่มาเยี่ยมลูกเคยบอกโค้ดไว้ให้ จำได้เพียงเลข ๒ แถวบน ส่วนแถวล่างลืมเสียแล้ว ลองหันตัวเลขตามโค้ดสองแถวแรก แล้วก็หัวแถวที่สามไปเรื่อยๆ บังเอิญลูกกุญแจก็หลุดออกมา โล่งอกไปที รีบเข้าไปดูในห้อง เห็นผ้าผ่อนของลูกที่ใส่แล้วยังไม่ได้ซัก แขวนไว้ที่ราว และที่นอนปูผ้าคลุมอย่างเรียบร้อย บนโต๊ะหนังสือก็มีหนังสือปากกา และเครื่องใช้ทุกอย่างอยู่ครบครัน ค้นดูจดหมายก็ได้พบเพียงแค่ซองเปล่า แต่จ่าหน้าซองถึงข้าพเจ้าอยู่ ๑ ซอง แต่ในซองจดหมายไม่มีจดหมายอยู่เลย ส่วนเอกสารต่างๆ ของเขาหลายชิ้นอยู่ในย่ามที่ใส่อยู่เป็นประจำ ข้าพเจ้ารีบคุ้ยขึ้นมาดูจนเกลื่อนทุกชิ้นก็ไม่มีร่องรอยทิ้งไว้เลย รีบดูบันทึก ข้างในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ เห็นข้อความตอนหนึ่งไม่ลงวันที่ จะบันทึกไว้เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ แต่มันเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพอดี จำได้ว่าในบันทึกนั้นเขาได้บรรยายไว้ว่า

“เขากราดปืนใส่เราผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย จนล้มลุกคลุกคลานอย่างไร้ความปราณี เลือดของเพื่อนที่หยดลงพื้นดิน จะไม่มีวันสูญหาย เพื่อนเอ๋ย เราอยู่หลังจะพยายามแก้แค้นแทนเพื่อนให้จงได้”

ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าบันทึกนี้จะต้องเขียนภายหลังเหตุการณ์ ลูกคงกลับหอพักครั้งหนึ่งแล้วรวบรวมเสื้อผ้าที่จำเป็นรีบหนีไปโดยไม่ให้ใครได้พบหน้า เมื่อค้นหาหลักฐานอื่นๆ ไม่พบแล้ว ก็รีบใส่กุญแจและฝากสิ่งของไว้กับเจ้าของหอพัก ทั้งๆ ที่คุณลุงต้องการให้พักอยู่ที่นั่นชั่วคราว แต่ข้าพเจ้าไม่อาจจะพักนอนในห้องของลูกได้ เพราะไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้ ต้องเห็นเสื้อผ้าและของใช้แล้วนึกถึงภาพลูกขณะที่ไม่มีเรื่องราว พ่อเคยมาอยู่หลับนอนอย่างมีความสุข แต่เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นพ่อจะมีความสุขได้อย่างไร จึงรีบขับรถไปหาน้องชายที่บ้านบางแค ถึงบ้านบางแคในตอนบ่าย และพบน้องชายแล้วระบายความในใจให้น้องฟัง และน้องชายก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังอีกตลบหนึ่ง เพราะเขาอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือและเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ขณะที่น้องชายเล่าให้ฟัง จิตใจของข้าพเจ้ากระวนกระวายจนบอกไม่ถูก ทั้งเสียใจและทุกข์ระทม คิดถึงลูก คิดถึงแม่ของลูกจะเฝ้าคอยอยู่ทางบ้านซึ่งมีความทุกข์ใจยิ่งกว่าข้าพเจ้าเสียอีก เพราะข้าพเจ้าทราบอย่างชัดแจ้งว่า ลูกผู้ชายคนแรกนี้เป็นลูกหัวแก้วหัวแหวนของแม่ และแม่มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เมื่อมากลับกลายเป็นอื่นไปเช่นนี้ เสมือนหนึ่งใครกระชากดวงใจให้หลุดไปจากอกนั่นเอง

ข้าพเจ้าบอกน้องชายว่าจะออกข้างนอกประเดี๋ยวเดียวกลับมาจะค้างคืนที่นี่เอง ความจริงข้าพเจ้าต้องการออกไปหาสุราดื่มเพื่อระงับความทุกข์ เผื่อว่าจะมีความสุขและเพลิดเพลินไปสักชั่วขณะเท่านั้น เมื่อออกไปถึงหน้าตลาดก็รีบไปที่ไปรษณีย์ ส่งโทรเลขถึงบ้านฉบับหนึ่งบอกให้แม่ของลูกทราบว่า ยังไม่พบลูกชาย จะกลับบ้านในวันที่ ๑๐ ตุลาคม เสร็จแล้วรีบกลับบ้าน พร้อมกับแวะดื่มเหล้าเสียหน่อย เหลือจากดื่มค่อนขวดรีบห่อกระดาษหนีบรักแร้แล้วพากลับบ้าน และดูเหมือนคืนนั้นน้องชายก็พยายามเอาใจข้าพเจ้า จัดอาหารให้รับประทานเป็นอย่างดี และซื้อเหล้ามาให้ทานอีก ๑ แบน ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ดื่มเหล้าเลย ข้าพเจ้ารู้สึกมึนเมาจนแทบจำสติไม่ได้ ไม่รู้ว่าขึ้นไปนอนชั้นบนได้อย่างไร มิหนำซ้ำนอนผิดที่นอนเสียด้วย  คือไปนอนที่นอนของแม่ยายของน้องชายเสียอีก และใครมายกที่ไปนอนที่ไหนก็จำไม่ได้เลย นี่แหละเขาว่าความเมาจำสติไม่ได้ มันจริงเสียด้วย นอนหลับจนรุ่งเช้า เมื่อตื่นขึ้นมาทบทวนความจำดู แล้วรู้สึกอายเจ้าของบ้านเต็มประดา

เมื่อทานอาหารเช้าเสร็จก็ชวนน้องชายนายเรือโทคนนั้นไปนครปฐม ตั้งใจเพื่อเยี่ยมเยียนหลานภรรยาที่ถูกคุมขังอยู่  โดยนำรถส่วนตัวของน้องชายไป เราออกรถจากบางแคพุ่งตรงไปตามเส้นทางถนนเพชรเกษม คุยกันพลางในรถ ความจริงน้องชายเขาไม่ค่อยเต็มใจในการไปเยี่ยมหลานคนนี้เท่าไรนัก แต่มีความเกรงใจข้าพเจ้าผู้ที่เขานับถือเท่านั้นจึงจำยอมไป เพราะเขาพูดออกมา ข้าพเจ้าอ่านออกว่า เขาไม่พอใจที่พยายามห้ามปรามแล้วหลานคนนั้นไม่เชื่อฟัง อยากให้ติดคุกติดตะรางให้รู้รสเสียสักครั้ง ข้าพเจ้าก็พูดกลางๆ ว่า ความคิดเห็นของเด็กสมัยนี้ ยากที่เราผู้ใหญ่ไปคัดค้านหรือขัดขวางได้ อย่าว่าแต่เป็นเพียงหลานเลย ต่อให้เป็นลูกของเราเองก็เถอะ มันแสนจะลำบาก แต่เมื่อถูกเข้าแล้วจำเป็นจะต้องช่วยเหลือต่อไป พ่อแม่ใครก็ย่อมรักลูกเป็นธรรมดา แม้ว่าลูกจะผิดชอบชั่วดีก็ตัดไม่ขาด ขณะรถยนต์วิ่งมาถึงสวนสามพรานซึ่งใกล้นครปฐมเกิดอุบัติเหตุสายพานหลุด ต้องหยุดข้างถนนทำการเปลี่ยนสายพานใหม่ บังเอิญสายพานชำร่วยติดรถมาหนึ่งสาย แต่เครื่องมือเปลี่ยนซิไม่มี ดูเหมือนมีประแจตายอยู่หนึ่งอันเท่านั้น เราพยายามเปลี่ยนและแก้ไขขณะร้อนแดดจนเหงื่อไหลไคลย้อย ประมาณครึ่งชั่วโมง น้องชายบ่นอยู่เรื่อย ตั้งแต่ขับรถมาไม่เคยเป็นอย่างนี้สักที ข้าพเจ้าพยายามปลอบใจอยู่ข้างๆ อย่าว่าแต่รถเลย คนเราถึงเวลาจะเสียหายก็ไม่คาดคิดเหมือนกัน เป็นธรรมดาของโลก

เมื่อเปลี่ยนสายพานเสร็จรีบขับไปถึงโรงเรียนพลตำรวจ รถจอดที่หน้าประตู ขณะนั้นพ่อแม่ญาติของนักศึกษายืนออกันแถวยาวยืด เพราะการเข้าไปเยี่ยมจะต้องเข้าคิวไปแจ้งชื่อเสียก่อน และมีเพียงประตูเดียว คนเป็นร้อยเป็นพันคนต้องยืนรอกลางแดด คนแก่คนหญิงและเด็กเล็กๆ ที่ติดตามไปก็ต้องยืนตากแดด เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาไม่ผ่อนปรนประการใด กว่าจะได้ลงชื่อคนหนึ่งประมาณห้าหรือสิบนาที เจ้าหน้าที่บอกว่าวันนี้จะเยี่ยมได้ประมาณ ๒๐ คนเท่านั้น และจะหมดเวลาแล้ว ต้องมาดูตอนบ่ายสองโมงอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่กลางแถว คิดว่าคงไม่ถึงเราแน่ๆ ทำอย่างไรจะได้เยี่ยมหลานละ เพราะที่ต้องเยี่ยมด้วยตนเอง จะได้ไถ่ถามถึงลูกชายจารุพงษ์ เพราะหลานคนนี้อยู่ด้วยกันแน่นอน เจ้าหน้าที่เขามองพ่อแม่ของนักศึกษาว่าเป็นพวกของผู้ก่อการร้ายเท่านั้น  ไม่คิดว่าพ่อของลูกบางคนทำงานราชการเป็นถึงนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และครู หรือตำแหน่งอื่นๆ อีกจิปาถะ เพราะคิดดูว่าการที่มีความสามารถส่งเสียให้ลูกร่ำเรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัยนั้นต้องมีความสามารถเอาการทีเดียว ข้าพเจ้าน้อยใจหลายประการ น้อยใจในความไม่เข้าใจของคนไทยด้วยกัน น้อยใจว่าในเมื่อผู้ใดมีอำนาจอย่างใดก็ใช้อำนาจนั้นจนเกินขอบเขต  การแสดงออกของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้น้อย ประหนึ่งว่าขณะนั้นเขาเป็นผู้มีอาญาสิทธิ์จะทำอย่างไร จะพูดจะทำอย่างไรเป็นเอกสิทธิ์ทุกประการ ไม่นึกว่าคำพูดและการกระทำนั้นจะเป็นการทิ่มตำเข้าขั้วหัวใจของใครสักเพียงใด ข้าพเจ้ายังได้ยินเสียงขู่ตะคอกว่า  “ไม่ต้องแซงกัน พวกเอ็งเป็นพ่อแม่ของพวกจลาจล ผู้ก่อการร้ายทั้งนั้น ไม่สอนลูกสอนหลาน สมน้ำหน้าไงล่ะ”  โธ่ ! คำพูดเช่นนี้ไม่ได้นึกเลยว่าผู้พูดเคยได้ร่ำเรียนมา และเป็นที่รักของพ่อแม่เช่นเดียวกัน ถ้าใครเขาไปว่าพ่อแม่ของผู้พูดเช่นนี้จะเจ็บแสบขนาดไหน

ข้าพเจ้ายืนอยู่ ๒ ชั่วโมงเศษ เห็นท่าว่าจะไม่ได้เข้าเยี่ยมแล้ว จึงเดินตรงไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับพนมมือไหว้ แล้วพูดว่า  คุณตำรวจครับ  กระผมขอความกรุณาช่วยนำจดหมายฉบับนี้ ให้กับนักโทษจลาจลหมายเลข ๑๑๔ กองร้อยที่ ๕ ได้ไหมครับ เพราะผมจะต้องรีบกลับ วันนี้เห็นจะเยี่ยมไม่ทันแล้วครับ เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นดูท่าทางเป็นคนใต้และไม่เบ่ง สุภาพเรียบร้อย เขาบอกว่า ไม่เป็นไรลุง ผมจะจัดการให้  ข้าพเจ้านึกรักเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้มาก ถ้าเจ้าหน้าที่เป็นอย่างนี้ทุกคนหรือเป็นส่วนมากจะทำให้ตำรวจกับประชาชนเป็นมิตรกันดี

ในจดหมายฉบับนั้นข้าพเจ้าเขียนสั้น ข้อความว่า “แจ้งหลานรัก น้ามาเยี่ยม เข้าไม่ได้ ต้องกลับบ้าน จะมาใหม่ ขอให้หลานอย่าคิดอะไรให้มาก จากน้า”  แล้วลงชื่อข้าพเจ้า  หลานชายคนนี้เขามีชื่อเล่นๆ ที่บ้านว่า  “แจ้ง”  ความจริงเขาชื่อ สุพจน์  อนุภักดิ์  ส่งจดหมายเสร็จแล้วรีบออกจากคิว แล้วเดินย้อนกลับ กว่าจะออกถึงประตูนอกกินเวลาตั้งหลายนาที เพราะคนยืนรอและอัดแน่นเข้ามาทุกที ที่ไม่สามารถทนร้อนได้ก็เป็นลมไปก็มี ต้องพยุงกายหามไปปฐมพยาบาลก็มี และข้าพเจ้าทราบจากพ่อแม่ของนักศึกษาว่าบางคนต้องนอนเฝ้าที่ประตูนั่นเอง เพราะในวันรุ่งขึ้นกลัวจะไม่ได้ยืนเข้าคิว บางคนมาสามวันแล้วยังไม่ได้เยี่ยมลูกเลย อนิจจา ! พ่อแม่ของลูกที่แสนจะทรมานร่างกาย มันเป็นการสมน้ำหน้าของคนที่ยังไม่มีลูก หรือมีลูกแต่ไม่ถูกจับกุมคุมขัง ความจริงเหตุการณ์เช่นนี้จะถูกเข้ากับคนในเวลาใดก็ได้ ซึ่งสุภาษิตเขาเขียนไว้ว่า ไม้ล้มข้ามได้ แต่คนล้มอย่าเพิ่งข้าม

เมื่อออกมาถึงรถยนต์ ก็บอกน้องชายว่าให้น้องชายนำรถกลับบ้านแต่คนเดียว ข้าพเจ้าได้จับรถไฟกรุงเทพ-หาดใหญ่ ที่สถานีนครปฐม ถึงสุราษฎร์ธานีตอนเช้าเวลา ๗.๐๐ น.  ขณะนั่งในรถไฟนั้นไม่มีเวลาใดที่จะอดคิดถึงลูกไม่ได้ เห็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันยิ่งทำให้คิดถึงมากขึ้น นึกถึงสภาพที่ลูกเคยกลับบ้านพร้อมกันกับพ่อ ดูเหมือนจะมีความสุขใจอย่างยิ่ง ถ้าเห็นลูกซื้อของกินบนรถ แม้ตนเองไม่ได้กินก็รู้สึกอิ่มในใจอยู่เสมอ ถึงสถานีสุราษฎร์ก็แวะลงจับรถยนต์เข้าตัวเมืองตลาดบ้านดอนเพราะลูกสามคนพักอยู่ที่บ้านของลุงที่โรงเรียนการช่าง เมื่อถึงบ้านพักได้พบลูกๆ กำลังนั่งอยู่ในห้องกับแม่และลูกคนเล็ก พอเห็นหน้าแม่ของลูก และลูกๆ อดจะน้ำตาคลอเบ้าทีเดียว พูดได้คำเดียวว่าไม่พบลูกจารุพงษ์เท่านั้น แม่และน้องๆ ต่างน้ำตาไหล ได้ยินแต่เสียงแม่พูดกับลูกๆ พลางลูบหลังลูกแหวนและลูกแจ แล้วถึงมากอดไว้ แล้วสั่งเสียอะไรต่างๆ นานๆ ในทำนองอย่าให้ลูกทั้งสี่คนเป็นไปอย่างพี่ชายอีก เท่าที่การสูญเสียลูกชายไปนี้แสนจะอาลัยเป็นที่สุด น้ำตาของข้าพเจ้าดูกลับไหลท่วมหัวใจจนเต็มปรี่

นั่งคุยกันระหว่างพ่อแม่และลูกๆ แล้ว เห็นจะต้องกลับบ้านที่พระแสง ลูกแจสงสารพ่อแม่เป็นกำลัง และบอกแม่ว่า เขาไม่สามารถจะเรียนที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานีขอกลับไปเรียนโรงเรียนพระแสงวิทยา เพราะอยากอยู่กับแม่ อยากอยู่ร่วมกับพ่อ สงสารแม่มาก ข้าพเจ้าก็ไม่คัดค้านประการใด เขาก็เตรียมผ้าผ่อนและเครื่องเรียนได้กลับบ้านพร้อมกัน ส่วนลูกสาวและลูกแหวนยังคงเรียนอยู่ที่เดิม ข้าพเจ้าได้แต่ปลอบใจลูกๆ ว่า ตั้งใจเรียนเถิดลูก ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรให้มากมาย จะเสียการเรียน เราได้จับรถยนต์จากบ้านดอนถึงพระแสงในวันนั้น พอถึงพระแสง ไปรษณีย์ก็นำโทรเลขไปให้ เป็นโทรเลขที่ข้าพเจ้าโทรจากกรุงเทพ นั่นเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นโทรเลขของตนเอง แต่ใจหนึ่งยังคิดว่าเป็นโทรเลขของลูกกระมัง จึงรีบคลี่ดู เห็นข้อความที่ตนโทรมาก็รีบเก็บไว้ทันที เพื่อนบ้านญาติพี่น้องก็มาห้อมล้อมไต่ถามถึงเรื่องลูกทั้งนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้ฟังตามที่ประสบเหตุการณ์มา ดูเขาเหล่านั้นสงสารข้าพเจ้ากับแม่ของลูกเป็นกำลัง โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ของข้าพเจ้าก็มานั่งเฝ้าให้กำลังใจแก่ข้าพเจ้าและแม่ของลูกเกือบทั้งวันทั้งคืน เราพูดอะไรไม่ถูก คิดอะไรไม่ออกไม่รู้จะทำประการใด

พอตอนบ่ายวันนั้น พี่ล้วนซึ่งเป็นแม่ของสุพจน์ก็มาจากบ้าน เขาเป็นห่วงทั้งลูกทั้งหลานชายของเขา ได้ไต่ถามพอรู้ว่าลูกของเขาถูกคุมขังอยู่ ส่วนหลานไม่รู้หายไปไหน ก็มีความทุกข์ใจเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็บอกว่า คิดอ่านเรื่องประกันให้สุพจน์ออกมาก่อนเถิด เพราะสุพจน์คงลำบากแย่ที่ถูกคุมขัง เพราะได้ข่าวจากเพื่อนๆ ที่ได้ประกันตัวออกมาว่า ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมอย่างทารุณ ยิ่งถ้าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ยิ่งถูกซ้อมขนาดหนัก บางคนถึงกับเป็นโรคจิตไปเลยก็มี แม้ว่าเป็นเพียงแค่ข่าว จะเท็จจริงอย่างไรไม่ประจักษ์ แต่ก็อดสงสารหลานชายไม่ได้ แต่การที่จะประกันตัวออกมานั้น หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวให้ญาติของนักศึกษาที่ถูกกักขังอยู่นำหลักทรัพย์ หรือเงินสดไปประกันรายละสามหมื่นบาท เมื่อคิดกันเสร็จระหว่างญาติๆ ของข้าพเจ้า ต่างให้ความเห็นกันและกัน เพราะเราจะหาเงินสดจำนวนสามหมื่นบาทเพียงคนสองคนนั้นหาไม่ได้ จึงรวบรวมโฉนดที่ดิน และ น.ส.๓ ได้จำนวนสามแปลงเป็นที่สวนของข้าพเจ้าแล้วกำหนดจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต่อไป

ข้าพเจ้าไหนต้องไปปฏิบัติราชการที่อำเภอ จะต้องส่งใบลา เมื่อผู้บังคับบัญชาอนุญาตแล้ว ก็รีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกเป็นครั้งที่สอง ความจริงข้าพเจ้าเบื่อการนั่งรถไฟระยะทางไกลเป็นวันๆ คืนๆ แต่เป็นการจำเป็นจึงไม่รู้สึกเบื่อหน่ายอะไร ถึงกรุงเทพฯ จับรถแท็กซี่ไปที่หอพักลูกอีก นึกว่าเป็นเวลาหลายวันแล้ว จะมีข่าวคืบหน้าประการใดบ้าง แต่เมื่อลุงเจ้าของหอพักตอบว่ายังไม่ได้รับข่าวอะไรเลย ข้าพเจ้าได้แต่เหลือบมองหน้าต่างห้องนอนของลูก แล้วลาเจ้าของบ้านตรงไปที่โรงพักชนะสงคราม เพื่อทำเรื่องราวประกันตัวหลานชาย ทางโรงพักชนะสงครามบอกให้ไปยื่นประกันที่โรงพักพญาไท เราจะไปไหนก็พบปะพ่อแม่ ญาติของนักศึกษาเที่ยวกันขวักไขว่ เพื่อขอประกันลูกหลานกันทั้งนั้น ข้าพเจ้าไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอประกันตัว แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าวันนี้หมดเขตการประกันตัวแล้ว เมื่อคืนเขาทำกันตลอดเกือบรุ่งเพราะเป็นวันสุดท้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในวันสุดท้ายนี้ เขาเรียกเงินสดประกันรายละหนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น ข้าพเจ้าใจหายวาบ รู้สึกว่าเป็นการผิดหวังเสียทั้งนั้น และตำรวจ บอกว่าคุณลองไปที่ศาลอาญาขอประกันตัวที่นั้นได้

ขณะข้าพเจ้าและมีญาติของนักศึกษาอยู่จังหวัดตรังสามสี่คน ซึ่งเขาก็ไปประกันทางตำรวจไม่ทันเหมือนกัน จึงจับรถแท็กซี่รวมกันไปศาลอาญา เราไปถึงศาลในเวลาเกือบสี่โมงเช้า สำหรับญาติและคนอื่นๆ เขามีหลักฐานสมบูรณ์ แต่ข้าพเจ้าสิ จ่าศาลบอกว่าโฉนดและ นส.๓ นอกเขตเทศบาล ทางศาลไม่รับเป็นหลักทรัพย์ประกันได้ คราวนี้เราจะทำอย่างไรละ จะวิ่งไปหาเงินทองจากใครที่ไหนได้ เพราะระยะทางจากกรุงเทพฯ กับสุราษฎร์ธานี ตั้งหลายร้อยกิโลเมตร  แต่อย่างไรก็พยายามลองดู โดยขอคำร้องประกันมาเขียนเพื่อให้ทางศาลสั่ง เผื่อโชคดีจะได้ประกัน พอเขาให้คำร้องแล้ว ทางศาลอาญาแนะนำว่าให้นำไปให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อเสียก่อน จึงนำกลับมายื่นได้ ข้าพเจ้าและพ่อแม่นักศึกษาจังหวัดตรังรวม ๕ คน จับรถยนต์ จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปนครปฐมอีกครั้ง ข้าพเจ้าคิดว่าถึงไม่ได้ประกันแต่ก็ยังดีจะได้เยี่ยมหลานสักครั้ง จะได้พบปะและไต่ถามเรื่องราวให้พอคลายความเศร้าสลดบ้าง

ถึงนครปฐมเวลาเที่ยงวัน ผู้ใจบุญทั้ง ๔ คนจากตรัง ได้ชำระค่ารถยนต์ โดยเขาบอกว่าคุณไม่ต้องออกหรอก ข้าพเจ้ายังนึกขอบบุญขอบคุณในน้ำใจของเขาเสียอย่างมากมาย เสียดายที่ข้าพเจ้าลืมชื่อเขา เพียงแต่ทราบว่าลูกเขาจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว กำลังจะเข้าทำงาน แต่ที่ได้เข้าไปในธรรมศาสตร์ในวันเกิดเหตุนั้นเพราะต้องการไปดูประกาศที่สอบไว้ในทำนองนั้นเอง ความจริงเขาสี่คนนั้นผู้ต้องหาคือลูกของเขา แต่มีพ่อ แม่ น้องชาย น้องสาวของผู้ต้องหาเอง ต่างคนต่างรีบร้อนจะนำคำร้องไปให้ผู้ต้องหาเซ็นชื่อ โดยไม่อยากทานอาหารกลางวันเลย เราไปถึงพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประตู ลงชื่อเสร็จเขาให้นั่งพักอยู่ที่ตัวตึกหน้าประตู และนำใบคำร้องไปเอง เราบอกเขาว่ามีข้าวของติดมือมาด้วยอยากจะเยี่ยมผู้ต้องหาสักครั้ง เมื่ออ้อนวอนอยู่ชั่วครู่เขาก็บอกว่าให้ตามเขาไป พวกเราเดินตามหลังเขาไปเป็นแถว แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจให้นั่งพักที่ศาลาชั้นในอีกทอดหนึ่ง ตำรวจเอาคำร้องไปยังกองร้อยที่นักโทษอยู่ ตอนนั้นฝนตกอย่างหนัก เหมือนฟ้าทะลุเสียงลั่นดังสนั่นหวั่นไหว และลมกระโชกแรง จนในศาลานั้นโยกคลอนไปหมด เราจะหลบตัวไปทางไหนก็ไม่พ้น เป็นอันว่าเราเปียกโชก ประเดี๋ยวเดียวน้ำในสนามท่วมเอ่อดูขาวโพลนเหมือนท้องนา

พอฝนซาเม็ดเจ้าหน้าที่ตำรวจกวักมือให้พวกเราไปหายังกองร้อย แล้วยืนเข้าแถวรออยู่ที่ได้เยี่ยม แล้วเจ้าหน้าที่เรียกชื่อทีละคน เมื่อเรียกชื่อนายสุพจน์  อนุภักดิ์  ญาติมาเยี่ยม ประเดี๋ยวเดียวสุพจน์ก็โผล่หน้า และกวาดสายตามายังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเกือบยั้งตัวไม่ทันเข้าโอบกอดหลานรัก แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าให้อยู่กับที่อย่าเคลื่อนไหวออกจากที่เป็นอันขาด สุพจน์มานั่งตรงหน้าข้าพเจ้า เราก็รีบส่งคำถามไปอย่างเร็ว เพราะต้องแข่งกับเวลาเขาตั้งนาฬิกาให้เวลาเพียง ๕ นาทีเท่านั้น ประโยคแรกข้าพเจ้าถามว่าเมื่อแจ้งถูกจับลูกเกี๊ยะอยู่ไหน ลูกเกี๊ยะชื่อเล่นที่พ่อเรียกเขาตั้งแต่คลอดมา สุพจน์ตอบว่าก่อนเกิดเหตุพี่เกี๊ยะอยู่ในสนามและเมื่อชุลมุนอยู่ได้มาหาเขา และบอกให้สุพจน์ระวังตัวให้ดี แล้วเขาก็ได้กระโดดวิ่งลงไปในสนาม ดูเหมือนวิ่งไปที่ตึกวิทยาศาสตร์  ทันใดนั้นห่ากระสุนแล่นมาปะทะนักศึกษาล้มระเนระนาด จะเป็นพี่เกี๊ยะด้วยหรือไม่ไม่ถนัดนัก เพราะสุพจน์ก็ต้องรีบหนี ก็หลบซ่อนภายในตัวตึก พอเสียงปืนเงียบเสียง มีนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่ง เขาไม่รู้จักมาบอกเขาและเพื่อนๆ ว่า  “จารุพงษ์ถูกยิงเสียแล้วที่หน้าตึกวิทยาศาสตร์”  ข้าพเจ้าได้ยินคำนี้จากปากของหลาน ทำให้หัวใจเกือบหยุดเต้น พยายามประคับประคองหัวใจเอาไว้แล้วตั้งต้นคำถามใหม่ ลูกเกี๊ยะใส่เสื้อผ้าชุดไหน สุพจน์บอกว่า นุ่งกางเกงขายาวสีฟ้า สวมเสื้อสีดำ ข้าพเจ้านึกทบทวนว่าเขามีชุดนี้หรือไม่ เขามีจริง น่าจะเชื่อได้ และถามต่อไปว่าอยู่ในนี้เขาซ้อมจริงหรือเปล่า สุพจน์มองดูเจ้าหน้าที่แวบหนึ่งแล้วตอบว่า  “จริง”  ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่าหมดเวลาเยี่ยมแล้ว ผู้ต้องหาขึ้นห้องได้ ข้าพเจ้าก็เอาข้าวของติดมือมามอบให้หลานชาย ดูเหมือนหลานชายยังขึ้นไม่ทันถึงชั้นบน เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งว่าเตรียมตัว ระวังอันตราย ให้วิ่งหาที่หลบโดยเร็ว เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เห็นตำรวจวิ่งวุ่นคนหลายคนต่างวิ่งหาที่หลบกำบัง ข้าพเจ้าเองก็วิ่งตามเขาไปกลางสนาม ไปนั่งอยู่ที่ศาลาจะออกภายนอกก็มิได้ เพราะตำรวจปิดประตูเสียแล้ว เราต่างดูตากัน ญาติบางคนได้วิ่งออกประตูไป แต่ที่ออกไม่ทันก็มี พวกข้าพเจ้าสี่ห้าคนที่เยี่ยมอยู่หลังสุด เรารออยู่เพราะจะรีบออกไปโดยไม่ได้คำร้องกลับก็ไม่ได้ ซึ่งระยะหนึ่งตำรวจก็เอาคำร้องมาคืนให้พวกเราเห็นผู้ต้องหาเซ็นชื่อเสร็จเรียบร้อยก็ถือโอกาสถามตำรวจว่า อะไรเกิดขึ้นที่เขาสั่งให้พวกเราวิ่งกัน เขาบอกว่า ทางกรุงเทพฯ เขาวิทยุมาว่ามีรถนักศึกษาพร้อมอาวุธคันหนึ่งมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดนครปฐม คาดว่าจะมาแย่งผู้ต้องหากระมัง เราก็หายใจออกทั่วท้อง แล้วขอร้องตำรวจให้เปิดประตูให้เราออกกัน วันนี้มีแต่เรื่องแปลกๆ เกือบตลอดวัน เราจับรถยนต์จากนครปฐมเข้ากรุงเทพฯ ตอนพลบค่ำพอดี ข้าพเจ้าก็แวะลงที่บ้านบางแค พักบ้านน้องชายอีก ๑ คืน

รุ่งเช้าก็รีบไปที่ศาลอาญา เพื่อเอาคำร้องไปให้เขาพิจารณา เมื่อคำร้องถูกเจ้าหน้าที่ส่งขึ้นไปชั้นบน เรายืนคอยอยู่พักใหญ่ ขี้เกียจยืนคอยก็เตร่มานั่งร้านขายอาหารที่หน้าตัวตึก กินอาหารเช้าเสียที เมื่อเสร็จกินอาหารชนิดข้าวราดแกงแล้วก็รีบไปหาเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่บอกว่าของคุณศาลไม่อนุญาต เพราะหลักทรัพย์ไม่สมบูรณ์ถูกต้อง จะต้องนำเงินสดมาประกัน โฉนดนอกเขตเทศบาลยังไม่ได้ประเมินราคาจากเจ้าหน้าที่ที่ดินด้วย เป็นอันว่าหมดหวังโดยสิ้นเชิง ข้าพเจ้าก็ออกเดินคอตกมาหน้าศาลอาญา เห็นผู้คนบนสนามหลวงยืนกันเป็นหมู่ๆ ต่างชี้มือชี้ไม้ทำท่าเหมือนมีอะไร ข้าพเจ้าก็อยากรู้เรื่องราวก็แอบไปที่คนหย่อมนั้น ก็ได้ความว่าญาตินักศึกษามาดูที่นักศึกษาถูกเผาทั้งเป็นยังเป็นรอยไหม้อยู่ริมๆ กับที่นางธรณีบิดผมมวยนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถยืนดูได้ เพราะหัวใจมันแสนจะแปลบปลาบเสียกระไร พยายามเดินก้มหน้าไม่พูดจากับใคร แต่อดเหลียวมองไปที่ธรรมศาสตร์ไม่ได้ เห็นทหารยืนอยู่บนหอคอยกระโจมสูงมือถือปืน และประตูธรรมศาสตร์ถูกปิดตายไม่ให้คนเข้าออกเลยอดคิดถึงภาพลูกที่เดินเล่นและเล่าเรียนอยู่ก่อนเหตุการณ์ไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าเคยเข้าไปหาลูกที่ในธรรมศาสตร์หลายครั้ง ข้าพเจ้าพูดในใจว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปข้าพเจ้าไม่มีโอกาสไปดูเจ้าเสียแล้วสถาบันอันเป็นที่รักของลูกและอันเป็นที่หวังสุดท้ายของบิดามารดาทุกคน เจ้าธรรมศาสตร์ยืนถมึงทึงเหมือนจะบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่า เขาเองก็อาการร่อแร่เต็มทนแล้ว ดูเป็นแผลรอยกระสุนแทบจะยืนอยู่ไม่ได้

เมื่อหมดหวังใดๆ แล้ว ข้าพเจ้าก็รีบกลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนกลับบ้านทางใต้อยากไปเยี่ยมเจ้าของหอพักเสียก่อน เพื่อฝากฝังสิ่งของอันมีค่าของลูกไว้กับเจ้าของหอพัก คุณลุงเจ้าของหอพักใจดี บอกว่าไม่เป็นไร จะรักษาไว้ให้มิให้เสียหาย ข้าพเจ้านึกขอบบุญขอบคุณคุณลุงและคุณป้าเป็นอย่างยิ่ง ก็จับรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีบ้านส้องอีกครั้งหนึ่ง ถึงบ้านเกือบเวลา ๙.๐๐ น. เมื่อพบหน้าแม่ของลูกและพี่ล้วน ญาติๆ ไปรอฟังข่าวอยู่หลายคน มีกำนันชอบ เลิศไกร  ซึ่งเป็นลูกพี่กับแม่ของลูกมานั่งปรึกษาด้วยว่าจะคิดอ่านหาเงินสดไปประกันสุพจน์ต่อไป

ขณะนั้นข้าพเจ้าได้ไปที่อำเภอทราบจากท่านปลัดอำเภอท่านหนึ่ง ได้มากระซิบว่าลูกชายของข้าพเจ้าได้กลับมาสุราษฎร์แล้ว ข่าวกรองจากทางราชการแจ้งว่า นักศึกษาจำนวนหนึ่งประมาณ ๕-๑๐ คน ได้เข้าไปในท้องที่อำเภอบ้านนาสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจารุพงษ์ ทองสินธุ์ บุตรของข้าพเจ้าคนหนึ่งละ ข้าพเจ้าไม่เชื่อ แต่ท่านจะยังอาสาไปนำหลักฐานวิทยุของทางราชการมาให้ดู  เมื่อเห็นว่าเป็นข่าวกรองของ กอ.รมน. ก็น่าจะเชื่อถือได้จึงรีบนำข่าวนี้มาเล่าให้แม่ของลูกฟัง แม่ของลูกตื่นเต้น และอยากจะได้ลูกกลับมาเป็นกำลัง จึงให้ข้าพเจ้าไปลองสืบหาดูที่บ้านนาสารสักครั้ง ข้าพเจ้าทบทวนดูว่าลูกมีเพื่อนฝูงที่เป็นนักศึกษาชื่ออะไรบ้าง นึกขึ้นได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อลูกกลับบ้านได้ร่วมเดินทางโดยรถไฟ เมื่อมาถึงบ้านนาสาร มีเพื่อนของลูกได้ลงจากรถไฟที่สถานีนี้ และลูกบอกว่าเขาเป็นเพื่อนรักกันมาก และเรียนด้วยกันมาตั้งแต่อยู่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี และได้เรียนต่อ ม.ศ.๔-๕ ที่กรุงเทพฯ พร้อมกัน แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักชื่อ จึงจนใจไม่รู้จะไปสอบถามได้อย่างไร ครั้นจะไปสืบพวกฝ่ายป่าก็ไม่รู้จักใครเลยเหมือนกัน และมี อ.ส.คนหนึ่งที่พระแสง ซึ่งเป็นเพื่อนของลูกจารุพงษ์ ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมด้วยกันยืนยันว่า เขาไปเที่ยวที่บ้านนาสารเมื่อสี่ห้าวันได้พบจารุพงษ์กับนักศึกษาอีก ๕ คนเดินอยู่ในตลาดบ้านนาสาร เขาจำได้แม่นยำ แต่ไม่กล้าเข้าไปทักทาย เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่ อ.ส.  เกรงว่านักศึกษาเหล่านั้นจะไม่ไว้วางใจ เมื่อได้รับคำยืนยันเช่นนั้นข้าพเจ้าก็รีบไปปรึกษากับหลานชายคนหนึ่งให้ไปสืบหาดูที่บ้านนาสารสักครั้ง ได้ผลประการใดรีบกลับแจ้งให้ทราบด้วย ตกลงหลานชายคนนั้นรับปากแล้วจับรถเครื่องไปบ้านนาสาร

ทางบ้านนอกจากจะสดับตรับฟังข่าวจากบุคคลแล้ว ยังติดตามข่าวหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ ตามข่าวหนังสือพิมพ์มีประกาศปิดมหาวิทยาลัยโดยไม่มีกำหนด เพื่อทำการกวาดล้างนักศึกษาที่หลบซ่อนอยู่ บางทีบอกว่าจับได้คืนละ ๓ คน เพราะนักศึกษาหลบซ่อนอยู่ขาดอาหารจึงต้องออกมาให้เจ้าหน้าที่จับกุม และตามข่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังหาที่เก็บอาวุธของนักศึกษา ซึ่งโดยสันนิษฐาน เชื่อว่าอาวุธร้ายแรงบางชนิดต้องฝังไว้ใต้ดินหรือใต้ตึกเรียน จึงมีการขุดค้นเกือบทุกวันก็ไม่พบที่เก็บอาวุธแต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่บางส่วนก็ดำลงไปงมดูในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านธรรมศาสตร์ เพราะกลัวนักศึกษาจะนำไปทิ้งคลอง แต่ก็งมไม่พบอะไร คงคว้าน้ำเหลวตามเดิม หนังสือพิมพ์ลงข่าวพบปืนยิงเร็วกระบอกหนึ่งซ่อนอยู่ในกอหญ้าบริเวณธรรมศาสตร์ ที่มีการยิงโต้ตอบกันแล้ว น่าจะคิดว่าจะต้องมีอาวุธจับได้มากมายก่ายกอง แต่ในที่สุด ข่าวอาวุธร้ายแรงก็มีประปรายไม่สมกับการก่อจลาจลเลย และข่าวนักศึกษาเข้าป่า ออกนอกประเทศ ขึ้นเขาทางภาคตะวันออกไปประเทศลาวกันหนาขึ้น และข่าวนักศึกษาลงทางใต้ก็มาก ทางราชการก็ประกาศทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ให้ผู้หลงผิดเหล่านั้นเข้ามามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่เสีย ทางราชการจะลดหย่อนผ่อนโทษ ส่วนทางด้านผู้ถูกจับกุมในธรรมศาสตรที่นำไปกักขังไว้นั้นก็ได้รับการประกันทยอยออกกันเรื่อยๆ และที่ประกันตัวแล้วบางคนหนีเข้าป่าไปสมทบกับพวกที่หนีในวันเกิดเหตุการณ์อีกหลายคน และในระยะใกล้เคียงนี้เอง ทางด้านคอมมิวนิสต์ก็เริ่มมีบทบาทหนักขึ้นโดยการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่และเข้าโจมตีสถานที่ราชการหลายแห่ง โดยเฉพาะได้ลอบยิงเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลหนักขึ้นกว่าก่อนๆ

หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับจากกรุงเทพฯ ครั้งที่สองแล้ว ตามที่ได้ปรึกษากับญาติช่วยกันหาเงินได้มาหมื่นบาท โดยขอหยิบยืมกันในพี่น้อง  ยังขาดเหลืออยู่นิดหน่อยก็พยายามขายสิ่งจำเป็นเอาเงินมาสมทบครบตามจำนวนที่เขาต้องการและมอบให้นายชอบ  เลิศไกร นำเงินมากรุงเทพฯ เพื่อให้บุตรเขยนายชอบ  เลิศไกร ที่อยู่ทางพระโขนงเป็นผู้ค้ำประกันต่อไป ข้าพเจ้าคิดว่าผู้ต้องหาตั้งสอง-สามพันคน แต่ละคนก็ต้องวิ่งเต้นและเที่ยวหาเงินทอง กว่าจะได้มาแทบเลือดตากระเด็น จริงอยู่คนที่มีฐานะดีร่ำรวย เงินสามหมื่นเป็นเรื่องเล็ก แต่ส่วนใหญ่มีความเดือดร้อนและต้องใช้จ่ายจิปาถะ เพราะนอกจากเงินประกันแล้ว ยังเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่ารถค่าราอะไรหลายประการ การที่ลงโทษพ่อแม่เด็กนักเรียนนักศึกษาว่าไม่อบรมบ่มนิสัยเสียแต่ต้นมือปล่อยให้ลูกกระทำผิด แล้วจะร้องโวยวายไม่ได้นั้นเป็นความคิดเห็นเพียงผิวเผินเท่านั้น ถ้ามองลงไปให้ลึกซึ้งจริงๆ แล้วเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองพ่อแม่ของนักศึกษาที่คอยควบคุมกำชับกำชาลูกของตนอยู่ในกรอบในข่าย เพราะนักศึกษาเป็นคนหนุ่มคนสาว มีความคิดเห็นอิสระและมีระลึกนึกคิดสิ่งผิดชอบชั่วดี กอปรทั้งมีความรู้กว้างขวางพอสมควร เห็นอะไรต่อมิอะไรในสังคมที่เขาอยู่ และชอบที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะในสังคมให้ดีขึ้น มิหนำซ้ำครูบาอาจารย์ได้ชี้แนะและชักนำให้เดินทางไปตามที่คาดคิดเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะไปลงโทษพ่อแม่และผู้ปกครองของนักศึกษา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการปกครองน้อยกว่าครู หน้าที่ส่วนใหญ่ก็ส่งเสียเงินทองค่าเล่าเรียนเท่านั้นเอง ข้าพเจ้าคิดว่าถึงผู้ปกครองคนอื่นๆ ก็คงเหมือนๆ กัน เมื่อข้าพเจ้าได้มอบเงินจำนวนสามหมื่นไปให้ประกันหลานชายแล้ว หลานชายของข้าพเจ้าที่ได้รับมอบหมายให้ไปสืบหาลูกจารุพงษ์ที่บ้านนาสารกลับมา ซึ่งระยะสองวัน เขาพยายามสืบสาวดู แต่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าลูกจารุพงษ์อยู่ที่ใด เพียงแต่ทราบว่านักศึกษาจำนวนหนึ่งได้เข้าป่าขึ้นไปสมทบกับผู้ก่อการร้ายตามเชิงเขาแถบบริเวณเทือกเขานาสาร บ้านส้องนั่นเอง

ต่อมาประมาณสามวันทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับรถบรรทุกของเหมืองแร่ได้คันหนึ่ง รถคันนี้ได้มาจอดรับนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ลงจากสถานีรถไฟบ้านส้อง แล้วขึ้นรถยนต์คันที่จอดรอรับ นำนักศึกษาเข้าไปยังเทือกเขาหน้าตลาดบ้านส้องทางบ้านเหนือคลอง และในช่วงนี้ดูเหมือนการปฏิบัติการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ของฝ่ายผู้ก่อการร้ายยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเขตบ้านเหนือคลอง และอำเภอบ้านส้องก็มีการปะทะกันบ่อยครั้ง สำหรับที่พระแสง อ.ส. จำนวน ๑๔ คนได้ถูก ผกค.ซุ่มดักยิงและเผารถยนต์จนถึงกับเกิดการสูญเสียชีวิตนับเป็นครั้งใหญ่ คือปลัดอำเภอฝ่ายป้องกันหนึ่งคน กับ อ.ส.จำนวน ๑๔ คน ได้ถึงแก่ความตายที่เกิดเหตุ ยังมีการบาดเจ็บสาหัสอีก ๓-๔ คน นับว่าเป็นข่าวน่าหวาดกลัว จนในระยะต่อมาทางราชการได้จัดกำลังทหารเข้าป้องกันระงับเหตุภัย ซึ่งทหารได้มาตั้งค่ายอยู่ข้างโรงเรียนมหาราช และหน้าสถานีบ้านส้องและค่ายชั่วคราวที่วัดบ้านส้อง ดูเหมือนตลาดบ้านส้องเป็นดินแดนอยู่ในสงครามนั่นเอง ทางราชการ นอกจากส่งทหารและอาวุธเช่นปืนใหญ่มาตั้งแล้ว ยังส่งหน่วยการอบรมประชาชนต่างๆ เช่น อบรมเสียงชาวบ้านและนำดนตรีของทหารมาแสดงในเขตพื้นที่ดังกล่าว จนเกิดการวางระเบิดรถยนต์ของทหารที่เขตบ้านส้องไปบ้านคลองฉนวน และที่บริเวณบ้านคลองฉนวนขณะอบรมเสียงชาวบ้าน ทำให้ทหารตำรวจและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและตายหลายคน ในครั้งนี้รองผู้ว่าราชการฝ่ายทหารได้ถูกกับระเบิดถึงกับต้องส่งโรงพยาบาลกรุงเทพฯ และเมื่อท่านทุเลาแล้วได้มีผู้ใหญ่หลายคนเข้าเยี่ยม โดยเมื่อเขาเข้าเยี่ยมถามความคิดเห็นส่วนตัวกับท่านรองฝ่ายทหารได้รับคำตอบว่าท่านหายแล้ว จะขอกลับไปพบกับผกค.ที่สุราษฎร์อีกเพราะมีนัดไว้ ฟังแล้วรู้สึกว่าท่านรองฝ่ายทหารมีน้ำใจกล้าหาญสมเป็นชายชาติทหาร เราหวังว่าท่านหายเป็นปกติจะได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมต่อไป

เมื่อหลานสุพจน์  อนุภักดิ์  ได้ประกันตัวออกจากที่คุมขังเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้เดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมข้าพเจ้าและแม่ ญาติพี่น้อง โดยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าก็พยายามอบรมสั่งสอนให้เขาพยายามเล่าเรียนให้จบ อย่านึกคิดอะไรให้มาก ไม่ต้องนึกว่าเรามีปมด้อย และจะต้องหลบหน้าเพื่อนฝูง เรื่องอย่างนี้มิได้เกิดแก่เราเพียงคนเดียว แม้ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เข้าไปขายของ หรือผู้ที่อยากรู้อยากเห็นว่า นักศึกษาแสดงอะไรเข้าไปชมไปดูยังถูกจับกุมเช่นเดียวกัน ถือเป็นความฝันก็แล้วกัน จะผิดถูกชั่วดีอยู่ที่เราต่างหาก ถ้าเรามีความบริสุทธิ์ใจและมีความดีเสียอย่างเดียว คงจะปลอดภัยแน่นอน เมื่อโรงเรียนเปิดเรียน ข้าพเจ้าก็ให้เขากลับไปเรียนตามเดิมอีก สุพจน์เขาเป็นนักเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. ๕  โรงเรียนชานเมืองแถวพระโขนงโน้น หลานสุพจน์ก็ไม่ขัดขืนคำสั่งสอนของข้าพเจ้าก็รีบจัดข้าวของกลับโรงเรียนในวันกำหนดโรงเรียนเปิดนั่นเอง

ครั้นเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับแม่ของลูกว่า ข้าวของและเครื่องใช้ของลูกที่หอพักควรไปเก็บและคืนหอพักให้เขาจะให้คนอื่นเช่าต่อไป คงไม่มีหวังที่ลูกจะกลับมาเรียนแล้ว เราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ความหวังอยากเห็นลูกสำเร็จการศึกษาขั้นอุดมศึกษาก็พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำน้องๆ ทั้งสามคนที่กำลังเล่าเรียนอยู่ก็ไม่ค่อยมีใจกับการเรียนเพราะเป็นห่วงพี่ชายที่เคยสุขสบายร่วมกัน ร่วมเล่นหยอกล้อแล้วจู่ๆ ก็มาหายเงียบไปโดยไม่มีร่องรอยเลย ครั้งใดที่น้องๆ เขาบ่นถึงพี่ชาย เหมือนมีเข็มที่แหลมเสียบแทงเข้าที่หัวใจข้าพเจ้าทุกครั้ง แต่ข้าพเจ้าพยายามเก็บอารมณ์นั้นไว้ภายในด้วยความขื่นขมระทมทุกข์ ไม่อาจจะบรรยายออกมาเป็นภาษาได้ ข้าพเจ้านึกว่านี่เราร้องไห้น้ำตาท่วมหัวใจอยู่ตราบชั่วชีวิตนี้ ตัดสินใจเป็นการแน่นอนแล้ว ได้พาน้องแดงซึ่งเป็นสามีของน้องแม่ของลูกไปด้วย เพราะน้องแดงเห็นใจข้าพเจ้ามาก จะใช้วานอะไรไม่เคยปริปากเลย และเป็นคนเอาการเอางาน ไม่สำมะเลเทเมา ถึงคราวคับขันเป็นต้องอาสาเข้าช่วยเหลือเสมอ ข้าพเจ้ากับน้องแดงได้จับรถไฟจากสถานีบ้านส้องถึงกรุงเทพฯ ในวันรุ่งเช้า แล้วจับรถตรงไปยังหอพักอีกครั้ง เมื่อถึงหอพักก็ไม่รีรอได้บอกคุณลุงเจ้าของว่าตั้งใจจะนำสิ่งของของลูกกลับ และคืนหอพักให้คนอื่นได้เช่าต่อไป ที่ยังต้องค้างชำระอยู่ร่วมสามเดือน เป็นเงินเท่าไรขอให้คุณคิดให้เสร็จเรียบร้อย ขณะที่น้องแดงกำลังจัดเสื้อผ้าของลูกเข้าหีบห่อ คุณลุงและข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปช่วยจัดด้วยกัน คุณลุงเจ้าของบ้านท่านใจดีกับข้าพเจ้ามาก ท่านไม่คิดค่าหอพักขณะที่ลูกไม่ได้อยู่เลย ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกัน ท่านเห็นใจข้าพเจ้ามากทีเดียว ข้าพเจ้าก็พยายามเคี่ยวเข็ญให้ท่านคิดให้ได้ โดยเอาเงินตั้งให้เท่าราคาจำนวน ๖๐๐ บาท ท่านก็ยังกลับใส่กระเป๋าให้ข้าพเจ้า เมื่อเห็นว่าท่านมีเจตนาบริสุทธิ์ในการไม่คิดค่าห้อง ข้าพเจ้าจึงขอบบุญขอบคุณท่านพักหนึ่ง เราจัดเก็บทุกสิ่งทุกอย่างของลูก ไม่ได้ทิ้งแม้แต่รองเท้าขาดๆ เราก็เก็บใส่กล่อง เตารีดไฟฟ้า หม้อไฟฟ้า กาน้ำ ถ้วยแก้ว ตลอดจนที่นอนหมอนฟูก เราเก็บมัดยังกล่องให้เรียบร้อย จนถึงลูกกุญแจที่ใส่ประตูเราก็เก็บไป  ความจริงไม่ใช่ว่าเราเป็นคนละเอียดหรือขี้เหนียวแต่ประการใด ที่เก็บนั้นเพราะต้องการให้สิ่งของของลูกอยู่ครบครัน จะได้ดูต่างหน้าลูก และได้นึกถึงสภาพที่ลูกอันเป็นที่รักได้ซื้อไว้ใช้สอยเท่านั้นและยังคิดเลยไปว่าสิ่งของเช่นเสื้อผ้า และของใช้ของลูกนี้จะเก็บไว้จนกว่าพบลูกในวันใดข้างหน้า หรือไม่พบก็ตามถือว่าเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของลูกในชีวิตนี้

เมื่อเราจัดของเสร็จเก็บของลงมากองที่หน้าหอพักแล้ว ไปหาของรับประทานอาหารกันพออิ่มแล้วจ้างรถบรรทุกสิ่งของมาสถานีรถไฟกรุงเทพ และโดยสารรถไฟกลับในวันนั้นตอนบ่าย เราไม่ได้นอนค้างคืนที่กรุงเทพฯ เลย เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้เรามีใจค้างคืนได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่กรุงเทพฯ นั้นเป็นสิ่งที่สะเทือนใจของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง เรารีบขนของขึ้นรถไฟอย่างพะรุงพะรัง น้องแดงอาสาแบกของหนักๆ เช่น ที่นอน และของใช้ ส่วนข้าพเจ้าก็ถือกระเป๋าใส่เสื้อผ้าของลูก และของใช้เล็กๆ น้อยๆ เราได้ถึงสถานีรถไฟบ้านส้องในวันรุ่งขึ้น และได้นำข้าวของถึงบ้านพระแสงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมาถึงบ้าน แม่ของลูกก็ได้ซักเสื้อผ้าของลูกที่สกปรกและใส่แล้วยังไม่ได้ซัก เก็บซักจนสะอาดแล้วรีดพับเก็บใส่กระเป๋าไว้เป็นที่เรียบร้อย น้องๆ จะแบ่งกันใช้ แม่ของลูกไม่ให้นำไปใช้กัน และยังคิดอยู่ทุกวินาทีว่าลูกของพ่อและแม่คงจะกลับมาแน่นอน พ่อและแม่ไม่มีจิตใจในการจะประกอบการงานเลย แสนจะอ่อนเปลี้ยหัวใจชอบกล ใครส่งข่าวเกี่ยวกับลูกมาเล่าให้ฟัง แม่จะต้องพยายามซักไซ้ไล่เลียงจนแจ่มแจ้งทีเดียว ในระยะดังกล่าวนี้ใครมาบอกว่าได้พบลูกที่ไหน อย่าว่าที่นั่นจะเป็นป่าดงพงเขา หรือสิงห์สาราสัตว์ดุร้ายอยู่ พ่อกับแม่จะต้องฝ่าไปจนถึง แต่ข่าวดังว่านี้ได้รับเลย เราปรับทุกข์กันภายในครอบครัวจนเพื่อนบ้านเรือนเคียงเขาต่างก็สงสารพ่อและแม่เป็นอย่างยิ่ง เวลานับเดือนเป็นสองเดือนเห็นจะได้ อยู่มาวันหนึ่งมีจดหมายลงทะเบียนจ่าหน้าซองถึงจารุพงษ์ ทองสินธุ์  บ้านเลขที่ ๑๔๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลอิปัน อ.พระแสง พอบุรุษไปรษณีย์นำจดหมายไปให้แม่ และเมื่อฉีกซองออกอ่านปรากฏข้อความเพียงสั้นๆ แต่มันแสนจะปวดร้าวดวงใจเต็มทน นอกจากจดหมายแล้วยังมีบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรนักศึกษาของลูกจารุพงษ์อยู่ด้วย ข้อความในจดหมายเป็นตัวพิมพ์ว่า  “พร้อมจดหมายนี้ได้ส่งบัตรประจำตัวมาให้”  ที่บัตรมีรอยเปื้อนเลือด ลูกจารุพงษ์จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ทราบ แล้วไม่ลงชื่อเพียงเขียนว่าจากเพื่อน พ่อและแม่ต่างร่ำไห้ เข้าใจว่าลูกของพ่อต้องมีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เราต่างปิดประตูแล้วต่างร่ำไห้อยู่พักใหญ่นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี คิดขึ้นได้คลี่จดหมายดูสถานที่ส่งหน่อย หัวจดหมายเขาเขียนบ้านเลขที่ ๔๓/๑  ซอยร่วมพัฒนา ถนนจรัลสนิทวงศ์ ธนบุรี

พ่อพูดกับแม่ว่าเราลองไปหาบ้านเลขที่ดังกล่าว  ลองดูบางทีจะมีอะไรให้เราทราบบ้าง แม่ก็ลงความเห็นเช่นเดียวกัน จึงวานให้เด็กไปเรียกน้องแดงมาเพื่อเตรียมเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง เราเตรียมตัวขณะตอนบ่ายวันนั้นแล้วขึ้นรถยนต์จากบ้านไปยังสถานีรถไฟบ้านส้อง รถนครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ เข้าเทียบชานชาลาสถานีบ้านส้องพอดีกับเราสองคนไปถึง เรารีบซื้อตั๋วแล้วจับรถไฟถึงกรุงเทพฯ เช้า เราคิดกันในรถไฟกับน้องแดงไว้แล้ว ในการจะไปหาบ้านดังกล่าวให้พบจนได้ จึงรีบจับรถแท็กซี่ไปบางแค เพื่อพบน้องชาย เมื่อพบน้องชายแล้วเราเอาจดหมายให้ดู และวันนั้นเป็นวันอาทิตย์น้องชายก็มิได้ไปปฏิบัติราชการอยู่กับบ้าน เมื่อน้องชายได้ดูจดหมายและทราบความประสงค์แล้ว ก็ชวนกันสามคนคือ พ่อ น้องแดง และน้องชาย เอารถยนต์ของน้องออกจากอู่เก็บเติมน้ำมันจนเต็มถังแล้วมุ่งหน้าไปยังถนนจรัลสนิทวงศ์ และต่างดูป้ายซอยร่วมพัฒนา เราขับรถเลยปากซอยไป เห็นผิดสังเกตน้องชายก็แวะรถลงถามร้านด้านริมถนนได้ความว่าเลยมามากแล้ว ให้ย้อนกลับ และบอกพิกัดให้เป็นที่แน่ใจ เราย้อนกลับและเข้าซอยถูก ดูเลขที่บ้านที่ใกล้ๆ ปากซอยมันเป็นเลขจำนวนพัน เราต้องขับรถเข้าไปดู เลขบ้านเหลือจำนวนร้อย แต่พอเข้าไปกลางซอยมีซอยเล็กๆ แยกไปขวาบ้างซ้ายบ้าง เราไม่รู้ว่าตัวซอยร่วมพัฒนามันซอยไหนกันแน่ น้องชายต้องแวะรถถามเขาบ่อยๆ และน้องชายคุยกับพ่อว่าเขาเป็นแท็กซี่ได้ดีจริงๆ สามารถไปยังจุดหมายให้ถูกได้ เป็นเวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง ในที่สุดเราก็เห็นหมายเลขที่บ้านตามในจดหมาย แต่เราฉงนใจที่บ้านนั้นปลูกอยู่ในแอ่งน้ำและใต้ถุนบ้านแสนสกปรก ทันใดนั้นมีหญิงแม่ลูกอ่อน อายุประมาณ ๒๐-๒๕ ปี แต่ร่างกายซูบซีด แต่งตัวปอนๆ อยู่กับบ้าน โผล่หน้ามาดูเราด้วยความแปลกเหมือนกัน พ่อก็ถามว่าคุณ คุณครับที่บ้านนี้อยู่กันกี่คนครับ เขาตอบว่าอยู่กันสามคน คือพ่อของเด็กคนหนึ่ง และลูกเล็กๆ และฉันเองเท่านั้นแหล่ะค่ะ คุณมาจากไหนคะ พ่อก็ตอบพลางมือล้วงจดหมายออกมาประกอบคำพูด มีคนบ้านนี้ให้จดหมายฉบับนี้ไปถึงลูกชายของผมพร้อมส่งบัตรประจำตัวให้ไปด้วยครับ พอส่งจดหมายให้ดู เขาชักงงใหญ่แล้ว เขาปฏิเสธทันควัน คนที่บ้านนี้ไม่มีใครรู้จักคนที่มีชื่อหน้าซองจดหมายนี้เลย ซ้ำพ่อของเด็กก็เป็นกรรมกรหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือหนังหาอะไร และไม่มีนักศึกษาหรือนักเรียนมาอาศัยที่บ้านนี้เลย เขาตอบเร็ว เราฟังเกือบไม่ทัน พ่อก็พูดว่า ไม่เป็นไร ผมถือโอกาสลาก่อนครับ

พ่อและน้องแดง น้องชายขึ้นรถยนต์กลับ ขณะนั่งในรถเราคิดทบทวนว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ คงจะมีเลศนัยอะไรขึ้นแล้ว เพราะผู้เขียนมิลงชื่อไปให้เราทราบ แต่คิดขึ้นมาได้ว่า จดหมายลงทะเบียนจะต้องมีผู้นำไปส่ง และต้องมีหลักฐานอยู่ที่ไปรษณีย์ เราดูตราประทับซองต้นทาง เป็น ป.ณ.บางพลัด ธนบุรี เราจึงตัดสินใจไปหาเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ดีกว่า แต่น้องชายบอกว่า ป.ณ. บางพลัดไม่เคยไป และวันอาทิตย์ไม่ทราบเขาเปิดทำการหรือเปล่า อย่างไรเสียก็จำเป็นต้องเสี่ยง เมื่อรถยนต์ออกจากซอยขึ้นถนนจรัลสนิทวงศ์ เรามุ่งตรงไป ป.ณ.บางพลัดทันที โชคดีเมื่อเราไปถึง เจ้าหน้าที่เขานั่งทำการอยู่ ๒-๓ คน เมื่อหยุดรถแล้วพ่อตรงเข้าไปหาเจ้าหน้าที่พร้อมเอาเลขทะเบียนที่ซองจดหมายให้ดู และขอทราบว่าผู้ส่งคือใคร อยู่บ้านเลขที่เท่าไรกันแน่ เจ้าหน้าที่มีอัธยาศัยดีมาก เขาค้นอยู่พักใหญ่โดยเอาต้นขั้วที่ลงทะเบียนมาตรวจสอบ ชั่วระยะผ่านมาประมาณหกวัน ต้นขั้วเป็นสิบๆ เล่ม ก็ยังหาไม่เจอ แต่แล้วเจ้าหน้าที่อุตส่าห์หาให้จนพบ ในต้นขั้วเขาลงชื่อจริงว่า สำราญ อยู่บ้านเลขที่ ๑๗๑/๑ บางพลัด และจดหมายที่ลงทะเบียนในวันนั้นมิได้ส่งฉบับเดียวยังส่งไปลำปาง และทางเหนืออีกรวมเป็นสามฉบับ เราได้ซักไซ้ไล่เลียงเจ้าหน้าที่ต่อไปอีกว่า บ้านดังกล่าวอยู่แถวไหนไปหาอย่างไรจึงจะสะดวก เจ้าหน้าที่เขาชำนาญเพราะเขาต้องจ่ายจดหมายอยู่ประจำ เขาบอกสังกัดให้เราพอจะไปหาบ้านของนายสำราญได้แน่นอน

เราตกลงใจไปหาบ้านเลขที่ดังกล่าวจนพบแต่เมื่อพบบ้านแล้วปรากฏว่าประตูปิดตาย แต่ไม่ใส่กุญแจ เราสันนิษฐานว่า เจ้าของคงอยู่ภายในแน่ๆ ที่ข้างประตูมีปุ่มออดสำหรับกดเรียก เราตรงเข้ากดออดแล้วยืนรอ เสียงคนลงมาจากบันไดชั้นบน เรามองดูตามช่องลูกซี่เหล็กประตู เห็นเป็นผู้หญิงสาวแต่งตัวอยู่กับบ้านธรรมดา เขาถามออกมาว่าคุณมาหาใครคะ ข้าพเจ้าก็ตอบไปทันทีว่าผมมาหาคุณสำราญ ผู้หญิงสาวมองดูเราอย่างไม่ไว้ใจเพราะสังเกตการยืนแอบประตู แลไม่ยอมเปิดประตูรับเราเข้าไป พลางเขาตอบว่า คุณน้าสำราญไม่อยู่ เขาไปจันทบุรีเมื่อวานนี้ คงจะในวันนี้หรือพรุ่งนี้คุณมีธุระอะไรสั่งไว้ก็แล้วกัน เรามองตากันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ข้าพเจ้าก็พูดว่า ผมมาจากสุราษฎร์ธานี มีคุณสำราญเขาส่งจดหมายและบัตรประจำตัวลูกของผมไปให้  ลูกของผมอยู่ธรรมศาสตร์ปีสองครับ  พร้อมกับเอาซองจดหมายให้ดู ผู้หญิงคนนั้นเหลือบมองหน้าซองจดหมายแล้วพูดว่า เอ๊ะ คงจะไม่ใช่คุณน้าสำราญกระมังเป็นผู้ส่งจดหมายนี้ เพราะท่านไม่ค่อยมีธุระจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเด็กๆ ท่านมีงานส่วนตัวมากเหลือเกิน ข้าพเจ้าก็ถามไปอีกว่า ถ้างั้นลูกของท่านที่เรียนอยู่ธรรมศาสตร์มีบ้างไหม เขาตรึกตรองอยู่พักหนึ่งแล้วตอบว่ามี แต่เขามิได้อยู่บ้านนี้หรอก เพราะน้าสำราญท่านมีภรรยาอยู่ที่ซอยโชคชัยอีก ที่นั้นมีบ้านและเป็นบ้านภรรยาหลวง ลูกของน้าเป็นผู้ชายเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ปีที่ ๒ เหมือนกัน ข้าพเจ้าหันมาปรึกษากับน้องๆ ว่า เห็นจะเข้าทีคงจะเป็นเพื่อนกับลูกจารุพงษ์แน่ๆ

ขณะนั้นพอดียายเจ้าของบ้านกลับจากตลาด พอมาเจอพวกเรา ที่เราได้รู้ว่าเป็นเจ้าของบ้านเพราะผู้หญิงสาวบอกว่า นั่นยายมาแล้ว ทันใดก็รีบเปิดประตูกว้างออก แล้วยายเดินเข้าประตูเอาข้าวของที่ซื้อมาจากตลาดวางกับที่ แล้วเชิญให้พวกเราเข้าไปนั่ง ข้าพเจ้าก็ปฏิเสธไปทันทีว่า ขอบคุณไม่ต้องนั่งหรอกยายผมมีธุระจะไปที่อื่นอีก ท่านถามว่า มาจากไหนกัน เราบอกว่ามาแต่สุราษฎร์ธานี พอบอกว่าสุราษฎร์ ท่านก็ส่งภาษาใต้ทันที ยายก็อยู่บ้านนาสาร สุราษฎร์เหมือนกันเป็นอันว่าเราได้พบคนที่สนิทกันทั้งๆ ไม่รู้จักชื่อแซ่กันมาก่อน แต่ตามธรรมเนียมคนใต้เมื่อพบกันที่ห่างไกลถือเสมือนญาติพี่น้องกันนั่นแหละ คุณยายท่านได้ชี้แจงให้ฟังได้ทราบรายละเอียด โดยแนะนำให้เราไปหาบ้านของคุณสำราญที่ซอยโชคชัย และบอกชื่อหลานชายของท่านที่ซอยโชคชัยว่าชื่อวิโรจน์ ให้ไปถามรายละเอียดการเข้าบ้านที่หลานของท่านอาศัยอยู่ที่ร้านขายน้ำชาปากซอยโชคชัย เราก็ร่ำลาคุณยายแล้วรีบบึ่งรถไปซอยโชคชัยทันที

เมื่อถึงปากซอยมีป้ายเขียนตัวโตๆ ด้วยสีแดงว่า  “ซอยโชคชัย”  และมีร้านขายน้ำชาอยู่ปากซอย เราก็ลงไปถามหาบ้านเลขที่ ๑๒๔/๓  ท่านก็เปิดบัญชีอยู่พักใหญ่ เราสันนิษฐานว่าเจ้าของร้านนี้คงมีบัญชีเลขที่บ้านในซอยนี้ทุกหลัง คงจะเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนท้องที่หรือผู้ใหญ่บ้านทำนองนั้น เมื่อพบท่านก็ออกมาชี้และบอกว่าเมื่อสุดถนนติดริมคลองแล้วให้เลี้ยวไปทางขวา เข้าไปเกือบสุดถนน บ้านอยู่ทางด้านซ้าย เป็นบ้านชั้นเดียวมีรั้วไม้เตี้ยๆ กั้นเป็นบริเวณ เมื่อเราทราบแล้วก็ขึ้นรถไปหาบ้านดังกล่าวได้ถูกต้อง รถยนต์จอดหน้าบ้านแล้วเราลงจากรถ สุนัขตัวโตส่งเสียงเห่าทำเอาเราตกใจ ถอยร่นออกมายืนบนถนน พอดีมีหญิงสาวคนหนึ่งโผล่หน้าเห็นเรา ถามว่าคุณมาหาใครคะ ข้าพเจ้าบอกว่าต้องการพบกับวิโรจน์หน่อย พอออกชื่อวิโรจน์ เขาก็เปิดประตูและเรียกสุนัขกลับพร้อมกับเชิญเราให้เข้านั่งข้างในบ้าน

บ้านนี้เป็นบังกะโล ชั้นเดียว ทาสีเขียวอ่อน บริเวณบ้านปลูกไม้ดอก มีซุ้มเถาวัลย์สวยงาม และม้าหินตั้งใต้ซุ้มไม้ไว้สำหรับแขกที่ชานหน้าบ้าน เมื่อเรานั่งบนเก้าอี้แล้ว ข้าพเจ้าถามว่าวิโรจน์อยู่หรือเปล่า เขาตอบว่า ไม่อยู่ค่ะ เขาไปบ้านเพื่อนที่ชุมพรเมื่อวานนี้ ดูเหมือนเพื่อนเชิญไปงานแต่งงานของเพื่อน มีธุระอะไรหรือคะ เรากล่าวต่อไปว่า วิโรจน์เขาส่งจดหมายไปยังลูกชายผม พร้อมกับส่งบัตรประชาชน และบัตรนักศึกษาไปให้ คงจะเป็นเพื่อนกับลูกชายผมกระมัง หญิงสาวตอบโดยไม่ต้องคิดเลย วิโรจน์เขาเก็บบัตรเพื่อนๆ มาเยอะ และส่งไปให้เฉพาะเพื่อนสนิทกับเขาทั้งนั้น นี่ค่ะที่เหลืออยู่ก็มีมาก คุณดูซิ พร้อมกับไปหยิบกล่องกระดาษที่ใส่บัตรประชาชน เราเอามาพลิกดูประมาณสักแปดเก้าแผ่นเป็นรูปนักศึกษาทั้งนั้น เป็นอันว่าวิโรจน์เขาต้องส่งจดหมายนี้เป็นแน่ แต่บัตรเหล่านั้นเขาเก็บได้ที่ไหน อย่างไร เราก็ถามต่อไปว่า บัตรนี้เขาเก็บได้จากไหนครับ หญิงสาวบอกว่าคุณวิโรจน์เขาเก็บมาจากโรงพักชนะสงคราม ฉันเป็นคนเฝ้าบ้าน จึงไม่ค่อยได้ทราบรายละเอียดเกินไปกว่านี้ และดูเหมือนเขาหนีออกมาได้ในวันเกิดเหตุที่ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง  เป็นอันว่าเราโล่งใจไปตอนหนึ่งแต่เสียดายที่ไม่พบกับเด็กคนนี้ความจริงคงจะรู้อะไรดีกว่านี้อีก  เมื่อนั่งอยู่พอสมควร เราก็ลาผู้หญิง ก่อนออกจากบ้านเขาสั่งว่าถ้าคุณวิโรจน์กลับ ดิฉันจะบอกให้เขาทราบ เราจดชื่อให้ไว้แล้วขอบใจเขามาก

เมื่อเราขึ้นรถกลับ เพื่อให้เป็นการแน่ใจอีกครั้ง เราก็ชวนกันไปที่สถานีตำรวจชนะสงคราม เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าบัตรนั้นเขาได้มาจากโรงพักตำรวจจริง เมื่อถึงชนะสงครามเราแวะทานอาหารเที่ยงเสร็จก็เตร่ไปยังสถานีตำรวจ และเข้าหาสารวัตรใหญ่ของสถานี ไต่ถามเรื่องบัตรนักศึกษา ท่านตอบให้เราทราบทันทีว่า กล่องบัตรตั้งอยู่บนสถานีตำรวจ ใครรู้จักกับใครก็ขึ้นไปเลือกเอาได้ ยังเหลืออยู่เยอะแยะ เพราะตำรวจเขาเก็บวันที่เกิดเรื่องในธรรมศาสตร์ นักศึกษาเขาหนีแล้วเอาบัตรออกโยนทิ้งกัน เมื่อเป็นที่แน่นอนเราก็ชวนกันกลับบ้าน และข้าพเจ้ากับน้องแดงไปค้างที่บ้านน้องชายที่บางแคหนึ่งคืน รุ่งเช้าเราจับรถกลับถึงสถานีรถไฟ กรุงเทพฯ โดยสารรถไฟกลับ และได้สั่งน้องน้อยไว้ว่าให้ลองไปพบวิโรจน์สักครั้ง และช่วยถามรายละเอียดเกี่ยวกับลูกจารุพงษ์ เผื่อเขาหนีออกมาพร้อมกันหรืออย่างไร น้องชายก็รับปากไว้ ถ้าได้ความประการใดจะจดหมายให้ทราบ เราต้องคว้าน้ำเหลวอีกครั้งหนึ่ง ถึงบ้านในวันรุ่งขึ้น และได้เล่าให้แม่ของลูกและญาติๆ ฟังกัน

หมายเหตุบรรณาธิการ - บันทึกต้นฉบับของคุณจินดา  ทองสินธุ์ ได้สิ้นสุดลงเพียงนี้ โดยยังไม่ได้จบตามเนื้อหาที่ตั้งใจไว้ พ่อจินดาได้เขียนบันทึกที่ไม่จบนี้ไว้ในสมุดเล่มหนึ่ง แล้วเก็บไว้ในลัง และอยู่รอดจากการหนีน้ำท่วมมาหลายครั้ง จนกระทั่ง เมื่อเหตุการณ์ผ่านมาถึง ๒๐ ปี บันทึกนี้จึงถูกค้นพบ และนำมาตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้

ที่มา : กุลวดี ศาสตร์ศรี และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บ.ก.), เราไม่ลืมจารุพงษ์ (กรุงเทพฯ: โครงการกลุ่มเพื่อนจารุพงษ์, ตุลาคม 2539), หน้า 4


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Gemini ที่ 15-02-2008, 22:26
ไปสนใจทำไม
แค่เหตุการณ์ที่มีคนตายคนเดียว





Ps. เชื่อตามที่ป๋าหมากบอกอ่ะ
ถ้าไม่เชื่อคนเป็นนายก
ก็ไม่รู้จะไปเชื่อหมาที่ไหนแล้วคร้า

 :slime_smile:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Anthony ที่ 16-02-2008, 13:16
กลุ่มยังเติร์ก จำลองไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ หัวแถวก็ มนูญกฤติ ประจักษ์ พัลลภ (ไม่ได้กล่าวยศขออภัย)

แต่เรื่องวันนั้น มันหลายไม้หลายมือช่วยผสมกัน ทั้งทหาร พลเรือน และข่าวว่ามี ซีไอเอ เข้ามาผสมโรงด้วย เพราะในช่วงนั้น ไซง่อนแตกแล้ว คอมมิวนิสต์กำลังได้เปรียบอย่างมาก หากปล่อยให้บ้านเมืองมีคอมมิวนิสต์ก่อการอยู่ภายใน ท่าทางจะไม่รอด จึงมีการตัดตอนคอมมิวนิสต์เสีย ผลก็คือ เข้าป่ากันไปนับไม่ถ้วน และสุดท้ายคอมมิวนิสต์ก็สูญพันธ์ ด้วยนโยบาย 66/23 ในสมัยรัฐบาลเปรม

จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมอดีตคอมมิวนิสต์ จึงสร้างภาพเพื่อโจมตีพลเอกเปรม ทั้งๆที่ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่แค้นเก่า ต้องชำระ

ส่วนอดีตทรราช ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นหรอกค่ะ ตอนนั้นหมดบารมีไปแล้ว เหลือแต่บุญคุณ  :slime_smile:

ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงไม่มีคนประณาม มนูญกฤต หรือ พัลลภ ในเรื่อง 6 ตุลา บ้างละครับ
ผมเห็นเวลามีข่าวเรื่องนี้ทีไร พูดถึงแต่ สมัคร จนผมถึงนึกว่า แกเป็นผู้บงการตัวใหญ่ไปซะแล้ว
แล้วในความเห็น คุณพรรณชมพู นี่ แกนนำพรรค ปชป.ตอนนั้นมีส่วนร่วมด้วยมั้ยครับ นอกจาก สมัคร
เพราะผมเห็นตอนนี้ มนูญกฤต เองก็อยู่ในพรรค ปชป.ด้วย :slime_doubt:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: athit ที่ 16-02-2008, 14:28
นายสมัครเป็นแค่เบี้ยตัวเล็กๆตอนนั้น

เก่งจริงอย่าหยุดแค่สมัครสิครับ

ธานินทร์ กรัยวิเชียร นี่ตอนนี้เป็นใครครับ???

คนอยู่เบื้องหลัง ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นใครครับ.........กล้าๆหน่อย..............หึหึหึ


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ปุถุชน ที่ 16-02-2008, 14:49
ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงไม่มีคนประณาม มนูญกฤต หรือ พัลลภ ในเรื่อง 6 ตุลา บ้างละครับ
ผมเห็นเวลามีข่าวเรื่องนี้ทีไร พูดถึงแต่ สมัคร จนผมถึงนึกว่า แกเป็นผู้บงการตัวใหญ่ไปซะแล้ว
แล้วในความเห็น คุณพรรณชมพู นี่ แกนนำพรรค ปชป.ตอนนั้นมีส่วนร่วมด้วยมั้ยครับ นอกจาก สมัคร
เพราะผมเห็นตอนนี้ มนูญกฤต เองก็อยู่ในพรรค ปชป.ด้วย  :slime_doubt:


ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คุณAnthonyว่า ...
1. 'สมัคร' เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกัน....

2. ถ้า'สมัคร' ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างชาติ
ในขณะดำรงตำแหน่ง'นายกรัฐมนตรี'ของพรรคพลังประชาชนว่า...
มีคนตายคนเดียวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519....
ก็จะไม่มีเรื่องราวในขณะนี้....

3. อดีตนายกฯชวน หลีกภัยของพรรคประชาธิปัตย์
นอกจากไม่เคยบิดเบือนข้อเท็จจริงเหมือนอดีตสมาชิกพรรคฯ สมัคร
ยังเปิดเผยข้อเท็จจริง เป็นแหล่งข้อมูลเหตุการณ์นั้นด้วย

4. คงไม่จำเป็นต้องไป'รื้อฟื้น'กับคนอื่น ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อน
จึงจะประนาม'นายกฯนอมินี' ที่เปิดเรื่องอีก ได้ใช่ไหม..

5. คุณ Anthony คงไม่อยากให้คนไทย ผู้รู้ข้อเท็จจริงก้มหน้า นิ่งเฉย
ยอมรับการให้สัมภาษณ์ของ'นายกฯนอมินี'ของทักษิณโดยปริยาย กระมั่ง...




หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ปุถุชน ที่ 16-02-2008, 14:59
นายสมัครเป็นแค่เบี้ยตัวเล็กๆตอนนั้น

เก่งจริงอย่าหยุดแค่สมัครสิครับ

ธานินทร์ กรัยวิเชียร นี่ตอนนี้เป็นใครครับ???

คนอยู่เบื้องหลัง ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นใครครับ.........กล้าๆหน่อย..............หึหึหึ


ไม่น่าเชื่อว่าคุณAthit จะไม่เคยได้ยิน....
คนไทย ผู้รู้ นักวิชาการ สื่อฯ วิพากษ์วิจารณ์ ธานินทร์(หอยเน่า)
ทมยันตี อุทิศ อุทาร ดุสิต จำลอง ประมาณ ชาติชาย ชุมพล ฯลฯ.......ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า




หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Anthony ที่ 16-02-2008, 15:00

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คุณAnthonyว่า ...
1. 'สมัคร' เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกัน....

2. ถ้า'สมัคร' ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างชาติ
ในขณะดำรงตำแหน่ง'นายกรัฐมนตรี'ของพรรคพลังประชาชนว่า...
มีคนตายคนเดียวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519....
ก็จะไม่มีเรื่องราวในขณะนี้....

3. อดีตนายกฯชวน หลีกภัยของพรรคประชาธิปัตย์
นอกจากไม่เคยบิดเบือนข้อเท็จจริงเหมือนอดีตสมาชิกพรรคฯ สมัคร
ยังเปิดเผยข้อเท็จจริง เป็นแหล่งข้อมูลเหตุการณ์นั้นด้วย

4. คงไม่จำเป็นต้องไป'รื้อฟื้น'กับคนอื่น ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อน
จึงจะประนาม'นายกฯนอมินี' ที่เปิดเรื่องอีก ได้ใช่ไหม..

5. คุณ Anthony คงไม่อยากให้คนไทย ผู้รู้ข้อเท็จจริงก้มหน้า นิ่งเฉย
ยอมรับการให้สัมภาษณ์ของ'นายกฯนอมินี'ของทักษิณโดยปริยาย กระมั่ง...



แต่นอกจาก สมัคร แล้ว ผมอยากให้มีการขุดคุ้ยและชำระประวัติศาสตร์ให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที

หวังว่า หลังจากการขุดคุ้ย สมัคร แล้ว คงจะมีการขุดคุ้ยคนอื่นที่เกี่ยวข้องอีกนะครับ ผมไม่อยากให้จบที่ สมัคร เพียงคนเดียว
สมัครและคนเดือนตุลาคนอื่นๆจะได้เลิกอ้างนู่นอ้างนี่หรือบิดเบือนประวัติศาสตร์เสียที
เพราะเท่าที่ดู เหมือนว่า สมัครจะยังไม่ใช่ตัวการใหญ่ตัวจริง :slime_mad:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ปุถุชน ที่ 16-02-2008, 15:03
แต่นอกจาก สมัคร แล้ว ผมอยากให้มีการขุดคุ้ยและชำระประวัติศาสตร์ให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที

หวังว่า หลังจากการขุดคุ้ย สมัคร แล้ว คงจะมีการขุดคุ้ยคนอื่นที่เกี่ยวข้องอีกนะครับ ผมไม่อยากให้จบที่ สมัคร เพียงคนเดียว
สมัครและคนเดือนตุลาคนอื่นๆจะได้เลิกอ้างนู่นอ้างนี่หรือบิดเบือนประวัติศาสตร์เสียที
เพราะเท่าที่ดู เหมือนว่า สมัครจะยังไม่ใช่ตัวการใหญ่ตัวจริง :slime_mad:



ถ้า'สมัคร' ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างชาติ
ในขณะดำรงตำแหน่ง'นายกรัฐมนตรี'ของพรรคพลังประชาชน ยังมีบทบาททางการเมืองว่า...
มีคนตายคนเดียวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519....
ก็จะไม่มีเรื่องราวในขณะนี้....

ปล. คนอื่น ๆ หาอ่านได้จากหนังสือ บทความในแหล่งต่าง ๆ ได้


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 16-02-2008, 15:06
แต่นอกจาก สมัคร แล้ว ผมอยากให้มีการขุดคุ้ยและชำระประวัติศาสตร์ให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที

หวังว่า หลังจากการขุดคุ้ย สมัคร แล้ว คงจะมีการขุดคุ้ยคนอื่นที่เกี่ยวข้องอีกนะครับ ผมไม่อยากให้จบที่ สมัคร เพียงคนเดียว
สมัครและคนเดือนตุลาคนอื่นๆจะได้เลิกอ้างนู่นอ้างนี่หรือบิดเบือนประวัติศาสตร์เสียที
เพราะเท่าที่ดู เหมือนว่า สมัครจะยังไม่ใช่ตัวการใหญ่ตัวจริง :slime_mad:
ถ้าจะยาก มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

ตัวการใหญ่ ใหญ่มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

ใหญ่จนผมเลี่ยงที่จะไม่พูดดีกว่า


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 16-02-2008, 15:17
ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงไม่มีคนประณาม มนูญกฤต หรือ พัลลภ ในเรื่อง 6 ตุลา บ้างละครับ
ผมเห็นเวลามีข่าวเรื่องนี้ทีไร พูดถึงแต่ สมัคร จนผมถึงนึกว่า แกเป็นผู้บงการตัวใหญ่ไปซะแล้ว
แล้วในความเห็น คุณพรรณชมพู นี่ แกนนำพรรค ปชป.ตอนนั้นมีส่วนร่วมด้วยมั้ยครับ นอกจาก สมัคร
เพราะผมเห็นตอนนี้ มนูญกฤต เองก็อยู่ในพรรค ปชป.ด้วย :slime_doubt:

ถ้าจะเหมาว่า ปชป.มีส่วนร่วมด้วย เพราะมีอดีต ปชป.และ อนาคต ปชป. อยู่ในเหตุการนั้นด้วย ก็คงจะได้ค่ะ และคงจะได้หลายพรรคเลย  :slime_smile2:

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ไม่ได้เกิดในคราวเดียว แต่มันมีพัฒนาการเป็นระยะ มีผู้เข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก อีกทั้งปากคำของผู้ที่ร่วมเหตุการ ก็มีที่ขัดแย้งกันเอง

แต่ภาพที่เด่นชัดของการปราบปรามนักศึกษา เกิดจากการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนส่วนหนึ่ง และกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เกลียดชังนักศึกษา โดยเหมารวมไปว่า นักศึกษาทุกคนที่อยู่ในธรรมศาสตร์ ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ ตัวหลักของฝ่ายประชาสัมพันธ์ ก็มี อุทาร สมัคร วิมล (ทมยันตี) หญิงไทย(จำชื่อจริงไม่ได้) จุมพล (ตะบันไฟ) ศีลปชัย (หนหวย) และนักจัดรายการที่หัวรุนแรงอีกมาก ทั้งในกรุงเทพและ ตจว.

ส่วนฝ่ายปฎิบัตการที่ไม่ใช่คนของรัฐ ก็ได้แก่กลุ่มกระทิงแดง นวพล และสารพัดกลุ่มที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ

แต่การมองภาพ 6 ตุลานั้น ต้องแยกให้ออก ระหว่าง เหตุการณ์คุกคามของคอมมิวนิสต์  การปราบปรามนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์  การรัฐประหาร  การแต่งตังรัฐบาลหลังรัฐประหาร

แต่ละเหตุการเชื่อมโยงกัน แต่มิได้เป็นแผนรวมซึ่งกันและกัน

1. การคุกคามของคอมมิวนิสต์ เป็นระยะที่คอมมิวนิสต์เวียดนามและกัมพูชา มีชัยต่อฝ่ายทุนนิยมอเมริกา
2. การแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ในกลุ่มปัญญาชนของประเทศไทย
3. ความต้องการเอาคืน ของกลุ่มทหารที่เจ็บแค้นต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
4. การแสวงหาอำนาจของกลุ่มบุคคล ทั้งทหาร และ พลเรือน  ที่ใช้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือ
5. การควบคุมสถานการ หลังความวุ่นวาย จากฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่
6. ความจำเป็นที่ต้องรัฐประหาร
7. ทางตันในการปกครองประเทศหลังรัฐประหาร

เมื่อแยกแยะเหตุการออกมา ก็จะเห็นถึง กรรม ที่มันมีกลไกของมันโดยเฉพาะ ไม่มีใครสามารถวางแผนเหตุการเหล่านี้ได้ละเอียดถึงเพียงนั้น มันเดินไปตามทางของมันเองค่ะ

จากรายละเอียดที่มีผู้นำมาโพสไว้แล้ว มีข้อความที่พยายามพาดพิงถึงสถาบันอยู่ด้วย ทั้งๆที่ข้อมูลนั้นแม้จะพยายามแล้วพยายามอีก ก็ไม่อาจกล่าวหาได้ว่า มีใครอยู่เบื่องหลังใคร และเมื่อมองชื่อผู้เขียนบทความนั้นแล้ว ก็ต้องหัวเราะ  :slime_smile2:

ต่อคำถามที่ว่า

"ทำไมถึงไม่มีคนประณาม มนูญกฤต หรือ พัลลภ ในเรื่อง 6 ตุลา บ้างละครับ"

นั่นเป็นเพราะ แผนที่พวกนั้นวางไว้ คือการยึดอำนาจคืนมา ไม่ใช่การฆ่านักศึกษาค่ะ เขาเพียงแต่ต้องการนำอำนาจรัฐกลับมา กลับมาวางไว้ตรงที่มั่นคงกว่าที่เดิม ตามความเห็นของพวกเขา ส่วนการฆ๋าฟันนักศึกษานั้น กลุ่มที่ยุยง กับกลุ่มที่ทำ จึงต้องรับผิดชอบไป


อ้อ เรื่องที่ถามว่า ปชป.มีส่วนร่วมด้วยไหม มีเรื่องเล่าว่า เมื่อกลุ่มผู้นำนักศึกษา นำโดยนายสุธรรม และรวมถึงผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องการแสดงละครหมิ่นพระบรม เข้าพบ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ มรว.เสนีย์ ท่านนายกได้โทรตามให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ มาควบคุมตัวพวกนี้ไป หลังจากได้พูดคุยกันแล้วค่ะ  และกลุ่มนี้ก็ติดคุกตั้งแต่วันนั้นมาจนได้รับพระราชทายอภัยโทษในอีกหลายปีต่อมา นับว่า ปชป.มีส่วนร่วมในการนำนักศึกษาไปเข้าคุกส่วนหนึ่งค่ะ ปฎิเสธไม่ได้  :slime_smile2:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: พรรณชมพู ที่ 16-02-2008, 15:22
ถ้าจะยาก มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

ตัวการใหญ่ ใหญ่มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

ใหญ่จนผมเลี่ยงที่จะไม่พูดดีกว่า

คิดว่าคุณเข้าใจอะไรผิดมากค่ะ  บทความที่คุณนำมาโพสเอง ในส่วนที่คุณพยายามหมายความถึง ก็ชี้ชัดว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณพยายามพาดพิงค่ะ

อีกทั้งผู้ที่เขียนบทความในส่วนนั้น ก็ได้ชื่อว่า พยายาม ดึงฟ้าต่ำ มาตลอด แต่กระนั้น ข้อมูลจริงๆก็บ่งชี้ว่า ที่คุณพยายามพาดพิงถึง ไม่ได้เกี่ยวข้องจริงๆ

เหตุดำเนินมาจนจะสุกงอมแล้ว ถึงได้มีคนวิ่งเข้าไป

และก็ไม่ได้อะไรออกมา นอกจาก ตักเตือน

 :slime_v:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Cherub Rock ที่ 16-02-2008, 15:41
คำปราศรัยของ นายชวน หลีกภัย ในกรณี 6 ตุลา
จาก วิกิซอร์ซ
ข้ามไปที่: นำทาง, ค้นหา

(เป็นคำปราศรัยในการหาเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522)

พระคุณเจ้าที่เคารพ พี่น้องที่รักทั้งหลาย ผมดีใจที่ท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ และมีโอกาสที่ได้พบกันอีก ผมเองภูมิใจที่ผมเอาชีวิตรอดมาได้ และได้ปรากฏตัวกับท่านอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ หลังจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนวันนี้ ระยะเวลาได้ผ่านไปถึง 2 ปี 4 เดือนเศษ ผมคิดว่าคนไทยไม่ใช่น้อยที่ยังมีความสับสน มีความลังเล และมีความไม่แน่ใจในเหตุการณ์หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น บางคน บางพวก บางกลุ่ม เชื่อคำบิดเบือนของคณะปฏิรูป บางกลุ่มเชื่อคำโกหกของวิทยุยานเกราะ ทำให้เกิดความเชื่อตามข้อกล่าวหาของกลุ่มเหล่านั้นว่าเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม เป็นไปดังที่เขากล่าวหา

ผมคิดว่าท่านได้ฟังท่านหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พูดมาเมื่อสักครู่นี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่ได้พูดถึงและผมคิดว่าจะตอบคำถามของท่าน เหตุการณ์ 6 ตุลาคมเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย หรือเป็นแผนการชิงอำนาจที่เตรียมการมาล่วงหน้า ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้าใจความจริงอันนี้ ข้อตำหนิต่าง ๆ ที่ท่านจะมีต่อพรรคประชาธิปัตย์นั้นจะได้คลี่คลายไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมไม่มีหลักฐานอะไรที่เป็นตัวเป็นตนมายืนยันกับท่านดีกว่าเอกสาร แต่ก่อนที่ผมจะอ่านเอกสารชิ้นนั้นซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ให้ท่านเห็นว่าการ ปฏิรูปในวันที่ 6 ตุลาคมนั้น ได้มีการเตรียมตัวกันมาก่อนหรือเป็นอุบัติเหตุดังที่กลุ่มคณะปฏิรูปได้อ้าง อยู่ ผมจำเป็นจะต้องเริ่มต้นเรียนพี่น้องทั้งหลายว่า ในฐานะพรรคการเมืองที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและปกครองประเทศอยู่ในวันที่ 6 ตุลาคมนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีทางที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบอันเกิดขึ้นในวันนั้นได้ แต่สิ่งที่เราจะชี้แจงว่าความรับผิดชอบของเรานั้นเพียงใด และเราอยู่ในฐานะที่ป้องกันได้หรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญ ที่เราจะต้องกราบเรียนพี่น้องทั้งหลาย

ผมคิดว่า ในช่วงที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมซึ่งรักษาการเป็นรัฐบาลอยู่นั้น เรายังไม่เคยได้ยินคำว่าสภาปฏิรูป เรายังไม่ได้ยินคำว่าปฏิรูปในลักษณะของผู้ที่จะมาปกครองประเทศ แต่ความจริงถ้าพี่น้องทั้งหลายได้ย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ในวันนั้นโดย เฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ก่อนหน้าวันที่ 6 ตุลาคม ท่านจะประจักษ์ความจริงว่า ได้มีการพูดถึงคำว่าปฏิรูปกันมาแล้ว ได้มีการคาดหมายบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว และคาดหมายบุคคลที่จะอยู่ในศาลฎีกาด้วย ผมคิดว่าเบื้องแรกที่ผมจะนำหลักฐานมาอ่านให้ท่านฟังมันไม่ใช่หลักฐานที่ปิด เป็นความลับ มันเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งอยู่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2519 พี่น้องอย่าลืมนะครับ 3 ตุลาคม 2519 ยังไม่มีการปฏิรูป ยังไม่เกิดเหตุนองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนั้นรัฐบาลชั่วคราวของพรรคประชาธิปัตย์ยังรักษาการอยู่ เพื่อรอการแถลงการณ์ในสภาในวันที่ 8 ตุลาคม 2519 แต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม ในหน้า 4 ได้เขียนถึงการปฏิรูป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความลับในเรื่องการปฏิรูปนั้น ได้รั่วไหลกันมา

พี่น้องลองฟังข้อความที่เขาเขียนถึง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 ตุลาคม หน้าที่ 4 ในคอลัมน์ " ไต้ฝุ่น " เขียนโดยใช้นามแฝงว่า " ไต้ฝุ่น " ว่า " หากเมืองไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีก ทำนายทายทักกันได้ว่าจะไม่ใช่คนในสกุลปราโมชอีกแล้ว อาจจะเป็นหนึ่งในสามของคนวัยไม่เกิน 52 เล็งกันไว้จากสภาปฏิรูป ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ เกษม จาติกวณิช หรือประภาศน์ อวยชัย คนนี้ซินแสดู โหงวเฮ้งแล้วบอกว่าฮ้อ " พี่น้องครับผมทบทวนถ้อยคำให้ท่านฟังอีกครั้งหนึ่ง " เล็งกันไว้จากสภาปฏิรูป " หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งนักข่าวจะเขียนกันได้ ก็ไม่เกินประมาณวันที่ 2 แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปนั้นได้มีการเตรียมกันมาแล้ว และข่าวนี้ ได้รั่วไหลมาสู่หนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์บางคนถึงได้เขียนคำว่า สภาปฏิรูป และมีการคาดหมายว่า คนที่จะมาเป็นนายกนั้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่เขาไม่ได้พูดถึงอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เขาพูดถึงอาจารย์ประภาศน์ อวยชัย นี่หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคมนั้น สภาปฏิรูปได้เตรียมการที่จะปฏิรูปแล้ว ได้มีการรวมกลุ่มกันแล้ว และความลับอันนี้ก็ได้รั่วไหลมาสู่ปากหูของหนังสือพิมพ์ จึงได้มีการเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา

พี่น้องครับ แต่การที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง อยู่ดี ๆ จะมีทหารกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาปฏิวัติหรือปฏิรูป ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชน แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นมามีอำนาจนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ อย่างน้อยที่สุดประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เขาคงไม่พร้อมที่จะยอมรับการประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น วิธีไหนละครับที่จะมีเหตุผลในการที่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการปฏิรูปสถาบัน อะไรในบ้านเมืองนี้ ที่หยิบยกขึ้นมาพูดแล้วจะกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนมี 3 เท่านั้น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าผู้ที่เตรียมการปฏิรูปเขาหยั่งรู้หัวใจคนไทยออกว่าถ้ามีการแตะต้อง สถาบันทั้งสามนี้ คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศจะต้องไม่พอใจ เขาคาดเหตุการณ์ออก

เพราะฉะนั้น แผนการที่เขาจะดำเนินการเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือมีเหตุผล เพียงพอที่สามารถจูงใจคนไทยทั้งประเทศให้คล้อยตามได้ แน่นอนที่สุดการปฏิรูปวันนั้น ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอ คนไทยคงไม่พร้อมที่จะรับ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคมนั้น จึงจำเป็นต้องมีคนกลุ่มหนึ่งมาแสดงบทบาทเป็นผู้ที่จะต้องตาย ใครล่ะครับจะสมกับบทบาทนี้มากไปกว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ (เสียงปรบมือ) เขาจึงกำหนดให้นักศึกษาในธรรมศาสตร์ต้องตาย เพื่อให้เห็นว่าเกิดการนองเลือด รัฐบาลที่มาจากประชาชนนั้นไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ คณะปฏิรูปเล็งเห็นถึงอันตรายต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันทั้งสามของชาติ จำเป็นต้องยึดอำนาจ เขาคิดไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะฉะนั้นในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคมนั้น จึงได้มีผู้ที่ล้มตายอย่างมากมาย และพี่น้องครับ ผมจะอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิรูปกล่าวออกมานั้นจริงหรือเท็จ คณะปฏิรูปบอกว่า " เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมได้ต่อสู้ด้วยนักศึกษา ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนาม ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก " (เสียงปรบมือ) ประชาชนและตำรวจหรือว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ ใครครับที่มีอาวุธในราชการสงครามใช้ (เสียงปรบมือ)

ผมคิดว่าคำแถลงการณ์อันนี้ เป็นการยืนยันให้พี่น้องทั้งหลายได้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า คณะปฏิรูปได้โกหกประชาชนทั้งประเทศ (เสียงปรบมือ) พี่น้องครับ ผมไม่ตำหนิประชาชนที่หลงเชื่อคนไทยส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่มีโอกาสรู้อะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิทยุยานเกราะ แล้วแต่ว่าวิทยุยานเกราะจะบิดเบือนไปในทางใด ก่อนที่จะมีการเข้าไปเข่นฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์นั้น เขาได้ประณามว่า นักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอมนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ (เสียงปรบมือ) ในบ้านเมืองของเรานี้มีอะไรไหมครับ ที่น่ากลัวที่สุดในความรู้สึกของคนไทย " คอมมิวนิสต์ " เขาหยิบจุดเหล่านี้ขึ้นมาอ้างและคนก็เชื่อ แม้กระทั่งถ้อยคำบิดเบือนของ ดร.อุทิศ ว่าคูระบายน้ำในธรรมศาสตร์ คือ อุโมงค์ (เสียงปรบมือ)

ถ้าคนระดับ ดร.พูดแล้วยังไม่น่าเชื่อถือ แล้วคนระดับไหนมันเหนือกว่านี้ที่น่าจะเชื่อ คนไทยเป็นจำนวนมากแม้กระทั่งศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ยังเชื่อว่าธรรมศาสตร์มี อุโมงค์ เพราะคำบิดเบือนของ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ จึงไม่ใช่ของแปลก ไม่ใช่ของแปลกที่คนไทยเป็นจำนวนมาก หลงเชื่อคำบิดเบือนของคณะปฏิรูปและคำโกหกของพันโท อุทาน ที่ออกทางวิทยุยานเกราะ (เสียงปรบมือ) คนไทยเหล่านั้นเคียดแค้นนักศึกษา เพราะเชื่อว่านักศึกษานั้นล่วงล้ำสถาบันกษัตริย์ ผมไม่แปลกใจที่มีการเข่นฆ่ากันอย่างทารุณในวันนั้น แต่ผมก็รู้ว่าคนที่มาเข่นฆ่านักศึกษาในวันนั้นไม่ใช่คนไทยธรรมดาสามัญ แต่เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ได้มอบหมายอาณัติมาจากผู้ที่เตรียมการปฏิรูป (เสียงปรบมือ) เหตุผลมันจะโยงต่อมาถึงการนิรโทษกรรม ผู้ต้องหา 18 คนในวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งผมจะกราบเรียนพี่น้องต่อไป แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นเบื้องต้นว่าการเตรียมแผนการ ในการปฏิรูปวันนั้น ได้วางแผนกันอย่างลึกซึ้ง และวางแผนกันอย่างที่ประชาชนคนไทยอ่านไม่ออก คนกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของเขาคือลูกเสือชาวบ้าน ถูกระดมมาเพื่อป้องกันราชบัลลังก์ โดยลูกเสือส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสรู้ได้ว่า ความจริงเป็นอย่างไร คนเหล่านั้นจึงเดินทางเข้ามาในกรุงเทพ มาชุมนุมกันที่หน้าพระรูปด้วยความเชื่อตามถ้อยคำวิทยุยานเกราะ

พี่น้องครับลูกเสือชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเมื่อหมดหน้าที่แล้ว เขาถูกสั่งเดินทางกลับมาหน้าทำเนียบ เขาบอกว่าคุณจะกลับเส้นทางเดิมไม่ได้ นักศึกษาดักฆ่าพวกคุณอยู่ให้เดินมาหน้าทำเนียบ พอลูกเสือเหล่านั้นเดินมาถึงหน้าทำเนียบ เขาสกัดไว้ตรงประตูบอกว่าหยุดไว้แค่นั้นเขาเสนอเงื่อนไขว่า ให้ไล่ ร.ม.ต. 3 คนออก บังเอิญ ลูกเสือชาวบ้านในกลุ่มนั้นคนหนึ่งเป็นสะใภ้ของคนจังหวัดตรังเขาบอก ไหนบอกว่าให้เขาเดินกลับทางนี้เพราะกลับทางโน้นนักศึกษาจะฆ่าเขา แล้วมาถึงก็มายื่นเงื่อนไขให้ขับ ร.ม.ต.ประชาธิปัตย์ เขาขับได้อย่างไรในเมื่อ ร.ม.ต.คนหนึ่งเป็นคนบ้านเขา (เสียงปรบมือ)

เห็นไหมครับชั้นเชิงของผู้เตรียมการปฏิรูป เขาแน่แค่ไหน เขาเตรียมยิ่งกว่านั้น ทำอย่างไรจึงจะให้คนเชื่อว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็น ร.ม.ต. ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ทำอย่างไรจะให้คนเชื่อ จะบอกเฉย ๆ ว่า นายชวน เป็นคอมมิวนิสต์ บางคนยังลังเลใจว่า เอ๊ะ....เป็นได้อย่างไร ถ้าเป็น คนจังหวัดตรังจะเลือกมาได้อย่างไร เขามีวิธีการที่เก่งซึ่งผมยอมรับ วิทยุยานเกราะบอกว่า ในประเทศไทยทุกจังหวัดมีลูกเสือชาวบ้านทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดตรัง (เสียงปรบมือ) พี่น้องที่ฟังวิทยุยานเกราะวันนั้นคงจะจำได้ เหตุที่จังหวัดตรังไม่มีลูกเสือชาวบ้าน เพราะผู้แทนฯ ของจังหวัดนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ คือผม คนหลายคนลังเลใจแม้กระทั่งคนในจังหวัดตรังที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ นับประสาอะไรกับคนในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่เคยไปจังหวัดตรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกเสือชาวบ้าน ในกรุงเทพฯ เชื่อ.....เชื่อว่าจังหวัดตรังไม่มีลูกเสือชาวบ้าน แล้วก็เชื่อว่าเหตุที่ไม่มีเพราะผู้แทนจังหวัดนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ คนเหล่านั้นจึงได้ร่วมมือกับวิทยุยานเกราะ เดินขบวนออกมาขับไล่ ร.ม.ต. ของพรรคประชาธิปัตย์ ขับไล่ผมด้วย

นี่ครับ วิธีการของวิทยุยานเกราะ วิธีการของกลุ่มซึ่งเป็นเครื่องมือของคณะปฏิรูป และพี่น้องครับเขายังมีขั้นตอนที่ฉลาดยิ่งกว่านั้น เขาไปถามอาจารย์เสนีย์ว่าท่านจะขับรัฐมนตรี 3 คน ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ออกไปได้ไหม หนึ่ง นายดำรง สอง นายสุรินทร์ สาม นายชวน อาจารย์เสนีย์บอกว่าผมจะขับเขาไปได้อย่างไรเขาก็เป็นผู้แทน พรรคเลือกเขามาเป็นรัฐมนตรี กลุ่มคนพวกนั้นบอกว่าคนเหล่านี้เป็นคอมมิวนิสต์ อาจารย์เสนีย์ถามว่าเขา เป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร เขาอยู่กับผมมาตั้งแต่ปี 2512 ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ผมต้องรู้ก่อนคนอื่น ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าผมรู้ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์... ถ้าเขาเป็นคอมมิวนิสต์จริงผมต้องรู้ก่อนคนอื่น เขาเอาเทปอันนี้แหละครับที่อาจารย์เสนีย์พูดไปตัดข้อความ เขาคิดถ้อยคำว่าอย่างนี้ครับ " เขาอยู่กับผมมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่ปี 2512 ผมไม่ทราบว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ " เขาตัดคำว่าถ้าเขาเป็นคอมมิวนิสต์จริงผมต้องรู้ก่อนคนอื่น ตัดข้อความนี้ออกไปและเขาเติมข้อความว่า ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ กว่าจะรู้สายเสียแล้ว (เสียงปรบมือ)

นี่ครับวิธีการของเขา มันยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า การเตรียมแผนในวันนั้นเพื่อให้เกิดความสับสน กลุ่มแม่บ้านมีหลายท่านได้ไปเรียกร้องท่านนายกในวันที่ 6 ตุลาคม ขอให้ขับ ร.ม.ต. ด้วยเหตุผลอันเดียวกันบอกว่า ร.ม.ต. เหล่านี้เป็นคอมมิวนิสต์ กลุ่มแม่บ้านยังเก่งยิ่งกว่านั้น รู้กระทั่งว่าผมไปรับเงิน เค.จี.บี. ที่โรงแรมรอแยล แล้วเขารู้มากกว่านั้นว่า......ผมไปรับเงินที่ห้อง 207 โรงแรมรอแยล พี่น้องครับ ผมไม่ทราบว่าห้อง 207 มันอยู่ชั้นไหน เพราะผมไม่เคยไปอยู่ที่นั่นแต่ผมเข้าใจว่าคนที่กล่าวหาคงจะไปนอนกับพวก เค.จี.บี. กันมา (เสียงปรบมือ) เขาจึงได้รู้ลึกซึ้งว่าห้อง 207 อยู่ตรงไหน เค.จี.บี. อยู่ห้องไหน คนเหล่านี้บางคนสำนึกผิด และก็มาพูดกับผมในภายหลัง เช่นเดียวกับข้อความในหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ลงข้อความในขณะนั้นซึ่งผมได้ ฟ้องหมิ่นประมาทไป

แม้กระทั่งข้อความที่ท่าน อ.เสนีย์พูดว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินราชการลับ 800,000 บาทจ่ายให้กับศูนย์นิสิต เพื่อก่อเหตุวุ่นวายทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อผมฟ้องหนังสือพิมพ์แล้ว เขาก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นว่า ข้อความที่ลงไปนั้นเป็นเท็จทั้งสิ้น แต่เขาต้องการลงเพราะเหตุว่ากลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาขอให้เขาลง น.ส.พ.บางฉบับมีความเป็นนักเลงยิ่งกว่านั้น บรรณาธิการที่ผมฟ้องเขาได้ยอมรับอย่างหน้าชื่นว่าคนของเขาที่เขียนลงไปนั้น รับเงินสี่หมื่นบาทและไปรับจากใครเขาบอกหมด ใครเป็นคนไปรับและรับครั้งแรกกี่หมื่น เขาบอกหมด และคำแถลงรับสารภาพของเขา ปรากฏอยู่ที่ศาลแขวงพระนครเหนือเวลานี้ ซึ่งคนที่มีความเป็นนักเลงอย่างนี้ผมก็ยินดีจับมือด้วยว่าเขาบอกความจริง รวมทั้ง น.ส.พ.ฉบับหนึ่ง ซึ่งบอกว่า " ชวน โผล่ที่เวียงจันทน์สวามิภักดิ์ลาวแดง " ผมนอนอ่านหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ ครับ ผมถามเขาต่อมาในภายหลัง เขาบอกว่า ข่าวนี้หน่วยสืบราชการลับทหารให้เขาลงเพื่อผลในการทำลายนักการเมือง เขายอมรับกับผมอย่างหน้าชื่น เขาเองเขาไม่มีโอกาสจะทราบ เขาบอกแต่หน่วยราชการลับให้เขาลงอย่างนี้ ว่าเขาเห็นตัวผมที่โรงแรมล้านช้าง

นี่ครับ กระผมคิดว่าข้อเท็จจริงทั้งหลายในวันที่ 6 ตุลาคมนั้นไม่ได้ยุติเพียงเท่านี้ การเตรียมการล่วงหน้าในวันที่ 6 ตุลาคมนั้น ได้ก่อเหตุสยองขวัญอย่างชนิดที่เรียกว่า ชีวิตเราไม่เคย เห็นความโหด***มทารุณที่ไหนเป็นอย่างนั้น คนเป็น ๆ เขานำมาราดน้ำมัน เอายางรถยนต์ทับแล้วก็เผา ศพดิ้นก่อนจะตายนั้นกระดิกอยู่ในกองไฟ พี่น้องครับถ้าคนเหล่านั้นเป็นญาติพี่น้องของท่าน ท่านรู้สึกอย่างไร และคนที่เผานั้นก็คือคนไทย ผมไม่ทราบว่ากฎแห่งกรรมมันมีจริงหรือไม่ แต่ถ้ามันจริง ผมเชื่อว่าความโหด***มทารุณนั้นจะต้องสนองตอบผู้กระทำในวันนั้น (เสียงปรบมือ) และความเคียดแค้นอันนี้ได้กระจายไปสู่นักศึกษาที่เห็นข้อเท็จจริง ผมไม่แปลกใจเลยที่หลัง 6 ตุลาจะมีปรากฎการณ์ที่เราไม่นึกว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

พี่น้องครับ พี่น้องอยู่ไกลจากบ้านนอกพี่น้องไม่เคยเห็นทิวเขาบรรทัด พี่น้องไม่เคยไปภูพาน พี่น้องไม่เคยสัมผัสลมเย็น ๆ จากป่าของทิวเขาเหล่านั้น พี่น้องไม่มีโอกาสจะรู้ว่า บัดนี้บ้านนอกได้รับผลจาก 6 ตุลาคมอย่างไร ไม่เคยมีครั้งใดที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จะได้กำลังอันมหาศาล ทั้งสมอง ทั้งกำลังคนอย่างมากมาย เหมือนอย่างเหตุการณ์หลัง 6 ตุลาคม ในขณะที่รัฐบาล ประณามว่านักศึกษาเหล่านั้นหลงผิดไปเลื่อมใสลัทธิคอมมิวนิสต์ ผมไม่ได้แก้ตัวให้คนเหล่านั้น แต่ถ้าผมอายุยี่สิบ ผมอาจจะไม่มีทางเลือกดีกว่านี้

เหตุการณ์ที่มันประทับตาประทับใจที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม ใครทนได้ ความ***มโหดของทหาร ตำรวจ ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ในวันนั้นใครลืมได้ คนเหล่านี้ตกเป็นเครื่องมือของผู้วางแผนปฏิรูปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยความเชื่อว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์วันนั้น คือ คอมมิวนิสต์

ท่านจำได้ไหมหลัง 6 ตุลาคม นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งได้มาออกรายการโทรทัศน์ แล้วบอกว่า คนในธรรมศาสตร์ที่จับได้นั้นพูดไทยไม่ได้ (เสียงปรบมือ) เป็นความจริงว่าคนเหล่านั้นบางคนบางกลุ่มพูดไทยไม่ได้ เพราะถูกซ้อมจนไม่สามารถพูดได้อีกแล้ว (เสียงปรบมือ) และพี่น้องครับ นายตำรวจนั้นยังยืนยันว่าได้เห็นรูปโฮจิมินห์ มีธงจีนคอมมิวนิสต์ มีอะไรมากมาย รวมทั้งอาวุธในสงคราม ซึ่งต่อมาได้นำปืนที่จับได้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงที่วังสราญรมย์ กระบอกหนึ่งที่เขานำมาแสดงนั้น เป็นปืนเมาเซอร์ พี่น้องครับคงไม่ทราบ ถ้าผมไม่เรียนให้พี่น้องทั้งหลายทราบว่า ปืนกระบอกนั้นเป็นปืนของท่านศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย (เสียงปรบมือ) ท่านเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยในฐานะนักเลงสะสมปืนเก่า และเขาบอกว่านี่คือปืนที่ใช้ในสงคราม ซึ่งนักศึกษาเอาไว้ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ

คนเป็นจำนวนมากทั่วประเทศยังหลงผิดยังเชื่อในสิ่งผิด ๆ ยังประณามนักศึกษา ผมไม่ปฏิเสธว่าเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคมนั้น ฐานะของนักศึกษาเราตกต่ำ แต่เราพูดเสมอว่านักศึกษาจะทำอะไรเกินเลยเถิดไปก็ตาม คนเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ข้อสำคัญที่สุด เราอย่าตกหลุมพรางของศัตรู อย่าทำอะไรรุนแรง คนเหล่านี้อย่าผลักดันให้เขาเข้าป่า ถ้าเราทำอะไรรุนแรง คนเหล่านี้จะไม่มีทางเลือกและเมื่อไหร่คนเหล่านี้เข้าป่า เขาคือมันสมองของพวกป่า ยอมรับกันไหมว่า คนที่เข้าไปในป่าเหล่านั้น คือ มันสมองที่สำคัญของชาติ (เสียงปรบมือ) บางคนเป็นนักเรียนแพทย์ บางคนจบพยาบาล บางคนวิศวะ บางคนสอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทย คนเหล่านี้คือกำลังที่มหาศาลที่สุดของประเทศในอนาคต ถ้าเราไม่รีบร้อนผลักดันให้เขาเข้าไปในป่า คิดถึงอกเขาอกเรา

พี่น้องที่เคารพ ท่านที่อยู่ในที่นี้รวมทั้งผมด้วย เราทุกคนเป็นซ้ายเป็นขวาได้ทั้งนั้น ถ้าเมื่อไหร่เราถูกบีบจนไม่มีจุดที่จะยืน (เสียงปรบมือ) ผมไม่ลืมหลัง 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มคนบางกลุ่มขึ้นมาประณาม ใครต่อใครว่าไอ้นี่เป้นกากเดนทรราช ไอ้นี่ศักดินา ไอ้นี่เต่าล้านปี พรรคประชาธิปัตย์เองถูกประณาม ว่าเป็นพวกเต่าล้านปี เป็นพวกขวา เพราะหัวหน้าเป็น ม.ร.ว. ผมไปสืบ เราสูญเสียคนที่มีอยู่ตรงกลางไปเป็นจำนวนมาก เพราะความไม่เข้าใจ รีบร้อนประณาม ผลักดันคนให้เป็นซ้ายขวา เช่นเดียวกับหลัง 6 ตุลาคม ใครที่คิดไม่เหมือนรัฐบาล ใครที่พูดไม่เหมือนกับอาจารย์ธานินทร์ คนพวกนั้นเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ (เสียงปรบมือ) และเขาก็ได้สัมฤทธิ์ผลตามที่ต้องการ คือคนเหล่านั้นไม่มีจุดที่จะยืน เขาจะยืนตรงไหน ตรงไหนก็ได้ที่มีที่ว่าง ที่ไหนละครับที่จะว่างมากกว่าที่ในป่า (เสียงปรบมือ) สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เรามองไม่เห็น เราคาดคิดมาก่อน

ผมกราบเรียนพี่น้องได้ว่าในห้องประชุม ค.ร.ม. ในสมัยที่เราเป็นรัฐบาลก็พูดกัน ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งบอกว่าอย่าไปรับไอ้พวกผู้แทนศูนย์นิสิตนักศึกษา ไล่มันออกไปอย่าให้มันกินน้ำ เราบอกว่า เขาเป็นคนไทยกลุ่มหนึ่ง เขามาเรียกร้อง รัฐบาลไม่มีความจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามที่เขาเรียกร้อง แต่เมื่อเขาเสนอมาเรารับ และบอกว่ารัฐบาลปรารถนา ถ้าทำไมได้เราจะไม่รุนแรงกับคนเหล่านี้ พี่น้องครับ การพูดให้ความเห็นใจ การชี้แจงเหตุผลอย่างนี้ เขาหาว่าผมไม่ด่านักศึกษา พวกผมเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกเดียวกับนักศึกษา (เสียงปรบมือ) และผลจากการที่ทำรุนแรง อะไรเกิดขึ้น ผมจะไม่พูดหรอกว่าอนาคตกี่ปีข้างหน้าผู้ก่อการร้ายในป่าจะมีกำลังมากแค่ไหน แต่ผมอยากจะหยิบตัวอย่างให้พี่น้องได้เห็นว่าความรู้สึกของคนไทยแม้แต่ที่ อยู่ในสหรัฐอเมริกาเวลานี้ ก่อนที่นายกเกรียงศักดิ์จะพาครอบครัวไป (เสียงปรบมือ) ไปทำงานช่วยชาติ ก่อนที่ท่านจะไปสหรัฐอเมริกา คนไทยในสหรัฐอเมริกาได้มีการสอบความเห็นว่า รัฐบาลจะชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือไม่ พี่น้องครับไม่ออกเสียง 7 ไม่มีความเห็น 7 เห็นว่ารัฐบาลชนะ 3 เห็นว่ารัฐบาลแพ้ ผกค. 90 (เสียงปรบมือ)

ผมไม่พูดหรอกครับว่า ความคิดเห็นของคนไทยในสหรัฐอเมริกาจะถูกหรือผิด เพราะเวลานี้ก็ได้มีนายพลในกองทัพบกก็ได้พูดไปแล้วว่า คนไทยเหล่านั้นอยู่ไกลเหตุการณ์เกินไป เขาไม่รู้ข้อเท็จจริง สิ่งที่ผมสงสัยก็คือว่า ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองนี้ที่อยู่ในเหตุการณ์แน่ใจหรือว่าเขารู้ข้อเท็จจริง (เสียงปรบมือ) คนเหล่านี้มองเห็นปัญหาบ้านเมืองลึกไม่มากไปกว่าหลุมกอล์ฟหลุมที่ 19 (เสียง ปรบมือ)

พี่น้องที่เคารพครับ ทำไมผมพูดอย่างนี้ ผมอาจจะได้เปรียบที่เป็นคนบ้านนอกและผมได้มาอยู่ที่กรุงเทพด้วย ผมรุ้ว่าในขณะนี้อันตรายจาก ผกค. นั้นคืบคลานใกล้เข้ามาขนาดไหน ผมไม่ได้พูดจากรายงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ผมไม่ได้ดูจากรายงานของ กอ.รมน. ในจังหวัด แต่ผมพูดจากความจริงที่สองตาของผมได้เห็น ผมรู้ว่ามันคืบคลานเข้ามาตีครั้งไรเจ้าหน้าที่เราตาย 14 ตาย 5 ตาย 6 แต่ผู้รับผิดชอบในกรุงเทพบอกว่ามันเฮือกสุดท้ายของ ผกค. (ฮา) ทำไมมันหลายเฮือกนัก แต่ละเฮือกเราได้สูญเสียเจ้าหน้าที่ของเราไปอย่างน่าเสียดายที่สุด คนเหล่านี้ครั้งหลังสุดที่จังหวัดผม นายอำเภอ สารวัตร ปลัด ผู้กอง 6 ศพถูกกับระเบิด หลังจากปีที่แล้ว ผกค. ซึ่งเป็นหนุ่ม ๆ สาว ๆ ทั้งนั้น เดินในถนนเพชรเกษมอย่างลอยนวลไชโยโห่ร้องด้วยชัยชนะ

พี่น้องครับคนที่ตาย 6 คนนั้นถูกแก้แค้นจากความเจ็บปวด ในวันที่ 6 ตุลาคม (เสียงปรบมือ) ทั้งที่ความจริง 6 ศพ 6 ชีวิตเหล่านั้น ไม่ได้มีส่วนในการเข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ในธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พี่น้องที่เคารพครับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในจังหวัดผม แต่มันมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งเป็นอันตรายที่พวกผมมองเห็น และพวกผมวิตก เราจึงได้พยายามตั้งแต่ในขณะนั้นที่จะไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เราพยายามที่จะอะลุ่มอะล่วยกัยคนไทยด้วยกัน เราไม่พยายามที่จะผลักดันคนไทยด้วยกันให้เข้าไปอยู่ในป่าเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของเรา คนในป่ากับคนในเมืองในขณะนี้ คือคนที่เป็นญาติพี่น้องของเราด้วยกันทั้งนั้น เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองต้องทำหน้าที่ในฐานะเขาเป็นข้าราชการ ลูกเมียเขาคิดอย่างไรที่สามีเขาต้องสูญเสียชีวิต และพี่น้องครับ ลูกหลานคนไทยของเรากลุ่มหนึ่งที่ทนความเจ็บแค้นไม่ได้ต้องเข้าไปอยู่ในป่า พ่อแม่จะไม่ห่วงคนเหล่านี้หรือ

นี่คือปัญหาและเป็นปัญหาที่ผมกราบเรียนท่านทั้งหลายว่าผมวิตกแม้ว่าจะมี การเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม บางครั้งจึงได้มีความรู้สึกที่ประชดประชันไปว่า อยากจะให้คนที่ก่อปัญหาได้แก้ปัญหาที่ก่อปัญหาขึ้นมา ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และอาจจะต้องพูดกับท่านนานพอสมควร แต่ว่าเรายังมีโอกาสที่จะพูดกับท่านอีกมาก

พี่น้องที่เคารพครับ วันนี้ไม่ใช่เป็นวันแถลงนโยบาย เราเพียงแต่เริ่มต้นในการหาเสียงปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้คือวันหาเสียงวัน หนึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม วันนี้ หลายคนคิดว่า ปชป. นั้นจบสิ้นกันแล้ว หลายคนจึงได้พร้อมจะเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่พี่น้องครับพวกผมหลายคนเราเชื่อ เราเชื่อ พลังประชาชน คนบางคนอาจจะเชื่อดวง แต่ผมเชื่อ ดวงอาทิตย์ ผมรู้ว่าวันที่ 6 ตุลา มันต้องมี 7 ตุลา ผมรู้ว่าพรุ่งนี้พระอาทิตย์จะขึ้น 2 ปี กับ 4 เดือนเศษ มันอาจจะไม่เร็วเกินไป และมันอาจะไม่นานพอที่จะทำให้พี่น้องลืมอะไรไปได้ ถึงแม้ระยะเวลาจะผ่านไปพอสมควร ทำให้หลายคนคลี่คลายความตึงเครียดไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่ามันไม่นานที่จะทำให้ท่านลืมอะไรไป เรายังเชื่อศรัทธา

พี่น้องทั้งหลาย ผมมาจากประชาชน ถ้าคนไม่เลือกผม ผมไม่มีทางที่จะมายืนปราศรัยกับพี่น้องอย่างนี้ได้ ถ้าคนจังหวัดตรังไม่เคยเมตตาผม ผมไม่มีวันที่จะมีโอกาสที่จะมาเป็นผู้แทนของเขา ผมจะมีโอกาสเป็น ร.ม.ต. หรือเป็นอะไรก็ตาม ก็ด้วยพลังประชาชนเหมือนผมเท่านั้น คนอย่างผมไม่มีปัญญาที่จะหยิบยกอะไรขึ้นมาปฏิวัติ (เสียงปรบมือ) เราเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เราต้องวิงวอนพี่น้อง เพราะถือว่าท่านทั้งหลายคือส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคของคนภาคใดภาคหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นพรรคที่พี่น้องมีส่วน มิฉะนั้นมันจะไม่ยืนหยัดมาได้ถึง 30 กว่าปี วันนี้ ความเชื่อมั่นในพลังประชาชนนั้นผมคิดว่า มันเป็นความศรัทธาอันหนึ่งที่ผมมีต่อท่านทั้งหลาย ผมเชื่อว่ามันต้องมี 7 ตุลา 8 ตุลา มันต้องมี 2519 มี 2520 แล้ว 21 แล้วต้องมีวันนี้ วันซึ่งเรามีโอกาสได้ทำความเข้าใจได้ชี้แจงให้ประชาชนส่วนหนึ่งได้ทราบว่า อะไรเป็นอะไร และคนเหล่านี้จะได้พูดต่อไป ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่นั้นเป็นคนบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อเขาได้รู้ว่าข้อมูลเป็นอย่างไร เหมือนกับที่ผมเชื่อว่า ลูกเสือ ชาวบ้านซึ่งตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มหนึ่งไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั้น เมื่อเขาได้รู้ข้อเท็จจริงเขาต้องรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด และเขาก็คงจะให้การสนับสนุนคนที่ถูก เราไม่เคยสิ้นหวัง ประชาชนยังให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเราอยู่

พี่น้องที่เคารพครับ ถ้ามันมีการเลือกตั้งในวันที่ 22 เมษายน 2522 ถ้ามันมีจริง ๆ ก็เปิดโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่ท่านจะได้ใช้สิทธิ์ อย่าตั้งความหวังเกินไปนัก เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มออกมาให้เห็น ๆ อยู่พอสมควร รัฐธรรมนูญฉบับนี้เจตนารมณ์ที่เขียนมาก็เพื่อที่จะสนองคำมั่นสัญญาที่ทำให้ ประชาชน แต่ในดวงใจที่แท้จริงนั้นเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะให้อะไรเราหรอก (เสียงปรบมือ) เขายังไม่พร้อมหรอกครับที่จะสละอำนาจอะไรต่าง ๆ ออกไป แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นหน้าที่ของคนที่ท่านทั้งหลายเลือกเข้าไปที่จะต้องไป ปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

ผมอยากจะเรียนท่านทั้งหลายว่าที่ผมไม่อยากให้ท่านตั้งความหวังไว้มากมาย นั้นก็เพราะเหตุว่า อนาคตในทางการเมืองข้างหน้านั้นมันไม่ได้แจ่มใสนักหรอกครับ เราไม่แน่ใจนักหรอกว่า การนำความจริงมาพูดกันนั้นจะทำให้ผู้เสียผลประโยชน์เจ็บร้อนหรือไม่ เพียงแต่ได้ข่าวว่าประชาธิปัตย์จะมาปราศรัย ท่านก็เห็นอยู่แล้วว่า คนกลุ่มหนึ่งซึ่งกลัวเราจะพูดความจริง เหมือนวันสันหลังหวะที่กลัวอีกา กลัวแมลงวัน (เสียงปรบมือ) คนเหล่านั้นเริ่มออกโรง คนอีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามที่จะทำอะไรที่ก่อกวนการปราศรัย คนเหล่านั้นไม่กล้าที่จะรับความจริง แต่บ้านเมืองอยู่ได้หรือไม่ ถ้าเราอยู่กันด้วยการโกหก (เสียงปรบมือ) อาจจะอยู่ได้ในระยะหนึ่ง ระยะสั้น ๆ แต่ในระยะไกลนั้น เราจะอยู่ได้ต้องอยู่กันด้วยความจริง คนไทยสี่สิบกว่าล้านคนไม่ใช่คนเพียงหยิบมือเดียว ในกรุงเทพฯ การเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของคนบางกลุ่มที่เป็นเศรษฐีมีเงินทองมาก ๆ คนที่มีตำแหน่งมาก ๆ เขาอาจจะไม่พอใจ เขาอาจจะเห็นการเลือกตั้งคือความวุ่นวาย ความยุ่งยาก

แต่พี่น้องครับ ถ้าเรารักที่จะให้บ้านเมืองอยู่รอด เรารักที่จะให้สถาบันอยู่รอด เราอยากจะให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อยู่รอด ท่านจะต้องสร้างฐานที่มั่นคง ฐานอะไรเล่าที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าฐานประชาชน (เสียงปรบมือ) ถ้ามีฐานไม่มั่นคง ยอดไม่มีวันที่จะอยู่ได้และยอดต้องพังถ้าไม่มีฐาน เราไม่เคยลืมเราเป็นหนี้บุญคุณประชาชน เราสำนึกตลอดเวลาว่าประชาธิปัตย์ชนะมาทุกครั้ง เพราะประชาชนเข้าใจเรา พี่น้องครับ เราไม่ได้ทำถูกทุกครั้ง หลายครั้งเราผิด เราทำให้ประชาชนที่หนุนเราเสียใจ ไม่มีอะไรไปกว่าขออภัย สิ่งเหล่านั้นทุกอย่างมันจะเป็นบทเรียน บทเรียนที่สอนเราเจ็บแล้ว เราจำ และผมขอรับรองว่าผมคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเป็นผู้บริหารพรรค คนอย่างผมถ้าจะต้องเอาเงินมาซื้อตำแหน่งในพรรคก็คงไม่มีทาง แต่ว่าผมก็ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมพรรคให้มีบทบาทในพรรคนี้ ผมกับเพื่อน ๆ จะนำพรรคไปได้แค่ไหนนั้นอยู่กับประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ผมมั่นใจว่าพี่น้องชาวกรุงเทพฯ จะไม่ทิ้งเรา เพื่อนยากนั้นเรารู้ใจกันในยากตกยาก หลายคนออกไปเมื่อเราไม่มีตำแหน่ง ร.ม.ต. ให้เขา คนเหล่านั้นไม่ไปลับหรอกครับ เมื่อไรเรามีตำแหน่ง ร.ม.ต. คนเหล่านั้นก็คงกลับมาอีก (เสียงปรบมือ)

แต่เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องวินิจฉัยคนเหล่านั้น คนบางคนนั้นเติบโตขึ้นมาในวิถีทางการเมืองก็ได้ใช้ชื่อประชาธิปัตย์แขวนคอ (เสียงปรบมือ) พี่น้องในกรุงเทพฯ นั้นเลือกเป็นพรรคจนกระทั่งมีคนสบประมาทว่าส่งใครเข้ามาก็ได้ ที่เป็นประชาธิปัตย์แล้วต้องได้ คนหลายคนที่ไม่มีใครเคยรู้จักเมื่อมีโอกาสเข้ามาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ได้ รับการเลือกตั้งให้มีตำแหน่ง คนเหล่านั้นเมื่อเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ เขาก็ถอยออกไป พี่น้องครับ พรรคประชาธิปัตย์เสมือนพ่อเสมือนแม่ของเขาเมื่อพ่อแม่เลี้ยงให้เขาโตมีชื่อ เสียงมีฐานะขึ้นมา เขาก็ถีบเตะแม่ทิ้งไปแล้วเดินไปอย่างเชิดหน้าชูตา คนเหล่านี้จะเรียกคนอกตัญญู หรือจะเรียกว่าคนกตัญญู และคนเหล่านี้ถ้าจะเป็นเพื่อนพี่น้องทั้งหลายท่านคงเคยอ่านนิทานอี สปเรื่องหมีกับชายสองคน คนที่เมื่อหมีมาแล้วหนีขึ้นต้นไม้ทิ้งเพื่อนไป มันก็เหมือนชายในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพรรคตกต่ำคนเหล่านั้นก็ถีบตัวออกไป แล้วเขาก็คิดว่าพรรคไม่มีโอกาสฟื้นขึ้นมาอีกแล้ว คนที่ประพฤติอย่างนี้ก็เหมือนกับคนที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ เนรคุณพ่อ เนรคุณแม่ ผมคิดว่า คนกรุงเทพฯวินิจฉัยอะไรได้ โดยที่ผมไม่ต้องย้ำอะไรมากกว่านี้

พี่น้องที่เคารพครับ เรายังมีโอกาสที่ต้องพบกันอีก ผมคงจะได้มีโอกาสขึ้นมาพบกับพี่น้องในกรุงเทพอีกหลายครั้ง เพื่อขึ้นมาช่วยเพื่อน ผมคิดว่ายังมีปัญหาหลายเรื่องแม้กระทั่งปัญหาเรื่อง 6 ตุลา ที่ผมยังไม่ได้พูด รวมทั้งปัญหาการขออนุมัติฆ่านักศึกษาในห้องประชุมรัฐมนตรี ซึ่งท่านอ.เสนีย์ ได้เล่าเป็นโดยย่อ ๆ แต่มิได้สรุปโดยรายละเอียด สิ่งเหล่านี้ผมมีโอกาสที่จะได้มากราบเรียนพี่น้องอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงระยะหาเสียงเมื่อมีการสมัครแล้ว ผมฝากพรรคประชาธิปัตย์ไว้ในหัวใจท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแด่ท่านทั้งหลายครับ สวัสดีครับ (เสียงปรบมือ)

http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2_%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_6_%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2

หาเสียงซะงั้น :mrgreen:



หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Cherub Rock ที่ 16-02-2008, 15:43
บันทึกของ นายเทพชัย หย่อง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา
จาก วิกิซอร์ซ
ข้ามไปที่: นำทาง, ค้นหา

(เป็นบันทึกส่วนตัวของ นายเทพชัย หย่อง จากหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพียงไม่วัน)

" 10.00 น. วันที่ 8 ตุลาคม 2519 สองวันหลังเหตุการณ์หฤโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเชื่อว่าเช้าวันนั้นทุกคนในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นยังคงรู้สึกสลดใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครคิดว่าคนไทยจะโหดร้ายต่อกันได้มากขนาดนี้

สำหรับคนทำข่าวที่นี่ คงไม่มีเหตุการณ์ไหนที่เลวร้ายกว่านี้อีกแล้ว

พวกเขาได้เห็นการกระทำทารุณกรรม ได้ยินเสียงร้องขอชีวิต ได้เห็นใบหน้าและท่าทีที่เต็มไปด้วยความกระ***มกระหือรือของฝูงชน เห็นร่างไร้ชีวิตถูกลากไปตามสนามหญ้าของสถาบันการศึกษาที่ก่อนหน้านี้เพียง สามปีเป็นจุดกำเนิดของขบวนการประชาธิปไตย

มันน่าเศร้าตรงที่พวกเขาได้เพียงแต่ได้เห็นและได้ยิน หรืออย่างดีที่สุดก็บันทึกความโหดร้ายของวันนั้นไว้บนแผ่นฟิล์มและในสมุด โน้ตเท่านั้น

แต่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอดความโหดร้ายที่พวกเขาได้เห็นให้สังคมได้รับรู้

เพราะวันนี้เป็นวันที่สามแล้วที่หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นไม่สามารถทำการพิมพ์และจำหน่ายได้ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปภายใต้การนำ ของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน

มันเป็นครั้งแรกที่คนไทยไม่มีหนังสือพิมพ์อ่านเป็นเวลาสามวันเต็ม ๆ สื่อมวลชนไม่สามารถทำหน้าที่ในภาวะที่สังคมต้องการรับรู้ข่าวสารมากที่สุด

ทหารในนามของคณะปฏิรูปยึดอำนาจจากรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในเย็นวันเดียวกัน พร้อม ๆ กับออกคำสั่งห้ามการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

แต่คำสั่งนี้ช้าเกินไปที่จะหยุดยั้ง ดร.สรรพสิริ วิริยสิริ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9

ภาพของนักศึกษาที่ถูกรุมกระทืบจนตาย ภาพของศพที่ถูกทำทารุณกรรม ไม่ว่าจะถูกแขวนคอกับต้นไม้ ถูกจุดไฟเผา หรือถูกลากไปตามสนามหญ้า ช็อคคนไทยทั้งประเทศที่เปิดช่อง 9 เช้าวันนั้น

มันเป็นครั้งแรก ที่โทรทัศน์ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์กว่าหนังสือพิมพ์ในภาวะวิกฤติ แต่คำสั่งแบนภาพโหดร้ายเหล่านี้ตามมาทันที พร้อม ๆ กับคำสั่งปลด ดร.สรรพสิริ

เช้าวันนั้นพนักงานเกือบทุกคนที่รวมตัวกันในกองบรรณาธิการมีความรู้สึกหดหู่ใจมากกว่าสองวันที่ผ่านมา

อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าอนาคตการทำงานของพวกเขาเองจะถูกตัดสิน สุทธิชัย หยุ่นเพิ่งเดินทางกลับจากเยอรมนี พร้อมกับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสในวงการอีกหลายคนที่ได้รับเชิญไปเยือนประเทศ นั้น

ในเมืองไทยขณะนี้ คงไม่มีใครใหญ่ไปกว่าสมัคร สุนทรเวช ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สด ๆ ร้อน ๆ อนาคตของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับอยู่ในมือของนักการเมืองผู้นี้

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหนึ่งในคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาใบอนุญาตหนังสือพิมพ์ เป็นกรณีพิเศษ สมัครมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินว่าหนังสือพิมพ์ฉบับไหนจะเปิดใหม่ได้ หนังสือพิมพ์อย่างไทยรัฐ ดาวสยาม ตะวันสยาม บ้านเมือง และ Bangkok Post ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในข่ายของการเป็นหนังสือพิมพ์ที่เชื่อฟังรัฐบาล ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์และจำหน่ายได้หลังจากถูกปิดเพียงสามวัน

สมัครเป็นหนึ่งในนักการเมืองหลายคนที่แสดงความยินดีอย่างเห็นได้ชัดที่ ขบวนการนักศึกษาถูกบดขยี้ แถมยังสนุกสนานกับบทบาทของตัวเองในการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อ นักศึกษาที่ถูกเขาตราหน้าเป็น " คอมมิวนิสต์ "

และสมัครไม่ลังเลใจที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อขจัดใครก็ตามที่ถูกมองว่า เป็นศัตรู และ " ศัตรู " ที่เหลือของสมัครในขณะนั้นก็คือเหล่าหนังสือพิมพ์ " ฝ่ายซ้าย " ที่สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อดั้งเดิมว่า The Voice of The Nation ที่มีสุทธิชัย หยุ่นเป็นบรรณาธิการก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่เป็นเป้าของสมัคร

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครประหลาดใจที่สมัครไม่ยอมให้หนังสือพิมพ์อย่างเดอะ เนชั่น และหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าอย่าง ประชาชาติรายวัน ประชาธิปไตย และจตุรัส ได้ตีพิมพ์และจำหน่ายต่อไป

เช้าวันนี้ ทุกคนกำลังรอคอยการตัดสินใจของสุทธิชัย หยุ่น เขาจะสุ้ต่อไปหรือเขาจะยอมถอย การถอยย่อมหมายถึงว่าพนักงานกว่าสามร้อยคนจะต้องตกงานทันที ทุกคนรู้ดีกว่าสุทธิชัยเองก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เขาเป็นเป้าหมายของสมัครและของ " ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย " ซึ่งทำหน้าที่ตามล่าใครก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน ชื่อของสุทธิชัยถูกเอ่ยผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุทหารพร้อมกับชื่อของนัก วิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความคิดเอียงซ้าย ทุกคนรู้ดีว่ามันมีความหมายอย่างไร มันเป็นสัญญาณเตือนว่าคนกลุ่มนี้อาจจะถูกจับเมื่อไหร่ก็ได้ และเป็นไฟเขียวให้กับใครก็ได้ที่คิดว่าตัวเองรักชาติ " จัดการ " กับคนเหล่านี้

สุทธิชัยประกาศกับพนักงานว่าสมัครไม่ยอมให้เดอะ เนชั่นตีพิมพ์และจำหน่ายอีกต่อไป แต่เขาขอให้พนักงานมีความหวัง เพราะเขาและหม่อมราชวงศ์สุนิดา บุญรัตพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์อีกคนหนึ่งกำลังหาทางไม่ให้พนักงานต้องตกงาน แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าทางออกนั้นคืออะไร... "

http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2_%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_6_%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2

อันนี้เกี่ยวกะทั่นนาโย้กแน่ๆ :twisted:




หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 16-02-2008, 15:54
คิดว่าคุณเข้าใจอะไรผิดมากค่ะ  บทความที่คุณนำมาโพสเอง ในส่วนที่คุณพยายามหมายความถึง ก็ชี้ชัดว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณพยายามพาดพิงค่ะ

อีกทั้งผู้ที่เขียนบทความในส่วนนั้น ก็ได้ชื่อว่า พยายาม ดึงฟ้าต่ำ มาตลอด แต่กระนั้น ข้อมูลจริงๆก็บ่งชี้ว่า ที่คุณพยายามพาดพิงถึง ไม่ได้เกี่ยวข้องจริงๆ

เหตุดำเนินมาจนจะสุกงอมแล้ว ถึงได้มีคนวิ่งเข้าไป

และก็ไม่ได้อะไรออกมา นอกจาก ตักเตือน

 :slime_v:

ตักเตือนผมไม่ทราบว่ามีมั้ย
แต่ที่เห็นอยู่คือการ ไปงานศพของลูกเสือชาวบ้านที่เสียชีวิต1คน(คนตายเป็นร้อย)

อ้างอิง อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กรณีที่ 1
ผมขอเสนอให้คุณ Rivers กราบบังคมทูลขอพระราชทานสัมภาษณ์ จาก สมเด็จพระเทพฯ ครับ

ว่า ที่หลังเหตุการณ์ไม่กี่วัน ท่านไปร่วมงานศพของลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลา และตายในเหตุการณ์นั้น และท่านได้ทรง "กล่าวสดุดีเกียรติคุณ" ลูกเสือชาวบ้านผู้ตายว่า

“การปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ [เป็นไปตาม] คำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ปฏิญาณไว้กับลูกเสือชาวบ้าน สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสือชาวบ้านต่อไปในด้านมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

ผมขอเสนอให้คุณ Rivers กราบบังคมทูลถามท่านว่า ปัจจุบันท่านจะยังยืนยัน พระราชดำรัสดังกล่าวหรือไม่ ว่า การกระทำของผู้ที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ในเช้านั้น เป็น "การปฏิบัติหน้าที่" ที่ "สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่าง..." และ เหตุใดท่านจึงมีพระราชดำรัสเช่นนั้น เพียงไม่กี่วันหลังเกิดเหตุการณ์นั้น? และในทางกลับกัน เหตุใดท่านจึงมิได้ทรงกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์?
http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=5943 (http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=5943)

นั่นแค่เหตุผลอันเดียว

อยากจะถามว่า ธานิน กรัยวิเชียร เป็นใคร??

อีกอย่างดึงฟ้าลงมาต่ำ นะพวกทักษิณ แป๊ะลิ้ม โน่นนนนน การวิพากษ์ ไม่ถือว่าเป็นการดึงฟ้าลงมาต่ำแต่อย่างใด


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 16-02-2008, 16:23
ผมยังไม่เคยเห็นบทความของนายสมศักดิ์ เขียนในเชิงวิจารณ์ทางลบกับทักษิณ
ส่วนใหญ่ เห็นแต่บทความของนายสมศักดิ์ที่ปกป้องทักษิณ

การที่นายสมศักดิ์บังอาจโยงหลังเหตุการณ์ ๖ ต.ค. แต่งตั้งนาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ทำนองว่า มีเบื้องหลัง !!!

ถ้าเป็นจริงแบบที่นายสมศักดิ์บังอาจกล่าวหาใส่ความ นายสมศักดิ์จะตอบได้ไหม ว่า ..

การที่พลเรือเอกสงัดกล้าทำการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ มิกลัวคอขาดหรือ  :slime_doubt:

...


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Cherub Rock ที่ 16-02-2008, 16:23
ตักเตือนผมไม่ทราบว่ามีมั้ย
แต่ที่เห็นอยู่คือการ ไปงานศพของลูกเสือชาวบ้านที่เสียชีวิต1คน(คนตายเป็นร้อย)

อ้างอิง อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กรณีที่ 1
ผมขอเสนอให้คุณ Rivers กราบบังคมทูลขอพระราชทานสัมภาษณ์ จาก สมเด็จพระเทพฯ ครับ

ว่า ที่หลังเหตุการณ์ไม่กี่วัน ท่านไปร่วมงานศพของลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลา และตายในเหตุการณ์นั้น และท่านได้ทรง "กล่าวสดุดีเกียรติคุณ" ลูกเสือชาวบ้านผู้ตายว่า

“การปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ [เป็นไปตาม] คำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ปฏิญาณไว้กับลูกเสือชาวบ้าน สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสือชาวบ้านต่อไปในด้านมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

ผมขอเสนอให้คุณ Rivers กราบบังคมทูลถามท่านว่า ปัจจุบันท่านจะยังยืนยัน พระราชดำรัสดังกล่าวหรือไม่ ว่า การกระทำของผู้ที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ในเช้านั้น เป็น "การปฏิบัติหน้าที่" ที่ "สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่าง..." และ เหตุใดท่านจึงมีพระราชดำรัสเช่นนั้น เพียงไม่กี่วันหลังเกิดเหตุการณ์นั้น? และในทางกลับกัน เหตุใดท่านจึงมิได้ทรงกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์?
http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=5943 (http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=5943)

นั่นแค่เหตุผลอันเดียว

อยากจะถามว่า ธานิน กรัยวิเชียร เป็นใคร??

อีกอย่างดึงฟ้าลงมาต่ำ นะพวกทักษิณ แป๊ะลิ้ม โน่นนนนน การวิพากษ์ ไม่ถือว่าเป็นการดึงฟ้าลงมาต่ำแต่อย่างใด

ไอเดียที่เอาสมเด็จพระเทพมาเปรียบเทียบกับสมัครนี่มันเรียกว่าทั้งดึงทั้งยื้อกันสุดๆ แล้วครับ
(ที่จริงมีคำอื่นแต่ไม่ค่อยเหมาะ)

ถ้าเหตุผลไม่กี่บรรทัดของสมศักดิ์สรุปได้ว่าใครเป็นเบื้องหลังในเหตุการณ์ คงต้องเชิญสมศักดิ์มาเป็นนายก(หรือว่า ปธน)แล้วละมั้ง :lol:





หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 16-02-2008, 16:34
คนที่เกิดไม่ทัน น่าจะไปถามนายสมศักดิ์ และนายสุธรรม ว่า ..

"มีใครเป็นใส้ศึก ร่วมมือกับคนที่เขียนบท "ปิดประตูดีแมว"

เพราะการชุมนุม เดิมอยู่ที่สนามหลวง .. แต่มีคนพาผู้ชุมนุมเข้าธรรมศาสตร์(ไปตาย) โดยอ้างว่า

"ในธรรมศาสตร์ มีที่หลบฝน"

 :slime_hmm:


ถ้าดูในแง่ทฤษฎีสมคบคิด Conspiracy Theory

คนเขียนบท จึงจะปล่อยให้นายสมศักดิ์ และนายสุธรรม มีชีวิตรอดมาได้ถึงวันนี้

 :slime_cool:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 16-02-2008, 16:41
ผมยังไม่เคยเห็นบทความของนายสมศักดิ์ เขียนในเชิงวิจารณ์ทางลบกับทักษิณ
ส่วนใหญ่ เห็นแต่บทความของนายสมศักดิ์ที่ปกป้องทักษิณ

การที่นายสมศักดิ์บังอาจโยงหลังเหตุการณ์ ๖ ต.ค. แต่งตั้งนาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ทำนองว่า มีเบื้องหลัง !!!

ถ้าเป็นจริงแบบที่นายสมศักดิ์บังอาจกล่าวหาใส่ความ นายสมศักดิ์จะตอบได้ไหม ว่า ..

การที่พลเรือเอกสงัดกล้าทำการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ มิกลัวคอขาดหรือ  :slime_doubt:

...
ผมยังไม่เห็นว่า นายธานินทร์ มีคุณสมบัติอันใดเหมาะแก่การเป็น องคมนตรี

ไม่ว่าการเป็นประธานศาลฎีกา ในสมัยขวาซ้าย และนายกรัฐมนตรี ในสมัยขวาพิฆาตซ้าย

นอกจากนั้นในสมัยนั้น ยังเป็น ครม ที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

หรืออาจจะเพราะ ระบบ บราเดอร์กัน


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 16-02-2008, 16:46
ผมยังไม่เห็นว่า นายธานินทร์ มีคุณสมบัติอันใดเหมาะแก่การเป็น องคมนตรี

ไม่ว่าการเป็นประธานศาลฎีกา ในสมัยขวาซ้าย และนายกรัฐมนตรี ในสมัยขวาพิฆาตซ้าย



คนที่พยายามโยงเรื่ององคมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายก

คงจะลืมนึกไปว่า "ศ.จ. สัญญา ธรรมศักดิ์" ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกหลังเหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. ๑๖

ตกลงว่า่ เหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. ๑๖ เป็นแผนการของ ... หรืออย่างไร !!!   :slime_doubt:


และตรรกะ "การที่พลเรือเอกสงัดกล้าทำการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ มิกลัวคอขาดหรือ"

มีใครตอบได้ไหม ... หรือถ้าตอบไม่ได้ ก็น่าจะไปถามนายสมศักดิ์ ดูว่า "เขาจะตอบอย่างไร"
...


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Nai_puan ที่ 16-02-2008, 16:50
บทความ ดร.สมศักดิ์ ไม่น่าเชื่อถือ?

แล้วบทความในวิกิพิเดียอันนี้ พอเชื่อถือได้บ้างไหม?

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%A5

กลุ่มนวพล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปที่: ป้ายบอกทาง, ค้นหา
กลุ่มนวพลเป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่มีส่วนอย่างมากในปราบปรามและสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา[1] เมื่อ พ.ศ. 2519

กลุ่มนวพลก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่น พล.อ. วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร และ พล.อ. สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. เป็นต้น พล.อ.วัลลภ ได้อธิบายเหตุผลในการก่อตั้งกลุ่มว่า ชาติจะอยู่รอดได้ด้วยสถาบันวัดกับวัง จึงต้องระดมประชาชนเพื่อป้องกันสองสถาบันหลักนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายหนึ่งของชื่อกลุ่มนวพล คือที่หมายความว่า “พลังเก้า” (หมายถึงพลังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 – รัชกาลในสมัยที่ก่อตั้ง) ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ “กำลังใหม่” (ตามรูปแบบการก่อตั้ง)[2]

ผู้นำสำคัญของกลุ่มนวพล[2]:

พลโท สำราญ แพทยกุล ซึ่งเป็นองคมนตรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทอย่างยิ่ง พลโทสำราญเป็นนวพลอันดับแรก หรือ นวพล 001
พล.อ. วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร
พล.อ. สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน.
นายวัฒนา เขียววิมล ปัญญาชนจากสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรประจำกลุ่มและเป็นผู้ประสานงานกลุ่ม
พระกิตติวุฒโฑ พระภิกษุผู้ประกาศต่อสาธารณชนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2519 ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
กลุ่มนวพลเคยจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงรับสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

----------------------------------------------------------

ผมว่าสมัครฯ ตอบไปว่ามีคนตายคนเดียว เพื่อเบรคสื่อต่างชาติไม่ให้ตั้งคำถามขยายความต่อน่ะ ถูกต้องแล้ว


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 16-02-2008, 16:57
คนที่พยายามโยงเรื่ององคมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายก

คงจะลืมนึกไปว่า "ศ.จ. สัญญา ธรรมศักดิ์" ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกหลังเหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. ๑๖

ตกลงว่า่ เหตุการณ์ ๑๔ ต.ค. ๑๖ เป็นแผนการของ ... หรืออย่างไร !!!   :slime_doubt:


และตรรกะ "การที่พลเรือเอกสงัดกล้าทำการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ มิกลัวคอขาดหรือ"

มีใครตอบได้ไหม ... หรือถ้าตอบไม่ได้ ก็น่าจะไปถามนายสมศักดิ์ ดูว่า "เขาจะตอบอย่างไร"
...
ต้องดูว่า ในก่อน14ตุลา นั้น ยังไม่มีเรื่องแนวคิด ด้านสังคมนิยมนั้นแรง และไม่มีจัดตั้งมาเดินเผ่นพ่านเหมือนหลัง 14 ตุลา

และดูได้ว่า ตอนนั้นเอง กลุ่ม อ.เสกสรรค์ ก็เข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และเหตุการณ์ 14ตุลา นั้น เป็นเหตุการณืที่ประชาชนทั้งประเทศเห็นด้วย

ไม่ได้มีการปลุกปั่นคอมมิวนิสต์เหมือนตอน 6ตุลา(ใครปลุกปั่นก็อยู่)

ดังนั้น ความคิดของคนยุค 14ตุลา(ประชาชนขับไล่) จึงต่างกับ6ตุลา(ประชาชนโดนปลุกปั่น) โดยสิ้นเชิง


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Cherub Rock ที่ 16-02-2008, 17:00
บทความ ดร.สมศักดิ์ ไม่น่าเชื่อถือ?

แล้วบทความในวิกิพิเดียอันนี้ พอเชื่อถือได้บ้างไหม?

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%A5

กลุ่มนวพล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปที่: ป้ายบอกทาง, ค้นหา
กลุ่มนวพลเป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่มีส่วนอย่างมากในปราบปรามและสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา[1] เมื่อ พ.ศ. 2519

กลุ่มนวพลก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เช่น พล.อ. วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร และ พล.อ. สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. เป็นต้น พล.อ.วัลลภ ได้อธิบายเหตุผลในการก่อตั้งกลุ่มว่า ชาติจะอยู่รอดได้ด้วยสถาบันวัดกับวัง จึงต้องระดมประชาชนเพื่อป้องกันสองสถาบันหลักนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายหนึ่งของชื่อกลุ่มนวพล คือที่หมายความว่า “พลังเก้า” (หมายถึงพลังของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 – รัชกาลในสมัยที่ก่อตั้ง) ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ “กำลังใหม่” (ตามรูปแบบการก่อตั้ง)[2]

ผู้นำสำคัญของกลุ่มนวพล[2]:

พลโท สำราญ แพทยกุล ซึ่งเป็นองคมนตรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทอย่างยิ่ง พลโทสำราญเป็นนวพลอันดับแรก หรือ นวพล 001
พล.อ. วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร
พล.อ. สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน.
นายวัฒนา เขียววิมล ปัญญาชนจากสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรประจำกลุ่มและเป็นผู้ประสานงานกลุ่ม
พระกิตติวุฒโฑ พระภิกษุผู้ประกาศต่อสาธารณชนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2519 ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
กลุ่มนวพลเคยจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงรับสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

----------------------------------------------------------

ผมว่าสมัครฯ ตอบไปว่ามีคนตายคนเดียว เพื่อเบรคสื่อต่างชาติไม่ให้ตั้งคำถามขยายความต่อน่ะ ถูกต้องแล้ว

โกหกแบบโง่ๆ แบบนี้อายเค้าน่า
กลับไปหลอกหลานที่บ้านยังจะพอเข้าท่า :mrgreen:





หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 16-02-2008, 17:04
อีกอย่างนึง คนในยุค14 ตุลา มีลักษณะ Royalist อยู่พอควร

แต่ในยุค หลัง14 ตุลา หรือ ยุคประชาธิปไตย เฟื่องฟู แนวคิดวิพากษ์สถาบันเริ่มมีมา

อย่าลืมว่า ท่านอาจารย์สัญญาก็ลาออกตั้งครั้งนึง เสือสิงกระทิงแรดยุคนั้นเยอะจะตาย

ตอน 6 ตุลา มีการปลุกปั่นโดยการตัดแต่งภาพด้วย



หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 16-02-2008, 17:06
ต้องดูว่า ในก่อน14ตุลา นั้น ยังไม่มีเรื่องแนวคิด ด้านสังคมนิยมนั้นแรง และไม่มีจัดตั้งมาเดินเผ่นพ่านเหมือนหลัง 14 ตุลา

และดูได้ว่า ตอนนั้นเอง กลุ่ม อ.เสกสรรค์ ก็เข้าไปพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และเหตุการณ์ 14ตุลา นั้น เป็นเหตุการณืที่ประชาชนทั้งประเทศเห็นด้วย

ไม่ได้มีการปลุกปั่นคอมมิวนิสต์เหมือนตอน 6ตุลา(ใครปลุกปั่นก็อยู่)

ดังนั้น ความคิดของคนยุค 14ตุลา(ประชาชนขับไล่) จึงต่างกับ6ตุลา(ประชาชนโดนปลุกปั่น) โดยสิ้นเชิง

คุณamalit1990 ตอบไม่ตรงประเด็นครับ

ประเด็นคือ "การแต่งตั้งองคมนตรีให้เป็นนายกหลังเหตุการณ์จราจล" ตามที่นายสมศักดฺ์พยายามจะโยงไป ...

ผมถามว่า "ถ้านายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายก(ตามที่นายสมศักดิ์บังอาจโยงเรื่อง)
จะต่างกับ กรณีของ ศ.จ.สัญญาธรรมศักดิ์ อย่างไร"

คุณคุณamalit1990 น่าจะไปถามนายสมศักดิ์ ให้เขาตอบ

...


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: h_e_a_t ที่ 16-02-2008, 17:21
ไม่ทราบว่าท่านเจ้าของกระทู้นี้ ตั้งแล้ว ไม่ว่างหรือไร ? จึงไม่เข้ามาเสวนาด้วย ครับ ขอเสียงหน่อย


กรณี 6 ตุลา 2519 (กรณีอื่น ขอเว้นไม่กล่าว)

ประเทศไทย ยังคงเป็นสนามประลองทฤษฎีจิตวิทยามวลชน  อันดับหนึ่ง ของ ชาติมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย ครับ

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประลองกำลัง เสมือนหนึ่งประเทศไทยและคนไทย เป็นห้องแล็บปฏิบัติการของสองลัทธิ ของขั้วต่างกันของมหาอำนาจ

การจะทำให้ทุกอย่างยุติได้ นั้น มีทางเดียวคือ

เรื่องที่ควรลืม ต้องลืม
เรื่องที่ควรบิดเบือนความจริงไป ต้องบิดเบือน

ถามว่าทำไม ก็เพราะ หากความจริงมันปรากฏ มันก็เป็นความจริงของทั้งสองด้านที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยากที่จะรับได้ ยากที่จะอภัย และยากที่จะสมานความสามัคคี

เพราะ เราโดนหลอกใช้ทั้งสองด้านครับ


เป็นบุญเหลือเกินที่เรามี ในหลวง
และเป็นโชคดีของคนไทยทุกคน ที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ โดยไม่มีความแตกแยกบานปลายยั่งยืน


การฟื้นเรื่องราวต่างๆขึ้นมาพูด เท่ากับเป็นการทำลายและทำร้ายพวกเรากันเองไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากจะต้องมีการชำระความจริงแล้วล่ะก็ คนที่เสียใจมากที่สุด ไม่ใช่พวกเราหรอกครับ  แต่เป็นคนที่พวกเรารักสุดหัวใจต่างหาก



ไม่ว่าใคร จะเป็นนักการเมือง หรือ ใหญ่มาจากที่ใดก็ตาม
ผมว่าไม่ควรรื้อฟื้นขึ้นมาอีก และก็ไม่ควรตอบคำถามใดๆทั้งสิ้น

คุณสมัครเคยใช้คำตอบว่า ไม่อยากตอบมามากมาย
เรื่องนี้ก็น่าจะใช้แบบนั้น ถึงจะเหมาะสม

ไม่ตอบ ไม่พูด ไม่คุ้ย......ประเทศไม่แตกแยก

คุ้ยกันเข้าไป ประเทศยิ่งแตกแยก และ คนที่คุณรักที่สุดนั่นแหละ จะเสียใจที่สุด



ขอบคุณที่อ่านครับ


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Gemini ที่ 16-02-2008, 19:40
แค่เรื่องที่มาของ 6 ตุลา

คำตอบ(ในใจตัวเอง) ของฝ่ายคลั่งเจ้าและไม่คลั่งเจ้า ในเสรีไทย ก็ไม่ตรงกันแล้ว

ป่วยการจะไปหาความจริงไกลกว่านี้

เพราะเราต่างมีกำแพงกันคนแผง

***********
ความเห็นส่วนตัวก็คือ

"สถาบัน" ที่หลายท่านกล่าวอ้างมานั้น
เป็นสถาบันที่น่าสงสาร/น่าเห็นใจ
เพราะต้องหาทางดำรงความมีอยู่แห่งตน จนไม่เป็นตัวของตัวเอง

สถาบันนั้น ไม่ผิด
ที่ต้องการการดำรงอยู่

ที่ผิด คือ ไอ้พวกลากสถาบันเป็นเครื่องมือ (และสถาบันก็ต้องยอมเป็นเครื่องมือ เพื่อการดำรงอยู่)
ลากไปทางซ้ายที ขวาที แล้วแต่ฝ่ายไหนจะมีอำนาจฉุดดึงมากกว่า
ตลอด 50 ปี ของการสถาปนาสถาบัน ขึ้นมาใหม่

แล้วยิ่งมองดูอนาคต อีกไม่ไกล
คิดแล้ว เหนื่อยแทน


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: Anthony ที่ 16-02-2008, 20:10
ไม่ทราบว่าท่านเจ้าของกระทู้นี้ ตั้งแล้ว ไม่ว่างหรือไร ? จึงไม่เข้ามาเสวนาด้วย ครับ ขอเสียงหน่อย


กรณี 6 ตุลา 2519 (กรณีอื่น ขอเว้นไม่กล่าว)

ประเทศไทย ยังคงเป็นสนามประลองทฤษฎีจิตวิทยามวลชน  อันดับหนึ่ง ของ ชาติมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย ครับ

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประลองกำลัง เสมือนหนึ่งประเทศไทยและคนไทย เป็นห้องแล็บปฏิบัติการของสองลัทธิ ของขั้วต่างกันของมหาอำนาจ

การจะทำให้ทุกอย่างยุติได้ นั้น มีทางเดียวคือ

เรื่องที่ควรลืม ต้องลืม
เรื่องที่ควรบิดเบือนความจริงไป ต้องบิดเบือน

ถามว่าทำไม ก็เพราะ หากความจริงมันปรากฏ มันก็เป็นความจริงของทั้งสองด้านที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยากที่จะรับได้ ยากที่จะอภัย และยากที่จะสมานความสามัคคี

เพราะ เราโดนหลอกใช้ทั้งสองด้านครับ


เป็นบุญเหลือเกินที่เรามี ในหลวง
และเป็นโชคดีของคนไทยทุกคน ที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ โดยไม่มีความแตกแยกบานปลายยั่งยืน


การฟื้นเรื่องราวต่างๆขึ้นมาพูด เท่ากับเป็นการทำลายและทำร้ายพวกเรากันเองไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากจะต้องมีการชำระความจริงแล้วล่ะก็ คนที่เสียใจมากที่สุด ไม่ใช่พวกเราหรอกครับ  แต่เป็นคนที่พวกเรารักสุดหัวใจต่างหาก



ไม่ว่าใคร จะเป็นนักการเมือง หรือ ใหญ่มาจากที่ใดก็ตาม
ผมว่าไม่ควรรื้อฟื้นขึ้นมาอีก และก็ไม่ควรตอบคำถามใดๆทั้งสิ้น

คุณสมัครเคยใช้คำตอบว่า ไม่อยากตอบมามากมาย
เรื่องนี้ก็น่าจะใช้แบบนั้น ถึงจะเหมาะสม

ไม่ตอบ ไม่พูด ไม่คุ้ย......ประเทศไม่แตกแยก

คุ้ยกันเข้าไป ประเทศยิ่งแตกแยก และ คนที่คุณรักที่สุดนั่นแหละ จะเสียใจที่สุด



ขอบคุณที่อ่านครับ

ที่ผมไม่ค่อยแสดงความเห็นอะไร เพราะผมไม่รู้อะไรเลยครับ ถึงได้ตั้งกระทู้ถาม เพราะเห็นขุดเรื่องนี้มาโจมตีคุณสมัครกัน
ผมก็เลยสงสัยว่า คุณสมัคร เป็นตัวการใหญ่จริงเหรอ ถ้าจริงทำไมไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
เหมือนกับ กรณีที่นานกิง กัมพูชา โคโซโว บ้าง :slime_doubt:
ถ้าคุณสมัครหรือผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องจริง ก็ควรให้คนเหล่านี้รับโทษอย่างสาสม
ผมว่า น่าจะให้เรื่องนี้ยุติกันเสียที จะได้เลิกกล่าวหาโจมตีกันไปมา คนรุ่นใหม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องกัน
ผมรู้สึกว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่หลายๆคนคิดว่า คุณสมัคร เป็นจอมบงการเรื่องนี้ไปเสียแล้วครับ


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: \(^_^)/ ที่ 16-02-2008, 20:20
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  :slime_smile:


ไอ้หัวโต..มันเผ่นก่อนเพื่อน :slime_bigsmile:
                 


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: \(^_^)/ ที่ 16-02-2008, 20:30
ผมไม่แน่ใจว่า ไอ้หัวโต มันได้มาแย้งหรือไม่ว่า คนตายไปคนเดียว จริงหรือไม่จริง


ข่าวว่ามันเป็นการ์ดน่ะตอนนั้น  :lol:

มันไม่เคยออกมาแก้ข่าวให้เพื่อนสักครั้ง
ทั้งๆที่มันมีส่วนปลุกปั่นเพื่อนไปตายด้วย
ทุกวันนี้มันยังหน้าด้านนำเถ้ากระดูกของ
เพื่อนไปหา"แดรก"แต่งหนังสือห่วยแตก
ของมัน เพื่อหวังโยงไปหาคนที่มันเกลียด
ชังมาตลอด 30 กว่าปี..คงต้องหมกมุ่นไป
อี 30 ปี..อาจจะ "สมหวัง :slime_smile:
                 


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: \(^_^)/ ที่ 16-02-2008, 20:45
คิดว่าคุณเข้าใจอะไรผิดมากค่ะ  บทความที่คุณนำมาโพสเอง ในส่วนที่คุณพยายามหมายความถึง ก็ชี้ชัดว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณพยายามพาดพิงค่ะ

อีกทั้งผู้ที่เขียนบทความในส่วนนั้น ก็ได้ชื่อว่า พยายาม ดึงฟ้าต่ำ มาตลอด แต่กระนั้น ข้อมูลจริงๆก็บ่งชี้ว่า ที่คุณพยายามพาดพิงถึง ไม่ได้เกี่ยวข้องจริงๆ

เหตุดำเนินมาจนจะสุกงอมแล้ว ถึงได้มีคนวิ่งเข้าไป

และก็ไม่ได้อะไรออกมา นอกจาก ตักเตือน

 :slime_v:

แค่รู้ว่านำบทความของหัวโตมา..ก็วงแตกแล้วครับ
จากความพยายามจับแพะชนแกะโยงไปเรื่องให้กำลังใจหรือ
มอบดอกไม้แก่ใครๆ แล้วเหมาว่านั่นแหละคือตัวการคงมีแต่
พวกที่ "คลั่งลัทธิเกลียดเจ้า" ของหัวโตเท่านั้นที่เชื่อตามมัน :slime_smile:
                 


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: so what? ที่ 16-02-2008, 22:26
ไอ้หัวโตมันคงตายตาไม่หลับครับ ถ้าไม่ได้เห็นความพินาศของกลุ่มบุคคลที่มันเกลียดชังแบบแค้นฝังหุ่น

แต่คนเราเวลาเกลียดแล้วทำอะไรไม่ได้นี่ สะสมไปนานๆอาจไฟธาตุแตกตายไปก่อนเวลาอันควรก็ได้   :slime_smile2:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 16-02-2008, 22:27
คนผิดในเหตุการณ์ ก็คือ ฝ่ายขวาทุกคนที่ปลุกปั่น และโดนปลุกปั่น

แต่ที่เหลือในนั้น ผมไม่พูด

เพราะฝ่ายขวาปลุกปั่นผมมีความรู้สึกว่ายังมีอยู่เสมอ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

จบครับ :slime_dizzy:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ปุถุชน ที่ 16-02-2008, 23:15
ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงไม่มีคนประณาม มนูญกฤต หรือ พัลลภ ในเรื่อง 6 ตุลา บ้างละครับ
ผมเห็นเวลามีข่าวเรื่องนี้ทีไร  พูดถึงแต่ สมัคร จนผมถึงนึกว่า แกเป็นผู้บงการตัวใหญ่ไปซะแล้ว
แล้วในความเห็น คุณพรรณชมพู นี่ แกนนำพรรค ปชป.ตอนนั้นมีส่วนร่วมด้วยมั้ยครับ นอกจาก สมัคร
เพราะผมเห็นตอนนี้ มนูญกฤต เองก็อยู่ในพรรค ปชป.ด้วย :slime_doubt:




  ในเมืองไทยขณะนี้ คงไม่มีใครใหญ่ไปกว่าสมัคร สุนทรเวช ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สด ๆ ร้อน ๆ อนาคตของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับอยู่ในมือของนักการเมืองผู้นี้

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหนึ่งในคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาใบอนุญาตหนังสือพิมพ์ เป็นกรณีพิเศษ สมัครมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินว่าหนังสือพิมพ์ฉบับไหนจะเปิดใหม่ได้ หนังสือพิมพ์อย่างไทยรัฐ ดาวสยาม ตะวันสยาม บ้านเมือง และ Bangkok Post ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในข่ายของการเป็นหนังสือพิมพ์ที่เชื่อฟังรัฐบาล ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์และจำหน่ายได้หลังจากถูกปิดเพียงสามวัน

สมัครเป็นหนึ่งในนักการเมืองหลายคนที่แสดงความยินดีอย่างเห็นได้ชัดที่ ขบวนการนักศึกษาถูกบดขยี้ แถมยังสนุกสนานกับบทบาทของตัวเองในการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อ นักศึกษาที่ถูกเขาตราหน้าเป็น " คอมมิวนิสต์ "

และสมัครไม่ลังเลใจที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อขจัดใครก็ตามที่ถูกมองว่า เป็นศัตรู และ " ศัตรู " ที่เหลือของสมัครในขณะนั้นก็คือเหล่าหนังสือพิมพ์ " ฝ่ายซ้าย " ที่สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516



ข้อความของ เทพชัย หย่อง


ถ้า'สมัคร' ไม่มีบทบาทสำคัญก่อนเหตุการณ์'มหาโหด' 6 ตุลา 2519....
คณะทหารที่ใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง, 'คณะปฎิรูป' จะตอบแทนให้เป็น'รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย' :?:

วันนี้ 'สมัคร'ที่เข้าร่วมก่อการรัฐประหารครั้งนั้น อวดอ้างว่าเป็น'นักประชาธิปไตย'
เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่นิยมระบอบประชาธิปไตยฯ ที่ร่วมเสพอำนาจกับ'ซ้ายพลาสติก'.........ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า

วันนี้คุณ Anthony และ คุณ Athit รู้นักการเมืองไดโนเสาร์ หมดสภาพแล้วถูกขุดขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่
ได้ทำอะไรบ้าง จึงได้เป็น 'นายกรัฐมนตรีนอมินี'........ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ปุถุชน ที่ 16-02-2008, 23:23
ไม่ทราบว่าท่านเจ้าของกระทู้นี้ ตั้งแล้ว ไม่ว่างหรือไร ? จึงไม่เข้ามาเสวนาด้วย ครับ ขอเสียงหน่อย
.........................................................................................................................
ขอบคุณที่อ่านครับ


หลังจากที่ผมตอบไม่ตรงกับความต้องการ
และเรียกให้ไปหาคำตอบจากที่อื่น ๆ ด้วย

เวลานี้คงไปหาคำตอบเอาเองมั่ง.......ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า



หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: athit ที่ 16-02-2008, 23:36
โถเด็กน้อย ปุถุชน.............ไปศึกษา6ตุลามาใหม่........

 http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/16/W...p?newsid=230393     

ธงชัย วินิจจะกูล : อย่าหยุดแค่นายสมัคร   
 
         ผมติดตามกรณีนายสมัคร สุนทรเวช พูดเกี่ยวกับ 6 ตุลาด้วยความรู้สึกเซ็ง เศร้า และขยะแขยง


         นายสมัครพูดจาไม่รับผิดชอบ บิดเบือนข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ไม่ได้เกี่ยวกับการตีความหรือขึ้นต่อ

อุดมการณ์ใดๆ เลยสักนิด นายสมัครแกล้งลืมหรืออาจพร่ำบอกโกหกตัวเองตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สำคัญอะไร เพราะเขารู้ว่าเป็นรอยด่างอัปลักษณ์ในประวัติของเขาที่หลงตัวเองว่า เก่งดีงามกว่าคนอื่น


          การจงใจทำให้ 6 ตุลา กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อสังคมการเมืองไทยเป็นเรื่องน่าเศร้า น่าขยะแขยง เป็นการปฏิเสธความสำคัญของทุกๆ ชีวิตที่ดับสูญไปฉับพลันในวันนั้น ไร้ความเคารพต่อพวกเขา ครอบครัวของเขา และผู้ได้รับผลกระทบเสียหายอีกมากมายจากเหตุการณ์ 6 ตุลา


          เราต้องประณามนายสมัครและต่อสู้กับการบิดเบือนลบเลือนประวัติศาสตร์อย่างน่าขยะแขยงเช่นนี้


          แต่นายสมัครไม่ใช่คนแรกหรือคนเดียวที่พยายามทำเช่นนี้ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อกรรมทำเข็ญในโศกนาฏกรรมดังกล่าว ทั้งระดับผู้ปฏิบัติการรายย่อยๆ ตลอดถึงผู้บงการประสานงานวางแผนระดับสูงต่างทำอย่างเดียวกับนายสมัครทั้งสิ้น

          สังคมไทยโดยรวมก็ทำไม่ต่างจากนายสมัครเท่าไรนัก คือ แกล้งลืมหรืออาจพร่ำบอกโกหกตัวเองตลอด 30 ปีที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สำคัญอะไร เพราะสังคมไทยรู้ว่าเป็นรอยด่างอัปลักษณ์ในประวัติของสังคมไทยที่หลงตัวเองว่า ดีงามสูงส่งวิเศษกว่าสังคมอื่น สังคมไทยไม่เคยตอบรับเสียงเรียกร้องให้ทำการสะสางความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่เคยพยายามให้คำตอบกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ไม่เคยคิดถึงความยุติธรรม ไม่เคยเอาจริงเอาจังกับประวัติศาสตร์


          การบิดเบือนไม่รับผิดชอบของนายสมัครไม่ใช่กรณีพิเศษ แต่เป็นตัวแทนของผู้คนทั่วไปในสังคมไทย รวมทั้งปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์นักเคลื่อนไหวหลายคน ที่กำลังวิจารณ์นายสมัครอย่างเอาเป็นเอาตายด้วย

          นายสมัครปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของตนก่อนและหลัง 6 ตุลาใหม่ๆ มีส่วนสร้างและกระพือความเกลียดชังด้วยการโฆษณาชวนเชื่อให้ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามกับตน (ทั้งนักศึกษาฝ่ายซ้ายและคู่ปรับของตนในพรรคประชาธิปัตย์) เป็นบทบาททำนองเดียวกับวิทยุยานเกราะ ทมยันตี นักการเมือง และนักพูดนักจัดรายการวิทยุอีกหลายคนในระดับต่างๆ กันไป ความเกลียดชังจนเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจที่ต้องกำจัดทำลายเป็นปัจจัยหนึ่งของความโหด***มเมื่อ 6 ตุลา


          กระบอกเสียงของฝ่ายขวาเหล่านี้เป็น "เป้า" ที่เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องคิดวิเคราะห์อะไรเลย แต่หากใครคิดว่า 6 ตุลาเกิดขึ้น เพราะคนพวกนี้แค่นั้น ต้องนับว่าตื้นเขินอย่างเหลือเชื่อ

          ผู้มีบทบาทอย่างสำคัญ ทั้งในการสร้างความเกลียดชัง จัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวา วางแผน สั่งการ จนเกิดการใช้ความรุนแรงถึงชีวิต กลับมักเป็นคนที่ไม่ออกมาแสดงตัวโผงผาง หลายคนทำตัวดีเลิศประเสริฐศรี เป็นผู้นำเรียกหาคุณธรรม จนผู้คนนับหน้าถือตากันทั้งบ้านเมือง

          ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหวการเมืองทั้งหลายไม่รู้ข้อนี้ หรือแกล้งไม่รู้กันแน่ จึงไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอบถามตัวการผู้มีบทบาทอย่างสำคัญเลย แถมหลายคนกลับร่วมสังวาสทางการเมืองกับคนเหล่านี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่เคยรู้สึกตะขิดตะขวงใจอย่างใด ทำตัวน่ารังเกียจไม่ต่างจากพวกที่เขาเรียกว่า ตุลาชิน ที่ร่วมมือกับนายสมัครในขณะนี้

          หากต้องการชำระสะสาง 6 ตุลาจริง กรุณาอย่าหยุดแค่ประณามนายสมัคร แต่ขอให้สืบสาว ตั้งคำถามและประณามอีกหลายคน ที่ยังคงมีบทบาทอำนาจทางการเมืองสูงเช่นกัน  อาทิ

          1. นายพันฝ่ายข่าวทหาร ซึ่งต่อมาเป็นนายพลก่อนลาออกจากราชการ เขาทำหน้าที่ประสานงานกลุ่มฝ่ายขวาเพื่อต่อต้านนักศึกษา มีบทบาทสูงในการต่อต้านนักศึกษาที่เคลื่อนไหวให้ถอนฐานทัพอเมริกัน เป็นผู้จัดการชุมนุมฝ่ายขวาครั้งสำคัญที่สนามไชย เมื่อปี 2519 เป็นคนสำคัญในการชุมนุมกลุ่มฝ่ายขวา ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลา เขามีบทบาทสูงมากในพันธมิตรต่อต้านทักษิณ และเพื่อการรัฐประหารที่ผ่านมา

          ถ้าหากบทบาทของคนๆ นี้ไม่ชัดเจนเท่านายสมัคร ก็น่าที่จะสืบสวนหาความกระจ่าง อย่ามักง่ายเอาแค่เป้าที่เห็นง่ายๆ ทั้งๆ ที่บทบาทประสานงานกลุ่มฝ่ายขวาน่าจะสำคัญต่อ 6 ตุลาไม่น้อยกว่านายสมัคร

          2. นายพลที่มีบทบาทสำคัญต่อการปราบปรามคอมมิวนิสต์สมัยนั้น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยการจัดตั้งกลุ่มขบวนการฝ่ายขวาขึ้นมา รวมทั้งมอบหมายให้เพื่อนสนิทของเขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดง และให้นายพันคนสนิทของเขา (ในข้อ 1) ประสานงานกับอีกหลายกลุ่ม นายพลคนนี้ต่อมาเป็นใหญ่เป็นโตมาก ทั้งในรัฐบาลและอำนาจแฝงเหนือรัฐบาล ฝ่ายขวาที่ถูกเขาใช้แล้วทิ้งให้ฉายาเขาว่าเป็น "นักฆ่าฯ" ในขณะที่สังคมยกย่องให้เขาเป็นผู้มีคุณธรรมสูงยอดคนหนึ่ง

          ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ที่แคร์กับ 6 ตุลามากในการวิจารณ์นายสมัคร กลับเชิดชูปกป้อง "นักฆ่าฯ" ผู้นี้อย่างสุดใจเมื่อไม่นานมานี้เอง หากบทบาทของเขาไม่ชัดเจนเท่านายสมัคร ก็น่าที่จะทำการบ้านและลงแรงสืบสวนเสียบ้าง แทนที่จะพอใจแค่การโจมตี เป้าที่เห็นชัดๆ แต่กลับร่วมสังวาสทางการเมืองกับผู้มีบทบาทในการก่อความรุนแรงยิ่งกว่านายสมัครเสียอีก

          3. ใครสั่งตำรวจตระเวนชายแดน ณ  02.00 น. ของวันที่ 6 ตุลา ให้เคลื่อนกำลังจากหัวหิน เพื่อมาถึงธรรมศาสตร์ทันเวลาลงมือ ณ 06.00 น. พอดี ผู้สั่งต้องรู้แผนการหรือเกี่ยวข้องกับผู้รู้แผนการว่าจะเกิดอะไรในตอนเช้า จนบัดนี้ดูเหมือนว่าความจริงข้อนี้เป็นความลับที่สุดข้อหนึ่ง แต่กลับไม่มีปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์สืบสาวให้ถึงต้นตอของเรื่องนี้เลย เพราะความจริงข้อนี้อาจนำไปสู่ตัวการสำคัญที่พวกเขาพยายามทำเป็นไม่รู้และไม่ต้องการรับรู้

          4. ในการปลุกระดมกระพือความเกลียดชัง มีหลายฝ่ายหลายกลุ่มที่มีบทบาทไม่น้อยกว่านายสมัครเลย ที่สำคัญมากๆ ได้แก่ วิทยุยานเกราะ และลูกเสือชาวบ้าน จนบัดนี้ ไม่เคยมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่า ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นวิทยุของทหารทั่วประเทศ สร้างความเกลียดชังถึงขนาดนั้น ใครมีส่วนทำให้ลูกเสือชาวบ้านกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างอันตรายขนาดนั้น ทั้งสองกลุ่มเป็นกลไกที่ต้องอาศัยผู้มีอำนาจร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง ต้องมีการประสานงานวางแผน และทำงานเป็นระบบกว่านายสมัครหลายเท่านัก


          ถ้าหากต้องการชำระสะสาง 6 ตุลาจริง เพราะต้องการความจริงและความยุติธรรม เพื่อเชิดชูการเสียสละของวีรชน 6 ตุลาจริง กรุณาอย่าหยุดแค่นายสมัคร แต่กรุณาสืบสาวและตั้งคำถามกับคนที่มีบทบาททำให้คนตายที่สำคัญกว่าปากของนายสมัคร เอาให้ถึงตัวการสำคัญๆ มากเท่าไรก็ยิ่งดี และอย่าร่วมสังวาสทางการเมืองกับคนพวกนี้ ซึ่งวางแผน บงการ และอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมคราวนั้น

          การจำกัดโจมตีแค่เป้าที่เห็นชัดๆ แต่ไม่พูดถึงตัวการสำคัญๆ อาจช่วยให้ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ปลอบตัวเองได้ว่า ตนกำลังทำเพื่อ 6 ตุลา ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงเป็นการหลอกตัวเอง และหลอกสังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ

          หากจงใจเล่นงานแค่นายสมัครเพื่อผลทางการเมืองขณะนี้ แต่กลับร่วมสังวาสทางการเมืองกับผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความรุนแรงเมื่อ 6 ตุลา ก็ต้องนับว่าเป็นการโกหกแหกตาประชาชนแค่นั้นเอง เป็นการฉวยโอกาสใช้ 6 ตุลาเป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองอย่างมักง่าย ไม่ได้เคารพผู้เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลาเลยแม้แต่น้อย


          การใช้ 6 ตุลาเป็นเครื่องมือในวันนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ทางการเมืองแก่กลุ่มการเมืองที่วางแผน บงการ และอยู่เบื้องหลังอาชญากรรม 6 ตุลา เท่ากับเป็นการทำร้ายผู้เสียสละ เมื่อ 6 ตุลาซ้ำอีกครั้ง


          เป็นการสังหารวีรชนซ้ำอีกครั้งอย่างน่าขยะแขยง น่าทุเรศที่สุด

          ดูเอาเองก็แล้วกันว่า ใครกำลังทำเพื่อความความจริง ความยุติธรรม และเพื่อวีรชน 6 ตุลา ใครกำลังฉวยโอกาสทำร้ายวีรชนซ้ำอีกครั้ง




หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ปุถุชน ที่ 16-02-2008, 23:54
^
^
^
^
เข้ามาแสดงตนว่าได้อ่านแล้ว....
'ธงชัย' แสดงความคิดเห็นทนไม่ได้
ที่'หมัก หนึ่งเมถุน' บิดเบือนข้อเท็จจริง....

ไม่เหมือน'ซ้ายพลาสติก'ที่นิ่งดูดาย
หรือนิ่งเฉย หรือ'อี้อ๋อ' ผู้กำลังมีอำนาจด้วย....

แล้วไง.......



มาตั้งคำถามที่นี่
จึงต้องนำคำตอบเดิมมาที่นี่อีก.....

ปล. ถ้ารู้อะไรที่เป็นข้อเท็จจริง
ไม่บิดเบือน หลอกลวง ก็เปิดเผยเถอะ......ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า



หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: athit ที่ 17-02-2008, 00:05

มาตั้งคำถามที่นี่
จึงต้องนำคำตอบเดิมมาที่นี่อีก.....

ปล. ถ้ารู้อะไรที่เป็นข้อเท็จจริง
ไม่บิดเบือน หลอกลวง ก็เปิดเผยเถอะ......ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า



กลับไปอ่านความนัยของบทความใหม่เถอะครับ..อ่านให้แตกหน่อย.........คำพูดของคุณที่ตอบมามันส่อแสดงถึงความ............มากๆเลยครับ


55555555

รับได้ไหมครับเอาความจริงมาพูด


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 17-02-2008, 00:17
**เจ้าหัวโต..แบบฉบับของคนหนักแผ่นดิน(ไทย)**

http://forum.serithai.net/index.php?topic=20876.msg255289;topicseen#msg255289

ไม่ได้เข้ามาตั้งกระทู้นานมากแล้ว :slime_p:  แต่คิดว่า เรื่องนี้คงไม่อาจอยู่เฉยได้.. :slime_shy: เพราะหากมีใครที่รู้เรื่องราวของนายคนนี้แล้วเฉยเอาไว้  ในอนาคต..จะมีคนไม่รู้เข้าใจผิดกันไปยกใหญ่

ผมเข้าไปอ่านบทความของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากเว็ปนี้..
http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=4866

เกี่ยวกับความรู้สึกของเขาต่อการแสดงความสูญเสียของสมเด็จพระพี่นางฯ ของปวงชนชาวไทย  จดหมายลับที่นำมาเปิดเผยบางส่วนแบบไม่มีที่มา ลามไปถึงเรื่องวิญญาณวีรชน 6 ตค.19 ซึ่งนายสมศักดิ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด


ยิ่งได้อ่านบทความอื่นๆ ในเว็ปนี้ก็ยิ่งรู้สึกว่า ไม่สบายใจอย่างยิ่ง  เพราะนี่มันเข้าข่ายผิดกฎหมายทั้งเว็ป

ไม่น่าแปลกใจนักที่คนรักทักษิณทั้งหลายจะนิยมชมชอบบทความนี้ และคลั่งไคล้ในตัวนายหัวโตในฐานะนักวิชาการที่มีจิตวิญญาณคนเดือนตุลา ที่การันตีว่า เกลียดเผด็จการ

ผมเรียกนายสมศักดิ์ว่า เจ้าหัวโต เพราะเป็นชื่อที่เพื่อนๆ ชาวสวนกุหลาบเรียกขานแทนชื่อจริง

ผมไม่สามารถตอบโต้เจ้าหัวโตได้ในเว็บนั้นเพราะผมไม่ใช่สมาชิก และก็ไม่อยากจะสมัครด้วย หากใครมีจิตเมตตาก็ช่วยนำบทความนี้ไปแปะไว้ในบอร์ดของเว็ปนั้นด้วยก็จะขอบพระคุณมาก :slime_worship:


เรื่องแรกที่ผมจะพูดคือ เรื่องที่เจ้าหัวโตไม่เห็นด้วยกับการที่เวลาคนในาชวงศ์เสียชีวิต ทำไมต้องให้สังคมไทยพลอยโศกเศร้าไปด้วย  เทีียบกับกรณีการเสียชีวิตของอดีตมหาดเล็กในกรณีสวรรคต ร.8  การป้ายสีท่านปรีดี พนมยงศ์  และการเสียชีวิตของวีรชน 6 ตค.19  ราชวงศ์ไม่เคยนำพา หรือ แสดงความเศร้าเสียใจกับการสูญเสียเหล่านั้นบ้าง

ในกรณีของสมเด็จพระพี่นางนั้น..

ประเด็นที่ผมจะกล่าวแย้ง ไมใช่เรื่อง การบีบบังคับให้คนไทยต้องแสดงความรู้สึกเสียใจ  เพราะนั่นเป็นความรู้สึกล้วนๆ ไม่มีกฎหมายบังคับ เป็นเอกสิทธิ์ของทุกท่านในการแสดงออก  คนใส่ชุดดำก็มิได้หมายความว่า มีความสำนึกโศกเศร้าก็ได  การแสดงออกแบบเกินเลยของสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ ก็อาจมิได้มาจากความจงรักภักดีก็ได้เช่นกัน 

แต่นี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมไทยที่มีมาแต่โบราณ ชาติอื่นๆ ในโลกไม่มีที่ไหนเสมอเหมือน  ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่ก็ไม่ขัดขวาง เพราะเข้าใจว่า นี่คือ สังคมไทย เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย  จะเลวจะชั่วก็เสมือนเรื่องในครอบครัวไทย  พ่อ-แม่ของเราอาจไม่ใช่คนดีที่สุด แต่หากเราไม่รังเกียจพ่อ-แม่ของเรา ก็เป็นเพราะความรู้สึกที่เราอยู่ในครอบครัวนี้  ไม่ใช่ว่า เราจะเห็นด้วยกับพ่อ-แม่เสียทั้งหมด  แต่เพราะความเป็นครอบครัว พวกเราจึงยอมรับได้ต่างหาก   เชื่อว่า..พ่อแม่ของใครก็ไม่อาจเป็นคนดีได้ทุกเรื่องหรอก  แต่ในฐานะลูกย่อมมองข้ามความผิดนั้นได้มากกว่าบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว 

เรื่องที่ผมจะติติงบทความของเจ้าหัวโต คือ สมเด็จพระพี่นางเป็นอาจารย์ในคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์มาช้านาน แม้ในช่วงเวลาที่นายหัวโตเข้าไปศึกษา(เพียงปีเดียว) ท่านก็เป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสอยู่ แม้เจ้าหัวโตพ้นจากสภาพนศ.ไปแล้ว ท่านก็ยังสอนอยู่เรื่อยมาอีกระยะหนึ่ง

ในฐานะที่เป็นราชนิกูลระดับสูงเช่นนี้  มีพระองค์ไหนบ้างเสียสละเวลาและความสุขสบายที่พึงหาได้ในช่วงเวลานับสิบปีมาสอนหนังสือให้เด็ก

ผมคิดว่า..หาได้ยากยิ่ง ไม่ว่าในประเทศนี้ หรือที่ใดในโลก

จะว่า ท่านปรารถนาชื่อเสียงก็คงไม่ใช่  หวังลาภยศก็มีเกินพอที่จะแสวงหาแล้ว  หวังเงินทองเงินเดือนจากค่าสอนก็ยิ่งไม่ใช่ใหญ่  เพราะท่านไม่เคยรับจ็อบงานนอกรั้วมหาวิทยาลัยเหมือนอาจารย์ทั่วๆ ไป  และเงินเดือนที่ได้รับผมไม่ทราบว่า จะพอค่าพาหนะเดินทางที่ต้องมีผู้ติดตามเสด็จหรือไม่  แล้วท่านทำเรื่องเช่นนี้เพื่อใคร..??? ถ้าไม่ใช่เพื่อสังคมไทยส่วนหนึ่ง

เท่าที่รู้  สมเด็จพระพี่นาง ไม่เคยสร้างภาพในเรื่องนี้ออกสู่สาธารณชน  ท่านทำเพราะท่านอยากทำและเห็นว่าเป็นสิ่งดี

แต่ที่รู้แน่ๆ้ คือ ท่านเจียดกำลังทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนให้นักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจนทุกปี  ในชื่อทุนซื้อหนังสือเรียนของสมเด็จพระพี่นาง  และผมก็เคยเป็นนักศึกษาทุนในส่วนนี้ด้วย  เป็นเรื่องที่เกิดได้ยากจริงๆ ที่นักเรียนทุนสมเด็จพระพี่นางฯอย่างผมดันมาอ่านบทความที่หยามหมิ่นของเจ้าหัวโตซึ่งเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์เช่นกันเข้า

ที่ผมเขียนติติงมานี้ ก็เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเล็กๆ ของเจ้าหัวโตในฐานะลูกศิษย์ที่สำนึกในบุญคุณ  และผมก็เชื่อว่า ยังมีลูกศิษย์ของพระพี่นางอีกจำนวนมากที่จบการศึกษาไปแล้วไม่พอใจกับข้อเขียนของเจ้าหัวโต  ซึ่งอดีตก็มาจากรั้วเหลืองแดง ปัจจุบันมีคนเรียกเขาว่า อาจารย์ นำหน้า :slime_hitted:


และหากใครจะนับว่า นายหัวโตเป็นชาวธรรมศาสตร์แล้วล่ะก้อ  ผมคนหนึ่งล่ะที่ขอค้าน..
เพราะหมอนี่แค่เอ็นท์ติด มธ. และใช้ชื่อมธ.ในการสืบสานอุดมการณ์บ้าบอของเขาเท่านั้น  มีกี่คนที่เห็นหน้าเจ้าหัวโตเข้าไปเรียนหนังสือในหัองเรียนเหมือนคนอื่นๆ บ้าง?  ลองไปเช็คทรานสคริปต์ดูสิครับว่า เขาลงทะเบียนกี่วิชา และสอบผ่านกี่วิชาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตค.

เวลาส่วนใหญ่ของเจ้าหัวโตใช้ไปกับการปลุกระดมมวลชน และบนเวทีปราศรัยในนามสมาชิกองค์การนักศึกษามธ.

ในเมื่อไม่ได้เข้ามาแสวงหาความรู้จากรั้วมธ. เจอครูอาจารย์อีกทีก็วันสอบ จะไปนับถือเป็นครูเป็นศิษย์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันได้อย่างไร?

เจ้าหัวโตอาจหลงคารมของศิษย์ผู้พี่รุ่นเก่าๆ ที่บอกว่า ชาวธรรมศาสตร์ต้องรับใช้ประชาชน อย่าเห็นแก่ตัวเอาตัวรอดแค่จบจากที่นี่แล้วมีงานการทำ ร่ำรวยใหญ่โต

กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า รุ่นพี่ๆ นั่นแหละเห็นแก่ตัวกันสุดๆ เพราะพวกนั้นดันจบ(จนได้) และปัจจุบันอยู่ในแวดวงธุรกิจ ร่ำรวยเงินทอง แถมยังรับใช้นักการเมืองเอาเปรียบสังคมอยู่ทุกวันนี้
ี้ยังไม่เห็นรุ่นพี่ที่เจ้าหัวโตเคารพนับถือคนไหนออกมาทำงานรับใช้ประชาชนในฐานะ..ผู้เสียสละเพื่อสังคม ตามอุดมการณ์สักคนเดียว   แม้แต่..เจ้าหัวโตเองก็เถอะ  เคยทำอะไรให้ธรรมศาสตร์ และทำให้ประเทศชาติและประชาชนมั่ง ช่วยบอกหน่อยสิ

ผมเองก็เด็กกิจกรรมเหมือนเจ้าหัวโต เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในรั้วมหาลัยเหมือนเจ้าหัวโตนั่นแหละ  แต่ผมแยกแยะได้  พ่อแม่ส่งเรามาเีรียนหนังสือ  เวลาเรียนเราต้องเรียน เป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อเงินทองของพ่อแม่ และต่อสังคม (ค่าเรียนถูกเพราะรัฐอุดหนุนส่วนหนึ่ง) มิฉะนั้นจะมีความรู้ความสามารถไปรับใช้สังคมได้อย่างไร  แต่นอกเวลา เราทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้  แม้แต่ไปนั่งตากแดดกลางสนามฟุตบอลเพื่อขับไล่เผด็จการ พวกผมก็ทำกันในเวลาส่วนใหญ่ของเวลาว่าง  มิได้เอาไปดูหนัง เล่นกีฬา จีบผู้หญิงซะที่ไหน

ดังนั้น..ในฐานะที่สมเด็จพระพี่นางฯ เคยเป็นอาจารย์ที่นั่น ผมเรียกท่านได้เต็มปากว่า อาจารย์  เพราะท่านไม่เคยเกการสอน ถึงเวลาสอนก็ต้องมาสอน ไม่อยากสอนก็ต้องสอน ขี้เกียจสอนก็ต้องสอน สอนแล้วไม่ได้อะไรเลย เมื่อสิ้นพระชนม์ยังมีคนมาด่ากต้องไปสอน เพราะ็มีความรับผิดชอบต่อเด็กๆ ทั้งที่เป็นศิษย์คณะศิลปศาสตร์และไม่ใช่คณะนั้น  ท่านให้โอกาสทุกคนในเรื่องของเงินทุน

แต่เจ้าหัวโตที่แทบไม่ได้เข้าเรียนเลย ไม่เคยคบเพื่อนนอกกลุ่ม อาศัยชื่อของมหาลัยสืบทอดอุดมการณ์อย่างเดียว  ผมก็ไม่ขอเรียกเต็มปากเช่นกันว่า ศิษย์มธ.

เรื่องต่อมา..
คือเรื่องที่เจ้าหัวโตชอบแอบอ้างวีรกรรม 6 ตค.19 ไปสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง  ผมว่าควรยุติได้แล้ว ละอายแก่ใจบ้างเถอะครับ 

เจ้าหัวโตนี่แหละที่นำพาให้คนไปใตายในมหาวิทยาลัยและกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก

เป็นเด็กอายุไม่ถึงยี่สิบดี แต่ริอ่านเป็นผู้นำม็อบ เอาชีวิตคนจำนวนมากเป็นหลักประกันความสำเร็จของอุดมการณ์ตนเอง ไม่ทราบว่า สงสารพ่อแม่ ญาติพี่น้องผู้ตายหรือเปล่า??????

อายุของผู้นำม็อบไม่ดูที่ตัวเลขก็จริง  แต่ความรับผิดชอบต้องมีสูงเทียบเท่ากับความสำคัญด้วย

ในเวลานั้น..นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากไม่มีอาวุธใดๆ จะไปต่อกรกับอันธพาลส่วนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่ง  ข้านอกเขามีสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ปลุกระดมกันอยู่ทุกวี่วัน  นักศึกษามีอะไรสู้ได้..นอกจากความบริสุทธิ์ใจ

ในขณะที่ภัยร้ายกำลังเข้าใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกนาที  เพราะพวกเขาก็ฮึ่มๆ กันอยู่ว่า จะบุกเข้าไป รอแค่ไฟเขียวจากผู้นำเท่านั้น  ถ้าเจ้าหัวโตและนายธงชัยศิษย์ผู้พี่ (คนนึงอยู่ปีหนึ่ง อีกคนอยู่ปีสองเท่านั้น) จะเห็นแก่ความปลอดภัยของผู้ร่วมชุมนุม ต้องประกาศให้สลายการชุมนุมไปก่อน ให้แยกย้ายกันไปในที่ปลอดภัย แล้วหาทางระดมพลใหม่เมื่อสถานการณ์อำนวย  ไม่ใช่..ยืนบนเวทีแล้วประกาศว่า "ทุกคนอยู่ในความสงบ ไม่ต้องกลัว ให้จับมือกันไว้ อย่าแตกกลุ่ม  ไม่มีใครทำร้ายพวกเราได้ถ้าพวกเรารวมกันเป็นหนึ่งเดียว บ้านเมืองมีขื่อมีแป ไม่มีใครทำลายอำนาจของนักศึกษา ประชาชนได้ ฯลฯ"  สรุปว่า ให้อยู่ในรั้วมหาลัยนั่นแหละ  ในที่สุด ..ใครเชื่อมันก็ตายหมู่  กลา็ยเป็นเหยื่อให้เขาสอยทิ้งได้ง่ายๆ เพราะกระจุกตัวกันอยู่ในชามใบใหญ่  ยิงตรงไหนก็ถูก

โทษใครครับ? ที่เราต้องเสียพี่น้องผู้บริสุทธิ์ไปนับร้อยๆ คน  ถ้าไม่โทษความอ่อนหัดในการนำม็อบของเด็กสองคนที่อายุยังไม่ถึงยี่สิบ

แต่บทความของเจ้าหัวโตเลือกที่จะกล่าวโทษราชวงศ์ว่า ทำไมไม่นำพา ไม่ช่วยซับน้ำตาคนตาย  โถ..ไม่หันมาโทษตัวเองบ้างเลยนะ

ฝ่ายขวาจัดอันประกอบไปด้วย ขุนนางทั้งหลายนั่น เขามีหน้าที่ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับสถาบันทุกแห่งในสังคม รวมทั้งสถาบันพระมหากษัติรย์  นี่คือ..สิ่งที่เจ้าหัวโตและนายธงชัยควรสังวรณ์ไว้ด้วย  เพราะสังคมไทยประกอบกันขึ้นมา  มิได้มีแต่ สังคมของนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น

นี่ถ้าหมั่นเข้าเรียนสักหน่อย รอจนอายุขัยได้ที่ มีคุณวุฒิ และวัยวุฒิที่เหมาะสม  ก็น่าจะเป็นผู้นำม็อบได้ดีกว่านี้

ดังนั้น..ที่คนตายจำนวนมาก อย่าโทษเป็นความผิดของอมาตยาธิปไตยทั้งหมด เป็นความอนุบาลทางการเมืองของเด็กฝึกหัดสองคนนั่นด้วย

ที่ตนเองและนายธงชัยได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ไม่ต้องถูกจองจำจนแก่หง่อมเพราะใครให้โอกาส? หรือคิดว่า เป็นเพราะตัวเองและญาติพี่น้องเสริมส่ง?  เวรกรรมแท้ๆ ที่มีคนเช่นนี้ในประเทศไทย

เรื่องสุดท้าย..เกลียดเผด็จการเข้าไส้
ใครๆ ก็เกลียดครับ เพราะการรวบอำนาจไว้ที่คนๆ เดียว สั่งไดทุกหน่วยงานให้รับใช้ ทำจนตนเองและครอบครัวร่ำรวยในทางมิชอบมหาศาลโดยที่กติกาสังคมทำอะไรไม่ได้  อย่างนี้ก็เรียกว่า เผด็จการเช่นกัน   แต่เป็นเผด็จการนายทุนนักการเมือง  หรือเจ้าหัวโตไม่รู้หว่าว่ามันมีหลายประเภทและมีการกลายพันธุ์ได้ :slime_doubt:

หลังเหตุการณ์ 6 ตค.19 มีการยึดอำนาจอีกหลายครั้งโดยคณะนายทหาร  ผมก็ไม่เห็นว่า เจ้าหัวโตจะใส่ใจออกมาเรียกหาประชาธิปไตย  กล้าชนกับใครเขาที่ไหนเลยสักครั้งเดียว  แต่เผด็จการ คมช.ครั้งนี่กลับออกมาสับเป็นชิ้นๆ อย่างสนุกสนาน


นี่เพราะอะไร?

ผมจะบอกให้  เพราะเผด็จการที่ผ่านๆ มาเป็นเผด็จการทหารที่แท้จริง เขาไม่เปิดโอกาสให้พูด ให้เขียนแย้ง เขาส่งคนไปเก็บหมด  แต่ คมช. และ รัฐบาลหน่อมแน้มชุดนี้ เป็นเผด็จการปากอ้าขาสั่น  ก็พฤติกรรมเหมือนอดีตนายกฯ เปรม นั่นแหละ  เขาให้มานั่งชูคอมิได้มานั่งแก้ปัญหา

และไม่น่าเชื่อว่า คนหัวซ้ายจัดอย่างเจ้าหัวโต ไฉนกลายเป็นพันธมิตรของ่ลูกหลาน และสาวกพรรคหน้าเหลี่ยมและนายจมูกบานที่เคยเป็นคนชักนำให้ชาวบ้านเกลียดนักศึกษาสถาบันที่ตนเองจบออกมา และกล่าวหาว่า ข้างในมีทั้งญวน มีทั้งคลังอาวุธ จะสามารถจูบปากกันได้ในที่สุด

ที่เป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะเจ้าหัวโตจงเกลียดจงชังระบบศักดินาที่มีสถาบันอยู่เหนือหัวเป็นที่สุด  ซึ่งจะว่าไปแล้ว น่าจะเกลียดชังตั้งแต่สมัยยังอยู่ในรั้วมธ.เสียด้วยซ้ำ  แต่ครานั้น..ความใฝ่ฝันที่จะปฏิวัติด้วยพลังประชาชนพินาศไปเสียก่อน แต่ความเจ็บช้ำยังคงดำรงอยู่จนถึงวันนี้ จึงทำอย่างไรก็ได้ ให้จูบปากกับอดีตฆาตกร 6 ตค.19 ก็ยอม เพียงเพราะเหตุผล คนเหล่านั้นยืนอยู่ตรงข้ามกับสถาบัน  แค่นั้นก็สะใจแล้ว  (เออ..คำว่า..ประเทศชาต ิของเจ้าหัวโตมีความหมายว่าอย่างไรนะ)


ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ ผมไม่ได้เป็นทาสใครทั้งสิ้น เผด็จการทหารก็ไม่ชอบ  แต่เผด็จการทหาร ผมยังเหลือประเทศให้ภาคภูมิใจว่ายังมีอยู่  แต่เผด็จการนายทุน ผมแทบไม่เหลืออะไรให้ภาคภูมิใจได้เลย  เพราะมันฮุบหมดไม่ยอมแบ่งใคร นอกจากพวกมันเอง และเปิดโอกาสให้บางประเทศที่มีภาระผูกพันกันทางผลประโยชนเข้ามาร่วมฮุบ

นอกจากนี้ ผมยังไม่ได้เป็นคนยกย่องบทบาทของราชวงศ์ใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่เสื้อตราสัญลักษณ์ก็ยังไม่เคยใส่ เพราะไม่รู้ว่า จะซื้อมาใส่ทำไมในเมื่อเสื้อผ้าผมมีอยู่เต็มตู้

และผมไม่มีอคติใดๆ กับเจ้าหัวโต เพราะผมเองก็พวกเดียวกันกับเขา นั่งฟังเขาไฮปาร์คด่ารัฐบาลมาด้วยกันและเจ็บช้ำกับเหตุการณ์ 6 ตค.19 จากน้ำมือของเจ้าจมูกบานและคณะผู้ก่อการเช่นเดียวกัน

ถ้าผมจำไม่ผิด ก่อนวันที่ ๖ ต.ค. ๑๙ อาจารย์ป๋วยได้บอกให้เลิกการชุมนุม แต่ผู้นำแกนนำไม่เชื่ออาจารย์ป๋วย

และที่แปลกมากคือ แกนนำทุกคน เช่น นายสุธรรม นายสมศักดิ์ นายธงชัย ฯลฯ มีชีวิตรอดมาได้อย่างไร

ทำให้ต้องนึกถึงเรื่องทฤษฎี สมคบคิด (Conspiracy Theory) ไม่ได้   :slime_doubt:

 :slime_cool:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ปุถุชน ที่ 17-02-2008, 00:18
กลับไปอ่านความนัยของบทความใหม่เถอะครับ..อ่านให้แตกหน่อย.........คำพูดของคุณที่ตอบมามันส่อแสดงถึงความ............มากๆเลยครับ

ข้อ1 ของบทความนายพันคนนั้นก็คือ มนูญ ตอนนี้อยู่ปชป
ข้อ2 อ้ายเปรมไงครับ

เบื้องหลังเปรมนั่นใคร

55555555

รับได้ไหมครับเอาความจริงมาพูด


กลับไปอ่านความนัยของบทความใหม่เถอะครับ..อ่านให้แตกหน่อย.........คำพูดของคุณที่ตอบมามันส่อแสดงถึงความ............มากๆเลยครับ

ข้อ1 ของบทความนายพันคนนั้นก็คือ มนูญ ตอนนี้อยู่ปชป
ข้อ2 อ้ายเปรมไงครับ

เบื้องหลังเปรมนั่นใคร

55555555

รับได้ไหมครับเอาความจริงมาพูด



คนที่นี่กำลังพูดถึงเรื่อง'หมัก หนึ่งเมถุน' โกหก ตอแหล...
คุณจะเบี่ยงเบน เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น ๆ ก็ตามใจ...

มีคนสนองตอบคุณแน่ ๆ.......ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า




หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 17-02-2008, 00:44
จากคำให้สัมภาษณ์สื่อของคุณโสภณ สุภาพงษ์

จาก พวกเห่าฟ้า แบบไอ้หัวโต และพฤติกรรมของนักการเมืองพลพรรคหลงหอ

ทำให้ยิ่งเชื่อเรื่อง ปฏิญญาฟินแลนด์ ว่า มีจริง

 :slime_cool:


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมชายสายชม ที่ 17-02-2008, 00:52
อ้างถึง

http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=3&s_id=49&d_id=50

บันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลา เช้าวันพุธ



ประมาณหกโมงเช้า  สุธรรม  แสงประทุม  แวะมากล่าวต่อที่ชุมนุมก่อนจะออกจากธรรมศาสตร์ไปพบ       ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช  นายกรัฐมนตรี  ที่บ้านซอยเอกมัย  ยิ่งสุธรรมพูด  ธรรมศาสตร์ก็ยิ่งถูกกระหน่ำหนักขึ้น  มีกระสุนซัดมาทางเวทีในระดับเหนือศีรษะ  จนสุธรรมต้องหมอบลงพูดกับพื้นเวที

น่าแปลกไหม ทำไมเช้าวันที่ ๖ นายสุธรรมสามารถเข้าออกธรรมศาตร์ และไปพูดที่หน้าเวทีได้  :slime_doubt:

คุณ athit คิดว่า บันทึกของนายธงชัย วินิจจะกูล (ข้างบนนี้) จริง หรือเท็จ  :slime_doubt:


น่าเชื่อได้ว่า พวกแกนนำการชุมนุม พยายามที่จะโยนความผิดของพวกตัวเอง ที่พาคนจากสนามหลวงเข้าไปตายในธรรมศาสตร์ ให้กับผู้อื่นที่ไม่มีเวทีให้แก้ข้อกล่าวหา

...


หัวข้อ: Re: ขอสอบถามเรื่อง 6 ตุลาหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชัย คุรุ เทวา โอม ที่ 17-02-2008, 12:07
แทนที่จะมาจับคนผิด มาชำแหละประวัติศาสตร์

ดันมาแขวะกลุ่มนักศึกษา

 :slime_worship: